ผู้เขียน หัวข้อ: มรดกบาปแห่งสงคราม-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 742 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด

ภาพ : มรดกบาปแห่งสงคราม
ภาพโดย : สตีเฟน วิลก์ส
คำบรรยายภาพ : อาวุธยุทโธปกรณ์ซึ่งบางส่วนเป็นวัตถุระเบิดที่ยังไม่ระเบิด ถูกทำลายในปี 2012 เพื่อทำให้ท้องทุ่งแห่งนี้ปลอดภัย

ลาวเป็นชาติที่ถูกทิ้งระเบิดถล่มมากที่สุดชาติหนึ่งในโลก แต่ก็อาจเป็นชาติที่ทรหดอดทนมากที่สุดชาติหนึ่งในโลกเช่นกัน

ตลอดหลายวันบนทุ่งไหหิน  ผมพยายามเก็บภาพ คิดคำพูดเปรียบเปรย และตกผลึกความคิดที่สามารถสื่อความหมายของความเป็นลาว ชาติที่ถูกทิ้งระเบิดถล่มมากที่สุดชาติหนึ่งในประวัติศาสตร์  แต่สามารถหยัดยืนและก้าวต่อไปจนพบอนาคตอันสดใส สุดท้ายผมพบสิ่งที่ตามหาบนถนนสายหลักอันจอแจในโพนสะหวัน เมืองเอกของแขวงเชียงขวาง นั่นคือเปลือกระเบิดกองมหึมาที่หลงเหลือจากยุทธศาสตร์ทิ้งระเบิดของสหรัฐฯในลาว ถัดจากซากสรรพาวุธกองนั้นมีตู้เอทีเอ็มใหม่เอี่ยมตั้งอยู่ตู้หนึ่ง “สถูปแห่งเงินตรา” สีฟ้าสดตัดกับสีขาวแวววาวตู้นี้ทำให้กองขยะสนิมกรังจากสงครามที่ผู้คนแทบลืมเลือนไปแล้วดูต่ำต้อยด้อยค่าไปถนัดตา ผมเดินไปที่ตู้เอทีเอ็ม เสียบบัตรเดบิตเข้าไป แล้วกดเงินจำนวนหนึ่งล้านกีบ หรือราว 120 ดอลลาร์สหรัฐออกมา ธนบัตรใบละ 50,000 กีบทั้งหมดที่คายออกมาจากตู้บอกเล่าเรื่องราวสดใหม่ของประเทศลาว ที่ซึ่งยุคสมัยแห่งลูกระเบิดหลีกทางให้ยุคแห่งเงินตรา

ผู้คนในแขวงเชียงขวางเคยใช้ชีวิตหลบๆซ่อนๆในถ้ำและอุโมงค์อยู่นานหลายปี ทุกวันนี้ โพนสะหวันเป็นเมืองคึกคักถึงขนาดต้องมีไฟจราจรพร้อมจอดิจิทัลบอกให้คนเดินเท้ารู้ว่ามีเวลาข้ามถนนกี่วินาที สองฟากถนนเรียงรายไปด้วยร้านรวง ธนาคาร ร้านอาหาร และตลาด  สิ่งที่อยู่เคียงคู่บรรดาคนโทหินขนาดใหญ่อันโด่งดังแห่งทุ่งไหหินซึ่งจุดประสงค์ในการสร้างยังเป็นปริศนาสำหรับนักโบราณคดี คือเศษซากจากสงครามทางอากาศของสหรัฐฯ ที่ยืดเยื้อตั้งแต่ปี 1964 จนถึงปี 1973  ซากอดีตเหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว  กองเปลือกระเบิดกองนั้นตั้งอยู่หน้าสำนักงานการท่องเที่ยวของท้องถิ่น

ด้วยภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนคล้ายลูกระนาดสลับกับที่ราบและทุ่งหญ้า บางส่วนของทุ่งไหหินจึงดูละม้ายสนามกอล์ฟขนาดมหึมา บ่อทรายหลายแห่งเกิดจากห่าระเบิดที่ทิ้งลงมา  นับล้านๆลูกที่ระเบิดตูมตาม ขณะที่อีกหลายล้านลูกไม่ระเบิดและกลายเป็นภัยถาวร  โดยเฉพาะต่อชาวไร่ชาวนาและชาวบ้านที่เลี้ยงปากท้องด้วยการเก็บกู้เศษโลหะมีค่าจากลูกระเบิดด้าน

 

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวซึ่งมีประชากรไม่ถึงเจ็ดล้านคน แต่ปัจจุบันมีโทรศัพท์มือถือแล้วเกือบห้าล้านเครื่อง  ที่บ้านปากอู  หมู่บ้านทางภาคเหนือริมฝั่งแม่น้ำโขง  ชาวประมงพากันยืนนิ่งไม่ไหวติงบนเรือลำเล็กที่เห็นเป็นเงาดำในแสงสีอำพัน ผืนน้ำรอบๆทอประกายระยิบระยับ ภาพนั้นดูเหมือนภาพเมื่อหลายร้อยปีก่อน เว้นแต่ว่าชายแต่ละคนกำลังใช้โทรศัพท์มือถือพูดคุยไปด้วยระหว่างหาปลา

ในอดีต กรุงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาว  เป็นเมืองเล็กๆที่ไม่ค่อยเป็นระเบียบ  ปัจจุบันกลายเป็นเมืองใหญ่ที่ยังคงไร้ระเบียบ  เมื่อก่อนเคยปกคลุมด้วยความเงียบ  สอดแทรกด้วยเสียงฝน  เสียงร้องไห้กระจองอแงของเด็กน้อย เสียงหัวเราะของผู้คน และเสียงพระสวดมนต์ ทุกวันนี้ ทุกสิ่งเกิดขึ้นท่ามกลางความอึงอลของเสียงเครื่องปรับอากาศครางหึ่งๆ เสียงเครื่องปั่นไฟ เสียงรถเครื่อง และเสียงแตรรถบาดแก้วหู

เศรษฐกิจลาวกำลังอยู่ในช่วงเติบโตเกือบร้อยละแปดต่อปี  ธงของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว (Lao People’s Revolutionary Party) ที่มีรูปค้อนเคียวตามแบบโซเวียต  ยังคงปลิวไสวอยู่เคียงค้างธงชาติ แต่เหล่าผู้นำรัฐบาลบัดนี้ กลับมีบทบาทต่างไปจากเดิม นั่นคือเป็นผู้ผลักดันการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี (ASEAN Economic Community: AEC) ลาวตั้งเป้าว่าจะต้องไต่ให้พ้นจากบัญชีรายชื่อประเทศพัฒนาน้อยที่สุดขององค์การสหประชาชาติให้ได้ภายในปี 2020

ในลาว คนรวยยิ่งรวยมากขึ้น และแม้แต่ในพื้นที่ห่างไกลที่สุด  ท่ามกลางผู้คนที่อ่อนน้อมถ่อมตนที่สุด ผมยังพบช่องทางเข้าถึงความเป็นไปได้ต่างๆของโลกภายนอกที่ไม่มีใครนึกฝันถึงก่อนหน้านี้  ในลาวตอนกลางใกล้ชายแดนเวียดนาม  ผมเห็นชายหนุ่มคนหนึ่งบึ่งมอเตอร์ไซค์กลับบ้านพร้อมจานดาวเทียบหนีบอยู่ใต้แขน  ตามหมู่บ้านบนเขา ผมเห็นกลุ่มเด็กนักเรียนในชุดเครื่องแบบสีขาว-น้ำเงิน และยังเห็นศาสนสถานต่างๆได้รับการปฏิสังขรณ์ซึ่งแน่นอนว่ามีวัดในพุทธศาสนา  และยังมีศาลพระภูมิเจ้าที่ต่างๆอยู่เป็นจำนวนมากด้วย รวมทั้งโบสถ์คริสต์อีกสองสามแห่ง คุณยังเห็นพระห่มจีวรอยู่ทุกหนแห่ง เพียงแต่เดี๋ยวนี้ท่านอาจหิ้วกระเป๋าคอมพิวเตอร์แทนการสะพายย่ามกันบ้างแล้ว

                แม่น้ำโขงยังคงไหลผ่านเวียงจันทน์   แต่พื้นที่ริมสองฝั่งน้ำแปรเปลี่ยนไปแล้ว  จากที่เคยเป็นตลิ่งดินเลนสลับกับท่าทราย  เดี๋ยวนี้กลายเป็นลานคนเดินน่ารื่นรมย์ความยาวราวสามกิโลเมตร ครบครันด้วยเครื่องออกกำลังกายกับทางวิ่ง ทุกเย็นผู้คนมารวมตัวกันที่นี่  นักดนตรีบรรเลงเพลง  ครูสอนออกกำลังกายนำคนออกกำลัง ขณะดวงอาทิตย์อัสดงของเมืองร้อนค่อยๆเร้นกายฝากริ้วสลัวลางทาบทาขอบฟ้า  แล้วความครึกครื้นก็กลับมีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้งด้วย  แสงสว่างจากหลอดนีออนบนรถเข็นของพ่อค้าแม่ขาย และแสงไฟวูบไหวจากไฟหน้าของรถมอเตอร์ไซค์

เช่นเดียวกับเกือบทุกสิ่งในลาว  สวนสาธารณะริมน้ำแห่งนี้บอกเล่าเรื่องราวลึกลงไปใต้รูปลักษณ์ภายนอก  นั่นคือชัยชนะของการวางผังเมืองเพื่อประโยชน์ของประชาชน  อันที่จริง  ลานที่ว่านี้เป็นแนวเขื่อนกั้นน้ำขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเพื่อป้องกันเมืองหลวงจากน้ำท่วม  และข้อเท็จจริงที่ว่าใครเป็นผู้สร้างก็เผยเรื่องราวลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง กล่าวคือ  งบประมาณส่วนใหญ่มาจากเงินกู้ที่รัฐบาลเกาหลีใต้เสนอให้ ปัจจุบัน ประเทศต่างๆในเอเชียต่างยื่นมือให้ความช่วยเหลือแก่ลาว มากกว่าที่มหาอำนาจตะวันตกเคยหยิบยื่นให้ในอดีต

ตลอดช่วงเวลาที่ฝรั่งเศสและสหรัฐฯ ครอบงำลาว ทั้งสองประเทศไม่เคยสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงเลยแม้ สักแห่งเดียว ทุกวันนี้ลาวมีสะพานสวยหรูทอดข้ามแม่น้ำโขงถึงหกแห่ง หนึ่งในนั้นอยู่ที่เมืองท่าแขกซึ่งเป็นจุดที่มีระยะทางเชื่อมต่อจากลาวไปยังเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตของไทยและเวียดนามสั้นที่สุด  นั่นคือเพียง 145 กิโลเมตร จากท่าแขก ผมมองเห็นไทยได้จากหน้าต่างโรงแรมระหว่างชมรายการ เวียดนามไอดอล ทางทีวี

                ยุคสมัยแห่งการเชื่อมโยงถึงกันอย่างสันติยุคใหม่นี้เผยให้เห็นผ่านใบหน้าของผู้คนทุกหนแห่งที่คุณไปถึง รูปร่างหรือเค้าโครงของการเชื่อมโยงถึงกันยังสามารถมองเห็นได้จากทางอากาศ ขณะบินอยู่เหนือแม่น้ำโขงจากแขวงสะหวันนะเขต คุณจะเห็นสะพานใหญ่อีกสะพาน [สะพานมิตรภาพไทย-ลาว] ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งผู้คนและผลิตภัณฑ์ต่างๆทั้งเข้าและออกจากลาว เลยสะพานนี้ขึ้นไปทางต้นน้ำเพียงเล็กน้อย คุณจะเห็นเสาไฟฟ้าแรงสูงต้นสูงเท่าตึกระฟ้านำส่งไฟฟ้าซึ่งลาวส่งออกไปยังอีกฟากของแม่น้ำโขง

เรื่องโดย ที. ดี. ออลแมน
สิงหาคม 2558