ผู้เขียน หัวข้อ: ตามรอยมหาบุรุษนามคานธี-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 792 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด

ภาพ : ตามรอยมหาบุรุษนามคานธี
ภาพโดย : เรนา เอฟเฟนดี
คำบรรยายภาพ : เมื่อว่างจากงานในไร่ ที่หมู่บ้านสีโหล รัฐคุชราต คีตา เภน จะทอส่าหรีให้กลุ่มสหกรณ์สตรีที่ได้แรงบันดาลใจจากโมหันทาส คานธี

ตวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของบุรุษผู้ได้ชื่อว่า “บิดาแห่งชาติอินเดีย” ยังคงเรืองรองอยู่ในอินเดียยุคใหม่ สมดังคำกล่าวที่ว่า ประทีปแห่งคานธีจะฉายฉานต่อไปอีกนับพันปีจริงหรือ

เขาตื่นก่อนฟ้าสาง เช่นที่เคยทำเป็นกิจวัตรในอาศรม ท่ามกลางความมืด เขานำสวดภาวนาบนผืนดินริมฝั่งแม่น้ำสพาร์มตี จากนั้นเขาซึ่งอยู่ในชุดโธตี หรือผ้านุ่งสีขาวกับผ้าคลุมไหล่ ก็คว้าไม้เท้าไม้ไผ่ แล้วเดินออกจากประตูบ้านที่อยู่มา 13 ปี

            โมหันทาส คานธี ไม่ได้ไปโดยลำพัง ขณะที่เขาก้าวเข้าสู่ถนนลูกรังชานเมืองอัห์มดาบาด เมืองใหญ่ที่สุดในรัฐคุชราตบ้านเกิด ชายสวมชุดขาว 78 คนก็ออกเดินเรียงสองตามหลังเขาเป็นแถวยาว ผู้คนหลายหมื่นคน              ต่างเบียดเสียดกันอยู่สองข้างทาง พวกเขาตะโกนขึ้นว่า “คานธี กี ชัย คานธีจงมีชัย”

            นั่นคือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ปี 1930 คานธีกับผู้ติดตามใช้เวลา 25 วันเดินทาง 388 กิโลเมตรสู่ทะเลอาหรับ เพื่อประท้วงกฎหมายอยุติธรรมของอังกฤษที่สั่งห้ามการทำเกลือในดินแดนอาณานิคม คานธี                          ผู้ช่ำชองในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อปลุกกระแสทางการเมือง ก้มลงใกล้ชายหาดและกอบดินเค็มๆขึ้นมากำมือหนึ่ง และเมื่อการทำเกลือผิดกฎหมายระบาดไปทั่วประเทศ การจับกุมคุมขังและการทุบตีก็เกิดตามมา สิ่งที่เจ้าหน้าที่ทางการอังกฤษมองว่าเป็นเพียงละครการเมืองฉากเล็กๆกลับลุกลามบานปลายกลายเป็นการเรียกร้องเอกราชทั่วประเทศ  นับตั้งแต่วันที่เริ่มออกเดินขบวนเกลือ (Salt March) หรือสัตยาเคราะห์เกลือ จนถึงวันที่เขาเสียชีวิตในอีก 18 ปีต่อมา คานธีได้มอบการปฏิวัติที่ผสมผสานแนวคิดทางการเมืองกับความลึกซึ้งทางจิตวิญญาณให้อินเดีย เขาเรียกหลักการต่อสู้แบบสันติอหิงสานี้ว่า สัตยาเคราะห์ หรือพลังแห่งสัจจะ

            อิทธิพลของคานธีมิอาจลบเลือน เขานำพาอินเดียสู่เอกราช ปลุกสำนึกเพื่อนร่วมชาติให้ตั้งคำถามท้าทายอคติที่หยั่งรากลึกที่สุดของตน ทั้งเรื่องวรรณะ ศาสนา และการใช้ความรุนแรง

            ไม่กี่ชั่วโมงหลังคานธีจบชีวิตจากคมกระสุนสังหารเมื่อปี 1948 หรือเพียงห้าเดือนครึ่งหลังอินเดียได้รับเอกราช ยวาหร์ลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย ก็ประกาศว่า ประทีปที่บุรุษผู้เปรียบได้กับบิดาของชาติได้จุดไว้จะฉายฉานต่อไปอีกนับพันปี

            มาถึงวันนี้ ประทีปดวงนั้นยังสว่างเรืองรองเพียงใด

 

เพื่อหาคำตอบ ผมตัดสินใจตามรอยคานธี ผมจะจาริกไปตามเส้นทางเดินขบวนเกลือของเขา คำปราศรัยและบทความของเขาพูดถึงปัญหาต่างๆที่อินเดียทุกวันนี้ยังเผชิญอยู่ และชาวอินเดียยังคงถกเถียงถึงมรดกตกทอดของบุรุษผู้เป็นที่รู้จักในนามมหาตมา (Mahatma) หรือ “จิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่”

            คานธีเป็นคนเดินเร็ว จังหวะก้าวของเขานับว่าน่าทึ่งสำหรับชายวัย 61 ปี ซึ่งมีอาการปวดข้อจากโรครูมาติก ทุกวันหลังเดินทางเฉลี่ยราว 16 ถึง 19 กิโลเมตรฝ่าคลื่นความร้อน คณะของเขาจะหยุดตามหมู่บ้านต่างๆเพื่อสวดภาวนา พักผ่อน กินอาหาร และให้คานธีปราศรัยกับผู้ฟังที่ปลื้มปีติ คานธีเป็นบุคคลสำคัญระดับชาติคนแรกที่ผูกสัมพันธ์กับชาวบ้านระดับรากหญ้า สำหรับเขาหมู่บ้านคือจิตวิญญาณของอินเดีย

            ทุกวันนี้ วิสัยทัศน์ของคานธีที่มองว่า หมู่บ้านต่างๆคือผืนดินอุดมที่จะนำพาอินเดียไปสู่ความก้าวหน้า ช่างดูราวกับความฝันถึงโลกอุดมคติในยามเพ้อไข้ เมืองน้อยใหญ่ต่างหากที่เป็นแหล่งงาน โรงเรียน และชีวิตทางสังคม ปัญหาของเมืองใหญ่ เช่น มลพิษ อาชญากรรม คนล้นเมือง และการจราจร เป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติที่ครอบงำบทสนทนาของผู้คน ทั้งๆที่เกือบร้อยละ 70 ของประชากรอินเดียกว่า 1,200 ล้านคนยังอาศัยอยู่ในชนบท

            ฝูงชนที่ทักทายคานธีตลอดเส้นทางเดินขบวนเกลือไม่ใช่คนที่ชาวอินเดียยุคใหม่คาดคิด ในสนามของโรงเรียนหรือตามท้องทุ่ง ผู้หญิงหลายร้อยคนมาฟังคานธีปราศรัย พวกเธอออกันอยู่เต็มท้องถนนในเมืองเพื่อร่วมเดินไปกับผู้ประท้วง คานธีเกรงจะเกิดเหตุรุนแรงจึงเลือกเฉพาะผู้ชายมาร่วมขบวน แต่เขาเห็นผู้หญิงเป็นพันธมิตรโดยธรรมชาติ “ผมรู้สึกว่าพวกเธอตีความหลักอหิงสาได้ดีกว่าผู้ชาย” คานธีกล่าว “ไม่ใช่เพราะพวกเธออ่อนแอ ดังที่ความทะนงตนทำให้ผู้ชายคิดเช่นนั้น แต่เพราะพวกเธอกล้าหาญมากกว่าต่างหาก”

            คานธีชอบยั่วยุคน โดยมักท้าทายผู้ฟังอยู่เนืองๆ ที่เมืองคเชระ ราวสิบวันหลังออกเดิน เขานั่งบนเวทียกพื้น ต่อหน้าผู้ฟังที่คาดหวังโดยไม่ปริปาก ผู้ฟังเริ่มอึดอัด และเมื่อคานธีพูดขึ้นในที่สุด เขาก็บอกว่าจะไม่ปราศรัยจนกว่าผู้นำหมู่บ้านจะเชิญจัณฑาลมาร่วมวงด้วย นี่เป็นคำขอที่ท้าทายขนบชนิดยอมหักไม่ยอมงอ

            ชาวฮินดูชิงชังผู้อยู่ต่ำสุดของระบบวรรณะกลุ่มนี้อย่างยิ่ง พวกเขาทำงานที่สกปรกที่สุด ใช้ชีวิตแยกต่างหาก ห้ามเข้าวัดหรือตักน้ำจากบ่อน้ำในหมู่บ้าน กระทั่งเงาก็ยังห้ามทอดทับชาวฮินดูวรรณะอื่น

            บางทีนี่อาจเป็นบททดสอบที่สร้างความกระอักกระอ่วนใจมากที่สุดที่คานธีหยิบยื่นให้ผู้ที่ออกปากว่าเป็นผู้ติดตามเขา เจ้าหน้าที่ซึ่งมีท่าทีอับอายส่งสัญญาณให้เหล่าจัณฑาลบนเนินใกล้ๆเข้าร่วมการชุมนุมด้วย

 

ในที่สุดกลุ่มผู้ประท้วงก็ได้ยินเสียงคลื่น หลังจากเดินกันมากว่าสามสัปดาห์ พวกเขาเข้าใกล้หมู่บ้านชายฝั่งชื่อทันที ขณะที่ผู้คนจำนวนมากในอินเดียและโลกตะวันตกเฝ้าดู กองกำลังรักษาความสงบ สื่อมวลชน ฝูงชนที่สนใจใคร่รู้และกลุ่มผู้สนับสนุน มารวมตัวกันเพื่อรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น

            โมหันทาส คานธี ทำผิดกฎหมายในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 6 เมษายน ปี 1930 ณ หมู่บ้านทันทีซึ่งอยู่ใกล้ทะเล บุรุษที่มิตรสหายและคนแปลกหน้าเรียกขานว่า บาปู หรือ “บิดา” ก้มลงกอบดินเลนขึ้นมากำมือหนึ่ง และพอหมดวัน ผู้สนับสนุนหลายร้อยคนก็ทำเช่นเดียวกัน ตลอดช่วงหลายเดือนต่อมาทั่วทั้งอินเดีย ผู้คนอีกมากมายพากันผลิตเกลือสมุทรอย่างผิดกฎหมายชนิดที่ตำรวจตามจับไม่ทัน การเดินขบวนเกลือไม่ได้ล้มล้างการปกครองของอังกฤษก็จริง เพราะกว่าอินเดียจะได้รับเอกราชก็ต้องรออีก 17 ปีต่อมา หากเป็นการเขย่าฐานรากให้แตกร้าว

            การสร้างฉากนั้นขึ้นมาใหม่เป็นเรื่องยาก ภูมิทัศน์ของชายฝั่งเปลี่ยนไปแล้ว และจุดที่คานธีก้มลงกอบเกลือบัดนี้กลายเป็นผืนดินแห้งๆ การตามหาคานธีในอินเดียที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน

            แต่ขณะที่ผมมองหาคานธี ค้นหาเขาท่ามกลางเสียงอึกทึกครึกโครมและความสับสนวุ่นวายของชีวิตในเมืองและชนบท ผมก็พบเขา วิญญาณอันหาญกล้า จิตใจอันสูงส่ง และบุคลิกอันกร้าวแกร่ง ที่ขับเคลื่อนการรณรงค์ต่อต้านการทุจริต การกระทำชำเราแก่สตรี ความรุนแรงที่เกิดจากการถือวรรณะ และการไล่ที่ชุมชนแออัด ในอาศรมหลายแห่งของเขา ผมรับรู้ได้ถึงพลังจากแบบอย่างการใช้ชีวิตอันสมถะ แม้ในบางแง่มุมคานธีจะล้มเหลวอย่างน่าเศร้า และไม่สามารถทำให้อะไรดีขึ้นได้เลย เช่น การป้องกันความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูกับมุสลิม หรือการแยกประเทศปากีสถานซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม แต่ ณ ชายหาดแห่งนี้ที่หมู่บ้านทันที ภาพของครอบครัวชาวมุสลิมและฮินดูที่เดินลุยคลื่น ยกชายส่าหรีขึ้น เลิกผ้าคลุมศีรษะไปข้างหลัง คือประจักษ์พยานแห่งความยั่งยืนของประชาธิปไตยแบบทางโลกที่ยอมรับในความแตกต่าง ซึ่งคานธีเชื่อว่าเป็นมรดกตกทอดของอินเดีย

 เรื่องโดย ทอม โอนีล
กรกฎาคม 2558