ผู้เขียน หัวข้อ: มหันตภัย "โรคตึกเป็นพิษ" วิจัยพบปัญหาคุณภาพอากาศในตึกสร้างใหม่กว่า30%  (อ่าน 865 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
พลัส พร็อพเพอร์ตี้  ชี้มหันตภัย “โรคตึกเป็นพิษ-Sick Building Syndrome" วิจัย 30% ตึกสร้างใหม่มีปัญหาคุณภาพอากาศ พลัสฯกระตุ้นเจ้าของอาคารในไทย  อย่าเน้นเพิ่มเรื่องความทันสมัยและไฮเทคเพียงอย่างเดียว วอนให้เห็นความสำคัญด้านความปลอดภัยของสุขภาพผู้อาศัยและทำงานในอาคารด้วย หลังแนวโน้มผู้ทำงานในอาคารมีสุขภาพที่อ่อนแอลง จากผลสำรวจล่าสุดขององค์การอนามัยโลก พบว่าร้อยละ 30 ของอาคารหรือตึกที่สร้างขึ้นใหม่หรือปรับปรุงใหม่ทั่วโลกจะมีปัญหาคุณภาพของอากาศภายในอาคาร ซึ่งเป็นที่มาของอาการตึกเป็นพิษ อันเกิดจากประสิทธิภาพในการหมุนเวียนอากาศในอาคาร

นายชาญ ศิริรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายบริหารทรัพยากรอาคารและฝ่ายวิศวกรรม บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันอาคารทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหา “ตึกเป็นพิษ” หรือ Sick Building Syndrome (SBS) ซึ่งถือเป็นภัยเงียบที่อยู่ใกล้ตัวของผู้ที่อยู่อาศัยและทำงานภายในอาคาร

โดยหากยังคงละเลย ต่อปัญหาดังกล่าว จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนไทยในระยะยาว และที่สำคัญจะส่งผลเสียต่อการดำเนินธุรกิจ อย่างมากเพราะบุคลากรเสี่ยงที่จะรับและเผยแพร่โรคต่างๆ พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ในฐานะ หนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจบริหารทรัพยากรอาคารของไทย จึงต้องการออกมากระตุ้นให้สังคมไทยตระหนักถึง ปัญหาดังกล่าว และร่วมรณรงค์เพื่อให้บรรดาเจ้าของอาคารต่างๆ ควรเพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัย ในคุณภาพชีวิตควบคู่ไปกับความทันสมัยด้านเทคโนโลยี

ทั้งนี้ โรคตึกเป็นพิษ คือ อาการที่เกิดขึ้นจากมลพิษภายในอาคารที่ด้อยศักยภาพด้านระบบหมุนเวียน อากาศ ทำให้สารระเหยและสารพิษที่ถูกปล่อยออกมาจากเครื่องใช้สำนักงาน รวมถึงสารระเหยจากสีทาผนัง ไม้อัด สารเคลือบเงาทั้งหลาย หรือแม้กระทั่งไรฝุ่นในพรม วนเวียนอยู่ภายในระบบปรับอากาศของอาคาร ทำให้เกิดอาการอ่อนล้า ปวดหัว คลื่นไส้ คัดจมูก ไอ จาม เกิดผดผื่นคัน ระคายเคืองดวงตา และมีความผิดปกติของประสาทรับกลิ่น เป็นต้น

“ที่ผ่านมา พลัส พร็อพเพอร์ตี้ เน้นหนักเรื่องประสิทธิภาพในการบริหารทรัพยากรอาคารแบบองค์รวม ทั้งการดูแลด้านศักยภาพของอาคาร บุคลากรที่ปฏิบัติงาน และหรือผู้อยู่อาศัยภายในอาคารด้วยเช่นกัน

“โรคตึกเป็นพิษ” ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาหลักที่เราให้ความสำคัญและสร้างมาตรการ เพื่อจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในอาคาร เพราะความปลอดภัยภายในอาคารจัดเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของผู้ใช้อาคาร

โดยอาคารที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพชีวิตของผู้ใช้อาคาร จัดเป็นความเสี่ยงสำคัญที่จะสามารถส่งผลเสียหายโดยตรงต่อองค์กรทั้งด้านการเงิน และ Productivity ขององค์กร ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในอาคารต่อผู้ใช้อาคารเป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบโดยตรงของงานบริหารทรัพยากรอาคาร

ผู้บริหารอาคารจึงมีหน้าที่สำคัญในการบริหารจัดการ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงลดผลกระทบที่จะตามมาด้วย” นายชาญ ศิริรัตน์ กล่าว ด้านมาตรการในการการแก้ไขปัญหา “ตึกเป็นพิษ” นั้น นายชาญ ศิริรัตน์ กล่าวเสริมว่า เนื่องจากโรคตึกเป็นพิษจะเกิดขึ้นเมื่ออยู่ภายในอาคารเท่านั้น การแก้ไขจึงควรมุ่งเน้นที่การปรับปรุง จากภายในอาคาร

เริ่มที่การค้นหาสาเหตุโดยผู้เชี่ยวชาญซึ่งประกอบด้วย วิศวกรผู้ดูแลอาคาร และนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม ทำการปรับปรุงจากสิ่งที่ทำได้ง่ายก่อน เช่น ย้ายกระถางดอกไม้ไปนอกอาคาร จัดวางอุปกรณ์สำนักงานให้เหมาะสม กำหนดพื้นที่ทำงานที่สอดคล้องกับจำนวนคน ทำความสะอาด อย่างสม่ำเสมอ เพิ่มการระบายอากาศ ลดการนำอากาศภายนอกเข้าสู่ภายในโดยตรงเพื่อลดฝุ่น ทำความสะอาดระบบปรับอากาศ กำหนดพื้นที่สูบบุหรี่ให้อยู่ภายนอกอาคาร

หากมีการจัดซื้ออุปกรณ์สำนักงานใหม่ให้เลือกประเภทที่มีการระเหยของ VOCs น้อยที่สุด เพิ่มการไหลเวียนของอากาศให้ไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน หากไม่เพียงพอต้องมีการปรับปรุงอย่างทันท่วงที

ต้องให้ความรู้แก่บุคคล ผู้อาศัยในอาคารเพื่อทำความเข้าใจและหาวิธีป้องกันตนเองร่วมกัน รวมไปถึงการรณรงค์ให้พนักงานออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ”

“พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ได้ตระหนักถึงปัญหาของ Sick Building Syndrome (SBS) ที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้อาคาร ตลอดจนกลุ่มลูกค้าที่ทางบริษัทฯ ได้ให้บริการอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยถือเป็นดัชนีชี้วัด (KPIs) ซึ่งได้กำหนด เป็นข้อตกลงทางธุรกิจกับกลุ่มอาคารขนาดใหญ่ในบางอาคาร

ซึ่งการจะเข้าไปดำเนินการ เริ่มจากการสำรวจความผิดปกติของสภาพการปรับอากาศที่ไม่เหมาะสมภายในอาคาร ทำการเก็บข้อมูลที่จำเป็นต่อการดำเนินการปรับปรุง  เช่น ระบบการหมุนเวียนอากาศที่ไม่เพียงพอ การปรับตั้งค่าอุณหภูมิภายในพื้นที่ปรับอากาศที่ไม่เหมาะสม การบำรุงรักษาเชิงป้องกันในระบบปรับอากาศ ซึ่งเราจะต้องดำเนินการแก้ไขหรือปรับปรุงให้อยู่ในสภาพตามเกณฑ์มาตรฐานสากล โดยมีหน่วยงานกลางที่เป็นที่ยอมรับเป็นผู้รับรองผลงาน

ทั้งนี้ บริษัทฯ มุ่งมั่นในการดำเนินการควบคุมปัจจัยที่จะก่อให้เกิดปัญหา  Sick Building Syndrome (SBS) ดังกล่าว เพื่อที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า ซี่งผลที่ได้อยู่ในระดับน่าพอใจ”   นายชาญ ศิริรัตน์ กล่าวสรุป

ปัจจุบัน พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ได้นำมาตรการในการแก้ไขอาการ “ตึกเป็นพิษ” ไปดำเนินการในบางอาคารสำนักงานซึ่งเป็นลูกค้าของพลัสแล้ว ซึ่งคาดว่าจะสามารถระบุผลการดำเนินงานและรายงานอัตราสภาพอากาศที่ดีขึ้นในอาคารดังกล่าวได้ภายในสิ้นปี
2555 นี้

ประชาชาติธุรกิจ  2 เมษายน พ.ศ. 2555