ผู้เขียน หัวข้อ: จดหมายจากสมาพันธ์ฯถึงสมาชิก ฉบับที่ ๓ / ๒๕๕๖  (อ่าน 1841 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9773
    • ดูรายละเอียด

๑๐ เมษายน ๒๕๕๖


สวัสดี เพื่อนแพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ทุกท่าน

เข้าใกล้ช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกๆ ปี ประชาชนทั่วประเทศจะมีความสุขรับเทศกาล แต่สิ่งที่ตามมา ก็คือ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดความสูญเสียมากมาย ซึ่งพวกเราแพทย์ รพศ./รพท. ที่มีเวร(กรรม)อยู่ในช่วงวันหยุด คงเตรียมพร้อมรับเหตุการณ์ต่างๆไว้แล้ว ส่วนเพื่อนแพทย์ที่ไม่มีเวร(กรรม)อยู่ในช่วงวันดังกล่าวและมีโปรแกรมท่องเที่ยว ก็ขอให้เดินทางด้วยความระมัดระวังกันทุกๆคน

เดือนเมษายนเป็นเดือนที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนที่สุด แต่เมื่อ ๙ เมษายนนี้ มีเพื่อนแพทย์ กลุ่มแพทย์ชนบทได้แต่งกายด้วยชุดดำ เดินทางเข้า กทม. ไปยังที่ทำการพรรคเพื่อไทย ท้าทายความร้อนของอากาศในกรุงเทพฯ เพื่อให้ปลด นพ.ประดิษฐ ออกจากตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข ทำให้อุณหภูมิการประท้วงคัดค้าน P4P ของกระทรวงสาธารณสุขสูงยิ่งขึ้น ส่วนฝ่ายที่สนับสนุน นพ.ประดิษฐ ซึ่งใช้ชื่อว่า ภาคีเครือข่ายวิชาชีพการแพทย์และสาธารณสุข ประกอบด้วยแพทยสภา แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ กลุ่มสถาบันฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางแห่งประเทศไทย (ราชวิทยาลัย) สภาการพยาบาล สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย ทันตแพทยสภา สภาเภสัชกรรม สภาเทคนิคการแพทย์ ในวันเดียวกันนี้เอง ได้ทำการประชุมดับร้อนในห้องแอร์เย็นๆของแพทยสภา ออกแถลงการณ์ว่า P4P เป็นการสร้างความสมดุลค่าตอบแทนระหว่างโรงพยาบาลทุกระดับ ระหว่างวิชาชีพ และระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพ โดยใช้หลักการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน

ไม่เพียงแต่คนในวงการสาธารณสุขจะสนใจเรื่อง P4P คนนอกวงการ (แต่ใกล้ชิดมาก) อย่างคุณปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ซึ่งปกติจะนำทีมงานไปฟ้องร้องแพทย์ตามศาลต่างๆทั่วประเทศ ยังออกแถลงการณ์สนับสนุนกลุ่มแพทย์ชนบทและนำเครือข่ายไปให้กำลังใจกลุ่มแพทย์โรงพยาบาลชุมชนที่หน้าทำเนียบรัฐบาลด้วย!!! ไม่ทราบว่าคุณปรียนันท์กลับใจมาช่วยแพทย์ตั้งแต่เมื่อไรกัน???

ทางสมาพันธ์ฯยังมีจุดยืนเดิม ที่จะติดตามการใช้ P4P ให้เป็นธรรมและเหมาะสมกับการทำงานของเพื่อนแพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ส่วนนพ.ประดิษฐ มีความผิดอะไร สมควรลาออกหรือไม่ P4Pและเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ควรมานั่งพูดคุย ทำความตกลงให้เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย เพื่อวางแผนพัฒนาระบบการทำงานของสาธารณสุขให้ยั่งยืนต่อไป ซึ่งในเบื้องต้นการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่ฉะเชิงเทรา ได้อนุมัติเงิน ๓,๐๐๐ ล้านบาท ให้จ่ายค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุข สำหรับบุคลากรที่ได้รับค่าตอบแทนต่อคน ลดลง คาดว่าจะได้รับเงิน ๑-๒% ของเงินเดือนบุคลากร ในรพ.มาจ่ายเพิ่มในส่วนนี้

ร่วมแรง ร่วมใจสร้างความสามัคคี
สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป แห่งประเทศไทย