แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - patchanok3166

หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 20
61
สธ. เกาะติดสถานการณ์พายุปาบึก พบว่า เกิดฝนตกหนัก ใน 3 จังหวัด คือ สงขลา พัทลุง และ ปัตตานี พบน้ำท่วมทางเข้า รพ.สายบุรี เกิดไฟฟ้าลัดวงจร แต่แก้ไขแล้ว ยังเปิดให้บริการปกติ ขณะเดียวกัน ประสานอพยพ คนท้อง ผู้ป่วยติดเตียงออกจากพื้นที่แล้ว เพื่อความปลอดภัย ด้านกรมสุขภาพจิต แนะประชาชนเตรียมพร้อมรับมือพายุปาบึกอย่างมีสติ ส่วนผู้มีโรคประจำตัว ขอให้จัดเตรียมยาประจำตัวไว้ใกล้ตัว โดยเฉพาะผู้ป่วยจิตเวช ระมัดระวังการขาดยา


วันนี้ (3 ม.ค.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุม ศูนย์ปฏิบัติด้านการแพทย์และสาธารณสุข พร้อมประชุมระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ กับ นายแพทย์สาธารณสุข ถึงกรณีพายุปาบึก ว่า หลังจากได้มีการสั่งการให้ทุกพื้นที่ใน 16 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากพายุ มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการขึ้น และ มีการสำรวจยาและเวชภัณฑ์นั้น ล่าสุด ทุกพื้นที่ได้เตรียมการพร้อมแล้ว และจากการสอบถามในพื้นที่ พบว่า พายุมีการเคลื่อนผ่านไปยัง จ.สงขลา, ปัตตานี และ พัทลุง ซึ่งฝนตกลงมาต่อเนื่อง


นพ.สุขุม กล่าวต่อว่า ปริมาณฝนที่ตกส่งผลให้ รพ.สายบุรี จ.ปัตตานี เกิดน้ำท่วมทางเข้าโรงพยาบาล แต่ยังเปิดให้บริการได้ตามปกติ และเนื่องจากฝนตกลงมาตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงขณะนี้ จึงได้มีการประสานร่วมกับจังหวัด อพยพหญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยติดเตียงออกจากพื้นที่แล้ว ขณะเดียวกัน ที่ รพ.สายบุรี ก็พบปัญหาไฟฟ้าลัดวงจร แต่ได้แก้ไขเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วน จ.สงขลา ก็ได้รับรายงานว่า มีฝนตกลงมาต่อเนื่องตั้งแต่ ตี 5 ของวันนี้ (3 ม.ค.) และมีแนวโน้มเพิ่มปริมาณ โดยสถานพยาบาลที่เสี่ยงอาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ได้แก่ รพ.ระโนด, รพ.สิงหนคร และ รพ.สะเดา ขณะที่ จ.พัทลุง พบมีฝนตกอย่างหนัก ทางกระทรวงได้สั่งการให้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด


“ได้มีเปิดศูนย์ปฏิบัติการ และให้แจ้งหรือรายงานสถานการณ์ในระบบ แต่เพื่อความไม่ประมาท ได้สั่งกำชับให้มีการเตรียมใช้วิทยุสื่อสาร หากสถานการณ์พายุรุนแรง หรืออินเทอร์เน็ตไม่สามารถใช้รายงานผลได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการน้อมนำพระราชดำริของในหลวง ร.๙ ที่ทรงนำวิทยุสื่อสาร มาช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ห่างไกล โดยวิทยุสื่อสารนี้สามารถสื่อได้ในระยะสั้น และได้มีการวางแม่ข่ายไว้แล้ว ขณะเดียวกัน ได้กำชับให้เฝ้าระวังไฟฟ้าลัดวงจรในพื้นที่ด้วย” นพ.สุขุม กล่าว


วันเดียวกัน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตมีความเป็นห่วงประชาชน เนื่องจากสถานการณ์ภัยพิบัติจากพายุ จะมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจประชาชน ส่วนใหญ่อาจเกิดสภาวะเครียด วิตกกังวล วิธีการป้องกันผลกระทบดังกล่าวที่ดีที่สุด คือ การเตรียมความพร้อมรับมือไว้ล่วงหน้าทั้งตนเองและครอบครัว จะช่วยลดความสูญเสียต่างๆ ได้มาก โดยขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากพายุในครั้งนี้ อย่าตื่นตระหนก แต่ขอให้ตั้งสติพร้อมรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยขอให้ประชาชนปฏิบัติ 4 ประการดังนี้


1. ผู้ที่อยู่ในพื้นที่มีโอกาสเสี่ยงภัยพิบัติจากพายุ ติดตามข่าวสารประกาศเตือนภัยจากทางราชการเป็นหลัก ระมัดระวังข่าวปลอมที่อาจก่อให้เกิดความตื่นตระหนก เพื่อลดความวิตกกังวล และวางแผนรับมือได้อย่างเหมาะสม


2. ให้ตั้งสติ อย่าตกใจ และให้คิดถึงความปลอดภัยของชีวิตและคนในครอบครัวไว้ก่อน เนื่องจากเป็นภัยที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยให้เตรียมความพร้อมร่วมกันในครอบครัว จัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนของปัญหา เรียงจากมากไปหาน้อย แก้ไปทีละข้อ จัดเตรียมสำรองเทียนไข ไฟฉาย อาหารแห้ง และน้ำดื่มให้เพียงพออย่างน้อย 3 วัน กำหนดหน้าที่ของคนในครอบครัว ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และวางแผนการขนย้ายผู้ที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้หรือได้น้อย เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ รวมทั้งสิ่งของจากบ้านเรือนไว้ให้พร้อม การวางแผนโดยมีสตินั้น จะช่วยลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินลงได้มาก และผลกระทบด้านจิตใจจะลดน้อยลง


3. สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวทุกโรค ขอให้จัดเตรียมยาที่กินประจำไว้ใกล้ตัว เพื่อหยิบง่ายในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยเฉพาะผู้ป่วยจิตเวช ควรระมัดระวังการขาดยา เพราะอาจทำให้อาการจะกำเริบระหว่างที่รับมือกับภัยพิบัติครั้งนี้ แนะนำให้ครอบครัวผู้ป่วยช่วยตรวจสอบจำนวนยา หากพบยาใกล้หมด หรือยากินสูญหาย อาจไม่ต้องรอให้มีอาการป่วยก่อน ควรรีบแจ้งสถานพยาบาล หรือ อสม. ที่อยู่ใกล้บ้าน โดยการได้รับยาต่อเนื่องจะทำให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการให้เป็นปกติได้ ซึ่งหากปล่อยให้อาการกำเริบบ่อยๆ อาจส่งผลเสียเกิดอาการทางจิตรุนแรงขึ้นได้ และการรักษาจะยุ่งยากขึ้นในภายหลัง


4. ควรจดเบอร์ฉุกเฉินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะด้านสุขภาพและความปลอดภัยไว้ติดตัว ได้แก่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323, สายด่วนกู้ชีพ 1669, สายด่วนนิรภัย 1784 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อสามารถโทรขอรับความช่วยเหลือได้ทันทีหากเกิดภาวะจำเป็นเร่งด่วน


สำหรับการเตรียมความพร้อมให้การดูแลจิตใจประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ทางกรมสุขภาพจิตได้ให้โรงพยาบาลจิตเวชและศูนย์สุขภาพจิตที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งให้เตรียมทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team ; MCATT) พร้อมเวชภัณฑ์ยาที่จำเป็น พร้อมปฏิบัติการสนับสนุนการดำเนินการร่วมกับทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทของสถานพยาบาลในเขตสุขภาพ ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมเวชภัณฑ์ยารักษา และ การเยียวยาด้านอารมณ์จิตใจ สนับสนุนการปฏิบัติงานของทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทเครือข่ายของโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยอย่างใกล้ชิด


เผยแพร่:  4 ม.ค. 2562 โดย: ผู้จัดการออนไลน์

62
การบริจาคเลือด ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่ หากสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง และมีคุณสมบัติตรงตามที่ศูนย์รับบริจาคโลหิตต้องการ เช่น มีอายุระหว่าง 17-70 ปีบริบูรณ์ มีน้ำหนัก 45 กิโลกรัมขึ้นไป ก็สามารถบริจาคเลือดได้ ผู้บริจาคเลือดไม่เพียงจะได้รับความสุขจากการให้ แต่ยังได้รับประโยชน์สุขภาพอีกมากมายที่คุณอาจจะคาดไม่ถึง


ประโยชน์ดีๆ ที่ได้จากการบริจาคเลือด



1.ช่วยเผาผลาญแคลอรี


การบริจาคเลือดอาจเหมือนแค่นอนนิ่ง ๆ แต่จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียพบว่า การบริจาคเลือดครั้งละ 450 มิลลิลิตรสามารถเผาผลาญพลังงานได้ถึง 650 กิโลแคลอรี แม้การบริจาคเลือดแต่ละครั้ง จะช่วยเผาผลาญพลังงานได้มาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าคุณจะลดน้ำหนัก ด้วยการโหมบริจาคเลือดได้ เพราะคุณสามารถบริจาคเลือดได้ทุก 3 เดือน โดยต้องมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงด้วย

 

2.ช่วยป้องกันภาวะเหล็กเกิน

ธาตุเหล็กเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นในการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง แต่หากมีธาตุเหล็กสะสมอยู่ภายในร่างกายมากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะเหล็กเกิน (hemochromatosis) คือ ธาตุเหล็กไปเกาะอยู่ตามอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ หัวใจ ไต ส่งผลให้เป็นโรคอย่าง ตับแข็ง เบาหวาน ข้ออักเสบ เป็นต้น ซึ่งการบริจาคเลือดจะทำให้ปริมาณธาตุเหล็กในร่างกายน้อยลง จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะเหล็กเกินได้

 

3.ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ

จากการศึกษาพบว่า การบริจาคเลือดเป็นประจำติดต่อกันนานหลายปี จะช่วยลดความเข้มข้นของเลือด และระดับธาตุเหล็กในร่างกาย จึงสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือหัวใจวายได้ถึง 88% และลดความเสี่ยงของการเกิดอาการเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจชนิดรุนแรง เช่น โรคหลอดเลือดสมองได้ถึง 33%

 

4.ช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง

การบริจาคเลือดเป็นประจำช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งที่มีสาเหตุจากมีธาตุเหล็กสูงเกินไป เช่น มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะ มะเร็งลำคอได้ โดยยิ่งบริจาคเลือดบ่อย ความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งก็จะยิ่งลดลง

 

5.กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดใหม่

ภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากบริจาคเลือด ไขกระดูกจะถูกกระตุ้นให้จะสร้างเม็ดเลือดแดงใหม่ ขึ้นมาทดแทนเลือดที่เสียไป และเม็ดเลือดแดงของคุณจะกลับมามีปริมาณเท่าเดิม ภายในเวลา 60 วัน อีกทั้งกระบวนการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงใหม่นี้ ยังช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ดี สุขภาพจึงแข็งแรงขึ้นด้วย

 

6.ได้ตรวจสุขภาพเบื้องต้นฟรี

ก่อนจะบริจาคเลือดได้ ผู้ประสงค์จะบริจาคเลือดต้องผ่านการตรวจร่างกายเบื้องต้น เช่น การวัดความดันโลหิต การตรวจความเข้มข้นของเลือด รวมไปถึงการซักประวัติด้านสุขภาพ หากผลการตรวจเบื้องต้นผ่านเกณฑ์ และแพทย์ลงความเห็นว่าสุขภาพแข็งแรง จึงจะสามารถบริจาคเลือดได้ อีกทั้งเลือดที่คุณบริจาคจะต้องผ่านการตรวจหาความผิดปกติ เช่น เชื้อไวรัสเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ซิฟิลิส ก่อนเก็บไว้เป็นเลือดสำรอง จึงถือว่าคุณได้ตรวจโรคดังกล่าวไปด้วยแบบฟรีๆ

 

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดหลังบริจาคเลือด

หลังจากบริจาคเลือด คุณอาจรู้สึกคลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ หน้ามืดเป็นลม จึงควรนอนพักโดยยกเท้าให้สูงกว่าศีรษะสัก 5 นาทีก่อนลุกจากเตียงบริจาค บางคนอาจมีเลือดไหล หรือเกิดรอยช้ำบริเวณรอยเข็มได้เป็นเรื่องปกติ หลังจากบริจาคเลือด อย่าลืมกินอาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น เนื้อแดง ผักใบเขียวเข้ม ข้าวเสริมธาตุเหล็ก แครอท เพื่อป้องกันไม่ให้ระดับธาตุเหล็กในร่างกายต่ำเกินไป และหากคุณมีอาการดังนี้ติดต่อกันนานเกิน 3 วัน ควรติดต่อศูนย์บริจาคโลหิตทันที


     -พักผ่อน กินข้าว ดื่มน้ำแล้วก็ยังวิงเวียน คลื่นไส้ หน้ามืด

     -เลือดไหลจากรอยเข็มไม่หยุด

     -แขนเป็นเหน็บชา หรือปวดแขน



31 ธ.ค. 61 sanook.com

63
สธ.เผย ปชช.รับบริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ช่วงแรก 3.9 แสนคน เตรียมช่วงที่ 2 วันที่ 7-20 ม.ค.นี้


สธ. เตรียมออกให้บริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลประชาชน มอบบริการสุขภาพเป็นของขวัญปีใหม่ประชาชนในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล 878 อำเภอทั่วประเทศ และกรุงเทพฯ ช่วงที่ 2 วันที่ 7-20 ม.ค. นี้ เผยช่วงแรกให้บริการแล้ว 390,000 ราย


ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุข ประสานหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดโครงการบูรณาการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เพื่อดูแลประชาชนอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ออกให้บริการเป็นของขวัญปีใหม่คนไทยในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร 878 อำเภอทั่วประเทศ และกรุงเทพมหานคร 2 ช่วง ช่วงที่ 1 วันที่ 11-24 ธันวาคม 2561 และจะจัดช่วงที่ 2 วันที่ 7-20 มกราคม 2562 โดยให้บริการการแพทย์ขั้นพื้นฐาน ทันตกรรมเคลื่อนที่ ตรวจตา สุขภาพจิต แนะนำและฝึกอาชีพ รวมทั้งบริการอื่นๆ ตามบริบทของพื้นที่


ผลการดำเนินงานช่วงที่ 1 ระหว่างวันที่ 11-24 ธันวาคม 2561 ข้อมูล ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2561 ได้รับรายงานมีผู้มาใช้บริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่รวม 390,819 คน บริการแพทย์พื้นฐาน 105,279 ราย ส่งต่อเพื่อเข้ารับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญ 3,411 ราย บริการทันตกรรม 43,473 ราย ส่งต่อ 1,489 ราย บริการตรวจตา 39,170 ราย ส่งต่อ 2,081 ราย บริการด้านสุขภาพจิต 60,570 ราย ส่งต่อ 1,937 ราย แนะนำและฝึกอาชีพ ได้แก่ งานด้านบริการ เช่น เสริมสวย นวด เป็นต้น งานคหกรรม งานศิลปะประดิษฐ์ เย็บปักถักร้อย ดนตรี 51,416 ราย และกิจกรรมตามบริบทพื้นที่ อาทิ นวดแผนไทย/กายภาพบำบัด จำหน่ายสินค้าพื้นบ้าน/โอทอป กิจกรรมสันทนาการ ฉีดวัคซีน/ทำหมันสัตว์เลี้ยง แจกพันธุ์ไม้ บริการตัดผม ซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า 90,911 ราย รวมทั้งประชาชนที่มารับบริการมีความพึงพอใจ เพราะได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์ สะดวก ไม่ต้องรอคอยนาน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและเสียเวลาเดินทางไปโรงพยาบาล เมื่อพบอาการผิดปกติมีระบบส่งต่อ และต้องการให้จัดหน่วยแพทย์ในลักษณะนี้บ่อยๆ


“ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ มีสุขภาพที่แข็งแรง มีความสุขตลอดปีและตลอดไป และขอเชิญชวนเข้ารับบริการต่างๆ ที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ช่วงที่ 2 วันที่ 7-20 มกราคม 2562 ในพื้นที่ที่แต่ละจังหวัดกำหนด” รมว.สาธารณสุข กล่าว



เผยแพร่: 1 ม.ค. 2562 1โดย: ผู้จัดการออนไลน์

64
สธ.-สปสช.-ประกันสังคม ประสานเสียงไม่ต้องห่วงค่ารักษาช่วงปีใหม่ หากเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต อันตรายถึงชีวิต ใช้สิทธิยูเซปเข้ารักษาฟรี 72 ชั่วโมงแรกได้ ส่วนบัตรทองหากไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่จำเป็นต้องรับการรักษา ใช้สิทธิรักษา ม.7 ได้ ย้ำเข้า รพ.รัฐ ใกล้สุดไว้ก่อน


นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 จะมีความเข้มข้นในการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตเพิ่มขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจ โดยขอให้ประชาชนระมัดระวังอุบัติเหตุทั้งที่เดินทางกลับบ้านและท่องเที่ยว แต่หากเกิดเหตุสุดวิสัย หน่วยงานภาครัฐต่างๆ ได้เตรียมความพร้อมดูแลช่วยเหลือ โดยส่วนของนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ หรือ ยูเซป (UCEP) ที่ผ่านมาได้รับการตอบรับอย่างดี มีปัญหาและเรื่องร้องเรียนน้อยมาก รวมถึงปัญหาการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินในช่วง 72 ชั่วโมงแรก ประชาชนส่วนใหญ่พอใจ เป็นอย่างที่นายกรัฐมนตรีเคยกล่าวไว้ว่า ใน 100 ราย อาจมีผู้ที่ไม่พอใจเพียง 1 รายเท่านั้น แต่เราก็พยายามแก้ไขปัญหาให้


นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 หากประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) มีความจำเป็นต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล แบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1. กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤต หากไม่รักษาทันทีมีโอกาสเสียชีวิตสูง สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ทุกแห่งที่อยู่ใกล้สุด ตามนโยบายยูเซป และให้สถานพยาบาลที่ให้การรักษาเบิกค่าใช้จ่ายจาก สปสช.ตามอัตราที่กำหนด 2. กรณีเจ็บป่วยที่ไม่ใช่ฉุกเฉินระดับวิกฤต หรือผู้มีสิทธิบัตรทองที่เดินทางไปต่างถิ่นแล้วมีความจำเป็นต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล เช่น ความดันโลหิตขึ้นสูง ปวดศีรษะมาก ท้องเสียรุนแรง เป็นต้น เป็นภาวะที่ไม่ถึงขั้นฉุกเฉินแก่ชีวิต จะเป็นไปตามข้อบังคับ สปสช.ว่าด้วยการใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขกรณีที่มีเหตุสมควร กรณีอุบัติเหตุหรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 ระบุว่า


ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองหากมีเหตุสมควร หรือกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉิน หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลอื่นที่ไม่ได้ลงทะเบียนหน่วยบริการประจำและสถานพยาบาลที่ไม่ได้เข้าร่วมให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามมาตรา 7 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ทั้งนี้ ขอแนะนำให้เข้ารับบริการสถานพยาบาลของรัฐและสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการที่อยู่ใกล้ที่สุดก่อน ไม่มุ่งเจาะจงเข้าสถานพยาบาลเอกชนเท่านั้น เนื่องจากการเบิกจ่ายค่ารักษาจะเป็นไปตามระเบียบที่กำหนดไว้


“ในการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ เพื่อความสะดวก นอกจากการเตรียมบัตรประจำตัวประชาชนที่เป็นหลักฐานสำคัญแล้ว ควรศึกษาข้อมูลหน่วยบริการที่อยู่ในพื้นที่ระหว่างเดินทางและจุดหมายปลายทาง เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการเข้ารับการรักษาพยาบาลยังหน่วยบริการที่ใกล้ที่สุดโดยเร็วและเพื่อความไม่ประมาท ส่วนประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และหอบหืด เป็นต้น ควรเตรียมพร้อมยารักษาโรคเพื่อให้เพียงพอสำหรับการเดินทาง” เลขาธิการ สปสช.กล่าว และว่าหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วน สปสช. โทร.1330 ขณะที่กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินนั้น โทร.สายด่วน 1669 ได้ทั่วประเทศ



ด้านนายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า สำหรับผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินหรือประสบอุบัติเหตุระหว่างการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ ขออย่าได้กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษา หากเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือได้รับอุบัติเหตุ หรือมีอาการเจ็บป่วยกะทันหัน ลูกจ้าง ผู้ประกันตน สามารถเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดได้ทันที โดย สปส.จะพิจารณาจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ภายใน 72 ชั่วโมง ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนด ทั้งนี้ ให้ผู้ประกันตนหรือโรงพยาบาลที่ให้การรักษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง แจ้งสถานพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกไว้ทราบโดยเร็ว ตั้งแต่เข้ารับการรักษาเพื่อให้รับผิดชอบค่าบริการทางการแพทย์ให้กับผู้ประกันตน


นายอนันต์ชัยกล่าวว่า การรักษากรณีผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการจากโรงพยาบาลทุกแห่งทั้งภาครัฐและเอกชน โดยไม่ถูกทวงถามสิทธิก่อนรักษา ไม่ต้องสำรองค่ารักษา ไม่ถูกบ่ายเบี่ยงการรักษา และได้รับการดูแลรักษาจนกว่าอาการจะทุเลา ทั้งนี้ ขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจในระบบบริการทางการแพทย์ของสำนักงานประกันสังคมว่าทุกคนจะได้รับการบริการสาธารณสุขที่จำเป็นอย่างรวดเร็ว มีคุณภาพเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ ผู้ประกันตนท่านใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสิทธิการรักษาสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1506 พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง



เผยแพร่: 27 ธ.ค. 2561    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

65
สาวพยาบาลผวาหนัก แฟนหนุ่มรุ่นน้องที่เพิ่งคบหาโมโหไม่เล่นด้วย ค้นเอาทรัพย์สินมีค่าในบ้าน แถมเขียนข้างฝาคู่อาฆาตจะเอาให้ตายอีกด้วย จนไม่กล้าอยู่บ้านคนเดียวแล้ว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า (16 ธ.ค.) เมื่อเวลา 22.00 น. ที่บ้านหลังหนึ่ง หมู่ 2 ถนนเทศบาลพัฒนา 1 ตำบลเหมือง อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี สภ.แสนสุข ได้รับแจ้งว่ามีเหตุลักทรัพย์ของมีค่าหลายรายการ จึงได้เดินทางมาตรวจสอบ และได้พบ น.ส.ชุติญา อายุ 49 ปี มีอาชีพเป็นพยาบาลประจำศูนย์แลป พร้อมกับเชิญเจ้าหน้าที่เข้าไปดูหลักฐานการรื้อค้นของคนร้าย


น.ส.ชุติญา กล่าวว่า คนร้ายไม่ใช่ใครอื่นเป็นแฟนใหม่ที่เพิ่งคบหากันได้ไม่นานและอยู่ในระหว่างดูใจกัน เพราะฝ่ายชายอายุน้อยกว่ามากและเพิ่งพ้นทหารมาจึงยังไม่คิดอะไร แต่ฝ่ายชายพยายามที่จะเอาตนมาเป็นภรรยา และหลายครั้งพยายามที่จะผูกมัดตนเอาเป็นเมียให้ได้ จนตนเองต้องออกอุบายหลบออกจากบ้านหลายครั้ง


ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมา ฝ่ายชายทะเลาะกับตนเพราะรู้ว่าตนไม่เล่นด้วยเป็นแน่ ถึงขนาดเอามีดไล่ฟันและบังคับตนจนต้องหลบเข้าห้อง รอจนได้โอกาสหนีออกจากบ้านหลายวัน ไปอาศัยอยู่บ้านเพื่อนปล่อยให้ฝ่ายชายอยู่บ้านคนเดียว หลังกลับมาที่บ้านเพื่อจะมาดูบ้านเมื่อเห็นว่าฝ่ายชายไม่อยู่บ้านแล้ว


ตนจึงเข้าไปและพบว่าสิ่งของที่ตนหวงแหนและสะสมมา ทั้งชีวิตหลายรายการหายไป อีกทั้งงัดกรอบแบงก์ที่ข้างฝาไปด้วยแล้วก็เขียนคำขู่อาฆาตตนไว้ที่ข้างฝาอีกด้วย ตนจึงโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าว พร้อมให้มาตรวจสอบทรัพย์สินที่หายไปจากในตู้ด้วย 


ทั้งนี้ พ.ต.ท.สุกิจ เหมรา พนักงานสอบสวน ก็ได้ให้ผู้เสียหายเดินทางมาที่สถานีตำรวจภูธรแสนสุข เพื่อทำการลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน เพื่อติดตามตัวผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป




17 ธ.ค. 61 sanook.com

66
ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ระบายความอัดอั้นตันใจ หลังจากตนต้องเจอเรื่องราวที่เหมือนเป็นฝันร้าย ที่ทำให้ตนรู้สึกถอดใจที่สุด ตั้งแต่ทำอาชีพพยาบาลมา 6 ปี เมื่อคนไข้คนหนึ่งมารักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในภาคเหนือ ที่ตนทำงานอยู่



โดนสามีคนไข้เมาอาละวาด-หาเรื่อง


ผู้โพสต์ระบุว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อวาน (25 พ.ย.) มีผู้หญิงคนหนึ่งที่ประสบอุบัติเหตุถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาล จึงพาไปตรวจร่ายกายเพื่อประเมินบาดแผล แต่อยู่ๆ สามีของคนไข้ ที่คาดว่าเมาเหล้า มาโวยวายว่าทำไมพาไปเอกซ์เรย์ แถมตะคอกใส่ โดยหาว่าตนมองหน้าหาเรื่อง และใช้คำไม่สุภาพด่ากราดตน


"ญาติคนไข้ (สามี) เดินเข้ามายืนข้างๆ เตียง ลักษณะเมาสุรา ด้วยความที่เราอยากรีบล้างแผลเนื่องจากกลัวแผลมีสิ่งสกปรกติดเชื้อ สามีคนไข้ ได้บอกกับเราว่า ขาคนไข้หักต้องรีบ X-ray เราเข้าใจว่าเขาเป็นห่วงภรรยา จึงอธิบายว่าต้องให้แพทย์มาประเมินผู้ป่วยและความรุนแรงของบาดแผลก่อน จึงจะขึ้น X-ray ได้ พอจบประโยค สามีคนไข้ก็ตะคอกใส่เราว่า 'แล้วหมออยู่ไหน' เราจึงตอบกลับไปว่ากำลังดูคนไข้ฉุกเฉินอยู่"


"แล้วบอกว่ามึงมองหน้ากูทำไม ไม่พอใจเหรอ มึงจะเอาเหรอ ถ้าเป็นญาติมึง มึงจะว่างยังไง _ีเ_ี้ย _ีสั_ว์ _ีพยาบาลเลว บริการแย่ มึงชื่ออะไร เอาชื่อมึงมา กูจะเอาเรื่องมึงให้ถึงที่สุด"


แจ้งผู้บริหารโรงพยาบาล


ผู้โพสต์เล่าต่อไปว่า ขณะนั้นตนไม่แน่ใจว่าสามีคนไข้จะพกอาวุธมา และใช้ทำร้ายตน หรือไม่ จึงเลือกถอยออกมา แต่ก็ยังโดนพูดจาหาเรื่อง จึงเลือกหลบไปอยู่ในห้องพักพยาบาล แต่หลังจากนั้น 1 ชั่วโมง สามีคนไข้ก็ยังไม่ไปไหน ราวกับตามติดคิดบัญชีกับตน จึงนำความไปบอกกับผู้บริหารโรงพยาบาล เผื่อว่าจะช่วยตนได้ เพราะเห็นว่าถูกคุกคามขณะทำงาน


"ประมาณ 20 นาทีให้หลัง พี่ยาบาลเดินเข้ามาบอกเราว่า อย่าเพิ่งออกไปด้านนอก คนนั้นยังเดินตามหาเรา สอบถามจากเพื่อนร่วมงานเรา เพื่อที่จะทำร้ายเรา เรารอประมาณ 1 ชั่วโมง เขาก็ยังไม่กลับ พูดว่าจะดักรอเราด้านนอก เรากลัวมาก แจ้งผู้บริหาร"


คำตอบสุดบาดใจ ผู้บริหารลั่นไม่เกี่ยว เป็นเรื่องส่วนตัว


อย่างไรก็ตาม คำตอบที่ตนได้รับจากผู้บริหารโรงพยาบาล คือ เป็นเรื่องส่วนตัวของตนและสามีคนไข้ และถ้าอยากแจ้งความก็ทำได้เลย แต่ไม่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาล เพราะเป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งจุดนี้ตนรู้สึกผิดหวังมาก เพราะตนถูกคุกคามขณะทำงาน แต่หัวหน้ากลับไม่เหลียวแล



"ผู้บริหารเขาบอกว่า ถ้าอยากแจ้งความก็แจ้งเองเลย เพราะมันเป็นเรื่องส่วนตัว เราก็คิดนะว่า ทำไมการถูกคุกคามถูกทำร้ายขณะปฏิบัติหน้าที่ถึงกลายเป็นเรื่องวิวาทส่วนตัวของเราไปได้"


ผู้โพสต์จึงตัดสินใจแจ้งตำรวจ และเมื่อตำรวจมาถึง ชายคนนั้นก็ยังด่าทอตนให้ตำรวจฟังด้วยคำพูดหยาบคาย ทำให้ตนไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ แต่ก็ยังกลับมาทำงานต่อในช่วงดึก แต่สามีคนไข้คนนั้นก็ยังตามมาคุกคามตนบริเวณโรงพยาบาลอีก จึงต้องให้พ่อแม่ขับรถมารับตนกลางดึก


เหมือนโดนเท้าเหยียบหัวใจ


เหตุนี้ ทำให้ตนน้อยใจว่า นี่หรือคือสิ่งที่หน่วยงานราชการดูแลตน ทำให้ตนต้องอยู่อย่างหวาดระแวง แต่คนที่คุกคามตนกลับลอยนวล และไม่ต้องรู้สึกผิดอะไร


"คนนั้นยังสามารถกลับบ้านไปแบบปกติสุข ไม่ได้รู้สึกผิดอะไรเลย นี่เหรอสิ่งที่หน่วยงานราชการดูแลเรา สิ่งตอบแทนกรรมกรชุดขาวแบบพวกเรา ที่ต้องดูแลตัวเอง หมดกันศักดิ์ศรีพยาบาลวิชาชีพ ที่ยอมให้เขาใช้เท้าเหยียบหัวใจเรา กี่ครั้งที่พวกเราเงียบ กี่คนที่ตาย ที่เจ็บตัว สุขภาพจิตเสีย หวาดกลัว เนี่ยเหรอ สิ่งตอบแทนที่เราได้รับ" ผู้โพสต์ ระบุ





26 พ.ย. 61 sanook.com

67
แม้ว่าการรับประทานผักนั้นจะเป็นการดีต่อสุขภาพก็ตามที แต่การพบกับสารพิษปนเปื้อนในผักนั้นก็เป็นสิ่งที่ทำใจได้ยากเช่นกัน เพราะแน่นอนว่าจะส่งผลเสียต่อสุขภาพเป็นแน่แท้ รองศาสตราจารย์ ดร.สมพนธ์ วรรณวิมลรักษ์ แห่งศูนย์วิจัยพัฒนานวัตกรรม คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้แนะนำข้อมูลถึงอันตรายของผักเปื้อนสารพิษ รวมถึงคำแนะนำในการล้างสารพิษในผักมานำเสนอกัน


“องค์การอนามัยโลกเขาก็บอกว่าให้กินอย่างน้อยวันละ 4 ขีด 400 กรัม ผักและผลไม้ เพราะว่าถ้าเรากินครบมันมีหลักฐานยืนยันแล้วว่าจะช่วยป้องกันโรคหัวใจ และโรคมะเร็ง แต่อีกมุมหนึ่งผักและผลไม้ที่เราซื้อมากินไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่เราคิด มีการปนเปื้อน เพราะการปนเปื้อนจากสารตกค้างของสารฆ่าแมลงจากเกษตรกรที่เข้าใช้ในการเกษตรกรรม เราก็ไม่คิดว่ามันจะเยอะขนาดนี้นะ ได้ยินข่าวลือเฉยๆ ว่ากะหล่ำปลีเยอะมาก แต่ก็ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ แต่พอเรามาทำเองแล้วเป็นตัวเลขที่น่าวิตกเพราะผักไทยที่เราเจอใน 7 อย่าง ปนเปื้อนในผักไทย 90 ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ต่างประเทศเขายอมรับไม่ได้ 100%”


“ที่ว่าถ้าคุณไปซื้อคะน้าจากตลาดสด หรือซูเปอร์มาร์เกต มันก็มีทั้งหมด ที่เราเก็บเราไม่ได้เก็บแค่ที่เดียว เราเก็บจากหลายจังหวัด แล้วเราก็เก็บทีเป็นร้อยตัวอย่าง ในระยะเวลา 8 ถึง 12 เดือน เพื่อให้ครอบคลุมฤดูกาลด้วย และเพื่อให้เป็นตัวแทนของผักของประชาชนหรือผู้บริโภคได้กินกันอยู่ทุกวัน ยิ่งมีสารเคมีมากเท่าไหร่โอกาสที่เราได้รับอันตรายมันก็ย่อมเยอะขึ้น เพราะฉะนั้น เวลาที่เราตรวจเจออย่างคะน้า พบเจอถึง 12 ชนิด มังคุดเราก็เจอ 20 ชนิด หรือส้มเราเจอ 21 ชนิด และราคาก็ไม่ได้รับประกันว่าจะดีหรือปลอดภัย เพราะตอนแรกเราก็ไม่คิดว่ามันจะเป็นแบบนี้ เราก็ทดลองเก็บผักจากตลาดสดมา แล้วเราก็ไปซื้อผักจากซูเปอร์มาร์เกตมา แล้วก็เขียนว่าผักปลอดสารพิษ ผักปลอดภัย ผักอินทรีย์ แต่ปรากฏว่าเราเจอสารพิษเพียบเลย คุณจ่ายราคาผักสูงมาก 6-7 เท่า แต่คุณได้รับสารฆ่าแมลงมากเท่ากับที่เราเจอในตลาดสดธรรมดา


เราจะทำยังไงให้คนลดความเสี่ยงได้ สิ่งที่เราทำได้ก็คือ ผู้บริโภคจะต้องดูแลตัวเอง การล้างผักมันช่วยลดความเสี่ยง ผมก็เอา 4 วิธีมาใช้ช่วยในการลดความเสี่ยง วิธีแรกที่ใช้กันมากก็คือ ล้างด้วยด่างทับทิม เราพบว่าวิธีนี้ล้างออกได้แค่ 20-30 เปอร์เซ็นต์, วิธีที่ 2 ล้างด้วยน้ำส้มสายชู ล้างออกได้ 30-40 เปอร์เซ็นต์, วิธีที่ 3 ล้างด้วยเบกกิ้งโซดา วิธีนี้ล้างออกได้แค่ 30-40 เปอร์เซ็นต์, วิธีที่ 4 ล้างด้วยวิธีน้ำไหล สามารถล้างสารตกค้างได้ถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์”


วิธีล้างผักด้วยวิธีน้ำไหลที่ถูกต้อง ข้อแรก แยกใบออกมาในน้ำและแช่ผัก 10 นาที หลังจากนั้นก็เปิดน้ำให้ไหลตลอด จากนั้นก็นำขึ้นมาถูใบและถูก้าน ประมาณ 2 นาที น้ำจะช่วยกำจัดชะล้างสารเคมีที่อยู่บนผิวผักออกไปได้ ในแง่ของคนกินผักผลไม้ก็ต้องระวัง เพราะเรามีข้อมูลว่ามันปนเปื้อน ฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดก็คือต้องล้างผักและผลไม้ก่อนรับประทาน”


ขอบคุณข้อมูลจาก มหาวิทยาลัยมหิดล

เผยแพร่: 25 ธ.ค. 2561    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

68
ปลัด สธ.สั่ง รพ. 4 เส้นทางหลักเดินทางช่วงปีใหม่ เตรียมพร้อมรับมืออุบัติเหตุตลอด 24 ชั่วโมง ร่วม ศปถ.จังหวัดเน้น 144 อำเภอเสี่ยง กำชับมาตรฐานรถพยาบาลฉุกเฉินส่งต่อผู้ป่วย คนขับต้องเพียงพอต่อระยะทาง


วันนี้ (26 ธ.ค.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางลงพื้นที่ไปตรวจติดตามความพร้อมของโรงพยาบาลเพื่อรับมือสถานการณ์ด้านสุขภาพช่วงปีใหม่ 2562 ว่า ตนได้สั่งการให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลใน 4 เส้นทางหลักของการเดินทาง คือ นครปฐม สระบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง นครราชสีมา และชลบุรี ให้เตรียมความพร้อมรับอุบัติเหตุตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน ที่มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) เป็นผู้บัญชาการ บูรณาการร่วมกับศูนย์ความปลอดภัยทางถนนจังหวัด (ศปถ.) เน้นอำเภอเสี่ยง 144 อำเภอ ใน 60 จังหวัด สำหรับเรื่องการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล ได้เน้นย้ำว่า ต้องมีจำนวนคนขับตามระยะทาง ผ่านการอบรม ตรวจแอลกอฮอล์ก่อนปฏิบัติงาน และหากต้องมีการทำหัตถการระหว่างทางจะต้องมีการหยุดรถก่อน


นพ.สุขุม กล่าวว่า สำหรับนโยบายการปรับพฤติกรรมคนเมาแล้วขับโดยให้ รพ.ศูนย์เป็นผู้ดำเนินการนั้นที่ผ่านมา เพื่อต้องการให้ได้ไปดู ไปเห็นว่าคนที่เขาได้รับความเสียหายจากการเมาแล้วขับนั้นมีความทุกข์ยากขนาดไหน บางคนต้องพิการ บางครอบครัวต้องสูญเสียคนที่รัก ยอมรับว่าการปรับพฤติกรรมคนนั้นเป็นเรื่องยาก แต่อย่างน้อยก็ได้เห็นว่าการเมาแล้วขับเกิดผลกระทบอะไรบ้าง เห็นแล้วจะได้มีความยับยั้งชั่งใจ


เผยแพร่: 26 ธ.ค. 2561    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

69
คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบเพิ่ม 2 โรคใหม่ต้องเฝ้าระวัง "โรคติดเชื้อใน รพ. - พยาธิใบไม้ตับ" เหตุเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญ ต้องรู้ข้อมูลวางแผนแก้ปัญหา รายงานทุกสัปดาห์ พร้อมถอด 4 โรคเดิมออก ทั้งโรคบิดจากเชื้อชิเกลลา เหตุซ้ำซ้อนอุจจาระร่วง โลนที่อวัยวะเพศ หูดข้าวสุก และพยาธิทริโคโมแนส


วันนี้ (26 ธ.ค.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง พ.ศ. 2559 มีจำนวนทั้งสิ้น 57 โรค ซึ่งปกติสำนักระบาดวิทยาจะมีการทบทวนปรับปรุงรายชื่อโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังทุก 2-3 ปี ในปีนี้จึงได้มีการเสนอทบทวนรายชื่อโรค เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยบางโรคที่มีความสำคัญมากขึ้นก็ต้องเพิ่มเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ส่วนบางโรคที่ไม่ค่อยเป็นปัญหาหรือมีความสำคัญน้อยลงมากก็ต้องนำรายชื่อออก มิเช่นนั้นก็จะกลายเป็นภาระที่ต้องรายงานทุกโรค และไม่รู้ว่าโรคอะไรสำคัญหรือไม่สำคัญ ซึ่งโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังจะมีการรายงานข้อมูลจากทุกโรงพยาบาลเข้ามาทุกสัปดาห์ เพื่อติดตามสถานการณ์และวางแผนรับมือแก้ปัญหา


นพ.โสภณ กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ เห็นชอบการทบทวนรายชื่อโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งครั้งนี้มีทั้งการเพิ่มโรคและตัดบางโรคออก โดยเพิ่มโรคที่ต้องเฝ้าระวัง 2 โรค ได้แก่ 1.โรคติดเชื้อในโรงพยาบาล เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ไปรับบริการที่โรงพยาบาลมากขึ้นเรื่อยๆ และมีการติดเชื้อมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องการการป้องกัน การที่เรารู้สถานการณ์ว่ามีโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลเป็นอย่างไร ก็จะเป็นประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วย และ 2.โรคพยาธิใบไม้ตับ เพราะเป็นสาเหตุของการเป็นมะเร็งท่อน้ำดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน การที่เรามีข้อมูลของโรคนี้เข้ามาจากทุกโรงพยาบาล จะเป็นประโยชน์ในการทราบสถานการณ์และวางแผนแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบ


นพ.โสภณ กล่าวว่า ส่วนที่นำออกจากรายชื่อโรคเฝ้าระวัง มี 4 โรค คือ 1.โรคบิด (Dysentery) ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชิเกลลา (Shigella) ซึ่งหากตรวจพบในผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ก็จะได้รับการรายงานโรคอุจจาระร่วงโดยระบุเชื้อ ซึ่งอาศัยผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการทำให้รู้ว่ามีเชื้ออะไรบ้าง จึงไม่ต้องรายงานแยกเป็นโรคบิดต่างหาก ทำให้ลดความซ้ำซ้อนในการรายงานข้อมูล 2.โลนที่อวัยวะเพศ 3.หูดข้าวสุก และ 4.พยาธิทริโคโมแนสของระบบสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะ เนื่องจากทั้ง 3 โรค เป็นโรคที่พบน้อยลงมากแล้ว ไม่ถือว่าเป็นปัญหาที่สำคัญในทางสาธารณสุข และหาข้อมูลได้จากฐานข้อมูลการรักษาพยาบาล


เมื่อถามถึงเกณฑ์ในการพิจารณาว่าโรคใดควรเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง นพ.โสภณ กล่าวว่า ต้องเป็นโรคที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพชัดเจน เป็นปัญหาทางสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นโรคที่ต้องมีแผนยุทธศาสตร์เฉพาะในการป้องกันและควบคุม อย่างกรณีโรคที่เพิ่มเข้ามาใหม่ทั้งโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล และพยาธิใบไม้ในตับ ต่างก็มียุทธศาสตร์หรือแผนในระดับชาติเพื่อจัดการกับปัญหา ซึ่งการจะแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพจะต้องมีข้อมูลสถานการณ์โรคเข้ามา จึงต้องกำหนดให้เป็นโรคเฝ้าระวังที่ต้องมีการรายงานข้อมูลให้ผู้เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค ซึ่งจะช่วยให้รู้ว่าโรคเกิดขึ้นพื้นที่ไหน ประชากรกลุ่มไหน ระยะเวลาใดมากน้อยเพียงใดและอย่างไร จึงจะสามารถวางแผนกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับให้บรรลุตามเป้าหมายภายในทศวรรษได้ เป็นต้น


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังล่าสุดจึงมีเพียง 55 โรค ประกอบด้วย 1.กามโรคของต่อมและท่อน้้าเหลือง 2.ไข้กาฬหลังแอ่น 3.ไข้ดำแดง 4.ไข้เด็งกีหรือโรคไข้เลือดออก 5.ไข้ปวดข้อยุงลาย 6.ไข้มาลาเรีย 7.ไข้ไม่ทราบสาเหตุ 8.ไข้สมองอักเสบชนิดญี่ปุ่น 9.ไข้สมองอักเสบไม่ระบุเชื้อสาเหตุ 10.ไข้หวัดนก 11.ไข้หวัดใหญ่ 12.ไข้หัด 13.ไข้หัดเยอรมัน 14.ไข้เอนเทอริค 15.ไข้เอนเทอโรไวรัส 16.คอตีบ 17.คางทูม 18.ซิฟิลิส 19.บาดทะยัก 20.โปลิโอ


21.แผลริมอ่อน 22.พยาธิทริคิเนลล่า 23.เมลิออยโดซิส 24.เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากพยาธิ 25.เยื่อหุ้มสมองอักเสบไม่ระบุเชื้อสาเหตุ 26.เริมของอวัยวะสืบพันธุ์และทวารหนัก 27.โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส ชนิด เอ บี ซี ดี และ อี 28.โรคตาแดงจากไวรัส 29.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 30.โรคติดเชื้อสเตร็ปโตคอคคัสซูอิส 31.โรคเท้าช้าง 32.โรคบรูเซลโลสิส 33.โรคปอดอักเสบ 34.โรคพิษสุนัขบ้า 35.โรคมือเท้าปาก 36.โรคเรื้อน 37.โรคลิซมาเนีย 38.โรคเลปโตสไปโรสิส 39.โรคสครัปไทฟัส 40.โรคสุกใส หรือ อีสุกอีใส


41.โรคอัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกเฉียบพลัน 42.โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน 43.โรคเอดส์ 44.โรคแอนแทรกซ์ 45.วัณโรค 46. ไวรัสตับอักเสบไม่ระบุเชื้อสาเหตุ 47.หนองใน 48.หนองในเทียม 49.หูดอวัยวะเพศและทวารหนัก 50.อหิวาตกโรค 51.อาการภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค 52. อาหารเป็นพิษ 53.ไอกรน 54.โรคติดเชื้อในโรงพยาบาล และ 55.พยาธิใบไม้ตับ



เผยแพร่: 26 ธ.ค. 2561    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

70
สธ. สั่งสอบดื่มเหล้างานเลี้ยงใน รพ.ลำพูน ชี้ ดื่มในสถานที่ราชการ โทษทั้งจำ ทั้งปรับ หากเป็นข้าราชการเอาผิดวินัยด้วย


วันนี้ (24 ธ.ค.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีภาพการนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานเลี้ยงของ รพ.ลำพูน ว่า ตาม พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 กำหนดชัดเจนว่า ห้ามมีการดื่มในสถานที่ราชการ เพราะฉะนั้นจะอ้างว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ไม่ได้ ถ้าดื่มในสถานที่ราชการก็ผิดแน่นอน เรื่องนี้ตนมอบหมายปลัด สธ. ดำเนินการแล้ว


นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. กล่าวว่า จากภาพที่ปรากฏนั้นก็ต้องตรวจสอบเพิ่ม การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ราชการผิดกฎหมาย มีโทษทั้งจำทั้งปรับ ส่วนคนที่ดื่มในสถานที่ราชการหากเป็นข้าราชการก็จะถือว่า ทำผิดวินัยด้วย เพราะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตนได้กำชับ ผอ.รพ. รวมถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ให้เข้มงวด เรื่องการจัดงานเลี้ยงในสถานที่ราชการต้องไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์





เผยแพร่: 24 ธ.ค. 2561    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

71
สปสช. ร่วมลงนาม 11 หน่วยงานรัฐ หนุนทำ “Big Data” บูรณาการข้อมูลสวัสดิการดูแลประชาชน สร้างความเท่าเทียม วิเคราะห์ ประเมินผล และพัฒนาระบบบัตรทอง ด้านตัวแทนเครือข่ายผู้ป่วยขอบคุณรัฐบาล บัตรทองช่วยให้เข้าถึงการรักษา



นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหนึ่งในหน่วยงานภาครัฐที่ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในการสนับสนุน “การจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อใช้กำหนดและติดตามประเมินผลการจัดสวัสดิการภาครัฐและการนำระบบบริการจัดการข้อมูลแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytic Platform : TPMAP) มาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ร่วมเป็นหน่วยงานหลักดำเนินการ



การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ มีเป้าประสงค์เพื่อบูรณาการข้อมูลสวัสดิการของหน่วยงานภาครัฐที่ร่วมลงนามเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลผู้รับสวัสดิการให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อสนับสนุนภาครัฐในบริหารจัดการด้านสวัสดิการภาครัฐเพื่อประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึงและเหมาะสม สร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ และยังเป็นประโยชน์ในการติดตามและประเมินผล รวมถึงการจัดทำนโยบายต่างๆ ขณะเดียวกัน ยังช่วยสนับสนุนการตรวจสอบการดำเนินโครงการต่างๆ ให้เกิดความโปร่งใส


นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า สปสช. เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นสวัสดิการภาครัฐด้านสุขภาพที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ มีภารกิจสำคัญคือการดำเนินการเพื่อให้ประชาชนกว่า 48 ล้านคนทั่วประเทศ มีหลักประกันสุขภาพรองรับ เข้าถึงบริการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุข ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในช่วงตลอด 16 ปีที่ผ่านมา มีข้อมูลที่เป็นผลจากการดำเนินงานในระบบมากมาย ทั้งข้อมูลการรักษาพยาบาล ข้อมูลสาธารณสุข ข้อมูลด้านสุขภาพ และข้อมูลด้านงบประมาณในระบบสุขภาพ เป็นต้น ที่ผ่านมา คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ก็บริหารกองทุนโดยนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์อยู่แล้ว สำหรับการลงนามครั้งนี้ นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ข้อมูลต่างๆ ที่ได้เหล่านี้จะถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อบริหารประเทศ ขณะเดียวกัน สปสช. สามารถร่วมใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อใช้วิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ วางแผนและจัดสรรงบประมาณบริหารจัดการระบบ การจัดทำสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อดูแลประชาชน นำไปสู่การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


“ด้วยความร่วมมือการสนับสนุนจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data โดยทุกหน่วยงานภาครัฐที่ลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากเป็นการสนับสนุนนรัฐบาลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมแล้ว ยังเป็นโอกาสสู่การพัฒนาศักยภาพของแต่ละองค์กรให้รุดหน้า ทันต่อการกระแสการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและสังคมในปัจจุบัน” เลขาธิการ สปสช. กล่าว


ทั้งนี้ ในการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ สปสช. ได้ร่วมจัดนิทรรศการ “สร้างสุขทุกช่วงวัย สวัสดิการแห่งรัฐ” โดยนายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมผลการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกล่าวทักทายตัวแทนเครือข่ายผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องและผู้ป่วยลูคีเมีย ที่ได้มากล่าวขอบคุณรัฐบาลที่ได้ดำเนินโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้เข้าถึงการรักษา พร้อมกันนี้ ยังได้เยี่ยมชมผลงานผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ผลิตจากถุงน้ำยาล้างไต อาทิ ผ้ากันเปื้อน เสื้อกันฝน เป็นต้น เป็นการสร้างมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้และช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ป่วย




เผยแพร่: 24 ธ.ค. 2561   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

72
สธ. พร้อมตรวจเลือดวัดแอลกอฮอล์ “เมาแล้วขับ” เกิดอุบัติเหตุทุกราย ตั้งแต่ช่วง 7 วันอันตรายปีใหม่ ถึงตลอดปี 62 ยัน นมเปรี้ยว รางจืด ไม่ช่วยแอลกอฮอล์ลดลง เข้มห้ามขายเหล้าช่วงห้ามขาย เด็กต่ำกว่า 20 ปี สตช. ลุยจับฝ่าฝืนกฎหมาย ห้ามรถบรรทุกวิ่งช่วงปีใหม่ 5 เส้นทาง ลดอุบัติเหตุ เล็งคุมประพฤติคนเมาต้องรักษา


วันนี้ (24 ธ.ค.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าว “สธ. ห่วงใย เที่ยวปีใหม่ปลอดภัย สุขใจทั้งครอบครัว” ว่า ช่วง 7 วันอันตรายปีใหม่ พบผู้บาดเจ็บจากการดื่มและขับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7 ดังนั้น ช่วง 7 วันอันตรายปีใหม่ 2562 ระหว่างวันที่ 27 ธ.ค. 2561 - 2 ม.ค. 2562 สธ. จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการสร้างความปลอดภัยทางถนน โดยร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เจาะเลือดคนขับกรณีอุบัติเหตุมีคนเจ็บตายทุกราย ส่วนความพร้อมบริการการแพทย์ฉุกเฉิน จะใช้ 3 เรื่อง คือ 1. เข้าเหตุเร็ว โดยเปิดคู่สายหมายเลข 1669 เพิ่มเป็น 300 สาย 2. เข้าพื้นที่เกิดเหตุเร็ว ไม่เกิน 10 นาที โดยมีชุดปฏิบัติการทั่วประเทศ และ 3. ส่งทีมแพทย์เร็ว ซึ่งมีการเตรียมพร้อมทั้งสถานพยาบาล อุปกรณ์การแพทย์ เลือด ไว้รองรับตลอด 24 ชั่วโมง


“ย้ำว่า เมื่อเกิดวิกฤตฉุกเฉินอันตรายถึงแก่ชีวิตสามารถเข้าได้รักษาได้ทุก รพ. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใน 72 ชั่วโมงแรก ทั้งนี้ เราจะดำเนินมาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มข้น เอาจริงและมีโทษแน่นอน เพราะสิ่งที่ทำขณะที่ท่านเมานั้น คือ ความเสียหายที่ยิ่งใหญ่ อุบัติเหตุ เจ็บ ตาย ครอบครัวต้องสูญเสียเราจะไม่ปล่อย” นพ.ปิยะสกล กล่าว


นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. กล่าวว่า สธ. ได้มีตั้งศูนย์ EOC ติดตามดูแลเรื่องนี้ทั้งส่วนกลางและระดับจังหวัด เตรียมทีมแพทย์คอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง จากการวิเคราะห์ข้อมูลช่วง 7 วันอันตราย ปี 2561 พบว่า มีผู้บาดเจ็บเข้ารักษา 27,158 ราย เฉลี่ยวันละ 3,880 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงปกติร้อยละ 67 ซึ่งช่วงปกติมีอุบัติเหตุเข้า รพ. เฉลี่ยวันละ 2,320 อย่างไรก็ตาม จะเน้นการส่งเรื่องความปลอดภัยของรถพยาบาลด้วย โดยจัดหน่วยกู้ชีพระดับพื้นฐาน และหน่วยปฏิบัติการระดับสูง ประจำบนเส้นทางถนนสายหลักที่มีจุดตรวจ จุดบริการอยู่ห่างกันมาก โดยมีชุดปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับ 8,583 หน่วย รถฉุกเฉินทุกระดับ 20,741 คัน และผู้ปฏิบัติการทุกระดับ 166,441 คน


นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ข้อมูลปีใหม่ 2561 พบว่า มีอุบัติเหตุเกิด 3,841 ครั้ง บาดเจ็บรุนแรง 4,005 คน เสียชีวิต 423 คน เสียชีวิตในที่เกิดเหตุร้อยละ 60 สาเหตุมาจากเมาสุรา ร้อยละ 43.66 ขับรถเร็ว ร้อยละ 25.23 กลุ่มที่บาดเจ็บเสียชีวิตมากที่สุด คือ อายุ 15-19 ปี ส่วนใหญ่เกิดช่วงเวลา 16.00-21.00 น. วันที่เกิดเหตุมากที่สุด คือ วันที่ 31 ธ.ค. ดังนั้น ปีนี้ได้สั่งการสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ที่ 1-12 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศคุมเข้มการบังคับใช้ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เรื่อง การเจาะเลือดตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ ซึ่งช่วง 7 วันอันตรายของปีใหม่ปี 2561 พบว่า ร้อยละ 60 ของคนขับมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แต่เป็นมาตรการที่ทำให้การบาดเจ็บลดลง ดังนั้น จะขยายมาตรการนี้ทั้งปี


นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอออล์แห่งชาติ ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กำชับให้เข้มงวด 1. การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาที่กฎหมายห้าม ซึ่งพบว่าขายกันตั้งแต่ช่วงบ่ายๆ สะท้อนได้จากเมาจนเกิดอุบัติเหตุมากในช่วงเย็น 2. ห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และ 3. การขายโดยไม่มีใบอนุญาต นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้คัดกรองบำบัดรักษา ควบคุมประพฤติคนเมาสุรา หากศาลมีคำสั่งจะต้องส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ที่ใช้มีประสิทธิภาพมาก เพราะผ่านการตรวจทดสอบจากกรมฯ แล้ว โดยจะติดสติกเกอร์รับรองไว้ ทั้งนี้ การดื่มนมเปรี้ยว หรือ รางจืด ไม่สามารถรอดพ้นจากการเป่าวัดได้ ดังนั้น ทางที่ดี คือ ดื่มไม่ขับ และกรณีของผู้ใหญ่ขับรถจะยึดที่ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี รวมถึงคนขับที่ไม่มีใบขับขี่หรือมีใบขับขี่ชั่วคราวต้องไม่เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์


พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ปีนี้จะส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปร่วมกับด่านชุมชนทั่วประเทศ และมีมาตรการทางกฎหมายเข้มข้นข้อหาขับเร็ว เมาแล้วขับ ขับย้อนศร ฝ่าสัญญาณจราจร ไม่คาดเข็มขัด ไม่สวมหมวกกันน็อก ไม่มีใบขับขี่ และใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างขับ นอกจากนี้ จะห้ามรถบรรทุก 10 ล้อ วิ่งในเส้นทางที่ประชาชนเดินทางจำนวนมาก ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. 2561 - 3 ม.ค. 2562 คือ 1. ถนนมิตรภาพ ตั้งแต่ อ.ทับกวาง จ.สระบุรี ถึง อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา 2. ถนนพหลโยธินช่วง อ.เมืองนครสวรรค์ 3. ถนนกบินทร์บุรี-ปักธงชัย 4. เส้นอรัญประเทศ-นางรอง และ 5. สายนครสวรรค์-พิษณุโลก เพื่อให้พื้นผิวจราจรมีประสิทธิภาพมากที่สุดและเกิดความปลอดภัยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากรถบรรทุกมีความจำเป็นสามารถทำเรื่องขออนุญาตเดินทางกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามเส้นทางได้ที่ 1193


ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) การสื่อสารมีผลให้กระตุกความคิด ความรู้สึก และ พฤติกรรมได้ ซึ่งช่วงปีใหม่ที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นมาก จึงทำการสื่อสารรณรงค์ลดอุบัติเหตุภายใต้แคมเปญ “กลับบ้านปลอดภัย” ผ่านโฆษณาชุด “สูญเสียกันทุกฝ่าย” และบทเพลง “คิดถึง” เพื่อย้ำเตือนถึงความรักของคนในครอบครัวที่รอคอยการเดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย พร้อมรณรงค์ย้ำเตือนให้เหล้า=แช่ง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ภาวินี ซุ่นสั้น ลูกสาว ดาบตำรวจ อนันต์ ซุ่นสั้น เหยื่อเมาแล้วขับ เสียชีวิต 5 ราย ที่ จ.ตรัง เมื่อปี 2560 และเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เข้าพบ รมว.สาธารณสุข เพื่อมอบดอกไม้เป็นกำลังใจและสนับสนุนมาตรการตรวจเลือดวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในกรณีเกิดอุบัติเหตุจราจรทุกราย




เผยแพร่: 24 ธ.ค. 2561  โดย: ผู้จัดการออนไลน์

73
สปสช.แจง รพ.จัดคลินิกพิเศษนอกเวลารักษาผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน ช่วยลดแออัด ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินจริงๆ ได้รับการดูแล เพิ่มทางเลือกให้ประชาชน ย้ำยังใช้สิทธิบัตรทองได้ แต่อาจต้องร่วมหนุนค่าบริการเพิ่มเติมบ้าง


นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ครอบคลุมบริการพื้นฐาน ทั้งการรักษาพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ รวมถึงบริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต โดยมีหน่วยบริการทุกระดับทั่วประเทศร่วมกันดูแล “ผู้ป่วยฉุกเฉิน” โดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน ไม่สามารถรอเวลาเพื่อรับบริการต่างจากผู้ป่วยทั่วไป โรงพยาบาลจึงจัดบริการห้องฉุกเฉินเพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยเฉพาะ แต่จากข้อมูลการเข้ารับบริการที่ห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลพบว่า ในช่วงนอกเวลาราชการ ผู้ป่วยที่เข้ารับบริการส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน บางแห่งมีจำนวนมาก จึงจัดแยกจัดบริการผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินนอกเวลาราชการ อย่างคลินิกพิเศษ ออกจากบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน


ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน ลดความแออัดห้องฉุกเฉิน ป้องกันความขัดแย้งจากการรอรับบริการที่แพทย์จำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินก่อน ทั้งลดแรงกดดันปฏิบัติหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ ถือเป็นทางเลือกให้กับประชาชน แต่เนื่องจากทำให้โรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ทั้งด้านบุคลากรที่ให้บริการ ค่าน้ำ ค่าไฟ และอื่นๆ จึงต้องจัดเก็บค่าบริการเพิ่มเติมจากสิทธิประโยชน์พื้นฐานของกองทุนรักษาพยาบาลที่ได้รับ


“ผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินที่รับบริการนอกเวลาราชการในโรงพยาบาลที่แยกบริการรองรับ ที่เป็นหน่วยบริการตามสิทธิขึ้นทะเบียนบัตรทอง การเบิกจ่ายค่ารักษายังเป็นไปตามสิทธิประโยชน์พื้นฐาน ทั้งค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ เป็นต้น เพียงแต่ต้องจ่ายสนับสนุนค่าจัดบริการเพิ่มเติมเท่านั้น อย่างไรก็ตามหากประชาชนที่เจ็บป่วยไม่ฉุกเฉิน แต่ยืนกรานจะรับบริการที่ห้องฉุกเฉินก็เป็นเรื่องที่ห้ามได้ยาก” นพ.ชาตรี กล่าว


ฃนพ.ชาตรี กล่าวว่า ในการจัดบริการนอกเวลาราชการสำหรับผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข มีแนวทางปฏิบัติชัดเจนคือโรงพยาบาลต้องแจ้งให้ประชาชนรับทราบก่อน แต่อาจยังทำได้ไม่ทั่วถึง ประกอบกับมีโรงพยาบาลที่เปิดบริการนอกเวลาราชการมากขึ้น จึงมีเรื่องร้องเรียนมายัง สปสช. และมีการตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาร่วมกัน ทั้ง สปสช. กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และมีมติร่วมกัน เน้นสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจว่า สิทธิบัตรทองของประชาชนที่ได้รับ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิม เพียงแต่โรงพยาบาลจัดบริการเสริมเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน ซึ่งประชาชนต้องร่วมสนับสนุนค่าบริการบ้างเท่านั้น


อย่างไรก็ตามหน่วยบริการต้องระวังไม่รอนสิทธิ แม้ว่าผู้ป่วยจะรับบริการที่คลินิกนอกเวลาราชการ แต่สิทธิประโยขน์พื้นฐานเบิกจ่ายกองทุนบัตรทองยังอยู่ โรงพยาบาลเก็บเงินผู้ป่วยได้เฉพาะค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลต้องจ่ายเพิ่มขึ้นในการจัดบริการเท่านั้น และการเข้ารับบริการยังต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของประชาชนเอง เรื่องนี้หากทำได้ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ เพราะประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทอง หรือกองทุนรักษาพยาบาลอื่นไม่ได้เสียประโยชน์ แต่ช่วยแก้ปัญหาความแออัดในห้องฉุกเฉิน ลดความขัดแย้งระหว่างผู้ป่วยและผู้ให้บริการ ประชาชนเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น เรียกว่าเป็นผลดีกับทุกฝ่าย



เผยแพร่: 23 ธ.ค. 2561    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

74
สธ.-พม. โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จัดตั้งศูนย์บริการคนพิการทั่วไปในโรงพยาบาล เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในระดับอำเภอ สนับสนุนการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 35 นำร่องในโรงพยาบาล จำนวน 32 แห่ง


วันนี้ (22 ธ.ค.) นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน กล่าวถึงความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ ว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ประชุมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน เพื่อหารือการจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการทั่วไป รูปแบบการจ้างงานคนพิการการดูแลสุขภาพคนพิการที่ได้รับการจ้างงานในโรงพยาบาล และแนวทางการสนับสนุนความเข้มแข็งให้กับคนพิการและชุมชน ส่งเสริมการประกอบอาชีพ โดยเริ่มนำร่องในโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ที่มีศักยภาพเพื่อพัฒนาเป็นต้นแบบ จำนวน 32 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลชุมชน 29 แห่ง และโรงพยาบาลทั่วไป จำนวน 3 แห่ง


นพ.ยงยศ กล่าวต่อว่า การจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการทั่วไปในโรงพยาบาล จะช่วยอำนวยความสะดวกให้คนพิการในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงสิทธิและสวัดิการ และการบริการภาครัฐ ขับเคลื่อนนโยบายผลักดันให้เกิดการดำเนินการจัดบริการให้แก่คนพิการ ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 เพื่อสร้างโอกาส และคุ้มครองการมีงานทำของคนพิการอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานของรัฐ และสถานประกอบการเอกชน ซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการจ้างงานคนพิการในสัดส่วน 100 ต่อ 1 ตามมาตรา 33 รวมทั้งการดำเนินการสร้างงานสร้างอาชีพตามมาตรา 35


ทั้งนี้ หลักการจ้างงานคนพิการของ สธ.มี 3 ลักษณะดังนี้ 1.การจ้างงานตามมาตรา 33 โดยกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการจ้างเอง สามารถจ้างคนพิการได้ทุกประเภท แบบเต็มเวลาเป็นลูกจ้างประจำ จ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือนหรือรายวันตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ระยะเวลาการจ้างไม่น้อยกว่า 1 ปี 2.การจ้างตามมาตรา 35 โดยกระทรวงสาธารณสุขจ้างเอง เช่น การให้สัมปทานแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินในการประกอบอาชีพ การจัดสถานที่ในการจำหน่ายสินค้าหรือบริการ การจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการ การฝึกงานแก่คนพิการให้มีความรู้ ทักษะที่นำไปประกอบอาชีพได้ เป็นต้น และ3.การจ้างงานคนพิการ ตามมาตรา 33 และจ้างเหมาบริการคนพิการตามมาตรา 35 โดยประสานภาคเอกชน ทั้งมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมและกรมส่งเสริมและพัฒนาชีวิตคนพิการ



เผยแพร่: 22 ธ.ค. 2561    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

75
หมอมะเร็ง ย้ำ "กัญชา" ไม่ช่วยรักษามะเร็ง ส่วนการลดเจ็บปวด ผลข้างเคียงจากเคมีบพบัด ไม่ต่างจากยาแผนปัจจุบันที่มีอยู่ ชี้หากปลดลฌอกให้ใช้ทางการแพทย์ ก็ไม่ขอใช้ "น้ำมันกัญชา" เหตุยังไม่มีการศึกษามากพอต้องใช้มากน้อยเท่าไร ปรับสูตรยาดูแลคนไข้ยาก


วันนี้ (21 ธ.ค.) ที่อาคารเฉลิมพระบารมี ๕๐ ปี ซอยศูนย์วิจัย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย แถลงข่าว "แนวทางการใช้สเต็มเซลล์ในการรักษาโรคมะเร็งและบทบาทของกัญชากับมะเร็ง" โดย รศ.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ อดีตนายกสมาคมมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย และหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลายภาคส่วนออกมาสนับสนุนให้ปลดล็อกกัญชาทางการแพทย์ และไม่ควรจัดอยู่ในกลุ่มสารเสพติด อย่างไรก็ตาม พบว่า มีการสื่อสารออกไปผิดๆ ว่า กัญชาสามารถรักษาโรคมะเร็งได้ ซึ่งในฐานะหมอมะเร็งยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง ยังไม่มีการศึกษาใดที่ใช้กัญชารักษามะเร็งในมนุษย์แล้วประสบความสำเร็จ ที่มีการวิจัยอยู่ว่าสารจากกัญชาฆ่าเซลล์มะเร็งได้นั้น ก็แค่การทดลองในหลอดทดลอง ซึ่งต้องเข้าใจว่าเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองเลี้ยงยาก สารอะไรก็มีโอกาสสูงที่กำจัดเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองได้ แต่ไม่ใช่ทุกสารที่ได้ผลในหลอดทดลอง แล้วเอามาใช้ในมนุษย์จะปลอดภัย


รศ.นพ.วิโรจน์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่ากัญชาไม่มีประโยชน์อะไร กัญชายังมีประโยชน์ทางการแพทย์ อย่างเรื่องของการรักษาโรคลมชักต่างๆ ที่มีผลชัดเจน ซึ่งหากอนาคตมีการปลดล็อกให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ ซึ่งมีข้อแนะนำให้ใช้ใน 4 กลุ่มโรค ซึ่งในนั้นมีเรื่องของการลดอาการข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด ส่วนตัวคงยังไม่นำน้ำมันกัญชามาใช้ เนื่องจากประสิทธิภาพไม่แตกต่างจากยาแผนปัจจุบันที่มีอยู่ แต่กัญชาหากใช้ในปริมาณมากยังมีโอกาสเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนรุนแรงจากกัญชาได้ หรือเลิกใช้แล้วมีอาการอยากยา นอกจากนี้ ยังไม่มีความคุ้นเคยว่าจะต้องใช้ปริมาณมากน้อยเท่าใด ให้ผลลัพธ์อย่างไร ก็ยังไม่มีการศึกษา เพราะหากเป็นยาแผนปัจจุบันเรามีความรู้อยู่แล้วว่าต้องปรับสูตรอย่างไรให้เหมาะสมกับอาการ


"ส่วนเรื่องของบรรเทาอาการเจ็บปวดจากโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่มะเร็ง ในปี 2015 มีงานวิจันพบว่า ช่วยควบคุมความเจ็บปวดได้ไม่ต่างกับการรักษาที่ไม่ใช้กัญชา แต่กัญชายังเกิดผลข้างเคียงมากกว่า ขณะที่การศีกษาปี 2006 วิจัยเอากัญชาและสาร THC มาใช้เพื่อกระตุ้นความเจริญอาหาร เปรียบเทียบกับกลุ้มที่ไม่ได้รับกัญชา พบว่า กัญชาไม่สามารถเพิ่มความเจริญอาหารมากกว่ากลุ่มที่ไม่รับกัญชา" รศ.นพ.วิโรจน์ กล่าวและว่า เรื่องการแก้กฎหมายเอากัญชามาใช้ทางการแพทย์นั้นควรเป็นลักษณะการคลายล็อก ใช้และควบคุมโดยองค์การเภสัชกรรม และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เหมือนมอร์ฟีน แต่คำถามคือ การเปิดให้ใช้กว้างมากๆ จะมีการควบคุมอย่างไร

รศ.นพ.วิโรจน์ กล่าวว่า ปัญหาคือตอนนี้มีการพูดถึงกันมาก แล้วทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งไปหามาใช้ ซึ่งตนมีคนไข้หลายคนที่ญาติต้องหามมาพบแพทย์ด้วยอาการซึม ไม่รู้สึกตัว เพราะใช้น้ำมันกัญชาใต้ดินหยดโดยไม่มีความรู้ว่า ต้องใช้ปริมาณเท่าไร บางคนบอกว่าใช้เพื่อลดความเจ็บปวด แต่ตนไม่แน่ใจว่าแบบนี้เป็นการมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นหรือไม่ เพราะพอใช้แล้วก็ทำให้นอนหลับ เมื่อหลับก็ไม่รู้สึกเจ็บปวด แต่ไม่มีโอกาสได้นอนหลับไม่รู้สึกตัว บางรายขนาดลูกวัย 3 ขวบขึ้นไปบนตัวยังไม่รู้สึกตัว ไม่ได้กอด ไม่ได้เล่นด้วย ครอบครัวก็กังวลว่าเป็นอะไรหรือไม่ ที่สำคัญก้อนมะเร็งไม่ยุบ ไม่หาย แต่พอได้รับการรักษามาตรฐานก็กลับมาใช้ชีวิตได้ ไม่ต้องหลับๆ ตื่นๆ เพราะฤทธิ์กัญชา




เผยแพร่: 21 ธ.ค. 2561    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 20