ผู้เขียน หัวข้อ: แพทยสภาค้าน กม.ผู้เสียหายฯชี้เอาเงินเป็นตัวตั้งเพิ่มข้อร้องเรียน ปัดหาเสียง  (อ่าน 755 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9785
    • ดูรายละเอียด
 แพทยสภาชี้ ร่าง พ.ร.บ.ผู้เสียหายข้อเสียมาก ทำแพทย์ - คนไข้พูดคุยน้อย ไม่เข้าใจกัน เอาเงินเป็นตัวตั้ง ยกสวีเดนเป็นตัวอย่างการฟ้องร้องน้อยลง แต่การร้องเรียนเพิ่มเป็น 1,000 เท่า ยันออกมาค้านไม่เกี่ยวข้องเลือก กก.แพทยสภาใหม่ ชงแก้ไข ม.41 ครอบคลุมสามกองทุน ขยายวงเงินช่วยเหลือสูงสุด 2 ล้านบาท
       
       วันนี้ (8 ธ.ค.) ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา แถลงข่าวข้อเท็จจริงร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ. ..." ว่า กฎหมายลักษณะนี้ประเทศใหญ่ๆ เขาไม่ดำเนินการกัน ประเทศที่มีการดำเนินการก็คือสวีเดน ซึ่งความจริงแล้วร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จะส่งผลเสียหลายอย่าง โดยทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้ไม่ดี ยิ่งทำให้ไม่เข้าใจกัน แม้จะลดการฟ้องร้องได้ แต่การร้องเรียนกลับเพิ่มขึ้น อย่างสวีเดนเพิ่มขึ้นถึง 1,000 เท่า แพทย์จ้องเขียนรายงานถึงกรณีที่เกิดขึ้นเพื่อชี้แจง เพราะกฎหมายเอาเงินเป็นตัวตั้ง ทุกอย่างแก้ปัญหาได้ด้วยเงิน แพทย์แทบไม่ต้องอธิบายให้กับคนไข้ ที่สำคัญ ในร่างมีหลายข้อไม่ได้ระบุชัดว่าจะไม่ฟ้องร้องแพทย์ และมีการตั้งกองทุนขึ้นใหม่ก็เกิดคำถามว่า สมควรหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ทางแพทยสภาแม้จะเห็นต่าง แต่ไม่ได้นิ่งเฉย มีการเดินหน้าเพื่อคุ้มครองประชาชนเช่นกัน โดยจะใช้ช่องทางมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งสามารถครอบคลุมได้ทั้งผู้ป่วย 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งเรื่องนี้แพทยสภามีการเสนอร่างแก้ไขมาตรา 41 และเตรียมเสนอหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เดินหน้าเรื่องดังกล่าว
       
        ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ ประธานฝ่ายกฎหมายและจริยธรรมแพทยสภา กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการเสนอแก้ไขมาตรา 41 ให้คุ้มครองประชาชนทั้งประเทศทั้งสามกองทุนสุขภาพภาครัฐ โดยเสนอร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 41 และ 42) พ.ศ... พร้อมทั้งร่างแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการช่วยเหลือกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล พ.ศ.. ซึ่งแพทยสภาได้เสนอไปตั้งแต่ปี 2555 โดยหากรัฐบาลนี้เห็นชอบก็สามารถนำร่างดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาได้ โดยแพทยสภาจะเสนออีกครั้งทุกช่องทาง คือ เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อขอให้มีการพิจารณาดันร่างดังกล่าว เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ มีประเด็นความเห็นต่างๆ มาก
       
       “ เดิมงบส่วนนี้ สปสช. ใช้เพียงร้อยละ 1 จากงบทั้งหมด คิดเป็นพันกว่าล้านบาท ดังนั้น เมื่อมีการเพิ่มอีก 2 กองทุนเข้ามา ก็จะเพิ่มงบไม่มากนัก ซึ่งทางรัฐบาลสมทบได้ แต่หากจะมีการหารือเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขกฎหมายของแต่ละกองทุน โดยให้จัดสรรเงินส่วนหนึ่งมาช่วยในเรื่องนี้ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยร่างแก้ไขดังกล่าว จะมีประโยชน์ในแง่คุ้มครองผู้ป่วย และยังคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ เพราะจะกำหนดชัดเจนว่า ผู้รับบริการหรือทายาท เมื่อรับเงินช่วยเหลือต้องทำบันทึกไม่มีการฟ้องร้องต่ออีก ” ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กล่าว
       
       ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กล่าวว่า ในการแก้ไขร่างดังกล่าว จะมีการขยายเงินช่วยเหลือผู้ป่วยเพิ่ม โดยกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 2 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 4 แสนบาท กรณีสูญเสสียอวัยวะหรือพิการจ่ายเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท จากปัจจุบันจ่ายสูงสุดไม่เกิน 2.4 แสนบาท และกรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 5 แสนบาท จากปัจจุบันจ่ายสูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท
       
       ด้าน นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวถึงกรณีมีบางกลุ่มออกมาโจมตีว่าการที่แพทยสภาเห็นต่างเรื่องร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ เนื่องจากอยู่ในช่วงเลือกตั้งกรรมการแพทยสภา ว่า จริงๆ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ มีความเห็นต่างกันมานาน ไม่ใช่แค่ช่วงนี้ ตั้งแต่ 3 - 4 ปีก่อน ก็มีแพทย์รวมตัวกันแต่งดำคัดค้านร่างกฎหมายนี้ ที่สำคัญ มองว่าการผลักดันร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว จะต้องมีการตั้งกองทุนใหม่ ซึ่งจำเป็นหรือไม่ กับงบประมาณมากมาย ขณะที่การแก้ไขมาตรา41 ไม่ต้องมีการตั้งกองทุนใหม่เลย

ASTVผู้จัดการออนไลน์    8 ธันวาคม 2557