ผู้เขียน หัวข้อ: แฉขบวนการปล้นรพ.ขโมยสารซูโดฯ  (อ่าน 915 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
แฉขบวนการปล้นรพ.ขโมยสารซูโดฯ
« เมื่อ: 02 เมษายน 2012, 20:38:14 »
ยาแก้ไข้หวัดหลากหลายยี่ห้อตามร้านขายยาทั่วไป ส่วนใหญ่มีส่วนผสมของสารตั้งต้นยาเสพติดที่สามารถนำมาผลิตเป็น ยาบ้า-ยาไอซ์ ได้จำนวนมาก สารตั้งต้นชนิดนี้มีชื่อว่า “ซูโดอีเฟดรีน” ออกฤทธิ์แก้อาการคัดจมูกได้ แต่ในทางกลับกันสารชนิดนี้ถือเป็นยาเสพติดให้โทษ จึงเป็นที่มาสู่การทุจริตยาแก้หวัดในโรงพยาบาล เชื่อมโยงถึงขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ บงการอยู่เบื้องหลัง

ปริมาณของสารซูโดอีเฟดรีน ในยาแก้หวัด 1 เม็ดสามารถสกัดออกมาทำเป็นยาบ้าได้ 2 เม็ด นั่นหมายความว่าเมื่อสกัดสารชนิดนี้ออกมาทำเป็นยาเสพติดได้จะสร้างกำไรมหาศาลให้แก่เจ้าพ่อค้ายา ดังนั้นขบวนการค้ายาเสพติดจึงสบโอกาสสร้างเครือข่ายรวบรวมยาแก้หวัดให้ได้จำนวนมาก ก่อนส่งไปยังแหล่งสกัดทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน จากนั้นนำกลับมาสร้างหายนะแก่สังคมไทย

ทว่าการรวบรวมยาแก้หวัดจากร้านขายยาทั่วไปไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากร้านขายยาแต่ละแห่งจำหน่ายได้ไม่เกิน5พันเม็ดไม่เพียงพอกับออเดอร์ที่พ่อค้ายาเสพติดต้องการ ฉะนั้นเป้าหมายหลักจึงมุ่งไปที่โรงพยาบาลของ รัฐ เอกชน รวมไปถึง คลินิก ที่มียอดสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก

 

ซากซอง-กล่องเกลื่อนกลาดที่ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่

ปมจุดนี้เป็นช่องให้ขบวนการค้ายาข้ามชาติสร้าง “คนกลาง” ไปติดต่อกับเภสัชกรตามโรงพยาบาลต่างๆ ชักจูงให้ทุจริตปลอมแปลงเอกสารเบิกจ่ายยา แล้วลักลอบนำยาแก้หวัดออกมาจากห้องเก็บยาของโรงพยาบาลหลายต่อหลายแห่ง นำมารวมกัน ก่อนที่จะสูญหายอย่างไร้ร่องรอยตั้งแต่ปี2551-2555 แล้วจำนวนกว่า 48 ล้านเม็ด

พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว ผู้บัญชาการสำนักคดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เจ้าของสำนวนสืบสวน เปิดเผยว่า ดีเอสไอ ได้รับแจ้งเตือนจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ (International Narcotics Control Board – INCB)  เนื่องจากประเทศไทยร่วมเป็นภาคีอยู่ด้วย และได้รับข้อมูลรูปแบบขบวนการรวบรวมยาแก้หวัดมาตั้งแต่ปี 2546-2548 โดยรูปแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศจีน และไต้หวัน จากนั้นไม่นานมีการจับกุมการลักลอบขนยาแก้หวัดซุกซ้อนภายในเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน ที่จ.ภูเก็ต ขณะเตรียมขนส่งไปยังประเทศออสเตรเลีย

จำนวนยาแก้หวัดที่สามารถจับกุมได้มีปริมาณสูงขึ้นจนน่าตกใจ ผบ.สำนักคดีความมั่นคง อธิบายว่า การจับกุมเริ่มจากปี 2551 เมื่อจับกุมขบวนการกว้านซื้อยาได้ 7 แสนเม็ด ส่วนปี 2552 จับกุมได้ 1.9 ล้านเม็ด มีการเปลี่ยนรูปแบบมาใช้ประเทศไทยเป็นเส้นทางผ่านส่งต่ออีกทอดหนึ่ง และขยายวงกว้างมากขึ้นจนสามารถจับกุมได้อีกครั้งจำนวนถึง 3 ล้านเม็ด

กระนั้นในวันที่ 18 ก.พ. 2555 พบกล่องยาแก้หวัดจำนวนมากถูกแกะกล่องนำเม็ดยาออกไปหมด ทิ้งไว้เพียงซากซอง-กล่องเกลื่อนกลาดอยู่ภายในบ้านร้างที่ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องพื้นที่เก็บรวบรวมหลักฐานในที่เกิดเหตุ พบใบสั่งจ่ายยาจาก รพ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งรับยามาจากรพ.อุดรธานี โชคดีที่ข้างกล่องยาระบุ “ล็อตนัมเบอร์” ซึ่งสามารถสืบหาที่มาของโรงงานผลิต วันที่ผลิต และจำนวนได้ไม่ยาก ทำให้การสืบสวนคดีทุจริตยาโรงพยาบาลเริ่มเปิดปฐมบทจากจุดนี้

เมื่อตรวจสอบเอกสารการเบิกจ่ายยาของรพ.อุดรธานี พบความผิดปกติชัดเจนในจำนวนยาที่ขอเบิกจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยาแก้หวัดจำนวน 7.2 ล้านเม็ดหายสาบสูญไปไม่ตรงกับเอกสารขอเบิกจ่ายตามจริง

ไม่เพียงเท่านั้น ยังพบความเชื่อมโยงอีกหลายโรงพยาบาลด้วยกัน อาทิ รพ.ดอยหล่อ รพ.ฮอด จ.เชียงใหม่ รพ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ รพ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ  รวมทั้งสิ้นมีโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องถึง 13 แห่ง จากทั้งหมด 22 โรงพยาบาลทั่วประเทศเข้าข่ายต้องสงสัยเนื่องจากมีตัวเลขขอเบิกจ่ายยาสูงผิดสังเกต

ดีเอสไอ ตั้งข้อสงสัยในขบวนการทุจริตครั้งนี้ ใครเป็นคนกลาง มีเครือข่ายกระจายอยู่ที่ใด ขั้นตอนกระบวนการทุจริตเป็นอย่างไร และใครเป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลัง?

ข้อมูลจากโต๊ะสืบสวน พบว่าพฤติกรรมของขบวนการทุจริต เกิดขึ้นจากการนำยาแก้หวัดออกจากคลังยาของกระทรวงสาธารณะสุข โดยมี 3 รูปแบบวิธี คือ 1.ทุจริตจากห้องเก็บยา เริ่มจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลเซ็นอนุมัติขอเบิกยาจากคลังของกระทรวงสาธารณสุข จากนั้นยาแก้หวัดจะถูกส่งเข้าคลังยาของโรงพยาบาล โดยมีเภสัชกร เป็นผู้จัดทำบัญชีรายการจำนวนยาแก้หวัดที่เบิกเข้ามาใหม่ หรือเรียกว่า (สต็อกการ์ด)

จุดบกพร่องอยู่ที่ การทำสต็อกการ์ด เป็นเท็จแล้วดึงยาแก้หวัดออกจากระบบ โดยทำทีว่าเบิกจ่ายยาออกไปให้กับ รพ.อื่นๆ ที่ขอเบิกเอาไปใช้ แต่สุดท้ายยาแก้หวัดเหล่านี้ถูกนำไปให้คนกลาง ส่วนเงินก็เข้ากระเป๋าของเภสัชกรเม็ดละ 1.30 บาท สูญหายไป 7.2 ล้านเม็ด รูปแบบเช่นนี้เกิดขึ้นที่รพ.อุดรธานี

รูปแบบที่ 2.ทุจริตจากการสั่งซื้อ คือไม่มียาแก้หวัดเข้าสู่ระบบคลังยาของ รพ.เนื่องจากเภสัชกรที่ทุจริต อาศัยหนังสือสั่งซื้อของ รพ.ไปยื่นให้โรงงานผลิต โดยมีคนกลางออกเงินให้ และเมื่อโรงงานผลิตยาออกมาแล้ว แทนที่ตัวยาแก้หวัดจะเข้ามาที่คลังยาของรพ. กลับถูกนำไปให้คนกลางที่มารอรับ ส่งต่อแหล่งสกัดสารซูโดอีเฟดรีน และรูปแบบที่ 3.ทุจริตซับซ้อน คือการนำรูปแบบที่ 1-2 มารวมกัน ขั้นตอนอาจซับซ้อนแต่กลับทิ้งหลักฐานให้แกะรอยไว้มาก

 

ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นเภสัชกรจะได้เงินค่าตอบแทนเฉลี่ยเม็ดละ 80 สตางค์ ส่วนคนกลางจะได้เงินส่วนต่างเม็ดละ 2.20 บาท จากยาแก้หวัดที่หายไปแล้วกว่า 48 ล้านเม็ด

แม้กระทั่ง คลินิกรักษาโรคทั่วไปก็เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากคลินิกจับผิดสังเกตได้ง่าย ด้วยข้อจำกัดที่ไม่สามารถจำหน่ายยาแก้หวัดจำนวนมากๆ ตาม พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท

เมื่อได้ข้อมูลชัดเจนแล้ว ทีมสืบสวนถูกส่งลงพื้นที่ เพื่อติดตามหาผู้ต้องสงสัยที่หลบหนีไปก่อนหน้านี้คือ “อุดร การสมพรต” และ “สมชัย รักยอดยิ่ง” ที่มีชื่อเป็นผู้เช่าบ้านเลขที่ 111/1 หมู่ 2 ต.สันกลาง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ภายหลังตรวจพบกล่องยาจำนวนมากถูกทิ้งไว้ภายในบ้าน

“ทั้ง 2 คน ติดต่อกับเภสัชกรของโรงพยาบาลหลายแห่ง และติดต่อกับเอเยนต์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางรวบรวมยาแก้หวัดจาก รพ.ทองเสนขัน ไปรวบรวมที่บ้านเช่า ถ้าหากได้ตัวนายอุดร และนายสมชัย เชื่อว่าจะเป็นกุญแจสำคัญ ในการขยายผลไปถึงเส้นทางการส่งต่อยาแก้หวัดสูตรซูโดฯ ให้กลุ่มผลิตยาเสพติดได้” พ.ต.ท.พงศ์อินทร์กล่าว

บุคคลทั้งสองนี้ เป็นกุญแจที่จะไขคดีให้กระจ่าง ว่ามีเภสัชกรหรือผู้บริหารคนใด เข้ามาพัวพันในการทุจริตครั้งนี้ และอาจสาวลึกไปถึงขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติที่อยู่เบื้องหลังได้

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ เป็นผู้กำหนดปริมาณที่ต้องผลิตยาเสพติดให้ได้ในแต่ละปี จากนั้นจะใช้คนกลางหลายคนรับช่วงต่อในการรวบรวมยาแก้หวัดให้ได้ปริมาณตามเป้าที่ตั้งไว้ เมื่อรวบรวมได้มากพอจะส่งออกชายแดนทันที แต่หลักฐานในส่วนนี้ยังไปไม่ถึง

“จะให้ความเป็นธรรมกับเภสัชกรที่สามารถให้ข้อมูลซัดทอดถึงตัวใหญ่ ระดับ ผอ.รพ.หรือคนสั่งการที่สูงกว่าตัวเองขึ้นไปได้ จะไม่ดำเนินคดีแม้มีส่วนผิด เรื่องนี้ดีเอสไอตั้งสมมุติฐานว่า ผอ.รพ.ต้องมีความรับผิดชอบถือว่ารู้เห็นด้วย แต่ถ้าพิสูจน์ได้ว่าได้ทำระบบป้องกันการทุจริตไว้อย่างดีแล้ว จะถือว่าพ้นข้อกล่าวหา” นายธาริตกล่าว

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการคดีพิเศษ ที่มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณารับคดีนี้เป็นคดีพิเศษ ทำให้แนวทางการสืบสอบสามารถใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.สอบสวนคดีพิเศษ ได้เต็มรูปแบบ ทั้งในการสนธิกำลังร่วมกับ สำนักงานอัยการสูงสุด เจ้าหน้าที่รัฐจากกระทรวงสาธารณะ(สธ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา( อย.) สำนักงานพิสูจน์หลักฐาน(พฐ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด( ป.ป.ส.) และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พร้อมใช้มาตรการตรวจสอบกระแสการเงิน การใช้โทรศัพท์ การใช้เครื่องมืออิเลคทรอนิก สายลับ การแฝงตัว การพรางตัว ยุทธวิธีทุกรูปแบบ โดยจะมีการประชุมใหญ่สนธิกำลังในวันที่ 2 เม.ย.นี้

ขณะที่ความเคลื่อนไหวทางฝั่งของกระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลว่า ผู้ตรวจราชการสาธารณสุข ตรวจสอบแล้วเชื่อได้ว่ามีข้าราชการ เภสัชกร 7 คน เกี่ยวข้องกับการทุจริต ผิดวินัยร้ายแรงโทษถึงขั้นไล่ออกจากราชการ โดยมีคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (อ.ก.พ.สป.) ตรวจสอบเภสัชกรทั้ง 7 คนอยู่ในขณะนี้

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยความคืบหน้าล่าสุดพบความผิดปกติในโรงพยาบาลอีก 3 แห่งคือ รพ.สันทราย จ.เชียงใหม่ รพ.เสริมงาม จ.ลำปาง และรพ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ พบความผิดปกติในบัญชีเบิกจ่าย และการสั่งซื้อยาของโรงพยาบาล กับรายงานของ อย. และบริษัทยาแจ้งข้อมูลไว้ไม่ตรงกัน

ด้านหนึ่ง ความคลาดเคลื่อนของตัวเลขเบิกจ่ายยาจำนวนมาก เกิดขึ้นจากการความสับสนของโรงพยาบาล เช่นกรณี รพ.นวมินทร์ 9 ย่านมีนบุรี  มีการแจ้งยอดการจัดซื้อไม่ตรงกับบริษัทยาที่ส่งมาให้

นายยุทธภูมิ มีประดิษฐ์ ผู้ช่วย รพ.นวมินทร์ 9 ดูแลด้านการจัดชื้อ ชี้แจงว่า ได้ทำหนังสือถึง อย.แล้ว โดยยอมรับว่า ตัวเลขเบิกจ่ายคลาดเคลื่อนจริง แต่เกิดจากการจัดซื้อของ บริษัท โอสถอินเตอร์ แลบ บอราทอรี่ ที่รับจัดซื้อยาให้รพ.นวมินทร์ ได้นำยอดจัดซื้อยาของรพ.นวมินทร์ 1 จำนวน 3 หมื่นเม็ด มารวมกับรพ.นวมินทร์ 9 ที่มียอดสั่งจำนวน 3.5หมื่นเม็ด กลายเป็นว่า รพ.นวมินทร์ 9 แจ้งเบิกยาจำนวนถึง  6.5 หมื่นเม็ด

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา มีหนังสือตอบกลับมาตามที่ อย.ได้ส่งเรื่องพิจารณา ปรับระดับให้ยาสูตรซูโดอีเฟดรีน เป็นกลุ่มยาออกกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่2 เป็นยาที่มีศักยภาพในการก่อให้เกิดการใช้ในทางผิดสูง มีอันตรายต่อสุขภาพ ตามพ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท พ.ศ. 2518 จากที่ปัจจุบันเป็นยาออกกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่4 ก่อให้เกิดการกระทำผิดต่ำมีความเสี่ยงน้อย โดยในวันวันที่30มี.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการวัตถุออกกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

การทุจริตที่เกิดขึ้น หรือความสับสนในบัญชีเบิกจ่ายยา ต้นตอปัญหาทั้งหมดมาจากการไม่วางระบบป้องกันและตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน จึงเป็นช่องโหว่ให้ให้ขบวนการค้ายาเสพติดบงการอยู่เบื้องหลัง คำถามจากนี้คือ ผู้บริหารโรงพยาบาล สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ไปจนถึง กระทรวงสาธารณสุข ต้องรับผิดชอบอย่างไร ที่รู้จุดบกพร่องมาตลอดแต่ปล่อยปละละเลย

โดย.... นิติพันธุ์ สุขอรุณ
โพสต์ทูเดย์  1 เมษายน 2555