ผู้เขียน หัวข้อ: กรมวิทย์ยันยากลูโคซามีนส่วนใหญ่ได้คุณภาพ  (อ่าน 732 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์   8 มีนาคม 2556 17:36 น.   

   


       กรมวิทย์เผยคุณภาพยากลูโคซามีนทุกรูปแบบ ส่วนใหญ่มีคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด พบผิดมาตรฐาน 2 ตัวอย่าง จาก 90 ตัวอย่างเท่านั้น ในหัวข้อความแตกต่างจากน้ำหนักเฉลี่ยและปริมาณตัวยาสำคัญต่ำกว่าเกณฑ์ แนะนำผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมพิจารณาเลือกยี่ห้อและราคาตามความเหมาะสม
       
       นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ยากลูโคซามีนเป็นยาบรรเทาอาการปวดในโรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งปัจจุบันในท้องตลาดมีหลายยี่ห้อ ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้า โดยข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยากลูโคซามีนที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่า มีจำนวน 131 ตำรับ จาก 44 บริษัท และมีหลายรูปแบบทั้งในรูปแบบยาผงละลายน้ำ ยาแคปซูล และยาเม็ด ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2554 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้ร่วมมือกับ อย.ดำเนินการสุ่มตรวจวิเคราะห์คุณภาพยากลูโคซามีนจากผู้ผลิตและโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพยาให้แก่ประชาชน
       
       นพ.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า จากการสุ่มตรวจยากลูโคซามีน จำนวน 90 ตัวอย่าง ทั้งประเภทยาเม็ด ยาแคปซูล และยาผงสำหรับละลายน้ำ พบว่า ยาเม็ดขนาดความแรง 500, 750 และ 1,000 มิลลิกรัมต่อเม็ด จำนวน 8 ตัวอย่างผ่านเกณฑ์ทุกตัวอย่าง ยาแคปซูลขนาดความแรง 250 และ 500 มิลลิกรัมต่อแคปซูล จำนวน 47 ตัวอย่าง พบว่า ผิดมาตรฐาน 1 ตัวอย่างในหัวข้อความแตกต่างจากน้ำหนักเฉลี่ย ซึ่งเป็นการทดสอบน้ำหนักยาแต่ละแคปซูลที่สุ่มตรวจว่าอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนยาผงสำหรับละลายน้ำขนาด 1,500 มิลลิกรัมต่อซอง จำนวน 35 ตัวอย่าง พบผิดมาตรฐานเรื่องปริมาณตัวยาสำคัญต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 1 ตัวอย่าง
       
       “จากการตรวจวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด สำหรับตัวอย่างที่พบผิดมาตรฐานทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้แจ้งให้ อย.ดำเนินการต่อไปแล้ว แม้ยากลูโคซามีนยาจะมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง อย่างสหรัฐอเมริกาจัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ประชาชนเลือกซื้อรับประทานเองได้ แต่ประเทศไทยให้ขึ้นทะเบียนเป็นยาเท่านั้น ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมจึงควรพิจารณาเลือกยี่ห้อและราคาตามความเหมาะสม เพราะกลูโคซามีนที่จำหน่ายในท้องตลาดมีความแตกต่างของราคามาก” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว
       
       ภญ.นิดาพรรณ เรืองฤทธินนท์ ผู้อำนวยการสำนักยาและวัตถุเสพติด กล่าวว่า ปัจจุบันกลไกการออกฤทธิ์ของยากลูโคซามีนยังไม่ทราบชัดเจน และยังเป็นที่ถกเถียงทางการแพทย์เกี่ยวกับประสิทธิผลของการใช้รักษาโรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งในต่างประเทศมีทั้งขึ้นทะเบียนเป็นยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่ประเทศไทยให้ขึ้นทะเบียนเฉพาะเป็นยาเท่านั้น และที่ผ่านมาพบว่ายากลูโคซามีนเป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติที่มีมูลค่าการเบิกจ่ายสูงทำให้เป็นประเด็นในเรื่องของประสิทธิผลและความคุ้มค่าของการใช้ ซึ่ง สธ.ได้มีการเจรจาต่อรองราคายาและจัดทำราคากลางเพื่อควบคุมการเบิกจ่ายยาให้เกิดการใช้ยาที่เหมาะสมและคุ้มค่า
       
       ภญ.นิดาพรรณ กล่าวอีกว่า ส่วนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ผ่านมาได้จัดทำ “โครงการสร้างหลักประกันคุณภาพและมาตรฐานบริการด้านยา” โดยการสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์ยาจากโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ และตัวอย่างที่ อย.ส่งตรวจวิเคราะห์ มาตรวจวิเคราะห์คุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ยาตามหัวข้อที่กำหนดไว้ในตำรายาสากล เช่น ปริมาณตัวยาสำคัญ การละลายของตัวยา ปริมาณความชื้น เป็นต้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้ใช้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพตั้งแต่ปี 2545 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันพร้อมกับจัดทำเอกสารสรุปผลวิเคราะห์ทั้งหมดเผยแพร่ให้เครือข่ายสาธารณสุขภาครัฐทราบทั้งที่ผ่านและไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ทางเว็บไซต์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และจัดทำหนังสือ “รายชื่อผลิตภัณฑ์ยาคุณภาพและผู้ผลิต” หรือ “GREEN BOOK” เพื่อให้โรงพยาบาลได้นำข้อมูลไปใช้เป็นแนวทางในการจัดซื้อยาเข้าโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้ได้มีการเผยแพร่แล้วจำนวน 8 เล่ม