ผู้เขียน หัวข้อ: สงครามยาเสพติด-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 1068 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด

ภาพ : สงครามยาเสพติด
ภาพโดย : วินัย ดิษฐจร
คำบรรยายภาพ : สาวประเภทสองคนนี้กำลังสูดไอระเหยจากการเผายาบ้า ซึ่งเป็นยาเสพติดที่ระบาดมากที่สุดในประเทศไทย แม้ที่ผ่านมา รัฐบาลทุกยุคสมัยจะประกาศให้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ แต่ “สงครามยาเสพติด” ยังคงยืดเยื้อและไม่ทีท่าจะปิดฉากลงง่ายๆ

สงครามย่อมต้องมีผู้แพ้และผู้ชนะ เราจะเป็นผู้ชนะหรือผู้แพ้ในสงครามอันยาวนานกับยาเสพติด

กลางดึกที่ร้อนอบอ้าวคืนหนึ่งของเดือนเมษายน  เป็นเวลาที่ผู้คนต่างหลับใหล  ร้านรวงและผับบาร์ปิดบริการไปนานแล้ว แต่ผมยังกระสับกระส่ายไม่อาจข่มตาหลับ ผมนอนเงี่ยหูฟังเสียงเพลงแผ่วๆที่ดังแว่วมาจากที่ไหนสักแห่ง เป็นบทเพลง Desperado ของวง The Eagles  เพลงหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อชีวิตช่วงวัยรุ่นของผม

                “…เจ้าคนกล้าบ้าบิ่นเอย เจ้าไม่มีทางย้อนเวลากลับไปอย่างเดิมได้หรอก ความเจ็บปวดที่เจ้าได้รับ ความหิวโหยที่เจ้าประสบ น่าจะทำให้เจ้ายอมรับสภาพได้เสียที...”

                ด้วยเหตุบังเอิญบางอย่าง ทำให้ครั้งหนึ่งในชีวิต ผมได้เข้าไปสังเกตการณ์ในเรือนจำกลางคลองเปรมเป็นระยะ เวลาสั้นๆ ผู้ต้องขังที่นั่นส่วนใหญ่ถ้าไม่ต้องคดียาเสพติด ก็มักมีส่วนเข้าไปพัวพันกับยาเสพติด ผมได้เห็นภาพอันน่าสลดหดหู่ และความเวทนาต่อเพื่อนมนุษย์ จนรู้สึกว่าชีวิตในวังวนขบวนการค้ายาเสพติดของพวกเขาเหมือนถูกล่ามด้วยพันธนาการที่แข็งแกร่งยิ่งกว่าห้องขังใดๆในโลก เสียงเพลงในค่ำคืนนั้นและผู้คนในเรือนนอนหลังนั้นคอยติดตามและย้ำเตือนในอีกหลายปีต่อมา  ผมจึงเริ่มบันทึกวังวนและเรื่องราวชีวิตของพวกเขาผ่านภาพถ่าย

                ย้อนหลังไปกว่า 20 ปีก่อน ระหว่างที่ผมตามติดชีวิตของเด็กเร่ร่อนและคนไร้บ้าน เพื่อบันทึกภาพให้กับสื่อมวลชนสำนักหนึ่ง ผมได้เห็นชีวิตริมถนนหรือในชุมชนแออัดที่มียาเสพติดเป็นของคู่กันเหมือนยาสามัญประจำบ้าน ยุคนั้นเป็นยุคเดียวกับที่อิทธิพลดนตรีตะวันตกกำลังครอบงำประเทศไทย ศิลปินผู้เสพยาเป็นอาจิณเป็นเสมือนฮีโร่ของวัยรุ่น สารระเหยหรือทินเนอร์เป็นที่นิยมในหมู่เด็กเร่รอนไร้บ้าน พอๆกับยาม้าที่สิงห์รถบรรทุกหรือผู้ใช้แรงงานอาศัยเป็นแรงขับ เคลื่อนเพื่อต่อสู้กับความลำบากตรากตรำของชีวิตรายวัน และยังมีผู้คนอีกมากที่ติด “เข็ม” หรือเฮโรอีนที่ระบาดรุนแรงในเวลานั้น ชะตากรรมของผู้คนที่ผมรู้จักจำนวนไม่น้อย ถ้าไม่จบลงด้วย “เกมส์” คือเข้าคุกเข้าตะราง ก็มักจบชีวิตเพราะพิษร้ายของยาเสพติด เอชไอวี คมกระสุน หรืออะไรก็ตามที่พรากชีวิตของเขาและเธอไปก่อนวัยอันควร

กระทั่งทุกวันนี้ สถานการณ์ยาเสพติดและผู้ใช้ยายังคงวนเวียนอยู่ในรูปแบบเดิมๆ แต่พัฒนายกระดับไปสู่ผู้คนหลากหลายกลุ่มโดยเฉพาะเยาวชน และตัวสารเสพติดก็มีความหลากหลายมากขึ้น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2557 มีผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งเสพและจำหน่ายประมาณสองล้านคน สถิตินี้แทบไม่ลดลงเลยตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา  และส่วนใหญ่เป็นผู้คนที่อายุระหว่าง 15 − 30 ปี ซึ่งเป็นทั้งอนาคตและแรงงานสำคัญของประเทศ

ภาครัฐประกาศสงครามกับยาเสพติดครั้งแล้วครั้งเล่า แต่สถานการณ์ยาเสพติดกลับดูเหมือนจะทวีความรุนแรงขึ้น กลยุทธ์ของขบวนการยาเสพติดมีทั้งระบบที่ทันสมัยและการตลาดเข้มแข็ง จนเป็นเหมือนมะเร็งร้ายที่คอยกัดกินสังคมไทยมาตลอดหลายทศวรรษ และมาตรการทางกฎหมายต่างๆ ก็เป็นได้แค่เพียงยาบรรเทาอาการป่วยไข้ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

 

ลองนึกภาพใครสักคนที่ติดยาเสพติด  เขาหรือเธอคนนั้นมักมีจุดเริ่มต้นคล้ายกับ “น้ำพุ” ในวรรณกรรม “เรื่องของน้ำพุ” ของสุวรรณี สุคนธา นักเขียนหญิงชั้นครูผู้ล่วงลับ  เด็กน้อยที่บ้านมีปัญหา พ่อแม่แยกทางกัน ต้องแบกรับแรงกดดันจากสังคมรอบข้าง หลงเชื่อตามคำชักชวนหรืออยากเป็นที่ยอมรับของเพื่อนฝูง วรรณกรรมเรื่องของน้ำพุเป็นแรงบันดาลใจชิ้นสำคัญของผม และทำให้ผมตั้งคำถามว่า “ทำไมมนุษย์จึงต้องใช้ยาเสพติด”  เพราะเหตุใดมนุษย์จึงต้องแสวงหา “ภาวะเหนือปกติ”  แล้วไฉนเราถึงเจ็บปวดจนไม่อาจทนอยู่กับปัจจุบัน

 

ภาวะหรือโรคสมองติดยาเกี่ยวข้องกับสมองสองส่วน ได้แก่ สมองส่วนนอก (cerebral cortex) ซึ่งเป็นสมองส่วนความคิด มีหน้าที่ควบคุมสติปัญญาแบบมีเหตุมีผล และสมองส่วนใน (limbic system) หรือสมองส่วนอยากซึ่งทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึก

ยาเสพติดจะไปกระตุ้นสมองส่วนอยากให้หลั่งหรือสร้างสารเคมีที่ทำให้เกิดความสุข เช่น โดพามีน เซโรโทนิน เอนดอร์ฟีน กลูตาเมต และอื่นๆ ขึ้นอยู่กับชนิดของยาเสพติด ผู้เสพจึงมีความสุขชั่วคราว แต่เมื่อยาหมดฤทธิ์ สมองจะลดการหลั่งสารเคมีเหล่านี้ลง ทำให้เกิดอาการหงุดหงิด ซึมเศร้า ทรมาน ทุรนทุราย จนต้องขวนขวายหายามาใช้อีก ทว่าธรรมชาติของสมองจะปรับสภาพให้ตอบสนองต่อฤทธิ์ยาน้อยลงเรื่อยๆ ดังนั้นผู้เสพจึงต้องเพิ่มปริมาณและความถี่มากขึ้น ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกลายเป็นภาวะเสพติดหรือภาวะที่เรียกว่า “อยากก็เอา เมาก็เลิก” ผู้เสพหลายรายที่ผมมีโอกาสพูดคุยด้วยสารภาพว่า พวกเขาเคยเสพยาหนักที่สุด “จนเบลอ” ถึงขนาด “จำหน้าพ่อแม่ไม่ได้” บางคนบอกว่า “เห็นภาพหลอนเต็มไปหมด” หรือไม่ก็ “หวาดกลัวจะมีคนมาทำร้าย”   

การแสวงหายาเสพติดเป็นเรื่องง่ายกว่าที่คิด ขอเพียงคุณรู้ว่าจะต้อง “รับ” มันจากใคร วัยรุ่นมักเริ่มจากกัญชายาเสพติดที่เรามักคิดว่าไม่มีอันตรายใดๆ แต่หลายคนใช้กัญชาเป็นบันไดขั้นแรกสำหรับพัฒนาไปสู่อะไรที่เชื่อว่า “แรงกว่า” อย่างยาบ้า และยาไอซ์ เป็นต้น

ขณะที่การแสวงหาเงินมาซื้อกลับเป็นเรื่องยากกว่าการแสวงหาตัวยา ด้วยเหตุนี้ ผู้เสพส่วนใหญ่ที่ไม่มีเงิน ถ้าไม่ลักเล็กขโมยน้อย หรือก่ออาชญากรรมเพื่อนำเงินมาซื้อยาแล้ว ก็มักจะเบนเข็มเข้าสู่วังวนอีกระดับ นั่นคือการเป็นผู้จำหน่ายรายย่อยเสียเอง กลวิธีของขบวนการค้ายาเสพติดลักษณะนี้มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยที่ยังเรียกยาบ้าว่า “ยาม้า” ผู้เสพที่ต้องการยาแต่ไม่มีเงินจะรับ “ของ” มาจากตัวแทนจำหน่าย แล้วนำมา “ปล่อย” เอง ด้วยวิธีที่เรียกว่า “ม้าสามขา” คือจะได้รับส่วนแบ่งยาสำหรับเสพร้อยละ 25 จากที่จำหน่ายได้ (ยาหนึ่งเม็ดมี 4 ขา) วิธีนี้คล้ายๆ กับนักธุรกิจขายตรงในปัจจุบัน และเมื่อจำหน่ายได้มากขึ้นเรื่อยๆจนเกินเสพแล้ว พวกเขาก็สามารถทำเงินจากยาเสพติดได้มหาศาล ที่น่าสนใจคือความเชื่อเก่าๆที่ว่า คนขายยาเสพติดเป็นคนยากจนที่ต้องการรายได้ กลับไม่จริงเสมอไปอีกแล้ว เพราะผู้จำหน่ายหลายรายที่ผมพบและพูดคุยด้วยหลายคนเป็นคนมีฐานะดี หรือไม่ก็เป็นพนักงานบริษัทด้วยซ้ำ

ยาเสพติดที่ครองแชมป์อันดับหนึ่งมายาวนานคือยาบ้า เมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) ที่เปลี่ยนวิธีการเสพเรื่อยมาตั้งแต่กินเป็นเม็ดๆ  ไปจนถึงการเผาบนกระดาษฟอยล์แล้วสูดไอระเหย ยาบ้าเป็นยา “ตัวเล็ก” ของคนทุกระดับชั้น โดยเฉพาะตลาดล่าง  ส่วนยา “ตัวใหญ่” หรือยาไอซ์ซึ่งมีภาพลักษณ์เป็นยาเสพติดของคนเมืองหรือพวกมีระดับกว่า กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อที่ว่าเป็นยาที่บริสุทธิ์กว่า และซุกซ่อนง่ายกว่าแบบเม็ด ในแต่ละปี สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดสามารถจับกุมยาบ้าได้มากกว่า 20 ล้านเม็ด และยาไอซ์กว่า 1,500 กิโลกรัม นั่นอาจเป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับที่เล็ดรอดไปได้

ความล้ำลึกของโลกยาเสพติดในปัจจุบัน คือความพยายามแสวงหาสารเสพติดที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงวัยหนึ่ง ผมมีโอกาสทำงานเป็นลูกจ้างในโรงงานผลิตยาสามัญประจำบ้าน และได้เห็นแท่นผลิตเม็ดยาที่มีราคาแพง แต่ปัจจุบัน แท่นผลิตยาเหล่านั้นย่อขนาดเล็กลงมากและสามารถหาซื้อหาได้ง่าย อย่างน้อยก็อาจประยุกต์หรือดัดแปลงได้หากคนทำมีความรู้ทางช่างกับทางเคมีนิดหน่อย ยาเสพติดจากธรรมชาติอย่างใบกระท่อมถูกนำมาเล่นแร่แปรธาตุโดยกินกับน้ำอัดลมหรือต้มกับยาแก้ไอเป็น “สี่คูณร้อย” หรือหลายปีก่อนที่มีการไล่เก็บยาแก้หวัดตามท้องตลาดที่มีสารซูโดรอิเฟดรีน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติด เนื่องจากพบว่ามีการกว้านซื้อจำนวนมากเพื่อผลิตยาเสพติด

แม้ผมจะไม่อาจวิเคราะห์เจาะลึก แต่อย่างน้อยปรากฏการณ์เหล่านี้น่าจะสะท้อนให้เห็นสังคมที่ป่วยไข้เรื้อรัง แหล่งข่าวหญิงคนหนึ่งที่ผมรู้จักมานาน เธอเป็นคนหนึ่งที่จากโลกนี้ไปด้วยพิษยาเสพติด แน่นอนว่าเดิมทีเธอเป็นคนสะสวย ผิวพรรณสะอาดสอ้าน และใบหน้าอิ่มเอม แต่ชั่วระยะเวลาเพียงไม่ถึงปี ยาบ้าก็ชักนำเธอเข้าสู่วงจรค้ากาม เธอซูบผอมลงจนผมจำแทบไม่ได้  ท้ายที่สุดมันก็ปลิดชีวิตเธอเหมือนปลิดใบไม้จากกิ่ง

เป็นความจริงที่ว่า ในสังคมที่ดารา นักร้อง นักแสดง หรือคนมีชื่อเสียง หากเลิกยาเสพติดได้ พวกเขาจะได้รับการยกย่องเชิดชู และอาจถึงขั้นได้รับการอุปโลกน์เป็นทูตให้องค์กรสาธารณะต่างๆ แต่หากเป็นชาวบ้านทั่วไป พวกเขากลับถูกตราหน้าว่าเป็น “อดีตขี้ยา” และไม่ได้รับสิทธิพิเศษใดๆเลย แม้แต่การขอวีซ่าไปต่างประเทศก็ยังลำบาก การเลิกยาเสพติดสำหรับคนทั่วไปย่อมหมายความว่า พวกเขาต้องพยายามมากกว่าหลายเท่า เพื่อกลับไปสู่จุดเดิมที่เคยยืนอยู่ก่อนติดยาเสพติด

ในเบื้องลึก ผู้ติดยาเสพติดทุกคนล้วนแล้วแต่อยากหลุดพ้นจากวังวนนรก บทความหนึ่งซึ่งเขียนโดยผู้ติดยาเสพติดตัดพ้อว่า “...พวกเราเป็นแค่เพียง ‘หญิงแพศยา’ หรือ ‘ชายสารเลว’ ที่ใช้ชีวิตไปวันๆ ทำทุกวิถีทางเพื่อหาเงินมาสนองความรื่นรมย์กับยาเสพติด บันดาลความสุขแค่เพียงชั่วยาม พอสร่างฤทธิ์ยาก็พบความจริงอันโหดร้ายของชีวิตที่จมปลักในโคลนตม พวกเราต่างเหนื่อยล้า และในใจลึกๆ ปรารถนาจะหลุดพ้นจากมัน แต่สุดท้ายพวกเราต่างพ่ายแพ้ทุกครา...”

 
ตลอดการทำสารคดีชิ้นนี้ ผมไม่เชื่อว่ายาเสพติดจะหายไปหรือลดจำนวนลงได้ในเร็ววัน อย่างน้อยที่สุดก็คงจะไม่ได้ทันเห็นในยุคสมัยของเรา เพราะความรุนแรงของมันเหนือกว่าสงครามครั้งไหนๆ และสงครามยาเสพติดก็เป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของเรา

แต่ขึ้นชื่อว่าสงคราม ย่อมต้องมีผู้แพ้และผู้ชนะ เพียงแต่เราจะจารึกไว้ว่า  มันชนะเรา หรือเราชนะมัน ก็เท่านั้น

เรื่องโดย วินัย ดิษฐจร เรียบเรียง ราชศักดิ์ นิลศิริ
กรกฎาคม 2558