ผู้เขียน หัวข้อ: จุดหมาย ณ ดาวพลูโต-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 820 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด

ภาพ : จุดหมาย ณ ดาวพลูโต
ภาพโดย : Art by Dana Berry
คำบรรยายภาพ : เมื่อถึงกลางเดือนกรกฎาคม ยานนิวฮอไรซันส์ขององค์การนาซาจะเดินทางรวมแล้วราวห้าพันล้านกิโลเมตร และจะผ่านดาวพลูโตที่ระยะ 12,500 กิโลเมตร ดังแสดงให้เห็นในรูปประกอบนี้พร้อมกับดวงจันทร์คารอน บริวารขนาดใหญ่ที่สุดในจำนวนห้าดวงที่เรารู้จัก

ในเดือนนี้ ยานนิวฮอไรซันส์ขององค์การนาซาจะเข้าใกล้ดาวเคราะห์แคระในตำนาน อดีตสมาชิกดวงที่เก้าแห่งระบบสุริยะ

เล็ก เย็น และไกลเหลือเชื่อ ดาวพลูโตหวงความลับของตัวเองมาแต่ไหนแต่ไร ตั้งแต่ถูกค้นพบเมื่อปี 1930 ดาวเคราะห์แคระดวงนี้ก็โคจรไปไกลเกินเอื้อม พื้นผิวน้ำแข็งของมันดูรางเลือน ลึกลับ กระทั่งกล้องโทรทรรศน์ทรงพลังที่สุดก็ยังมองไม่ชัด เรารู้เกี่ยวกับดาวพลูโต แต่ไม่รู้จักมันอย่างถ่องแท้

นั่นจะเปลี่ยนไปในวันที่ 14 กรกฎาคมปีนี้ เมื่อยานนิวฮอไรซันส์ขององค์การนาซามีกำหนดจะบินไปถึงระยะ 12,500 กิโลเมตรจากดาวพลูโต  ถ้าทุกอย่างเป็นไปด้วยดี  การเผชิญหน้าเพียงชั่วครู่จะเผยโฉมพิภพดวงสุดท้ายที่ยังไม่เคยมีการสำรวจในระบบสุริยะ  ในที่สุด  เราจะได้ยลโฉมพื้นผิวของดาวพลูโตและของคารอน (Charon) ดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดของมัน  แม้นักวิทยาศาสตร์จะคาดเดาไว้บ้างแล้วว่าจะพบอะไรที่นั่น แต่สิ่งเดียวที่พวกเขาบอกได้เต็มปากเต็มคำคือดาวพลูโตต้องมีอะไรให้เราประหลาดใจแน่

 “ดาวพลูโตที่อยู่ในความนึกฝันของเราจะปลิวหายไปเหมือนควันครับ” อลัน สเติร์น หัวหน้านักวิจัยของโครงการนิวฮอไรซันส์ บอก

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ดาวพลูโตเล่นตลกกับความคาดหวัง ย้อนหลังไปเมื่อปี 2006 ซึ่งเป็นปีที่ยานนิวฮอไรซันส์ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ  ดาวพลูโตก็หลุดจากบัญชีดาวเคราะห์ และปรากฏโฉมใหม่ในฐานะ “ดาวเคราะห์แคระ” (dwarf planet) ความจริงก็คือดาวพลูโตเป็นเทห์ฟ้าหรือวัตถุท้องฟ้าที่เข้าใจยากมาตั้งแต่ก่อนหน้าถูกค้นพบเสียอีก

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1840 การคำนวณอันพิสดารทำนายถึงความมีอยู่ของดาวเคราะห์ที่ไกลกว่าดาวเนปจูน เพราะเมื่อใช้มวลดาวเนปจูนเป็นฐาน วงโคจรของดาวเนปจูนและดาวยูเรนัสดูจะไม่เป็นไปตามแนวโคจรที่คำนวณได้ ดังนั้นนักดาราศาสตร์บางคนจึงเสนอว่า ดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ที่ยังค้นไม่พบอย่างน้อยหนึ่งดวงที่ขอบระบบสุริยะคือตัวรบกวน ทำให้ดาวน้ำแข็งยักษ์ทั้งสองโคจรรอบดวงอาทิตย์ผิดเพี้ยนไปจากเส้นทางที่ควรจะเป็น

เมื่อย่างเข้าสู่ศตวรรษใหม่ การตามล่าดาวเคราะห์ที่หายไปยิ่งคึกคัก เพอร์ซิวัล โลเวลล์ ผู้ดีเก่าจากเมืองบอสตัน เรียกมันว่า “ดาวเคราะห์เอกซ์” ชายผู้นี้ลงมือค้นหาอย่างจริงจัง เขาถึงกับสร้างหอดูดาวส่วนตัวไว้ใช้ที่เมืองแฟลกสแตฟฟ์ รัฐแอริโซนา และในปี 1905 หอดูดาวแห่งนี้ก็กลายเป็นศูนย์กลางการค้นหาดาวเคราะห์เอกซ์ โลเวลล์คำนวณซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อกำหนดตำแหน่งที่อาจเป็นไปได้ แต่เขาเสียชีวิตลงเสียก่อนเมื่อปี 1916 โดยที่ยังไม่ทันรู้ว่าดาวเคราะห์เอกซ์มีอยู่จริง

ตัดเวลาข้ามไปถึงปี 1930 บ่ายคล้อยวันหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ ไคลด์ ทอมบอก์ วัย 24 ปี นั่งในที่ประจำของเขาที่หอดูดาวโลเวลล์ ทอมบอก์ผู้มีพื้นเพมาจากท้องไร่ของรัฐแคนซัส ได้รับมอบหมายให้หาดาวเคราะห์แสนกลของโลเวลล์ เขาไม่เคยเรียนดาราศาสตร์ แต่หัดสร้างกล้องโทรทรรศน์เอง

ทอมบอก์ใช้เวลาราวหนึ่งปีค้นหาดาวเคราะห์เอกซ์ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า เครื่องวัดเทียบกะพริบ (blink comparator) ผู้ใช้งานเครื่องจักรจอมอึกทึกนี้จะพลิกภาพถ่ายท้องฟ้าที่เปิดรับแสงเป็นเวลานานสองภาพกลับไปกลับมาภาพแต่ละภาพที่ถ่ายห่างกันหลายวันในบริเวณเดียวกันมักมีดาวหลายแสนดวง สิ่งใดที่เคลื่อนที่ในช่วงหลายวันนั้น เช่น ดาวเคราะห์หรือดาวเคราะห์น้อย จะดูเหมือนขยับได้ขณะภาพถูกพลิกไปมา

บ่ายคล้อยวันนั้นซึ่งตรงกับวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ทอมบอก์นั่งจ่อมอยู่กับเครื่องวัดเทียบ หรี่ตาดูดาวนับพันดวงและประเมินแต่ละดวงด้วยสายตา ทันใดนั้น ในภาพที่ถ่ายห่างกันหกวันในเดือนมกราคม เขาเห็นจุดแสงเล็กๆที่ไม่อยู่นิ่ง ในภาพแรกจุดอยู่ทางซ้ายของดาวสว่างสองดวง ในภาพถัดไปมันกระโดดไปอยู่ทางขวาของดาวสองดวงนั้นสองสามมิลลิเมตร ทอมบอก์พลิกสองภาพกลับไปกลับมาและดูจุดแสงกระโดดไปมาจากตำแหน่งตั้งต้น เขาคว้าไม้บรรทัดมาวัดระยะห่างของทั้งสองตำแหน่งอย่างแม่นยำ แล้วหาภาพถ่ายท้องฟ้าบริเวณนั้นที่ถ่ายก่อนหน้าในเดือนมกราคมเช่นกันมาค้นหาตำแหน่งเดิม สุดท้ายเขาส่องแว่นขยายเพื่อยืนยันจุดที่อาจเป็นดาวเคราะห์ในภาพถ่ายอีกชุดหนึ่งด้วย

เขาพบดาวเคราะห์เอกซ์เข้าให้แล้ว

หอดูดาวโลเวลล์ต้องคิดหาชื่อให้ดาวเคราะห์ดวงใหม่อย่างกะทันหัน จดหมายหลายร้อยฉบับหลั่งไหลเข้ามา  เด็กหญิงชาวอังกฤษวัย 11 ขวบชื่อ เวนีเชีย เบอร์นีย์ เสนอชื่อมาง่ายๆว่า “พลูโต” ตามชื่อเทพเจ้าแห่งปรโลกของโรมัน นับเป็นชื่อที่มืดหม่นเหมาะกับดาวเคราะห์ ณ ชายขอบแห่งอนธการ และเข้ากับขนบการตั้งชื่อดาวเคราะห์ตามชื่อเทพเจ้าพอดี ด้วยเหตุนี้ พอถึงวันที่ 1 พฤษภาคม หอดูดาวโลเวลล์จึงประกาศว่า ดาวเคราะห์เอกซ์จะได้ชื่อว่า “พลูโต”

ยานนิวฮอไรซันส์ซึ่งถูกส่งขึ้นจากแหลมคะแนเวอรัลในรัฐฟลอริดา  บินข้ามระบบสุริยะด้วยความเร็วเฉลี่ยเกือบ 1.6 ล้านกิโลเมตรต่อวัน ใช้เวลาปีกว่าก็ไปถึงดาวพฤหัสบดี แล้วอาศัยความโน้มถ่วงของดาวเคราะห์ยักษ์ดวงนั้นเร่งความเร็วจนประหยัดเวลาเดินทางไปได้เกือบสี่ปี แต่ยานก็ยังต้องเดินทางไปอีกแปดปีกว่าจะถึงอดีตดาวเคราะห์อย่างพลูโต

เพื่อรู้จักดาวพลูโตอย่างถ่องแท้ เราต้องไปที่นั่น แล้วจ้องมองโลกนั้นจากประตูทางเข้า เราต้องใช้เวลาถึง 85 ปี แต่ในที่สุดเรากำลังจะไปกระทบไหล่กับดาวเคราะห์แคระเจ้าปัญหาของทอมบอก์กันแล้ว อีกนัยหนึ่ง ตัวเขาเองก็จะไปเช่นกัน ยานนิวฮอไรซันส์มีหลอดแก้วเล็กๆบรรจุอังคารของทอมบอก์ติดไปด้วย ประหนึ่งเป็นทูตเชิงสัญลักษณ์ที่จะบินผ่านดาวพลูโต มุ่งหน้าสู่แถบไคเปอร์ และบางทีอาจตามล่าโลกเล็กๆไว้สำรวจอีกสักใบ

เรื่องโดย นาเดีย เดรก
กรกฎาคม 2558