ผู้เขียน หัวข้อ: “น้ำท่วมไทยสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 4 ของประวัติศาสตร์โลก”: ธนาคารโลกชี้  (อ่าน 1276 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
 ยังไม่ทันที่รัฐบาลไทยจะประเมินความเสียหายจากมหาอุทกภัยเมื่อปีที่แล้ว ทางธนาคารโลกก็ได้จัดให้เหตุการณ์นี้เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ มีความเสียหายสูงเป็นอันดับที่สี่ในประวัติศาสตร์ภัยพิบัติทางธรรมชาติของโลก ไปเรียบร้อยแล้ว (http://en.wikipedia.org/wiki/2011_Thailand_floods)
       
        การประเมินนี้เป็นการประเมินเบื้องต้นด้านความเสียหายทางเศรษฐกิจนับถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2554 พบว่าอยู่ที่ประมาณ 1.425 ล้านล้านบาท (45,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ-14%ของจีดีพี) รองจากอันดับ (1) แผ่นดินไหวและสึนามิที่ฟูกุชิมะ ญี่ปุ่น 2554 เสียหาย 235,000 ล้านดอลลาร์ (2) แผ่นดินไหวเมืองโกเบ ญี่ปุ่น 2538 และ (3) พายุเฮอร์ริเคนแคทรีนา สหรัฐฯ 2548 เสียหาย 81,000 ล้านดอลลาร์
       
        เอกสารที่ผู้เขียนในวิกีพีเดียอ้างถึงได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เป็นความเสียหายของภาคเอกชน 90% ( 1,284 ล้านล้านบาท) และของภาครัฐ 6% (หรือ 81,400 ล้านบาท) โดยไม่นับถึงความเสียหายของทหารและตำรวจที่ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในภาคเอกชนที่สูงที่สุดคือภาคโรงงาน 1.007 ล้านล้านบาท การท่องเที่ยว 95,000 ล้านบาท การเกษตร 40,000 ล้านบาท ภาคครัวเรือน (ส่วนใหญ่เป็นเฟอร์นิเจอร์) 84,000 ล้านบาท
       
        อย่าไปสนใจตัวเลขมากจนเกินไปนะครับ เพราะเป็นเพียงการประเมินเบื้องต้น และเมื่อผมตรวจสอบความถูกต้องโดยรวมรายการย่อยแล้วพบว่าไม่ตรงกับยอดรวม สำหรับจำนวนผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดจากน้ำท่วมครั้งนี้ 13.6 ล้านคน
       
        คณะผู้ประเมินนอกจากจะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของธนาคารโลกแล้วยังมีคนไทยที่เป็นข้าราชการจาก 40 หน่วยงานเข้าร่วมด้วย เว็บไซต์ของธนาคารโลกที่ผมอ้างถึงนี้ได้พาดหัวว่า “ธนาคารโลกสนับสนุนความพยายามการฟื้นฟูหลังน้ำท่วมในประเทศไทย” แต่ไม่มีรายละเอียดว่าจะสนับสนุนอย่างไรบ้าง
       
        เอกสารนี้ยังได้ให้ข้อมูลว่า “ในช่วง 6 ถึง 36 เดือน ทั้ง ภาครัฐ และภาคเอกชนมีความจำเป็นต้องใช้เงินในการฟื้นฟูและลดความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมอีกประมาณ 798,000 ล้านบาท” และ “ค่าใช้จ่ายภาครัฐในช่วงปีงบประมาณ 2555-2557 ควรจะประมาณ 398,000 ล้านบาท”
       
        ผมไม่เคยเห็นข่าวว่ารัฐบาลไทยได้ทำการประเมินเรื่องนี้ด้วยคนไทยเองหรือไม่ แต่ผมเชื่อว่าไม่น่าจะมี เพราะถ้าคิดจะประเมินกันจริงก็คงไม่ออกมาประกาศในวันแรกๆ ที่เกิดน้ำท่วมว่าจะใช้เงินถึง 9 แสนล้านบาทในการฟื้นฟูและแก้ปัญหาในอนาคต จนถึงขณะนี้รัฐบาลโดย “คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” หรือ กยน. ก็มีแผนการจะกู้เงินถึง 3.5 แสนล้านบาท
       
        ทำไมเราไม่ประเมินตัวเราเอง ทั้งๆ ที่เรามีหน่วยงานของรัฐและสถาบันวิชาการระดับมหาวิทยาลัยเกือบ 200 แห่ง ในความเห็นของผม สิ่งที่ผมอยากให้ประเมินและสรุปอย่างเป็นทางการว่า สาเหตุของน้ำท่วมครั้งนี้เกิดจากอะไร ภัยธรรมชาติสักกี่เปอร์เซ็นต์ ความผิดพลาดในการบริหารจัดการสักกี่เปอร์เซ็นต์ ลักษณะทางภูมิศาสตร์และผังเมืองของแต่ละลุ่มน้ำมีความไวหรืออ่อนไหวต่อการรับน้ำมากน้อยแค่ไหน และจะลดความเสี่ยงในอนาคตได้อย่างไรบ้าง
       
        ผู้เขียนเอกสารในวิกีพีเดีย (ที่อ้างแล้ว) ได้ให้ข้อมูลว่า ในวันที่ 2 ตุลาคม เขื่อนขนาดใหญ่ 11 เขื่อนได้เก็บน้ำไว้ในระดับ 100 ถึง 135% ของความสามารถที่จะเก็บน้ำได้ (ป่าสักชลสิทธิ์ (ลพบุรี) 135%, จุฬาภรณ์ (ชัยภูมิ) 120%, ประแสร์ (ระยอง) 108%, อุบลรัตน์ (ขอนแก่น) 108%, น้ำอูน (สกลนคร) 106%, แม่งัด (เชียงใหม่) 104%, หนองปลาไหล (ระยอง) 104%, ลำปาว (กาฬสินธุ์) 101%, แม่กวง (เชียงใหม่) 101%, น้ำพุง (สกลนคร) 101%, คลองสียัด (ฉะเชิงเทรา) 100%)
       
        สิ่งที่ผมกังวลก็คือ ถ้าเราวิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุไม่ถูกต้อง เมื่อลงทุนไปแล้ว แต่น้ำก็ยังท่วมอีกหรือไปสร้างปัญหาอื่นเพิ่มขึ้นมาอีก
       
        บทเรียนจากกรณีน้ำท่วมอำเภอหาดใหญ่เมื่อปี 2543 พบว่าหลังเหตุการณ์นั้นรัฐบาลได้ทุ่มเงินหลายพันล้านบาทเพื่อขุดคลองระบายน้ำเพิ่มเติมขึ้นมาจากคลองธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดต่างก็ออกมารับประกันว่าน้ำจะไม่ท่วมอีกแล้ว แต่แล้วในปี 2553 น้ำก็ท่วมอีกจนได้ แต่คราวนี้ท่วมนานกว่าเดิมและระดับน้ำในบางพื้นที่กลับท่วมสูงกว่าเดิม
       
        แน่นอนละครับว่า น้ำท่วมมีหลายสาเหตุ จะสรุปกันง่ายๆ ตามที่ผมยกมานี้ไม่ได้ แต่ประเด็นของผมก็คือ ควรแก้ปัญหาให้ตรงกับสาเหตุสำคัญซึ่งรัฐบาลจงใจไม่พยายามค้นหา
       
        อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสงสัยมาก คือในช่วงที่น้ำกำลังท่วมหนักในเขตอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี ในขณะที่ทางกรุงเทพมหานครได้เตรียมเครื่องสูบน้ำจำนวนมากไว้ที่ประตูระบายน้ำออกทะเล (บริเวณจังหวัดสมุทรปราการ-ขออภัยถ้าระบุผิด) แต่ปรากฏว่าไม่มีน้ำให้สูบ
       
        เพื่อนร่วมหมู่บ้านของผมที่เป็นคนสมุทรปราการโดยกำเนิดบอกว่า “ปกติแล้วช่วงนี้สมุทรปราการต้องมีน้ำแล้ว ต้องท่วมแล้ว แต่ทำไมไม่ท่วม เสร็จเรื่องนี้แล้วต้องมีการเช็กบิลกัน”
       
        ขออีกคำถามครับ สังคมนี้เห็นด้วยไหมครับว่า “เขตกรุงเทพฯ ชั้นในน้ำจะท่วมไม่ได้ เพราะเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญ” ถ้าสังคมยอมรับตามแนวคิดนี้ก็แล้วกันไป แต่สำหรับผมแล้ว ผมเห็นว่าต้องให้ผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการลดความเสี่ยงที่ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลนี้เป็นผู้จ่ายภาษีเพิ่มเติมก่อนจบบทความนี้ ลองมาดูการ์ตูนนี้ครับ อ่านแล้วโปรดคิดลึกๆนะครับ ว่ามันมีอะไรผิดพลาดตรงไหนจากการ์ตูน

       ชื่อการ์ตูนว่า “ลงเรือลำเดียวกันแล้ว” ผู้ที่นั่งทับกล่อง 5 กล่องได้กล่าวต่อคนในเรือที่เป็นผู้พายว่า “เป็นอะไรกันไปหมดวะ พายเข้าซิ พายเข้า! พวกเอ็งต้องการให้เราจมกันหมดเหรอ!” กล่องทั้ง 5 เรียงจากบนไปสู่ล่างเขียนว่า การปฏิเสธ การเติบโตทางเศรษฐกิจ ความมั่งคั่ง ผลกำไร ลัทธิบริโภคนิยม สำหรับผมคิดว่า “เราลงเรือลำเดียวกันแล้วก็จริง แต่เราทุกคนในเรือไม่เหมือนกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติตามกล่องต่างๆ” อ้อ แล้วอย่าลืมตั้งคำถามว่า แล้วเรือจมเพราะอะไร?

โดย ประสาท มีแต้ม    
manager.co.th  5 กุมภาพันธ์ 2555