ผู้เขียน หัวข้อ: วงเสวนา ชำแหละยาซูโดร่องหน ธาริต ลั่นต้องการปลาใหญ่ ไม่ใช่แค่ ผอ.โรงพยาบาล  (อ่าน 1034 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9787
    • ดูรายละเอียด
วันที่ 31 มีนาคม 2555   สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิสรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ได้จัดราชดำเนินเสวนาในหัวข้อ “ชำแหละยาซูโดร่องหน ใครต้องรับผิดชอบ?” โดยมี นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นาย พสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข และประธานคณะทำงานป้องกันปราบปราม ฟื้นฟูและเยียวยาด้านยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข และภก.ประพนธ์ อางตระกูล ผอ.กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นวิทยากร

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า ขณะนี้มีความชัดเจนว่ายาแก้หวัดที่ลักลอบออกจากระบบสาธารณสุขเพียง 17% ที่เหลือเป็นการลักลอบนำเข้าสูงถึง 83% โดยเฉพาะทางด่านสุวรรณภูมิ เนื่องจากมีหลายประเทศไม่ได้ควบคุมการส่งออกยานี้อย่างเข้มงวด โดยหิ้วเข้ามา แม้บริเวณด่านจะมีศุลกากรทำงานร่วมกับ อย. แต่ก็ยังมีปัญหาการทำงานกัน ดังนั้นเรียกร้องให้ทุกฝ่ายได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาตรงนี้

นายธาริต กล่าวว่า ส่วนอักษรย่อผู้ที่เกี่ยวข้องและเปอร์เซ็นที่ปรากฎเป็นข่าว เป็นหนึ่งในข้อมูลสำคัญที่ได้รับจากนายพสิษฐ์  ดีเอสไอตั้งสมมุติฐาน 2 ข้อจากข้อความประมาณ 5 บรรทัด คือ 1.อาจเป็นไปได้ว่า จะมีการแบ่งปันยาและส่งมอบกันไป เพื่อนำไปสู่กระบวนการช็อปปิ้งยาและนำไปผลิตยาเสพติดโดยตรง และ 2.เป็น การแบ่งปันผลประโยชน์หรือคอมมิชชั่น ข้อมูลนี้มีนัยสำคัญแน่นอน แต่ยังไม่ได้ชี้ชัดว่าจะเป็นสมมติฐานใด และการเชี่ยมโยงเกี่ยวกับผู้ใหญ่ในกระทรวงสาธารณสุขและนักการเมืองทั้งในและ นอกกระทรวงสาธารณสุขจึงต้องตรวจสอบในเชิงลึก ส่วนตัวคิดว่า การสอบทุจริตทางวินัยหรือการสอบเรื่องความไม่ถูกในกระทรวงสาธารณสุข ต้องสอบในภาพรวมด้วย เพราะที่ผ่านมากระทรวงสอบแยกเป็นโรงพยาบาล ทำให้ไม่เชื่อมโยงไปยังผู้หลักผู้ใหญ่ กลายเป็นข้อจำกัดการสอบทั้งกระบวนการเพื่อขยายผล ตนเห็นว่า ควรจะมีการจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนแบบรวมศูนย์ และดึงคนนอกเข้าไปร่วมด้วย เช่น การสอบที่อาจจะพัวพันไปถึงผู้ใหญ่ในบางกระทรวง อาจจะเชิญ อัยการสูงสุด ดีเอสไอ กรมบัญชีกลาง เข้าไปร่วมด้วย

“แก้ไข ปัญหายาหวัดตอนนี้เป็นการแก้เฉพาะส่วน แต่การแก้ทั้งระบบลักลอบยามีการแก้หรือยัง และคิดจะแก้หรือไม่ ส่วนใหญ่เป็นการแก้ปลายเหตุเอาคนทำผิดมาลงโทษที่ป้องปรามได้ระดับหนึ่ง ดังนั้นจึงต้องแก้ที่ระบบ คนที่รับผิดชอบระบบต้องร่วมกันปรับปรุง ทั้งศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และ อย. ส่วนปัญหาที่เกิดจากระบบสาธารณสุข ตั้งแต่ผู้บริหารลงไป ผู้ตรวจราชการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และผู้อำนวยการโรงพยาบาล ลงไปถึงผู้ปฏิบัติก็ว่ากันไป” นายธาริต กล่าว และว่า กรณีหลักฐานรายชื่อและเบอร์โทรศัพท์ 5 บรรทัด ไม่ว่าจะสมมติฐานใดใน 2 ข้อ ก็ผิดอยู่ แต่ดีเอสไอจะทำได้เฉพาะคดีอาญา เมื่อถามว่า จะมีการเรียกผู้ที่มีชื่อทั้งหมดมาให้ข้อมูลหรือไม่ นายธาริต กล่าวว่า เบื้องต้นได้ตรวจสอบเชิงลึกแล้ว ตามชื่อ เบอร์โทรศัพท์ หลักฐานทางการเงิน จากนั้นจะเรียกมาสอบในฐานะพยานเพื่อดูว่ามีข้อแก้ตัวอย่างไร ก่อนที่จะแจ้งข้อกล่าวหา

ต่อ ข้อถามว่า ยาแก้หวัดที่หายไปจาก รพ.ดูเหมือนคนรับผิดอบมีเพียงเภสัชกรเท่านั้น นายธาริต กล่าวว่า กรณี ผอ.รพ.เราไม่ทิ้งประเด็นนี้ เพราะเป็นหัวหน้าส่วนราชการที่รับผิดชอบดูแล ดังนั้นต้องพิสูจน์ความรับผิดชอบต่อไป ดีเอสไอก็ต้องการปลาใหญ่ อาจจะไม่ได้หมายถึงแค่ ผอ.รพ. อาจจะไปถึงผู้ใหญ่กว่านั้นในกระทรวงสาธารณสุข เพราะชื่ออักษรย่อมันเชื่อมโยงไปถึงผู้ใหญ่ในกระทรวงตั้งแต่อดีตรัฐมนตรี ตามชื่อที่ตรวจสอบพบ ดีเอสไอก็ไม่อยากเห็นการดำเนินการที่ได้แต่ปลาซิว ปลาสร้อย  เพราะมันน่าจะมีกระบวนการ ไฟเขียว หรือเอื้ออำนวยให้กระทำผิด มิฉะนั้นคงไม่กล้าทำหลาย รพ. และหลายแห่ง ทั้งนี้อยากฝากผู้กระทำผิดว่า อย่าหนี ขอให้มาเป็นพยานให้ดีเอสไอ เมื่อถามว่าคิดว่าเภสัชกร รพ.อุดรธานียังมีชีวิตอยู่หรือไม่นายธาริต กล่าวว่า เชื่อว่ายังมีชีวิตอยู่

นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข และประธานคณะทำงานป้องกันปราบปราม ฟื้นฟูและเยียวยาด้านยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในกระทรวงสาธารณสุขเกิดจากบุคคล ไม่ได้เกิดจากระบบ และตัวบุคคลที่ก่อให้เกิดปัญหาเป็นระดับปฏิบัติการเป็นส่วนใหญ่ ส่วนกรณีที่นายธาริตเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด ไม่ใช่แยกสอบราย รพ.เพื่อจะได้เห็นภาพเชื่อมโยงกัน โดยดึงคนนอกเข้าไปร่วมด้วยนั้น ตนจะรับไปเสนอ รมว.สาธารณสุข เพราะอย่างที่บอกว่าการดำเนินการเอาผิดทางอาญายาก แต่การดำเนินการทางวินัยหรือปกครองจะง่ายกว่า

นายพสิษฐ์ กล่าวด้วยว่า ในวันจันทร์ที่ 2 เม.ย. คณะทำงานฯจะลงพื้นที่ รพ.เอกชน 2 แห่ง เนื่องจากมียาหายไปกว่า 9.2 แสน เม็ด นอกจากนี้ในสัปดาห์หน้าจะลงพื้นที่ภาคใต้ด้วย เนื่องจากได้รับรายงานจาก น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งดูแลพื้นที่ 3จังหวัดชายแดนภาคใต้บางแห่งมีความน่าสงสัยเรื่องการใช้ยาเพราะ รพ.อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดแต่มีการสั่งซื้อยาดังกล่าวสูงมาก

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล ผอ.กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ในวันจันทร์ที่ 2 เม.ย. ทาง อย.จะมีการเสนอให้นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ลงนามประกาศยกระดับยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและ ประสาทประเภท2 และคาดว่าจะลงราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย. เป็นต้นไป ทั้งนี้หลังจากที่ประกาศให้ยาแก้หวัดที่มีส่วนผสมซูโดอีเฟดรีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทแล้ว ในส่วนของคลินิกและ รพ.เอกชนจะต้องคืนยาที่อยู่ในสต็อกให้กับบริษัทยาภายใน 30 วัน แต่หากประสงค์ที่จะใช้ต่อจะต้องยื่นขอใบอนุญาตครอบครองวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิต ประสาท โดยในพื้นที่ กทม.สามารถยื่นขอได้ที่ อย.ส่วนต่างจังหวัดให้ยื่นได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ซึ่งจะได้รับใบอนุญาตภายใน 3 วัน และในส่วนของบริษัทยาจะต้องยุติการผลิตยกเว้นการขออนุญาตจากอย.ซึ่งที่ผ่าน มามีบริษัทยาที่ผลิตยาแก้หวัดที่มีส่วนผสมซูโดอีเฟดรีนจำนวน 63 แห่ง

  นอกจากนี้จากการตรวจสอบสต็อกยายาแก้หวัดที่มีส่วนผสมซูโดอีเฟดรีน วัตถุดิบที่เหลืออยู่ อย.มีประมาณ 20 ตัน ในส่วนของบริษัทยาพบว่ายังเหลือประมาณ 66 ล้านเม็ด สำหรับใน รพ.ตอนนี้ยังตรวจสอบไม่เสร็จแต่คาดว่าจะเหลือประมาณ 20 ล้านเม็ด โดยทางอย.จะอนุญาตให้ใช้ยาดังกล่าวต่อไปได้อีก 1 ปี และหลังจากนั้นต้องทำลาย

มติชนออนไลน์   31 มีนาคม พ.ศ. 2555