ผู้เขียน หัวข้อ: ชำแหละ ม.41 บัตรทองเยียวยา “หมันหลุด” ไม่เข้าเกณฑ์ กม.เหตุไม่ใช่รักษาพยาบาล  (อ่าน 464 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
ชำแหละ ม.41 บัตรทองเยียวยา “หมันหลุด” ผู้แทนแพทยสภาชี้ไม่เข้าเกณฑ์ กม. เหตุไม่ใช่การรักษาพยาบาล แต่เป็นการส่งเสริมสุขภาพ ชี้ มีการออกข้อบังคับเกินนิยาม ด้าน กก.สปสช.ภาคประชาชนย้ำเจตนารมณ์ ม.41 เพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อเกิดความเสียหาย เสนอแก้ให้ครอบคลุมบริการสาธารณสุขแทน “หมอชาตรี” เผยเตรียมสรุปประเด็นเยียวยา “ท้องหลังทำหมัน” เข้าบอร์ด สปสช. หาข้อสรุป

วันนี้ (12 ก.พ.) ที่ศูนย์ประชุมวายุภักดิ์ โรงแรมเซ็นทารา ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดประชุม Policy Dialogue ประเด็น “การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 ในกรณีเกิดภาวะอันไม่พึงประสงค์ภายหลังการคุมกำเนิด” ซึ่งที่ประชุมมีการนำเสนอข้อมูลคำร้องความเสียหายการตั้งครรภ์หลังคุมกำเนิดและจำนวนเงินที่จ่ายช่วยเหลือเบื้องต้นพบว่า ตั้งแต่ปี 2549 - 2560 มีคำร้องจากการทำหมันรวม 738 ราย จำนวนเงินที่จ่ายคือ 40.9 ล้านบาท การคุมกำเนิดชั่วคราวรวม 54 ราย เป็นจำนวนเงิน 1.97 ล้านบาท

นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ กรรมการแพทยสภา กล่าวว่า ตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กำหนดเรื่องการช่วยเหลือเบื้องต้นอันเนื่องมาจากการรักษาพยาบาล ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของบริการสาธาณสุขตามนิยาม แต่มีการข้อบังคับเมื่อปี 2555 โดยเปลี่ยนนิยามการรักษาพยาบาลให้ไปครอบคลุมการบริการสาธารณสุขแทน เท่ากับว่า หากเกิดความเสียหายขึ้นต้องจ่ายเงินหมดทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายจากการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค เช่น การฉีดวัคซีน หรือการทำหมัน เป็นต้น นอกจากนี้ เป็นการช่วยเหลือโดยไม่มีการพิสูจน์ถูกผิด และหากเหตุสุดวิสัยก็ให้จ่ายเงินด้วย จึงมองว่าการช่วยเหลือผู้ที่ตั้งครรภ์หลังการทำหมันเป็นการดำเนินการที่ไม่ตรงกับหลักกฎหมายของมาตรา 41 ซึ่งเงื่อนไขในการจ่ายเงินช่วยเหลือ คือ
1. เกิดความเสียหาย
2. มาจากการรักษาพยาบาล
3. หาผู้กระทำผิดได้ แต่ยังไม่ได้รับเงินในระยะเวลาอันควร
ก็ต้องมาพิจารณาด้วยว่าหลายโรงพยาบาลเมื่อมีการช่วยเหลือแล้วด้วยเงินส่วนตัวหรือเงินโรงพยาบาล ยังต้องจ่ายตามมาตรา 41 ด้วยหรือไม่

“ที่ผ่านมา เคยพบปัญหาการจ่ายเงินเยียวยาทั้งที่ไม่เข้าเกณฑ์แล้วทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น คณะอนุกรรมการระดับจังหวัดพิจารณาแล้วว่า ไม่เข้าเกณฑ์ช่วยเหลือเบื้องต้น แต่ให้จ่ายเงินช่วยเหลือเพื่อเห็นแก่ศีลธรรม จำนวน 2 หมื่นบาท แต่ทางผู้ป่วยก็ไปฟ้องอุทธรณ์ให้จ่ายเพิ่มเต็มจำนวน ซึ่งส่วนใหญ่เมื่ออุทธรณ์ก็จะไม่ยกฟ้อง มีแต่จ่ายเท่าเดิมหรือจ่ายเพิ่ม ทั้งที่ไม่เข้าเกณฑ์ตั้งแต่ต้น ทั้งนี้ เรื่องความเห็นใจก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่มาตรฐานก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ต้องแยกให้ชัดเจน ซึ่งในการพิจารณาก็เกิดคำถามว่าคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศใช้มาตรฐานเดียวกันในการพิจารณาหรือไม่” นพ.เมธี กล่าว

รศ.นพ.อรรณพ ใจสำราญ ผู้แทนราชวิทยาลัยสูตนรีแพทย์ กล่าวว่า การคุมกำเนิดมีทั้งการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว แบบถาวร รวมถึงกึ่งถาวร มีรูปแบบการใช้ยาฉีด ยาคุม ยาฝังคุมกำเนิด แผ่นแปะ ห่วงอนามัย รวมถึงการผ่าตัดทำหมันที่เป็นการทำหมันถาวร มีหลักการคือทำให้ท่อรังไข่อุดตัน แม้ว่าหลังการผ่าตัดทำหมันแล้วโอกาสการตั้งครรภ์ยังเกิดขึ้นได้ แม้ปัจจุบันจะมีโอกาสน้อยมาก โดยข้อมูลช่วง 5 ปีย้อนหลัง สหรัฐฯ มีอัตราการตั้งครรภ์หลังการทำหมัน 13 รายต่อพันราย อังกฤษมีอัตราตั้งครรภ์หลังการทำหมัน 2 - 5 รายต่อพันราย ขณะที่องค์การอนามัยโลกกำหนดอัตราการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นได้หลังจากการทำหมัน 5 รายต่อพันราย ส่วนประเทศไทยข้อมูลการตั้งครรภ์หลังการทำหมันอยู่ที่ 0.2 - 2 ต่อพันราย สาเหตุเกิดขึ้นได้ทั้งจากตัวผู้ให้บริการที่ไปผูกตัดท่อที่ไม่ใช่ท่อรังไข่ และเกิดขึ้นเองโดยท่อรังไข่ต่อกันเอง ซึ่งเกิดได้ทั้งภาวะตั้งครรภ์ในมดลูกและนอกมดลูก

นพ.ธีรศักดิ์ คทวณิช ประธานอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 จ.ลำพูน กล่าวว่า เห็นว่าควรจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่คนที่ทำหมันถาวรแล้วเกิดการตั้งครรภ์ภายหลัง เพราะไม่ใช่ความผิดคนไข้เลยที่มาทำหมันเพื่อยุติการมีบุตร ซึ่งเท่าที่อยู่ในพื้นที่จะพบว่า ชาวบ้านและเกษตรกรมีรายได้ไม่มาก บางคนมีลูกมาแล้ว 4 คนก็ไม่ไหว เพราะค่าใช้จ่ายเยอะ การเลี้ยงลูกคนหนึ่งก็มีค่าใช้จ่ายมาก จึงตัดสินใจมาทำหมัน ซึ่งความคิดของชาวบ้านคือ ทำแล้วต้องไม่ท้องอีก แต่เมื่อทำหมันถาวรแล้วตั้งครรภ์ ก็ควรช่วยเหลือเยียวยา ยิ่งคนที่มีเศรษฐานะต่ำก็ควรได้รับการเยียวยาเต็มจำนวนและบวกเพิ่มไปอีก อย่างที่ผ่านมาก็เคยให้ถึง 1 แสนบาท ซึ่งถือว่าไม่มากเลย

น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการ สปสช.สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า เจตนารมณ์ของมาตรา 41 คือช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเดือดร้อนโดยไม่มีการพิสูจน์ถูกผิด จึงเน้นว่าควรแก้กฎหมายให้ครอบคลุมเป็นบริการสาธารณสุข ไม่ใช่แค่การรักษาพยาบาล หรืออย่างเหตุสุดวิสัยก็สามารถเกิดขึ้นได้ในระบบสุขภาพ ทั้งที่ไม่มีใครผิด แต่เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นก็ควรช่วยเหลือเบื้องต้น ซึ่งที่ผ่านมาก็เดินหน้ากันมาเช่นนี้ตนมองว่าก็มาถูกทางแล้ว

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง กรรมการ สปสช. สัดสวนภาคประชาชน กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับ น.ส.สุภัทรา เพราะเจตนารมณ์ของมาตรา 41 คือ เดินหน้ามาทางนี้ในการช่วยเหลือเบื้องต้น อย่างเรื่องการทำหมันแม้จะไม่ใช่การรักษาพยาบาล แต่ถามว่าคนไข้ทำหมันเองได้หรือไม่ ก็ต้องมารับบริการที่สถานพยาบาล จึงชัดเจนว่าไม่ควรคับแคบในการตีความตามเจตนารมณ์ของมาตรา 41 ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และขอให้ยกเลิกมาตรา 42 คือ ไม่ให้ไปไล่เบี้ยหาคนถูกคนผิด นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ควรมีความกล้าหาญในการออก พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... เพื่อให้ครอบคลุมทั้ง 3 กองทุน เนื่องจากปัจจุบันมีแค่บัตรทองและประกันสังคมเท่านั้นที่มีการเยียวยา

ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ กรรมการ สปสช. กล่าวว่า เท่าที่ดูตัวเลขการจ่ายเงินเยียวการผู้ที่เกิดการตั้งครรภ์หลังการทำหมันถาวรแล้วก็ถือว่าไม่มาก แต่หากวิเคราะห์การตีความทางกฎหมายก็เห็นด้วยที่ควรตีเป็นการรักษาพยาบาล ดังนั้น เรื่องการทำหมันก็ยากที่จะตีความให้เข้าเกณฑ์ของมาตรา 41 ดังนั้น จึงเสนอว่าควรมีการแก้ไขมาตรา 41 ให้ครอบคลุมอะไรอย่างไร ต้องเขียนให้ชัดเจน และยกเลิกมาตรา 42 การไล่เบี้ยหาคนถูกผิด

นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สปสช. กล่าวภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมมีประเด็นที่ต้องมาพิจารณาต่อ คือ 1. การเยียวยาตามมาตรา 41 จะมีผลครอบคลุมบริการสาธารณสุขหรือไม่ 2. การทำหมันเป็นเรื่องสุดวิสัยหรือว่าเกิดจากพยาธิสภาพ 3.ใต้คำว่าสุดวิสัยนั้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และ 4. จะต้องมีการพิสูจน์ถูกผิดหรือไม่ ทั้งนี้จะมีการเสนอต่อบอร์ด สปสช. และให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อสรุปประเด็นเหล่านี้ต่อไป

13 ก.พ. 2561  โดย: MGR Online