ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.-ก.พ.ผุดทีมแก้ปม“ขาดหมอ”ใน1เดือนจ่อคลายล็อกชำนาญการพิเศษ ลาเรียนได้ขึ้นเงิน  (อ่าน 102 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9785
    • ดูรายละเอียด
วันนี้ (20 มิถุนายน 2566) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ.พร้อมด้วย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัด สธ. และ นายปิยวัฒน์ ศิวรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ประชุมหารือแนวทางแก้ปัญหาด้านอัตรากำลังบุคลากรในสังกัด สธ.โดยมี นายรณภพ ปัทมะดิษ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย

จากนั้น นพ.โอภาส นำคณะ แถลงว่า ที่ผ่านมา ก.พ. และ สธ. มีการประชุมหารือกันเป็นประจำทุกเดือน แต่ในวันนี้จะมีประเด็นปัญหาบุคลากรทางสาธารณสุขทั้งการลาออก ขาดแคลนบุคลากร และภาระงานที่มากขึ้น ในภาพรวมมีความเห็นตรงกันว่า
1.ภาระงานที่เพิ่มขึ้นของบุคลากรทางการแพทย์เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น สังคมผู้สูงอายุที่ต้องรับบริการทางการแพทย์เพิ่ม ปัญหาสุขภาพจิต 2.จากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ที่ระบุว่า ภาระการดูแลผู้ติดยาเสพติดเป็นหน้าที่หลักของ สธ. จากการประมาณการพบว่า มีผู้ติดยาเสพติด 1 ล้านคน และ
3.ความคาดหวังของประชาชนต่อระบบสาธารณสุขที่มากขึ้น ทั้งความครอบคลุม ประสิทธิภาพ และเวลาที่เหมาะสม

“ทั้งหมดนี้ทำให้ภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มขึ้นชัดเจน ส่วนประเด็นย่อยๆ อย่างการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งบางแห่งไม่สามารถจัดบริการได้เหมือนเดิม ทำให้ประชาชนกลับไปรับบริการในโรงพยาบาล( รพ.) สังกัด สธ. เพิ่มขึ้นอีก แม้ว่าที่ผ่านมา จะมีบุคลากรสาธารณสุขมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งแพทย์ พยาบาล แต่เมื่อเทียบกับภาระงาน พบว่าบุคลากรของเราหลายส่วนมีภาระงานมากเกินไป จึงเป็นประเด็นที่หารือกัน โดยต้องหาวิธีการใหม่ๆ โดยผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ให้ความเห็นว่าควรทำอะไรที่เป็นรูปแบบ เพื่อแก้ปัญหาในระยะสั้นนี้” นพ.โอภาส กล่าว

ด้าน นายปิยวัฒน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ก.พ.ได้สนับสนุน สธ. ในเรื่องบุคลากรมาตลอด ทั้งเรื่องอัตรากำลังและค่าตอบแทน แต่ในช่วงที่ผ่านมานี้ มีความจำเป็นเร่งด่วน จึงเป็นตัวเร่งให้การดำเนินการเร็วขึ้น จึงมีการพูดถึงปัญหาว่ามีหลายระดับ โดยปัญหาของผู้รับบริการ ก็ต้องการได้รับบริการอย่างทั่วถึง การแก้ไขก็จะเป็นลักษณะหนึ่ง ส่วนปัญหาด้านระบบ ที่เกี่ยวข้องกับอัตรากำลังก็เป็นเรื่องที่ต้องดูภาพรวมและภาพเล็ก เพื่อบริหารจัดการ

“โดยปัญหาขณะนี้คือ ค่าตอบแทน และ ความก้าวหน้า ซึ่งต้องมาดูกันว่าต้องพิจารณาอย่างไรบ้าง โดยเราตระหนักดีว่าขวัญกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ ก.พ. พร้อมเป็นแนวร่วมในการปรับปรุงและขับเคลื่อนระบบต่อไป” นายปิยวัฒน์ กล่าว

ด้าน นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า มีข้อสรุปในที่ประชุม
ประเด็นที่ 1 เห็นชอบการเพิ่มตำแหน่งข้าราชการให้ได้กรอบขั้นสูงภายในปี 2569 โดยจำนวนจะต่างกันในแต่ละวิชาชีพ เช่น แพทย์ ปัจจุบันมีประมาณ 24,649 คน จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 35,578 คน พยาบาล เดิม 116,038 คน จะเพิ่มเป็น 175,923 คน และวิชาชีพอื่นๆ

ประเด็นที่ 2 ความก้าวหน้า ที่ประชุมก็เห็นชอบ โดยเฉพาะพยาบาล ที่ปัจจุบันติดอยู่ที่ตำแหน่งชำนาญการ หรือ ซี 7 ก็รอเลื่อนขึ้นเป็นชำนาญการพิเศษ หรือ ซี 8 โดยทางผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ได้ให้ความเห็นว่า ควรจะเพิ่มเป็นเชี่ยวชาญได้ด้วย โดยเฉพาะบุคลากรในพื้นที่ภูมิภาค ก็ควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ

“ทั้งนี้ ต้องไปดูเกณฑ์ที่ยังติดขัด เช่น เกณฑ์ของ รพ. ที่กำหนดให้มีจำนวนพยาบาลที่ต้องครบ 4 คน จะมีพยาบาลชำนาญการพิเศษ 1 คน ซึ่งเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ถูกล็อกด้วยจำนวนที่มีน้อยอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าผ่อนปรนเกณฑ์เหล่านี้ จำเป็นต้องมีคณะทำงานลงไปดำเนินการ” นพ.ทวีศิลป์ กล่าวและว่า

ประเด็นที่ 3 การจัดสรรบุคลากรให้เพียงพอ โดยเฉพาะแพทย์ที่อยู่ในภูมิภาคจะหายไป 2 ส่วน คือ
1.ลาไปฝึกอบรม หรือศึกษาต่อเป็นแพทย์ประจำบ้าน เฉลี่ยปีละ 4,000 คน ดังนั้น ถ้าส่วนนี้ไปอยู่ในภูมิภาคก็จะเป็นเรื่องที่ดี ดังนั้น ต้องทำให้บุคลากรอยู่ในพื้นที่มากที่สุด โดยจะไปหารือกับแพทยสภาวันนี้ (20 มิถุนายน 2566) ว่าหากเป็นแพทย์ประจำบ้านปี 2 และ ปี 3 ก็จะให้ผู้ที่มีทักษะมากอยู่ในพื้นที่ และ
2.การสนับสนุนให้มีการลาฝึกอบรมในพื้นที่ภูมิภาค เช่น รพ.ในสังกัด สธ.ที่มีความสามารถ ก็จะให้แพทย์ไปฝึกอบรมและสามารถอยู่ปฏิบัติงานไปด้วย ซึ่งจะเป็นการคงอัตรากำลังได้ทันที ทั้งนี้ ในประเด็นลาไปฝึกอบรม เดิมไม่มีการขึ้นเงินเดือน หรือเรียกว่า “แป้กเงินเดือน” ดังนั้น จะหาแนวทางทำให้มีการปรับเงินเดือนได้ตามเกณฑ์ตามปกติ

รองปลัด สธ. กล่าวว่า
ประเด็นที่ 4 การจัดสรรแพทย์เพิ่มพูนทักษะ (อินเทิร์น) ให้เพียงพอกับภาระงาน เดิมที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์ หรือ Consortium เพื่อขอรับการจัดสรรเพิ่มให้ถึงร้อยละ 85 ซึ่งจะขึ้นอยู่กับจำนวนแพทย์ที่จบในปีนั้นๆ แต่ควรจะมากกว่า 2,000 คนต่อปี ส่วนเรื่องระยะยาว ได้มีการวิเคราะห์แล้วว่า CPIRD หรือการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ทำให้มีอัตราคงอยู่ ร้อยละ 80-90 จึงจะขยายจำนวนนักศึกษาที่เข้ามาให้ได้ปีละ 2,000 คน ซึ่งจะตรงกับความต้องการของ สธ.

“ดังนั้น หากคำนวณแล้ว ก็จะประมาณ 30 กว่าคน ต่อ 1 ศูนย์แพทย์ ตรงนี้จะสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนได้ว่า ลูกหลานที่เรียนแพทย์ได้ก็จะไปทำงานที่บ้าน ที่ภูมิลำเนาได้ด้วย เพราะพิสูจน์มาแล้วว่าสามารถรักษาคนอยู่ในตรงนี้ได้ ทั้งหมดจะให้เห็นผลภายใน 30 วัน โดยจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการ ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับกลาง ขึ้นมาทำงานเกี่ยวกับเกณฑ์ ข้อกำหนดต่างๆ เพื่อนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีแพทย์เพิ่มพูนทักษะที่จะเสนอร้อยละ 85 ปัจจุบันได้เท่าไร นพ.โอภาส กล่าวว่า ปัจจุบันได้ไม่ถึงร้อยละ 70 แต่จะขอให้ได้ถึงร้อยละ 85 ซึ่งก็ต้องมีการประชุมพิจารณาจากคณะกรรมการ Consortium อย่างไรก็ตาม สัดส่วนที่พิจารณาประชากรในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ถึงร้อยละ 88

“ส่วนเรื่องแพทย์ประจำบ้านเกี่ยวกับการไม่ต้องขอลานั้น พูดง่ายๆ คือ ไปปฏิบัติงานได้โดยไม่ถูกแป้กเงินเดือน อย่างหน่วยราชการอื่นๆ ก็ไม่ถูกแป้ก แต่ได้รับเงินเดือนตามขั้น เพื่อให้ใกล้เคียงกับวิชาชีพอื่นๆ” นพ.โอภาส กล่าว

เมื่อถามว่า ขณะนี้เป็นช่วงรอยต่อรัฐบาลจะมีผลต่อการตั้งคณะทำงานภายใน 1 เดือนหรือไม่ นายรณภพ กล่าวว่า การจัดตั้งคณะทำงานภายใน 30 วัน นั้น เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารราชการแผ่นดิน แม้จะมียุบสภา มีการเลือกตั้ง การรอจัดตั้งรัฐบาล แต่การบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์ประชาชนยังดำเนินการต่อไปได้ภายใต้ขอบเขตกฎหมายกำหนด

เมื่อถาม ก.พ.ถึงความคืบหน้ากรณีการบรรจุข้าราชการโควิด-19 รอบ 2 นายปิยวัฒน์ กล่าวว่า ได้มีการหารือกับ สธ.ต่อเนื่อง ซึ่งได้มีการทบทวนร่วมกับ สธ. มาตลอด และพบว่า สธ.มีตำแหน่งว่างอยู่ ดังนั้น จึงต้องพิจารณา 2 เรื่อง คือ
1.วัตถุประสงค์การบรรจุ ว่า ยังคงหลักการแตกต่างจากรอบแรกหรือไม่ และ
2.การบริหารอัตราว่างที่มีอยู่ จะบริหารอย่างไร และส่วนไหนจะขออัตราตั้งใหม่ เพื่อ ก.พ. ได้เสนอให้เหมาะสมต่อไป

มติชน
20 มิถุนายน 2566