ผู้เขียน หัวข้อ: หลงลืมเรื่องเก่า - ความจำเลอะเลือนไปบ้าง ถือเป็นประโยชน์ต่อสมอง  (อ่าน 4 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9810
    • ดูรายละเอียด
ความทรงจำที่บกพร่องไม่สมบูรณ์แบบ และการหวนรำลึกนึกถึงเรื่องเก่าโดยผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ให้กำเนิดสมองอัจฉริยะ ซึ่งมีความยืดหยุ่นปรับตัวต่อการเรียนรู้ได้สูง

ข้อความข้างต้นกล่าวโดย ชรัญ รัญกานาถ นักประสาทวิทยาศาสตร์ที่เพิ่งออกหนังสือเล่มใหม่ “ทำไมเราถึงจดจำ ?” (Why We Remember? ตีพิมพ์โดย Faber & Faber สหราชอาณาจักร) ซึ่งเขาระบุในหนังสือเล่มนี้ว่า “ความทรงจำนั้นเป็นมากยิ่งกว่าคลังข้อมูลที่เก็บรวบรวมอดีต อันที่จริงแล้วมันคือแท่งแก้วปริซึมหักเหแสง ซึ่งเราใช้มองตนเอง ผู้อื่น และโลกทั้งใบ”

รัญกานาถซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเดวิสของสหรัฐฯ ได้สนทนากับเดวิด ร็อบสัน นักเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ถึงงานศึกษาวิจัยที่เขาทำมานาน 30 ปี เพื่อสำรวจกระบวนการทางสมองที่เกิดขึ้นเบื้องหลังความสามารถในการหวนรำลึก การจดจำ และการลืมของมนุษย์

รัญกานาถเสนอสมมติฐานที่ว่า สิ่งที่เราเชื่อกันทั่วไปเกี่ยวกับความทรงจำนั้นไม่ถูกต้อง และมักมีความผิดพลาดเกิดขึ้นในกระบวนการดึงข้อมูลเก่า ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นประโยชน์มากที่สุด เพราะทำให้เกิดความยืดหยุ่นทางสติปัญญาที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อความอยู่รอดของเรา

ต่อไปนี้คือบทสนทนาถาม-ตอบ ระหว่างร็อบสันกับรัญกานาถ เกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจใหม่ล่าสุดของแวดวงวิทยาศาสตร์ที่มีต่อสมอง รวมทั้งหนทางที่เราอาจนำความรู้นี้ไปประยุกต์ เพื่อใช้งานสติปัญญาที่ “ไม่สมบูรณ์แบบอย่างสมบูรณ์” ได้ดีขึ้นกว่าเดิม

หนังสือของคุณเต็มไปด้วยข้อความที่ฟังดูขัดกับสามัญสำนึกของคนทั่วไปอยู่มาก เริ่มจากแนวคิดเรื่อง “การเรียนรู้ที่ขับเคลื่อนด้วยความผิดพลาด” ทำไมเราถึงเรียนรู้ได้ดีที่สุด หากเรายอมให้ตัวเองทำผิดพลาดเสียก่อน

ความทรงจำนั้นก่อตัวขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงในระดับความแข็งแกร่งของการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาท ในชั่วขณะหนึ่งการเชื่อมต่อบางเส้นทางอาจจะไม่อยู่ในสภาพที่ดีที่สุด แต่มีการเชื่อมต่ออื่น ๆ ที่แข็งแกร่งกว่าและมีประสิทธิภาพดีกว่า
หลักการเรียนรู้ที่ขับเคลื่อนด้วยความผิดพลาดนั้น สามารถอธิบายง่าย ๆ ได้ว่า เมื่อคุณพยายามดึงความทรงจำเก่าออกมาใช้ การย้อนนึกถึงเรื่องเหล่านี้จะมีความไม่สมบูรณ์แบบอยู่ด้วยเล็กน้อยเสมอ ดังนั้นเมื่อสมองพยายามจะดึงความทรงจำเหล่านี้ออกมา และคุณนำมันไปเปรียบเทียบกับข้อมูลที่มีการบันทึกในความเป็นจริง การเชื่อมต่อของเซลล์ประสาทในเส้นทางที่ผิดจะอ่อนแอลง และไปเสริมความแข็งแกร่งของเส้นทางที่ถูกต้องให้ดียิ่งขึ้น

ดังนั้นหลักในการประยุกต์ใช้ความรู้นี้กับชีวิตประจำวันก็คือ เราควรจะท้าทายตนเองให้ดึงเอาข้อมูลเก่าเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังพยายามเรียนรู้ออกมา ซึ่งเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการเรียนรู้ได้เพิ่มมากขึ้น เพราะกระบวนการนี้เปิดเผยจุดอ่อนที่ซ่อนอยู่ และเปิดโอกาสให้สมองได้พัฒนาความทรงจำในรูปแบบที่ดีที่สุดขึ้นมา นี่คือเหตุผลที่การเรียนรู้ด้วยเทคนิคการลงมือทำจริง เช่นการขับรถเพื่อเรียนรู้ถนนหนทางในละแวกบ้านแทนการจดจำจากกูเกิลแมปส์ หรือการซ้อมเล่นละครบนเวทีจริงแทนที่จะอ่านบทซ้ำไปซ้ำมา จึงเป็นเทคนิคการเรียนรู้ที่ได้ผลดียิ่ง

หลายคนรู้สึกสับสนกับช่องว่างบางส่วนที่ขาดหายไปในความทรงจำของเรา แต่คุณกลับบอกว่าอาการหลงลืมเลอะเลือนเช่นนี้เป็นประโยชน์เสมอได้อย่างไรกัน

ผมจะเปรียบเทียบให้ฟังนะ ลองจินตนาการว่าผมไปที่บ้านของคุณและถามว่า ทำไมคุณถึงไม่เป็นพวกบ้าสะสมข้าวของล่ะ ทำไมคุณถึงไม่เก็บทุกอย่างเอาไว้ ? อันที่จริงหากเราไม่ลืมอะไรไปเลย สมองก็จะต้องเก็บความทรงจำเอาไว้ทุกเรื่อง ซึ่งเมื่อถึงเวลาค้นหาสิ่งที่ต้องการ คุณจะไม่มีวันหาเจอ

สมมติว่าวันนี้ผมพักอยู่ที่โรงแรม มันจึงเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลเลยที่จะจดจำหมายเลขห้องนี้ต่อไป เมื่อผมกลับบ้านไปแล้วในช่วงสองสัปดาห์ให้หลัง เช่นเดียวกันกับการเดินผ่านคนมากหน้าหลายตาบนท้องถนน เราจำเป็นจะต้องจดจำใบหน้าของพวกเขาทุกคนหรือไม่ ?

ทำไมเราหลงลืมมากขึ้นเมื่อแก่ตัวลง

ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่จำเป็นจะต้องมาจากการไม่อาจสร้างความทรงจำใหม่ ๆ แต่เป็นเพราะเราไม่สามารถจดจ่อมุ่งความสนใจไปยังข้อมูลที่จำเป็นจะต้องจดจำได้ ซึ่งก็คือมีสมาธิสั้นลงนั่นเอง บรรดาเรื่องไร้สาระมากมายเข้ามาแทนที่สิ่งสำคัญซึ่งควรจะจดจำจริง ๆ ไปหมด ดังนั้นเมื่อเราย้อนนึกถึงเรื่องในความทรงจำ จึงไม่พบข้อมูลที่ค้นหาเลย

เราสามารถใช้กลยุทธ์อะไรหลีกเลี่ยงปัญหานี้ เพื่อปรับปรุงความทรงจำให้ดีขึ้น

มีหลักการพื้นฐานอยู่สามข้อ ข้อแรกคือการสร้างความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เพราะข้อมูลความทรงจำของเรานั้นแข่งขันกันเองอยู่เสมอ หากคุณทำให้ข้อมูลใดโดดเด่นขึ้นมาได้นั่นก็ยิ่งดี ความทรงจำที่แจ่มชัดมักจะเชื่อมโยงกับภาพ เสียง และความรู้สึกที่ไม่เหมือนใคร นั่นคือสิ่งที่จะติดอยู่ในหัวของเราไปตลอด ดังนั้นการมุ่งให้ความสนใจกับรายละเอียดทางประสาทสัมผัส แทนที่จะจดจำเอาไว้เฉย ๆ จะช่วยให้เราจำได้ดีขึ้น

กลยุทธ์ข้อที่สองก็คือ พยายามส่งเสริมการจัดระเบียบความทรงจำให้มีโครงสร้างที่ใหญ่โตมากขึ้นและมีความหมายมากยิ่งขึ้น ในหนังสือเล่มใหม่ผมได้กล่าวถึงวิธี “วังความทรงจำ” (memory palace) ซึ่งใช้เทคนิคการเชื่อมโยงข้อมูลที่คุณต้องการเรียนรู้เข้ากับข้อมูลที่มีอยู่แล้ว

กลยุทธ์ข้อที่สามคือการสร้างสัญญาณ (cue) ซึ่งสามารถจะเรียกให้ความทรงจำผุดขึ้นมาในหัวของเราทันทีได้ เพราะการค้นหาข้อมูลเก่าในสมองโดยตรงนั้นทั้งเปลืองแรงและมีข้อผิดพลาดแฝงอยู่เต็มไปหมด แต่การให้สัญญาณเช่นเพลงที่ทำให้เราย้อนรำลึกถึงอดีตในบางช่วงวัย จะช่วยให้สมองเรียกคืนความทรงจำได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีสัญญาณในชีวิตประจำวันอีกมากมายที่เรานำมาใช้ได้ เช่นเมื่อต้องการจำวันเวลาที่ต้องนำขยะออกมาทิ้ง เราอาจจินตนาการล่วงหน้าว่าได้เดินไปที่ประตูและมองไปที่ถังขยะ ก่อนจะนึกภาพว่าได้เดินออกไปเทขยะในที่สุด ซึ่งเมื่อถึงเวลาทิ้งขยะในชีวิตจริง ร่างกายของเราจะทำตามสัญญาณที่สร้างไว้โดยอัตโนมัติเมื่อมาถึงหน้าประตู

นอกจากการสูญเสียความทรงจำแล้ว เรายังพบว่ามีรายละเอียดที่ผิดพลาดในการย้อนรำลึกถึงเรื่องเก่า ๆ ซึ่งไม่สอดคล้องกับเหตุการณ์จริงอยู่อีกด้วย ทำไมเรื่องเช่นนี้จึงเกิดขึ้นได้

คนเรามี “แบบแผน” (schemas) ทางความคิดอยู่หลายชุด ซึ่งช่วยสร้างเรื่องราวสำเร็จรูปให้เราจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ โดยไม่สิ้นเปลืองพลังงานและทรัพยากรของสมองไปมากนัก

ลองนึกภาพว่าคุณเพิ่งไปธนาคารมา และในหัวของคุณก็เต็มไปด้วยข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย ทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและไม่ได้เกิดขึ้นในธนาคารดังกล่าว แบบแผนทางความคิดจะช่วยให้คุณจำกัดขอบเขตของสิ่งที่ต้องจดจำในตอนนั้นได้ โดยมันจะทำหน้าที่เป็นเนื้อเยื่อเชื่อมประสานข้อมูลที่ไม่ปะติดปะต่อกัน ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถจดจำเฉพาะสิ่งใหม่ลงไปและนำมันไปใช้งานได้ แต่บางครั้งแบบแผนทางความคิดก็เติมข้อมูลส่วนที่ขาดหายด้วยข้อมูลที่ผิดพลาดมากจนเกินไป

เหตุผลอีกข้อหนึ่งก็คือ ความทรงจำนั้นเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งนี่ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเราต้องปรับปรุงข้อมูลความทรงจำให้ทันสมัยอยู่เสมอ หากคุณพบญาติคนหนึ่งที่ไม่ได้เจอกันมานานหลายปี ใบหน้าของเขาหรือเธอย่อมเปลี่ยนไปจากตอนที่พบกันครั้งหลังสุด ดังนั้นคุณจึงต้องสร้างความทรงจำใหม่ที่ถูกต้องแม่นยำกว่าเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของญาติผู้นั้นขึ้นมา แต่บางครั้งจินตนาการของตัวเราเองก็อาจแทรกซึมเข้ามาปะปนอยู่ในความทรงจำ จนเกิดการจำผิดพลาดได้

ความทรงจำถือเป็นกระบวนการร่วมได้อย่างไร

เมื่อเราแบ่งปันความทรงจำของตัวเองกับผู้อื่น มันสามารถนำไปสู่การปรับปรุงความทรงจำให้ถูกต้องและทันสมัยได้ เมื่อผมกล่าวอธิบายเหตุการณ์หนึ่งในคุณฟัง การสร้างเรื่องราวขึ้นมาบอกเล่าสามารถเปลี่ยนแปลงความทรงจำที่ผมเคยมีต่อเหตุการณ์นั้น นอกจากนี้ ปฏิกิริยาของคุณที่เป็นผู้ฟังยังมีผลต่อความทรงจำของผมซึ่งจะเปลี่ยนไปหลังจากนั้นด้วย เช่นมันอาจกลายเป็นเรื่องที่ตลกขบขันมากขึ้น หรือคุณอาจให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่จะแทรกซึมลงในความทรงจำของผม จนกลายเป็นการจำข้อมูลผิดพลาดได้ ซึ่งก็คือผมเกิดความสับสนระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นจริง กับสิ่งที่ผู้ฟังบอกผมระหว่างที่เล่าเรื่องอยู่นั่นเอง ผมขอบอกเลยว่า ความทรงจำของเราหลายเรื่องไม่ใช่ของเราทั้งหมดอีกต่อไป แต่กลายเป็นความทรงจำร่วม (collective memories) ระหว่างคนหลายฝ่าย

งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของคุณ ส่งผลต่อความสัมพันธ์ที่คุณมีกับความทรงจำของตนเองอย่างไร

การเขียนหนังสือเล่มนี้เปิดโอกาสให้ผมได้มีแรงจูงใจที่จะถนอมรักษาความทรงจำของตนเองเอาไว้ ตอนนี้ผมพยายามออกกำลังกายเป็นประจำ ระมัดระวังเรื่องอาหารการกิน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะยังคงมีสุขภาพสมองและสติปัญญาที่สมบูรณ์ในวัยชรา

เดวิด ร็อบสัน - นักเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์
BBC News ไทย
22 พค 2567