ผู้เขียน หัวข้อ: หลักประกันสุขภาพไทย ต้นแบบเพื่อ ความคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้าระดับโลก  (อ่าน 1139 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
หนังสือพิมพ์บ้านเมือง -- จันทร์ที่ 31 ธันวาคม 2555 00:00:17 น.
"การเข้าถึงเรื่องระบบสาธารณสุข โดยไม่มีอุปสรรค ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมี ซึ่งนอกจากประเด็นดังกล่าวแล้ว การลดภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องของระบบสุขภาพยังสามารถช่วยป้องกันให้ประชาชนไม่ตกอยู่ในภาวะยากไร้อีกด้วย สาหรับประเทศไทย ในตลอด 10 ปีที่ผ่านมา การมีหลักประกันสุขภาพ ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า เราสามารถช่วยชีวิตประชาชนได้อย่างมาก และยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะยากจนในครอบครัวคนไทยอีกด้วย ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การประชุมในครั้งนี้จะบรรลุผล และก่อให้เกิดการขับเคลื่อนและผลักดันต่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในทั่วโลก" พระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเปิดประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจาปี 2012

 
การประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2012 ที่ผ่านมา ซึ่งจัดในหัวข้อเรื่อง ก้าวสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เร่งพัฒนาระบบการเงินสุขภาพ โดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การอนามัยโลก (WHO) ธนาคารโลก (World Bank) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) เป็นเจ้าภาพร่วมกันเป็นปีที่ 6 โดยมีผู้ร่วมประชุม 816 คน จาก 69 ประเทศทั่วโลก นานาชาติต่างยกย่องให้ประเทศไทยเป็นต้นแบบระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งมีระบบการเงินการคลังที่มีประสิทธิภาพ สามารถปกป้องประชาชนไม่ให้ล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล

กว่า 1 ทศวรรษภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ก่อให้เกิดการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุข เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ประชาชนคนไทยมีสิทธิ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากว่า 47 ล้านคน (คิดเป็น 75% ของประชากรทั้งหมด) และสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพได้เพิ่มขึ้น ลดภาระรายจ่าย และปกป้องครัวเรือนไม่ให้ล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาลที่สูง ผลของการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้ประเทศไทยก้าวเป็น 1 ใน 6 ประเทศทั่วโลก ที่ประสบความสำเร็จในการจัดระบบสวัสดิการรักษาด้านสุขภาพ ปกป้องคนจนและผู้ยากไร้

ทั้งนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้นำผู้แทนสาธารณสุขนานาประเทศ ที่เข้าร่วมการประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ลงพื้นที่ศึกษาดูงานยังหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบการบริหารจัดการด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้แก่ การพัฒนางานด้านระบบไอที รพ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี การผ่าตัดหัวใจ ณ สถาบันโรคทรวงอก การปลูกถ่ายอวัยวะ รพ.รามาธิบดี การพัฒนาบริการปฐมภูมิ รพ.อยุธยา เยี่ยมชมการดำเนินงาน รพ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี ศึกษาเรื่องความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน ที่ รพ.ภูมิพล และ รพ.กล้วยน้ำไท และเยี่ยมชมกองทุนสุขภาพตำบลเหมืองใหม่ ณ โรงพยาบาลสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ในฐานะแบบอย่างของการเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการระบบหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น

ถอดรหัสระบบหลักประกันสุขภาพไทย ปัจจัยสู่ความสำเร็จ"น่าชื่นชมและยกย่องระบบหลักประกันสุขภาพไทยอย่างมาก ที่ปกป้องประชาชนไม่ให้ล้มละลายจากภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล มีระบบจัดการเฉพาะโรคโดยเฉพาะโรคร้ายแรงที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคเอดส์ โรคไตวายเรื้อรัง แม้ในภาวะวิกฤติอุทกภัย จะได้นำแนวคิดระบบหลักประกันสุขภาพของไทยไปเผยแพร่ประเทศอื่นต่อไป" นายบัน คี มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ กล่าวชื่นชมระบบหลักประกันสุขภาพไทย ในโอกาสร่วมประชุมเพื่อรณรงค์เรื่องการดูแลสุขภาพผู้หญิงและเด็ก ช่วงกลางเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา

ส่วนหนึ่งที่นานาชาติต่างยอมรับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย และยกให้เป็นแบบอย่างของประเทศกำลังพัฒนา เห็นจะเป็นการพัฒนาที่มาจากฐานของการสร้างความรู้และสะสมประสบการณ์ที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมากว่า 40 ปี ทำให้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการทำให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพที่จำเป็น คุ้มครองไม่ให้ประชาชนล้มละลายจากค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล โดยต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ได้เพิ่มขึ้นจนเป็นภาระในระยะยาว ทั้งนี้ระบบดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย พ.ศ.2540 ในขณะที่ประเทศมีรายได้ประชาชาติต่อหัวเพียง 1,900 เหรียญสหรัฐ แสดงให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องรอให้ประเทศร่ำรวยก่อนจึงจะเริ่มนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้

โดยเป้าหมายหลักของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ การสร้างความเป็นธรรมแก่ประชาชนไทยในระบบสาธารณสุข ระบบนี้มีลักษณะสำคัญ 3 ประการคือ 1.อิงระบบภาษีและไม่ต้องจ่ายค่าบริการเมื่อไปใช้บริการ 2.ครอบคลุมสิทธิประโยชน์อย่างรอบด้านและให้ความสำคัญกับระบบบริการปฐมภูมิ 3.ใช้งบประมาณและจ่ายค่าบริการแบบปลายปิดเพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ระบบนี้ยังครอบคลุมบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค รวมถึงยังมีกลไกสำหรับการคุ้มครองสิทธิ์แก่ประชาชน ให้ข้อมูล และรับเรื่องร้องเรียน มีระบบการชดเชยกรณีได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล รวมถึงการกำหนดให้โรงพยาบาลต้องมีระบบพัฒนาคุณภาพบริการ (hospital accreditation)

ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักการเมือง ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ ต่างมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการปฏิรูประบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตั้งแต่การผลักดันการผ่านกฎหมาย พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 2545 ซึ่งนับเป็นกลไกความสำเร็จที่สำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ประกอบกับการออกแบบระบบ การดำเนินนโยบาย และการประเมินผล ระบบ และการที่ประเทศไทยสามารถขยายการให้หลักประกันแก่ประชาชนทุกคนได้อย่างรวดเร็ว ก็เนื่องจากมีพื้นฐานที่พร้อมสำหรับการดำเนินงาน คือ มีโครงสร้างการให้บริการภาครัฐที่ครอบคลุมเต็มทุกพื้นที่ไปถึงระดับอำเภอและตำบล มีหน่วยงานวิจัยนโยบายและระบบสาธารณสุขที่มีศักยภาพ มีระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรที่พร้อมใช้งาน ใช้กลไกการเงินไปเสริมความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข ให้ความสำคัญไปสู่ระบบบริการปฐมภูมิ เพิ่มประสิทธิภาพ ความโปร่งใส การตอบสนองต่อประชาชน และความรับผิดชอบ

กล่าวได้ว่า ความสำเร็จในการดำเนินงานที่ผ่านมา มาจากการออกแบบระบบ ที่ดี ทั้งการบริหารงบประมาณในรูปแบบงบปลายปิดที่คำนวณมาจากต้นทุนและการใช้บริการของประชาชน การกำหนดสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และคัดเลือกบริการรักษาพยาบาลเฉพาะที่มีประสิทธิผล การจ่ายเงินสถานพยาบาลในรูปแบบเหมาจ่ายสำหรับบริการผู้ป่วยนอก และจ่ายตามกลุ่มจำแนกโรคร่วมสำหรับบริการผู้ป่วยใน ส่งเสริมให้มีการใช้บริการที่สถานพยาบาลปฐมภูมิ ฯลฯ

หลักฐานที่สะท้อนให้เห็นว่าการดำเนินงานประสบความสำเร็จ คือ จำนวนการใช้บริการผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นจาก 2.41 ครั้ง/คน/ปี ในปี พ.ศ.2546 เป็น 3.64 ครั้ง/คน/ปี ในปี พ.ศ.2554 ขณะที่อัตราการนอนรักษาตัวใน รพ.เพิ่มจาก 0.067 ครั้ง/คน/ปี เป็น 0.119 ครั้ง/คน/ปี ในช่วงเดียวกัน ข้อมูลปี พ.ศ.2553 พบจำนวนประชาชนไทยที่เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น (unmet need) อยู่ในระดับต่ำมาก ครัวเรือนที่ล้มละลายเพราะค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลลดลงจาก 6.8% ในปี พ.ศ.2538 เหลือ 2.8% ในปี พ.ศ.2551 ป้องกันครัวเรือนไม่ให้ยากจนลงได้กว่า 8 หมื่นครัวเรือน

นอกจากนี้ยังมีระดับความพึงพอใจที่สูงของประชาชนซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 83% ในปี พ.ศ.2546 เป็น 90% ในปี พ.ศ.2553 โดยกลุ่มผู้ให้บริการที่เคยมีระดับความพึงพอใจต่อระบบดังกล่าวค่อนข้างต่ำในระยะแรก คือเพียง 39% ในปี พ.ศ.2547 กลับเพิ่มสูงขึ้นเป็น 79% ในปี พ.ศ.2553

10 ปีแห่งการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย สามารถสรุปเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย คือ 1.นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องเป็น "วาระแห่งชาติ" ที่ได้รับการสนับสนุนทั้งจากฝ่ายการเมือง ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ ซึ่งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแสดงให้เห็นแล้วว่า นอกจากจะช่วยทำให้สุขภาพประชาชนดีขึ้นแล้ว ยังเป็น "มาตรการ" ลดปัญหาความยากจนได้อย่างเป็นรูปธรรม 2.การพัฒนาโครงสร้างระบบบริการสุขภาพ โดยเฉพาะที่ระดับปฐมภูมิให้ครอบคลุมโดยมีกำลังคนด้านสุขภาพที่พอเพียง และ 3.การออกแบบระบบที่ดี เช่น ระบบงบประมาณและการจ่ายเงินสถานพยาบาลแบบปลายปิด ระบบคู่สัญญา (contact model) ที่แยกบทบาทความรับผิดชอบชัดเจน รวมทั้งการกำหนดสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมรอบด้านให้แก่ประชาชน

รับรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น 2554
จากการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ สปสช.ได้รับรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น ประจำปี 2554 จากกรมบัญชีกลาง เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2555 ณ ห้องรอยัลจูบิลี่ บอลรูม เมืองทองธานี โดย สปสช.ได้รับรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่นติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง

นอกจากนี้มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) ยังสนับสนุนงบประมาณให้ไทยเป็นศูนย์ถ่ายทอดองค์ความรู้การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ภายใต้ โครงการพัฒนาศักยภาพเพื่อบรรลุเป้าหมายการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Capacity Building to support the movements in achieving Universal Health Coverage) ดำเนินการโดย 8 องค์กรภาคี ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก). สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่ 1 ธ.ค.54-30 พ.ย.57 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างกระบวนการที่จะส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ด้านวิชาการที่มีประสิทธิภาพในการสนับสนุนการพัฒนานโยบายและดำเนินงานหลักประกันสุขภาพให้ประสบความสำเร็จและมีความยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งโปรแกรมการฝึกอบรม จะแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ การฝึกอบรมกลุ่มนโยบาย (Policy level workshops) กลุ่มวิชาการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ (Technical level workshops) และการฝึกอบรมตามความเหมาะสมเฉพาะกลุ่ม (Tailor made activities based on request) เพื่อกระตุ้นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาใช้เป็นแนวทางการลงทุนที่มีประสิทธิภาพเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ความสำเร็จของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย นับเป็นก้าวสำคัญในการกระตุ้นให้สังคมมนุษยชาติ ตระหนักถึงความสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพที่มนุษยชาติควรมีติดตัวกันถ้วนหน้า

ปฏิญญาบางกอก
การบริการสุขภาพควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่เป็นสิทธิพิเศษสำหรับคนบางคน หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ช่วยสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้ และด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เราสามารถก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ได้ อุปสรรคด้านสถานะทางเศรษฐกิจ อายุ และเพศ ดังนั้น เด็กๆ ผู้หญิง และประชาชนทุกคน สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขและมีสุขภาพที่ดีได้ และเชื่อมั่นในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและยังเชื่อว่าถ้าพวกเราทั้งหมดร่วมมือกัน เราจะช่วยชีวิตคนได้อีกมาก นี่คือทางออกสำหรับทุกประเทศเชื่อมั่นว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่แข็งแกร่ง องค์การอนามัยโลกได้ระบุถึง 9 วิธีที่จะเร่งพัฒนาระบบการเงินสุขภาพ และนี่คือหนึ่งในเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด ที่จะสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้แก่ประชาชน สนับสนุนอย่างยิ่ง ที่ให้มีการเก็บภาษีบาปสำหรับยาสูบและสุรา เพื่อให้สินค้าเหล่านี้มีราคาแพง และจะเป็นการป้องกันสุขภาพได้ในเวลาเดียวกัน เพื่อนำมาจัดซื้อบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง เชื่อว่าทุกประเทศ ทุกระดับของการพัฒนา สามารถนำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปใช้ได้ทันที ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นเหมือนขั้นตอนสำคัญในการปฏิรูปและเสริมสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ และยังเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนและเร่งพัฒนาสุขภาพที่ดีขึ้นให้แก่ประชาชนสำหรับทุกคนในโลกนี้ ถ้าทำได้จริงในเมืองไทย ที่ไหนบนโลกนี้ก็ทำได้เช่นกัน เลือกสุขภาพ เลือกชีวิตร่วมกันให้เป็นคำมั่นสัญญา คำมั่นสัญญาระหว่างเราที่จะให้การดูแลสุขภาพอย่างเสมอภาค

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คำมั่นสัญญาแห่งความเสมอภาคและ เป็นธรรม