ผู้เขียน หัวข้อ: สิทธิ์รักษาพยาบาล ขรก.พันธสัญญาลวงนักการเมือง?  (อ่าน 1235 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9787
    • ดูรายละเอียด
เป็นธรรมดาของหน้าข้าว หน้าเหล้า แห่งบรรยากาศการเลือกตั้ง ที่มักจะมีเสียงสะท้อนจากเกือบทุกภาคส่วน ผ่านไปยังนักการเมือง นั่นมันก็ไม่เว้นแม้กระทั่ง ข้อเรียกร้องของฝ่ายข้าราชการประจำ

ความเดิมในอดีต จำได้ว่าก่อนจะเข้าสู่สนามเลือกตั้ง รัฐบาล "นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" มีการปรับรื้อสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ด้วยเหตุผลเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายของประเทศ ในภาวะสุ่มเสี่ยงถังแตก เคาะเป็นตัวเลขกลมๆ จำนวนสวัสดิการดังกล่าว มีผู้ใช้สิทธิ์ประมาณ 5 ล้านคน

คำสั่งดังกล่าวระบุให้ระงับการจ่ายยา 9 ชนิด และไม่อนุญาตให้เบิกค่ายา ได้แก่ ยากลูโคซามีน ซึ่งใช้ในการรักษาโรคไขข้อเสื่อม และยาอื่นๆ อีก 8 ชนิดที่เกี่ยวกับการรักษาโรคมะเร็ง ความดันโลหิต และโรคหัวใจ

จากมาตรการที่เกิดขึ้น ส่งผลให้สมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย นำโดย "จาดุร อภิชาตบุตร" นายกสมาคมฯ และ "พล.ต.หญิง พูลศรี เปาวรัตน์" ตัวแทนสมาคมข้าราชการอาวุโสแห่งประเทศไทย มีการเปิดโต๊ะเจรจากับ "นายกฯ อภิสิทธิ์" และ "กรณ์ จาติกวณิช" รมว.คลัง และในที่สุดรัฐบาลก็รับปากจะนำเรื่องกลับไปพิจารณาใหม่

นับจากวันนั้น...จนถึงวันนี้ คำมั่นสัญญาของนักการเมือง ก็ปลิวหายไปประหนึ่งคลื่นกระทบฝั่ง!!!

จนเป็นเหตุให้สมาคมข้าราชการพลเรือน สมาคมข้าราชการอาวุโสแห่งประเทศไทย และสมาคมนายทหารนอกราชการ รวมตัวกันอีกครั้งเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม และเปิดเวทีเสวนา "ความคืบหน้าเกี่ยวกับสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ" เมื่อไม่นานมานี้

"เสียงสะท้อน" จากข้าราชการเกษียณอายุที่เข้าร่วมการเสวนา "พ.ต.อ.พินิจ ชัยเสนีย์" อายุ 62 ปี เกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาด้านการข่าว กองบัญชาการตำรวจสันติบาล ระบุว่า...

"การที่รัฐบาลกระทำเช่นนี้ ก็ควรจะประกาศออกไปเลยว่า ต่อไปนี้ถ้าใครจะเข้ามารับราชการ จะต้องออกค่ารักษาพยาบาลเองครึ่งหนึ่ง รัฐออกให้อีกครึ่งหนึ่ง คนที่จะเข้ารับราชการจะได้รู้ว่าเขาจะมาเป็นข้าราชการหรือไม่ หรือจะไปทำงานเอกชนมีเงินเดือนดีกว่า เพราะรัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้ยกเลิกพันธสัญญากับข้าราชการใหม่ๆ ที่ว่าจะมีสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ดีไปแล้ว"

"เมื่อรับราชการครั้งแรก ทุกคนต่างเข้าใจว่า ราชการเงินเดือนน้อยก็เพราะรัฐต้องเก็บเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นสวัสดิการให้กับข้าราชการ แต่ปัจจุบันความคิดเหล่านี้เปลี่ยนไปแล้ว การตัดสวัสดิการการรักษาพยาบาล กระทบกระเทือนต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของข้าราชการระดับกลางลงไปจนถึงระดับล่างอย่างมากจริงๆ"

ขณะเดียวกัน วงเสวนามีการนำเสนอรายงานเกี่ยวกับ "ผลกระทบที่ข้าราชการได้รับจากการเปลี่ยนแปลงของระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ" ซึ่งจากผลสำรวจพบว่า มีข้าราชการมากถึง 95% ที่ใช้สิทธิ์ในการรักษาพยาบาลของข้าราชการ และ 87% ใช้บริการในโรงพยาบาลของรัฐ

ผลกระทบของการตัดสิทธิ์รักษาพยาบาล ทำให้ข้าราชการส่วนใหญ่ได้สะท้อนความรู้สึกแบบกลืนเลือดว่า ... "รัฐบาลเห็นเม็ดเงินสำคัญกว่าชีวิตคน...." ใช่หรือไม่???

เมื่อสัญญาของรัฐเป็นแค่ลมปาก ทุกข์ของข้าราชการที่รับใช้บ้านเมืองมาตลอดชีวิต รัฐกลับไม่เหลียวแล ขณะที่ "ข้าราชการการเมือง" ที่แม้จะพ้นจากการเมืองไปแล้ว รัฐกลับให้ "อภิสิทธิ์" ทั้งสวัสดิการรักษาพยาบาลยิ่งเสียกว่า "วีไอพี"

ด้วยน้ำเสียงวิงวอนจากข้าราชการที่ดังเซ็งแซ่ขึ้น วันนี้ไม่ว่าจะพรรคไหน หากได้เข้ามาทำหน้าที่ "บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชน" จงพึงสังวรในเสียงสะท้อนข้าราชการที่สูญเสียโอกาสในการรักษาพยาบาล ยามบั้นปลายของชีวิตไว้บ้าง

และจงอย่าปล่อยเลยไปจนบังเกิดภาพสองมาตรฐาน อย่าผลักเขาเหล่านั้นให้ต้องกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง..ขอรับ!

บ้านเมือง -- พฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน 2554