ผู้เขียน หัวข้อ: แกะรอยไวรัสมฤตยู-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 833 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
วิกฤติการณ์ที่เกิดจากเชื้ออีโบลาไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ติดตามนักแกะรอยไวรัสที่มุ่งสืบหาแหล่งกบดานของไวรัส

ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า ย้อนหลังไปเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2013 เด็กชายตัวเล็กๆที่ล้มป่วยในหมู่บ้านเมเลียงดูในประเทศกินี จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโรคระบาดอันน่าสะพรึงกลัวที่ไม่เพียงสร้างความสูญเสียมหาศาลให้สามประเทศในแอฟริกา  แต่ยังก่อให้เกิดความหวาดกลัวและความวิตกกังวลไปทั่วโลก

ไม่มีใครนึกฝันว่า การตายของเด็กน้อยจะเป็นการเสียชีวิตรายแรกของอีกหลายพันชีวิตที่จะตามมา เด็กชายผู้มีชื่อว่า เอมีล อูอามูโน มีอาการชัดเจน ทั้งไข้สูง ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ และอาเจียน แต่อาการเหล่านี้อาจเป็นการสำแดงของอีกหลายๆโรค รวมถึงมาลาเรีย แต่ไม่นานหลังจากนั้น พี่สาวของเด็กก็เสียชีวิตลง ตามมาด้วยแม่และยาย หมอตำแยและพยาบาลประจำหมู่บ้าน โรคติดต่อแพร่จากเมเลียงดูไปยังหมู่บ้านอื่นๆทางตอนใต้ของกินี นี่เป็นช่วงเวลาเกือบสามเดือนก่อนที่คำว่า “อีโบลา” จะผุดขึ้นในอีเมลที่ส่งโต้ตอบระหว่างกินีและโลกภายนอก

หน่วยงานด้านสาธารณสุขในกรุงโกนากรี เมืองหลวงของกินี และนักตามรอยไวรัสจากต่างประเทศไม่ได้อยู่ที่หมู่บ้านเมเลียงดูตอนที่เอมีล อูอามูโน เสียชีวิต ถ้าพวกเขาอยู่ที่นั่นและรู้ว่าเด็กชายเป็นคนไข้รายแรกจากการระบาดของไวรัสอีโบลา พวกเขาอาจมีเวลาพอในการหาคำตอบของปริศนาที่สำคัญอย่างยิ่ง นั่นคือ เด็กชายล้มป่วยได้อย่างไร เด็กไปทำอะไรมา ไปสัมผัสอะไร และกินอะไรเข้าไป

เรื่องชวนพิศวงที่สุดเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับไวรัสอีโบลา หลังจากปรากฏตัวและเป็นที่รู้จักครั้งแรกเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน คือการที่ไวรัสจะหายไปนานคราวละหลายปี หลังการระบาดเมื่อปี 1976 ในบริเวณที่เคยเป็นประเทศ ซาอีร์ (สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในปัจจุบัน) และการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใกล้ชิดซึ่งเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันทางตอนใต้ของประเทศซูดานในขณะนั้น (ปัจจุบันคือสาธารณรัฐเซาท์ซูดาน) การระบาดของอีโบลาทั้งใหญ่และเล็กก็เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว แต่มีอยู่ช่วงเวลาหนึ่งซึ่งนานถึง 17 ปี  (1977 ถึง 1994) ที่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากไวรัสอีโบลาเลยแม้สักรายเดียว

เชื้อไวรัสไม่สามารถอยู่รอดได้นานหรือแพร่พันธุ์ได้เลย ถ้าอาศัยอยู่นอกร่างกายสิ่งมีชีวิต ซึ่งหมายความว่าไวรัสต้องการตัวถูกเบียน (host) หรือสัตว์รังโรค ซึ่งได้แก่สัตว์ พืช รา หรือเชื้อโรค อย่างน้อยหนึ่งชนิด ขอเพียงแค่ร่างกายของสิ่งมีชีวิตนั้นมีสภาพแวดล้อมและกลไลภายในเซลล์ที่ไวรัสสามารถใช้ประโยชน์ในการขยายพันธุ์ได้ ไวรัสอันตรายบางชนิดหลบซ่อนอยู่ในสัตว์และแพร่เข้าสู่มนุษย์ในบางโอกาส พวกมันทำให้เกิดโรคที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า ซูโนซิส (zoonosis) หรือโรครับจากสัตว์ อีโบลาเป็นโรครับจากสัตว์ที่นับว่าอันตรายและซับซ้อนมาก เชื้อนี้คร่าชีวิตเหยื่อที่เป็นมนุษย์ได้ในเวลาไม่กี่วัน และทำให้อีกหลายคนมีอาการปางตาย ก่อนที่มันจะหายไปอย่างลึกลับในช่วงท้ายของการระบาด ไวรัสมฤตยูนี้ไปซ่อนตัวอยู่ที่ไหนระหว่างการระบาดแต่ละครั้ง

ที่แน่ๆไม่ใช่ในชิมแปนซีหรือกอริลลา การศึกษาในภาคสนามเผยว่า อีโบลาคร่าชีวิตพวกมันบ่อยครั้งเช่นกัน ชิมแปนซีและกอริลลาล้มตายเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาเดียวกัน และใกล้แหล่งที่พบการระบาดในมนุษย์ และยังมีการตรวจพบร่องรอยไวรัสอีโบลาในซากชิมแปนซีและกอริลลาบางซาก อันที่จริง การกินซากเอปเป็นอาหารเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ติดเชื้ออีโบลาได้โดยตรง ด้วยเหตุนี้ จึงมีโอกาสน้อยมากที่เอปในแอฟริกาจะเป็นแหล่งรังโรคของเชื้ออีโบลา ไวรัสโจมตีและสังหารพวกมัน อีโบลาต้องซ่อนตัวอยู่ที่อื่นเป็นแน่

ไวรัสก่อโรครับจากสัตว์จะอาศัยอยู่ในสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ตัวถูกเบียนเก็บเชื้อ (reservoir host) หรือสัตว์รังโรคได้เป็นเวลานานโดยมักไม่ทำให้เกิดอาการใดๆ ลิงเป็นสัตว์รังโรคของไวรัสไข้เหลือง ค้างคาวกินผลไม้เอเชียในสกุล Pteropus   เป็นสัตว์รังโรคของไวรัสนิปาห์ (Nipah virus)  ที่สังหารผู้คนในมาเลเซียไปกว่าร้อยชีวิตระหว่างการระบาดเมื่อปี 1998 ถึง 1999 การเดินทางของไวรัสจากสัตว์รังโรคไปยังสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นนี้เรียกว่าการแพร่กระจายของโรค (spillover)

ในกรณีของอีโบลา ถ้าคุณได้ยินมาว่า ค้างคาวกินผลไม้เป็นสัตว์รังโรค นั่นคือการคาดคะเนที่คลาดเคลื่อนซึ่งคนตีความว่าเป็นข้อเท็จจริง  แม้นักวิทยาศาสตร์จะพยายามอย่างหนักมาตลอด แต่ยังไม่เคยมีใครแกะรอยอีโบลาไปจนถึงแหล่งที่อยู่ในป่าได้สำเร็จเลย

“ไวรัสอยู่ที่ไหนกันตอนที่ไม่ได้ทำให้คนติดเชื้อ” คาร์ล เอ็ม. จอห์นสัน พูดกับผมเมื่อไม่นานมานี้ จอห์นสันเป็นนักวิทยาไวรัสคนสำคัญ และเป็นผู้บุกเบิกงานวิจัยเกี่ยวกับอีโบลา เขาเป็นหัวหน้าคณะทำงานนานาชาติเพื่อต่อต้านการระบาดครั้งแรกเมื่อปี 1976 ที่ประเทศซาอีร์ และยังเป็นผู้นำทีมที่ระบุเชื้อไวรัสในห้องปฏิบัติการของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือซีดีซี (Centers for Disease Control and Prevention: CDC)   ซึ่งทำให้โลกรู้ว่านี่เป็นไวรัสชนิดใหม่และได้รับการตั้งชื่อตามลำน้ำสายเล็กๆในซาอีร์ที่ชื่อแม่น้ำอีโบลา

ต่อมาในเดือนเมษายน ปี 2014 ไม่นานหลังข่าวผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากการติดเชื้ออีโบลาทางตอนใต้ของกินีแพร่สะพัดออกไป ฟาเบียน เลนเดิร์ทซ์ ก็ไปถึงที่นั่นพร้อมทีมนักวิจัย เลนเดิร์ทซ์เป็นนักนิเวศวิทยาเชื้อโรคชาวเยอรมันและสัตวแพทย์จากสถาบันโรแบร์ตค็อกในกรุงเบอร์ลิน ผู้ศึกษาโรครับจากสัตว์ที่ทำให้สัตว์ป่าล้มตายในไอวอรีโคสต์ที่ซึ่งเขาทำงานด้านโรคระบาดในชิมแปนซีและสัตว์อื่นๆ อยู่นานถึง 15 ปีโดยปักหลักอยู่ที่อุทยานแห่งชาติตาอี

เขานำเครื่องมือและคณะทำงานมาเต็มสามคันรถ พร้อมคำถามสองข้อที่ว่า ชิมแปนซีหรือสัตว์ป่าอื่นๆล้มตายในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้หรือไม่ ซึ่งจะทำให้คนที่ชอบบริโภคเนื้อเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากซากสัตว์ หรือบางทีอาจเป็นการติดต่อโดยตรงจากสัตว์รังโรคของอีโบลา ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ชนิดใดก็ตาม มายังเหยื่อรายแรกที่เป็นมนุษย์หรือไม่ ในตอนนั้น เลนเดิร์ทซ์ยังไม่รู้เรื่องของเด็กชายเอมีล อูอามูโน ทีมของเขาพูดคุยกับเจ้าหน้าที่และคนในท้องถิ่น และเดินสำรวจป่าสงวนสองแห่ง แต่ไม่พบร่องรอยหรือหลักฐานทางกายภาพของการตายที่น่าสงสัยในหมู่ชิมแปนซีหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่อื่นๆเลย ต่อมา พวกเขาจึงเบนความสนใจไปที่หมู่บ้านเมเลียงดู  พูดคุยกับชาวบ้านที่นั่น  และได้ยินเรื่องราวที่น่าสนใจมากเกี่ยวกับโพรงไม้ที่เต็มไปด้วยค้างคาวขนาดเล็กซึ่งกินแมลงเป็นอาหาร ทีมของเลนเดิร์ทซ์ให้ชาวบ้านดูรูปและอธิบายเพื่อให้แน่ใจว่า ชาวบ้านกำลังพูดถึงค้างคาวปากย่นแองโกลา (Mops condylurus)  ค้างคาวเหล่านี้อาศัยอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากในโพรงขนาดใหญ่ของต้นไม้ต้นหนึ่งที่ยืนต้นอยู่ข้างทางเดินใกล้หมู่บ้าน เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านั้น มีคนเผาต้นไม้ต้นนั้นเพื่อเก็บน้ำผึ้ง และทำให้เกิดสิ่งที่ชาวบ้านเรียกว่า “ห่าฝนค้างคาว”

ชาวบ้านยังบอกกับทีมของเลนเดิร์ทซ์ด้วยว่า เด็กๆในหมู่บ้านซึ่งบางทีอาจรวมถึงเอมีล อูอามูโน ชอบเข้าไปเล่นในโพรง และบางครั้งก็จับค้างคาวเล่น และเผลอๆ อาจเอามาเสียบไม้ย่างกินกันด้วย

“ผมเลยเริ่มถือหลอดกับช้อนวิ่งไปทั่วเพื่อเก็บตัวอย่างดินจากใต้ต้นไม้ต้นนั้น” เลนเดิร์ทซ์บอกผมพอกลับไปถึงเบอร์ลิน การเรียงลำดับยีนยืนยันว่า มีค้างคาวปากย่นแองโกลาอยู่จริง ค้างคาวกินแมลงชนิดนี้จึงมีรายชื่ออยู่ในทำเนียบผู้ท้าชิงตำแหน่งการเป็นสัตว์รังโรคของอีโบลา  แทนที่ค้างคาวกินผลไม้ ทว่าคำตอบสุดท้ายที่ว่า สัตว์อะไรเป็นรังโรคของเชื้ออีโบล่ากันแน่ ยังต้องอาศัยเวลาและการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

เรื่องโดย เดวิด ควาเมน
กรกฎาคม 2558