ผู้เขียน หัวข้อ: ปฏิรูป กสธ. เตรียมจัดระเบียบ KM — R2R สู่นโยบายชาติ  (อ่าน 829 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด

ข่าวทั่วไป ThaiPR.net -- จันทร์ที่ 5 สิงหาคม 2556 11:55:47 น.

ดูรูปทั้งหมด
กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
จากเวทีการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากงานประจำสู่งานวิจัย (R2R) ครั้งที่ 6 “ร่วมสร้างวัฒนธรรม R2R สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” จัดโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และภาคีเครือข่ายวิจัย ที่ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี

นพ.ธวัชชัย กมลธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะทำงานประเด็นสร้างและจัดการความรู้สุขภาพ กล่าวบรรยายในหัวข้อทิศทางงานวิจัย R2R ต่อระบบสาธารณสุขไทยว่า การจัดการความรู้ทางวิชาการของกระทรวงในช่วงที่ผ่านมานั้น ค่อนข้างจะกระจัดกระจาย เนื่องจากการดำเนินการบริหารจัดการในแต่ละกรมค่อนข้างเป็นเอกเทศ ขาดความเชื่อมโยงเครือข่าย รวมไปถึงการติดตามและประเมินผลให้ไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ในการปฏิรูปบทบาทของกระทรวงฯ 12 ด้าน ประเด็นการสร้างและจัดการความรู้ด้านสุขภาพ จึงเป็นหนึ่งในบทบาทที่กระทรวงให้ความสำคัญ และถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะในการเริ่มต้นเพื่อให้สอดรับกับการเป็นองค์กรด้านกำหนดกฎเกณฑ์การบริหารสุขภาพระดับชาติ (National Health Authority) ที่จะสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาสมรรถนะด้านองค์ความรู้ วิชาการ และการวิจัยของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค


 
“โครงสร้างด้านการสร้างและการจัดการความรู้ของ สธ. จะมีการปรับรูปแบบการทำงานในระดับมหภาพ โดยมีโครงสร้างสนับสนุนการสร้างและการจัดการความรู้ด้านสุขภาพและงานวิจัยของกระทรวงสาธารณสุขอยู่ที่ส่วนกลาง และพัฒนาศักยภาพสู่ Research Center ไปในภูมิภาค พร้อมสนับสนุนงานวิจัย R2R ให้เป็นวัฒนธรรมขององค์กร รวมถึงให้มีการสร้างและการจัดการความรู้เป็นคุณสมบัติในการคัดเลือกและพิจารณาความก้าวหน้าของบุคคล เป็นต้น”

ทางด้าน นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข รักษาการ ผอ.สวรส. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สวรส.และภาคีเครือข่าย R2R ได้ขยายแนวคิดและเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ ให้เกิดการพัฒนางานประจำจากการทำงานวิจัย จนเกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเครือข่ายกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค โดยหัวใจสำคัญของการสร้างและพัฒนาเครือข่ายให้เชื่อมโยงและเกิดความยั่งยืน คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่องของคนทำงานในระดับต่างๆ รวมถึงการให้กำลังใจและส่งเสริมให้งานวิจัย R2R เป็นที่รู้จักและขยายคุณค่าให้เกิดการยอมรับในวงกว้าง หากตอกย้ำการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ หวังว่าวัฒนธรรมการทำงานวิจัย R2R ก็จะเกิดขึ้นในคนทำงานด้านสาธารณสุข ทำให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนางานบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพ

สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมในปีนี้มีจำนวนประมาณ 1,000 คน และมีผลงานวิจัย R2R ที่ได้รับรางวัลดีเด่นจำนวน 46 เรื่อง จาก 6 ประเภท คือ บริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ หน่วยงานสนับสนุนงานบริการ หน่วยงานสนับสนุนงานบริหาร โดยปีนี้ได้เพิ่มกลุ่มนวัตกรรม เพื่อเปิดโอกาสให้กับความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ของบุคลากรด้านสาธารณสุขด้วย

ติดต่อ:
หน่วยสื่อสารความรู้และขับเคลื่อนสังคม
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
02 832 9245-6