ผู้เขียน หัวข้อ: วิธีการโกหกด้วยสถิติ  (อ่าน 1054 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
วิธีการโกหกด้วยสถิติ
« เมื่อ: 13 กันยายน 2012, 00:09:48 »
ผู้เขียนเป็นคนที่โง่ในวิชาสถิติและดีใจจริงๆ เมื่อได้พบเอาหนังสือเล่มบางๆ เรื่อง "How to lie with statistics" ของคุณ Darrell Huff เมื่อตอนไปเรียนหนังสือที่อเมริกาเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งบังเอิญเป็นตำราบังคับเรียนในระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยที่ผู้เขียน เรียนอยู่ตอนนั้นเสียด้วย

เรียนท่านผู้อ่านที่เคารพตรงๆ เลยครับว่าผู้เขียนไม่เคยอ่านตำราเล่มไหนที่สนุก ถูกใจแบบวางไม่ลงเหมือนกับตำราเล่มนี้เลย แบบว่าสนุกแบบสะใจนะครับแถมสั้นกว่าตำราทั่วไปด้วย

หนังสือเรื่อง วิธีการโกหกด้วยสถิติ (How to lie with statistics) นี่เป็นหนังสือที่เขียนโดยนายดาร์เรล ฮัฟฟ์ (Darrell Huff) พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2497 ซึ่งในช่วง 20 ปีหลังจากที่หนังสือพิมพ์เข้าสู่ตลาดก็เป็นตำรามาตรฐานสำหรับนักเรียนชั้น มัธยมปลายและนักศึกษา 2 ปีแรกในมหาวิทยาลัยเนื่องจากเป็นหนังสือที่อ่านง่าย อ่านสนุกโดยมีเนื้อหาแนะนำวิชาสถิติอย่างถูกต้องสมเหตุสมผลและไม่ซับซ้อนใน ขณะที่ก็สามารถอธิบายความคิดรวบยอดที่ซับซ้อนของคณิตศาสตร์ได้อย่างกระชับ

และ ที่สำคัญที่สุดคือในหนังสือได้สรุปการผิดพลาดทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจของ การตีความของการคำนวณทางสถิติและความผิดพลาดเหล่านั้นนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ชุ่ย เชื่อถือไม่ได้เยอะแยะ (ปัจจุบันนี้ก็เห็นอยู่ทุกวันในบ้านเราที่อ้างสถิติมั่วๆ จนอายที่จะฟังและอ่านด้วยซ้ำไป)

หนังสือ เรื่องวิธีการโกหกด้วยสถิติฉบับภาษาอังกฤษนี้ขายได้กว่าหนึ่งล้านห้าแสนเล่ม จัดเป็นหนังสือสถิติที่ขายดีที่สุดในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 เลยทีเดียว และได้มีการแปลออกเป็นภาษาต่างๆ แล้วถึง 22 ภาษา และยังคงใช้ในการเรียนการสอนอยู่จนทุกวันนี้ ถึงแม้ตัวอย่างโดยเฉพาะค่าของเงินจะเก่าพ้นสมัยไปแล้วเนื่องจากเงินเฟ้อใน ช่วง 50 กว่าปีที่ผ่านมาก็ตาม

เป็นที่น่าสังเกตนะครับที่ไม่เคยมีการ แปลหนังสือเรื่อง "How to lie with statistics" เป็นภาษาไทยเลย ซึ่งหากแปลมาแล้วเอามาเรียนคู่กับวิชาสถิติเบื้องต้นเหมือนที่อเมริกาได้คง จะดีไม่น้อยทีเดียว

ดาร์เรล ฮัฟฟ์ ผู้เขียนหนังสือวิธีการโกหกด้วยสถิติได้เน้นว่า "มีความน่าหวาดหวั่นในตัวเลขทำให้คนทั่วไปไม่กล้าเถียงการตีความของตัวเลขใน การอ้างสถิติของผู้ที่ทำท่าว่าเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญทางการสถิติวิจัยทั้งหลาย เพราะมีศัพท์แสงมากมาย อาทิ รายเฉลี่ย (Averages) สหสัมพันธ์ (correlations) แนวโน้ม (trends) และกราฟนานาชนิด"

ดาร์เรล ฮัฟฟ์ ให้ข้อเตือนใจว่าภาษาที่ลึกลับของสถิติทำให้เป็นที่นิยมของคนที่ต้องการที่ จะเรียนรู้ความจริงซึ่งโดยแท้ที่จริงแล้วภาษาแปลกๆ เหล่านี้เป็นวิธีการที่สร้างสีสัน ขยายความ ทำให้สับสนและพูดให้ดูง่ายจนเกินกว่าเหตุ ถึงแม้สถิติจะมีรากฐานมาจากคณิตศาสตร์แต่โดยแท้ที่จริงแล้วสถิติก็มีความ เป็นศิลปะพอๆ กับที่เป็นวิทยาศาสตร์ ดังนั้น สถิติจึงหาได้เป็นวิทยาศาสตร์ล้วนๆ ไม่

ดาร์เรล ฮัฟฟ์ ได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือ "วิธีการโกหกด้วยสถิติ" จากข้อเขียนที่มีชื่อเสียงของมาร์ก ทเวน ในหนังสือเรื่อง "Chapters from My Autobiography" ที่ว่า "Figures often beguile me, particularly when I have the arranging of them myself; in which case the remark attributed to Disraeli would often apply with justice and force: ′There are three kinds of lies: lies, damned lies, and statistics." ซึ่งมาร์ก ทเวน อ้างว่ามีการโกหกอยู่ 3 ชนิด คือ

1.โกหก 2.โกหกเป็นบ้า และ 3.โกหกโดยใช้สถิติ

บทส่งท้ายของหนังสือเล่มนี้ ชื่อ "วิธีการโต้ตอบกับนักสถิติ" ซึ่งผู้เขียนชอบมากที่สุด ดาร์เรล ฮัฟฟ์ ได้สรุปเป็น 5 คำถาม คือ

1.ใครอ้างเรื่องนี้ ?

2.คนที่อ้างอย่างนี้รู้มาได้อย่างไร ?

3.มีอะไรที่ขาดหายไป ?

4.ใครที่เปลี่ยนเรื่องที่กำลังทำอยู่นี้ ?

5.ทั้งหมดนี้สมเหตุสมผลหรือเปล่า ?

ครับ ! การเขียนเรื่อง "วิธีการโกหกด้วยสถิติ" นี้มิได้เกี่ยวกับเรื่อง "โกหกสีขาว" กรณีเป้าหมายการส่งออกของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรัฐมนตรีคลัง เป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์ในขณะนี้นะครับ เพราะว่าโกหกสีขาวนี่มาจากภาษาอังกฤษที่ว่า An often trivial, diplomatic or well-intentioned untruth. หรือพากย์ไทยได้ว่า โกหกแบบนักการทูต ซึ่งไม่ได้มุ่งที่จะให้ใครกังวลใจ เป็นการโกหกแบบถนอมน้ำใจกันนั่นแหละ แต่บังเอิญท่านรองฯกิตติรัตน์ไม่ใช่นักการทูตแต่ท่านเป็นนักการเงิน การคลังนี่ซีจึงเป็นเรื่องราวใหญ่โตไป


ที่มา นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2555