ผู้เขียน หัวข้อ: พิธีกรรมอำลามหานทีสีมรกต-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 820 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด

ภาพ : พิธีกรรมอำลามหานทีสีมรกต
ภาพโดย : แรนดี โอลสัน
คำบรรยายภาพ : ชนเผ่าเอลโมโลจับปลาตามวิถีดั้งเดิมโดยใช้แหลนและความอดทนในท้องน้ำใกล้ชายฝั่งตะวันออกของทะเลสาบเทอร์แคนา

โครงการพัฒนาทางต้นนํ้าของทะเลสาบเทอร์แคนาอาจทำให้ทะเลสาบแห่งนี้กลายสภาพเป็นแอ่งฝุ่น และทำลายวิถีชีวิตของชนเผ่าในท้องถิ่น



ยามเช้าที่อากาศร้อนวันหนึ่งในฤดูใบไม้ผลิ กัลเต เนียเมโต ยืนอยู่ริมทะเลสาบเทอร์แคนา พลางกวาดสายตามองเพื่อให้แน่ได้ว่าไม่มีจระเข้ป้วนเปี้ยนอยู่แถวนั้น  เนียเมโตผู้เป็นแม่หมอประจำเผ่าดาฮาซานัชมีคนไข้ต้องรักษา และจะเป็นเรื่องอัปมงคลอย่างยิ่งทั้งในแง่จิตวิญญาณและร่างกาย หากพิธีกรรมถูกขัดจังหวะจากสัตว์ที่เชื่อกันว่าเป็นวิญญาณอันชั่วร้าย             

            ห้วงน้ำสีน้ำตาลพลิ้วไหวเป็นระลอกตรงโน้นบ้างตรงนี้บ้างจากปลายปีกของนกฟลามิงโกหรือปลาที่ดำผุดดำว่าย ไม่มีวี่แววของจระเข้ ไม่มีกระทั่งวัวหรืออูฐสักตัว เนียเมโตซึ่งดูพออกพอใจพาหญิงสาวนามเซทีล  กัวโกล  ลงไปในน้ำ  บอกให้นั่งลงและชำระร่างกาย  กัวโกลวักน้ำขึ้นรดใบหน้าและแผ่นหลัง

            ขณะเดียวกัน  แม่หมอเนียเมโตก็ใช้มือตักโคลนข้นๆขึ้นมา  และรีบกอบโคลนที่หยดเป็นทางพอกไปตามแนวสันหลังที่ปูดโปนของกัวโกล

            “บาดับ” (จงไปให้พ้น)  เนียเมโตท่องคำคำนี้ไปด้วยทุกครั้งที่พอกโคลน   เพื่อขับไล่ความตายด้วยวจีกรรมและกายกรรม “ทะเลสาบคือสถานที่ชำระล้าง” นางบอก

            เนียเมโตเป็นที่รู้จักในฐานะแม่หมอผู้เป็นที่พึ่งสุดท้าย   เมื่อวิธีอื่นไร้ผล  ไม่ว่าจะเป็นยาจากคลินิก  พระเจ้าในโบสถ์ของคนขาว  หรือองค์กรสาธารณกุศลในอาคารปูน  ชาวบ้านจะพาความป่วยไข้และความกลัวมาหานาง ส่วนเนียเมโตจะหยิบยื่นความหวังให้คนเหล่านั้นแลกกับเศษเงิน

            “ฉันนี่แหละป้ายสุดท้ายก่อนไปยมโลก” เนียเมโตบอกอย่างนั้น

            เนียเมโตพอกโคลนและล้างตัวให้กัวโกลด้วยสัมผัสของมารดาท่ามกลางแสงแดดแผดเผาในยามเช้า เมื่อพิธีเสร็จสิ้นลง เธอก็พยุงกัวโกลให้ลุกขึ้น ทั้งคู่เดินจับมือกันขึ้นจากน้ำ

            “เราจะไม่มองกลับไป” เนียเมโตบอกอย่างขึงขัง “เราทิ้งวิญญาณชั่วร้ายพวกนั้นไว้ข้างหลังแล้ว”

            ส่วนกัวโกลที่เนื้อตัวสั่นเทิ้มเพราะความหนาว และร่างผอมบางราวต้นอ้อบอกว่า “ฉันเชื่อว่าฉันต้องหายค่ะ”

 

เซลีโชเป็นเมืองเล็กๆ ในภูมิภาคอันห่างไกลที่สุดแห่งหนึ่งของแอฟริกาตะวันออก  แทบจะเรียกได้ว่าตั้งอยู่ทางเหนือสุดของเคนยา  ห่างจากถนนสายหลักที่ใกล้ที่สุดกว่า 400 กิโลเมตร  และเดินอีกไม่เท่าไรก็ถึงชายแดนเอธิโอเปีย  หากหมายจะไขว่คว้าหรือมองหาอะไรสักอย่างที่ให้ความหวัง สิ่งนั้นก็คงอยู่ไม่ไกลจากประตูบ้านของเนียเมโตเท่าไรนัก  และการที่เธอใช้ทะเลสาบในรักษาโรคก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้  ศรัทธาและความหวังอยู่คู่กับสายน้ำที่นี่เป็นธรรมดา  และ ณ ตอนนี้ ทะเลสาบเทอร์แคนาก็หยิบยื่นสิ่งเหล่านี้ให้อย่างโอบอ้อมอารี

            นี่คือทะเลสาบถาวรกลางทะเลทรายที่ใหญ่ที่สุดในโลก และดำรงอยู่ในภูมิภาคนี้มาราวสี่ล้านปีแล้วมีทั้งช่วงเวลาที่แผ่ขยายและหดตัวอยู่ในร่องภูเขาไฟที่ทอดยาวไปตามขอบหุบเขาเกรตริฟต์แวลลีย์ โฮมินินโบราณอาศัยอยู่ริมทะเลสาบแห่งนี้ และมนุษย์ยุคแรกๆก็ล่าสัตว์ เก็บของป่า และจับปลากันที่นี่ขณะเดินทางขึ้นเหนือในการอพยพออกจากแอฟริกาอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อหนึ่งหมื่นปีที่แล้ว ทะเลสาบมีขนาดใหญ่กว่าปัจจุบันหลายเท่า ก่อนจะหดตัวลงเมื่อราว 7,000 ปีก่อน ชนเผ่ายุคหินใหม่ตั้งเสาหินปริศนาไว้บนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ริมชายฝั่ง และทุกวันนี้เนียเมโตเองก็สืบทอดขนบที่หยั่งรากลึกอยู่ในสายน้ำและอาจเก่าแก่มากจนไม่มีใครล่วงรู้ที่มา

            แต่ทะเลสาบเทอร์แคนาก็เปราะบางไม่ต่างจากแหล่งน้ำกลางทะเลทรายอื่นๆ น้ำจืดส่วนใหญ่ของที่นี่หรือคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 90 มาจากแม่น้ำโอโม ปัจจุบัน แผนการพัฒนาขนาดใหญ่ริมสองฝั่งแม่น้ำของรัฐบาลเอธิโอเปีย รวมถึงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดยักษ์ และการผันน้ำไปหล่อเลี้ยงไร่อ้อยที่หิวกระหายจะคุกคามสายน้ำโอโมที่ไหลชั่วนาตาปีและทำให้ทะเลสาบขาดน้ำ ในสถานการณ์เลวร้ายที่สุด ทะเลสาบเทอร์แคนาจะหดตัวและเหือดแห้งไปอย่างช้าๆ นั่นจะทำให้ผู้คนในท้องถิ่นกลายเป็นผู้อพยพจากทุ่งฝุ่นอันกว้างใหญ่ไพศาลของแอฟริกา

            เผ่าของเนียเมโตอยู่ในกลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากโครงการอันทะเยอทะยานของเอธิโอเปีย และพวกเขายังแทบไม่มีปากเสียงที่จะคัดค้าน ดินแดนของชนเผ่าดาฮาซานัชทอดข้ามพรมแดน และยังถูกแบ่งแยกเมื่อกว่าร้อยปีก่อนโดยนักสำรวจที่มุ่งช่วงชิงผลประโยชน์ให้ฝ่ายอังกฤษด้านหนึ่งและจักรวรรดิเอธิโอเปียอีกด้านหนึ่ง การแบ่งแยกนั้นส่งผลให้ชนเผ่าดาฮาซานัชส่วนใหญ่อยู่ในเอธิโอเปีย ขณะที่กลุ่มเล็กกว่ามากอยู่ในเคนยา พวกเขาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทั้งเล็กและอ่อนแอที่สุดกลุ่มหนึ่งของเคนยา

            มีชาวดาฮาซานัชสัญชาติเคนยาอยู่ราว 10,000 คน แต่เพิ่งมีผู้แทนจากการเลือกตั้งคนแรกเมื่อไม่นานนี้ ทว่าเป็นเพียงผู้แทนระดับภูมิภาค ห่างไกลจากรัฐสภาในกรุงไนโรบีชนิดไม่เห็นฝุ่น และอยู่เกือบท้ายแถวเมื่อพูดถึงการได้รับความช่วยเหลือจากทางการ               

            ไมเคิล โมโรโต โลมาลิงกา หัวหน้าเผ่าดาฮาซานัช ตระหนักถึงความเป็นคนชายขอบเกือบจะตั้งแต่ เขาลืมตาดูโลกที่นี่เมื่อราว 60 ปีก่อน  “ทางการไม่นับพวกเราครับ” โมโรโตซึ่งใช้เพียงชื่อกลาง บอก  “ในการสำรวจสำมะโนประชากร  พวกเราจัดอยู่ในกลุ่ม ‘อื่นๆ’ คุณคงพอเข้าใจนะครับว่านี่แหละปัญหา”

            โมโรโตอาศัยอยู่ในเยลเรต หมู่บ้านเลี้ยงแพะฝุ่นตลบไม่ไกลจากเซลีโช บนชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลสาบ เขาก็ไม่ต่างจากหัวหน้าเผ่าอื่นๆในเคนยาที่ได้รับการแต่งตั้งจากทางการ โมโรโตอยู่ในตำแหน่งนี้มาเกือบ 20 ปีแล้วโดยทำหน้าที่คล้ายนายกเทศมนตรีของเมืองเล็กๆ ที่คอยรับเรื่องร้องทุกข์สารพัด แต่เมื่อเดือนเมษายน ปี 2014 หลังภัยแล้งต่อเนื่องยาวนาน โมโรโตต้องเผชิญปัญหาร้ายแรงกว่าทุกเรื่องที่ผ่านมา นั่นคือความขัดแย้งเกี่ยวกับการใช้น้ำ

            ทางตะวันออก ชนเผ่ากับบราต้อนปศุสัตว์เข้ามาหากินในดินแดนของชาวดาฮาซานัช ขณะที่ทางตะวันตก ชนเผ่าเทอร์แคนาข่มขู่คุกคามชาวประมงดาฮาซานัชในทะเลสาบ ทั้งสองเผ่ามีขนาดใหญ่กว่าเส้นสายทางการเมืองดีกว่า  และครอบครองอาวุธผิดกฎหมายมากกว่าชาวดาฮาซานัช

            แต่ในเรื่องนี้ชนเผ่าดาฮาซานัชก็หาได้ซื่อใสไร้เดียงสา  พวกเขามีศักดิ์ศรีและอาวุธ  จึงโต้กลับอย่างหนักหน่วงและบ่อยครั้งก็เป็นฝ่ายก่อเรื่องเสียเอง  โมโรโตในฐานะหัวหน้าเผ่าต้องพยายามป้องปรามไม่ให้โทสะลุกลามจนนำไปสู่วัฏจักรเก่าแก่แห่งการเข่นฆ่าและล้างแค้นซึ่งมักกินเวลาหลายชั่วอายุคน

            “ชาวดาฮาซานัชอย่างเราเป็นคนชายขอบครับ” โมโรโตบอก “สู้กันไปเรามีแต่เสียกับเสีย แถมรัฐบาลยังไม่ช่วยอะไร พวกเขาไม่จัดการกับความขัดแย้งเวลาทุกอย่างสงบ แต่จะลุกขึ้นมาสร้างสันติภาพเฉพาะเวลาเกิดปัญหาเท่านั้น”

            และความขัดแย้งก็ส่อเค้ามาแล้ว  เพราะนอกจากการกระทบกระทั่งอันเป็นปกติวิสัยของเหล่าชนเผ่ากลางทะเลทรายแล้ว  ยังมีเขื่อนกับไร่อ้อยรออยู่   บรรดาผู้นำทางการเมืองในไนโรบีแทบไม่อินังขังขอบแต่โมโรโตรู้ดีว่า  ทะเลสาบที่หดตัวลงจะนำมาซึ่งความรุนแรงมากแค่ไหน


เรื่องโดย นิล ชี
สิงหาคม 2558