ผู้เขียน หัวข้อ: “อำเภอสุขภาพดี” ตอบโจทย์ระบบสาธารณสุขไทย  (อ่าน 622 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
 โรคที่น่ากลัวสำหรับคนไทยในปัจจุบัน เป็นที่รู้กันดีว่าอาจไม่ใช่โรคติดเชื้ออีกต่อไป เพราะส่วนใหญ่ล้วนแต่มียารักษาและวัคซีนป้องกันเกือบทั้งหมด ที่ต้องให้ความสำคัญจริงๆ คือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น ซึ่งเป็นโรคที่มาแบบแพ็กเกจ แถมขึ้นชื่อว่าโรคเรื้อรัง แน่นอนว่าไม่มีทางที่จะรักษาหายขาด


       สาเหตุที่เกิดก็เนื่องมาจากพฤติกรรมสุขภาพ กินอย่างไร ดำเนินชีวิตอย่างไร ก็ได้ผลเช่นนั้น ซึ่งการแก้ปัญหาเรื่องนี้คงทำในเชิงรับ โดยปล่อยให้ผู้ป่วยเดินเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลเองไม่ได้ เพราะโรคเรื้อรังมีผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายผู้ป่วยก็ล้นโรงพยาบาล หนทางคือต้องทำงานเชิงรุก เพื่อลงไปรณรงค์เปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ
       
       กลไกหนึ่งที่สามารถช่วยให้การดำเนินงานนี้ประสบความสำเร็จก็คือ การมี เครือข่ายอำเภอสุขภาพดี ซึ่งการดำเนินงานที่เน้นบริบทของอำเภอมีข้อดีตรงที่ขนาดไม่ใหญ่เกินไป และไม่เล็กเกินไป ที่สำคัญยังมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือสถานีอนามัยเป็นลูกมือในการดำเนินการ โดยเฉพาะส่วนที่เรียกว่าการส่งเสริมป้องกันโรค
       
       เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.ทวีเกียรติ บุญยไพศาลเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อธิบายภาพรวมว่า การดำเนินงานเครือข่ายอำเภอสุขภาพดีมิใช่เพียงการทำงานเชิงรุกของโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) หรือสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) เท่านั้น แต่ต้องทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกับผู้นำชุมชน นายอำเภอ เทศบาล รวมไปถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ด้วย เพราะการขับเคลื่อนอำเภอสุขภาพดี จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพเท่านั้น แต่ควรพูดว่าเป็นอำเภอสุขภาวะดี เพราะประชาชนในพื้นที่ต้องเกิด 3 ดี ขึ้นมา คือ 1.สุขภาพดี 2.เป็นคนดี คือไม่ติดยาเสพติด สังคมไม่ทอดทิ้ง เป็นต้น และ 3.มีรายได้พอดี คือการมีวิสาหกิจชุมชน การสนับสนุนปลูกพืชสมุนไพร เป็นต้น

“อำเภอสุขภาพดี” ตอบโจทย์ระบบสาธารณสุขไทย
นพ.ทวีเกียรติ บุญยไพศาลเจริญ
       “แต่หากพูดในเรื่องของสุขภาพ หัวหอกก็คือ รพช.และ สสอ.ที่จะต้องขับเคลื่อนร่วมกับชุมชน อสม.ให้เป็นทีมสุขภาพระดับอำเภอ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่เป็นธรรม มีคุณภาพดี มีการส่งเสริมป้องกันโรค และรักษาโรคเบื้องต้นได้ด้วย ที่สำคัญคือต้องมีประสิทธิภาพและประหยัดค่าใช้จ่าย โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสุขภาพในพื้นที่ของตน แล้วกำจัดจุดอ่อนเสีย ด้วยการวางแผนยุทธศาสตร์สุขภาพ ประเด็นคือต้องรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของระบบบริการปฐมภูมิ คือการป้องกันดีกว่าการรักษา และการใช้ทรัพยากรร่วมกันในอำเภอ”
       
       ซึ่งในส่วนของ สธ.นั้น นพ.ทวีเกียรติ ระบุว่า มีการจัดทำการวัดผลประเมินผล (KPI) ทุกจังหวัดไว้อย่างชัดเจน ต้องดำเนินการให้ได้ไม่น้อยกว่า 50% ของอำเภอทั้งหมดทั่วประเทศ คือแต่ละอำเภอจะต้องดำเนินการก่อให้เกิด 2 เรื่องคือ 1.การบริการที่จำเป็น คือการมีหมอประจำครอบครัว แต่หมอในที่นี้อาจไม่ใช่หมอจริงๆ แต่เป็นพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ต้องดูแลแต่ละครอบครัว โดย 1 คนต้องดูแลประมาณ 100 ครัวเรือน สามารถให้การรักษาโรคง่ายๆ ได้ หรือให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ แต่หากครอบครัวที่ดูแลป่วยอาการหนัก ก็ต้องสามารถส่งต่อไปยังโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปได้ รวมถึงขจัดปัญหาสุขภาพ เช่น ไข้เลือดออก ก็ต้องกระตุ้นชาวบ้านในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย และ 2.ประชาชนพึ่งตนเองได้ ซึ่งจะแบ่งการวัดผลตามกลุ่มอายุ ดังนี้
       
       - แม่และเด็กทารก โดยแม่จะต้องไม่ตาย เด็กต้องไม่ขาดสารไอโอดีน เป็นต้น
       
       - เด็กปฐมศึกษา ช่วงนี้เด็กจะต้องไม่เป็นโรคอ้วน ซึ่งนำมาซึ่งโรคเรื้อรัง มีไอคิว อีคิว ดี
       
       - วัยรุ่น จะต้องไม่มีปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยเรียน ยาเสพติดต่างๆ
       
       - วัยทำงาน 25-60 ปี ต้องไม่เกิดโรคเรื้อรัง หรือเกิดโรคเรื้อรังต้องคัดกรองได้อย่างรวดเร็ว เพื่อการรักษาตั้งแต่ระยะแรกๆ
       
       - อายุ 60 ปีขึ้น จะเน้นเรื่องโรคอัลไซเมอร์ หลอดเลือดสมอง เป็นต้น
       
       ทั้งนี้ ปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้กลไกอำเภอสุขภาพดีประสบความสำเร็จนั่นก็คือ เรื่องของงบประมาณ ซึ่งเป็นตัวกระตุกกระตุ้น โดยงบประมาณในแต่ละพื้นที่ ส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานสุขภาพอย่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ 45 บาทต่อหัว ซึ่ง นพ.ชูชัย ศรชำนิ ผอ.แผนงานสนับสนุนบริการปฐมภูมิ สปสช.กล่าวว่า อำเภอสุขภาพดีคือการต่อจิกซอว์ที่เชื่อมส่วนต่างๆ เข้ามาทำงานร่วมกัน ซึ่งแต่ละส่วนต่างก็มีศักยภาพ มีความรู้ มีทักษะ เมื่อเชื่อมทั้งหมดเข้ามาหากันก็จะสเกลงานที่เหมาะสมในการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่
       
       นพ.ชูชัย กล่าวว่า แต่ละอำเภอก็จะทำแผนอำเภอสุขภาวะ คือ 1 อำเภอ 1 โครงการ ซึ่งจากการจำแนกโครงการทั้งหมดพบว่าแบ่งออกเป็น 5 ประเภทใหญ่ๆ คือ 1.โครงการโรคเรื้อรังพบมากถึง 40% เช่น เบาหวาน ความดัน ทำอย่างไรจึงจะได้รับการบริการที่ดี 2.โรคติดต่อ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก ไข้เลือดออก 3.อนามัยแม่และเด็ก 4.กายภาพบำบัด และ 5.นโยบายรัฐ ซึ่งโครงการประเภทนี้เป็นประเด็นที่เราสนใจที่สุด แต่กลับมีอำเภอทำน้อยคือไม่ถึง 5%
       
       “ที่แต่ละอำเภอเลือกทำโรคเรื้อรังมาก ก็บ่งบอกได้ชัดว่าแต่ละพื้นที่ค่อนข้างมีปัญหาในเรื่องโรคเรื้อรัง ซึ่งการจะแก้ปัญหาก็พยายามแนะนำให้แต่ละพื้นที่เข้าใจว่าจะต้องแก้ปัญหาด้วยการให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น อย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่อง อย่างเช่น ผู้ป่วยต้องรับยาประจำมาหาหมอไม่ได้ ก็ไม่ใช่แก้ปัญหาด้วยการจ่ายยาล่วงหน้า แต่ต้องหาวิธีแก้ปัญหาที่จะเกิดล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ”
       
       นพ.ชูชัย ทิ้งท้ายว่า แม้อำเภอสุขภาพดีขณะนี้จะยังไม่ประสบความสำเร็จทั้งหมด แต่ก็ต้องเดินหน้าดำเนินการต่อไป ซึ่งบางพื้นที่ก็มีวิธีแก้ปัญหาจัดการที่ดีอยู่แล้ว การมีเครือข่ายอำเภอสุขภาพดีก็ช่วยให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้น และเมื่อแต่ละอำเภอดำเนินการได้อย่างเข้มแข็ง ก็เชื่อว่าจะตอบโจทย์การแก้ปัญหาสุขภาพของคนไทยที่เริ่มค่อนไปทางสังคมเมืองมากขึ้นได้อย่างแน่นอน

ASTVผู้จัดการออนไลน์    15 มีนาคม 2557