ผู้เขียน หัวข้อ: สหภาพพยาบาล ร้องสิทธิ ยื่นข้อเสนอ 5 ข้อ แก่ สปช.  (อ่าน 1340 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
ประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องสิทธิพยาบาล ต่อ สปช. ชี้พยาบาลมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งกว่าอาชีพอื่น แต่ไม่ได้รับการคุ้มครอง พร้อมเสนอข้อเรียกร้องทั้งหมด 5 ด้าน

เมื่อวันที่ 8 เม.ย. น.ส.มัลลิกา ลุนจักร์ ประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย เดินทางมายังอาคารรัฐสภา 3 เพื่อยื่นหนังสือเรื่องการเรียกร้องสิทธิของพยาบาล ต่อประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช. เป็นผู้รับ

น.ส.มัลลิกา กล่าวว่า ที่ผ่านมาวิชาชีพพยาบาลไม่ได้รับความปลอดภัย มั่นคง เพราะกฎหมายแรงงานไม่ได้คุ้มครองโรงพยาบาลรัฐบาล คุ้มครองแต่โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งทำให้พยาบาลมีความเสี่ยง หากเสียชีวิตไม่ได้รับการคุ้มครอง เนื่องจากพยาบาลปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสี่ยงภัยจากโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ว่าจะเป็นการติดโรคจากผู้ป่วย

“ยิ่งตั้งครรภ์ด้วยก็ทุกข์ มีวิจัยว่าพยาบาลขึ้นเวรไม่ได้นอน 15 ปี มีโอกาสเป็นมะเร็งสูงกว่าวิชาชีพอื่น พยาบาลบรรจุเป็นแค่ลูกจ้างรายวัน ไม่มีประกันสังคม ขาดความก้าวหน้าในวิชาชีพ ยกตัวอย่างโรงพยาบาลใหญ่มีพยาบาล 800 กว่าคน เป็นระดับซี 7 เพียง 500 คน ค่าตอบแทนต่ำ สวัสดิการไม่มี ทั้งๆ ที่พยาบาลเป็นบุคลากรที่มีจำนวนมากที่สุดในกระทรวงสาธารณสุข วันนี้มาให้กำลังใจประธาน สปช. และรองประธาน สปช. นางทัศนา บุญทอง ซึ่งเป็นนายกสภาการพยาบาลด้วย อยากให้ประชาชนได้รับรู้ว่าพยาบาลลำบากใจตรงไหน”

ด้านนายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ตนเห็นใจและจะนำเสนอให้ประธาน สปช. และประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข และรองประธาน สปช. ซึ่งเป็นนายกสภาการพยาบาล คงจะช่วยผลักดันได้

สำหรับหนังสือที่ยื่นมีข้อเรียกร้องใน 5 ด้าน คือ

1. การบรรจุพยาบาลวิชาชีพ ให้มีการบรรจุพยาบาลเป็นข้าราชการทุกตำแหน่ง บรรจุหรือปรับเปลี่ยนตำแหน่งของบุคคลที่มีคุณสมบัติของพยาบาลวิชาชีพเป็นพยาบาลวิชาชีพ

2. ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ให้มีการปรับระดับเงินเดือนเทียบเท่ากับสายงานในกระทรวงอื่นๆ ได้รับค่าวิชาชีพ ปรับค่าตอบแทนเวร โอที และอื่นๆ

3. ความก้าวหน้าทางวิชาชีพ ให้ใช้ระบบเงินเดือนแบบแท่งที่ไม่มีเพดาน ประเมินผลงานเพื่อปรับตำแหน่ง การศึกษาต่อ

4. สวัสดิการในการทำงาน/สิทธิมนุษยชน ให้ได้รับการดูแลและจ่ายค่าชดเชยที่คุ้มค่าเมื่อบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่ มีกองทุนสวัสดิการเมื่อเกษียณอายุหรือเสียชีวิต และดูแลเรื่องความปลอดภัยในการขึ้นเวร

5. ปรับโครงสร้างให้พยาบาลสามารถดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดในหน่วยงานสาธารณสุขทุกระดับ ทำงานตรงตามหน้าที่ และเพิ่มบุคลากรทางการพยาบาลหลายระดับเพื่อรับผิดชอบในงานที่แตกต่างกัน



ไทยรัฐออนไลน์ 8 เม.ย. 2558