ผู้เขียน หัวข้อ: สวนสัตว์สงัดเสียง-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 870 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด

ภาพ : สวนสัตว์สงัดเสียง
ภาพโดย : โรเบิร์ต คลาร์ก
คำบรรยายภาพ : ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาอเมริกันในมหานครนิวยอร์ก จอร์จ ดันเต นักสตัฟฟ์สัตว์ กำลังตกแต่งหมีสีน้ำตาลในฉากหลังสามมิติที่จำลองถิ่นอาศัยในธรรมชาติ

การสตัฟฟ์สัตว์มีส่วนสำคัญในการอนุรักษ์มาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบเก้า แต่ปัจจุบันบทบาทดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

การสตัฟฟ์สัตว์มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์มาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบเก้า ซึ่งเป็นยุคสมัยที่นักล่าสัตว์นิยมนำสัตว์ที่ล่าได้ไปให้ช่างทำเบาะช่วยสตัฟฟ์ให้  สัตว์ที่ได้รับการสตัฟฟ์อย่างดีทำให้เรามีโอกาสชื่นชมสัตว์ที่อาจพบเห็นได้ยากในธรรมชาติในระยะประชิด  เรามองดูพวกมันได้โดยไม่มีกรงเหล็กขวางกั้นเหมือนอย่างในสวนสัตว์ ท่วงท่าก็อาจละม้ายคล้ายคลึงกับเวลาที่อยู่ตามธรรมชาติ และให้ “ประสบการณ์เรียบง่ายตรงไปตรงมาบางอย่าง” ทิโมที โบวาร์ด นักสตัฟฟ์สัตว์ประจำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาในลอสแอนเจลิสเคาน์ตี บอก

นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ผมเดินทางมาชมการแข่งขันสตัฟฟ์สัตว์ระดับโลก (World Taxidermy Championships) ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมในเมืองเซนต์ชาลส์ รัฐมิสซูรี  ด้วยความหวังว่าจะได้พักจากการเขียนเรื่องเกี่ยวกับอาชญากรรมที่หาประโยชน์จากสัตว์ป่ามานานหลายปี   แต่ในงานนี้ผมกลับได้ยินผู้หญิงคนหนึ่งตะโกนใส่เวนดี คริสเตนเซน นักสตัฟฟ์สัตว์ผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ว่า “นั่นผิดกฎหมายชัดๆ!”

ผู้ชมที่กำลังโกรธจัดรายนี้ชี้ไปยังกอริลลาสตัฟฟ์ซึ่งอยู่ในท่านั่ง ขณะที่คริสเตนเซนกำลังจัดแต่งขนรอบๆ นิ้วมืออันใหญ่โตของมัน หญิงคนนั้นตะโกนขึ้นมาว่า “ฉันเคยอยู่ในรวันดา และฉันรู้ว่ากอริลลาเป็นสัตว์สงวน!”

คริสเตนเซนเป็นผู้หญิงที่ดูน่าเกรงขาม เธอเผชิญหน้ากับผู้กล่าวหาด้วยท่าทางสงบเยือกเย็นพร้อมกับอธิบายว่า กอริลลาตัวนี้ชื่อแซมซัน เป็นดาวเด่นของสวนสัตว์มิลวอกีเคาน์ตีมาร่วมสามสิบปีแล้ว หญิงคนนั้นกล่าวขอโทษก่อนจะอ้าปากค้างกับสิ่งที่คริสเตนเซนบอกต่อมาว่า เจ้าสัตว์ที่นำมาสื่อถึงเรื่องราวของแซมซันตัวนี้ไม่มีส่วนประกอบจากกอริลลาจริงๆแม้แต่นิดเดียว

คาร์ล เอกลีย์ คือบิดาแห่งการสตัฟฟ์สัตว์สมัยใหม่ เขาเป็นนักธรรมชาติวิทยาและนักสำรวจ เอกลีย์ยกระดับ การสตัฟฟ์สัตว์จากเทคนิคการหุ้มเบาะหนังซึ่งส่งกลิ่นเหม็นคลุ้ง (ตั้งแต่การถลกหนัง ต้มกระดูก ใช้ลวดมัดกระดูกให้เป็นโครง แล้วยัดเศษผ้ากับฟางเข้าไปในโครงที่หุ้มด้วยหนังสัตว์) ให้กลายเป็นงานศิลปะด้วยตัวคนเดียว

เอกลีย์ขึ้นรูปและปรับแต่งท่วงท่าของสัตว์ให้ดูเป็นธรรมชาติด้วยการใช้ดินเหนียวและเศษกระดาษแปะทับเป็นชั้นๆ (เทคนิคปาปีเย-มาเช) เพื่อถ่ายทอดรูปทรงของกล้ามเนื้อและเส้นเลือดของสัตว์ตัวอย่างด้วยความถูกต้องตามหลักกายวิภาคศาสตร์ชนิดที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน แล้วจึงหุ้มหนังของสัตว์ที่จะสตัฟฟ์ทับลงไป จากนั้นเขาก็รวบรวมชิ้นส่วนต่างๆที่ดูเหมือนจริงแล้วจัดวางเป็นฉากหลังสามมิติเลียนแบบถิ่นอาศัยตามธรรมชาติ

ตรงกลางห้องเอกลีย์ฮอลล์ออฟแอฟริกันแมมมอลส์ (Akeley Hall of African Mammals) ซึ่งเป็นส่วนจัดแสดงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจากทวีปแอฟริกาในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาอเมริกัน มีผลงานของเอกลีย์ที่ชื่อ ดิอลาร์ม (The Alarm) ซึ่งเป็นโขลงช้างแปดตัวจัดแสดงอยู่ ผลงานชิ้นนี้มีอายุร่วมร้อยปี แต่ยังดูน่าตื่นตาตื่นใจ ผู้คนจำนวนไม่น้อยยกย่องว่า งานชิ้นนี้เป็นตัวอย่างการสตัฟฟ์สัตว์ที่ประณีตที่สุดในโลก

อย่างไรก็ตาม งานอีกชิ้นในห้องจัดแสดงแห่งนี้อาจถือได้ว่าเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่สุดของเอกลีย์ นั่นคือ ฉากแสดงกอริลลาภูเขาที่ถูกทีมของเขาฆ่าในคองโกเมื่อปี 1921 สมัยที่ยังเป็นอาณานิคมของเบลเยียม การเดินทางครั้งนั้นเปลี่ยนชีวิตของเอกลีย์ ในเวลาต่อมาเขาสารภาพหลังมองดูร่างไร้ลมหายใจของกอริลลาเพศผู้ว่า “ผมต้องย้ำกับตัวเองอย่างมากว่าทำลงไปในนามของประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นฆาตกร”

เมื่อกลับจากแอฟริกา เอกลีย์กราบทูลหว่านล้อมให้พระเจ้าอัลเบิร์ตที่หนึ่ง กษัตริย์แห่งเบลเยียม ทรงจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์กอริลลาภูเขา อุทยานแห่งชาติอัลเบิร์ตจึงก่อตั้งขึ้นในปี 1925 และเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของแอฟริกา ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ อุทยานแห่งชาติวีรุงกา (Virunga National Park) ความพยายามเหล่านี้ส่งผลให้เอกลีย์เป็นที่ยอมรับในฐานะบิดาแห่งการอนุรักษ์กอริลลา

 

แซมซันเป็นกอริลลาที่ราบตะวันตกจากแคเมอรูนที่ได้รับการเลี้ยงดูดีเกินไปจนมีน้ำหนักตัวถึง 296 กิโลกรัม มันมีชื่อเสียงจากการชอบทุบกระจกกรงขังในสวนสัตว์มิลวอกีเคาน์ตี ซึ่งทำให้ผู้ชมทั้งหวาดผวาและสนุกตื่นเต้นระคนกัน วันหนึ่งเมื่อปี 1981 แซมซันล้มฟุบลงพร้อมกับจับหน้าอกต่อหน้าผู้ชม สัตวแพทย์ประจำสวนสัตว์ไม่สามารถกู้ชีพมันกลับมาได้ การชันสูตรในเวลาต่อมาเผยว่า มันเคยหัวใจล้มเหลวมาแล้วห้าครั้ง

ซากของแซมซันได้รับการเก็บรักษาไว้ในห้องเย็นของสวนสัตว์นานหลายปี เมื่อพิพิธภัณฑ์สาธารณะมิลวอกีได้ครอบครองในท้ายที่สุด เจ้าหน้าที่ก็พบว่าผิวหนังของมันเสียหายเกินกว่าจะสตัฟฟ์ได้ 

เวนดี คริสเตนเซน เป็นเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ที่รู้สึกไม่สบายใจกับเรื่องนี้ เธอเริ่มสตัฟฟ์สัตว์ตั้งแต่อายุ 12 ปี คริสเตนเซนเสนอจะทำให้เจ้าแซมซันฟื้นคืนชีพด้วยวิธีการสตัฟฟ์สัตว์ที่เรียกว่า การสร้างขึ้นมาใหม่ (re-creation) เป็นการสร้างเลียนแบบโดยไม่ต้องใช้สัตว์ต้นแบบหรือแม้กระทั่งสัตว์ชนิดเดียวกัน ในปี 2006 หรือ 25 ปีหลังการตายของแซมซัน คริสเตนเซนก็เริ่มลงมือสร้างแซมซันจำลองขึ้นโดยไม่มีต้นแบบ

คริสเตนเซนหล่อใบหน้าซิลิโคนขึ้นโดยใช้เบ้าปูนปลาสเตอร์ที่หล่อจากใบหน้าของแซมซันตอนที่มันตาย และอาศัยภาพถ่ายอีกหลายพันภาพในการเทียบเคียง  เธอสั่งซื้อโครงกระดูกกอริลลาจำลองและขนปลอมผสมกับขนจามรีจากซัปพลายเออร์เฉพาะทาง 

คริสเตนเซนใช้เวลาหนึ่งปีหลังจากนั้นทำงานบนนั่งร้านที่เปิดให้ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์มองเห็นได้อย่างเต็มที่เธอบรรจงติดขนลงบนใบหน้าและคอของแซมซันที่หล่อจากซิลิโคน ขณะที่เด็กๆถามคำถามมากมาย ส่วนพ่อแม่ก็บอกเล่าถึงความทรงจำแสนสุขที่ได้เห็นกอริลลาตัวนี้สมัยที่ตัวเองยังเป็นเด็ก

กรรมการคนหนึ่งในการแข่งขันสตัฟฟ์สัตว์ระดับโลกครั้งนี้ตั้งข้อสังเกตว่า  ศิลปะการสตัฟฟ์สัตว์ไปไกลเกินไปแล้วหรือไม่  เขาบอกว่า  การล่าสัตว์ที่มีคุณสมบัติยอดเยี่ยมเพื่อคว้ารางวัลจากการประกวดเท่ากับว่า “เรากำลังดึงเอายีนที่ดีที่สุดออกไปจากยีนพูล [gene pool – ยีนทั้งหมดที่มีอยู่ในประชากรในช่วงเวลาหนึ่ง] ซึ่งส่งผลเสียต่อสัตว์ชนิดนั้นๆ

เมื่อคริสเตนเซนพาแซมซันเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ เธอไม่เพียงแข่งกับสัตว์สตัฟฟ์ที่สร้างขึ้นใหม่ด้วยกันเท่านั้น แต่ยังต้องแข่งกับสัตว์สตัฟฟ์ชั้นยอดของโลกที่สร้างจากของจริงอีกด้วย เธอคว้ารางวัลชนะเลิศในการแข่งขันประเภทสร้างขึ้นมาใหม่ นอกจากนี้ ยังคว้ารางวัลขวัญใจกรรมการและรางวัลการจัดแสดงดีเด่น เอาชนะนักสตัฟฟ์สัตว์ระดับโลกที่พาสัตว์สตัฟฟ์ของจริงฝีมือขั้นเทพเข้าร่วมประกวดด้วย

เธอทำทั้งหมดนี้ได้โดยไม่ทำให้ขนกอริลลาจริงๆร่วงแม้แต่เส้นเดียว

เรื่องโดย ไบรอัน คริสตี
สิงหาคม 2558