แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - pani

หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 51
61
ในวาระครบรอบ 150 ปีของการลอบสังหารประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของสหรัฐฯ ร่วมรำลึกถึงมรดกที่มหาบุรุษผู้นี้ฝากไว้

แท่นสีดำวางอยู่ลึกลงไปใต้อาคารรัฐสภาของสหรัฐฯ มีทั้งกระจกหนาและลูกกรงโลหะกั้นราวกับเป็นวัตถุอันตรายซึ่งในบางแง่มุมก็อาจเป็นเช่นนั้น ย้อนหลังไปเมื่อเดือนเมษายน ปี 1865 ช่างไม้ช่วยกันต่อแท่นหุ้มกำมะหยี่ที่เรียกกันว่า แท่นวางหีบศพลิงคอล์น (Lincoln catafalque) เพื่อจัดวางหีบศพของประธานาธิบดีผู้ถูกลอบสังหารอันเป็นส่วนหนึ่ง ของพิธีศพอย่างเป็นทางการภายในโถงทรงกลมของอาคารรัฐสภา  ผ้าสีดำช่วยอำพรางแผ่นไม้สนหยาบๆที่พวกเขาเร่งมือต่อขึ้น นับจากนั้น แท่นนี้ก็นำออกใช้ในพิธีศพทุกครั้งที่วีรบุรุษหรือบุคคลสำคัญระดับชาติเสียชีวิต เช่น เจมส์ การ์ฟีลด์, วิลเลียม แมกคินลีย์, จอห์น เอฟ. เคนเนดี และดักลาส แมกอาร์เทอร์ เป็นต้น

            การลอบสังหารเอบราแฮม ลิงคอล์น ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนนี้เมื่อ 150 ปีที่แล้ว ได้รับการเล่าขานและจำลองเหตุการณ์มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน การเดินทางครั้งสุดท้ายสู่โรงละคร การยิงปืนพกในที่นั่งชั้นพิเศษของประธานาธิบดี การกระโจนหนีลงสู่เวทีอย่างบ้าบิ่นของฆาตกรผู้เป็นนักแสดง และการถึงแก่อสัญกรรมในอีกหลายชั่วโมงต่อมาในห้องด้านหลังโรงแรมราคาถูกที่อยู่ใกล้ๆ [บาดแผลฉกรรจ์จากคมกระสุนทำให้การเดินทางกลับทำเนียบขาวแทบเป็นไปไม่ได้] แต่สิ่งที่ผู้คนยังไม่ค่อยล่วงรู้คือเรื่องราวหลังจากนั้น อเมริกาไว้อาลัยแด่ลิงคอล์นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และกระบวนการนั้นไม่เพียงนิยามมรดกที่ฝากไว้ของวีรบุรุษอเมริกัน แต่ยังก่อเกิดพิธีกรรมใหม่ในหมู่พลเมืองอเมริกัน นั่นคือช่วงเวลาโศกาอาดูรร่วมกันของคนในชาติ

            ในช่วงหลายสัปดาห์หลังอสัญกรรมของลิงคอล์นและระหว่างที่ขบวนรถไฟเคลื่อนศพออกเดินทางตีวงอ้อมจากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กลับสู่บ้านเกิดของประธานาธิบดีที่เมืองสปริงฟีลด์ รัฐอิลลินอยส์ อาจมีชาวอเมริกันราวหนึ่งล้านคนเข้าแถวเพื่อเดินผ่านหีบศพที่เปิดไว้และชมใบหน้าของผู้นำประเทศที่ล่วงลับเพียงแวบหนึ่ง ขณะที่อีกหลายล้านคนหรืออาจมากถึงหนึ่งในสามของประชากรในรัฐทางตอนเหนือของประเทศ ยืนส่งขณะขบวนรถไฟเคลื่อนผ่าน

            วันที่ 19 เมษายน วันแรกของการเดินทางครั้งสุดท้ายของลิงคอล์น ทหาร ข้าราชการ และประชาชน เดินตามขบวนแห่ศพจากทำเนียบขาวไปยังอาคารรัฐสภาเป็นแถวยาวสองสามกิโลเมตร หลายวันก่อนเกิดเหตุลอบสังหาร กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และอีกครึ่งประเทศเพิ่งเฉลิมฉลองการยอมจำนนของฝ่ายสมาพันธรัฐ (Confederate) หรือฝ่ายใต้ที่เมืองแอปโพแมตทอกซ์ ตอนนี้ธงผืนเดียวกับที่โบกประกาศชัยชนะกลับติดแถบผ้าสีดำเพื่อไว้ทุกข์

            สองวันต่อมา รถไฟเก้าตู้เคลื่อนออกจากสถานีรถไฟหลักของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มุ่งหน้าขึ้นเหนือ ทว่าเพียงไม่กี่นาทีหลังจากนั้น ขบวนรถก็แล่นตัดเข้าสู่บริเวณที่เพิ่งจะพ้นสถานะดินแดนทาสมาหมาดๆ

            จากฟรีแลนด์ (“ดินแดนเสรี”) สู่นิวฟรีดอม (“เสรีภาพใหม่”) ทางรถไฟสายเก่าค่อยๆไต่ระดับออกจากรัฐแมริแลนด์เข้าสู่เนินเขาของรัฐเพนซิลเวเนีย หมู่บ้านชื่อมงคลหนึ่งในสองแห่งนี้ตั้งอยู่ใต้เส้นเมสัน-ดิ๊กซันซึ่งเป็นเส้นพรมแดนกั้นระหว่างสองรัฐ อีกหมู่บ้านตั้งอยู่ทางเหนือ ก่อนหน้าที่รัฐแมริแลนด์จะออกกฎหมายเลิกทาสเพียงห้าเดือนก่อนลิงคอล์นเสียชีวิต เส้นเมสัน-ดิ๊กซันเปรียบได้กับรั้วไฟฟ้าที่ขวางกั้นระหว่างผู้คนสี่ล้านคนกับอิสรภาพ

            ทุกวันนี้ ทางรถไฟสายเก่าที่ขบวนแห่ศพของลิงคอล์นวิ่งผ่านกลายเป็นเส้นทางเดินป่า เสาไม้ต้นหนึ่ง ม้านั่งอีกตัว และโต๊ะปิกนิกสองสามตัวคือร่องรอยที่หลงเหลืออยู่ทั้งหมดของเส้นเมสัน-ดิ๊กซัน ผมทรุดตัวลงบนม้านั่งโดยร่างกายซีกซ้ายอยู่ทางใต้ ส่วนซีกขวาอยู่ทางเหนือ นึกอัศจรรย์ใจกับพรมแดนที่มองไม่เห็น ทว่าเคยมีอยู่จริง

            ปราการขวางกั้นที่ก้าวข้ามยากที่สุดในโลก อย่างที่ลิงคอล์นผู้เป็นทนายความและนักเขียนรู้ดี มักไม่ได้ก่อด้วยกำแพงหรือสนามเพลาะ ไม่ใช่กระทั่งเทือกเขาและมหาสมุทร หากเป็นกฎหมายและถ้อยคำ ที่แห่งนี้มีอะไรบางอย่างแตกต่างจากสถานที่ประวัติศาสตร์ทั้งหมดซึ่งผมเคยไปเยือน ผมรู้สึกได้ถึงการถูกกดขี่เป็นทาส แต่ลิงคอล์นยังรู้ด้วยว่า ไม่ว่าเส้นที่เกิดจากกฎหมายและถ้อยคำจะน่าครั่นคร้ามเพียงใด ก็ลบล้างได้ด้วยกฎหมายใหม่และถ้อยคำใหม่ เขาทำให้เส้นเส้นนี้อันตรธานไป จึงไม่น่าแปลกใจที่ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันซึ่งเพิ่งได้รับอิสรภาพจะยืนเรียงรายสองข้างทางรถไฟตลอดวันแรกที่ขบวนศพของเขาออกเดินทาง

            แน่นอนว่าเส้นที่มองไม่เห็นเหล่านี้ยังคงพาดผ่านภูมิทัศน์ทั่วสหรัฐฯ ถ้าไม่ใช่ขีดคั่นระหว่างความเป็นทาสกับการเลิกทาส อย่างน้อยก็แบ่งแยกแนวคิดว่าด้วยเสรีภาพของแต่ละบุคคล ลิงคอล์นกับสงครามกลางเมืองยังคงเป็นหมุดหมายแห่งความเสมอภาคสำหรับผู้คนจำนวนมาก

            “เขาตายเพื่อฉัน! เขาตายเพื่อฉัน! ขอพระเจ้าคุ้มครองเขาด้วยเถิด!”

            ถ้อยคำที่พรั่งพรูออกมาทั้งน้ำตาของหญิงสูงวัยคนหนึ่ง ขณะมองหีบศพของลิงคอล์นเคลื่อนผ่านท้องถนนในแมนแฮตตันตอนล่าง สะท้อนถึงสิ่งที่เธอกับชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันคนอื่นๆรู้สึกต่อการตายของประธานาธิบดี ชาวอเมริกันทุกคนไม่ว่าผิวขาวหรือผิวดำรู้ดีว่า การเลิกทาสของลิงคอล์นเป็นชนวนของความเคียดแค้นชิงชังที่นำไปสู่การปลิดชีวิตเขา จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า เพราะเหตุใดชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันจึงหวังจะเป็นผู้ไว้อาลัยแถวหน้าๆ โดยกว่า 5,000 คนวางแผนจะร่วมเดินในขบวนแห่ศพกลางนิวยอร์กซิตี แต่ชาวอเมริกันผิวขาวจำนวนมากไม่คิดเช่นนั้น หลายวันก่อนขบวนรถไฟมาถึง เทศบาลเมืองสั่งห้ามคนผิวดำร่วมขบวน  เอดวิน สแตนตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามส่งโทรเลขเกรี้ยวกราดจากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อยกเลิกคำสั่งดังกล่าว  แต่ความกลัวเกิดขึ้นแล้ว ในขบวนแห่มโหฬารบนถนนบรอดเวย์เมื่อวันที่ 24 เมษายน จึงมีชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันเพียงไม่กี่ร้อยคนรั้งอยู่ท้ายขบวน

            การย้อนรอยขบวนรถเคลื่อนศพของลิงคอล์นทุกวันนี้ คือการตอกย้ำบทเรียนอันขมขื่นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ที่เมืองบัฟฟาโล ผมแวะชมสถานที่สำคัญในศตวรรษที่สิบเก้าหลายแห่ง ไม่ใช่แค่จุดสิ้นสุดคลองอิรีซึ่งเคยเป็นประตูสู่ดินแดนแถบตะวันตกของสหรัฐฯเท่านั้น แต่ยังมีสถานที่อื่นๆ เช่น โบสถ์แบปทิสต์มิชิแกนสตรีตที่สร้างขึ้นในทศวรรษ 1840 เพื่อเป็นศูนย์รวมของชุมชนคนผิวดำที่เคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมอย่างเข้มแข็งในเมืองนี้ นักเทศน์และนักเคลื่อนไหวชื่อดังระดับประเทศขึ้นเวทีในโบสถ์หลังนี้ ขณะที่ทาสหลบหนีซ่อนตัวในห้องใต้ดิน ตลอดช่วงศตวรรษต่อมา มีร้านรวง ภัตตาคาร และสโมสรมากมายเกิดขึ้นและเฟื่องฟูในย่านที่อยู่รอบๆ

            ทุกวันนี้ บัฟฟาโลเป็นเมืองยากจนที่สุดเมืองหนึ่งและมีการแบ่งแยกสีผิวสูงที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ โบสถ์หลังเก่าตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวในเขตเมืองที่ดูวังเวง บิชอปแคลเรนซ์ มอนต์โกเมอรี บาทหลวงผู้ดูแลโบสถ์ในปัจจุบัน เล่าให้ผมฟังว่า มีวัยรุ่นอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่เรียนจบมัธยม พื้นที่รอบๆย่านนี้ส่วนใหญ่มีแต่ร้านค้าว่างเปล่าบ้านการเคหะของรัฐ และบ้านแถวชั้นเดียว ผมแปลกใจเมื่อพบว่า ห่างไปเพียงไม่กี่ช่วงตึกตามถนนมิชิแกนอเวนิว เขตเมืองที่ดูซอมซ่อกลับกลายเป็นอีกโลกหนึ่ง มีอาคารแวววาวของสำนักงาน โรงพยาบาล และโครงการก่อสร้างอื่นๆ ที่นี่คือย่านการแพทย์แห่งใหม่ของเมือง เป็นสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ยกเว้นแต่แทบทุกคนที่ผมเห็น ไม่ว่าจะเป็นคนไข้ บุคลากรทางการแพทย์ หรือคนงานก่อสร้าง ล้วนเป็นคนผิวขาว

            ในที่สุด ลิงคอล์นก็ได้รับการทำพิธีฝังที่เมืองสปริงฟีลด์เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม หรือเกือบสามสัปดาห์หลังจากเสียชีวิต

            ผมพบว่าหลุมศพออกจะน่าผิดหวัง มีการสร้างใหม่สองครั้งนับตั้งแต่ปี 1865 ครั้งล่าสุดคือช่วงทศวรรษ 1930 ด้วยสถาปัตยกรรมแบบอลังการศิลป์ (Art Deco) สภาพภายในดูเหมือนล็อบบี้สำนักงานไม่มีผิด (มีการย้ายโลงศพของลิงคอล์นไม่น้อยกว่า 14 ครั้งในช่วงหลายสิบปีหลังการทำพิธีฝังครั้งแรกสุด ราวกับไม่มีใครรู้ว่าควรทำอย่างไรกับมันดี) เรื่องราวที่จารึกยาวเหยียดบนผนังสาธยายประวัติชีวิตอย่างละเอียด ยกเว้นเพียงการประกาศเลิกทาส มัคคุเทศก์คนหนึ่งบอกกลุ่มนักท่องเที่ยวว่า ร่างของเขาฝังอยู่ใต้พื้นคอนกรีตลึกสามเมตร

            หลายชั่วโมงต่อมา ผมไปเยือนสุสานอีกแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่กี่กิโลเมตร ผมไม่เห็นใครสักคนตอนไปถึงมีเพียงป้ายหลุมศพหินสีขาวเหมือนๆกันเรียงรายแถวแล้วแถวเล่า นี่คือสุสานแห่งชาติแคมป์บัตเลอร์ที่ฝังศพผู้เสียชีวิตในสงครามกลางเมืองกว่าหนึ่งพันคน ส่วนใหญ่ล้มตายจากโรคภัยไข้เจ็บเพราะสภาพอันเลวร้ายของค่ายฝึกและเรือนจำทหารที่อยู่ใกล้ๆ ทุกคนล้วนเท่าเทียมกันภายใต้แผ่นป้ายหินอ่อนเรียบๆ ไม่ว่าจะเป็นนายทหารหรือพลทหาร ผิวดำหรือผิวขาวชาวเหนือหรือชาวใต้ เพราะที่นี่มีนักโทษฝ่ายสมาพันธรัฐหลายร้อยชีวิตที่ทอดร่างอยู่ห่างไกลจากแผ่นดินเกิดที่พวกเขาสละชีวิตปกป้อง

            ป้ายหินจำนวนมากไม่มีชื่อ แต่เกือบทั้งหมดระบุวันที่ ป้ายหลุมศพจำนวนหนึ่งระบุวันในช่วงสัปดาห์แรกและสัปดาห์ที่สองของเดือนเมษายน ซึ่งรวมถึงสองสามป้ายที่ระบุวันที่ 14 และ 15 เมษายน วันเดียวกับที่เกิดเหตุลอบสังหารในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งอยู่ไกลออกไป หนึ่งในนั้นเป็นทหารนายหนึ่งจากกองทหารผิวสีของสหรัฐฯ

            หากเลือกได้ ผมคงให้ลิงคอล์นพำนักอยู่ที่นี่ด้วย เคียงข้างสหายร่วมชาติเหล่านี้ ท่ามกลางวงล้อมแน่นหนาของเหล่าผู้วายชนม์อันทรงเกียรติ


 เรื่องโดย แอดัม กู๊ดฮาร์ต
เมษายน 2558

62
ปัญหาหมอกควันไฟคือวิกฤติซ้ำซากของภาคเหนือ อะไรคือสาเหตุที่แท้จริง และทางออกที่ยั่งยืนเป็นไปได้จริงหรือ

เกือบสิบปีมาแล้ว ที่ชาวบ้านนาก้า ตำบลยาบหัวนา อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เกือบทั้งหมู่บ้าน ผันตัวมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พวกเขาซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัท เช่นเดียวกับปุ๋ยและยาฆ่าแมลง และแปรสภาพสันเขาสลับซับซ้อนให้กลายเป็นทุ่งข้าวโพดเขียวชอุ่มในฤดูฝน ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองตองแก่ยามเข้าสู่ฤดูหนาวพร้อมรอเก็บเกี่ยว

                แม้จะมีลำห้วยไหลผ่าน แต่เนินเขาแถบนี้ก็ร้อนแล้ง ชาวบ้านบ่นว่าพวกเขาไม่สามารถสูบน้ำจากแหล่งน้ำขึ้นที่สูงได้ ดังนั้นหลังจากลองผิดลองถูกมาหลายฤดูกาล ชาวบ้านจึงตัดสินใจฝากอนาคตไว้กับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีการส่งเสริมให้ปลูกอย่างแพร่หลาย

วิธีการทำไร่ข้าวโพดบนพื้นที่สูงของชาวบ้านเป็นภัยรุนแรง เพราะเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูแล้ง ชาวบ้านจะกำจัดซากตอซังข้าวโพดที่เหลือจากฤดูกาลก่อนด้วยการเผา เพลิงผลาญตอและซังข้าวโพดลุกลามอย่างรวดเร็ว เพียงไม่กี่ชั่วโมงเนินเขาทั้งลูกก็กลายเป็นเถ้าถ่านสีดำ ส่งควันไฟสีเทาลอยขึ้นสู่อากาศไปรวมกับควันไฟจากหมู่บ้านอื่นๆ รวมตัวเป็นหมอกควันกลุ่มใหญ่ปกคลุมทั่วทั้งอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน และจังหวัดข้างเคียง

                สถานการณ์หมอกควันเป็นวงจรซ้ำซากที่ก่อร่างจากปัญหาระดับท้องถิ่น ก่อนก้าวกระโดดสู่ภัยระดับภูมิภาคและระดับชาติอย่างรวดเร็ว (บ้างว่าเป็นระดับนานาชาติไปแล้ว) ขณะที่จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ผนวกกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ยิ่งซ้ำเติมให้วิกฤติการณ์มีทีท่าว่าจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ

ภัยหมอกควันในภาคเหนือของไทย เริ่มตั้งแต่ปลายฤดูหนาวราวปีใหม่ลากยาวไปจนถึงปลายเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงเตรียมปรับพื้นที่สำหรับทำเกษตรรอบใหม่ กอปรกับเป็นช่วงที่สภาพอากาศแห้งแล้ง ต้นตอของหมอกควันมาจากการเผา ทั้งไฟในพื้นที่เกษตร ผืนป่า และครัวเรือน เป็นที่แน่ชัดว่า สาเหตุเกือบร้อยเปอร์เซนต์มาจากน้ำมือคน ไฟเปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็นเถ้าปลิวละล่องไปตามลมและหอบลอยขึ้นสู่ที่สูง เถ้าละอองแขวนลอยมีขนาดเล็กและใหญ่ต่างกันไปทว่าส่งผลกระทบเป็นวงกว้างตั้งแต่เรื่องพื้นๆ อย่างบดบังทัศนวิสัย ไปจนถึงอณูเล็กๆระดับไมครอนซึ่งอันตรายต่อปอด เป็นบ่อเกิดของโรคทางเดินหายใจและโรคแทรกซ้อนอื่นๆ

กระนั้นคำถามคือ ทั้งๆที่ภาคกลางและภาคอีสานก็อยู่ในช่วงเวลาถางไร่ไถนาเพื่อเตรียมพื้นที่ทำเกษตรและมักใช้วิธีการเผาเพื่อกำจัดเศษซากเหมือนกัน แต่ทำไมภาคเหนือจึงได้รับผลกระทบจากหมอกควันมากที่สุด

คำตอบคือสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่แตกต่างกัน “เทศกาลเผา” มักตรงกับช่วงที่ความกดอากาศสูงจากทางตอนเหนือหรือประเทศจีน แผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือของไทย ความกดอากาศสูงส่งผลให้อากาศหนาวเย็น ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมเยือน นี่คือช่วง “ไฮซีซั่น” ของการท่องเที่ยวทางเหนือ ความกดอากาศสูงจะกดทับไม่ให้อากาศจากระดับต่ำกว่าลอยขึ้นไปได้ หมอกควันจึงถูกกดให้อยู่เหนือเมือง นั่นคือปัจจัยที่หนึ่ง

ปัจจัยต่อมาคือลักษณะภูมิประเทศที่ห้อมล้อมด้วยภูเขาสูง มีร่องน้ำและเขตเมืองซึ่งมักตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่ม สันเขาสูงชันปิดล้อมไม่ให้อากาศแผ่ขยายออกไปด้านข้าง ขังให้หมอกควันที่ลอยขึ้น (และถูกกดโดยความกดอากาศสูง) อบอวลอยู่ในเมือง ถ้าเปรียบแล้วก็เหมือนน้ำขังบนถนนที่เป็นหลุมบ่อ ยิ่งไปกว่านั้น ภูเขาสูงที่โอบล้อมยังทำให้เกิด “ชั้นอุณหภูมิผกผัน” (temperature inversion) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติในพื้นที่ที่แวดล้อมด้วยหุบเขา อธิบายง่ายๆ ว่า แทนที่ยิ่งสูงอุณหภูมิจะยิ่งลดต่ำ (ทำนองยิ่งสูงยิ่งหนาว) แต่เมื่อความสูงถึงระดับหนึ่ง อุณหภูมิกลับอุ่นขึ้นแทน ปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิด“ฝาครอบล่องหน” ขังให้อากาศจากที่ต่ำไม่สามารถลอยขึ้นที่สูงได้

ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์เช่นนี้ จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะบรรเทาเบาบางปัญหาหมอกควันในช่วงเทศกาลเผา นอกเหนือจากการหยุดเผาเพื่อชะลอไม่ให้คุณภาพอากาศเลวร้ายลงกว่าที่เป็นอยู่ และก็แทบเป็นไปไม่ได้อีกเช่นกัน สำหรับภูมิประเทศที่เกษตรกรต้องกระเสือกกระสนทำไร่ตามสันดอยสูงชัน ผนวกด้วยแรงขับจากภาระหนี้สิน การเผาจึงเป็นวิธีการที่ประหยัดและง่ายที่สุดในการเตรียมพื้นที่ทำเกษตรดังนั้นแม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว ทางการจะประกาศให้การเผาในที่โล่งเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่เปลวไฟปริศนายังคงพบเห็นได้ทั่วไป และลุกลามเป็นวงกว้าง ส่งพวยควันพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าเช่นเดิม

หลายปีก่อนหน้า ทางการพยายามใช้ “ยาแรง” โดยบังคับใช้กฎหมาย จับกุมและดำเนินคดีมือเพลิง  โดยเชื่อว่าเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู แต่ภาพของผู้ถูกจับกุมกลับพลิกเป็นว่า ทางการกลั่นแกล้งชาวบ้านผู้ยากไร้ มาตรการตอบโต้ของชาวบ้านจากมุมมืดรุนแรงขึ้น และกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้าน

เมื่อทางการเรียนรู้ความล้มเหลวจากการใช้ยาแรง จึงหันมาใช้มาตรการ “น้ำเย็น” อย่างการรณรงค์และการจัดการ หรือไม่ก็พุ่งเป้าไปยังเยาวชน อุธร สุทธิมิตร ผู้อำนวยการส่วนควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ เล่าว่า ที่ผ่านมาทางการรณรงค์เปิดโอกาสให้ชาวบ้านชิงเผาเศษซากจากการทำเกษตรตั้งแต่เนิ่นๆ“ถือว่าบรรเทาลงไปได้เยอะเลยครับ”

                ความพยายามในการบรรเทาปัญหาหมอกควันด้วยวิทยาศาสตร์ ดูมีน้ำมีเนื้อมากกว่าการรณรงค์ อย่างน้อยก็วัดผลสำเร็จได้ กองทัพอากาศพยายามใช้เครื่องบินบรรทุกน้ำโปรยลงบนพื้นที่ป่าติดไฟ ทว่าผืนป่ากว้างใหญ่เกินไปจนไม่คุ้มค่าน้ำมันเครื่องบินแต่ละเที่ยวเทคนิคการดัดแปลงสภาพอากาศเป็นอีกวิธีที่น่าสนใจ ฝนหลวงเป็นความหวังว่าจะช่วยบรรเทาฝุ่นละอองในอากาศ เครื่องบินจะใช้สารเคมี (โซเดียมคลอไรด์) เลี้ยงเมฆให้อ้วนจนอิ่มน้ำ และโจมตีให้กลายเป็นฝนโปรยลงมาชะล้างหมอกควันได้ในระดับหนึ่ง แต่อุปสรรคใหญ่คือฝนเทียมไม่สามารถทำได้ตลอดเวลาเพราะขึ้นอยู่กับความชื้นในอากาศของแต่ละวัน หนึ่งหทัย ตันติพลับทอง ผู้อำนวยการสำนักฝนหลวงและการบินเกษตรภาคเหนือ บอกว่า “ความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมในการทำฝนหลวงอยู่ที่ 60 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปค่ะ” นั่นหมายความว่าวันใดที่ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศไม่ถึงเกณฑ์ ก็เท่ากับโปรยสารเคมีในอากาศเสียเปล่า “นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมเราถึงไม่สามารถทำฝนหลวงได้ทุกที่ทุกเวลา”

ปัจจุบันความเสี่ยงจากปัญหาหมอกควันทวีความรุนแรงขึ้น ประเด็นสำคัญมาจากการขยายพื้นที่เกษตรกรรม นักสิ่งแวดล้อมโทษข้าวโพดว่าเป็นตัวการสำคัญของปัญหาหมอกควัน ภาคเหนือเป็นแหล่งปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประมาณ 4.7 ล้านไร่ นับว่ามากที่สุดในประเทศไทย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชทนแล้ง ต้องการน้ำน้อย และปลูกง่าย มีตลาดรับซื้อไม่อั้น เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ซึ่งมีความต้องการมหาศาล สะท้อนถึงความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ของเราที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง         

เรื่องโดย ราชศักดิ์ นิลศิริ
พฤกษภาคม 2558

63
เผยโฉมกลุ่มกบฏผู้อยู่เบื้องหลังความขัดแย้งภายในประเทศที่หยั่งรากลึกที่สุดและดำเนินมายาวนานที่สุดของอินเดีย

ชายมือปืนซึ่งอาศัยอยู่ในแถบชายป่าผู้นี้มีชีวิตและลาโลกไปพร้อมชื่อหลากหลาย บางคนรู้จักเขาในชื่อปราชานต์  คนอื่นๆอาจรู้จักเขาในชื่อปรัมจิต  บางครั้งเขาเรียกตัวเองว่าโคปัลชี  นัยว่าเป็นการแลกเปลี่ยนชื่อปลอมกับหัวหน้ากลุ่มกบฎอีกรายเพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ทางการอินเดียที่พยายามตามล่าเขา

ตอนที่เราพบกัน  เขาเพิ่งฆ่าคนมาหมาดๆ และแนะนำตัวด้วยอีกชื่อหนึ่งว่า "สหายมนัส"  ขณะนำร่างผอมบางก้าวออกมาจากเงามืดใต้ต้นวอลนัตพร้อมปืนกลในมือ

เย็นย่ำแล้ว ดวงตะวันคล้อยต่ำ  เงามืดของมือปืนคนอื่นๆอีกสิบกว่าคนหลบซุ่มอยู่ท่ามกลางนาข้าวสีเขียวเข้มที่อยู่ใกล้ๆพวกเขาคอยระแวดระวังและเฝ้ารอ มนัสและพรรคพวกกำลังออกเดินทาง จึงไม่มีเวลาพูดคุยมากนัก

ในอินเดีย พวกเขาเป็นที่รู้จักในชื่อซึ่งเป็นคำคำเดียวว่า  “นักซาไลต์” (Naxalite)  หรือกลุ่มกบฏลัทธิเหมา ผู้เป็นตัวการสำคัญของความขัดแย้งภายในประเทศที่รากหยั่งลึกที่สุดและดำเนินมายาวนานที่สุดของอินเดีย ทุกวันนี้ สงครามที่ยืดเยื้อยาวนานหลายสิบปีของพวกเขาทำให้ผู้คนล้มตายมากกว่าความขัดแย้งในแคว้นแคชเมียร์ที่เริ่มคลี่คลายลงเสียอีก มานโมฮัน ซิงห์ อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดีย เคยเรียกสงครามนี้ว่า "ภัยคุกคามความมั่นคงภายในที่ร้ายแรงที่สุด"

ระหว่างเหตุรุนแรงที่ประทุขึ้นในช่วง 24 ชั่วโมงก่อนการนัดพบของเรา  มนัสซึ่งมีอายุแค่ 27 ปีกับพลพรรคของเขา สังหารตำรวจไปหกนาย และทำให้อีกแปดนายได้รับบาดเจ็บระหว่างการซุ่มโจมตีตามแนวเนินเขาเตี้ยๆ อันเป็นฐานที่มั่นของเขาที่เรานัดพบกันวันนี้

หากว่ากันตามจริงแล้ว  พวกนักซาไลต์ควรเป็นเพียงเศษซากจากอดีต  มากกว่าจะเป็นกลุ่มกบฎที่ฆ่าฟันผู้คนในนามเหมาเจ๋อตง  ผู้นำคอมมิวนิสต์ชาวจีนผู้สิ้นชีพไปนานแล้ว  ซ้ำยังเกิดขึ้นในประเทศที่เขาไม่เคยเหยียบย่างไปด้วยซ้ำ แถมยังเป็นประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์อีกด้วย กระนั้น สงครามของพวกเขาที่สู้รบท่ามกลางความเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมพลังงานของอินเดีย กลับได้รับการต่อลมหายใจด้วยความต้องการการพัฒนาและแรงขับจากระบบเศรษฐกิจในระดับโลกเมื่อการแสวงประโยชน์จากสินแร่และสิทธิในที่ดินกลายเป็นตัวกระตุ้นให้การก่อความไม่สงบฟื้นคืนอีกครั้ง

ในแง่นี้ ความต้องการพลังงานของอินเดียและความกระหายวัตถุดิบของวงการอุตสาหกรรมข้างต้น ไม่เพียงเชื่อมโยงนักฆ่าผู้กราดเกรี้ยวในป่าดงเข้ากับถ่านหิน เหล็ก และการผลิตไฟฟ้า แต่ยังหลอมรวมกลุ่มนักซาไลต์ให้เป็นปึกแผ่นกับชุมชนด้อยโอกาสที่สุดกลุ่มหนึ่งของอินเดีย  นั่นคือชนเผ่าอาทิวาสี  ชนพื้นเมืองดั้งเดิมกลุ่มแรกที่ใช้ชีวิตอยู่ในอินเดีย   และแทนที่จะเป็นความด่างพร้อยจากอดีต กลุ่มกบฎนักซาไลต์ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกลไกอย่างการข่มขู่  การรีดไถ และความรุนแรง กลับกลายเป็นสัญลักษณ์ของความขัดแย้งที่ชี้นำอนาคต ทำให้การพัฒนากลายเป็นคู่ขัดแย้งกับขนบประเพณี โดยมีรัฐต่างๆที่มีสินแร่มั่งคั่งที่สุดของอินเดียเป็นจุดศูนย์กลาง

แน่ล่ะว่า สหายมนัสซึ่งเป็นถึง "ผู้บัญชาการระดับเขต" ของนักซาไลต์ ทั้งๆที่อายุยังน้อย  ดูมั่นอกมั่นใจมากว่า  ความทุกข์ระทมของคนยากไร้ที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำทางสังคมจะช่วยให้การต่อสู้ของเขาได้รับชัยชนะในที่สุด เขามองไกลไปถึงว่าการโค่นล้มรัฐบาลที่กรุงเดลีเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง

"เสือที่โตเต็มวัยย่อมแก่ตัว  แล้วก็ตายครับ" เขารับประกันกับผม ดวงตาเป็นประกายลุกโชนแบบเดียวกับสหายร่วมอุดมการณ์หัวรุนแรงที่พบเห็นได้ทั่วโลก  "ไม่ต่างจากรัฐบาลที่พวกเราพยายามโค่นล้ม ซึ่งแก่ตัวและผุพังลงเรื่อยๆ จนใกล้ตายอยู่รอมร่อ การปฏิวัติของพวกเรายังเยาว์วัยและมีแต่จะเติบโตงอกงาม นี่คือกฎแห่งจักรวาลครับ ในการต่อสู้ระหว่างนักการเมืองกับสังคมใหม่ที่ปกครองโดยประชาชน  ประชาชนจะเป็นฝ่ายชนะ"

เขาพูดจนแสงสุดท้ายของวันลับหายไปหลังแนวไม้  ก่อนจะเดินหายลับไปในเงามืดอย่างเงียบเชียบพร้อมคนของเขา กองกำลังความมั่นคงกำลังคืบใกล้เข้ามา พวกเขาไม่อยากถูกตีวงล้อม

ครั้งต่อมาที่ผมเห็นหน้าเขา สหายมนัสเสียชีวิตแล้ว ใบหน้าเขาจ้องมองผมมาจากภาพถ่ายบนแท่นบูชาข้างทางแห่งหนึ่งในหมู่บ้านยากไร้อันเป็นบ้านเกิดของเขา  ชาวบ้านที่นั่นบอกผมว่า เขาถูกฆ่าในเหตุยิงต่อสู้กันไม่นานหลังเราพบกัน เมื่อได้อ่านข้อความจารึกบนแผ่นหินหน้าหลุมศพ ผมถึงได้รู้จักตัวตนที่แท้จริงของชายกบฎผู้มีหลายนามคนนี้ เขาชื่อ ลาเลศ

 

กลุ่มนักซาไลต์ตั้งชื่อตามชื่อหมู่บ้านนักซาลบารีในรัฐเบงกอลตะวันตก  ย้อนหลังไปเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 1967 เกิดเหตุชาวไร่ชาวนาลุกฮือต่อต้านต่อเจ้าของที่ดิน แต่ล้มเหลว  เหตุการณ์นั้นทำให้สารวัตรตำรวจนายหนึ่งเสียชีวิตจากคมธนู เหตุนองเลือดดังกล่าวให้กำเนิดขบวนการเคลื่อนไหวที่กระจัดกระจาย ปราศจากรูปร่างชัดเจน และยึดการปฏิวัติเกษตรกรรมของลัทธิเหมาเป็นต้นแบบอย่างหลวมๆ นับจากนั้นมา กลุ่มกบฏลัทธิเหมาก็เป็นที่รู้จักในชื่อ นักซาไลต์

แหล่งพักพิงของพวกเขาคือป่าทัณฑะการันยะ  ผืนป่ากว้างใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ 92,200 ตารางกิโลเมตร  ชื่อภาษาสันสกฤตนี้แปลคร่าวๆได้ว่า  ป่าแห่งการลงทันฑ์   ป่าทัณฑะการันยะซึ่งแผ่กว้างคร่อมพื้นที่หลายรัฐรวมถึงรัฐฉัตติสครห์และรัฐอานธรประเทศ  เปรียบเหมือนฐานที่มั่นหรือป้อมปราการของกลุ่มนักซาไลต์  นั่นคือป่าอพุชมรห์ ป่าดงกลางพงไพรและหนึ่งในดินแดนผืนสุดท้ายของอินเดียที่เข้าถึงได้ยากและยังไม่รับการสำรวจอย่างทั่วถึง

ความตายปรากฏโฉมหลายในหลายรูปแบบกลางป่าแห่งนั้น กลุ่มนักซาไลต์ฆ่าตำรวจและกองกำลังรบกึ่งทหารด้วยระเบิดข้างถนนและการซุ่มโจมตี  ตำรวจฆ่าพวกนักซาไลต์ใน "เหตุเผชิญหน้า" ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นหมายรวมทั้งการยิงปะทะกันซึ่งหน้าและการฆ่าแบบหมายหัว ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสายให้รัฐบาลถูกจับขึ้นศาลประชาชน แล้วสำเร็จโทษด้วยขวานหรือมีด ส่งผลให้อัตราการฆาตกรรมพุ่งสูงขึ้น และไม่รวมอยู่ในจำนวนผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บอย่างเป็นทางการจากความขัดแย้งนี้ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 12,000 คนในช่วง 20  ปีที่ผ่านมา

กลุ่มผู้นิยมลัทธิเหมากลุ่มแรกซึ่งเป็นพวกชนชั้นกลางหัวรุนแรงและฝักใฝ่คอมมิวนิสต์จากรัฐอานธรประเทศมาถึงป่าป่าอพุชมรห์ในปี 1989 โดยหลบหนีการปราบปรามของเจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่น ขบวนการดังกล่าวอาจล่มสลายไปตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว แต่ป่าอพุชมรห์กลับกลายเป็นดั่งน้ำอมฤตสำหรับนักปฏิวัติลัทธิเหมา ณ ดินแดนกลางป่าลึกแห่งนี้ พวกเขาพบฐานผู้สนับสนุนใหม่อย่างง่ายดายจากชาวเผ่าอาทิวาสี

                คำว่า อาทิวาสี เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า "พื้นเมืองดั้งเดิม" หรือ "ผู้ตั้งรกรากดั้งเดิม" ชาวอาทิวาสีได้รับการรับรองสถานะความเป็นกลุ่มชนเผ่าตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของอินเดีย พวกเขามีอยู่ด้วยกัน 84 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 6.8 ของประชากรอินเดีย และอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดภายในและรอบๆป่าทัณฑะการันยะ

คงเป็นการง่ายเกินไปหากจะอธิบายว่า ขบวนการนักซาไลต์ประกอบด้วยชนเผ่าอาทิวาสีล้วนๆ กองกำลังขององค์กรนี้ไม่ได้มีแค่สมาชิกกลุ่มชนเผ่าตามกฎหมายของอินเดีย แต่ยังมีนักศึกษาชนชั้นกลาง กลุ่มดาลิต (คนในวรรณะจัณฑาล) ซึ่งเป็นวรรณะต่ำสุด และรวมถึงนักรบจำนวนมากจากกลุ่มชนด้อยโอกาสทางสังคมของอินเดีย

ความไม่ประสีประสาต่อโลกและความเปราะบางทำให้ชาวอาทิวาสีในป่าอพุชมรห์พร้อมที่จะอ้าแขนรับผู้ร้ายหลบหนีให้อยู่ร่วมชุมชนด้วย และหลังจากสัมผัสอุดมการณ์ลัทธิเหมาติดต่อนานกันหลายปี พวกเขาหลายคนก็กลายเป็นกำลังพลใหม่ของขบวนการนักซาไลต์

ในประเทศที่ประชากรเกือบ 180 ล้านคนมีชีวิตรอดด้วยเงินไม่ถึงสองดอลลาร์สหรัฐต่อวัน และการสั่งเครื่องดื่มเพียงรอบหนึ่งของคนมีอันจะกินในบาร์กลางกรุงนิวเดลีอาจแพงกว่าเงินเดือนชาวไร่คนหนึ่งหลายเท่าตัว จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่กลุ่มกองกำลังลัทธิคอมมิวนิสต์จะเฟื่องฟูขึ้นในพื้นที่ถูกทอดทิ้งและห่างไกลจากการกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่รัฐ 

ทว่าสิ่งที่ทำให้การต่อสู้ของกลุ่มนักซาไลต์ดูเหมือนเป็นเรื่องตลกร้าย และทำให้พวกเขาสร้างผลกระทบต่ออนาคต ของประเทศได้อย่างมหาศาลคือข้อเท็จจริงที่ว่า จุดศูนย์กลางของขบวนการนี้ตั้งอยู่ ณ ดินแดนอันเป็นศูนย์กลางแห่งความมั่งคั่งทางสินแร่ของอินเดีย มรดกทางธรรมชาติอันรุ่มรวยนี้เป็นปัจจัยสำคัญในแผนการของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ที่จะชุบชีวิตเศรษฐกิจอันร่อแร่ของอินเดีย และส่งกระแสไฟฟ้าไปยังบ้านเรือนหนึ่งในสามของประเทศ หรือคิดเป็นประชากรร่วม 300 ล้านคนที่ยังใช้ชีวิตอยู่ในความมืด

เรื่องโดย แอนโทนี ลอยด์
พฤกษภาคม 2558

64
การบาดเจ็บของสมองจากแรงระเบิดกลายเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของปฏิบัติการทางทหารในอิรักและอัฟกานิสถาน

ในที่กำบัง ฉันอุดหูแน่นระหว่างนั่งรออยู่กับหน่วยถอดทำลายวัตถุระเบิด  ด้านนอก  ระเบิดทดสอบหมายเลข 52 ที่ต่อเข้ากับสายชนวนยาว 6 เมตร  ถูกติดด้วยเทปกาวไว้อย่างแน่นหนากับผนังห้องไม้อัดที่มีประตูเหล็กกันไฟ  ฉันเริ่มได้ยินเสียงนับถอยหลังจากห้า ตามมาด้วยเสียงระเบิดดัง “ตูม” และแรงกระแทกหนักๆกระทบเข้าที่กลางอกฉัน แรงกระแทกลักษณะนี้เป็นประสบการณ์ตรงของผู้ที่อยู่ใกล้แรงระเบิด  “คุณรู้สึกถึงแรงกระแทกใช่ไหมครับ” ทหารคนหนึ่งในหน่วยถามฉัน “ผมเคยอยู่ในเหตุการณ์ระเบิดหลายครั้ง  ถึงจะอยู่ห่างออกไปหลายร้อยหรือบางทีถึงหลายพันฟุต  ก็ยังรู้สึกได้ถึงแรงกระแทกครับ”

ปริศนาของผลกระทบที่เกิดจากแรงกระแทกพาฉันไปถึงแนวทิ้งระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งอยู่ห่างจากเมือง เดนเวอร์ รัฐโคโลราโดไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 65 กิโลเมตร ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ใช้เป็นที่ทดสอบและศึกษาการระเบิดที่อยู่ภายใต้การควบคุม ซึ่งทหารใช้ในการระเบิดกำแพงและประตูในพื้นที่การสู้รบ อันเป็นปฏิบัติที่ใช้กันทั่วไปในสงครามสมัยใหม่ จุดประสงค์ของการทดสอบเหล่านี้คือการหาคำตอบว่า  แรงกระแทกจากระเบิดส่งผลกระทบต่อสมองมนุษย์อย่างไร

รายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯระบุว่า ระหว่างปี 2001 ถึง 2014 มีทหารและทหารผ่านศึกราว 230,000 นายได้รับการวินิจฉัยว่า เจ็บป่วยจากการบาดเจ็บที่สมอง (traumatic brain injury: TBI) ระดับไม่รุนแรง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการได้รับหรือสัมผัสแรงระเบิด  อาการมีหลากหลาย ตั้งแต่ปวดศีรษะ ชัก  การเคลื่อนไหวผิดปกติ  มีปัญหาเรื่องการนอนหลับและการมองเห็น มึนงง ได้ยินเสียงกระดิ่งในหู อารมณ์แปรปรวน เรื่อยไปจนถึงมีปัญหาด้านการรับรู้ ความจำและการพูด  อันที่จริง อาการเหล่านี้คล้ายคลึงกับอาการของความเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรือพีทีเอสดี (post traumatic stress disorder: PTSD)

แม้การบาดเจ็บดังกล่าวจะพบได้ทั่วไปและบ่อยครั้ง แต่คำถามพื้นฐานสำคัญหลายประการของการบาดเจ็บชนิดนี้กลับยังไม่มีคำตอบ ภาวะเช่นนี้ยังไม่มีการวินิจฉัยที่แน่ชัด อีกทั้งยังไม่มีวิธีป้องกันและการรักษา  และที่สำคัญที่สุดวงการแพทย์ยังไม่เห็นพ้องต้องกันว่า  การบาดเจ็บจากแรงระเบิดส่งผลอย่างไรต่อสมอง  หรือมีกลไกทำให้สมองบาดเจ็บได้อย่างไร

ตูม: ในสนามทดสอบ การระเบิดหนึ่งครั้งเผยให้เห็นการผสมผสานขององค์ประกอบต่างๆที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน     ซึ่งแต่ละอย่างสร้างความเสียหายหรือเป็นอันตรายแตกต่างกันไป การจุดระเบิดทำให้ก๊าซต่างๆขยายตัวอย่างกะทันหัน และผลักดันกำแพงทรงกลมของก๊าซและอากาศให้ขยายออกด้วยความเร็วเหนือเสียง คลื่นกระแทกนี้จะห่อหุ้มวัตถุใดๆ ก็ตามที่มันปะทะด้วยความดันสถิตไว้เหมือนกับลูกบอลลูน ในระยะที่เกิดขึ้นเพียงชั่วพริบตานี้หรือที่เรียกกันว่า ผลกระทบปฐมภูมิจากแรงระเบิด คนที่อยู่ภายในรัศมีจะไม่มีการเคลื่อนไหว ต่อมาความดันสถิตจะลดลงอย่างฮวบฮาบ ทำให้เกิดภาวะสุญญากาศตามด้วยผลกระทบทุติยภูมิจากแรงระเบิด ลมความเร็วเหนือเสียงจะไหลบ่าเข้าสู่สุญญากาศ ทำให้วัตถุกระเด็นกระดอนและแตกกระจาย  และเปลี่ยนเศษซากสิ่งของให้กลายเป็นลูกกระสุนทะลุทะลวงความเร็วสูง แรงลมนี้ยังทำให้เกิดผลกระทบตติยภูมิจากแรงระเบิดซึ่งจะโยนคนหรือแม้แต่ยานเกราะหนัก 13 ตันให้ลอยขึ้นสู่อากาศได้ ก่อนจะทำให้ตกลงมากระแทกกำแพง หิน และถนนฝุ่นตลบ  ส่วนผลกระทบจตุรภูมิจากแรงระเบิด ได้แก่การบาดเจ็บอื่นๆ เช่น แผลไฟไหม้ การระคายเคืองจากสารเคมี และการสำลักฝุ่น

ความลึกลับซ่อนอยู่ในผลกระทบปฐมภูมิจากแรงระเบิด  ทฤษฎีที่อธิบายมีอยู่หลากหลาย เป็นต้นว่า คลื่นกระแทกเข้าสู่สมองผ่านทางช่องเปิดของกะโหลกอย่างดวงตา จมูก หู ปาก  และทำให้เกิดการบาดเจ็บใช่หรือไม่   ถ้าเป็นเช่นนั้น  กระบวนการนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร หรือความดันจากคลื่นกระแทกภายนอกปะทะหน้าอก แล้วส่งผ่านไปตามระบบหลอดเลือดเข้าสู่สมอง ทหารส่วนใหญ่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่า ได้รับบาดเจ็บทางระบบประสาท (neurotrauma) จากการระเบิดยังถูกแรงระเบิดหอบจนตัวลอยหรือถูกแรงลมปะทะจนตัวสั่นอีกด้วย ถ้าเช่นนั้น การบาดเจ็บทางระบบประสาทในทหารอาจเป็นแค่การกระแทกกระเทือนทางสมองแบบใหม่ใช่หรือไม่

การทดลองในรัฐโคโลราโดเป็นผลสืบเนื่องจากการศึกษาครั้งสำคัญเมื่อปี 2008 โดยหน่วยถอดทำลายวัตถุระเบิด (breacher) และมีรายงานอยู่เนืองๆว่า ทหารเหล่านี้มีอุบัติการณ์การเจ็บป่วยจากอาการทางประสาทสูงมาก  โครงการศึกษาที่นำโดยโรงเรียนเตรียมทหารด้านยุทโธปกรณ์ในสังกัดนาวิกโยธินสหรัฐฯ ติดตามผู้ฝึกสอนและนักเรียนในช่วงการฝึกใช้วัตถุระเบิดนานสองสัปดาห์ และพบว่า  หลายวันหลังการระเบิดครั้งใหญ่ ๆ ทหารในสังกัดรายงานว่ามีอาการปวดตื้อๆบริเวณหน้าอกและหลัง “เหมือนถูกต่อย” เช่นเดียวกับอาการปวดศีรษะที่ “เริ่มจากอาการปวดแปลบบริเวณหน้าผาก ร้าวลงไปยังหลังหูและแนวขากรรไกร”

ที่สำคัญกว่านั้น การทดสอบด้านประสาทพฤติกรรม หรือพฤติกรรมการตอบสนองการทํางานของระบบประสาท (neurobehavior) ก่อนและหลังการฝึกแสดงให้เห็น “สิ่งที่บ่งชี้ว่าผู้ฝึกสอนมีสมรรถนะลดลงเล็กน้อย” เพราะได้รับแรงระเบิดบ่อยครั้งกว่านักเรียน สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า การได้รับแรงระเบิดซ้ำๆ ซึ่งแม้จะไม่รุนแรงในเวลาแค่สองสัปดาห์ก็ทำให้สมองเกิดการบาดเจ็บได้แล้ว

 

ในที่กำบัง เรารอให้ควันจางลง  แล้วจึงเดินเข้าไปสู่อากาศที่ยังร้อนจากการระเบิด ประตูอาคารถูกระเบิดออก กำแพงฝั่งตรงข้ามแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย  โครงและคานส่วนใหญ่บิดงอ  มาตรวัดความดันที่ศีรษะและหน้าอกบันทึกแรงระเบิดสะท้อนกลับจากมุมและผนังห้อง

ระเบิดหมายเลข 52 เป็นหนึ่งในชุดระเบิดที่จะช่วยสร้างความกระจ่างเกี่ยวกับปรากฏการณ์แรงระเบิดสะท้อนกลับซึ่งเป็นการสะท้อนของแรงดันระเบิดจากพื้นผิว ขณะที่การศึกษาอื่นๆมุ่งตรวจสอบระยะเวลาที่ได้รับแรงระเบิด  รวมทั้งความถี่และชนิดของการระเบิด ชาร์ลส์ นีแดม ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านฟิสิกส์ของการระเบิด  เป็นหัวหน้าผู้วิเคราะห์ผลการทดลอง ในพื้นที่ครั้งนี้ เขาศึกษากราฟที่สร้างขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อมองหาบริเวณที่ความดันแกว่งขึ้นลงสลับกันห้ารอบ ก่อนจะกลายเป็นเส้นตรง  ทั้งหมดนี้กินเวลาประมาณ 65  มิลลิวินาที เวลา 100 มิลลิวินาทีเป็นเวลาที่สั้นที่สุดที่มนุษย์จะตอบสนองต่อการกระตุ้นต่างๆ ระยะเวลาที่คลื่นกระแทกกระทบมาตรวัดบนผนังนั้นน้อยกว่า 5 มิลลิวินาที  นีแดมชี้ว่า “ไม่ว่าคุณจะอยู่ตรงไหนในห้องนั้น คุณก็ไม่มีทางหนีพ้นหรอกครับ”

เรื่องโดย แคโรไลน์ อเล็กซานเดอร์
พฤกษาคม 2558

65
อนาคตของพืชผลราวหนึ่งในสามของโลกฝากไว้กับชะตากรรมของหมู่ภมรที่กำลังถูกคุกคามจากศัตรูผู้น่าพรั่นพรึง

ภราดาแอดัมคงรู้แก่ใจดีว่า ตนเริ่มเลี้ยงผึ้งในช่วงเวลาอับโชค ตอนนั้นคือปี 1915 และท่านยังเป็นเพียงพระนวกะวัย 16 ปีที่อารามบักฟาสต์ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ  แม้ว่าการตายยกรังอย่างรวดเร็วของผึ้งจะมีบันทึกไว้หลายศตวรรษแล้ว แต่หายนะที่นักบวชหนุ่มเผชิญอยู่ขณะนั้นยังไม่เคยปรากฏมาก่อน โรคลึกลับได้กวาดล้างโรงเลี้ยงผึ้งเกือบทุกแห่งบนเกาะไอล์ออฟไวต์

ในที่สุดนักวิทยาศาสตร์ก็สามารถเชื่อมโยงโรคลึกลับกับไวรัสที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ทว่าผลการวิจัยมาช้าเกินกว่าจะช่วยผึ้งสีน้ำตาลแก่พันธุ์พื้นเมืองของอังกฤษเอาไว้ได้ รวงผึ้งที่เหลือรอดเกือบทั้งหมดเป็นผึ้งลูกผสมซึ่งเกิดจากผึ้งสายพันธุ์พื้นเมืองกับนางพญาผึ้งต่างถิ่น ความแข็งแกร่งที่เหนือกว่าอย่างเห็นได้ชัดนี้จุดประกายให้ภราดาแอดัมคิดพัฒนาสายพันธุ์ผึ้งที่ต้านทานโรคได้ดี

ในปี 1950 หลังจากเตรียมการมานานหลายปี ในที่สุดภราดาแอดัมก็สบโอกาส เขาจะใช้เวลาตลอด 37 ปีหลังจากนั้นขับรถคันเก่าซอมซ่อของอารามตระเวนไปทั่วยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เพื่อเสาะหาและรวบรวมนางพญาผึ้งกว่า 1,500 ตัว ซึ่งมีตั้งแต่ผึ้งสุดขยันจากตอนเหนือของตุรกี ผึ้งสายพันธุ์ผสมหลากหลายบนเกาะครีต ผึ้งสายพันธุ์โดดเดี่ยวจากโอเอซิสต่างๆในทะเลทรายสะฮารา ผึ้งสีนิลแห่งโมร็อกโก ผึ้งสีส้มตัวกะจิริดจากแม่น้ำไนล์ ไปจนถึงผึ้งที่เชื่อว่าเยือกเย็นรักสงบที่สุดจากภูเขาคิลิมันจาโร ก่อนจะนำผึ้งต่างแดนเหล่านี้ไปยังโรงเลี้ยงผึ้งที่ตั้งอยู่กลางทุ่งมัวร์ห่างไกลจากผึ้งอื่นๆที่มียีนไม่พึงประสงค์ เขาทำการผสมพันธุ์ผึ้งนับครั้งไม่ถ้วนในสภาพแวดล้อมอันโดดเดี่ยวและเป็นธรรมชาติ จนเกิดเป็นผึ้งบักฟาสต์ (Buckfast bee) ซึ่งได้รับการขนานนามอย่างรวดเร็วว่า ยอดผึ้งหรือซูเปอร์บี (superbee) ผึ้งสีน้ำตาลที่ทรหดอดทนนี้ไม่ค่อยต่อย ขยันเป็นเลิศ และทนทานต่อโรคที่ภายหลังเรียกกันว่า โรคไอล์ออฟไวต์ พอถึงทศวรรษ 1980 ผึ้งบักฟาสต์ก็ส่งขายไปทั่วโลก

แต่แล้วหมู่ภมรก็ตกอยู่ในอันตรายอีกครั้ง เมื่อไรเอเชีย Varroa destructor เจ้าของชื่อที่สื่อถึงการทำลายล้างรุกรานเข้าสู่ยุโรปและสหรัฐฯ “มีเพียงเผ่าพันธุ์หรือสายพันธุ์ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมต้านทานโรคได้อย่างแท้จริงเท่านั้น” ที่จะเป็น “คำตอบสุดท้ายสำหรับภัยคุกคามนี้” ภราดาแอดัมประกาศเมื่อปี 1991 แต่ยังไม่ทันที่เขาจะลงมือเริ่มงาน คุณพ่ออธิการของอารามบักฟาสต์ซึ่งเห็นว่าชื่อเสียงขจรขจายของภราดาแอดัมขัดแย้งกับบทบาทความเป็นนักบวช จึงปลดเขาออกจากหน้าที่คนเลี้ยงผึ้ง ภราดาแอดัมตรอมใจตายในปี 1996

ในระหว่างนั้น สถานการณ์ในแวดวงคนเลี้ยงผึ้งมีแต่จะเลวร้ายลง ในปี 2007 รายงานเกี่ยวกับ “ปรากฏการณ์รังผึ้งล่มสลาย” (colony collapse disorder) หรือการตายอย่างรวดเร็วและรุนแรงของผึ้งทั้งคอโลนี จู่ๆก็ปรากฏขึ้นราวดอกเห็ดทั่วทวีปยุโรปและอเมริกา รายงานข่าวเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า “ภัยคุกคามต่อเกษตรกรรมทั่วโลก” และ “มหันตภัยที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนบนโลกใบนี้” จะว่าไปพาดหัวข่าวก็ฟังดูสมเหตุสมผล เพราะการถ่ายเรณูด้วยแมลงซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลงานของผึ้งมีความสำคัญยิ่งต่อแหล่งอาหารถึงราวหนึ่งในสามของโลก

นักวิจัยผึ้งซึ่งหลายคนได้แรงบันดาลใจจากภราดาแอดัม เร่งทำความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์รังผึ้งล่มสลาย ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่านี่ไม่ใช่ปัญหาเดียวอย่างที่คิดกันในตอนแรก หากเป็นการผสมผสานกันของปัญหาแมลงรบกวน เชื้อโรค การสูญเสียถิ่นอาศัย และสารเคมีเป็นพิษ โดยมีไรสกุล Varroa เป็นองค์ประกอบสำคัญ ทุกวันนี้ ผู้เลี้ยงผึ้งรายใหญ่ส่วนมากใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อกำจัดไร ซึ่งอย่างดีที่สุดก็เป็นได้แค่วิธีแก้ปัญหาแบบชั่วคราว เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี นักวิจัยผึ้งจำนวนหนึ่งหันกลับไปใช้วิธีของภราดาแอดัม นั่นคือการสร้างยอดผึ้งรุ่นใหม่ เพียงแต่ในครั้งนี้เป็นการใช้เครื่องไม้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยกว่า ซึ่งรวมถึงการดัดแปรพันธุกรรม ขณะที่บางส่วนเลือกหนทางตรงกันข้ามซึ่งเป็นธรรมชาติยิ่งกว่าวิธีของภราดาแอดัมเสียอีก กล่าวคือ ไม่ใช้สารเคมี ไม่ก้าวก่ายดัดแปลง แค่ปล่อยให้ผึ้งวิวัฒน์ไปตามวิถีทางของตนเอง!

เกษตรกรส่วนใหญ่ที่ประสบปัญหาแมลงศัตรูพืชมักหันไปพึ่งยาฆ่าแมลง ที่ผ่านมาบริษัทเคมีภัณฑ์หลายแห่งค้นพบยาฆ่าไรที่ได้ผลมากกว่าสิบขนาน สารเคมีเหล่านี้ใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ไม่มีนักวิจัยผึ้ง เกษตรกร ผู้เลี้ยงผึ้งเชิงพาณิชย์ หรือกระทั่งคนเลี้ยงผึ้งเป็นงานอดิเรกที่ผมได้พูดคุยด้วยแม้แต่คนเดียว พอใจกับการใส่สารพิษลงไปในรวงผึ้ง นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังรายงานว่า ไรสกุล Varroa หลายชนิดดื้อยาฆ่าไรที่วางขายอยู่ในท้องตลาดแล้ว

บริษัทบีโอโลจิกส์ (Beeologics) ในเครือมอนซานโต บรรษัทเกษตรและเคมีภัณฑ์ข้ามชาติ มองเห็นวิธีที่แตกต่างและน่าจะปลอดสารพิษด้วยการใช้อาร์เอ็นเอไอ (Ribonucleic acid interference: RNAi) โมเลกุลอาร์เอ็นเอในเซลล์เป็นตัวนำข้อมูลจากยีนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโมเลกุลดีเอ็นเอไปยังระบบกลไกของเซลล์ที่ผลิตโปรตีนอันเป็นองค์ประกอบทางเคมีสำคัญต่อชีวิต โปรตีนแต่ละชนิดมีองค์ประกอบเฉพาะ เช่นเดียวกับอาร์เอ็นเอและยีนที่เกี่ยวเนื่อง ในกระบวนการแทรกแซง (interference) อาร์เอ็นเอ สารที่ออกแบบมาให้โจมตีสิ่งผิดปกติในอาร์เอ็นเอจะพุ่งเป้าไปที่เซลล์นั้นๆ การทำลายอาร์เอ็นเอในลักษณะดังกล่าวเป็นการตัดความเชื่อมโยงระหว่างยีนกับโปรตีนในยีน วิธีการของบีโอโลจิกส์จะเลี้ยงผึ้งด้วยน้ำเชื่อมที่มีส่วนผสมของอาร์เอ็นเอไอซึ่งจะพุ่งเป้าเล่นงานอาร์เอ็นเอของไรอีกทอดหนึ่ง ในทางทฤษฎีสารละลายน้ำเชื่อมนี้จะไม่ส่งผลต่อผึ้ง แต่เมื่อไรดูดเลือดจากผึ้งก็จะได้รับอาร์เอ็นเอไอ และนั่นควรจะส่งผลต่อไร

มาร์ลา สปีแวก นักวิจัยด้านผึ้งจากมหาวิทยาลัยมินนิโซตาแย้งว่า  ปัญหาคืออาร์เอ็นเอไอยังเป็นเครื่องมือเพื่อวัตถุประสงค์เดียว  “หากคุณพุ่งเป้าไปที่เรื่องเรื่องเดียว [อย่างกรณีนี้คืออาร์เอ็นเอของไร] สิ่งมีชีวิตจะหาวิธีหลีกเลี่ยงได้เสมอ” เธอเห็นว่า หากต้องการจัดการกับปรากฏการณ์รังผึ้งล่มสลายอย่างได้ผล ถึงที่สุดแล้วเราต้องมีผึ้งที่ “สุขภาพดีกว่า แข็งแรงกว่า” เป็นสายพันธุ์ที่รับมือกับไรและโรคได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากมนุษย์

เรื่องโดย ชาร์ลส์ ซี. แมนน์
พฤกษภาคม 2558

66
เราจะใช้ประโยชน์จากพลานุภาพของแม่น้ำโขง พร้อมๆไปกับการพิทักษ์ความอุดมสมบูรณ์ของลำน้ำสายนี้ไว้ได้อย่างไร

แม่น้ำโขงถือกำเนิด ณ ที่ราบสูงทิเบต  แล้วไหลรี่เป็นระยะทางราว 4,200 กิโลเมตร ผ่านประเทศจีน เมียนมาร์ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ก่อนจะไหลออกสู่ทะเลจีนใต้ นับเป็นแม่น้ำสายยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยาวเป็นลำดับเจ็ดในทวีปเอเชีย ทว่าเหนือสิ่งอื่นใดสำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสายนี้ แม่น้ำโขงถือเป็นแหล่งประมงน้ำจืดอันอุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลก ปลาจากแม่น้ำโขงมากกว่า 500 สายพันธุ์เท่าที่รู้จักกันหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนหลายล้านคน

ทว่าโกรกธารแคบๆและน้ำตกเชี่ยวกรากของแม่น้ำโขง ก็เป็นสิ่งเย้ายวนสำหรับนักสร้างเขื่อนมานานแล้ว ในช่วงทศวรรษ 1960 สหรัฐฯสนับสนุนการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำจำนวนหนึ่งบนแม่น้ำโขงตอนล่าง โดยหวังจะพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคนั้น พร้อมกับขัดขวางลัทธิคอมมิวนิสต์ที่กำลังผงาดขึ้นในเวียดนาม แผนที่ว่าประสบความชะงักงัน ภูมิภาคดังกล่าวดิ่งสู่ภาวะสงคราม ครั้นล่วงถึงทศวรรษ 1990 จีนกลับเป็นประเทศแรกที่สร้างเขื่อนบนลำน้ำสายหลักของแม่น้ำโขง

ปัจจุบัน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จัดว่าค่อนข้างสงบสุข และโดยทั่วไปเศรษฐกิจก็เติบโตดี แต่กลับมีชาวกัมพูชาเพียงหนึ่งในสามและชาวลาวมากกว่าสองในสามเล็กน้อยเท่านั้นที่มีไฟฟ้าใช้  มิหนำซ้ำไฟฟ้าที่ว่ายังมักมีราคาแพงอย่างน่าเจ็บปวด การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกับจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อปริมาณไฟฟ้าสำรองในภูมิภาค การวิเคราะห์เมื่อปี 2013 โดยองค์การพลังงานระหว่างประเทศทำนายว่า ความต้องการไฟฟ้าของภูมิภาคนี้จะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 80 ใน 20 ปีข้างหน้า เห็นได้ชัดว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น และถ้าจะหลีกเลี่ยงผลกระทบเลวร้ายที่สุดจากภาวะโลกร้อน โลกย่อมต้องการให้พลังงานดังกล่าวก่อคาร์บอนน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โอกาสในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจากแม่น้ำโขงจึงยิ่งเย้ายวนกว่ายุคสมัยใดที่ผ่านมา

การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนล่างอยู่ภายใต้การกำกับดูแลแต่เพียงในนามของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงหรือเอ็มอาร์ซี (Mekong River Commission: MRC) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศหลายองค์กร รวมทั้งจากชาติสมาชิกทั้งสี่ ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา ไทย และลาว

จีนไม่ได้เป็นสมาชิกเต็มตัวของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง จึงไม่มีข้อผูกพันชัดแจ้งอันใดที่จะต้องปรึกษาหารือกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งอยู่ปลายน้ำเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆของตนบนแม่น้ำโขงตอนบน

และเมื่อไม่นานมานี้ โครงการสร้างเขื่อนบนลำน้ำสายหลัก 11 แห่งในลาวและกัมพูชายิ่งบั่นทอนอำนาจอันเปราะบางของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ในปี 2010 รายงานการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมที่เอ็มอาร์ซีให้ทุนสนับสนุน เรียกร้องให้ระงับการสร้างเขื่อนบนลำน้ำสายหลักชั่วคราวเป็นระยะเวลา 10 ปี โดยอ้างอิงผลกระทบที่อาจถึงขั้นร้ายแรงที่มีต่อแหล่งอาหารในภูมิภาค และความเป็นไปได้ที่จะเกิด “ความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่ไม่อาจเยียวยาให้กลับคืนมาได้” แต่ลาวซึ่งเป็นประเทศยากจน ตัดขาดจากโลกภายนอกมานาน และปัจจุบันกำลังพยายามดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ตั้งเป้าที่จะยกฐานะตนขึ้นเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ด้วยการขายไฟฟ้าพลังน้ำให้ไทยและประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ทั้งยังไม่สะทกสะท้านต่อเสียงคัดค้าน ปลายปี 2012 หลังจากปฏิเสธมาหลายปี ในที่สุดทางการลาวก็ออกมายอมรับว่าได้เริ่มก่อสร้างเขื่อนไซยบุรีที่บริษัทเอกชนของไทยเป็นผู้ลงทุนบนลำน้ำห่างไกลช่วงหนึ่งของแม่น้ำโขงทางตอนเหนือของลาว

เขื่อนไซยบุรีจะมีความสูง 32 เมตรและยาวมากกว่า 800 เมตรเมื่อสร้างแล้วเสร็จซึ่งอาจเป็นภายในปีนี้ ตอนที่ฉันไปดูไซต์งานก่อสร้างเมื่อปี 2013 ตลอดสองฝั่งแม่น้ำทางต้นน้ำมีเรือดูดทรายและกรวดเพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างเขื่อนและถนนปรากฏให้เห็นเป็นระยะๆบ้างแล้ว ส่วนที่ไซต์งานเองก็มีปั้นจั่นแกว่งไกวอยู่เหนือลำน้ำ และกลุ่มคนงานกำลังใช้ระเบิดทลายตลิ่งสูงชันให้เป็นตะพักราบเรียบ

ในหมู่บ้านเล็กๆที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ชาวบ้านบอกว่าพวกเขาทนฟังเสียงระเบิดตลอดสามปีที่ผ่านมา พวกเขากำลังเตรียมย้ายไปอยู่หมู่บ้านที่สร้างขึ้นใหม่ทางต้นน้ำ และบางคนดูเหมือนจะมองโลกในแง่ดี พวกเขาตั้งตาคอยอยากไปอยู่บ้านหลังใหม่ และหลบให้พ้นจากเงาที่นับวันจะยิ่งตระหง่านเงื้อมของเขื่อน หลายคนยังหวังว่าจะได้จับปลาเหมือนเดิม

อีกหมู่บ้านหนึ่งตั้งอยู่ทางปลายน้ำติดกับไซต์งานก่อสร้างเขื่อนจนกระทั่งถึงปี 2012 ต่อมาในปี 2013 ลูกบ้านของหมู่บ้านนี้ก็พากันย้ายไปอยู่บ้านใหม่ไกลจากหุบผาชันของแม่น้ำ ในหมู่บ้านแห่งใหม่นี้ความหวังกลับกลายเป็นของหายาก ชาวบ้านบอกว่าเงินและที่ดินที่บริษัทสร้างเขื่อนสัญญาว่าจะให้เป็นค่าชดเชยสำหรับการโยกย้ายถิ่นฐานนั้นไม่เพียงพอและมาถึงมือพวกเขาช้ามาก หลายคนรู้สึกถึงผลกระทบอันเจ็บปวดของเศรษฐกิจเงินสด

ขณะที่เขื่อนไซยบุรีก่อความทุกข์ร้อนให้ชีวิตผู้คนโดยรอบ ผลกระทบร้ายแรงที่สุดของมันอาจอยู่ที่การเป็นต้นแบบหรือตัวอย่างให้เขื่อนแห่งอื่นๆ การที่ลาวเพิกเฉยต่อคำแนะนำของการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเอ็มอาร์ซีเป็นผู้ออกทุน แล้วตัดสินใจเดินหน้าสร้างเขื่อนไซยบุรี เท่ากับเป็นการแผ้วถางทางให้โครงการสร้างเขื่อนแห่งอื่นๆที่เหลือ

หัวใจหรือศูนย์กลางการทำประมงในแม่น้ำโขงอยู่ในประเทศกัมพูชา ที่นั่นทะเลสาบขนาดใหญ่ชื่อโตนเลสาบ เชื่อมต่อกับลำน้ำสายหลักของแม่น้ำโขงเหมือนปอดเชื่อมต่อกับหลอดลม โตนเลสาบจะแผ่ขยายออกไปจนกว้างใหญ่ไพศาลในฤดูฝนและหดเล็กลงในฤดูแล้ง

ปลามากกว่าหนึ่งร้อยชนิดที่ฟักเป็นตัวในโตนเลสาบจะอพยพขึ้นไปทางต้นน้ำเป็นระยะทางไกลมาก เขื่อนไซยบุรีซึ่งอยู่ห่างออกไปทางต้นน้ำราว 900 กิโลเมตรอาจอยู่ห่างไกลจนไม่ส่งผลกระทบโดยตรงมากนักต่อปลาเหล่านี้ แต่โครงการอื่นๆอยู่ใกล้กว่านั้นมาก ห่างจากพรมแดนระหว่างกัมพูชากับลาวขึ้นไปทางเหนือเพียงเล็กน้อย เขื่อนลำน้ำสายหลักอีกเขื่อนชื่อ เขื่อนดอนสะโฮง จะเริ่มก่อสร้างในไม่ช้า แม้เขื่อนนี้จะปิดกั้นลำน้ำเพียงสายเดียวของแม่น้ำที่ประกอบด้วยลำน้ำหลายสายตัดไขว้กันไปมา แต่มันจะส่งผลกระทบต่อการอพยพของปลาอย่างแน่นอน

ภัยคุกคามต่อการทำประมงที่ร้ายแรงยิ่งกว่านั้นส่อเค้าให้เห็นในภาคเหนือของกัมพูชาเอง นั่นคือลำน้ำสาขาสายหนึ่งของแม่น้ำโขงที่เรียกกันว่า โตนเลซานหรือแม่น้ำแซซาน ซึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ในเวียดนามและไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขงตรงจุดที่อยู่ห่างจากเขื่อนดอนสะโฮงลงมาทางปลายน้ำราว 50 กิโลเมตร เป็นที่รู้กันว่าแม่น้ำนี้เป็นเส้นทางอพยพหลักของปลาหลายสิบชนิด เขื่อนที่มีชื่อว่า แซซานล่าง 2 ซึ่งจะตัดการเชื่อมต่อของแม่น้ำแซซานกับแม่น้ำโขง ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างห่างจากจุดน้ำสบไปทางตะวันออก 24 กิโลเมตร

เขื่อนที่วางแผนก่อสร้างในกัมพูชาและลาวจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่าความต้องการภายในประเทศเป็นอย่างมาก แต่กลับไม่ช่วยให้ประชาชนทั้งสองประเทศมีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึงทุกครัวเรือน ไฟฟ้าร้อยละ 90 ที่ได้จากเขื่อนต่างๆบนลำน้ำสายหลักของแม่น้ำโขงจะขายให้แก่ไทยกับเวียดนาม และรายได้ส่วนใหญ่จะไหลเข้าสู่บริษัทสร้างเขื่อน รายงานการวิเคราะห์เมื่อปี 2010 ที่เอ็มอาร์ซีจัดทำขึ้นทำนายว่า ความสูญเสียทางการประมงอันสืบเนื่องมาจากโครงการสร้างเขื่อนเหล่านี้จะยิ่งทำให้ปัญหาความยากจนเลวร้ายลง

เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะใช้ประโยชน์จากพลานุภาพของแม่น้ำโขง พร้อมๆไปกับการพิทักษ์ความอุดมสมบูรณ์ของลำน้ำสายนี้เอาไว้ด้วย

เรื่องโดย มิเชลล์ ไนฮัส
พฤกษภาคม 2558

67
นักวิทยาศาสตร์พยายามขบคิดหาหนทางสื่อสารกับสิ่งมีชีวิตที่อาจเรียกได้ว่าชาญฉลาดที่สุดเป็นอันดับสองบนพื้นพิภพ

เทรี เทอร์เนอร์ บอลตัน หัวหน้าผู้ฝึกสอน มองดูเฮกเตอร์กับฮาน โลมาโตเต็มวัยเพศผู้สองตัวที่กำลังยื่นจะงอยปากขึ้นมาเหนือน้ำ และรอคอยคำสั่งอย่างกระตือรือล้น โลมาปากขวดทั้งสองตัวที่สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลโรอาทานบนเกาะแห่งหนึ่งนอกชายฝั่งฮอนดูรัส กำลังฝึกทำท่าหมุนตัวบิดเกลียวกลางอากาศตามคำสั่ง เคลื่อนตัวถอยหลังข้ามผิวน้ำในลักษณะยืนตรงบนหาง  และโบกครีบอกทักทายนักท่องเที่ยวที่มากับเรือสำราญสัปดาห์ละหลายๆครั้ง

แต่นักวิทยาศาสตร์ที่นี่สนใจเรื่องการคิดของโลมามากกว่าสิ่งที่พวกมันทำได้  พอส่งสัญญาณมือให้ “แสดงท่าใหม่” เจ้าเฮกตอร์กับฮานก็รู้ว่าจะต้องดำลงใต้ผิวน้ำและเป่าฟองอากาศ กระโดดขึ้นเหนือน้ำ หรือดำลึกลงไปยังก้นทะเล หรือแสดงหนึ่งในหลายสิบท่าที่อยู่ในรายการแสดง แต่ไม่ซ้ำกับสิ่งที่ได้แสดงไปแล้วในโชว์รอบนั้นๆ น่าทึ่งมากที่พวกโลมาเข้าใจว่าต้องพยายามแสดงพฤติกรรมใหม่ๆในการแสดงแต่ละรอบ

เฮกเตอร์และฮานดำหายไปใต้ผิวน้ำ พร้อมกับสแตน คุซไซ นักจิตวิทยาเชิงเปรียบเทียบ เขานำกล้องถ่ายวิดีโอใต้น้ำขนาดใหญ่และไฮโดรโฟน (ไมโครโฟนใต้น้ำ) ลงไปด้วย  เพื่อบันทึกเสียงร้องแหลมๆ ความยาวหลายวินาทีระหว่างเฮกเตอร์กับฮาน และต่อมากล้องก็บันทึกภาพทั้งคู่กำลังหมุนพลิกตัวไปด้วยกันอย่างช้าๆ และสะบัดหางสามครั้งพร้อมกัน

เหนือผิวน้ำ บอลตันกดหัวแม่มือและนิ้วกลางเข้าด้วยกันเพื่อบอกให้โลมาทั้งสองแสดงท่าทางพร้อมกันแบบใหม่อีกเรื่อยๆ และพวกโลมาก็ทำตาม สัตว์ที่มีน้ำหนักตัว 180 กิโลกรัมดำดิ่งลงไป ส่งเสียงผิวปากแหลมๆที่ต่างออกไปเล็กน้อย  ก่อนจะเป่าฟองอากาศออกมาพร้อมกัน ต่อด้วยการหมุนรอบตัวเหนือผิวน้ำด้วยปลายหางและเดินบนหาง หลังจากที่ทำท่าทางเกือบจะพร้อมกันติดต่อกันแปดครั้ง การแสดงก็จบลง

มีคำอธิบายที่เป็นไปได้สำหรับพฤติกรรมที่โดดเด่นเช่นนี้สองประการ กล่าวคือโลมาตัวใดตัวหนึ่งเลียนแบบโลมาอีกตัวได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำจนดูเหมือนว่าพวกมันทำไปพร้อมๆกัน หรือไม่ก็โลมาทั้งสองทำท่าพร้อมกันได้จริงๆ และการที่พวกมันผิวปากโต้ตอบกันใต้น้ำก็คือการปรึกษาแผนการกันนั่นเอง

 

ขณะที่ชิมแปนซีจ้องผลไม้หรือกอริลลาเพศผู้ทุบหน้าอกเพื่อเตือนเพศผู้อีกตัวที่กำลังเข้ามา ไม่ยากเลยที่จะคิดจินตนาการว่า พวกสัตว์คิดอะไรอยู่  เราเองก็เป็นเอปใหญ่  เพียงแต่พวกมันมีสติปัญญาด้อยกว่า  หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นสติปัญญาในรูปแบบที่พวกเราคุ้นเคย  แต่โลมาเป็นอะไรที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง โลมา “มองเห็น” ด้วยโซนาร์ (คลื่นเสียงสะท้อนใต้น้ำ) และทำได้ด้วยความแม่นยำเที่ยงตรงชนิดที่ว่า พวกมันแยกความแตกต่างของวัตถุที่อยู่ห่างออกไป 30 เมตรได้ว่าทำมาจากโลหะ พลาสติก หรือไม้ได้ โลมาต่างจากไพรเมตตรงที่ไม่ต้องใช้การหายใจโดยอัตโนมัติ นอนหลับโดยพักการทำงานของสมองครึ่งหนึ่งไว้ และดวงตาทั้งสองข้างก็ทำงานแยกจากกัน โลมาเป็นเหมือนมนุษย์ต่างดาวผู้มีสติปัญญาซึ่งอาศัยอยู่บนโลกมนุษย์ และการเฝ้าสังเกตพวกมันก็ไม่ต่างไปจากการที่เราเผชิญหน้ากับมนุษย์ต่างดาว

โลมาเป็นสัตว์ช่างพูดเป็นพิเศษ พวกมันไม่เพียงผิวปากหรือส่งเสียงคลิก แต่ยังปล่อยชุดเสียงแถบความถี่กว้างที่มีความหลากหลายออกมาเป็นชุดๆ เรียกว่า กระแสคลื่นเสียงที่ส่งออกไปเป็นชุดๆ (burst pulse) เพื่อสั่งสอนโลมารุ่นเยาวน์หรือขับไล่ฉลาม นักวิทยาศาสตร์ฟังเสียงเหล่านี้และสงสัยมานานว่า เสียงมีความหมายหรือไม่ และถ้ามี หมายถึงอะไร แน่นอนว่าสัตว์ที่มีสมองขนาดใหญ่และมีความเป็นสัตว์สังคมสูงชนิดนี้คงไม่เสียพลังงานไปกับการพูดพล่ามใต้น้ำ เว้นเสียแต่ว่าการเปล่งเสียงนั้นจะมีความหมาย และแม้ว่าจะมีการศึกษามากว่า 50 ปี  แต่ยังไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า หน่วยพื้นฐานการเปล่งเสียงของโลมามีอะไรบ้าง หรือหน่วยเสียงเหล่านั่นประกอบกันได้อย่างไร

“ถ้าเราพบรูปแบบที่เชื่อมโยงเสียงกับพฤติกรรมได้จะเป็นเรื่องใหญ่เลยละครับ” คุซไซ วัย 64 ปี ผู้ตีพิมพ์บทความทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสติปัญญาของโลมามากกว่าผู้ใดในวงการ กล่าว เขาเชื่อว่า งานของเขากับเหล่าโลมานักแสดงที่สถาบันโรอาร์ทานอาจเป็นเหมือนศิลาโรเซตตาที่สามารถถอดรหัสหรือแปลความหมายการสื่อสารของโลมา

 

ก่อนที่สกุลโฮโมของเราจะล้ำหน้าพวกมันไป โลมาอาจเป็นสัตว์ที่มีสมองใหญ่ที่สุด และอาจเป็นสัตว์ที่ฉลาดที่สุดบนดาวเคราะห์ดวงนี้ บรรพบุรุษร่วมของมนุษย์และชิมแปนซีมีชีวิตอยู่เมื่อราวหกล้านปีก่อน ส่วนโลมาซึ่งอยู่ในอันดับย่อยซีเทเชียน (สัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม) แยกจากบรรพบุรุษสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เหลือเมื่อ 55 ล้านปีก่อน พวกมันและไพรเมตไม่ได้มีบรรพบุรุษร่วมกันมานานกว่า 95 ล้านปีแล้ว

นั่นหมายความว่า ไพรเมตและซีเทเชียนวิวัฒน์แยกจากกันเป็นสองเส้นทางมานานแล้ว และผลที่ได้ไม่ใช่แค่เพียงรูปร่างที่ต่างกันสองแบบ  แต่ยังเป็นสมองที่ต่างกันสองชนิดด้วยด้วย ตัวอย่างเช่น ไพรเมตมีกลีบสมองส่วนหน้าขนาดใหญ่ซึ่งรับผิดชอบในการตัดสินใจและการวางแผน โลมาไม่ได้มีกลีบสมองส่วนหน้าขนาดใหญ่ แต่พวกมันยังคงมีสติปัญญาในการแก้ไขปัญหาอันน่าประทับใจ และดูเหมือนว่าจะมีความสามารถในการวางแผนล่วงหน้า นอกจากนี้ โลมายังมีสมองส่วนพาราลิมบิกที่มีพัฒนาการและความชัดเจนสูงที่ใช้ในการจัดการด้านอารมณ์ สมมติฐานข้อหนึ่งอธิบายว่า ระบบดังกล่าวอาจมีความจำเป็นในการเชื่อมโยงสายใยทางสังคมและอารมณ์อันใกล้ชิดกันภายในชุมชนโลมา

“โลมาที่อยู่ตัวเดียวโดดเดี่ยวไม่สมควรเรียกว่าโลมาค่ะ” ลอรี มารีโน นักชีวจิตวิทยาและผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์สัตว์คิมมีลา กล่าว “การเป็นโลมาหมายถึงการอยู่ในเครือข่ายสังคมอันสลับซับซ้อนยิ่งกว่าในมนุษย์เสียอีก”

เมื่อโลมาประสบปัญหา  พวกมันจะแสดงออกซึ่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในระดับที่แทบไม่พบในสัตว์กลุ่มอื่นๆ   ถ้าโลมาตัวหนึ่งป่วยและว่ายไปทางน้ำตื้น บางครั้งโลมาที่เหลือจะว่ายตามไปจนเกิดการเกยตื้นยกฝูง ดูราวกับว่าพวกมันพุ่งความสนใจทั้งหมดไปยังโลมาที่เกยตื้น  มารีโนกล่าว   ปรากฏการณ์โลมาเกยตื้นยกฝูงครั้งหนึ่งในออสเตรเลียเมื่อปี 2013   ยุติลงได้เพราะมนุษย์ยื่นมือเข้าไปช่วย โดยจับโลมาวัยเยาว์ออกจากฝูงแล้วพามันไปยังมหาสมุทรเปิด  การส่งเสียงขอความช่วยเหลือของโลมาน้อยดึงดูดโลมาทั้งฝูงให้ว่ายกลับสู่ทะเล

เพราะเหตุใดโลมาจึงต้องการสมองขนาดใหญ่ เมื่อเทียบกับสัตว์ทั้งมวลทั้งที่อยู่บนบกและในน้ำ  เพื่อตอบคำถามนี้  เราต้องมองหาจากบันทึกฟอสซิล ราว 34 ล้านปีก่อน  บรรพบุรุษของโลมายุคใหม่เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่และมีฟันคล้ายหมาป่า ทฤษฎีหนึ่งสันนิษฐานว่า  ในช่วงเวลานั้น  อุณหภูมิของมหาสมุทรลดลงอย่างมาก  ส่งผลให้แหล่งอาหารเปลี่ยนแปลงไป และสร้างระบบนิเวศใหม่ขึ้น   เปิดโอกาสใหม่ๆให้โลมาและเอื้อให้พวกมันเปลี่ยนแปลงวิธีการล่าเหยื่อ   สมองของโลมามีขนาดใหญ่ขึ้น  ฟันที่เคยน่าครั่นคร้ามของพวกมันกลับเล็กลง และมีลักษณะเหมือนหมุดอย่างที่เห็นทุกวันนี้ การเปลี่ยนแปลงของกระดูกในหูชั้นในบ่งบอกว่า ระยะเวลานี้ยังเป็นช่วงสำคัญของการเริ่มต้นการหาตำแหน่งของวัตถุด้วยคลื่นเสียงสะท้อน (Echolocation) และโลมาบางตัวน่าจะเปลี่ยนจากการล่าเหยื่อที่มีขนาดใหญ่เพียงลำพัง ไปเป็นการรวมกลุ่มเพื่อล่าฝูงปลาที่มีขนาดเล็ก โลมาเริ่มสื่อสารกันมากขึ้น มีความเป็นสังคมมากขึ้น และอาจฉลาดมากขึ้นด้วย

เรื่องโดย โจชัว ฟอร์
พฤกษภาคม 2558

68


 ผ่านไปแล้วสำหรับการสัมมนาน้ำมันมะพร้าวนานาชาติ หรือที่เรียกว่า The International Conference on Coconut Oil (ICCO) ที่ ศูนย์ประชุมนานาชาติ ไบเทค กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 17-20 มีนาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งถือว่าเป็นงานสัมมนาเรื่องเกี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวในระดับนานาชาติครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย
       
        การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นจากจุดเริ่มต้นเล็กๆในการประชุมสามัญประจำปีของ ชมรมอนุรักษ์และพัฒนาน้ำมันมะพร้าวแห่งประเทศไทย โดย ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา เป็นประธาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 นำไปสู่การผลักดันไปสู่ความร่วมมือจากหลายองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้อาศัยการเป็นเจ้าภาพของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากองค์การอาหารเกษตรแห่งองค์การสหประชาชาติอีกด้วย และที่น่าสนใจก็คือมีชาวต่างชาติเข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้แน่นขนัดเกินคาด
       
        ความสำเร็จที่ว่านี้ ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา ผู้เป็นประธานชมรมซึ่งผลักดันเรื่องน้ำมันมะพร้าวมาอย่างยาวนาน และมีส่วนสำคัญในการจัดงานครั้งนี้ถึงกับบอกว่า "ผมนอนตายตาหลับแล้ว"
       
        การประชุมในเชิงวิชาการที่ระดมคนที่รู้มากจากหลายประเทศ ทำให้การสัมมนาเป็นไปอย่างเข้มข้นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิชาการที่เข้มแข็งที่สรุปตรงกันจากหลายประเทศว่าน้ำมันมะพร้าวไม่ใช่เป็นเพียงแค่น้ำมันที่ดีต่อสุขภาพเท่านั้น แต่ก้าวไปไกลต่อถึงขั้นเป็นน้ำมันที่สามารถนำมาใช้ในการบำบัดและเยียวยาได้หลายโรคด้วย


การรักษาโรคผิวหนังโดยคุณหมอ Verallo-Rowell แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผิวหนังและมะเร็งผิวหนังของฟิลิปปินส์

        กรดไขมันน้ำมันมะพร้าวที่ชื่อ "กรดลอริก" ซึ่งดูเหมือนจะเป็นพระเอกที่แพทย์หลายท่านจากหลายประเทศได้นำเสนองานวิจัยจำนวนมากมายมหาศาลว่า น้ำมันมะพร้าวมีกรดไขมันสายปานกลางที่ชื่อกรดลอริกจำนวนมากที่สุดมากกว่าน้ำมันทุกชนิดในโลก มีคุณสมบัติในการดูดซึมเป็นพลังงานแก่ตับได้เร็ว ช่วยบำรุงรักษาหลอดเลือดและหัวใจ ป้องกันและบำบัดโรคสมองเสื่อม มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อก่อโรค สามารถใช้การสร้างระบบภูมิคุ้มกัน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของไทรอยด์ เป็นอาหารที่ดีสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง และช่วยเยียวยารักษาโรคผิวหนังได้อย่างดีเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันอีกหลายชนิด
       
        ทุกวันนี้ชนชาติที่ผลิตน้ำมันมะพร้าวตามลำดับมากที่สุด คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย ศรีลังกา บราซิล ฯลฯ ซึ่งก็คือพื้นที่ติดทะเลใกล้เขตศูนย์สูตร จากการสัมมนาทำให้รู้ได้ว่าประเทศไทยยังขาดการวางยุทธศาสตร์ในเรื่องการปลูกมะพร้าวทั้งๆที่มีภูมิประเทศตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีผลทำให้มะพร้าวไทยสามารถผลิตเป็นน้ำมันมะพร้าวที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลกไม่แพ้ใครเลย
       
        ท่ามกลางการถกเถียงในการสัมมนาของคุณสมบัติสกัดเย็นมีการถกเถียงกันอย่างเข้มข้นมาก ทำให้เราได้ทราบว่านิยามของคำว่าสกัดเย็นในระดับนานาชาติยังไม่เป็นเอกภาพ และหลายประเทศที่ผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นก็มีการใช้ความร้อนในอุณหภูมิสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส และบางรายสูงไปถึง 70-90 องศาเซลเซียส ซึ่งทำให้หลายประเทศเริ่มรับรู้ว่าการสกัดเย็นของน้ำมันมะพร้าวแท้ๆนั้นมีอยู่น้อยมากในความเป็นจริง และจะเป็นด้วยเหตุผลนี้หรือไม่ก็ไม่มีใครทราบได้ เพราะคุณภาพน้ำมันมะพร้าวไทยมีความโดดเด่นกว่าหลายชาติ จนได้ชื่อว่าเป็นน้ำมันมะพร้าวไทยมีราคาสูงที่สุดในโลกในเวลานี้เลยก็ว่าได้
       
        และอาจจะเป็นเพราะมะพร้าวไทยถูกละเลยมาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ ก็เลยมีผลเสียคือไม่ได้มีใครปลูกมะพร้าวทนแทนต้นที่กำลังหมดอายุขัยลงไป กลับปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมมาอย่างยาวนาน แต่ก็มีมุมกลับอีกด้านหนึ่งคือทำให้เกิดผลผลิตจำนวนมากที่ไร้สารพิษเพราะไม่ได้มีใครคิดจะเร่งผลผลิตออกมาให้มากในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา
       
        สินค้ามะพร้าวที่ไร้สารพิษหรือที่เรียกว่า มะพร้าวออกานิค นั้นผู้เข้าร่วมสัมมนาจากหลายประเทศต่างมีความวิตกกังวล เพราะคนเหล่านี้เป็นคนที่รักสุขภาพจึงลงทุนสำรวจผู้ผลิตทั่วโลกที่ได้รับใบประกาศนียบัตรซึ่งรับรองว่าเป็นสินค้าไร้สารพิษ แล้วกลับพบว่าไม่เป็นสินค้าไร้สารพิษอย่างแท้จริง เพราะขาดการตรวจประจำปีและรายงานผลหลังจากได้รับใบประกาศณียบัตรแล้ว
       
        สินค้าของมะพร้าวนั้นได้ถูกใช้ในแทบทุกส่วน เช่น กากมะพร้าวนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ กะลาสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อฟืนให้กับอุตสาหกรรมหรือสินค้าหัตถกรรม เนื้อมะพร้าวสามารถนำมาเป็นน้ำกะทิ น้ำมันมะพร้าวได้ ในขณะเดียวกันน้ำมะพร้าวก็กำลังเป็นเครื่องดื่มที่นิยมกันทั่วโลกอย่างมาก

เก็บตกสัมมนาน้ำมันมะพร้าวนานาชาติครั้งแรกของประเทศไทย
แสดงผลการผลิตชอคโกแลตโดยใช้น้ำมันมะพร้าวของประเทศไทย
        ด้วยเพราะความสนใจของคนไทยมีมากขึ้นในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับมะพร้าว ปรากฏว่าในช่วงเวลา 2-3 ปี มานี้ คนไทยได้มีความคิดนำสินค้าจากมะพร้าวมาประดิษฐ์คิดค้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น และสามารถจำหน่ายเป็นเชิงพาณิชย์มากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดแรงบันดาลใจและแรงจูงใจที่มีผู้ที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับมะพร้าวในหลากหลายรูปแบบมากขึ้น เช่น สบู่มะพร้าว, ชอคโกแลตมะพร้าว, มาการีนมะพร้าวที่ไร้ไขมันทรานส์, ไอศกรีมมะพร้าวที่ไม่มีนมและถั่วเหลือง, ลูกมะพร้าวเปิดฝาแบบกระป๋องน้ำอัดลม, วุ้นมะพร้าวในลูกมะพร้าว ฯลฯ

เก็บตกสัมมนาน้ำมันมะพร้าวนานาชาติครั้งแรกของประเทศไทย
แสดงผลึกของมาการีนที่วิจัยน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นในสูตรต่างๆโดยไม่มีไขมันทรานส์ เพื่อมาแทนผลิตภัณฑ์เนยและชีสที่มีฮอร์โมนจากนมวัวของประเทศไทย
        และบางทีอาจจะถึงเวลาแล้ว ที่ประเทศไทยจะเริ่มส่งเสริมและพัฒนาการปลูกมะพร้าวและพัฒนาผลิตภัณฑ์มะพร้าวอย่างจริงจัง ให้สมกับเป็นประเทศที่อยู่ในภูมิประเทศที่เหมาะอย่างยิ่งกับการปลูกและบริโภคมะพร้าว

 ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ASTVผู้จัดการรายวัน    20 มีนาคม 2558

69
 นอกจากการคิดบวกต่อสถานการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะบรรลุเป้าหมายจะทำให้เปลี่ยนความรู้สึกว่าเป้าหมายถูกคุกคามให้มาเป็นความท้าทายที่จะช่วยลดความเครียดแล้ว ความสำคัญอีกประการหนึ่งเมื่อผลลัพธ์ออกมาไม่เป็นดังหวังแล้วก็ต้องเร่งกลับมาสู่ความจริงในปัจจุบันให้เร็วที่สุดและวางเป้าหมายใหม่ให้เป็นไปได้ในสถานการณ์ใหม่เพื่อหยุดความเครียดเรื้อรังจากการผิดหวังเพราะพลาดเป้าหมายที่วางเอาไว้ หรืออีกนัยหนึ่งคือการยอมรับความจริงที่เป็นไป ปล่อยวางให้เร็ว แล้วมุ่งหน้าวางเป้าหมายใหม่
       
        จะเห็นได้ว่าการวางเป้าหมายเป็นปัจจัยเริ่มต้นที่สำคัญ เพราะถ้าวางเป้าหมายที่เป็นไปได้ยากก็จะทำให้เครียดง่าย ในขณะเดียวกันการประเมินที่เผื่อใจที่จะผิดหวังเอาไว้ก่อน ก็จะทำให้ความเครียดเรื้อรังที่จะเกิดขึ้นเพราะความผิดหวังก็จะบรรเทาเบาบางไปได้ด้วย
       
        เพราะถ้าเราวางเป้าหมายที่เป็นไปได้ การประเมินจะเป็นเชิงบวกมากขึ้น และเมื่อได้รับชัยชนะมากขึ้นก็จะทำให้เกิดความสมหวังและความพึงพอใจในผลลัพธ์นั้นได้ง่ายขึ้น
       
        ถึงแม้กระนั้นก็ตาม ก็ยังมีประเด็นที่ตามมาว่าระหว่างสิ่งเร้าให้ลุ้นว่าจะสำเร็จหรือไม่ในสิ่งที่เป็นไปได้ที่เรียกว่า "สิ่งเร้าเชิงบวก" กับการทำให้จิตใจสงบอารมณ์และฮอร์โมนเราจะต่างกันอย่างไร และอะไรจะดีกว่ากัน?
       
        จากงานวิจัยในปี พ.ศ. 2551 โดย Mendes และคณะจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกาในรายงานในหัวข้อ When Stress is good for you : Neuroendocrine concomitants of physiological thriving. พบว่าสถานภาพที่เผชิญกับสิ่งเร้าเชิงบวก เช่น การแข่งกันกีฬา ประสบการณ์ที่ได้รับชัยชนะ หรือ ประสบการณ์ในการประเมินว่าได้รับชัยชนะ ในขณะที่ประสบความสำเร็จในการไล่ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ได้ทัน ร่างกายก็จะกระตุ้นฮอร์โมนกลุ่มแอนนาโบลิก อันได้แก่การเพิ่มฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ที่สร้างสภาวะความเป็นผู้นำซึ่งมีในฮอร์โมนเพศชายให้สูงขึ้น ในขณะเดียกันฮอร์โมนที่เป็นต้นกำเนิดของฮอร์โมนเพศเพื่อการชะลอวัยที่ชื่อว่า ดีเอชอีเอ-เอส. ก็จะเพิ่มสูงขึ้นได้ด้วย
       
        ในขณะที่งานวิจัย 2 ชิ้น ได้แก่ งานวิจัยในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 โดย Gramzow และคณะในหัวข้อ Big tales and cool heads: academic exaggeration is related to cardiac vagal reactivity. c และงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งในปีเดียวกัน โดย Whitmore และคณะในหัวข้อ Relaxation increases DHEA; Paper presented at : Society of Behavioral Medicine. พบว่า สถานการณ์ที่อยู่ในภาวะอารมณ์ที่มีสิ่งเร้าต่ำ เช่น อารมณ์ที่มีความสงบ สันติ จะส่งผลทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานได้ดีขึ้นและรวมถึงทำให้ ฮอร์โมนที่เป็นต้นกำเนิดของฮอร์โมนเพศเพื่อการชะลอวัยที่ชื่อว่า ดีเอชอีเอ ก็จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย เช่นกัน
       
        ด้วยเหตุผลนี้คนที่อยู่บนสถานการณ์การแข่งขันและต้องลุ้นตลอดเวลา หรือ การสงบนิ่ง ต่างก็มีฮอร์โมนที่เป็นต้นกำเนิดของฮอร์โมนเพศเพื่อการชะลอวัยที่ชื่อว่า ดีเอชอีเอก็จะเพิ่มสูงขึ้นทั้งคู่ จะต่างกันก็ตรงที่ว่าคนที่ต้องคอยลุ้นตลอดเวลานั้นเมื่อได้รับชัยชนะก็จะมีฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนสูงขึ้นกว่าคนที่สงบนิ่ง และจะว่าไปแล้วอัตตาของคนที่ได้รับชัยชนะจากสถานการณ์การแข่งขันย่อมสูงกว่าคนที่สงบนิ่ง
       
        ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็คือ คนๆหนึ่งประสบความสำเร็จได้รับชัยชนะเป็นประจำจึงมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมากและแก่ช้าด้วย ในขณะที่อีกคนหนึ่งที่ยึดมั่นในความพอเพียงพอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นแม้จะชะลอวัยแก่ช้าเหมือนๆกันแต่อัตตาการยึดมั่นถือมั่นจะลดน้อยกว่าคนที่อยู่ในภาวการณ์แข่งขันเป็นประจำ ดังนั้นคนที่ได้รับชัยชนะเป็นประจำแม้จะดูมีภาวะเป็นผู้นำสูงกว่า แต่หากผิดหวังขึ้นมาคนที่ประสบความสำเร็จมากๆก็มีโอกาสเจ็บป่วยได้มากกว่า ในขณะเดียวกันคนที่ประเมินพอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น สงบนิ่งก็จะได้รับผลกระทบน้อยกว่าต่อความผิดหวังที่อาจเกิดขึ้น
       
        คนเราทุกคนต้องผ่านประสบการณ์สำคัญที่จะทำให้เกิดการวางเป้าหมาย การประเมิน และการไล่ทันเป้าหมาย ดังเช่นการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2551 โดย Pastorino และคณะ ในห้วข้อ What is Psychology. พบตัวอย่างเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของมนุษย์นั้นรวมถึง การแต่งงาน การเข้ามหาวิทยาลัย การสูญเสียคนรัก การเกิดของลูก เหตุการณ์เหล่านั้นสามารถเป็นได้ทั้งบวกและลบ งานวิจัยยังพบว่าเหตุการณ์เหล่านี้ที่ไม่ได้พบเจอบ่อยครั้งในชีวิตจะเป็นสาเหตุของความเครียด
       
        และถ้าเราพลาดหวังแต่ไม่สามารถทำใจได้และยังติดอยู่กับอดีต ก็จะทำให้เราป่วยง่ายและแก่เร็ว
       
        และจากงานวิจัยในปี พ.ศ. 2543 โดย Nolen-Hoeksema S. ในหัวข้อ The role of rumination in depressive disorders and mixed anxiety/depressive symtoms. ได้พบว่าการคิดใคร่ครวญแบบย้ำคิดเป็นประจำจะทำให้สามารถทำนายว่าคนๆนั้นอาจมีอาการซึมเศร้าได้
       
        เช่นเดียวกับงานวิจัยอีกหลายชิ้น เช่น งานวิจัยในปี พ.ศ. 2546 โดย Brosschot และคณะในหัวข้อ Heart rate response is longer after negative emotions than after positive emotions. งานวิจัยในปี พ.ศ. 2549 โดย Gerin และคณะในหัวข้อ The role of angry rumination and distraction in blood pressure recovery from emotional arousal. และงานวิจัยในปี พ.ศ. 2545 ในหัวข้อ The role of rumination in recovery from reactivity: cardiovascular consequences of emotional states. พบว่าการหมกมุ่นแล้วคิดใคร่ครวญแบบย้ำคิดในเชิงลบกับความผิดหวังของตัวเองอาจนำไปสู่การฟื้นฟูระบบหลอดเลือดช้าลง
       
        ความเครียดนั้นทำให้อายุสั้น เพราะจากงานวิจัยในปี พ.ศ. 2549 โดย Epel และคณะ ในหัวข้อ Cell aging in relation to stress arousal and cardiovascular disease risk factors. พบว่าคนที่มีหางโครโมโซมหรือที่เรียกว่าเทโลเมียร์สั้นซึ่งมีความหมายว่าอายุขั้นสั้นนั้นจะพบว่าเวลาปัสสาวะตอนกลางคนจะมีฮอร์โมนต้านความเครียดที่เรียกว่าคอร์ติโซลซึ่งจะหลั่งมามากในภาวะที่มีความเครียดมาก และ ฮอร์โมนอะดรีนาลีนที่จะมาพร้อมกับความตื่นเต้นตกใจ ซึ่งจะพบฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดนี้ในระดับที่สูงของกลุ่มคนที่มีเทโลเมียร์สั้น หรือรหัสพันธุกรรมที่จะแสดงถึงอายุขัยสั้นด้วย
       
        อย่างไรก็ตามนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ว่ามีนักวิจัยจำนวนมากต่างยอมรับและยกย่องการทำสมาธิของศาสนาพุทธนั้นสามารถตอบโจทย์ในเรื่องความเครียดได้อย่างดีที่สุด โดยงานวิจัยในปีพ.ศ. 2551 โดย Lutz และคณะในหัวข้อ Attention regulation and monitoring in mediation. และ การศึกษาในปี พ.ศ. 2550 ในอังกฤษ โดย Rosch และคณะในหัวข้อ More than mindfulness: When you have a tiger by the tail, let it eat you" พบว่า
       
        จิตสมาธิของพุทธศาสนาดั้งเดิมทั้งในด้านเทคนิคและความรู้ทำให้เกิดความเข้าใจทางด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสติ ได้ถูกต่อยอดพัฒนาไปอย่างอิสระทางด้าน กระบวนทัศน์ ทฤษฎี และเป้าหมาย
       
        จิตที่เป็นสมาธินั้นยังได้ถูกประยุกต์ใช้กับกลุ่มคนที่สิ้นหวังในชีวิตในผู้ป่วยโรคเอดส์ โดยงานวิจัยในปี พ.ศ. 2549 โดย Robins และคณะ ในหัวข้อ Research on psychoneuroimmunology : tai chi as a stress management approach for individuals with HIV disease. พบว่า แม้กระทั่งกลุ่มคนที่ป่วยเป็นโรคเอดส์ที่ไม่สามารถที่จะหายได้ต่างก็จะมีจิตคิดเชิงบวกมากขึ้นจากการรำมวยไทเก็กเป็นประจำ
       
        จะเห็นได้ว่าถ้าจะกล่าวถึงความเจ็บป่วยและสุขภาพนั้น ความเครียดและสภาพจิตใจนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้เลย


ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
 ASTVผู้จัดการรายวัน    10 เมษายน 2558

70
  จากความเดิมตอนที่แล้วที่เปิดเผยผลงานการวิจัยพบว่าความเครียดทำให้กดภูมิคุ้มกัน ทำให้เจ็บป่วยติดเชื้อง่าย ทำให้มะเร็งลุกลาม อีกทั้งยังสร้างการอักเสบในร่างกายได้ด้วย ส่งผลทำให้เกิดอาการปวดท้อง ภูมิแพ้ผิวหนัง โรคหอบหืด โรคหัวใจ และยังทำให้เกิดโรคหัวใจ
       
        งานวิจัยในรหัสพันธุกรรมยังพบด้วยว่าความเครียดยังทำให้หางของโครโมโซม ที่เรียกว่า เทโลเมียร์สั้นลงได้ด้วย นั่นหมายความว่าความเครียดยังทำให้แก่ง่าย และอายุสั้น
       
        จากงานวิจัยเมื่อปี พ.ศ. 2549 ของ Simmon และคณะในหัวข้อ Telomere Shortening and mood disorders : preliminary support for a chronic stress model of accelerated aging. ซึ่งวิจัยการวัดความยาวของเทโลเมียร์จากกลุ่มตัวอย่าง 44 คนที่ป่วยเป็นโรคอารมณ์แปรปรวนที่มีภาวะเครียดเรื้อรัง พบว่าความยาวของเทโลเมียร์ของกลุ่มคนเหล่านี้สั้นลงเร็วในอัตราเร่งมากว่าอายุที่ควรจะเป็นถึง 10 ปี
       
        งานวิจัยในปี พ.ศ. 2549 ของ Cherkas และคณะ ในหัวข้อ The effects of social status on biological aging as measured by white blood cell telomere length. พบว่ากลุ่มคนที่มีสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำพบว่ามีเทโลเมียร์สั้นด้วย ทั้งนี้คนกลุ่มเหล่านี้มักไม่ใส่ใจในเรื่องสุขภาพ มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย และอ้วน
       
        และเนื่องจากมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการใช้ความคิดและมีอารมณ์ที่สลับซับซ้อนกว่าสัตว์ทั่วไป จึงมีความน่าสนใจที่จะหากลไกของความเครียดที่ทำให้ แก่เร็ว ก่อให้เกิดโรคมากและอายุสั้น เพื่อจะนำไปสู่การลดความเครียดเหล่านั้นให้น้อยลง
       
        "ความเครียด" เกิดขึ้นได้อย่างไรนั้นการศึกษาที่มีชื่อเสียงในปี พ.ศ. 2527 โดย Lazarus และ Folkman ในหัวข้อ Stress, appraisal, and coping. นั้นได้กล่าวถึงความเครียดนั้นมีความสัมพันธ์กับปัจจัย เป้าหมายที่วางเอาไว้ การประเมินว่าจะไปสู่จุดเป้าหมายอย่างไร และการไล่ตามเป้าหมายนั้นทำได้เพียงใด
       
        เพราะเป้าหมายของแต่ละคนนั้นมีการใช้ทรัพยากรต่างกัน บางคนทุ่มแรงกาย บางคนลงทุนเพื่อให้ได้เป้าหมายด้วยทรัพย์สินเงินทอง บางคนทุ่มเทด้วยความรักและศรัทธา ทั้งหมดนี้คือ "ต้นทุน" เพื่อสนองความคาดหวังตามเป้าหมายของแต่ละคน
       
        การตั้งเป้าหมายหรือความคาดหวังของแต่ละคนไม่เท่ากันอย่างแน่นอน เพราะขึ้นอยู่กับสิ่งที่ทุ่มเทลงไปของแต่ละคนไม่เท่ากัน เมื่อตั้งเป้าหมายไปแล้วก็จะมีการประเมินต่อมาว่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะบรรลุเป้าหมายหรือไม่ ซึ่งถ้าประเมินแล้วมีสิ่งที่มาคุกคามเป้าหมายให้ไกลออกไปหรือจะเป็นไปไม่ได้ เราจะเข้าสู่การประเมินแล้วว่าเราเริ่มถูกคุกคามเป้าหมายให้เริ่มเป็นไปไม่ได้ เมื่อถึงเวลานั้นความเครียดก็จะเริ่มเกิดขึ้นโดยทันที ส่วนจะเครียดมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งที่เรามีความคาดหวังและความทุ่มเททรัพยากรไปนั้นมีมากน้อยเพียงใด และทำใจได้แค่ไหน ความเครียดจากความรู้สึกถูกคุกคามเป้าหมายนี้เองที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วย แก่เร็ว และอายุสั้นได้ในรหัสพันธุกรรม
       
        แต่สิ่งที่น่าสนใจตามมาก็คือ หากแม้เป็นเป้าหมายเดียวกัน แต่เราประเมินว่ามีความเป็นไปได้ที่จะไล่ทันตามเป้าหมายนั้น แม้เป็นเรื่องเดียวกันที่ยังไม่เกิดและเป็นเรื่องอนาคต แต่การประเมินจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นความท้าทายแทนการรู้สึกว่าถูกคุกคาม จากงานวิจัยกลับพบว่าในปี พ.ศ. 2554 โดย O'Donovan และคณะในหัวข้อ Stress appraisals and cellular aging : a key role for anticipatory threat in the relationship between psychological stress and telomere length. พบว่าแม้ความเครียดจะทำให้เทโลเมียร์(หางของโครโมโซม)สั้นลง เป็นผลทำให้เซลล์แก่ตัวเร็วและอายุสั้น แต่ความรู้สึกท้าทายกลับไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ทำให้เทโลเมียร์สั้นเท่ากับความรู้สึกถูกคุกคามแต่ประการใด
       
        จะเห็นได้ว่าเรื่องเดียวกัน และยังไม่รู้ผลท้ายที่สุดในอนาคตเหมือนกัน หากเรามองว่าเรากำลังถูกคุกคามเป้าหมายก็จะทำให้เกิดความเครียดที่บั่นทอนสุขภาพ และอายุขัย แต่ถ้าเรื่องเดียวกันถ้าเราเชื่อมั่นและประเมินว่ายังมีความเป็นไปได้เราจะเปลี่ยนสถานการณ์นั้นเป็นความท้าทายที่ไม่ได้บั่นทอนสุขภาพและอายุขัยเหมือนกับความรู้สึกถูกคุกคามเป้าหมายที่เราได้ตั้งเอาไว้
       
        ไม่ว่าจะมีความรู้สึกถูกคุกคามเป้าหมาย หรือ รู้สึกท้าทายในเป้าหมาย ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการประเมินก่อนถึงวันเป้าหมายทั้งสิ้น แต่เมื่อถึงวันและเวลาที่จะรู้ผลว่าเราสามารถไล่ทันเป้าหมายแล้วก็จะรู้ผลว่าการประเมินบนการรู้สึกถูกคุกคามหรือรู้สึกท้าทายก็จะสิ้นสุดลง
       
        ถ้าเราได้รับผลสำเร็จตามเป้าหมาย ไม่ว่าจะรู้สึกถูกคุกคามหรือรู้สึกท้าทาย ก็จะสร้างความพึงพอใจในที่สุด แม้มีความเครียดที่มีในประเด็นเดิมก็จะสูญหายมลายไปสิ้นหลังความสำเร็จนั้น
       
        แต่ความสำเร็จก็อาจทำให้เราไม่มีความพึงพอใจและแสวงหาเป้าหมายใหม่ที่ไปมากกว่าเดิม ยิ่งชนะบ่อยครั้งความเชื่อมั่นก็สูงขึ้น ความรู้สึกท้าทายก็สูงขึ้น ภาวะความเป็นผู้นำสูงขึ้น และอัตตาก็จะสูงง่ายขึ้นไปอีก
       
        ตัวอย่างเช่น งานวิจัยในปี พ.ศ. 2541 ในหัวข้อ Testosterone Changes during vicarious experiences of winning and losing among fans at sporting events. โดย Bernhardt และคณะ พบว่าจากการศึกษากลุ่มตัวอย่าง 21 คนที่เป็นชายเป็นแฟนฟุตบอลซึ่งรับชมการแข่งขันฟุตบอลโลกทางสถานีโทรทัศน์ ในเกมการแข่งขันฟุตบอลคู่ปรับที่มีความสามารถใกล้เคียงกัน แล้วทำการวัดฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (ฮอร์โมนเพศชายที่แสดงถึงความเชื่อมั่นและมีภาวะความเป็นผู้นำ) จากน้ำลายทั้งก่อนและหลังผลการแข่งขัน ปรากฏว่าค่าเฉลี่ยของแฟนฟุตบอลที่เชียร์ทีมชนะมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสูงขึ้น ในขณะที่แฟนฟุตบอลที่เชียร์ทีมที่แพ้กลับมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดลง
       
        แต่ความสำเร็จก็อาจทำให้เราไม่มีความพึงพอใจและแสวงหาเป้าหมายใหม่ที่ไปมากกว่าเดิม ยิ่งชนะบ่อยครั้งความเชื่อมั่นก็สูงขึ้น ความรู้สึกท้าทายก็สูงขึ้น แม้แต่อัตตาก็ยิ่งสูงขึ้นไปอีก หากวันหนึ่งเกิดความผิดหวังก็อาจจะเครียดหนัก เจ็บป่วยหนัก สภาพจิตใจเสียหายหนักได้
       
        ในทางตรงกันข้ามเมื่อถึงวันและเวลาที่เราต้องรับทราบผลลัพธ์ว่าเป้าหมายที่วางเอาไว้ไม่สามารถบรรลุได้ หากเราจมอยู่ในความรู้สึกความพ่ายแพ้ในอดีตนั้นไปเรื่อยๆ ก็จะก่อให้เกิดความเครียดเรื้อรัง แก่เร็ว เจ็บป่วยง่าย อายุสั้น ในบางกรณีอาจถึงขั้นเกิดอาการซึมเศร้าเรื้อรัง เสียใจจนฆ่าตัวตาย เพราะการจมอยู่กับผลลัพธ์ในอดีตไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้แล้ว
       
        และเคล็ดลับสำคัญประการหนึ่งของความผิดหวังที่ทำให้เกิดความเครียด ก็คือ "การยอมรับความจริงกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันให้เร็วที่สุด และตั้งเป้าหมายใหม่ที่เป็นไปได้ให้เร็วที่สุด" ความเครียดก็จะค่อยๆลดลงไปตามลำดับ ดังนั้นคนที่ผิดหวังบ่อยแต่ยอมรับความจริงปรับตัวอยู่กับปัจจุบันได้เร็ว แม้จะมีความเชื่อมั่นและภาวะผู้นำน้อยกว่าคนที่ได้รับชัยชนะเป็นประจำ แต่อัตตาและความยึดมั่นถือมั่นก็จะลดลงไป ความทนทานต่อความผิดหวังก็อาจจะมีมากกว่า
       
        การวางเป้าหมายเพื่อทุ่มเททรัพยากร (ทรัพย์สิน เงินทอง แรงกาย แรงใจ) นั้นต้องอยู่บนความพอดีและพอเพียงมีความเป็นไปได้ก็จะทำให้โอกาสที่จะเกิดความเครียดได้น้อยลง การประเมินสถานการณ์ด้วยทัศนคติเชิงบวกเปลี่ยนจากความรู้สึกถูกคุกคามเป็นความท้าทาย และการยอมรับความจริงเมื่อรู้ผลลัพธ์แล้ว พร้อมกับปล่อยวางกับผลลัพธ์ในความสำเร็จหรือความล้มเหลวที่ไม่จีรังยั่งยืน ก็จะทำให้รู้เท่าทันความเครียดในตัวเราเองได้ดีที่สุด


ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
 ASTVผู้จัดการรายวัน    3 เมษายน 2558

71
เพชฌฆาตความเครียด (ตอนที่ 1) : สำหรับคนขี้หงุดหงิด เกรี้ยวกราด และควบคุมอารมณ์ไม่ได้

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณกว่า 30 ปีที่แล้ว มีรายการตลกหลังข่าวทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 9 อสมท. ชื่อรายการ เพชฆาตความเครียด โดย กลุ่ม ซูโม่สำอาง ซึ่งทีมงานส่วนใหญ่เป็นศิษย์เก่าจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเวลาผ่านไป 30 ปี ชีวิตแต่ละคนได้เดินทางไปในเส้นทางที่แตกต่างกัน บางคนเป็นเจ้าของกิจการใหญ่โต บางคนเป็นนักดนตรี บางคนเป็นผู้กำกับ บางคนเป็นนักเขียน บางคนเป็นพิธีกรชื่อดัง บางคนเป็นนักพูด เช่น ซูโม่ตู้ (จรัสพงษ์ สุรัสวดี), ซูโม่เจี๊ยบ (วัชระ ปานเอี่ยม), ซูโม่โญ (ภิญโญ รู้ธรรม), ซูโม่อิฐ (อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์), ซูโม่ตา (ปัญญา นิรันดร์กุล), ซูโม่กิ๊ก (เกียรติ กิจเจริญ), ซูโม่ตั้ว (ศรันยู วงษ์กระจ่าง) ฯลฯ ซึ่งถือว่ารายการดังกล่าวมีความสำเร็จสูงรายการหนึ่งในยุคนั้นเลยทีเดียว
       
        แม้ว่าคณะบุคคลดังกล่าวจะได้สร้างความทรงจำดีๆให้กับคนในยุคนั้น แต่ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ไม่ได้เกี่ยวกับคณะบุคคลดังกล่าว เพียงแต่ต้องการนำชื่อของรายการดังกล่าวมาประกอบการเขียนบทความเผยแพร่ข้อมูลว่า ความเครียดนั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย ทำให้เจ็บป่วยง่าย ทำให้แก่เร็ว และทำให้อายุสั้นด้วย ดังนั้นหากมีสิ่งใดที่จะช่วยกันกำจัดความเครียดได้ เสียงหัวเราะและอารมณ์ขันเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ในการกำจัดความเครียด
       
        เพราะในชีวิตจริงมีความเครียดอยู่มาก ทำให้รายการตลก โฆษณาตลก เกมโชว์ตลก พิธีกรตลก นักแสดงและนักพูดตลก เรื่องตลกในไลน์ และเฟซบุ๊ก กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในทุกสังคม
       
        จากงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าความเครียดเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วย ทำให้แก่เร็ว และอายุสั้นได้ เป็นไข้ หรือไข้หวัด โรคซึมเศร้า โรคผื่นคัน โรคผิวหนัง ความผิดปกติหลังความเครียดสะเทือนใจ แผลในกระเพาะอาหาร โรคหัวใจ โรคหอบหืด และโรคมะเร็ง ฯลฯ
       
        จากงานทบทวนวรรณกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2556 ในหัวข้อ "Expression of Hypothalamic-Pituitary-Adrenal Axis in Common Skin Disease: Evidence of its Association with Stress-related Disease Activity" โดย Jung Eun KIM และคณะพบว่าความเครียดทำให้ระบบภูมิคุ้มกันลดลง ทำให้ง่ายต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย ส่งผลทำให้เกิดการอักเสบ เป็นโรคผิวหนัง และทำให้เกิดสภาวะความเครียดออกซิเดชั่น (Oxidative Stress) ซึ่งเกิดจากสภาวะที่อนุมูลอิสระมีมากกว่าสารต้านอนุมูลอิสระ
       
        การที่ระบบภูมิคุ้มกันตกลงจากสภาวะความเครียดนี้สอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ. 2539 ในหัวข้อ Chronic stress alters the immune response to influenza virus in older adults โดย Janice K. Kiecolt-Glaser และคณะ พบว่าคนที่สูงวัยและมีภาวะเครียดเรื้อรัง แม้ต่อให้ได้วัดซีนไข้หวัดใหญ่ร่างกายก็จะมีผลตอบสนองกับวัคซีนลดลง
       
        แม้ต่อให้กินอาหารดี อากาศดี น้ำดื่มดี แต่ความเครียดเพียงประการเดียวก็อาจจะทำให้สุขภาพทรุดโทรมหนักได้ไม่เว้นแม้แต่โรคมะเร็ง จากงานวิจัยในปี พ.ศ. 2550 ในหัวข้อ Psychological Stress and Disease. พบว่าความเครียดซึ่งทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงจะไม่สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้ด้วย ยิ่งไปกว่านั้นจากการทดลองในสัตว์พบว่าความเครียดยังทำให้เกิดเซลล์มะเร็ง และเมื่อเกิดมะเร็งแล้วยังทำให้เซลล์มะเร็งเติบโตและแพร่กระจายขึ้นได้ด้วย
       
        ฮอร์โมนชนิดหนึ่งชื่อว่า คอร์ติโคโทรปิน รีลิสซิ่งฮอร์โมน (Corticotropin releasing hormone) หรือที่เรียกสั้นๆว่า CRH ซึ่งจะหลั่งออกมาจากไฮโพทาลามัส โดยการกระตุ้นจากความเครียด การได้รับการบบาดเจ็บ ซึ่งฮอร์โมนนี้จะส่งผลทำให้เกิดโรคต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบของร่างกาย (Inflammatory diseases)
       
       
        ด้วยเหตุผลนี้งานวิจัยในปี พ.ศ. 2551 ในหัวข้อ Corticotropin-releasing hormone and inflammation. โดย Webster และคณะ พบว่าคนที่เป็นโรคข้ออักเสบ หรือรูมาตอยด์ จะพบฮอร์โมน CRH ในเนื้อเยื่อที่อักเสบมาก สะท้อนให้เห็นว่า ฮอร์โมน CRH ที่มาจากความเครียดนั้นก่อให้เกิดการอักเสบของร่างกายจริง
       
        นอกจากนี้ Webster และคณะ ยังพบอีกด้วยความความเครียดได้กระตุ้น Mast Cells ทำให้เกิดการหลังฮีสตามีมากทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ และภูมิแพ้ผิวหนังได้ ดังนั้นความเครียดจึงทำให้เกิดการอักเสบในรูปของผื่นคันได้
       
        เช่นเดียวกับงานวิจัยในหัวข้อ Corticotropin Releasing Hormone (CRH) system and inflammation. โดย Katia Karalis และคณะยังพบว่า ฮอร์โมน CRH ที่ได้มาจากความเครียดนั้นยังทำให้ลำไส้เกิดการอักเสบได้ด้วย และเป็นอันตรายต่อระบบลำไส้ นี้คือเหตุผลว่าทำไมคนที่มีภาวะเครียดถึงได้ปวดท้องได้ด้วย
       
        แต่ต่อมหมวกไตเมื่อรู้ว่ามีการอักเสบเกิดขึ้นก็จะสังเคราะห์ฮอร์โมนที่ชื่อว่า คอร์ติโซล (Cortisol) เพื่อมาต้านความเครียดและต้านการอักเสบของ CRH เพียงแต่ว่าฮอร์โมน คอร์ติโซล นั้นสังเคราะห์มาจากวัตถุดิบคือคอเลสเตอรอล ส่วนใหญ่แล้วเมื่อเราอายุมากขึ้นร่างกายจะสังเคราะห์คอเลสเตอรอลน้อยลง มีอัตราการเผาผลาญต่ำลง การทำงานของไทรอยด์ต่ำลง จึงส่งผลไม่ใช่เพียงแค่การสังเคราะห์คอเลสเตอรอลให้มาเป็นวัตถุดับน้อยลงเท่านั้น แต่ความสามารถนำคอเลสเตอรอลมาสังเคราะห์ฮอร์โมนคอร์ติโซลผลิตได้ต่ำลงกว่าความต้องการใช้จริงของร่างกายได้ด้วย ดังนั้นคนส่วนใหญ่เมื่ออายุมากขึ้นจึงเกิดโรคเกี่ยวกับการอักเสบได้มากขึ้น
       
        มิพักต้องพูดถึงคนที่มีความเครียดเกิดขึ้นเป็นประจำเมื่อต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนคอร์ติโซลมากขึ้น ก็อาจจะมีวันที่ต่อมหมวกไตเกิดความล้าจึงสังเคราะห์ฮอร์โมนคอร์ติโซลได้น้อยลง หรือแม้แต่ใช้เสตรียรอยด์ฮอร์โมนมากไปจนต่อมหมวกไตไม่ผลิตฮอร์โมนด้วยตัวเอง จึงเกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมน เป็นผลทำให้หลายคนเมื่ออายุมากขึ้นจะทนความเครียดน้อยลงในเรื่องที่ตัวเองเคยทนได้
       
        ข้อสำคัญคือปัจจัยนี้ยังสำคัญไปถึงเรื่องการทนทานต่อความเครียดก็จะลดน้อยลงไปด้วย นี่คือสาเหตุว่าทำไมคนสูงวัยถึงได้หงุดหงิดง่าย และทนความเครียดได้น้อยลง
       
        จากงานวิจัยในปี พ.ศ. 2547 ในหัวข้อ Acceterated telomere shortening in response to life stress โดย Epel Es และคณะ ได้พบว่ากลุ่มคนที่มีความเครียดที่สูงมีผลทำให้เทโลเมียร์ (หางของโครโมโซม) สั้นลงเร็วกว่าคนที่มีภาวะเครียดต่ำ นั้นย่อมแสดงให้เห็นชัดว่าคนที่อยู่มีภาวะเครียดนั้นจะแก่เร็วและอายุสั้น
       
        ดังนั้นผู้นำประเทศบางคน ที่อาจจะดูควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ โกรธง่าย เกรี้ยวกราดง่าย ขาดวุฒิภาวะ ก็อาจะเป็นเพราะเริ่มเข้าสู่วัยทอง และเกิดความผิดปกติของฮอร์โมน จึงควรจะพบแพทย์หรือผู้รู้เพื่อบำบัดรักษาโดยด่วน


ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
 ASTVผู้จัดการรายวัน    27 มีนาคม 2558

72
เทือกเขาอัลไต อยู่ในเอเชียกลาง บริเวณพรมแดนร่วมของประเทศรัสเซีย, จีน, มองโกเลีย, และคาซัคสถาน ห่างไกลจากดินแดนไทยปัจจุบันมาก

อัลไต (Altay) หมายถึง เทือกเขาแห่งทองคำ มาจากรากศัพท์ Al (ทองคำ) และ tau (ภูเขา) ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคำว่า ไต หรือ ไท ซึ่งเป็นชื่อชนชาติแต่อย่างใด ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับผู้นิยมปีนเขา ภาพนี้คือเขาเบลูชา (Belucha) ส่วนหนึ่งของเทือกเขาอัลไต (ภาพจาก http://en.wikipedia.org)

คนไทย มาจากไหน? คำถามที่หลายคนสงสัย และหนึ่งในคำตอบแบบพ้นสมัย ก็คือ คนไทยอพยพมาจากเทือกเขาอัลไต แนวคิดที่คนในวงวิชาการส่ายหน้าแล้วบอกว่า ไม่มีใครเชื่ออย่างนั้นอีกแล้ว เพราะถูกยกเลิกจากแบบเรียนของเด็กไทยมานานเหลือเกิน

แต่เมื่อเฟสบุ๊กแฟนเพจชื่อ ′เมด อิน อุษาคเนย์′ หยิบยกประเด็นนี้มาบอกเล่าโดยเป็นหนึ่งในหัวข้อ ′ประวัติศาสตร์ปลอม ที่คนไทย (เคย) ยอมรับ′ กลับมีผู้กดถูกใจ และแชร์ต่อกันเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นหลากหลาย

กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้รู้ว่าแนวคิด ′คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต′ ยังอยู่ในความรับรู้ของคนจำนวนมากอย่างไม่น่าเชื่อ

ประวัติศาสตร์ปลอมที่คนไทย (เคย) ยอมรับ

ข้อความที่ถูกโพสต์ลงเฟสบุ๊ก เมด อิน อุษาคเนย์ เมื่อช่วงเย็นของวันเสาร์ที่ 6 กันยายน 2557 ราว 17.00 น. มีผู้อ่าน (หรือได้เห็นผ่านตา) ถึง 48,800 คน ในเวลาเพียง 2 วัน เนื้อหามีดังนี้

"รู้น่า! ว่าแนวคิดเรื่องคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไตนั้นเก่ากึ๊ก และยอมรับกันแล้วว่ามันไม่จริ๊ง ไม่จริง แต่นี่คือหนึ่งในประวัติศาสตร์ปลอมสุดคลาสสิคที่ต้องหยิบยกมาเม้าท์กัน ว่าในอดีตนั้นเราเคยเชื่อเรื่องนี้ถึงขนาดมีบรรจุในแบบเรียนมานานนับปี ว่าคนไทยในสยามประเทศเรานี้หอบลูกจูงหลานมาจากเทือกเขาที่ชื่อว่าอัลไต ซึ่งก็นับว่าฟังเข้าที เพราะมันออกเสียง ไทๆ ไตๆ อิไต อิไต อะไรนี่ ดูเข้าเค้า

กระทั่งมีคนขี้สงสัยตั้งคำถามว่า ไอ้เขาอิไต เอ้ย! อัลไตที่ว่านี้มันอยู่ไหนกันหว่า? พอสืบค้นไปมา ปรากฏว่าอยู่แถบเอเชียกลางนู่นแน่ะ แบบว่าเป็นช่วงพรมแดนร่วมของประเทศรัสเซีย จีน มองโกเลีย และคาซัคสถาน ที่ฮากว่านั้นคือ เคยมีคนพยายามเดินทางไปโดยสอบถามทางการรัสเซีย คำตอบที่ได้ชวนหงายเงิบ เพราะนอกจากที่นั่น จะไม่มีคนไท/ไตอาศัยอยู่แล้ว จากสภาพแวดล้อมทั้งปวงก็ไม่น่าจะเคยมีมนุษยชาติคนใดตั้งถิ่นฐานมาก่อน เพราะเป็นภูเขาน้ำแข็งอุณหภูมิติดลบยิ่งกว่าอยู่ในตู้แช่ปลา ซึ่งทางการรัสเซียเขาใช้เป็นสถานที่ติดตั้งสัญญาณเรดาร์อะไรสักอย่าง

ว่าแต่ว่า---แนวคิดเรื่องคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต มาจากไหน?

อะแฮ่ม ขอบอกว่าเรื่องนี้เขามีที่มาที่ไป นั่นก็คือ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ท่านแต่งหนังสือชื่อ ′หลักไทย′ เล่าเรื่องนี้เป็นคุ้งเป็นแคว แต่ๆๆๆ แต่ก็โทษท่านไม่ได้ เพราะท่านแต่งเข้าประกวดในงานๆ หนึ่ง โดยไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นตำรับตำราประวัติศาสตร์แต่อย่างใด เนื้อหาในหนังสือระบุประมาณว่า

"ระเบ็ง" หรือ "โอละพ่อ" ร้องแบบเซิ้งบั้งไฟลุ่มน้ำโขง เป็นการละเล่นยุคต้นอยุธยา มีในกฎมณเฑียรบาล



"เดิมชนชาติไทยเคยอาศัยอยู่แถบเทือกเขาอัลไตเมื่อประมาณ 6,000 ปีที่แล้ว ต่อมา ได้อพยพลงมายังแม่น้ำหวงเหอ เรียกว่า อาณาจักรไทยมุง หรืออาณาจักรไทยเมือง และได้อพยพลงมาอีกจนถึงลุ่มแม่น้ำแยงซี แต่ต่อมาได้เสียเมืองให้กับจีน จึงต้องอพยพลงมาทางใต้ต่อไป"

ทั้งนี้ เหตุที่ท่านเลือกเทือกเขาอัลไตในนิยาย เอ้ย! หนังสือของท่านก็เพราะชื่อมันไตๆ ไทๆ นั่นแหละ

อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์หลายท่านได้โต้แย้งประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้เจตนาปลอมของท่านขุน ด้วยเหตุผลต่างๆ กัน อาทิ ศาสตราจารย์ขจร สุขพานิช ที่แสดงความเห็นว่า ระยะทางจากเทือกเขาอัลไตถึงประเทศไทยอยู่ห่างกันมาก จึงไม่น่ารอด ชีวิตจากการเดินทางผ่านทะเลทรายโกบีได้---พูดง่ายๆ คือ จะพากันตายก่อนมาถึงแดนสยามนะจ๊ะ

สรุปว่า หลังจากบรรจุในแบบเรียนอยู่เนิ่นนาน ปัจจุบันได้ยกเลิกแนวคิดนี้ไปแล้ว แต่ยังมีผู้นำแนวคิดที่ว่านี้มาใช้เป็นคำสแลงเสียดเย้ยกลุ่มอนุรักษนิยมที่ไม่ฟังอีร้าค่าอีรม ทำนองว่า "พวกนี้มาจากเทือกเขาอัลไต!!!"

คำสารภาพของขุนวิจิตรมาตรา

คนไทยอพยพมาจากเทือกเขาอัลไต เริ่มจากหนังสือหลักไทยของขุนวิจิตรามาตราได้รับพระราชทานรางวัลและประกาศนียบัตรวรรณคดีของราชบัณฑิตยสภา เมื่อ พ.ศ. 2471

จนกระทั่งมีการบรรจุเนื้อหาเรื่องคนไทยมาจากภูเขาอัลไตลงในแบบเรียน ก็มีผู้ตั้งข้อสงสัยเรื่อยมา เพราะไม่มีหลักฐานอันน่าเชื่อถือ

สุดท้าย แบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการตามหลักสูตรใน พ.ศ. 2521 ได้ระบุให้ยกเลิกแนวคิดนี้จากแบบเรียนเรื่องคนไทยอพยพจากเทือกเขาอัลไต

ราว 2 ปีต่อมา นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2523 ตีพิมพ์ถ้อยคำของ ขุนวิจิตรฯ ถึงประเด็นอันน่าเคลือบแคลงนี้ ซึ่งท่านอ้างว่าไม่ได้คิดขึ้นเอง แต่ได้มาจากหมอวิลเลียม คลิฟตัน ดอดด์ ผู้เขียน The Thai Race-The Elder Brother of Chinese

"ผมเขียนตามของหมอดอดด์ เขาว่างั้นนะ ไม่ใช่ผมมาเม้คขึ้นเองเมื่อไหร่ ผมก็ไม่รู้ (หัวเราะ) ผมไม่รู้หรอก ว่าจริงหรือไม่จริง" ขุนวิจิตรฯ ในวัย 83 ปี กล่าวกับคณะทำงานนิตยสารศิลปวัฒนธรรมซึ่งเดินทางไปพบที่บ้านบนถนนวิภาวดีรังสิต---และนั่นคือเวลากว่า 30 ปีมาแล้ว

พระรถ มอมเหล้านางเมรี จากละครชาตรีเรื่อง "พระรถ-เมรี" นิทานบรรพชนลาว ซึ่งนิยมมากในสมัยอยุธยา แสดงในงาน "สุพรรณบุรี มาจากไหน? เหน่อสุพรรณ สำเนียงหลวง กรุงศรีอยุธยา" จัดเผยแพร่ความรู้โดยกรมศิลปากร ณ โรงละครแห่งชาติ สุพรรณบุรี วันอังคารที่ 2 กันยายน ที่ผ่านมา

พิพิธภัณฑ์ผลิตซ้ำ ตอกย้ำแนวคิดล้าหลัง

การที่ผู้คนให้ความสนใจอย่างล้นหลามในประเด็นอัลไตทั้งที่ยกเลิกราว 35 ปีมาแล้ว แสดงถึง ′ความไม่รู้′ ว่าแนวคิดนั้นล้าหลังไปนานแล้ว ทั้งยังมีผู้แสดงความคิดเห็นต่างๆ ที่ชวนแปลกใจว่าปัจจุบันยังมีผู้เชื่อว่าคนไทยอพยพมาจากเทือกเขาอัลไต

ส่วนหนึ่งเป็นคนรุ่นที่เคยใช้แบบเรียนรุ่นเก่า ซึ่งหลายคนบอกว่าเคยเรียนในชั้นประถมศึกษา และปัจจุบันก็ยังเชื่ออย่างนั้นอยู่ จนกระทั่งได้มาอ่านข้อเขียนในเฟส บุ๊กดังกล่าว

และมีผู้ยืนยันว่าในการอบรมสัมมนาโดยหน่วยงานของรัฐบางแห่ง ในช่วงหลายปี ที่ผ่านมา ยังคงกล่าวถึงแนวคิดนี้

′พิพิธภัณฑ์นักศึกษาวิชาทหาร′ ซึ่งศูนย์ข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้ทำการสำรวจไว้เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2551 ระบุว่า มีส่วนจัดแสดงที่กล่าวถึงประวัติศาสตร์ไทย โดยมีแผนที่เส้นทางอพยพคนไทยลงมาจากเทือกเขาอัลไต นับเป็นข้อมูลล้าสมัยที่ยังคงถูกบอกเล่าอยู่ทุกวี่วัน

′พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ′ บางแห่ง มีการนำเสนอข้อมูลดังกล่าว โดยให้ความสำคัญในฐานะเป็นหนึ่งในหลาย "ทฤษฎี" ของถิ่นฐานคนไทย ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว มันเป็นเพียงแนวคิดที่ถูกขยายผลเพื่อรับใช้รัฐบาลเผด็จการยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม

ด้วยเหตุนี้ แม้แนวคิดดังกล่าวจะถูกยกออกจากตำราเรียนไปนานเพียงใด แต่การถูกผลิตซ้ำหรือละเลยในการเผยแพร่ข้อมูลใหม่ๆ จึงทำให้ประโยคที่ว่า ′คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต′ ยังคงวนเวียนอยู่ในความคิด ความเชื่อ การรับรู้ โดยไม่ยอมจากไปไหนเสียที

เผยแพร่ความรู้ใหม่ "เรื่องใหญ่" ของพิพิธภัณฑ์

แม้ภาพลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่จะเป็นที่เก็บของเก่า ทว่าบทบาทหน้าที่ ที่ถูกต้องของพิพิธภัณฑ์คือการให้ข้อมูลความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ ไม่ใช่ปล่อยให้ข้อมูลเก่าคร่ำครึได้รับการเผยแพร่โดยไม่ยอมแก้ไข ดังเช่นกรณีคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต

ด้วยเหตุนี้ การปรับปรุงแก้ไขนิทรรศการให้ถูกต้อง ทันสมัย รวมถึงการสร้างทัศนคติ และประสบการณ์ใหม่ๆ ย่อมเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

หทัยรัตน์ มณเฑียร ภัณฑารักษ์อิสระ ผู้อยู่เบื้องหลังการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์บ้านฮอลันดา จ. พระนครศรีอยุธยา หนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่ ′ก้าวหน้า′ ที่สุดในเมืองไทยขณะนี้ กล่าวไว้ในบทความเรื่อง ′แนวคิดใหม่ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของเนเธอร์แลนด์′ (ตีพิมพ์ในหนังสือสรรพศาสตร์ประวัติศาสตร์ศิลป์ เอกสารประชุมวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2557) ว่า

"หัวใจของการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ จะสำเร็จไปไม่ได้เลย ถ้าขาดวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกล ต้องอาศัยการผ่าตัดภายใน กล้าหาญที่จะลองใช้วิธีการที่แตกต่างไปจากขนบเดิม เพื่อสร้างวิธีการ, สร้างประสบการณ์, และทัศนคติใหม่ๆ ให้ผู้ชม"

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ′กิจกรรม′ ที่ต้องจัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างความเคลื่อนไหว และหมุนไปตามโลก

"สังคมเปลี่ยน โลกหมุน ข้อมูลใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา แนวคิดทฤษฎีต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ พิพิธภัณฑ์อาจจะไม่สามารถปรับเปลี่ยนนิทรรศการถาวรได้ทันทีด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง แต่สิ่งที่ทำได้ก็คือการจัดอีเวนต์ สัมมนา พูดคุย ซึ่งช่วยให้พิพิธภัณฑ์ก้าวไปพร้อมๆ กับสังคม นอกจากนี้กิจกรรมต่างๆ ยังเป็นสิ่งที่ทำให้คนที่เคยเข้าชมแล้วย้อนกลับมาอีก" หทัยรัตน์กล่าว

ในประเด็นที่ว่านี้ กรมศิลปากรเองก็ดูจะเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของกิจกรรมเผยแพร่ความรู้มากขึ้นทุกที ดังเช่นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรมที่ให้ข้อมูลความรู้ใหม่ แก้ไขข้อมูลเก่า เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี จัดงาน ′อู่ทอง ต้นทางประวัติศาสตร์ไทย′

ต่อมา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จ. พระนครศรีอยุธยา จัดงาน ′พระเจ้าอู่ทอง สร้างอยุธยา มาจากไหน?′

ล่าสุด ′สุพรรณบุรี มาจากไหน? เหน่อสุพรรณ สำเนียงหลวงกรุงศรีอยุธยา′

การมีกิจกรรมต่อเนื่องเช่นนี้ เป็นสัญญาณที่ดีของการปรับตัวของกรมศิลปากร ซึ่งเห็นความสำคัญของการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน

แต่ถ้ายังยึดติดกับขนบเดิมๆ ไม่ปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการเสียใหม่ ก็อย่าแปลกใจที่เทือกเขาอัลไต จะยังเป็นถิ่นกำเนิดคนไทยอยู่ต่อไปชั่วลูกสืบหลาน

คอลัมน์ สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม

มติชนออนไลน์ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

73
“The World Top 20 Education Poll” เผยผลสำรวจระบบการศึกษาจากทั่วโลกกว่า 200 ประเทศ เพื่อพัฒนาศักยภาพทางด้านการศึกษาของนักเรียนอายุตั้งแต่ 3-25 ปี ซึ่งการสำรวจครั้งนี้ประกอบไปด้วยปัจจัยที่สำคัญในด้านการศึกษา 5 ข้อด้วยกัน คือ
       
       1. อัตราการลงทะเบียนของเด็กช่วงปฐมวัย
       2. โรงเรียนประถมศึกษา คะแนนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน
       3. โรงเรียนมัธยมศึกษา คะแนนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน
       4. อัตราการสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา
       5. อัตราการสำเร็จการศึกษาในระดับวิทยาลัย
       
       การสำรวจในครั้งนี้เป็นการรวบรวมสถิติจาก 6 องค์กรระหว่างประเทศ คือ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD), โครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA), องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO), หน่วยข่าวกรองเศรษฐศาสตร์ (EIU), โครงการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (TIMSS) และความคืบหน้าในระหว่างการอ่านและการเรียนรู้ (PIRLS) ส่งไปยังกระทรวงศึกษาธิการของแต่ละประเทศเพื่อยืนยันความถูกต้องของข้อมูล
       
        โดยแต่ละหัวข้อจะทำการจัดอันดับประเทศที่ดีที่สุด 20 ประเทศ โดยจะให้คะแนนเต็ม 20 คะแนนสำหรับประเทศที่ได้อันดับที่ 1 และ 19 คะแนนสำหรับประเทศในอันดับที่ 2 เรียงลำดับคะแนนลดหลั่นกันมาตามลำดับจะถึงอันดับที่ 20 จะได้ 1 คะแนน โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำมาหาค่าเฉลี่ยจากคะแนนรวมทั้งหมด 5 ข้อ จนได้มาเป็น “20 อันดับประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก” ดังนี้
       
       อันดับที่ 20 : เบลเยี่ยม (Belgium) PTS : 8
         
       เบลเยี่ยมมีระบบการปกครองแบบสหพันธรัฐ และแบ่งการปกครองออกเป็นสามภูมิภาคคือ ภูมิภาคแฟลนเดอร์สใช้ภาษาเฟลมมิช หรือ ดัชท์ ภูมิภาควอลลูนใช้ภาษาฝรั่งเศส และภูมิภาคบรัสเซลส์ใช้ภาษาฝรั่งเศสในการสื่อสาร ระบบการเรียนการสอนจึงมีความแตกต่างตามภูมิภาค นักเรียนแลกเปลี่ยนเบลเยี่ยมสามารถเลือกได้ว่าต้องการอยู่กับครอบครัวแถบที่ใช้ภาษาดัตช์ หรือ ภาษาฝรั่งเศส การเรียนปริญญาตรีที่เบลเยี่ยมใช้เวลาทั้งหมด 3 ปีขึ้นอยู่กับสาขาที่เรียน
       
       อันดับที่ 19 : สาธารณรัฐประชาชนจีน (China) PTS: 9
         
       จีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากถึง 1,370 ล้านคน อีกทั้งยังมีชนกลุ่มน้อยอีกจำนวนมาก มีจำนวนนักเรียนนักศึกษามากกว่า 320 ล้านคน มีโรงเรียนจำนวน 680,000 โรงเรียน ซึ่งนับเป็นจำนวนที่สูงติดอันดับต้นๆ ของโลกรัฐบาลประเทศจีนจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านการศึกษาของประเทศเป็นอย่างมาก รวมถึงการให้ความสำคัญกับนักศึกษาชาวต่างชาติที่เข้ามาศึกษาในจีน ถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศจีนและประเทศอื่นๆ ปัจจุบันมีนัก เรียนจากประเทศไทยที่กำลังศึกษาอยู่ในประเทศจีนประมาณ 2,500 คน
       
       อันดับที่ 18 : สหรัฐอเมริกา (USA) PTS: 12
         
       การศึกษาภาคบังคับนักเรียนอเมริกันทุกคนจะได้รับสิทธิเรียนฟรีจนกระทั่งถึงเกรด 12 หรือจบในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย บรรยากาศการศึกษาในห้องเรียนของชาวอเมริกันนั้น นักศึกษาจะต้องมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น โต้เถียงเพื่อแสดงจุดยืนของตนเอง มีส่วนร่วมในการสนทนา และนำเสนองานของตน ซึ่งนักศึกษาชาวต่างชาติส่วนใหญ่เห็นว่าบรรยากาศภายในห้องเรียนเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าตื่นใจที่สุดของระบบการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา
       
       อันดับที่ 17 : ออสเตรเลีย (Australia) PTS: 14
         
       การศึกษาภาคบังคับของประเทศออสเตรเลีย คือ ปีที่ 1 - 10 (อายุ 6 - 15 ปี) นักศึกษาต่างชาติสามารถสมัครเพื่อเข้าศึกษากับสถาบันในประเทศออสเตรเลียได้ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับปริญญาเอก มีโรงเรียนที่มีคุณภาพสูงจำนวนมาก ทั้งที่เป็น โรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนเอกชน และโรงเรียนที่ดำเนินการร่วมกับองค์กรศาสนา โรงเรียนของรัฐบาลจะเป็นประเภทไปกลับ (Day School) ส่วนโรงเรียนเอกชนจะมีทั้งโรงเรียนประจำ (Boarding School) และไป-กลับ
       
       อันดับที่ 16 : อิสราเอล (Israel) PTS: 15
         
       อิสราเอลถือว่าเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ค่อนข้างสูงประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะในด้านของการศึกษา ในทัศนะคติของคนอิสราเอลจะถือว่าการศึกษาถือเป็นมรดกที่ล้ำค่า ในปัจจุบันประเทศอิสราเอลอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลก ของในอัตราการสมัครเข้าเรียนในระดับประถมศึกษา การศึกษาภาคบังคับทั้งหมด 12 ปี (ตั้งแต่อายุ 5-16 ปี) และรัฐได้จัดการศึกษาฟรีจนถึงอายุ 18 ปี
       
       อันดับที่ 15 : สวิตเซอร์แลนด์ (Switzerland) PTS: 16
         
       เนื่องจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ไม่มีทรัพยากรทางธรรมชาติ การศึกษาและแหล่งการเรียนรู้จึงกลายมาเป็นทรัพยากรสำคัญ จนได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีแห่งหนึ่งของโลกเลยทีเดียว นักเรียนส่วนใหญ่จะเข้าเรียนที่โรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนเอกชนทั่วไปจะค่อนข้างแพง มีมหาวิทยาลัยรวมทั้งหมด 11 แห่ง กล่าวกันว่าประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นต้นกำเนิดของวิชาการโรงแรม จึงทำให้สาขานี้มีนักเรียนไทยให้ความสนใจและไปเรียนมากที่สุดนั่นเอง
       
       อันดับที่ 14 : โปแลนด์ (Poland) PTS: 18
         
       ประเทศโปแลนด์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง และสาขาวิชาที่ขึ้นชื่อคือ “สาขาแพทย์” และเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในเครือข่าย European Union เพื่อแลกเปลี่ยนด้านอื่นๆ รวมทั้งการศึกษา ในปัจจุบัน  โรมาเนีย, เบลเยี่ยม, ฟินแลนด์, กรีซ, อิตาลี, สเปน, โปตุเกส และโปแลนด์ จะรับนักศึกษาโดยพิจารณาจาก GPA ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และ Biology, Chemistry ,Physic เป็นตัววัดการได้เข้าศึกษาถึง 90 %  และ อีก 10 % คือคุณสมบัติพิเศษเช่นภาษาอังกฤษ เป็นต้น หลักสูตรแพทย์ในโปแลนด์ยังได้รับการรับรองจากแพทย์สภาอีกด้วย
       
       อันดับที่ 13 : นิวซีแลนด์ (New Zealand) PTS: 18
         
       เนื่องจากประเทศนิวซีแลนด์เคยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาก่อน จึงได้รับการถ่ายทอดวัฒนธรรมและระบบการศึกษาแบบอังกฤษมาใช้จนถึงปัจจุบัน ทำให้นิวซีแลนด์เป็นประเทศหนึ่งที่มีการศึกษาที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับทั่วโลก นอกจากนี้นิวซีแลนด์ยังมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การเรียนหนังสือ นักเรียนต่างชาติก็เป็นที่ต้อนรับของชาวนิวซีแลนด์ มหาวิทยาลัยในนิวซีแลนด์มีทั้งหมด 8 แห่ง เป็นของรัฐบาลทั้งหมด และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติทั้งด้านวิชาการและวิชาชีพอีกด้วย
       
       อันดับที่ 12 : รัสเซีย (Russia) PTS: 23
         
       รัสเซียให้ความสำคัญกับการศึกษามาตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต จึงทำให้ประเทศรัสเซียเป็นประเทศที่มีการศึกษาที่มีคุณภาพสูงแห่งหนึ่ง ชาวรัสเซียส่วนมากจึงสามารถสำเร็จการศึกษาขั้นต่ำทุกคน นอกจากนั้นชาวรัสเซียยังเป็นนักอ่านหนังสือพิมพ์มากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก มีการศึกษาหาความรู้กันอย่างจริงจัง อีกทั้งมีวิชาการ ความรู้และเทคโนโลยีเป็นของตนเองมาเป็นเวลานาน นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายทางด้านการศึกษาก็นับว่าไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อีกด้วย
       
       อันดับที่ 11 : ไอร์แลนด์ (Ireland) PTS: 28
         
       อีกหนึ่งประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีเยี่ยมอันดับต้นๆ ของโลก โดยรัฐบาลไอร์แลนด์มุ่งมั่นจะสร้างประเทศให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ทันสมัย นอกจากนี้ประเทศไอร์แลนด์ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้นิยมมาเรียนภาษาอังกฤษมากที่สุด โดยในแต่ละปีมีจำนวนนักเรียนประมาณ 200,000 คน ที่มาจากหลากหลายประเทศทั่วโลก โดยมีหน่วยงานของรัฐบาลไอร์แลนด์รับรองคุณภาพทางการศึกษา
       
       อันดับที่ 10 : เยอรมนี (Germany) PTS: 28
         
       เยอรมันเป็นประเทศหนึ่งในกลุ่ม OECD ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาเป็นอย่างมาก ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กๆ อยู่ในระดับสูงทั้งในระดับมัธยมศึกษา และในระดับอุดมศึกษา การเรียนในระดับอุดมศึกษาของเยอรมันนั้น สามารถเลือกเรียนในสถาบันต่างๆ 5 ประเภทด้วยกันคือ Universitaet เน้นการเรียนการสอนทางด้านทฤษฏี, Fachhochschule มหาวิทยาลัยเน้นทางปฏิบัติ, Gesamthochschule รวม Universitaet และ Fachhochschule ไว้ในสถาบันเดียวกัน, Paedagogische Hochschule วิทยาลัยครู และ Kunsthochschule วิทยาลัยศิลปะ
       
       อันดับที่ 9 : เดนมาร์ก (Denmark) PTS: 29
         
       ประเทศเดนมาร์กมีระบบการศึกษาที่ได้รับการพัฒนาและมีความน่าสนใจ อาทิเช่น ระบบการศึกษาภาคบังคับที่ยืดหยุ่น การศึกษามัธยมศึกษาตอนปลายที่หลากหลาย การศึกษาต่อเนื่องที่หลายหน่วยงานมีส่วนร่วม การเน้นการวิจัยในระดับอุดมศึกษา นอกจากนั้นยังเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองและนักเรียนมีส่วนร่วมออกความคิดเห็น นักเรียนสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องโรงเรียนและการศึกษาได้อีกด้วย
       
       อันดับที่ 8 : แคนาดา (Canada) PTS: 41
         
       แคนาดาเป็นประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาสูง ระบบการเรียนของแคนาดา จะอยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละจังหวัดและมณฑล โดยจะมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย ยกเว้นในควิเบก (Quebec) ซึ่งจะมีระบบการศึกษาที่แตกต่างออกไป ประกอบด้วยระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา วิทยาลัยทั่วไปและวิทยาลัยอาชีพ (CEGEP) นอกจากนี้ประเทศแคนาดายังเป็นประเทศที่มีมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดีติดอันดับโลกอีกด้วย
       
       อันดับที่ 7 : เนเธอแลนด์ (Netherlands) PTS: 42
         
       ประเทศเนเธอแลนด์ดินแดนกังหันลม จุดหมายปลายทางที่นักศึกษาจากทั่วโลกที่นิยมมาเรียนต่อตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกไม่แพ้ประเทศอื่นๆ ในแถบยุโรป ระบบการศึกษาของประเทศเนเธอร์แลนด์แตกต่างจากที่อื่น เพราะที่นี่จะให้อิสระโรงเรียนในการจัดการศึกษาอย่างเต็มที่ รัฐบาลจะไม่เข้าไปแทรกแซงเรื่องการบริหารจัดการอีกด้วย
       
       อันดับที่ 6 : ฮ่องกง (Hong Kong) PTS: 43
         
       ฮ่องกงใช้เวลาทำการปฏิรูปการศึกษาอยู่ 12 ปี โดยเริ่มเมื่อ ปี ค.ศ. 2000 การปฏิรูปการศึกษาประสบผลสำเร็จอย่างน่าชื่นชม ฮ่องกงกล้าที่จะยกเลิกระบบการศึกษาแบบดั้งเดิมของอังกฤษแทบทั้งหมด สร้างความเป็นนานาชาติที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับวิถีชีวิตเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าได้อย่างเหมาะสมได้ทุกระบบ ยกเลิกการสอบแบบ o-Level และ A-Level มาเป็นการสอบระดับชาติเพียง 1 ครั้ง ขยายการศึกษาภาคบังคับจาก 9 ปี เป็น 12 ปี ขยายเวลาเรียนจบในระดับปริญญาตรีจาก 3 ปี เป็น 4 ปี เป็นต้น
       
       อันดับที่ 5 : สหราชอาณาจักร (United Kingdom) PTS: 48

        การศึกษาภาคบังคับของสหราชอาณาจักร เริ่มตั้งแต่อายุ 5 ปี ไปจนถึง 16 ปี โรงเรียนมีทั้งประเภท โรงเรียนรัฐบาล และโรงเรียนเอกชน การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยปัจจุบันมหาวิทยาลัยของสหราชอาณาจักรมีประมาณ 96 แห่ง เป็นของรัฐบาลเกือบทั้งหมด ยกเว้น University of Buckingham ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนเพียงแห่งเดียวการศึกษาระดับอุดมศึกษา
       
       อันดับที่ 4 : ฟินแลนด์ (Finland) PTS: 48
         
       โรงเรียนในประเทศฟินแลนด์ไม่มีเครื่องแบบนักเรียน ไม่มีการสอบเข้าสถานศึกษา ไม่มีค่าธรรมเนียมทางการศึกษา ไม่มีการจัดอันดับสถานศึกษา ไม่มีหน่วยงานคอยควบคุมวัดระดับเพื่อประเมินผล การศึกษาภาคบังคับเริ่มต้นเมื่อเด็กอายุ 7 ปี ไม่เน้นการเรียนอนุบาลแต่จะเน้นให้อยู่กับครอบครัวให้มากที่สุด ระดับประถมจะใช้เวลาเรียนน้อยและให้เด็กได้ทำในสิ่งที่สนใจมากกว่า ที่สำคัญจะไม่เน้นเรื่องการแข่งขันจึงไม่มีเกรดเฉลี่ย
       
       อันดับที่ 3 : สิงคโปร์ (Singapore)
         
       รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการศึกษามาก โดยถือว่าประชาชนเป็นทรัพยากรที่สำคัญ และมีค่าที่สุดของประเทศ จึงสนับสนุนด้านการศึกษาจนเสมือนกับเป็นการศึกษาแบบให้เปล่า โรงเรียนในระดับประถม และมัธยมล้วนเป็นโรงเรียนของรัฐบาลหรือกึ่งรัฐบาล สถานศึกษาของเอกชนในสิงคโปร์ มีเฉพาะในระดับอนุบาล และโรงเรียนนานาชาติเท่านั้น การเรียนการสอนในประเทศสิงค์โปร์นี้จะเน้นความง่าย เรียนจากความเป็นจริง และสิ่งที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ 4 ด้านคือ เทคโนโลยี คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษา
       
       อันดับที่ 2 : ญี่ปุ่น (Japan) PTS: 55
         
       ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีมาตรฐานทางด้านการศึกษาในระดับสูง โดยระบบการศึกษาของประเทศได้รับต้นแบบมาจากระบบการศึกษาของหลายๆ ประเทศ อาทิเช่น ประเทศอังกฤษ, ฝรั่งเศส และอเมริกา นอกจากเทคโนโลยีที่มาใช้ในการศึกษาได้อย่างทั่วถึงแล้ว ความสำเร็จทางการศึกษาของญี่ปุ่นอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล ในการสอบวัดความรู้ด้านคณิตศาสตร์นานาชาติ เด็กญี่ปุ่นถูกจัดให้อยู่ในอันดับต้นๆ มาโดยตลอด
       
       อันดับที่ 1 : เกาหลีใต้ (South Korea) PTS: 59
         
       ระบบการศึกษาของเกาหลียุคใหม่ มาแรงแซงทุกประเทศ “New Education System” มุ่งพัฒนาเครือข่ายสารสนเทศเพื่อการเป็นสังคมแห่งความรู้ สร้างสภาวะแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อให้คนเกาหลีมีความรู้ ความสามารถ มีความทันสมัย และที่สำคัญคือมีจริยธรรม แต่ยังคงความเป็นเลิศด้านการศึกษาและดำรงมาตรฐานของระบบการศึกษาของเกาหลี ดังจะเห็นได้จากนักเรียน-นักศึกษาของประเทศเกาหลีจะเรียนหนักมาก ผู้ปกครองก็ให้การสนับสนุนด้านการศึกษาเป็นอย่างดี อีกทั้งยังนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการเรียนการสอนอีกด้วย
       
       *PTS: Calculated from 3 international education ranking systems from last year’s final rankings
       
       ที่มา : http://worldtop20.org/

ASTVผู้จัดการออนไลน์    8 เมษายน 2558

74
การฝังเข็ม (Acupuncture) เป็นการแพทย์ทางเลือกแขนงหนึ่งที่คนไทยรู้จักกันมาก เป็นวิธีการแทงเข็มรักษาโรค ด้วยการใช้เข็มซึ่งมีหลายขนาด แทงลงไปตรงตำแหน่งของจุดฝังเข็มตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย โดยใช้หลักการรักษาของแพทย์แผนจีนที่มีการบันทึกไว้ตั้งแต่โบราณมาแล้วว่าตำแหน่งของจุดฝังเข็มมีความสำคัญและสัมพันธ์กับอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย จุดฝังเข็มบนร่างกายมนุษย์มีอยู่หลายร้อยจุด แต่จุดที่มีการบันทึกไว้อย่างชัดเจน ในเอกสารตำราแพทย์จีนโบราณและในเอกสารอ้างอิงขององค์การอนามัยโลก (WHO) มีอยู่จำนวน 349 จุด

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศยอมรับการรักษาโรคและบรรเทาอาการด้วยวิธีฝังเข็ม พร้อมกับยืนยันการรักษาที่ได้ผลเด่นชัดเป็นพิเศษ ได้แก่ อาการปวดต้นคอเรื้อรัง หัวไหล่ ข้อศอก สันหลัง ปวดเอว ปวดหัวเข่า ปวดจากโรครูมาตอยด์ ปวดจากการเคล็ดขัดยอก ปวดประจำเดือน ปวดนิ่วในถุงน้ำดี ปวดศีรษะ มีสาเหตุมาจากความเครียด หรือก่อนการมีประจำเดือน ปวดเนื่องจากสาเหตุต่างๆ ปวดในระบบทางเดินปัสสาวะ ปวดเส้นประสาท หรือปวดเส้นประสาทบนใบหน้า ปวดหลัง การผ่าตัด ปวดไมเกรน อาการซึมเศร้า รวมถึงโรคอาการทั่วไป ได้แก่ อัมพฤกษ์ และผลข้างเคียงหลังจากป่วยด้วยโรคทางสมอง ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ งูสวัด เม็ดเลือดขาวน้อยกว่าปกติ สมรรถภาพทางเพศถดถอย ภูมิแพ้ หอบหืด หวาดวิตกกังวล นอนไม่หลับ ขากรรไกรค้าง แพ้ท้อง คลื่นเหียรอาเจียน การเลิกเหล้าบุหรี่ ยาเสพติด

การรักษาที่ให้ผลดี  ได้แก่ อาการเจ็บเฉียบพลันหรือเรื้อรังในลำคอ (ต่อมทอนซิล) อาการวิงเวียนศีรษะสาเหตุจากน้ำในช่องหู สายตาสั้นในเด็ก เด็กในครรภ์มารดาอยู่ในท่าขวาง (ทำให้คลอดยาก) อาการผิดปกติของลำไส้เมื่อเกิดความเครียด ส่วนการรักษาที่ได้ผล ได้แก่ ท้องผูก ท้องเดิน การมีบุตรยาก ที่มีสาเหตุจากทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย กระเพาะอาหารเลื่อนต่ำ เรอบ่อย ปัสสาวะไม่รู้ตัว ไม่คล่อง ไซนัสอักเสบ หญิงหลังคลอดมีน้ำนมไม่พอ

จุดที่ใช้ในการฝังเข็มบริเวณศีรษะ           


การฝังเข็มเป็นแขนงหนึ่งของการแพทย์แผนจีน ซึ่งสามารถสืบย้อนประวัติได้ยาวนานหลายพันปี สำหรับประเทศไทย หนังสือว่าด้วยประวัติการแพทย์ ซึ่งเขียนโดย วอล์เคอร์ (Kemeth  Walker, ค.ศ.1959 (พ.ศ.2502) กล่าวถึงวิชาการแพทย์แผนจีนที่เข้ามาสู่ประเทศไทยในสมัยสุโขทัย พ.ศ.1800-1920 ว่ามีหลักฐานความเกี่ยวข้องระหว่างประเทศไทยในเวลานั้นกับประเทศจีน คือ การทำเครื่องถ้วยชามเคลือบ หรือที่เรียกว่า "สังคโลก" แม้ประวัติศาสตร์ของถ้วยชามสังคโลกในประเทศไทยจะกล่าวไว้อย่างหลากหลาย แต่ลักษณะของเครื่องปั้นดินเผาในสมัยนั้น นับเป็นหลักฐานบ่งชี้ถึงการเข้ามาของผู้คนและวัฒนธรรมจีนในแผ่นดินไทย และเป็นไปได้มากว่าได้นำเอาวิชาการแพทย์จากประเทศจีนมาสู่ประเทศไทยด้วย

เป็นที่ทราบกันดีว่าการแพทย์ของจีนนั้นเก่าแก่ สามารถย้อนไปสมัยเมื่อสี่ถึงห้าพันปีเท่าๆ กับระยะเวลาของการแพทย์แผนปัจจุบันของประเทศตะวันตก หรืออาจตามเรื่องราวย้อนไปถึงสมัยอียิปต์โบราณเมื่อสี่ถึงห้าพันปีมาแล้วเช่นกัน เพราะนักปราชญ์ของจีนได้บันทึกเรื่องราวหลักฐานเกี่ยวกับการแพทย์ไว้แทบทุกยุคทุกสมัยตลอดมา

วิธีการหาจุด และแทงเข็มบริเวณศีรษะ


หนังสือว่าด้วยวิธีการแพทย์ของจีนซึ่งแต่งโดย ฮูม (Hume, 1940 (พ.ศ.2483) ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของการแพทย์ของจีน และกล่าวถึงแพทย์คนสำคัญ 14 คน คนหนึ่งในจำนวนนี้คนไทยรู้จักกันดีในหนังสือสามก๊ก ก็คือ “หมอฮัวโต๋” (เกิดใน พ.ศ.733) นายแพทย์สงัด เปล่งวานิช ผู้เรียบเรียงประวัติของหมอผู้นี้ ยกย่องท่านมากในวิชาศัลยกรรม กล่าวว่าเป็นผู้ใช้วิธีบำบัดด้วยน้ำ (hydro-therapy) และเป็นคนแรกที่ใช้การออกกำลังกายช่วยในการบำบัดโรค เป็นผู้ใช้ยาระงับความรู้สึกซึ่งยังเป็นที่โต้เถียงกันว่าผู้ใช้คนแรกอาจเป็นหมอเบียงเฉียว ศัลยแพทย์ที่มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่ง ยาที่หมอฮัวโต๋ใช้เป็นยาผง เมื่อใส่ลงในเหล้าก็เดือดเป็นฟองช่วยให้หมอฮัวโต๋ผ่าตัดในช่องท้องได้ แต่ที่คนไทยรู้จักกันมาก ก็คือการผ่าตัดแผลเกาทัณฑ์ที่ต้นแขนของกวนอู ซึ่งเป็นเกาทัณฑ์อาบยาพิษทำให้กระดูกตาย ถ้าเป็นการผ่าตัดในสมัยนี้ก็ต้องวางยาสลบ เพราะเป็นการผ่าตัดที่เจ็บปวดมากและกินเวลาในการผ่าตัด ไม่มีผู้ใดทนได้ถ้าไม่ได้รับยาระงับปวดอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่หนังสือต้องการจะยกย่องกวนอูว่ามีความอดทนเป็นเลิศ ไม่ยอมให้หมอฮัวโต๋มัดตัวติดกับเสาก่อนผ่าตัด คงเสพแต่สุราและเล่นหมากรุกจนการผ่าตัดสิ้นสุด เภสัชตำรับของจีนต่อมากล่าวว่า ยาระงับความเจ็บปวดของหมอฮัวโต๋อาจเป็น “ลำโพง” และได้ใช้ยานี้บำบัดโรคไข้หวัด โรคชักกระตุก เมื่อผสมกับกัญชา และยาอื่นอีกบางอย่างยังสามารถใช้เป็นยานอนหลับได้

หมอฮัวโต๋ ศัลยแพทย์มีชื่อของจีน

จากบทความของนายแพทย์สงัด แสดงให้เห็นว่าในสมัยหมอฮัวโต๋ แพทย์จีนมีความก้าวหน้าเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์มากทีเดียว โดยเฉพาะในวิชาการแพทย์ สาขาศัลยกรรม แต่อย่างไรก็ตาม บันทึกหลักฐานเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการแพทย์ของจีน เรียกได้ว่ามีแนวทางของตัวเองจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของการแพทย์แผนตะวันออก เนื่องจากความคิดความเชื่อเกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์นั้นแตกต่างไปจากการแพทย์ตะวันตก

กล่าวคือ นายแพทย์สงัดได้สรุปข้อความในตอนท้ายไว้ว่า “ทั้งๆ ที่ หมอฮัวโต๋ได้ค้นพบยาระงับความรู้สึกและใช้ได้ผลดีมานานถึง 1,700 ปีมาแล้ว แต่วิชาศัลยกรรมของจีนก็หาได้ก้าวหน้าไป ทั้งนี้ว่ากันว่าเพราะคำสั่งสอนของท่านศาสดาขงจื้อ (ประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว สมัยพุทธกาล) ซึ่งสอนให้เคารพเทิดทูนร่างกายของคน การที่จะเชือดเฉือนเนื้อหนัง ถือเป็นการทำลายสิ่งที่ควรแก่การเคารพ เป็นเหตุให้ความรู้ซึ่งควรจะก้าวหน้าเกี่ยวกับร่างกาย ต้องชะงักงัน”

เอกลักษณ์ของการแพทย์แผนจีนอย่างการฝังเข็ม จึงเป็นศาสตร์การแพทย์ที่เคารพต่อร่างกายมนุษย์ การฝังเข็ม เป็นวิธีการรักษาที่ให้ความสำคัญกับจุดต่างๆ บนร่างกายที่สัมพันธ์กับอวัยวะในร่างกาย และเป็นวิธีการกระตุ้นระบบประสาทอย่างหนึ่งที่สามารถปรับการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายที่เสียสมดุลไปให้กลับสู่สภาพปกติโดยผ่านทางระบบประสาท การปรับควบคุมการทำงานของอวัยวะระบบต่างๆ ด้วยการฝังเข็มนั้น มีลักษณะพิเศษที่เรียกว่า "ทวิภาพ" (Biphasic effect) หมายความว่า การฝังเข็ม ณ จุดเดียวกันสามารถปรากฏผลออกมาได้ 2 แบบ คือ อาจ "กระตุ้น" ให้อวัยวะทำงานเพิ่มขึ้น หรืออาจ "ยับยั้ง" ให้อวัยวะทำงานลดลงก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะของอวัยวะหรือร่างกายของผู้ป่วยในขณะนั้น ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่แตกต่างจากการใช้ "ยา" เพราะยาจะมีฤทธิ์เพียงอย่างหนึ่งอย่างเดียวเท่านั้นคือ "กระตุ้น" หรือไม่ก็ "ยับยั้ง"

เก็บความและภาพจาก

คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล, เวชศาสตร์แผนจีน (ฝังเข็ม).แหล่งที่มา : http://www.tm.mahidol.ac.th/hospital/hospital-alternative-chinese-th.php

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, การแพทย์สมัยโบราณของประเทศอินเดียและจีน. แหล่งที่มา : http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=8&chap=1&page=t8-1-infodetail02.html

สมาคมแพทย์ฝังเข็มและสมุนไพร, การฝังเข็มรักษาโรคอะไรได้บ้าง. แหล่งที่มา :  http://www.thaiacupuncture.net/web/index.php/2012-09-02-15-30-15/85-2012-08-28-04-00-20.html


Sun, 2015-02-08
http://www.hfocus.org/content/2015/02/9254

75
ห้องพักผ่อนรวม (Common Room) / สุขภาพในวิถีอิสลาม
« เมื่อ: 21 กุมภาพันธ์ 2015, 02:18:48 »
การดูแลสุขภาพและสาธารณสุขในยุคปัจจุบันนั้น ความเกี่ยวข้องระหว่างศาสนากับสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญประการหนึ่งที่มีการกล่าวถึงอยู่ไม่น้อย ดังเช่นศาสนาอิสลาม หากย้อนกลับไปพิจารณาวิถีของอิสลาม ซึ่งเป็นวิถีในการดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์และครอบคลุมทุกๆ ด้าน (The way of life) เรื่องสุขภาพและความเจ็บป่วยนั้น อิสลามได้พูดถึงอย่างละเอียดทั้งด้านการส่งเสริม ป้องกัน บำบัดรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพ เป็นสิ่งที่มุสลิมทุกคนต้องนำมาปฏิบัติ

เราจะพบว่า วิถีชีวิตประจำวันของผู้นับถือศาสนาอิสลามดำเนินไปตามหลักคำสอนของอิสลามที่ครอบคลุมทุกอย่างเกี่ยวกับชีวิตของมนุษย์ เริ่มตั้งแต่หัวใจ และจิตใจของมนุษย์จนครอบคลุมทุกส่วนของร่างกาย และสภาพแวดล้อมที่มนุษย์ใช้ชีวิตอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดกรอบความสัมพันธ์อย่างเป็นระบบระหว่างสุขภาพกับศาสนพิธี หรือ “อิบาดะอ์” เช่น การละหมาด การถือศีลอด การอาบน้ำละหมาด การออกกำลังกาย โภชนาการ การพักผ่อน การป้องกัน การรักษา การปฏิบัติตามคำสอนของอิสลามจึงเป็นการปฏิบัติดีเกี่ยวกับสุขภาพไปพร้อมกันด้วย

คำสอนทั่วไปของอิสลามเกี่ยวกับสุขภาพที่มีการปฏิบัติกันในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ด้านความสะอาด  ชาวมุสลิมถือว่าความสะอาดทางจิตใจมีความสำคัญ หมายถึงการตั้งมั่นต่ออัลลอฮแต่เพียงผู้เดียว และยังรวมถึงการขัดเกลาจิตใจให้ปลอดจากความอิจฉาริษยา ส่วนความสะอาดของร่างกายนั้นก็สำคัญไม่น้อยไปกว่า จะพบว่ามีกฎเกณฑ์กำหนดไว้มากมาย เช่น การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย การตัดเล็บ การแปรงฟัน การสวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ฯลฯ

ด้านโภชนาการ  เท่าที่พบหลักฐานโภชนาการตามแนวทางของอิสลามนั้น อาหารต้องครอบคลุมถึงอาหารทุกชนิดที่จำเป็นต่อร่างกาย เน้นความสำคัญของ นม น้ำผึ้ง เนื้อ ผลไม้ และผักต่างๆ ให้ความสำคัญเรื่องความสะอาดของอาหาร ไม่รับประทานอย่างฟุ่มเฟือย เป็นต้น

ด้านการออกกำลังกาย อิสลามถือว่าการมีร่างกายที่แข็งแรงและสุขภาพดีเป็นความโปรดปรานจากอัลลอฮ การรักษาความแข็งแรงและสุขภาพร่างกายของชาวมุสลิมจึงถือเป็นการตระหนักต่อความโปรดปรานจากอัลลอฮ หรือเป็นการปฏิบัติทางศาสนาด้วยเช่นกัน

การป้องกันและบำบัดโรค ในหมู่ชาวมุสลิมให้ความสำคัญและเอาใจใส่ต่อเรื่องความสะอาด การบริโภคอาหารตามหลักโภชนาการ การออกกำลังกายเป็นประจำ และการมีเวลาพักผ่อนที่เพียงพอ ตลอดจนมีวิธีการในการควบคุมโรคติดต่อเพื่อไม่ให้แพร่ระบาดด้วย

สำหรับ สุขภาพในศาสนพิธี ของอิสลามนั้น เป็นทั้งกฎเกณฑ์เพื่อฝึกควบคุมร่างกายและส่งเสริมสุขภาพจิตไปพร้อมๆ กัน ในการละหมาด มุสลิมทุกคนจะทำการละหมาดภาคบังคับวันละห้าเวลา ความสะอาดถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการละหมาดแต่ละครั้ง คือต้องสะอาดทั้งสถานที่ เสื้อผ้าที่ใช้ รวมทั้งต้องอยู่ในสภาพที่สะอาดด้วยการอาบน้ำหรืออาบน้ำละหมาด ในการถือศีลอด ทุกๆ ปีมุสลิมจะถือศีลอดหนึ่งเดือน คือเดือนเราะมะฎอน

นอกจากนั้นอิสลามยังส่งเสริมให้มีการถือศีลอดในโอกาสต่างๆ รวมทั้งการถือศีลอดในวันจันทร์และพฤหัสบดี หรืออย่างน้อยที่สุดในแต่ละเดือนจะถือศีลอดไม่น้อยกว่าสามวัน ซึ่งเป็นการกระทำแบบสมัครใจ กล่าวได้ว่าการถือศีลอดมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการสร้างสุขภาพ นั่นคือการสร้างระเบียบวินัยต่อร่างกายด้วยการฝึกความอดทนและการปรับตัว ในขณะที่การประกอบพิธีฮัจญ์นั้นจะกระทำไม่ได้เลยหากมีสุขภาพกายไม่ดี เพราะต้องใช้กำลังกายในการหมุน การเดินที่เป็นองค์ประกอบหรือเงื่อนไขของพิธีฮัจญ์

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติในศาสนพิธีของอิสลามก็มีข้อยกเว้นสำหรับมุสลิมที่เจ็บป่วยหรืออยู่ระหว่างการเดินทางด้วย ดังนั้นแล้วการปฏิบัติตัวเป็นมุสลิมที่ดีจึงสอดคล้องกับการสร้างเสริมสุขภาพอันเป็นวิถีของอิสลามที่ปฏิบัติสืบต่อกันมานับจากอดีตจนปัจจุบัน

เก็บความจาก

อิสมาแอ อาลี , อิสลามกับการสร้างพฤติกรรมเพื่อสุขภาวะ. แหล่งที่มา : http://resource.thaihealth.or.th/library/10533

กิตติกร  มีทรัพย์, การแพทย์อิสลาม, 2529.แแหล่งที่มา : http://beauty--infinity.blogspot.com/2014/11/blog-post_22.html


Wed, 2015-02-04
http://www.hfocus.org/content/2015/02/9224

หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 51