ผู้เขียน หัวข้อ: ตอบคำถามยอดฮิตติดสงสัยในน้ำมันมะพร้าว  (อ่าน 1016 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลังจากได้นำเสนอเรื่องน้ำมันมะพร้าวแล้ว ก็ได้ปรากฏว่ามีผู้อ่านได้มีความสนใจในเรื่องน้ำมันมะพร้าวมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดคำถามและข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้น้ำมันมะพร้าวในหลายกรณี จึงถือโอกาสนี้ตอบคำถามยอดฮิตที่มีความสงสัยในเรื่องต่างๆ ดังนี้
       
       คำถามที่ 1: ดื่มน้ำมันมะพร้าวสรุปแล้วดีอย่างไร?
       คำตอบที่ 1:   ตอบได้อย่างสรุปที่สุดคือ 1.เป็นไขมันอิ่มตัวจึงไม่เปิดโอกาสให้อนุมูลอิสระเข้าโจมตีให้เป็นโทษต่อร่างกาย 2. เป็นไขมันอิ่มตัวเมื่อโดนความร้อนจึงไม่กลายสภาพเป็นไขมันทรานส์ที่อันตรายต่อสุขภาพ 3. น้ำมันมะพร้าวมีกรดไขมันสายปานกลางมากที่สุดต่างจากน้ำมันชนิดอื่นที่เป็นกรดไขมันสายยาว จึงทำให้ดูดซึมเร็วและกลายเป็นพลังงานแก่ตับได้เร็วโดยไม่ตกค้าง 4. มีสารต้านอนุมูลอิสระโดยการดูดซึมที่เร็วผ่านกรดไขมันสายปานกลางจึงสามารถนำมาใช้ทั้งดื่ม ทาผิว และหมักเส้นผมได้ 5. มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อก่อโรค
       
       คำถามที่ 2 : ทำไมดื่มน้ำมันมะพร้าวแล้วท้องเสีย มวนท้อง จะเป็นลมแล้วควรทำอย่างไร?
       คำตอบที่ 2 :   สำหรับคนที่ดื่มน้ำมันมะพร้าวใหม่ อาจมีอาการดังกล่าวได้ เพราะเมื่ออัตราการเผาผลาญสูงขึ้น จะทำให้ลำไส้เคลื่อนตัวได้เร็วและมีกำลังมากขึ้น จึงทำให้เกิดการขับพิษผ่านกระบวนการขับถ่ายได้มาก เปรียบเหมือนคนที่ไม่เคยออกกำลังกายแล้วมาวิ่งหรือยกน้ำหนักอาจจะเกิดอาการปวดล้ากล้ามเนื้อได้ ดังนั้นจึงแนะนำให้ "ลดปริมาณ"การดื่มให้เหมาะสมกับตัวเอง เริ่มจากน้อยๆจนคุ้นชิ้นแล้วไต่ระดับขึ้นไปให้สอดคล้องกับน้ำหนักของตัวเอง
       
       คำถามที่ 3: ควรจะดื่มเท่าไหร่ถึงจะพอดี?
       คำตอบที่ 3:   แบ่งออกเป็นได้ 3 แบบ คือ
       
        1. ปริมาณที่ดื่มต่อวันให้วัดตามน้ำหนักของแต่ละคน โดยให้น้ำหนัก 11-22 กิโลกรัม ดื่มได้ 1 ช้อนโต๊ะ (15 ซีซี), น้ำหนัก 23-33 กิโลกรัม ดื่มได้ 1.5 ช้อนโต๊ะ (22 ซีซี), น้ำหนัก 34-44 กิโลกรัม ดื่มได้ 2 ช้อนโต๊ะ (30 ซีซี), น้ำหนัก 45-56 กิโลกรัม ดื่มได้ 2.5 ช้อนโต๊ะ (37 ซีซี), น้ำหนัก 57-67 กิโลกรัม ดื่มได้ 3 ช้อนโต๊ะ (44 ซีซี), น้ำหนัก 68-78 กิโลกรัม ดื่มได้ 3.5 ช้อนโต๊ะ (52 กิโลกรัม), น้ำหนัก 79 กิโลกรัมชึ้นไป ดื่มได้ 4 ช้อนโต๊ะ (60 ซีซี)
       
        2. ปริมาณที่ดื่มต่อวันให้วัดตามปริมาณแคลลอรี่ที่บริโภค โดยหากเป็นผู้รับประทานเนื้อสัตว์อยู่ให้รับประทานตอนเช้าประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ แต่หากเป็นผู้รับประทานมังสวิรัติอาจดื่มได้ถึง 6 ช้อนโต๊ะต่อวัน
       
        3. ปริมาณที่ดื่มต่อวันวัดว่าอุณหภูมิร่างกายตอนเช้าเมื่อตื่นนอนเฉลี่ย 5 วัน (เพื่อวัดอัตราการเผาผลาญของร่างกาย) ถ้าในผู้ชายหรือผู้หญิงที่หมดประจำเดือนวัดแล้วปรากฏว่าอุณหภูมิต่ำกว่า 36.3 องศาเซลเซียส หรือในผู้หญิงที่ยังไม่หมดประจำเดือนแล้วอุณหภูมิต่ำกว่า 36.4 องศาเซลเซียส ให้ดื่มตามเกณฑ์ในข้อ 1 แล้วหากผ่านไป 4 สัปดาห์แล้ว อุณหภูมิยังไม่ถึง 36.3-36.4 องศาเซลเซียส ให้เพิ่มปริมาณดื่มขึ้นเป็นลำดับ
       
       คำตอบที่ 4: กลัวคอเลสเตอรอลในน้ำมันมะพร้าว จะทำอย่างไรดี?
       คำตอบที่ 4:   น้ำมันพืชแทบไม่มีคอเลสเตอรอล โดยเฉพาะน้ำมันมะพร้าวมีคอเลสเตอรอลเพียงแค่ 14 ส่วนใน 1 ล้านส่วนเท่านั้น เพราะคอเลสเตอรอลนั้นสังเคราะห์จากตับของสัตว์เป็นหลัก ในทางตรงกันข้ามกรดไขมันในน้ำมันมะพร้าวเป็นกรดไขมันสายปานกลาง จึงทำให้เป็นพลังงานแก่ตับให้สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยน้ำมันมะพร้าวจะเพิ่มไลโปโปรตีนหนาแน่นสูง หรือที่ไขมันตัวดี HDL (High Density Lipoprotein) ให้สูงขึ้น และเมื่อนำสัดส่วนคอเลสเตอรอลมาหารด้วย HDL แล้ว จะลดน้อยลงจึงทำให้อัตราความเสี่ยงของโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดลดลง
       
       คำถามที่ 5 : ดื่มน้ำมันมะพร้าวแล้วคอเลสเตอรอลสูงขึ้น เพราะอะไร แล้วทำอย่างไรดี?
       คำตอบที่ 5:   มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แม้น้ำมันมะพร้าวตัวมันเองอาจไม่มีคอเลสเตอรอล แต่เมื่อตับได้พลังงานจากการบริโภคน้ำมันมะพร้าวแล้ว ก็จะทำให้อัตราการเผาผลาญของร่างกายสูงขึ้นโดยสังเคราะห์คอเลสเตอรอลได้มากขึ้นเพื่อนำคอเลสเตอรอลไปเป็นวัตถุดิบผลิตฮอร์โมน (โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศ) น้ำดี เยื่อหุ้มเซลล์ เยื่อหุ้มสมอง ฉนวนหุ้มประสาท วิตามินดี ให้มากขึ้น ด้วยเหตุผลนี้ตับจึงจะสังเคราะห์ HDL (ไขมันตัวดี) เพิ่มมากขึ้นเพื่อนำคอลเลสเตอรอลตามหลอดเลือดไปส่งที่ตับไปผลิตเป็นฮอร์โมน น้ำดี เยื่อหุ้มเซลล์ เยื่อหุ้มสมอง ฉนวนหุ้มประสาท วิตามินดี ให้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสัดส่วนระหว่างคอเลสเตอรอลเมื่อนำมาหารกับ HDL จะลดลง และถ้าต่ำกว่า 4.0 ถือว่าไม่เกินเกณฑ์ที่จะเสี่ยงอัตราการเกิดโรคหัวใจแต่ประการใด
       
       คำถามที่ 6 : ดื่มน้ำมันมะพร้าวเวลาไหนดีที่สุด?
       คำตอบที่ 6 :   ดื่มตอนเช้าก่อนอาหารดีที่สุด เพราะได้อดอาหารมาทำให้งดแป้งและน้ำตาลมาประมาณ 12-14 ชั่วโมง เพราะหากช่วงเวลาที่เราไม่ได้บริโภคแป้งและน้ำตาล น้ำมันมะพร้าวจะแปลงเป็นสารคีโตนที่ได้จากกรดไขมันสายปานกลางไปเป็นอาหารชั้นเลิศเลี้ยงเซลล์ต่างๆได้ และดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่พึ่งอินซูลิน โดยเฉพาะเซลล์สมอง อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่ต้องการแบ่งบริโภคในระหว่างวันก็สามารถดื่มได้ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมงก่อนอาหารแต่ละมื้อ จะทำให้อิ่มและโหยแป้งและน้ำตาลน้อยลง แต่สำหรับคนที่ผอมแล้วอยากอ้วน อาจให้รับประทานหลังอาหารแทน
       
       คำถามที่ 7 : ดื่มน้ำมันมะพร้าวยาก เพราะผะอืดผะอม อยากอาเจียน เหนียวคอ จะทำอย่างไร?
       คำตอบที่ 7: สำหรับคนที่ไม่คุ้นชินกับการดื่มน้ำมันมะพร้าว แนะนำให้ดื่มน้ำมันมะพร้าวที่ผลิตจากกระบวนการผลิตแบบเหวี่ยงแยกความหนาแน่น (Centrifuge Process) เพราะนอกจากจะได้คุณภาพน้ำมันดีที่สุดแล้ว (ตามรายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งองค์การสหประชาชาติ) ยังมีความละเอียดบางเบา ไม่บาดคอเวลาดื่มซึ่งดีกว่าน้ำมันสกัดเย็นโดยวิธีบีบหรือหมัก
       
        อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่ดื่มยากแม้จะเป็นน้ำมันมะพร้าวที่ได้จากการเหวี่ยงแยกความหนาแน่นแล้ว แนะนำให้ดื่มน้ำอุ่นหรือร้อนบีบมะนาวตามลงไปหลังดื่มน้ำมันมะพร้าว แต่ถ้าดื่มโดยตรงยากก็สามารถประยุกต์เปลี่ยนได้หลายวิธี เช่น นำเทใส่แม่พิมพ์แล้วแช่ไว้ในตู้เย็นแล้วใช้เป็นเนยมะพร้าวทาขนมปัง หรือตักใส่ข้าวหลังหุงใกล้เสร็จแล้ว 1-2 ทัพพีให้เป็นข้าวมันน้ำมันมะพร้าว ใส่แทนครีมเทียมในชาหรือกาแฟ ฯลฯ
       
       คำถามที่ 8 : น้ำมันมะพร้าวเป็นกรดไม่ใช่หรือ (ในรูปของกรดไขมัน) แล้วเหตุใดจึงมาสนับสนุนให้ดื่มน้ำมันมะพร้าว?
       คำตอบที่ 8: แม้น้ำมันมะพร้าวจะมีคุณประโยชน์อย่างมาก (ตามที่ระบุเอาไว้ในข้อ 1) แต่มันก็ออกฤทธิ์เป็นกรดอยู่ดี ดังนั้นการบริโภคของมนุษย์ที่จะสอดคล้องกับเลือดของมนุษย์ที่เป็นด่างอ่อนๆ (ค่า pH 7.3-7.4) คือบริโภคอาหารที่เป็นกรดประมาณ 30% ได้แก่ ข้าว แป้ง น้ำตาล ไขมัน (รวมน้ำมันมะพร้าว) ธัญพืช เนื้อสัตว์ โปรตีน ผลไม้หวานๆ ฯลฯ และบริโภคอาหารที่เป็นด่างให้ได้ประมาณ 70% ได้แก่ ผักใบเขียว ผลไม้รสเปรี้ยว ดังนั้นหากดื่มน้ำมันมะพร้าวเพื่อเพิ่มอัตราการเผาผลาญแล้วควรลดการบริโภคแป้งและน้ำตาลลงด้วย และหากสัดส่วนการบริโภคไม่สามารถทำได้ คือ 70% กรด และ 30% ด่าง ก็ควรจะดื่มน้ำที่มีฤทธิ์เป็นด่างควบคู่กันไปด้วย
       
       คำถามที่ 9: น้ำมันมะพร้าวที่วางในร้านค้าที่ติดแอร์เป็นไขมีสีขุ่น บริโภคได้หรือ?
       คำตอบที่ 9:   เพราะมะพร้าวเกิดขึ้นในอุณหภูมิร้อนจึงอิ่มตัวโดนความร้อนได้ดีโดยไม่กลายสภาพ แต่จะกลายสภาพเป็นไขเมื่ออุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส แต่ร่างกายมนุษย์มีอุณหภูมิเฉลี่ย 36-37 องศาเซลเซียส น้ำมันมะพร้าวจึงไม่กลายเป็นไขในอุณหภูมิร่างกายของมนุษย์แต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามน้ำมันพืชที่ไม่อิ่มตัวส่วนใหญ่เกิดในอุณหภูมิเย็นจะไม่เป็นไขในอุณหภูมิเย็น แต่จะกลายสภาพเมื่อโดนความร้อนแล้วพร้อมจะเป็นไขคราบเหนียวแม้อยู่ในอุณหภูมิร่างกายมนุษย์
       
       คำถามที่ 10: ทำไมน้ำมันมะพร้าวราคาแพง?
       คำตอบที่ 10: เพราะปริมาณการผลิตและการเพาะปลูกมีน้อย เนื่องจากน้ำมันมะพร้าวถูกโจมตีจากกลุ่มทุนน้ำมันพืชอย่างอื่นมาหลายสิบปี ทำให้ไม่มีการพัฒนาพันธุ์และการเพาะปลูกมะพร้าว หลายพื้นที่มะพร้าวถูกโค่นลงไปเพื่อทำรีสอร์ต จึงทำให้มะพร้าวขาดแคลนอย่างหนัก ในขณะที่ชาวยุโรป อเมริกา ไต้หวัน ญี่ปุ่นหันมากว้านซื้อน้ำมันมะพร้าวจากเมืองไทยมากขึ้น เชื่อได้ว่าหากคนไทยหันมาสนใจน้ำมันมะพร้าวกันมากขึ้นแล้ว ก็ต้องใช้เวลาเพาะปลูกอย่างน้อยอีก 5 ปีกว่าจะได้ผลผลิต เมื่อถึงเวลานั้นก็อาจจะทำให้น้ำมันพร้าวมีราคาถูกลงในอนาคตได้
       
        คำถามข้อสงสัยยังมีอีกยาวเหยียด ใครสงสัยสามารถฝากคำถามเอาไว้ที่ความเห็นท้ายบทความตอนนี้ และจะมาตอบคำถามที่สงสัยกันต่อในตอนหน้า

ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
...       
ASTVผู้จัดการรายวัน    25 เมษายน 2557

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
Re: ตอบคำถามยอดฮิตติดสงสัยในน้ำมันมะพร้าว
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 31 พฤษภาคม 2014, 21:21:01 »
คำถามที่ 11: ทำไมน้ำมันมะพร้าวกับกะทิต่างกันตรงไหน? กินกะทิได้หรือไม่อย่างไร?
       คำตอบที่ 11: แท้ที่จริงแล้วน้ำมันมะพร้าวก็ผลิตและสกัดมาจากกะทิ โดยกะทิ 4 ส่วนจะได้น้ำมันมะพร้าว 1 ส่วน เพียงแต่เราไม่ได้บริโภคน้ำมันอย่างเดียวแต่บริโภคส่วนอื่นที่ได้จากกะทิไปด้วย ทำให้ต้องดื่มในปริมาณที่ต้องมากกว่า อย่างไรก็ตามการดื่มกะทิสดมักไม่ค่อยนิยมกัน และมักจะทานกับอาหารอย่างอื่นเช่นอาหารคาวหรือหวาน ผู้บริโภคจึงต้องระมัดระวังไม่ให้รับประทานหวานมากเกินไปด้วย
       
       คำถามที่ 12 : ทำไมดื่มน้ำมันมะพร้าวแล้วรู้สึกท้องอืด และจะทำอย่างไรดี?
       คำตอบที่ 12 : ความจริงแล้วคนที่ดื่มน้ำมันมะพร้าวจะมีความรู้สึก "อิ่ม" มากกว่า"ท้องอืด" เพียงแต่อาจไม่คุ้นชินกับความรู้สึกได้รับพลังงานที่เพียงพอจากน้ำมันมะพร้าว เพราะน้ำมันมะพร้าวจะเป็นกรดไขมันสายปานกลาง ดูดซึมเป็นพลังงานแก่ตับได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ตกค้าง ต่างจากน้ำมันชนิดอื่นที่ส่วนใหญ่เป็นกรดไขมันสายยาว ดังนั้นคนที่ดื่มน้ำมันมะพร้าวแล้วรู้สึกท้องอืดนั้น อาจเป็นเพราะดื่มน้ำมันมะพร้าวแล้วไม่ทิ้งช่วงให้นานพอแล้วไปบริโภคอาหารในปริมาณตามที่เคยคุ้นชิน ผลก็คือเราได้รับปริมาณอาหารที่ให้พลังงานมากเกินความต้องการที่แท้จริงจึงอาจทำให้รู้สึกท้องอืดขึ้นมาได้ ดังนั้นการดื่มน้ำมันมะพร้าวควรมีเวลาให้เพียงพอระหว่างอย่างน้อย 30 นาที หรือจะให้ดีคือ 1 ชั่วโมง เพื่อให้ตัวเราได้พิจารณาว่าเราควรบริโภคอาหารเพิ่มเติมอีกเท่าไหร่ ดังนั้นหากปฏิบัติตามวิธีการดังกล่าวยังมีความรู้สึกท้องอืดอยู่ ก็ให้ลดปริมาณน้ำมันมะพร้าวให้น้อยลง
       
       คำถามที่ 13 : น้ำมันมะพร้าวพรหมจรรย์ (สกัดเย็น) กับ น้ำมันมะพร้าวแบบปรุงอาหาร (สีเหลืองนั้น) แตกต่างกันตรงไหน แล้วใช้ทดแทนกันได้หรือไม่?
       คำตอบที่ 13 : น้ำมันมะพร้าวพรหมจรรย์ (สกัดเย็น ไม่มีสี) คือน้ำมันมะพร้าวที่ได้มาจากเนื้อมะพร้าวแล้วนำมาสกัดน้ำมันโดยไม่ผ่านความร้อน จึงได้กรดไขมันที่มีคุณภาพทั้งแร่ธาตุ สารอาหาร ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ และสามารถนำมาผ่านความร้อนได้ด้วย เพียงแต่สำหรับคนที่ไม่คุ้นชินกับกลิ่นของน้ำมันมะพร้าวในทุกเมนูอาจไม่ชอบนำน้ำมันมะพร้าวพรหมจรรย์ไปประกอบอาหาร ดังนั้นจึงมีน้ำมันมะพร้าวแบบปรุงอาหารคือนำเนื้อมะพร้าวที่เหลือจากน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นนำมาอบไล่ควันและไล่กลิ่นจึ จากนั้นจึงผ่านกระบวนการสกัดน้ำมันอีกครั้งหนึ่ง น้ำมันชนิดนี้จึงมีสีเหลืองทองสามารถทำมาประกอบอาหาร เช่น ผัด ทอด ได้โดยไม่มีกลิ่นเหมือนน้ำมันมะพร้าวพรหมจรรย์ และไม่ก่อให้เกิดผลร้ายใดๆต่อสุขภาพเมื่อเทียบกับน้ำมันปรุงอาหารที่ไม่อิ่มตัวชนิดอื่นๆ แต่ไม่สามารถมีคุณภาพที่ดีต่อสุขภาพทัดเทียมกับน้ำมันมะพร้าวพรหมจรรย์ (สกัดเย็น) ได้
       
       คำถามที่ 14 : ทำไมบางคนดื่มน้ำมันมะพร้าวแล้วมีอาการเหมือนร้อนภายใน เจ็บคอ?
       คำตอบที่ 14 : เนื่องจากน้ำมันมะพร้าวเป็นกรดไขมันและให้พลังงาน จึงจัดเป็นอาหารที่เป็นกรดและมีฤทธิ์ร้อน ดังนั้นคนที่มีภาวะร้อนเกินจาการบริโภคเนื้อสัตว์มาก รับประทานหวานมาก นอนน้อย โดยเฉพาะในหน้าร้อน อาจทำให้มีภาวะร้อนเกินไป จึงต้องดับความร้อนด้วยการบริโภคน้ำที่ออกฤทธิ์เป็นด่างและมีฤทธิ์เย็นตามไปด้วย เช่น น้ำใบบัวบก น้ำย่านาง น้ำใบเตย น้ำมะนาว น้ำแอบเปิ้ลเขียว รวมถึงน้ำด่าง และรับประทานผักสดให้มาก ลดบริโภคเนื้อสัตว์ แป้ง น้ำตาลให้น้อยลง รับประทานถ้าดื่มได้เช่นนี้จะสามารถสร้างสมดุลให้สอดคล้องกับร่างกายเราได้
       
        เพราะภาวะเย็นเกินก็ไม่ดีเพราะไม่มีพลังงานในการเผาผลาญหรือกำลังในการขับพิษ และทำให้อัตราการเผาผลาญต่ำ ถ้าร้อนเกินก็ทำให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะภายใน ดังนั้นความสมดุลกรด-ด่าง และสมดุลร้อนเย็นด้วย จะทำให้การดื่มน้ำมันมะพร้าวมีประสิทธิภาพได้มากขึ้น
       
        และถ้าเราจะรู้ว่าเรามีภาวะเย็นเกินหรือร้อนเกินแล้ว ก็อย่าได้เชื่อใครเท่ากับการเชื่อตัวเอง ด้วยการหมั่นตรวจวัดอุณหภูมิใต้ลิ้นตอนตื่นนอนอยู่เสมอ ถ้าอุณหภูมิเฉลี่ย 5 วัน อยู่ระหว่าง 36.3 - 36.5 ให้ถือว่าอยู่ในช่วงปกติ ถ้าต่ำกว่า 36.3 แสดงว่าเย็นเกิน (ให้ดื่มน้ำมันมะพร้าวให้มากขึ้น) แต่ถ้าสูงกว่า 36.5 ขึ้นไปให้ถือว่าเข้าข่ายอาจมีภาวะค่อนข้างร้อนให้ดื่มน้ำสมุนไพรฤทธิ์เย็นให้มากขึ้น
       
       คำถามที่ 15 : เป็นโรคหัวใจตีบ หลอดเลือดอุดตัน ดื่มน้ำมันมะพร้าวได้หรือไม่?
       คำตอบที่ 15 : ดื่มได้ และควรดื่มด้วย เพราะมีงานวิจัยของ Felton และคณะตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ The Lancet ในปี 2537 และ รายงานของดร. Enig เมื่อปี พ.ศ. 2542 ค้นพบแล้วว่าสารตั้งต้นที่มีการอุดตันในหลอดเลือดนั้น เป็นพวก "ไขมันไม่อิ่มตัว"หลายตำแหน่ง (พบมากในน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน น้ำมันรำข้าว) และแผ่นไขมันที่เกาะเส้นเลือดในอนุพันคอเลสเตอรอล 74% เป็น "ไขมันไม่อิ่มตัว" และเป็นไขมันอิ่มตัวเพียง 26% เท่านั้น และในบรรดาไขมันอิ่มตัว 26% นี้ ไม่ใช่กรดลอริก หรือกรดไขมันไมริสตริกจากน้ำมันมะพร้าวเลย ในทางตรงกันข้ามกรดไขมันสายปานกลางในน้ำมันมะพร้าวจะดูดซึมเป็นพลังงานแก่ตับได้เร็วจึงเพิ่มอัตราการเผาผลาญ ทำให้ตับสังเคราะห์ไขมันชนิดดีที่เรียกว่า HDL ไปกวาดเอาคอเลสเตอรอล และ LDL ตามผนังหลอดเลือดไปส่งที่ตับเพื่อนำไปผลิตเป็นฮอร์โมน น้ำดี เยื่อหุ้มเซลล์ ฉนวนหุ้มประสาทได้มากขึ้น ดังนั้นทางที่ถูกต้องคือต้องหยุดไขมันชนิดอื่นที่ไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งให้หมด เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน น้ำมันรำข้าว ฯลฯ แล้วหันมาใช้น้ำมันมะพร้าวแทน
       
       คำถามที่ 16 : เป็นโรคเบาหวานดื่มน้ำมันมะพร้าวได้หรือไม่?
       คำตอบที่ 16 : ดื่มได้และควรดื่มด้วย เพราะเบาหวานมี 2 ลักษณะ ลักษณะแรกการคือตับอ่อนไม่ผลิตอินซูลินทำให้ไม่มีอินซูลินที่จะนำน้ำตาลไปเลี้ยงเข้าไปในเซลล์ได้ หรือลักษณะที่สองคือเกิดการต้านอินซูลิน แท้ที่จริงแล้วเกิดจาการที่เราบริโภคน้ำตาลและแป้งมาเกินไปจนร่างกายไม่สามารถเก็บอยู่ในรูปไขมันตามเนื้อเยื่อได้แล้ว ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งในคนอ้วนจนไม่มีที่จะเก็บไขมันแล้ว และเกิดขึ้นได้ทั้งในคนที่มีโครงสร้างเล็กที่มี่ข้อจำกัดในการสะสมเนื้อเยื่อและไขมัน ผลก็คือร่างกายพยายามหยุดยั้งไม่ให้น้ำตาลไปเก็บตามเนื้อเยื่ออีก ทำให้ค้างอยู่ในหลอดเลือดในคนเป็นโรคเบาหวานทั้งสองลักษณะ เมื่อน้ำตาลค้างอยู่ในหลอดเลือดก็ทำให้หลอดเลือดเกิดการอักเสบก่อให้เกิดอีกหลายโรคตามมา แม้กระทั่งการปัสสาวะก็จะขับถ่ายเอาน้ำตาลออกมาด้วย จึงเรียกโรคนี้ว่า "เบาหวาน" หรือ ปัสสาวะหวานนั่นเอง
       
        ดังนั้นสำหรับคนที่เป็นเบาหวาน ทางที่ถูกต้องที่สุดก็คือการงดการบริโภคแป้งและน้ำตาล แต่แน่นอนว่าหลายคนจะโหยแป้งและน้ำตาล เพราะแม้แต่สมองเองก็ต้องการน้ำตาลไปเลี้ยงด้วย ด้วยเหตุผลนี้จึงควรดื่มน้ำมันมะพร้าวด้วย เพราะน้ำมันมะพร้างมีกรดไขมันสายปานกลางที่ดูดซึมเร็ว โดยเฉพาะในขณะที่เรางดการบริโภคแป้งและน้ำตาลแล้ว น้ำมันมะพร้าวเมื่อถูกย่อยสลายจะกลายเป็น "สารคีโตน" ซึ่งจะไปเป็นอาหารให้เซลล์ได้อย่างรวดเร็วโดยที่ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน ทำให้ลดการโหยแป้งและน้ำตาลลง รวมถึงมีความรู้สึกหิวน้อยลงโดยทันที การบริโภคน้ำมันมะพร้าวให้ได้มีประสิทธิภาพสำหรับคนที่เป็นโรคเบาหวาน จึงควรงดแป้งและน้ำตาลด้วย
       
       คำถามที่ 17 : ใช้น้ำมันมะพร้าวแทนน้ำมันมะกอกในการล้างพิษตับได้หรือไม่?
       คำตอบที่ 17 : เป็นคนละวัตถุประสงค์กัน เพราะน้ำมันมะพร้าวเป็นกรดไขมันสายปานกลางที่ดูดซึมเร็วจึงเหมาะแก่การเพิ่มพลังงานให้แก่ตับ ในขณะที่ไขมันชนิดอื่นนั้นส่วนใหญ่เป็นกรดไขมันสายยาว (รวมถึงน้ำมันมะกอก) จึงเหมาะแก่การ "ล่อน้ำดี" ให้ออกมาจากตับและถุงน้ำดีได้มากกว่า ซึ่งน้ำดีมีองค์ประกอบของไขมัน เกลือน้ำดี และอนุพันของคอเลสเตอรอล ฯลฯ และจากงานวิจัยของภาควิชาพยาธิวิทยา มหาวิทยาลัยแห่งซินซินเนติ มลรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2544 พบว่าสารพิษในรูปของยาฆ่าแมลงหลายชนิดสะสมอยู่ในร่างกายในรูปของไขมัน และเส้นทางหลักในการขับออกนั้นคือการขับออกมาทาง "น้ำดี"
       
        ดังนั้นในบรรดา "กรดไขมันสายยาว" ที่ล่อน้ำดีนั้น ถือว่าน้ำมันมะกอกมีสัดส่วนของกรดไขมันอิ่มตัวเพียงตำแหน่งเดียวเป็นส่วนใหญ่ มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งในสัดส่วนที่น้อยจึงไม่เป็นโทษเหมือนกรดไขมันจากเมล็ดพืชอื่นๆ ในขณะเดียวกัน ตามที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎกพบว่าในสมัยพุทธกาล หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้เคยรักษาโรคตับ (ผอมเหลือง) โดยใช้กรดไขมันสายยาว โดยการใช้ "เนยใส" ซึ่งก็เป็นกรดไขมันสายยาวและมีไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งในปริมาณที่น้อยมากเช่นกัน
       
       คำถามที่ 18 : น้ำมันมะพร้าวพรหมจรรย์ (สกัดเย็น) ชนิดดื่มนั้นเอามาทาผิวหรือหมักผมได้หรือไม่ และแบบปรุงอาหารเอามาทาผิวได้หรือไม่?
       คำตอบที่ 18 : สำหรับน้ำมันมะพร้าวพรหมจรรย์ (สกัดเย็น) ชนิดดื่มนั้นสามารถเอามาทาผิวหน้า ผิวตัว หมักผมได้เลย เพราะความโดดเด่นของกรดไขมันสายปานกลางในน้ำมันมะพร้าวที่ดูดซึมเร็วนั้น เมื่อทาผิวแล้วก็จะสามารถนำพาวิตามินอีและสารต้านอนุมูลอิสระเข้าไปในผิวได้เร็วกว่าน้ำมันชนิดอื่น จึงทำการฟื้นฟูผิวได้เร็ว และลดอาการคันให้น้อยลง และสามารถทำมาใช้กับผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินได้ด้วย(ทั้งดื่มและทาผิว) และด้วยน้ำมันมะพร้าวมีโมเลกุลขนาดเล็กจึงสามารถนำมาชุบสำลีไว้ทำความสะอาดเช็ดเครื่องสำอางออกจากใบหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ล้างหน้าด้วยน้ำเย็นหลังจากนั้น นอกจากนั้นจากงานวิจัยก็ยังพบว่าน้ำมันมะพร้าวสามารถนำมาหมักผมสัปดาห์ละ 1 ครั้งทำให้เส้นผมมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน
       
        ส่วนน้ำมันมะพร้าวแบบปรุงอาหารเนื่องจากผ่านกระบวนการอบไล่กลิ่นและไล่ควันซึ่งผ่านความร้อนมาบ้างแล้ว จึงทำให้คณสมบัติในเรื่องการบำรุงผิวไม่สามารถเทียบคุณภาพได้กับน้ำมันมะพร้าวพรหมจรรย์ (สกัดเย็น)
       
       คำถามที่ 19 : กลัวเรื่องฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงขึ้น เพราะเคยเป็นโรคมะเร็งที่เต้านม จะรับประทานน้ำมันมะพร้าวแล้วจะก่อให้เกิดโรคมะเร็งเต้านมกลับมาหรือไม่?
       คำตอบที่ 19 : จากงานวิจัยพบดร.ออตโต้ วอร์เบิร์ก นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล ที่ค้นพบว่ามะเร็งชอบโต้ในภาวะที่เป็นกรด ต่อมาความรู้นี้จึงทำให้เรารู้อีกว่าอาหารของมะเร็งคือกระบวนการย่อยสลายกลูโคสที่ได้จากแป้งและน้ำตาล และกระบวนการย่อยสลายกลูตามีนซึ่งได้จากกรดอะมิโนของโปรตีน
       
        ส่วนไขมันนั้นได้มีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า ก้อนมะเร็งจะโตขึ้นเมื่อได้รับไขมันที่ไม่อิ่มตัว โดยเฉพาะไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกคำฝอย) ส่วนก้อนมะเร็งจะโตน้อยในน้ำมันพืชที่มีไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งน้อยๆเช่น น้ำมันมะกอก ส่วนก้อนมะเร็งจะไม่มีการเจริญเติบโตหากได้ไขมันอิ่มตัวจากน้ำมันมะพร้าว
       
        สำหรับเรื่องฮอร์โมนเอสโตรเจน ด็อกเตอร์ลีโอนาร์ด โคเฮน (Leonard A. Cohen) ได้ชี้แจงในประเด็นนี้ในการเขียนในวารสารสถาบันมะเร็งแห่งชาติฉบับเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2543 ว่าได้เคยทำการทดลองร่วมกับนักวิจัยอีกท่านหนึ่งในปี พ.ศ. 2524 พบว่าแม้กระทั่งทำการทดลองหนูที่ถูกกระตุ้นทำให้เป็นมะเร็งมดลูกจนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนให้ไหลเวียนได้แล้ว แต่หากเลี้ยงด้วย "ไขมันที่ไม่อิ่มตัวในปริมาณที่สูง" (เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกเมล็ดดอกทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย ฯลฯ) ก็ยังทำให้มะเร็งมีการเจริญเติบโตขึ้นได้อยู่ดี ดังนั้นไขมันจึงน่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญกว่าฮอร์โมนเอสโตรเจน
       
        ส่วนสำหรับผู้หญิงที่ห่วงเรื่องฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงขึ้น ต้องเรียนให้ทราบว่าน้ำมันมะพร้าวไม่ใช่ได้มีฮอร์โมนเอสโตรเจน เพียงแต่น้ำมันมะพร้าวช่วยกระตุ้นการเผาผลาญที่ทำให้ร่างกายนำคอเลสเตอรอลมาสังเคราะห์ฮอร์โมนเพศได้มากขึ้นโดยองค์รวม ไม่ได้จำเพาะว่าเป็นฮอร์โมนชนิดใด ดังนั้นถ้าห่วงเรื่องฮอร์โมนเอสโตรเจนเกินจะต้องปรับลดระดับแหล่งอาหารที่สร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน (เช่น ไข่ นม เนื้อสัตว์ ยาแก้สิว ยาคุม ยาฮอร์โมนวัยทอง ถั่วเหลือง ฯลฯ) และเพิ่มฮอร์โมนโปรเจสตาโรนเพิ่มขึ้นจากแหล่งอาหารอาหารน่าจะถูกต้องมากกว่า (เช่น ลด/งดแป้งและน้ำตาล (หวานทุกชนิด) และเพิ่มการรับประทานอาหารบางชนิด เช่น เมล็ดฟักทอง ฟักทอง ผักโขม งาดำ กล้วย มั่นฝรั่ง ฯลฯ) เพียงควบคุมอาหารเท่านี้แม้แต่คนที่มีซิสต์หรือปวดประจำเดือนมากก็จะมีอาการลดลง
       
       คำถามที่ 20 : น้ำมันมะพร้าวพรหมจรรย์ที่สกัดด้วยกระบวนการผลิตแบบเหวี่ยงจากศูยน์กลาง (Centrifuge Process) ดีอย่างไร ?
       คำตอบที่ 20 : วิธีการผลิตดังกล่าวนี้เป็นวิธีที่ใช้การเหวี่ยงจากศูนย์กลางทำให้แยกน้ำมันมะพร้าวที่มีความหนาแน่นออกจากสารแขวนลอยอื่นๆ ทำให้ได้คุณภาพน้ำมันมะพร้าวที่บริสุทธิ์คุณภาพสูง น้ำหนักเบา มีความละเอียดสูง ดื่มและบริโภคง่าย

 ASTVผู้จัดการรายวัน    2 พฤษภาคม 2557

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
Re: ตอบคำถามยอดฮิตติดสงสัยในน้ำมันมะพร้าว
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 31 พฤษภาคม 2014, 21:21:43 »
คำถามที่ 21: บางคนทำไมกินน้ำมันมะพร้าวแล้วอ้วนขึ้น?
       คำตอบที่ 21 : คนส่วนใหญ่ที่กินน้ำมันมะพร้าวแล้วจะให้พลังงานการเผาผลาญแก่ตับอย่างรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง จึงทำให้อิ่มง่าย เมื่อบริโภคก่อนอาหารสัก 1 ชั่วโมง จะมีความรู้สึกอยากอาหารน้อยลง และถ้างดแป้งและน้ำตาลร่วมด้วยแล้วรับรองว่าน้ำหนักจะลดลงอย่างเห็นได้ชัดในเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ดังนั้นคนที่อ้วนขึ้นก็มี 2 สาเหตุสำคัญ
       
        ประการที่หนึ่ง รีบดื่มน้ำมันมะพร้าวแล้วตามด้วยอาหารทันทีโดยความคุ้นชินในปริมาณที่เคยบริโภค หรือบางคนดื่มน้ำมันมะพร้าวหลังอาหารที่เราอิ่มแล้ว จึงทำให้รับปริมาณแคลอรี่ในอาหารมากเกินความต้องการดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงควรบริโภคน้ำมันมะพร้าวก่อนอาหารสัก 1 ชั่วโมง
       
        ประการที่สอง บางคงมีความอิ่มแล้วแต่ยังฝืนกินเพราะเคยบริโภคอาหารในปริมาณที่ตัวเองตัก จึงทำให้ได้รับปริมาณเกินความต้องการ ดังนั้นจึงควรต้องลดปริมาณอาหารลงด้วยตามความรู้สึกที่แท้จริง อย่ากินอาหารด้วยความคุ้นชินในปริมาณที่เคยบริโภค
       
        ข้อสำคัญเทคนิกการบริโภคน้ำมันมะพร้าวเพื่อให้ผอมลงอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องควบคู่ไปกับการลด/งด แป้งและน้ำตาลด้วย
       
       คำถามที่ 22 : น้ำมันมะพร้าวกินเพื่อป้องกันโรคสมองเสื่อม หรือฟื้นฟูผู้ป่วยสมองเสื่อม ได้อย่างไร? และจะต้องกินปริมาณเท่าไหร่?
       คำตอบที่ 22 : แนะนำให้ดื่มในปริมาณ 7 ช้อนชา (ประมาณ 34.5 ซีซี) ก่อนมื้ออาหารแต่ละมื้อ โดยให้ดื่มก่อนมื้ออาหารทั้ง 3 มื้อ และจะให้ดีก็ควรงดแป้งและน้ำตาลไปด้วย จะทำให้ได้สารคีโตนจากน้ำมันมะพร้าวเป็นอาหารชั้นเลิศไปเลี้ยงเซลล์สมองได้ โดยไม่ต้องพึ่งอินซูลิน
       
        อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่มีอาการดังกล่าวและต้องการดื่มน้ำมันมะพร้าว จะต้องดูปริมาณที่ตัวเองรับได้ด้วย เช่น ต้องไม่ทำให้ถ่ายท้องมากเกินกว่าที่ตัวเองจะรับได้ ดังนั้นจึงสามารถปรับปริมาณให้เริ่มจากน้อยๆ ไต่ระดับไปปริมาณมากขึ้นตามความสามารถของร่างกายที่จะรับได้
       
       คำถามที่ 23 : เป็นไข้หวัดกินน้ำมันมะพร้าวได้หรือไม่? และกินอย่างไร?
       คำตอบที่ 23 : มีงานวิจัยหลายชิ้นระบุถึงคุณสมบัติของน้ำมันมะพร้าวว่า มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อก่อโรค ซึ่งรวมถึง ไวรัส แบคทีเรีย ยีสต์ เชื้อรา โปรโตซัว อีกทั้งยังมีงานวิจัยระบุด้วยว่าน้ำมันมะพร้าวจะมีความสามารถในการกระตุ้นภูมิต้านทานให้ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นจะสังเกตได้ว่าคนที่ดื่มน้ำมันมะพร้าวเป็นประจำทุกวัน และทำออยล์พูลลิ่งสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง จะมีความน่าประหลาดใจว่าแทบจะไม่เป็นหวัดเลย และหากเป็นหวัดก็จะหายได้เร็วมากโดยไม่ต้องพึ่งยาเคมีใดๆเลย ดังนั้นคนที่เป็นไข้หวัดบ่อยจึงควรจะดื่มน้ำมันมะพร้าวเป็นประจำ
       
       คำถามที่ 24 : น้ำมันมะพร้าวช่วยเรื่องโรคผิวหนัง และโรคสะเก็ดเงินได้หรือไม่ และทำอย่างไร?
       คำตอบที่ 24 : โรคสะเก็ดเงินนั้นมีหลายสาเหตุ เช่น ความเครียด, การเสียดสีบ่อยครั้ง, การติดเชื้อ, เกิดภาวะลำไส้รั่วจากการมีปริมาณยีสต์บางชนิดในลำไส้มากเกินไป แต่ที่เป็นสะเก็ดเงินมากในยุคนี้เพราะเดิมอาจะเป็นผื่นธรรมดา แต่ต่อมาใช้ยาครีมทาผิวที่ผสมสเตียรอยด์เป็นประจำ ทำให้ผิวบางและเส้นเลือดยืดตัวขยายตัวออกทำให้เม็ดเลือดขาวหลุดรอดมา กลายเป็นโรคยอดฮิตเพราะเป็นสะเก็ดเงินอันเนื่องมาจากใช้ยาสเตียรอยด์เป็นประจำ
       
        ในการรักษาสะเก็ดเงินนั้น จึงใช้หลักการคือแก้ไขที่ต้นเหตุ ลดปริมาณยีสต์ในลำไส้ให้ลดลงด้วยการดื่มน้ำมันมะพร้าวที่มีฤทธิ์ฆ่ายีสต์ชนิดนี้ด้วย พร้อมๆกับการงดแป้งและน้ำตาลขาดเพื่อไม่ให้ยีสต์เจริญเติบโตขึ้น เพิ่มปริมาณแบคทีเรียชนิดดีด้วยการกินผักใบเขียวและผลไม้(ห้ามหวาน)ให้มากขึ้น จากนั้นก็ให้หมักด้วยการทาน้ำเอนไซม์ทุกเช้าเย็นครั้งละ 1 ชั่วโมงเพื่อให้เนื้อเยื่อที่ตายแล้วทยอยถูกย่อยสลายหลุดลอกออก หลังจากนั้นให้ล้างออกด้วยน้ำแล้วทาผิวบริเวณที่เป็นด้วยน้ำมันมะพร้าว พร้อมๆกับการนวดให้กล้ามเนื้อคลายตัวและทำให้เส้นเลือดที่ยืดตัวออกจนเม็ดเลือดขาวรั่วหดตัวลง ทำได้อย่างนี้จะเห็นผลดีได้อย่างชัดเจนภายในระยะเวลา 1 เดือน ข้อสำคัญเป็นโรคนี้อย่าเกาให้ผิวหนังเสียหายและลุกลามทำให้เครียดหนักขึ้น เมื่อเครียดมาขึ้นผื่นก็จะขยายตัวมากขึ้น ดังนั้นให้ใช้การทาด้วยน้ำมันมะพร้าวแล้วนวดเป็นหลักจะดีกว่า
       
       คำถามที่ 25 : น้ำมันมะพร้าวจะช่วย ผู้ป่วยมะเร็ง ได้หรือไม่ และทำอย่างไรบ้าง?
       คำตอบที่ 25 : จากงานวิจัยพบว่าบทบาทของน้ำมันมะพร้าวคือเป็นน้ำมันที่ไม่ได้ทำให้มะเร็งเติบโตขึ้น เมื่อเทียบกับน้ำมันชนิดอื่นๆ (แม้แต่น้ำมันมะกอก) แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือผู้ป่วยมะเร็งจำนวนมากจะมีอัตราการเผาผลาญที่ต่ำลง ความสามารถในการสังเคราะห์ฮอร์โมน น้ำดี เยื่อหุ้มเซลล์ และฉนวนหุ้มปลายประสาทก็จะลดลงด้วย ดังนั้นน้ำมันมะพร้าวจะเพิ่มความสามารถในการเผาผลาญให้สูงขึ้น
       
        ประการต่อมามีงานวิจัยพบอีกด้วยว่าน้ำมันมะพร้าวมีส่วนสำคัญในการเพิ่มปริมาณเม็ดเลือดขาวให้มากขึ้น ดังนั้นผู้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งแล้วสูญเสียเม็ดเลือดขาวและอ่อนแอลงจากการฉายแสงและคีโมบำบัด ก็ควรจะดื่มน้ำมันมะพร้าวด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
       
        เป็นที่น่ายินดียิ่งกว่านั้นมีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นซึ่งได้ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์พบว่า การนวดไทยมีส่วนช่วยในการเพิ่มภูมิต้านทานในร่างกายสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการคีโมบำบัดด้วย ดังนั้นหากใช้การนวดที่ผสมผสานกับน้ำมันก็จะทำให้กล้ามเนื้อมีการผ่อนคลายและฟื้นฟูร่างกายได้ดีขึ้น
       
       คำถามที่ 26 : น้ำมันมะพร้าวช่วยลดเชื้อ HIV ได้หรือไม่ และบริโภคอย่างไร?
       คำตอบที่ 26 : นายแพทย์เดริท Conrado S. Dayrit ชาวฟิลิปปินส์ ได้สำรวจจากกลุ่มตัวอย่างชาวอินเดียที่ติดเชื้อไวรัส HIV จำนวน 14 ราย ที่ไม่สามารถเข้าถึงการบำบัดจากแพทย์แผนปัจจุบัน โดยให้บริโภคน้ำมันมะพร้าวติดต่อกัน 6 เดือนพบว่า มีผู้ป่วยมีไวรัส HIV จำนวนลดลง 9 ราย และเพิ่มขึ้น 5 ราย โดยไม่ได้รับการรักษาแนวทางอื่นเลย โดยปริมาณที่ดื่มคือประมาณ 15 ซีซีต่อมื้อ และดื่มก่อนอาหารทั้ง 3 มื้อ
       
       คำถามที่ 27 : น้ำมันมะพร้าวฆ่าทั้งไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา ยีสต์ โปรโตซัว แล้วมันจะไปฆ่าแบคทีเรียชนิดดีในร่างกายหรือไม่ แล้วเราควรจะทำอย่างไร?
       คำตอบที่ 27: โมโนลอรินน้ำมันมะพร้าวไม่ได้ฆ่าแบคทีเรียชนิดดี โดย JJ. Kabara และคณะในหัวข้อ “The Anti-Carogenic Activity of a Food-Grade Lipid Lauricidin”ระบุว่า: “โมโนลอรินที่ได้จากกรดลอริกในน้ำมันมะพร้าวไม่ได้มีผลต่อปริมาณแลคโตบัลซิลลัส” จุดนี้เองจึงเป็นความโดดเด่นของน้ำมันมะพร้าวที่ดีกว่ายาปฏิชีวนะในยุคปัจจุบัน
       
       คำถามที่ 28: น้ำมันมะพร้าวจะช่วยลดความดันโลหิตสูงได้หรือไม่ อย่างไร?
       คำตอบที่ 28 : ความดันโลหิตสูงมีหลายสาเหตุมาก เช่น เครียด การบริโภคที่ไม่ถูกต้องทำให้หลอดเลือดอักเสบหรือตีบตัน เลือดมีความข้นสูง แต่ที่เป็นกันมากโดยส่วนใหญ่เพราะเราอ้วนมากเกินไปจึงทำให้หัวใจต้องทำงานหนักเพื่อสูบฉีดด้วยแรงดันสูงเพื่อนำเลือดไปเลี้ยงพื้นที่ที่อ้วน ดังนั้นเมื่อดื่มน้ำมันมะพร้าวแล้วทำให้อัตราการเผาผลาญสูงขึ้น ร่างกายจะผอมลง (โดยเฉพาะถ้างดแป้งและน้ำตาลร่วมด้วย)หัวใจก็จะทำงานน้อยลงในการสูบฉีดร่างกายเพื่อเลี้ยงเซลล์ในพื้นที่ร่างกายที่ลดน้อยลง และเพิ่ม HDL (ไขมันตัวดี) ก็จะกวาดเอา LDL ไปส่งที่ตับเพื่อสังเคราะห์ เป็นน้ำดี ฮอร์โมน เยื่อหุ้มเซลล์ ฉนวนหุ้มประสาท ได้มากขึ้น ความดันจึงสามารถลดลงได้ด้วยเหตุนี้
       
       คำถามที่ 29 : คนตั้งครรภ์ดื่มน้ำมันมะพร้าวได้หรือไม่ เด็กดื่มน้ำมันมะพร้าวได้หรือไม่?
       คำตอบที่ 29 : คนตั้งครรภ์ดื่มได้ เด็กก็ดื่มได้เช่นกัน (ในปริมาณที่น้อยกว่าผู้ใหญ่) เพราะช่วยเรื่องการเพิ่มภูมิต้านทาน น้ำมันมะพร้าวเป็นกรดไขมันที่มีโมเลกุลสั้นมากเมื่อเทียบกับไขมันชนิดอื่น จึงย่อยใช้เป็นพลังงานได้ง่าย ในสมัยก่อนชาวยุโรปและอเมริกาใช้น้ำมันมะพร้าวในการเลี้ยงทารกที่ย่อยไขมันได้ยาก
       
       คำถามที่ 30 : น้ำมันมะพร้าว กับน้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าวอะไรดีกว่ากัน
       คำตอบที่ 30 : น้ำมันทุกชนิดมีจุดเด่นและข้อดีในตัวมันเองคนละแบบ เช่น น้ำมันมะกอกมีกรดโอเลอิกซึ่งมีประโยชน์กับหลอดเลือด รวมถึงน้ำมันรำข้าวก็มีสารแกรมม่าโอรีซานอล (Oryzanol) ซึ่งสามารถต้านอนุมูลอิสระได้สูงเช่นกัน แต่ทั้งหมดต้องดื่มแบบสกัดเย็นเท่านั้น ไม่สามารถโดนความร้อนสูงได้ เพราะน้ำมันเหล่านี้เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวเมื่อโดนความร้อนสูงจึงทำให้เกิดกลายเป็นไขมันทรานส์ที่เป็นโทษต่อร่างกายได้ อีกทั้งน้ำมันมะกอกและน้ำมันมะรำข้าวต่างก็เป็นเป็นกรดไขมันสายยาวซึ่งดูดซึมเป็นพลังงานแก่ตับได้ไม่เท่าน้ำมันมะพร้าว ในขณะที่น้ำมันมะพร้าวเป็นกรดไขมันอิ่มตัว และตัวมันเองก็มีประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะผ่านความร้อนหรือไม่ก็ตาม และองค์ประกอบของน้ำมันมะพร้าวส่วนใหญ่ก็เป็นกรดไขมันสายปานกลางที่ดูดซึมเป็นพลังงานแก่ตับได้ดีกว่าน้ำมันรำข้าวและน้ำมันมะกอก ดังนั้นถ้าพิจารณาความเป็นกรดไขมันสายปานกลางและผลดีต่อสุขภาพเมื่อโดนความร้อนแล้ว น้ำมันมะพร้าวจึงย่อมดีกว่าน้ำมันมะกอกและน้ำมันรำข้าว

ASTVผู้จัดการรายวัน    9 พฤษภาคม 2557