ผู้เขียน หัวข้อ: ทางรอดประเทศไทย! "ประเวศ-สมิทธ-อาจอง" คุยแผนรับมือภัยพิบัติ "กรุงเทพฯจะต้องจมน้ำ  (อ่าน 1310 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
นพ.ประเวศ วะสี ผู้ทรงคุณวุฒิและราษฎรอาวุโส

"สังคมไทยใช้แต่สมองส่วนหลัง"

ทุกวันนี้ สังคมไทยใช้แต่สมองส่วนหลัง ซึ่งเป็นสมองของสัตว์เลื้อยคลาน ใช้แต่การต่อสู้ เต็มไปด้วยความเกลียด ความโกรธ ขณะที่สมองส่วนหน้าหาย ซึ่งเป็นส่วนของสติปัญญา ความรู้ จริยธรรมและศีลธรรม ดังนั้น เพื่อการพัฒนาประเทศไทย ต้องเข้าเกียร์ใหม่ เปลี่ยนจากเกียร์หลังเป็นเกียร์หน้าแทน

ในเรื่องการแก้ปัญหาภัยพิบัตินั้น จำเป็นต้องเชื่อมโยงส่วนที่แตกต่างเพื่อเผชิญภัยพิบัติและภัยสุขภาวะ โดยเสนอแนวทาง 6 ประเด็นคือ 1.คนไทยต้องเปลี่ยนโลกทรรศน์ วิธีคิด และจิตสำนึกใหม่ ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เพราะคนไทยคิดเสมอว่า เราจะไม่ประสบภาวะวิกฤตจึงไม่มีใครเตรียมตัว และเราต้องเพิ่มสมรรถนะ เพื่อให้เกิดการตื่นตัวในข้อมูล 2.สร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งทั่วประเทศ เพื่อรับภัยพิบัติและจัดการภัยสุขภาวะ คือต้องสำรวจข้อมูลว่าภัยพิบัติในพื้นที่ของตนจะเกิดจากอะไรบ้าง จะป้องกันและรับมืออย่างไร ใครจะต้องทำอะไร จะต้องใช้เครื่องมืออะไรบ้าง จะสื่อสารให้รู้ทั่วถึงกันอย่างไร ทำการซักซ้อมเผชิญภัยพิบัติอย่างสม่ำเสมอ

3.มหาวิทยาลัยทุกแห่งควรมีศูนย์ศึกษาภัยพิบัติ เพื่อศึกษาลักษณะภูมิประเทศ และภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือ โดยความร่วมมือระหว่างท้องถิ่นและชุมชนอย่างใกล้ชิด 4.มีระบบการสื่อสารที่สื่อสารให้รู้ความจริงอย่างทั่วถึงกัน เพราะที่ผ่านมาการสื่อสารมีความสับสนมาก จนไม่รู้ว่าอะไรคือความจริง 5.มีเครื่องมือการตัดสินใจทางนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติทุกเรื่อง เพราะระบบรัฐ ระบบราชการ และระบบการเมืองที่ผ่านมา เป็นระบบอำนาจ ไม่ใช่ระบบปัญญา จึงแก้ปัญหาอะไรไม่ค่อยได้ รวมทั้งควรตั้งคณะกรรมการป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติ ซึ่งนอกจากมี นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีหัวหน้าส่วนงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการแล้ว ควรมีคณะกรรมการเสียงข้างมากที่รู้ ที่มาจากผู้นำชุมชน นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญการสื่อสาร และมีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ เพื่อสรรหาผู้ที่มีความสามารถมาบริหารยุทธศาสตร์และทำงานต่อเนื่องยาวนาน ไม่ใช่เป็นเพียงส่วนราชการ ที่เต็มไปด้วยราชการที่ไม่มีสมรรถนะเสี่ยงต่อความล้มเหลว และ 6.ออกพระราชบัญญัติป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติ รวบรวมความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติทั้งหมดมาบัญญัติเป็นกฎหมาย เพื่อกำหนดอำนาจหน้าที่ทุกภาคส่วน


สมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ

"ถือว่าถูกด่าเพื่อชาติ"

ที่ผ่านมาผมพูดเยอะมาก ด่าเยอะมากในเรื่องเกี่ยวกับการเตือนภัยพิบัติในประเทศ ล่าสุดเมื่อไปพูดในที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ว่า ตอนนี้ ใกล้จะฤดูฝนอีกแล้ว ยังไม่เห็นใครทำอะไรเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่ว่าจะเอามาแก้ปัญหาน้ำท่วมนั้น ยังไม่มีรูปร่างออกมาเลยว่าจะทำอะไรบ้างมีแต่ตัวเงินออกมาเท่านั้น

"พูดแบบนี้ก็มีหลายคนออกมาด่าว่าผมชอบพูด ชอบสร้างประเด็นในสังคม แต่โดยสัตย์จริงคือ สิ่งที่ผมพูดนั้นเป็นเรื่องจริง และหลังจากผมพูด และมีคนด่าผมเรียบร้อยแล้ว เขาก็เริ่มมีโครงการว่าจะทำโน่นทำนี่ออกมาบ้างแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ดีนะครับ หากว่าจะทำกันจริงๆ ผมจะถูกด่าบ้าง ถือว่าถูกด่าเพื่อชาติก็แล้วกัน ผมโดนมาเยอะไม่เป็นไร"

ผมได้ไปศึกษาเรื่องรอยเลื่อนแผ่นดินไหวในประเทศไทยเพิ่มขึ้น พบว่ามีรอยเลื่อนหนึ่งที่น่าสนใจคือ รอยเลื่อนยูเรเซีย ซึ่งเป็นรอยเลื่อน ที่อยู่ในแถบเอเชียทั้งหมด โดยพาดผ่านไทย เวียดนาม และประเทศลาว รอยเลื่อนนี้จะสร้างปัญหาทันทีหากเกิดการยกตัวขึ้นมา เพราะจะทำให้เกิดแผ่นดินไหว และทำให้เกิดสึนามิในบริเวณอ่าวไทยได้ ทำให้ชายฝั่งทะเลตั้งแต่ จ.นราธิวาส ปัตตานี นครศรีธรรมราช สงขลา ชุมพร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม มีคลื่นสูงไม่ต่ำกว่า 3 เมตรได้

สำหรับปรากฏการณ์ในอนาคตใกล้ๆ ที่น่าเป็นห่วงหลังจากนี้คือ เมื่อหมดอิทธิพลของปรากฏการณ์ลานิญา ที่ทำให้ฝนตกมากแล้ว ตั้งแต่หลังกลางปีนี้เป็นต้นไป ก็จะมีปรากฏ การณ์เอลนิโญเข้ามาแทน ให้เกิดภัยแล้งขึ้น ให้ฝนทิ้งช่วง น้ำทะเลหนุนขึ้นมาปากอ่าว และถ้าป้องกันไม่ดี อาจจะหนุนเข้ามาถึงคลองประปา ถ้าป้องกันไม่ดี แก้ปัญหาไม่ได้ในอนาคตคนกรุงเทพฯอาจจะต้องกินน้ำประปาเค็มก็ได้

อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา อดีตนักวิทยาศาสตร์จากองค์การบริหารการบิน และอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (นาซา)

"กรุงเทพฯจะต้องจมน้ำ"

ตอนนี้โลกทั้งโลกอยู่ระหว่างได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน น้ำระเหยจากพื้นดินมาก ทำให้ฝนตกเยอะ เมื่อน้ำฝนมาก หากระบบการจัดการไม่ดีน้ำก็จะท่วม บวกกับน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ทำให้ น้ำทะเลก็สูง และหนุนสูงขึ้นเรื่อยๆ เวลานี้ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้แล้วเช่นกัน ในอนาคตอีกไม่เกิน 20 ปีนับจากนี้ กรุงเทพฯจะต้องจมน้ำอย่างหลีกไม่ได้ โดยภายใน 7-8 ปี น้ำทะเลจะเริ่มหนุนเข้ามาในกรุงเทพฯ

"ถ้าเราไม่อยากให้น้ำท่วมเมืองหลวงก็ต้องเตรียมวางแผนตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อหาเมืองหลวงใหม่ ผมเห็นว่า พื้นที่ที่เหมาะสมจะเป็นเมืองหลวงใหม่ของเราคือ พื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล ตั้งแต่ 100 เมตรขึ้นไป ซึ่งก็พื้นที่ราบสูงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณดังกล่าวไม่มีแนวรอยเลื่อนแผ่นดินไหว และปลอดภัยที่สุด ทั้งนี้เมืองหลวงใหม่ ควรเป็นพื้นที่ที่ไม่มีอะไรเลย แต่คนที่จะไปสร้างใหม่ต้องเข้าไปวางระบบต่างๆ ใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะผังเมือง การวางแผนเพื่อสร้างเมืองหลวงใหม่ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ดังนั้นวันนี้ควรจะเริ่มวางแผนได้แล้ว" นายอาจองกล่าว

ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

"เอาธรรมชาติมาเป็นตัวช่วย"

ประเทศไทยยังอยู่ในระบบทุนนิยม คนที่มีเงินมักจะตายช้ากว่าคนไม่มีเงิน ทั้งนี้คนมีเงินหลายคนชอบคิดว่า ถ้าประเทศไทยเกิดภัยพิบัติรุนแรงมากจะหอบครอบครัวหนีไปอยู่ต่างประเทศ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดอย่างมาก เพราะถ้าเทียบกันเรื่องความปลอดภัยเรื่องภัยพิบัติระหว่างประเทศไทยกับทั่วโลกแล้ว ถือว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เสี่ยงกับภัยพิบัติค่อนข้างต่ำ แต่ที่มีปัญหาคือ ปัญหาเรื่องการจัดการ การวางแผนรับมือ เพราะถ้าจัดการกับเรื่องเหล่านี้ได้ ประเทศนี้ถือว่าน่าอยู่มาก

"ที่ผ่านมาเราลืมเรื่องการจัดการทรัพยากร โดยเฉพาะทรัพยากรทางทะเล เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะเรื่องป่าชายเลน เราลืมไปแล้วว่า สมัยที่เกิดคลื่น สึนามิที่ภาคใต้ หมู่บ้านที่ช่วยกันดูแลป่าชายเลนอย่างดี คลื่นเข้าไปทำลายหมู่บ้านน้อยมาก แต่หมู่บ้านที่ปล่อยปละละเลย ปล่อยให้นายทุนรุกป่าชายเลน แล้วมาสร้างเขื่อนกันคลื่นแทน หมู่บ้านนั้นตายกันยกหมู่บ้านเพราะคลื่นเข้าไปเต็มๆ ไม่ค่อยจะจำเรื่องนี้ แต่ผมอยากจะบอกว่า ถ้าเราจะต้องรับมือกับภัยพิบัติตามธรรมชาติ เราต้องเอาธรรมชาติมาเป็นตัวช่วย เป็นตัวป้องกันดีที่สุด"

หน้า 2 มติชนรายวัน ฉบับวันที่5ก.พ.55