ผู้เขียน หัวข้อ: มหันตภัยแมลงร้ายล้างบางป่าสน-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 816 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด

ภาพ : รัฐเซาท์ดาโคตา
ภาพโดย : ปีเตอร์ เอสสิก
คำบรรยายภาพ : ด้วงสนภูเขารุกคืบทำลายผืนป่าทางตะวันตกของสหรัฐฯ รวมถึงป่ารอบๆเมานต์รัชมอร์เหล่านี้ ป่าสนที่เห็นเป็น สีเทาคือสนใบโกร๋นที่ยืนต้นตาย ส่วนที่เห็นเป็นสีสนิมเพิ่งตายลงและยังเหลือใบอยู่ คำถามคือฝูงด้วงจะแพร่ระบาดไปทั่วทวีปอเมริกาเหนือหรือไม่

ด้วงสนภูเขาที่ทำลายล้างผืนป่าในสหรัฐฯ กำลังรุกคืบเข้าสู่แคนาดา เราจะหยุดยั้งหายนะนี้ได้หรือไม่


ยามเช้าอากาศเย็นเยือกวันหนึ่งของเดือนตุลาคม ปี 2013 ไดอานา ซิกซ์ จอดรถที่ชายป่าสนในหุบเขาบิกโฮล ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐมอนแทนา  ใต้เงื้อมเงาของหมู่ยอดเขาห่มหิมะคือป่าสนลอดจ์โพลสี่สีปกคลุมไปทั่ว เนินเขา  แต่ละสีที่เห็นคือลำดับเวลาการถูกทำลาย  สีเทาคือต้นไม้ใบโกร๋นเหลือแต่ลำต้นและกิ่งก้าน พวกมันตายไปตั้งแต่ปี 2009  ส่วนต้นสีแดงอ่อนๆยังไม่ทิ้งใบคือพวกที่ชะตาขาดเมื่อปี 2011 ตามมาด้วยสนต้นสีแดงอมส้มเข้มที่ตายลงเมื่อปี 2012  และแม้แต่สนที่ยังดูเขียวก็อาจไม่แข็งแรงอย่างที่เห็น คือคำอธิบายของซิกซ์ นักกีฏวิทยาจากมหาวิทยาลัยมอนแทนา ราวหนึ่งในสี่ของต้นสนเหล่านั้นหมดหนทางเยียวยาแล้ว

ซิกซ์คว้าขวานแล้วเดินเข้าป่า เธอหยุดที่ดงสนลอดจ์โพลซึ่งมีทั้งต้นสีเขียวมรกตและสีส้มไหม้ปะปนกัน ใช้ขวานค่อยๆถากเปลือกไม้จากต้นสีเขียวต้นหนึ่ง แล้วบากร่องจนเห็นเนื้อไม้ซีดๆ ในนั้นมีตัวอ่อนสีดำของด้วงขนาดเท่าเมล็ดงา ตัวอ่อนเหล่านี้ตายเพราะน้ำค้างแข็งซึ่งมาก่อนฤดูกาล แต่ก็ช้าเกินกว่าจะช่วยชีวิตสนต้นนี้ไว้ได้ แม้มันจะยังดูเขียวสด แต่โฟลเอ็ม (phloem) หรือเนื้อเยื่อท่อลำเลียงอาหารใต้เปลือกก็แห้งเกรียมเสียแล้ว

ซิกซ์หันไปเฉือนเปลือกของอีกต้นซึ่งดูเหมือนจะแข็งแรงเช่นกัน โฟลเอ็มยังเป็นสีชมพูอมเขียวชุ่มฉ่ำ เห็นได้ชัดว่ายังมีน้ำหล่อเลี้ยง แต่พบรอยด้วงกัดเป็นร่องชัดเจน เมื่อดูจากขนาดของร่องและการไม่พบตัวอ่อนซิกซ์สรุปว่าสนต้นนี้เพิ่งถูกด้วงเจาะไม่ถึงสัปดาห์

นี่คือสภาพที่พบเห็นได้ทั่วไปในป่าสนเนื้อที่หลายล้านไร่ทั่วภูมิภาคตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ ถ้าขับรถผ่านพื้นที่บางส่วนของรัฐโคโลราโด คุณอาจเห็นไหล่เขาหลายลูกปกคลุมไปด้วยต้นไม้สีสนิม สนเกือบ ทุกต้นยืนต้นตายเพราะแมลงตัวร้ายขนาดเล็กกว่าหัวเป๊กติดกระดาน พวกมันคือด้วงสนภูเขานั่นเอง และหากไปเยือนรัฐบริติชโคลัมเบียของแคนาดา ภาพความเสียหายอาจรุนแรงกว่านี้ ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ป่าสนราว 180,000 ตารางกิโลเมตรของที่นั่นถูกแมลงชนิดนี้รุกรานสร้างความเสียหายในหลายระดับ

ด้วงสนภูเขาแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆที่กำลังคุกคามภูมิทัศน์ของทวีปอเมริกา เพราะพวกมันไม่ใช่ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หากเป็นสัตว์ประจำถิ่นของป่าสนในแถบตะวันตกและปกติมีอยู่ไม่มากนัก พวกมันเจาะต้นสนตายอย่างมากก็แค่ต้นสองต้นตรงนี้บ้าง ตรงโน้นบ้าง ประชากรของด้วงชนิดนี้อาจทวีจำนวนบ้างเป็นครั้งคราว และบางทีก็ถึงขั้นทำลายป่าผืนใหญ่ แต่ส่วนใหญ่จำกัดวงอยู่ในภูมิภาคเดียว ไม่ใช่ทำลายป่าครึ่งค่อนทวีปแบบนี้

การระบาดคราวนี้นับว่ารุนแรงและกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ผืนป่าตั้งแต่ทางตอนเหนือของรัฐนิวเม็กซิโกขึ้นไปจนถึงรัฐบริติชโคลัมเบียของแคนาดาถูกด้วงเจาะตายคิดเป็นพื้นที่มากกว่า 2,430,000 ตารางกิโลเมตร เมื่อการระบาดในรัฐบริติชโคลัมเบียสิ้นสุดลง สนโตเต็มวัยราวร้อยละ 60 ของที่นั่นอาจพากันล้มตาย คิดเป็นเนื้อไม้มากถึงหนึ่งพันล้านลูกบาศก์เมตร

ไม่ใช่แค่ต้นไม้ที่ตกเป็นเหยื่อ ป่าที่ตายแล้วส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่สายใยอาหารไปจนถึงเศรษฐกิจในท้องถิ่น เมืองทำไม้หลายเมืองในรัฐบริติชโคลัมเบียขาดรายได้ ขณะที่หมีและนกในอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนขาดแหล่งอาหารสำคัญ และเมื่อไม่มีรากไม้คอยยึดเกาะ หน้าดินก็ถูกกัดเซาะ

ด้วงสนภูเขาอาจนึกขอบคุณพวกเราที่ช่วยให้พวกมันได้เสพสุขกันอย่างในตอนนี้ เราใช้เวลาตลอดศตวรรษที่ผ่านมาพยายามกำจัดไฟป่า ส่งผลให้มีต้นไม้อุดมสมบูรณ์ให้ด้วงได้อิ่มหมีพีมัน ตอนที่วิกฤติด้วงสนภูเขาเปิดฉากขึ้น ต้นสนโตเต็มวัยในป่าของรัฐบริติชโคลัมเบียขึ้นกันหนาแน่นมากกว่าป่าที่ปล่อยให้เกิดไฟป่าตามธรรมชาติถึงสามเท่า เช่นเดียวกับด้วงสนภูเขา ไฟป่าเองก็เป็นปัจจัยธรรมชาติประจำถิ่นของป่าสนแถบตะวันตก และมีความสำคัญต่อความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าไม่ต่างจากฝน ไฟป่าช่วยบำรุงดิน กระจายเมล็ดพันธุ์ และเปิดที่โล่งให้แดดส่องถึงพื้นดิน ทำให้ป่าเป็นถิ่นอาศัยสำหรับสรรพชีวิต

แอลลัน แคร์รอลล์ นักนิเวศวิทยาด้านแมลงจากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย อธิบายว่า เมื่อร้อยปีก่อนรัฐบริติชโคลัมเบียมีสนลอดจ์โพลที่โตเต็มวัยและสุ่มเสี่ยงจะเป็นอาหารของด้วงอยู่เพียงร้อยละ 17 พอถึงกลางทศวรรษ 1990 จำนวนก็ทวีขึ้นเป็นมากกว่าร้อยละ 50

กระนั้น ลำพังการเพิ่มขึ้นของไม้โตเต็มวัยอย่างเดียวไม่น่าจะทำให้ผืนป่าในสิบรัฐของสหรัฐฯและสองรัฐในแคนาดาถูกด้วงเจาะจนตายยกภูเขา ความเปราะบางนั้นเกื้อหนุนให้การระบาดทวีความรุนแรงขึ้น แต่ปัจจัยที่โหมกระพือคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราเองที่ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแพร่พันธุ์ของด้วงด้วยการทำให้โลกอุ่นขึ้นจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

อุณหภูมิที่สูงขึ้นและภัยแล้งทำให้ต้นไม้อ่อนแอจนไม่อาจต้านทานภัยจากผู้รุกรานได้ สภาพอากาศที่อุ่นขึ้นยังช่วยเพิ่มประชากรของด้วงและขยายถิ่นกระจายพันธุ์ของมันให้กว้างใหญ่ไพศาล พวกมันขยายอาณาเขตขึ้นไปทางเหนือมากขึ้นและบนพื้นที่สูงกว่าเดิม โจมตีสนพันธุ์ต่างๆอย่างสนแจ็กไพน์และสนไวต์บาร์กที่ไม่ค่อยพานพบศัตรูตัวฉกาจนี้กระทั่งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทุกวันนี้ สามในสี่ของสนไวต์บาร์กโตเต็มวัยในอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนตายหมดแล้ว ส่งผลกระทบต่อหมีกริซลีและนกเจาะลูกสนสีเทาซึ่งอาศัยกินลูกสนเหล่านี้

เมื่อปี 2008 แคร์รอลล์และนักวิจัยคนอื่นๆรายงานผลการวิจัยต่อรัฐบาลแคนาดา โดยสรุปว่าความเสี่ยงที่ด้วงสนภูเขาจะระบาดในหมู่สนแจ็กไพน์ในป่าไม้เขตหนาวเหนือ (boreal forest) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ถึงหนึ่งในสี่ของแคนาดานั้นมีอยู่น้อย แต่ก็น่าเป็นห่วง ถึงตอนนี้ด้วงสนภูเขาก็เจาะทะลวงสนแจ็กไพน์ได้แล้ว พวกมันยึดครองผืนป่าตั้งแต่รัฐแอลเบอร์ตาไปถึงรัฐซัสแคตเชวันทางตะวันออก ขึ้นเหนือไปจนถึงดินแดนยูคอนและนอร์ทเวสต์เทร์ริทอรีส์ สนแจ็กไพน์ต่างจากสนลอดจ์โพลตรงที่สามารถเติบโตในผืนป่าทางตะวันออกไกลถึงรัฐโนวาสโกเชีย และลงใต้ไปถึงแถบมิดเวสต์ตอนบนและภูมิภาคนิวอิงแลนด์ของสหรัฐฯ

“แล้วด้วงจะระบาดไปทั่วทวีปหรือไม่” คือคำถามของแคร์รอลล์ เพื่อนร่วมงานตั้งฉายาให้เขาว่า  “ดร.ดูม”  (Dr. Doom)  ถ้าเห็นเขาไปพบเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ไหน ก็เชื่อขนมกินได้เลยว่า ผืนป่าแถบนั้นหมดหวังแล้ว เขาตอบคำถามนั้นของตัวเองว่า “ระบาดแน่”

เรื่องโดย ฮิลลารี รอสเนอร์
สิงหาคม 2558