ผู้เขียน หัวข้อ: “เครือข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน” ที่มาของการโกงชาติ อุปสรรคของการปฏิรูป และแนวทาง  (อ่าน 773 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
 ขณะนี้การปฏิรูปประเทศกำลังอยู่ในสถานะ “ชนตอในทุกวงการ”สาเหตุหลักก็คือไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามหรือแก้ไขอะไรก็ตามที่เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและสังคมไทยในระยะยาวมักจะมีการขัดขวางทั้งโดยตรงและโดยอ้อมทั้งในลักษณะของการให้ความเห็น หรือทำกิจกรรมต่อต้าน หรือเพิกเฉยไม่ปฏิบัติงานในหน้าที่ความรับผิดชอบให้แล้วเสร็จอย่างทันท่วงที ทำให้เป็นที่น่ากังวลอย่างยิ่งว่าการปฏิรูปประเทศจะไม่สำเร็จตามเป้าประสงค์ที่ได้กำหนดขึ้นอย่างชัดเจนในตอนต้นตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ประกาศไว้
       
       ในทางกลับกันเราจะพบว่ามีโครงการใหญ่ๆ ที่ใช้งบประมาณค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล (Mega Project) ผุดขึ้นมาโดยมองแต่ผลประโยชน์ในแง่มุมเดียวแต่ไม่คำนึงถึงผลเสียอื่นๆ ต่อส่วนรวมโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการทำให้เกิดมลพิษและทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างภาระหนี้ผูกพันในระยะยาวให้กับประชาชนซึ่งถ้าสังเกตให้ดีหรือทำการตรวจสอบเชิงลึกอย่างเป็นระบบก็จะพบได้ว่าการกระทำเหล่านี้มักจะมีผลประโยชน์ส่วนตนไม่ทางตรงก็ทางอ้อมจากองค์กรนั้นๆ
       
       สาเหตุหลักสำคัญประการหนึ่งของความขัดแย้งเหล่านี้เกิดจากการมี “เครือข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน” ในองค์กรนั้นๆหรือเชื่อมโยงกันกับองค์กรอื่นอย่างเป็นระบบทั้งในส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ราชการ องค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเอกชนที่หวังประโยชน์ทั้งในรูปที่เป็นตัวเงินและการสร้างความสัมพันธ์เชิงลึกกับผู้มีอำนาจเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจในระยะยาว การมีผลประโยชน์ทับซ้อนของไทยนั้นมีพัฒนาการมายาวนานจนในปัจจุบันเกือบจะเห็นเป็นเครือข่ายในทุกวงการ
       
       “เครือข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน” นี้ หากทำการวิเคราะห์เชิงลึกก็พบว่าเป็นรากฐานที่มาของการทุจริตประพฤติมิชอบโกงชาติปล้นแผ่นดินทั้งสิ้น จากบทเรียนในระดับนานาชาติที่เกิดขึ้นอย่างมากมายทั้งในประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน หรือประเทศอื่น ๆ อีกหลากหลายดังที่เห็นล่าสุดในกรณีของประเทศกรีซที่รัฐบาลบริหารประเทศในลักษณะของการเอื้อและให้ผลประโยชน์กับพลเมืองโดยไม่ยึดหลักการเงินการคลังที่ถูกต้องอย่างเป็นเหตุเป็นผลจนกลายเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาที่อาจนำไปสู่การล่มสลายของชาติ ที่น่าเป็นห่วงมากขึ้นไปอีกคือมีความเป็นไปได้ว่า ระยะเวลาที่ผ่านมาการทำงานขององค์กรอิสระที่มีโครงสร้างเอื้อต่อการสร้าง “เครือข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน” มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเป็นดอกเห็ด
       
       รูปแบบ “เครือข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน”
       
       วิธีการสร้าง “เครือข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน” เพื่อประโยชน์ของพวกตัวเองทำโดย การแต่งตั้งพรรคพวกมาเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ (คณะกรรมการ บอร์ด ผู้บริหาร หรือผู้ถือหุ้นขององค์กรนั้น) หรือวางกับดักทำให้ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจสมประโยชน์จนติดบ่วง แล้วกลายเป็นว่าผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเห็นภาพเพียงด้านเดียวโดยไม่ได้ทำการวิเคราะห์ให้ลึกลงไปในพฤติกรรมการทำงานจนมองไม่เห็นถึงความเลวร้ายของกลุ่มคนที่ตั้งใจที่มีผลประโยชน์แอบแฝงซ่อนเร้น ผลที่ตามมาคือผู้มีอำนาจในการตัดสินใจซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วเป็นคนดีมีคุณธรรมซื่อสัตย์สุจริต ตกเป็นเครื่องมือให้กับ “เครือข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน” โดยรู้ไม่เท่าทัน มองไม่เห็นการตักตวงผลประโยชน์เข้าหาตนเองของ “เครือข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน”ที่มีอย่างมากมายมหาศาลกว่าการทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมเหมือนกับการที่เราเลือกพรรคที่มีโครงการประชานิยมที่เราได้ประโยชน์ทั้งๆที่พรรคนั้นมีประวัติการโกงมากมาย เป็นต้น
       
        ในสถานการณ์ปัจจุบันองค์กรที่มี “เครือข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน”มักจะเป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนของชาติ ดังนั้นถึงเมื่อมีการตัดสินใจใดๆ เนื่องจากองค์กรดังกล่าวเหล่านั้นเป็นตัวแทนในเรื่องที่จำเพาะโดยตรงของประเทศจึงเป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลที่เกี่ยวข้องในหลากหลายมิติมาอย่างต่อเนื่องด้วยสภาพความเป็นไปเช่นนี้ดังนั้นองค์กรดังกล่าวเหล่านั้นจึงมีขีดความสามารถในระดับที่สูงยิ่งเมื่อเทียบกับหน่วยงานหรือแม้กระทั่งส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่จะทำให้สังคมและคณะผู้บริหารประเทศหรือรัฐบาลมองเห็นแต่ด้านดีและไม่สามารถเข้าถึงความจริงถึงผลเสียในวงกว้างของนโยบายที่กำลังต้องทำการตัดสินใจนั้นๆ ได้
       
        สภาพความเป็นไปของปัญหาที่เห็นได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมดัง เช่น การไฟฟ้าซึ่งมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ เมื่อจะทำการลงทุนเพื่อสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศทั้งในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจอุตสาหกรรม หากรูปแบบวิธีคิดที่นำหลักการในการบริหารธุรกิจเข้ามาเป็นปรัชญาในการดำเนินงานก็ต้องคำนึงถึงผลกำไรจากการผลิตไฟฟ้ามากกว่าการที่จะต้องดูแลรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมและการเกิดมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อทั้งความเป็นอยู่และสุขภาพอนามัยของประชาชนในระยะยาว ดังนั้นในขั้นตอนของการเตรียมการเพื่อจัดสร้างโรงไฟฟ้าที่ต้องทำประชามติตามที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ การให้ข้อมูลแก่ประชาชนแทนที่จะให้ข้อมูลที่เป็นจริง แต่ในทางตรงกันข้ามก็กลับกลายเป็นการให้ข้อมูลในแง่ โฆษณาชวนเชื่อ เช่น สร้างคำว่า “ถ่านหินสะอาด”
       
        การบริหารจัดการองค์กรในรูปแบบที่เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนนี้ในต่างประเทศถือว่าผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรม การไม่ยอมรับรูปแบบการบริหารจัดการที่เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนเช่นนี้ถือเป็นวัฒนธรรมการทำงานที่ดียิ่ง เพราะเป็นการป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบหรือการโกงได้ตั้งแต่ต้นตอ อย่างไรก็ดีสังคมไทยในหลายภาคส่วนยังมองไม่ออกว่าเป็นความผิด ในบางครั้งมองที่เจตนา และหลักฐานว่ามีการโกงแล้วหรือยัง และนี่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การปราบโกงของรัฐบาลไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
       
       แนวทางการแก้ไขด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
       
       1.เหตุผล
       
       1.1 รู้ผลประโยชน์ทับซ้อน
       - ก้าวแรกในการแก้และป้องกันปัญหาคือ ทุกคนรู้ว่า “เครือข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน” คืออะไร ทำยังไง และมีผลเสียอย่างไร
       - ก้าวที่สองคือ ทุกคนในองค์กรโดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องในขบวนการตัดสินใจต้องเรียนรู้ลักษณะผลประโยชน์ทับซ้อนในองค์กรนั้นๆ ก่อนที่จะมีบทบาทในการตัดสินใจ ลักษณะผลประโยชน์ทับซ้อนนี้เปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา แต่ต้องประกอบด้วยเหตุตามผล ในองค์กรสากลจะใช้มาตรการณ์นี้จนเป็นวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น นักวิจัยก่อนจะรับและทำการตรวจผลงานวิจัยจะต้องทำแบบสอบถามเพื่อพิสูจน์และรับรู้ว่าตนเองไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น
       
       1.2 ชี้วัดการทำงานที่ผลงาน
       - การใช้ผลงานเป็นเกณฑ์ตัดสินการทำงานเป็นกุญแจที่จะแก้ปัญหาการปฏิรูปในทุกๆ เรื่อง ตัวอย่างการชี้วัดการทำงานที่ผลงาน เช่น สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อต้องการลดอัตราการเกิดโรคเบาหวานเมื่อประกาศรับโครงการวิจัย โรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งส่งโครงการเสนอว่าการกินผักชนิดหนึ่งจะช่วยลดการเกิดโรคเบาหวาน ตัวชี้วัดการทำงานของโครงการนี้คือ อัตราการเกิดโรคเบาหวาน ไม่ใช้ อัตราการกินผักชนิดนั้น แนวทางการประเมินการทำงานในลักษณะเช่นนี้ควรคิดค้นและนำมาใช้กับการบริหารจัดการในทุกระดับ เช่น ค่าตอบแทนหรือการได้อยู่ทำงานต่อของ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ควรแปรเปลี่ยนตาม อัตราการตายของผู้เข้ารับการรักษาด้วยบัตรทอง โดยอัตราการตายลดลงจนใกล้เคียงผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนเท่าไหร่ค่าตอบแทนก็สูงขึ้นตามนั้น หรือโรงพยาบาลของรัฐขาดทุนน้อยลงเท่าไหร่บอร์ดและผู้บริหาร สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ได้รับค่าตอบแทนเป็นรางวัลตามผลงาน ลักษณะแบบนี้จะลดผลประโยชน์ทับซ้อนได้โดยอัตโนมัติ เพราะผู้บริหารต้องมองหาบุคลากรที่ดีที่สุด ซื่อสัตย์ที่สุดมาทำงานๆถึงจะบรรลุป้าหมาย ในทางกลับกันค่าตอบแทนต่างๆในปัจจุบันมักจะแปรตามปริมาณงานโดยไม่ใส่ใจผลงาน เช่น สมมุติว่าเลขาธิการ สปสช. จะได้เบี้ยประชุมครั้งละ 2 หมื่นบาท ดังนั้นผลตอบแทนการทำงานของ เลขาธิการ สปสช. คือจำนวนครั้งการเข้าประชุม ดังนั้นแรงจูงใจในการทำงานคือจัดประชุมเยอะๆ ซึ่งไม่ใช่ผลงานตรงที่สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบหลักขององค์กรดังที่ได้ระบุไว้ในพระราชบัญญัติการจัดตั้งและการบริหารจัดการองค์กร
       
       2.พอเพียง
       - คำว่าพอเพียงเป็นคำที่มีความหมายกว้างขึ้นกับที่ใช้ เมื่อใช้กับองค์กรในระดับประเทศ คำว่าพอเพียงรวมความถึง พอเพียง พอประมาณ ไม่เบียดเบียนสมดุล และ มองคุณค่าแบบองค์รวมตัวอย่างเช่น การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ ผู้สร้างจะมองเฉพาะความพอเพียงทางด้านการผลิตไฟฟ้าที่สนองการใช้ประโยชน์และสร้างรายได้เพื่อให้เกิดผลกำไรในการประกอบการขององค์กรเพียงด้านเดียวไม่ได้โดยเด็ดขาด หากแต่ต้องมองถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้นเพื่อลดหรือบรรเทารูปแบบการทำงานที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน งานนั้นๆ นอกจากจะคำนึงถึงผลงานที่เป็นข้อดีที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจแล้วยังต้องคำนึงถึงผลเสียที่ตามมาที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพอนามัยของประชาชนเป็นปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวด้วย ดังนั้นนอกจากจะมีตัวชี้วัดการทำงานที่ผลงาน ต้องมีตัวชี้วัดที่ผลเสียของงานด้วย
       
       3.ภูมิคุ้มกัน
       - การบริหารจัดการและดำเนินงานอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ กฎเกณฑ์มีเหตุผล การบังคับใช้ธรรมาภิบาลมีประสิทธิภาพวิธีการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนที่ดีที่สุดคือ ทำให้กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทับซ้อนโปร่งใสและตรวจสอบได้ ดังนั้นทุกองค์กรในประเทศไทยควรเริ่มสร้างวัฒนธรรม ประกาศธรรมาภิบาลและแนวทางปฏิบัติอย่างมีเหตุมีผลที่มุ่งสู่ประโยชน์ส่วนรวมที่ยั่งยืน มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถให้สาธารณะตรวจสอบข้อมูลได้โดยง่าย ต้องมีความซื่อตรงต่อธรรมาภิบาล สามารถแก้ไขได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุการณ์ผลประโยชน์ทับซ้อนขึ้น สุดท้ายต้องมีการปรับปรุงกฎเกณฑ์และกฎหมายเพื่อบังคับใช้ลงโทษฐานความผิดผลประโยชน์ทับซ้อน อย่างไรก็ดีการมีผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้นก็เหมือนกับการพกปืน การโกงก็เหมือนกับการฆ่าคน ดังนั้นการบังคับใช้บทลงโทษการมีผลประโยชน์ทับซ้อนควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีเหตุมีผลเพื่อทำให้เกิดการลด ละ เลิก “เครือข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน” ที่มั่นคงและถาวร

ศาสตราจารย์ ดร.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร
       คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
       นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติด้านการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย

18 สิงหาคม 2558
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000093730