แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - story

หน้า: 1 ... 398 399 [400] 401 402 ... 535
5986
       จากกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกประกาศกระทรวงให้ยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 โดยให้สถานพยาบาลและร้านขายยาที่ไม่มีใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองจัดส่งยาตำรับที่มีซูโดอีเฟดรีนเป็นส่วนผสมคืนให้กับผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ภายในวันที่ 3 พ.ค.2555 รวมถึงออกประกาศฯ เรื่อง กำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 พ.ศ.2555 ซึ่งมีโทษทั้งปรับและจำคุกนั้น
       
       ผศ.ภญ.สำลี ใจดี ประธานมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม ในฐานะตัวแทนวิชาชีพเภสัชกร กล่าวถึงปัญหานี้อย่างตรงไปตรงมา ว่า ประเด็นที่น่าสนใจขณะนี้ คือ ผู้บริโภคจะใช้ยาอะไรแทน ซูโดฯ หลังจากที่ถูกเพิ่มเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภทที่ 2 และเป็นยาเสพติดให้โทษ ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่า ยาดังกล่าวสำคัญน้อยมาก ดังนั้นไม่มีก็ไม่เสียหาย ไม่ว่าจะเป็นยาเดี่ยว หรือยาผสม
       
       “แน่นอนว่า อาจมีกลุ่มแพทย์ กังวลว่า มีกลุ่มผู้ป่วยที่ติดยาซูโดฯ คือ กินแล้วดีขึ้นและไม่ได้รับยาก็ไม่หาย ส่วนนี้เชื่อว่า แพทย์ทราบดีว่า ซูโดฯ แค่บรรเทาอาการภูมิแพ้และลดอาการอักเสบเท่านั้น แต่สิ่งที่อยากให้ประชาชนเข้าใจ คือ ยาซูโดฯ เป็นแค่สินค้าเชิงธุรกิจผลิตเพื่อขาย หลายบริษัทจึงมักจะโฆษณาอยู่บ่อยๆ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องผูกติด เพราะหากบ้านเราไม่ใช้ บริษัทก็ผลิตขายไม่ได้ และอย่างแรกที่อยากให้ประชาชนเข้าใจ คือ หวัดนั้นสามารถหายได้โดยไม่ต้องพึ่งพายา หรือจะใช้ยาเฟนิลเอฟริ และยาสมุนไพรอย่างฟ้าทลายโจร แบบไทยก็ได้ เพราะประเทศใหญ่ อย่างสหรัฐอเมริกา ก็ไม่มีการใช้ยานี้แล้ว รวมทั้งกุมารแพทย์ในประเทศไทยเองก็แทบจะไม่ใช้ยาซูโดฯ เช่นกัน เนื่องจากพบว่าบางคนอาจแพ้” ผศ.ภญ.สำลี อธิบาย
   
       ในระหว่างที่คดีลักลอบยาซูโดฯอยู่ระหว่างการสืบสวน สอบสวนต้นตอการทุจริต หลายคนเกิดคามกังวลว่า กระบวนการคุมเข้ม เพื่อตัดปัญหาการนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นของการผลิตยาเสพติด ผู้ป่วยหลายคนมักห่วงว่าจะไม่มียาใช้และกระทบต่อสุขภาพนั้น
       
       นพ.ประภัสสร เจียมบุญศรี รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กล่าวเสริมว่า หากผู้ป่วยไข้หวัดรายใดไม่ต้องการพึ่งยา และยอมรับและเข้าใจการรักษาแทบทางเลือก สามารถดูแลตัวเองด้วยหลักการง่ายๆ อาทิ การลดอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และไซนัสอักเสบ ด้วยศาสตร์การกดจุดที่จุดฝังเข็ม ในจุดต่างๆ ได้แก่ 1. จุดอิ้นถาง คือ ตำแหน่งที่อยู่ตรงจุดกึ่งกลางระหว่างหัวคิ้วทั้ง 2 ข้าง 2.จุดอิ๋งเซียง มี 2 ข้าง คือ การนวดพื้นที่อยู่ในร่องข้างจมูก ระดับเดียวกับกึ่งกลางปีกจมูก โดยใช้นิ้วหัวแม่มือกดตรงจุดฝังเข็มดังกล่าว นับ 1-5 วินาที แล้วปล่อย กดซ้ำอีก 3-5 ครั้ง สามารถทำได้บ่อยๆ หรือวันละ 3 เวลา เป็นอย่างน้อย
       
       นอกจากนี้ ยังมีทางเลือกในการบรรเทาอาการหวัดด้วย สมุนไพรบรรเทาหวัดคัดจมูก และแก้น้ำมูกไหลได้อย่างดี เริ่มต้นจาก

1.กระเทียม ควรปรุงอาหารด้วยกระเทียมจะช่วยลดอาการคัดจมูก หรือกินกระเทียมสดๆ ครั้งละ 7 กลีบ พร้อมมื้ออาหารทุกวัน

2. หอมเล็ก นำหอมเล็ก 1 หัว ปอกเปลือกกินพร้อมอาหารเป็นประจำทุกวัน จะช่วยป้องกันหวัดและบรรเทาอาหารคัดจมูกได้ หรือถ้ายังไม่หาย ใช้หอมเล็ก 4-5 หัว ทุบพอแตกต้มกับน้ำ 1 ลิตร รอเดือดยกลง เทน้ำในชามใบใหญ่ จึงก้มหน้าลงให้ห่างชามพอประมาณ ใช้ผ้าขนหนูคลุมศีรษะและชามไว้ สูดไอระเหยเข้าทางจมูกประมาณ 5-10 นาที จะรู้สึกโล่งจมูก นอกจากนี้ ยังใช้หอมเล็กต้มน้ำอาบแก้คัดจมูกได้เช่นกัน โดยนำหอมเล็ก 3 หัว ทุบพอแตก ใบมะขาม 1 กำมือ และเปลือกส้มโอประมาณครึ่งลูก ต้มกับน้ำ 3 ลิตร พอเดือดยกลง รอจนอุ่น จึงอาบแทนน้ำเปล่า ด้วยสรรพคุณทางยาของสมุนไพรเหล่านี้จึงช่วยบรรเทาหวัดและลดน้ำมูก
       
3.ขิง นำขิงแก่ 1 แง่ง หั่นเป็นแว่นบางๆ ต้มกับน้ำ 1 ลิตร ประมาณ 5 นาที เสร็จแล้วตัก ขิงออก ดื่มขณะยังอุ่นๆ ครั้งละ 1 แก้ว ช่วงเช้า กลางวัน และเย็ย จะช่วยลดน้ำมูกได้ 4 ตะไคร้ ใช้ตะไคร้ 3-4 ต้น บุบให้แตก ต้มกับน้ำ 1 ลิตร จนเดือด ยกลง รินเฉพาะน้ำจิบบ่อยๆ ตลอดวัน ช่วยแก้อาการน้ำมูกไหลจากหวัดได้เช่นกัน
       
       แต่หากต้องการรักษาตัวจากแพทย์แผนไทย ซึ่งขณะนี้มีกระจายอยู่ตามโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต) บางส่วนแล้ว ประชาชนสามารถเข้ารับยาสมุนไพรที่ถูกบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ เช่น ยาประสะเปราะใหญ่ที่ ใช้รักษาอาการหวัดในเด็ก หรือยาปราบชมพูทวีปที่ใช้รักษาหวัดในผู้ใหญ่ เพื่อบรรเทาอาการคัดจมูก และภูมิแพ้ ซึ่งในรายละเอียดแพทย์ที่สั่งจ่ายยาจะอธิบายให้ทราบ เพราะยาสมุนไพรตามบัญชียาหลักต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์แผนไทยฯ เท่านั้น

ASTVผู้จัดการออนไลน์    6 เมษายน 2555

5987
นายแพทย์สมหมาย ทองประเสริฐ ผู้เป็นความหวังให้แก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งได้กลับมีชีวิตใหม่อีกครั้ง ด้วยการอุทิศแรงกาย แรงใจ และสละเวลาตลอดชีวิตของการทำงานเพื่อค้นหาสูตรยาสมุนไพรที่จะมาพิชิตโรคร้าย แม้ว่าตอนนี้วัยจะล่วงเลยมาถึง 90 ปีแล้ว แต่ก็ยังรับปรึกษาปัญหาโรคมะเร็งอยู่มิได้ขาด เพื่อแลกกับการต่อลมหายใจให้กับผู้คนนับร้อยนับพันชีวิต จนได้รับการขนานนามว่า “หมอเทวดา”
       
       กิตติศัพท์ “หมอเทวดา”
       “หมอเทวดา” ชื่อที่ชาวบ้านต่างพากันเรียกขาน ด้วยกิตติศัพท์ที่สามารถรักษาโรคมะเร็งร้ายให้หายได้ ด้วยวีธีการรักษาแบบผสมผสาน ระหว่างยาสมุนไพรที่ทดลองศึกษามานาน ควบคู่กับยาแผนปัจจุบัน จนมีผู้ป่วยหลายรายหายป่วย และบางรายอาการดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ใจ       
       
       จากการบอกเล่าของผู้ป่วยที่มาทำการรักษา จากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง ไม่นานชื่อเสียงของ “หมอเทวดา” แห่งสิงห์บุรีก็เป็นที่รู้จักไปทั่วทุกหนระแหง         
       
       “อย่าเรียกตนว่าเป็นหมอเทวดาเลย เพราะตนเป็นเพียงแค่ หมอธรรมดา เท่านั้น” แม้ว่า นพ.สมหมาย จะปฏิเสธชื่อ “หมอเทวดา” ที่ชาวบ้านขนานนามให้ แต่นั่นไม่ได้สำคัญเท่ากับการเป็นที่ยอมรับด้วยแรงศรัทธาของผู้คนถึงความตั้งใจในการรักษาเพื่อผู้ป่วยมะเร็งอย่างแท้จริง         
       
       หมอสมหมาย มีความสามารถวินิจฉัยและวิธีการรักษาโรคมะเร็งมานานกว่า 30 ปี โดยเริ่มทดลองใช้สมุนไพรรักษาโรคมะเร็งมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2512 จนประสบความสำเร็จในปี พ.ศ. 2520 และได้ลาออกจากราชการมาเพื่อรักษามะเร็งโดยเฉพาะ
       
       “สมุนไพร” รักษามะเร็งรอด!
       เกือบครึ่งศตวรรษแล้ว...ที่หมอผู้เสียสละได้อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งให้พบทางรอดอีกครั้ง
       
       ตามประวัติพื้นเพเดิมของ นพ.สมหมาย ทองประเสริฐ เป็นคนจังหวัดสิงห์บุรี สำเร็จการศึกษาจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะเข้าศึกษาต่อทางการแพทย์ที่ศิริราช และทำงานในร้านขายยาเพื่อส่งเสียตัวเองเรียนจนกระทั่งสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2494       
       
       หลังสำเร็จการศึกษาได้เข้าทำงานประจำแผนกศัลยกรรมที่โรงพยาบาลศิริราช และสนใจเรื่องการรักษามะเร็งเนื่องจากการรักษาโรคอื่นทางศัลยกรรมสามารถรักษาให้หายได้ง่าย แต่การรักษามะเร็งไม่ว่าจะผ่าตัดหรือฉายแสง สามารถทำได้ยาก จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดค้นหายาสมุนไพร มาช่วยในการรักษามะเร็ง       
       
       ด้วยจิตสำนึกอยู่เสมอว่า “ในโลกนี้ธรรมชาติทำให้เกิดโรค ธรรมชาติก็ต้องมีตัวยาแก้โรคให้ด้วย”
       
       หมอสมหมายได้ทำการค้นคว้าวิจัยการแพทย์ทางเลือกอย่างสมุนไพร จึงทำให้เกิดเส้นทางใหม่ที่เรียกว่า “การแพทย์ทางร่วม” ในการรักษามะเร็ง หลังจากย้ายไปสร้างความเจริญให้กับโรงพยาบาลตำรวจ แล้วลาออกเพื่อไปเป็นหมอที่บ้านเกิด คือ โรงพยาบาลสิงห์บุรี ด้วยเหตุผลสั้นๆ ว่า “ที่นี่ผมได้ทำงานที่ตั้งใจ พร้อมได้อยู่ดูแลคุณแม่ไปพร้อมๆ กัน”
               
       คลีนิคหมอสมหมาย จึงเกิดขึ้น ณ บ้านไม้หลังใหญ่ ข้างตลาดปลาสด จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งเป็นที่รู้จักดีของชาวบ้านละแวกนั้น รวมทั้งคนต่างจังหวัดที่เข้ามารับการรักษาตามคำร่ำลือถึงกิตติศัพท์ “หมอเทวดา” จากที่เคยเปิดการรักษาโรคทั่วไป ได้ถูกปรับปรุงให้เป็นสถานที่สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งอย่างจริงจัง...ท่ามกลางความหวังของผู้เข้าทำการรักษาจำนวนมาก
       
       ความหวังของผู้ป่วยนับพันชีวิต
       ราวๆ 05.00 นาฬิกา ผู้ป่วยจากทั่วสารทิศต่างเดินทางมาเพื่อรอลงชื่อเข้ารับการรักษา บางรายมารอคลีนิกเปิดตั้งแต่ตี 2 ทันใดที่ประตูเปิดคลื่นผู้ป่วยนับร้อยต่างกรูเข้าไปเพื่อรอรับการรักษา ด้วยใบหน้าอย่างมีความหวังถึงผลการรักษาที่ดีขึ้น
               
       การรักษาผ่านไปคนแล้วคนเล่า จากประสบการณ์การรักษาทั้งผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งระยะเบื้องต้นซึ่งพอรักษาเยียวยาให้หายขาดได้ และผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ทำได้เพียงแค่ยืดเวลาชีวิตออกไป แม้เป็นความหวังที่ริบหรี่ แต่ก็ทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจขึ้นมาได้บ้าง และนั่งรออย่างใจจดใจจ่อ แม้ว่าข้อความบนบอร์ดกระดานจะรายงานคิวที่ยาวเหยียดมากเท่าใดก็ตาม       
       
       ในทุกวันผู้ป่วยมีแต่จะเพิ่มมากขึ้นร่วมๆ 100 กว่าคน ซึ่งเป็นผลมาจากสื่อที่เผยแพร่ออกไป ทั้งหนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์ ต่างประโคมข่าวไปทั่วทุกหนแห่ง แต่หมอสมหมายยังยืนยันเช่นเดิมว่า “จะตรวจทุกคน ไม่ต้องกลัวมาเสียเที่ยว” กว่าผู้ป่วยจะหมด เข็มนาฬิกาก็บอกเวลาเที่ยงคืนพอดี ถือเป็นอันจบภารกิจการทำหน้าที่ “หมอ” ของวันจรดคืน         
       
       ทุกวันนี้หมอสมหมาย ยังคงทุ่มเทกำลังเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยตั้งใจไว้ว่าจะเกษียณตัวเองเมื่ออายุ 90 ปี เพื่อพักผ่อนในบั้นปลายชีวิต แต่อย่างไรก็ตามยังคงรับปรึกษาปัญหาโรคมะเร็งต่อไป       
       
       “ปกติตามธรรมชาติใบไม้จะร่วงปีละ 1 ครั้ง เมื่อข้าพเจ้าอายุครบ 90 ปี ข้าพเจ้าจะเลิกรักษาโรคมะเร็งแล้วใบไม้จะร่วงตลอดทั้งปี”       
       
       มะเร็งคือโรคร้ายที่คร่าชีวิตของมนุษย์ราวใบไม้ร่วงทุกปี มีคนเสียชีวิตจากมะเร็งเป็นจำนวนมาก จัดเป็นโรคที่คร่าชีวิตอันดับต้นๆ ของไทย นพ.สมหมาย ได้นิยามมะเร็งร้ายไว้อย่างเห็นภาพชัดเจนว่า
       
       มะเร็ง คือ โรคร้ายที่ย่องเข้ามา “ขโมย” ทุกอย่างจากชีวิตเราไป โดยไม่ทันระวังตัวเหมือนกับที่คนไข้ทุกคนต้องประสบ
               
       โรคมะเร็ง คือ “ผู้ร้าย” ซึ่งร้ายที่สุด และมันจะหนีตำรวจสุดฤทธิ์ แม้การแพทย์จะให้ทำการเคมีบำบัดก็ไม่สามารถทำให้หายขาดได้
               
       และเป็นเซลล์ร้ายที่เหมือนกับเศษ “ขี้ผง” ที่ซุกซ่อนอยู่ในร่างกายภายในอวัยวะของคน กวาดยังไงก็ไม่มีวันหมด วันนึงมันก็จะสะสมและเกาะแน่นขึ้นกว่าเดิม
               
       ด้วยสาเหตุนี้การแพทย์ทางร่วมของหมอสมหมายจึงสามารถชลอใบไม้ร่วงในแต่ละปี เปรียบได้กับการช่วยชีวิตคนให้พ้นจากความเจ็บป่วย จนกลับไปใช้ชีวิตได้ดังเดิมอีกครั้งนับร้อยนับพันชีวิต
       
       สูตรยาไม่ตายไปพร้อมกับผม
       “ผมยกสูตรยานี้ให้องค์การเภสัชฯ ไปแล้ว แทนที่สูตรยาจะตายไปกับผม แต่ไม่แล้ว สมุนไพรนี้จะยังอยู่ จะมีคนรับไปต่อยอดจากผมอีกที” นายแพทย์สมหมายกล่าวอย่างดีใจ ที่สูตรยาเหล่านี้องค์การเภสัชกรรมได้นำไปผลิตและจำหน่ายให้คนไทย
               
       โดยสูตรยาสมุนไพร 8 อย่าง ของหมอสมหมาย ประกอบด้วย พุทธรักษา ไฟเดือนห้า ปีกไก่ดำ พญายอ เหงือกปลาหมอ แพงพวย และข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้
               
       สำหรับค่ารักษาพยาบาลที่ผ่านมานั้น หากเป็นการรักษาในโรงพยาบาลมีชื่อทั่วไป ค่ารักษาคงไม่น้อยกว่าหลักหมื่นหรือหลักแสน แต่สำหรับหมอสมหมาย ได้กล่าวติดตลกไว้ว่า “ใครนั่งรถเบนซ์มา ก็แพงหน่อย ใครไม่มีตังค์มา ก็ให้ฟรี!”
               
       ก่อนจะขยายความเสริมว่า “รักษามาเกือบ 40 ปี มีพอกินพอใช้ แต่สิ่งที่ได้มากกว่านั้น มันอยู่ที่ใจ ได้น้ำใจ ได้ทางความรู้สึก แค่นั้นพอแล้ว”
               
       ไม่ใช่เฉพาะคนไทยที่มาทำการรักษากับหมอสมหมาย แม้แต่ชาวต่างชาติจากทั่วทุกมุมโลกที่ได้ยินชื่อเสียงในการรักษาโรคมะเร็งให้หายได้ ต่างก็ข้ามน้ำข้ามทะเลมาให้รักษาด้วยความหวังที่จะได้กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุข
       
       “ถึงแม้นไม่ทำดีในแดนดิน จะถวิลถึงสวรรค์นั้นอย่าหมาย
       ถ้าแม้นไม่มีน้ำใจในอุรา ท่านจะหาน้ำใจจากใครได้” คติประจำใจของ นพ.สมหมาย ทองประเสริฐ
       
       สามารถติดตามอ่านชีวประวัติ “นายแพทย์สมหมาย ทองประเสริฐ หมอเทวดา ผู้รักษามะเร็งด้วยสมุนไพร” ได้แล้ววันนี้ในฉบับการ์ตูน วางแผงจำหน่ายที่ บีทูเอส, ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์, ร้านนายอินทร์, บุ๊คสไมล์ และบุ๊คเฟรนด์ หรือสั่งซื้อได้ทาง Call Center 0-2633-5353
       
       อนึ่ง นายแพทย์สมหมาย ทองประเสริฐ จะมาที่บูท "ASTVผู้จัดการ" (M01 โซน ซี 1) ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อเปิดตัวหนังสือ"นายแพทย์สมหมาย ทองประเสริฐ หมอเทวดา ผู้รักษามะเร็งด้วยสมุนไพร" ฉบับการ์ตูน พร้อมพูดคุยกับผู้อ่านและแจกลายเซ็น ในวันนี้ (6เม.ย.) ตั้งแต่เวลา 13.30 น.เป็นต้นไป

ประวัติของนายแพทย์สมหมาย ทองประเสริฐ
       พ.ศ. 2464 เกิดเมื่อวันอังคารที่ 27 ธันวาคม 2464
       พ.ศ. 2487-2488 สำเร็จการศึกษาจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
       พ.ศ. 2488-2489 เป็นอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
       พ.ศ. 2490-2493 สำเร็จการศึกษาการแพทยศาสตร์บัณฑิต ศิริราชพยาบาล
       พ.ศ. 2494-2495 เป็นแพทย์ประจำอยู่ที่สถานเสาวภา
       พ.ศ. 2495-2497 เป็นแพทย์แผนกศัลยกรรมโรงพยาบาลศิริราช
       พ.ศ. 2499-2517 เป็นผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลสิงห์บุรี และเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิงห์บุรี
       พ.ศ. 2518-2520 เป็นแพทย์ใหญ่สาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี
       พ.ศ. 2521 ได้ทำการศึกษาวิจัย เริ่มใช้ยาสมุนไพรในการรักษาโรคมะเร็ง โดยใช้แพทย์แผนปัจจุบันร่วมกับสมุนไพร
       พ.ศ. 2542 มอบสูตรยาให้กับองค์การเภสัชกรรมโดยร่วมงานกับ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ผู้ได้รับรางวัลแม็กไซไซ
       พ.ศ. 2552 ประสบความสำเร็จในการคิดค้นเป็นสูตรยาตำรับแรกของเมืองไทยที่เป็นที่ยอมรับในการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบัน
       ปัจจุบันยังคงเปิดคลีนิครักษาโรคมะเร็งอยู่ที่จังหวัดสิงห์บุรี โดยอุทิศแรงกาย แรงใจ และเวลาเพื่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ASTVผู้จัดการรายวัน    6 เมษายน 2555

5988
สาธารณสุขตรัง เพิ่งตื่นสั่งตรวจสอบ "ยาซูโดอีเฟดรีน" สารตั้งต้นในการผลิตสารเสพติดภายใน รพ.ศูนย์ตรัง พบยังมีอยู่กว่า 2 แสนเม็ด และชนิดน้ำอีก 450 ขวด หลังถูกยกระดับให้เป็นการควบคุมยาพิเศษ และได้ถูกยกเลิกระงับการจ่ายยาชนิดนี้...

เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 5 เม.ย. ที่ห้องประชุม รพ.ศูนย์ตรัง นพ.วิฑูรย์ เหลืองดิลก นายแพทย์สาธารณสุข จ.ตรัง เปิดแถลงข่าวกรณีการตรวจสอบยาซูโดอีเฟดรีน หรือยาแก้หวัดสูตรซูโดอีเฟดรีน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารเสพติดภายใน รพ.ศูนย์ตรังว่า ขณะนี้ยาชนิดดังกล่าวถูกยกระดับให้เป็นการควบคุมยาพิเศษ และได้ถูกยกเลิกระงับการจ่ายยาชนิดนี้ ตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค.-2 เม.ย.2555 ที่ผ่านมา

จากการตรวจสอบ พบว่า ขณะนี้ภายในโรงพยาบาลมีตัวยาซูโดอีเฟดรีน เหลืออยู่ประมาณ 2 แสนเม็ด และชนิดน้ำอีก 450 ขวด ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ฯได้สุ่มตรวจสอบตามโรงพยาบาลต่างๆ ร้านขายยาทั่ว จ.ตรัง พบตัวยาชนิดนี้แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น จากทั้งหมด 137 ร้าน และสั่งเด็ดขาดห้ามจำหน่ายยาชนิดนี้แล้ว.

ไทยรัฐออนไลน์  6 เมย 2555

5989
สอบแล้ว “รพ.สยามราษฎร์” หลังมีชื่อสั่งซื้อซูโดฯ สูตรเดี่ยว-สูตรผสมรวมกันกว่า 4 แสนเม็ด พบโดนอดีต จนท.จัดซื้อแอบอ้างชื่อสั่งยา สุดแสบปลอมแบบฟอร์ม-ลายเซ็น แถมทำเอกสารแจ้งสาธารณสุขจังหวัดเสร็จสรรพ โฆษกคณะทำงานฯ แจงพบที่จอมทองด้วย 2 คลินิกสั่งซูโดฯ ที่ละ 3 แสน ด้านดีเอสไอยันต้องตามต่อยาที่สั่งหายไปไหน-ใครมีเอี่ยว
       
       วันนี้ (5 เม.ย.) เจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คณะกรรมการอาหารและยา และคณะทำงานป้องกันและปราบปราม ฟื้นฟู เยียวยาสารตั้งต้นยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข นำโดยว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยเลขานุการและโฆษกประจำคณะ เดินทางมายังโรงพยาบาลสยามราษฎร์ เชียงใหม่ ถ.เชียงใหม่-ลำปาง ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อตรวจสอบกรณีการสั่งซื้อยาซูโดอีเฟดรีนสูตรเดี่ยวจำนวนถึง 210,000 เม็ดของทางโรงพยาบาล
       
       การเข้าตรวจสอบในวันนี้ คณะทำงานส่วนหนึ่งได้เข้าประชุมหารือกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของโรงพยาบาล เนื่องจากทางโรงพยาบาลปฏิเสธว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับการสั่งซื้อยาจำนวนมากดังกล่าว ขณะที่คณะทำงานอีกส่วนหนึ่งได้ทำการตรวจสอบการรับและจ่ายยาของห้องยา รวมทั้งตรวจสอบสต๊อกยาของโรงพยาบาลอีกด้วย
       
       ภายหลังการประชุม คณะทำงานชุดดังกล่าวได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดย ว่าที่ ร.ต.ธนกฤตเปิดเผยว่า การเข้าตรวจสอบของคณะทำงานในวันนี้ สืบเนื่องจากได้พบความผิดปกติในการสั่งซื้อยาซูโดอีเฟดรีนสูตรเดี่ยวของทางโรงพยาบาลสยามราษฎร์ เชียงใหม่ ซึ่งมีจำนวนสูงถึง 210,000 เม็ด
       
       ผลการตรวจสอบพบว่า แม้โรงพยาบาลมีใบอนุญาตและสามารถสั่งซื้อหรือแจกจ่ายยาดังกล่าวได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ปรากฏว่ายาจำนวนดังกล่าวที่ถูกสั่งซื้อและมีตัวเลขจากโรงงานผู้ผลิตไปยัง อย.นั้น กลับไม่ได้เข้าสู่ระบบของโรงพยาบาลแต่อย่างใด
       
       ว่าที่ ร.ต.ธนกฤตกล่าวต่อไปว่า โรงพยาบาลได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า ไม่ทราบเรื่องการสั่งซื้อยาซูโดอีเฟดรีนสูตรเดี่ยวเลย และจากการตรวจสอบพบว่าการสั่งซื้อยาดังกล่าวเกิดขึ้นจากการปลอมแปลงเอกสาร โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อคนหนึ่งได้แอบอ้างชื่อของโรงพยาบาลในการสั่งซื้อ
       
       ทั้งนี้ นายแพทย์สินธิป พัฒนคูหา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลได้ชี้แจงคณะทำงานแล้วว่าไม่ทราบเรื่องและไม่ได้ลงนามในเอกสารดังกล่าวแต่อย่างใด รวมทั้งยังได้มีการลงโทษเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้ทำเอกสารดังกล่าว โดยย้ายให้ไปรับผิดชอบในตำแหน่งอื่น และแจ้งความในข้อหาปลอมแปลงเอกสารแล้ว
       
       ขณะที่ปริมาณการสั่งซื้อยาซูโดอีเฟดรีนสูตรผสมของโรงพยาบาลสยามราษฎร์ เชียงใหม่นั้น ว่าที่ ร.ต.ธนกฤตระบุว่าพบความผิดปกติด้วยเช่นกัน โดยจากการตรวจสอบพบว่าโรงพยาบาลมียอดการสั่งซื้อยาประเภทดังกล่าวในปี 2554 จำนวน 226,250 เม็ด แต่ทางโรงพยาบาลระบุว่าได้สั่งซื้อยาเข้าสู่ระบบของโรงพยาบาลเพียง 20,000 เม็ดเท่านั้น ทำให้มียาที่หายไปจำนวนถึง 206,250 เม็ด
       
       จากการตรวจสอบจึงพบว่าเป็นการปลอมแปลงเอกสารทั้งในส่วนของใบสั่งซื้อและรายงานการครอบครองซูโดอีเฟดรีนที่ส่งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ โดยที่ทางโรงพยาบาลไม่ทราบเรื่องแต่อย่างใด ซึ่งขณะนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ก็ได้แจ้งความดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวแล้วเช่นกัน
       
       ผู้ช่วยเลขานุการและโฆษกประจำคณะทำงานฯ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ในวันเดียวกันนี้คณะทำงานอีกส่วนหนึ่งได้เดินทางไปยัง อ.จอมทองเพื่อตรวจสอบคลินิก 2 แห่ง ได้แก่ โอภาสคลินิกและสัมพันธ์คลินิก หลังจากตรวจสอบพบว่าคลินิกทั้ง 2 แห่งมีการสั่งซื้อยาซูโดอีเฟดรีนสูตรผสมสูงถึงแห่งละ 300,000 เม็ด ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงผิดปกติ โดยจะสอบสวนว่ามีการสั่งซื้อยาจำนวนมากเช่นนี้มาได้อย่างไร และยาดังกล่าวถูกนำไปใช้อย่างไรบ้าง ก่อนที่จะรวบรวมข้อมูลที่ได้ทั้งหมดเพื่อนำไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
       
       ส่วน การดำเนินการในขั้นตอนต่อจากนี้ นายทวีวัฒน์ สุรสิทธิ์ รักษาการพนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้ทำการสืบสวนต่อไปว่านอกเหนือจากพนักงานที่เป็นผู้กระทำผิดในกรณีดังกล่าวแล้ว ยังมีบุคคลอื่นร่วมกระทำผิดด้วยหรือไม่ รวมทั้งจะติดตามว่ามีความเชื่อมโยงอย่างไรบ้างกับเหตุการณ์ที่มียาหายไปจากโรงพยาบาลในหลายพื้นที่ จากการตรวจสอบในขณะนี้พบว่ามีแนวโน้มที่จะมีความเชื่อมโยงกัน แต่ยังอยู่ในขั้นตอนของการสอบสวนซึ่งไม่สามารถลงรายละเอียดได้ เนื่องจากอาจส่งผลต่อรูปคดี


ASTVผู้จัดการออนไลน์    5 เมษายน 2555

5990
นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณียาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนที่หายจากโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานีว่า ขณะนี้ผลการสอบสวนออกมาชัดเจนแล้วว่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี และหัวหน้าเภสัชกรไม่มีส่วนรู้เห็นในการหายไปของยา แต่ถือว่ามีความผิดวินัยไม่ร้ายแรงฐานบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการสั่งซื้อยาจนทำให้เกิดปัญหาขึ้น ซึ่งได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบวินัยไม่ร้ายแรงเรียบร้อยแล้ว ส่วนนายสมชาย แซ่โค้ว เภสัชกรชำนาญการโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี ที่เป็นผู้สั่งซื้อแล้วยักยอกออกจากโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี ยังไม่ทราบผลการสอบสวนแต่คาดว่า น่าจะถูกลงโทษวินัยร้ายแรงถึงขั้นไล่ออก
        ส่วนกรณีโรงพยาบาลหนองกี่ จ.บุรีรัมย์ ผลตรวจสอบทั้งขั้นตอนการสั่งซื้อยาแก้หวัดสูตรผสมสูโดอีเฟดรีนและกระบวนการบริหารจัดการของโรงพยาบาลดำเนินการอย่างถูกต้องทั้งหมด ยกเว้นเภสัชกรของโรงพยาบาลหนองกี่ที่แอบอ้างชื่อของโรงพยาบาลไปใช้ในการสั่งซื้อเพื่อนำยาไปขายต่อ เบื้องต้นได้สั่งย้ายเภสัชกรรายดังกล่าวให้ไปประจำที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์แล้ว พร้อมเตรียมตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนวินัย

ASTVผู้จัดการออนไลน์    5 เมษายน 2555

5991
ผลสอบวินัยขรก.ยักยอกซูโดฯ ตัดสินไล่“ภก.สมชาย” ออกจากราชการ ผู้อำนวยการ - หน.เภสัชฯ รพ.อุดรฯ ไม่เกี่ยวข้องแค่หละหลวม บกพร่องหน้าที่ ขณะที่ รพ.หนองกี่ไร้มลทิน เภสัชฯตัวการ ขณะที่ผู้ผลิตเริ่มส่งคืนซูโดฯ แล้ว “พสิทษฐ์” ยังแฉต่อ“รพ.สยามราษ”จนท.ปลอมลายเซ็นซื้อยา 4 แสนเม็ด “เฉลิม” ลั่นจับแน่ถ้าหลักฐานโยงนักการเมืองเอี่ยวลักซูโดฯ
       
       นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)กล่าวภายหลังการประชุม คณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการสอบทางวินัย กรณียาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน ว่า คณะกรรมการฯ ได้สอบวินัยผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยวางกรอบไว้ว่าให้ทิศทางการสอบสวนในจังหวัดต่างๆ ให้มีบทลงโทษ แนวทางการสอบสวนให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยคณะกรรมการฯ ได้เร่งรัดให้จังหวัดต่างๆ ดำเนินการตรวจสอบให้เป็นไปตามกรอบเวลาตามที่กฎหมายกำหนด คือ การสอบวินัยร้ายแรงภายใน 90 วัน และการสอบวินัยไม่ร้ายแรง ไม่ได้กำหนดเวลาแต่ต้องสอบสวนให้เร็วที่สุด ซึ่งคณะกรรมการแต่ละชุดจะมีอิสระต่อกัน ในการหาหลักฐาน หรือการเรียกสอบ โดย ขณะนี้บางจังหวัดใกล้แล้วเสร็จ บางจังหวัดยังต้องหาหลักฐานต่อ ขึ้นอยู่กับผู้กระทำรับสารภาพหรือไม่ และมีหลักฐานมากหรือน้อย ซึ่งคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนกระทรวงสาธารณสุข(อกพ.สธ.) จะเร่งรัดให้ได้ผลที่เร็วที่สุด
       
       ** “ภก.สมชาย” โทษไล่ออกจากราชการ
       
       นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการ สธ.กล่าวว่า ขณะนี้ รพ.หนองกี่ ผลการสอบสวนพบว่า เภสัชกร เป็นผู้ที่นำชื่อโรงพยาบาล ไปใช้ในการสั่งยาเข้าร้านขายยาของตนเอง และตัดยาออกไม่ได้ผ่านโรงพยาบาล ซึ่งตรวจสอบแล้วพบว่า โรงพยาบาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และได้ตั้งคณะกรรมการสอบเภสัชกรรายดังกล่าวแล้ว
       
       ด้าน นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้ตรวจราชการ สธ. กล่าวว่า สำหรับผลการสอบข้อเท็จจริง ของ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุดรธานี และ หัวหน้าเภสัชกร ผลการสอบสวนสรุปว่า ทั้งสองคนไม่มีส่วนรู้เห็นการกระทำผิด แต่บกพร่องในการกำกับควบคุม หละหลวมในการกำกับดูแลเภสัชกรผู้กระทำความผิด คือ ภก.สมชาย แซ่โค้ว จึงได้ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยไม่ร้ายแรง ส่วน ภก.สมชาย แซ่โค้ว มีการประชุมเพื่อตัดสินความผิดในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ (5 เม.ย.) โดยผลการสอบสวนสรุป ว่า ให้ไล่ออกจากราชการ
       
       รายงานข่าวแจ้งว่า ในปัจจุบันมีข้าราชการสังกัดสธ.เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด 15 คน โดยแบ่งเป็นถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง 9 คน ได้แก่ 1.เภสัชกรชำนาญการ รพ.อุดรธานี 2.เภสัชกรชำนาญการ รพ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ 3.ผอ.รพ.ทองแสนขัน 4.เภสัชกรชำนาญ รพ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ 5.เจ้าพนักงานเภสัชกรรมชำนาญงาน รพ.กมลาไสย 6.เภสัชกรชำนาญการ รพ.ฮอด จ.เชียงใหม่ 7.เจ้าพนักงานเภสัชกรรมปฏิบัติงาน รพ.ฮอด 8.เภสัชกรชำนาญการ รพ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ และ 9.เภสัชกร รพ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ อีก 5 คน ถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัยไม่ร้ายแรง ได้แก่ 1. ผอ.รพ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ 2.เภสัชกรชำนาญการ รพ.กมลาไสย 3.เจ้าพนักงานเภสัชกรรมปฏิบัติงาน รพ.กมลาไสย 2 คน และ4.ผอ.รพ.ฮอด ส่วนกรณีรพ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบและพิจารณาในระดับจังหวัดว่าจะถูกตั้งกรรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง นอกจากนี้ สำหรับที่โรงพยาบาลอุดรธานีได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงผอ.รพ. โดยมีนพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้ตรวจราชการเป็นประธาน
       
       ** ผู้ผลิตเริ่มส่งคืนซูโดฯ แล้ว
       
       ภก.ประพนธ์ อางตระกูล ผู้อำนวยการกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. กล่าวว่า ขณะนี้มีเพียงผู้ผลิตยาเพียง 1 ราย ที่ได้รายงานเข้ามาว่า มีร้านยา ได้ส่งคืนยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนกับพาราเซตามอน ที่อยู่ในเม็ดเดียวกันแล้ว โดยมีปริมาณอยู่ที่หลักร้อยเท่านั้น คาดว่า ในสัปดาห์หน้าจึงจะมีจำนวนผู้ติดต่อขอคืนยาดังกล่าวมากขึ้น เนื่องจาก เมื่อวานนี้ทั้งผู้ผลิต ผู้นำเข้า ร้านขายยา เพิ่งจะรับทราบนโยบาย จึงอาจจะอยู่ระหว่างการรวบรวมยาดังกล่าวเพื่อส่งคืนก่อนวันที่ 3 พ.ค.นี้
       
       *** แฉ“รพ.สยามราษ”จนท.ปลอมลายเซ็นซื้อยา 4 แสนเม็ด
       
       นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ที่ปรึกษารมว.สาธารณสุข กล่าวว่า จากการที่คณะทำงานป้องกันและปราบปราม ฟื้นฟู และเยียวยาด้านยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ ร่วมกับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พบว่า จากการตรวจสอบ รพ.สยามราษ จ.เชียงใหม่ ที่พบหลักฐานเป็นแผงยา และขวดยาทิ้งไว้ในป่านั้น ผู้ที่กระทำเป็น เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อของโรงพยาบาล โดยทำการปลอมลายเซ็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลเพื่อสั่งซื้อ ยาจากบริษัท เป็นยาสูตรเดี่ยว 210,000 เม็ด โดยไม่ได้นำเข้าโรงพยาบาลเลย และเป็นยาสูตรผสม 200,000 เม็ด โดยเป็นส่วนที่โรงพยาบาลสั่งเพียง 20,000 เม็ดเท่านั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและดำเนินการตามกฎหมายแล้ว นอกจากนี้ ยังพบความผิดปกติ ที่คลินิกหมอโอภาส อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ โดยพบยาสูตรผสมหายไปจำนวน 300,000 เม็ด อยู่ระหว่างการให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ อย่างไรก็ตามจากการลงพื้นที่พบภาคเหนือ และภาคอีสาน มีปริมาณยาที่ถูกลักลอบมากที่สุด
       
       ** “เฉลิม” ลั่นจับแน่ถ้าหลักฐานโยงนักการเมืองเอี่ยวลักซูโดฯ
       
       วันเดียวกัน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการประชุมมอบนโยบายให้กับพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีมติรับให้คดีการลักลอบนำยาแก้หวัดที่มีส่วนผสมของซูโดอีเฟดรีนออกจากระบบเพื่อนำไปเป็นสารตั้งต้นผลิตยาเสพติดเป็นคดีพิเศษซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญ ทั้งนี้เห็นว่าดีเอสไอมีศักยภาพมากพอที่จะสอบสวนเรื่องดังกล่าวรวมถึงดีเอสไอยังเป็นหน่วยงานสอบสวนหน่วยงานเดียวที่สามารถร่วมสอบสวนกับพนักงานอัยการได้ ซึ่งหากให้ตำรวจท้องที่สอบสวนเองอาจมีความเกรงใจหรือลูบหน้าปะจมูกได้เพราะตำรวจท้องที่ต้องรู้จักกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลและมีความคุ้นเคยกัน ทั้งนี้หากผลการสอบสวนเชื่อมโยงไปถึงผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขหรือนักการเมืองก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายไม่สามารถละเว้นได้
       
       "หากการปราบปรามขบวนการลักลอบนำยาแก้หวัดออกจากระบบของโรงพยาบาลสามารถทำได้สำเร็จก็จะเป็นเครติดให้กับรัฐบาลรวมถึงดีเอสไอเองด้วย ทั้งนี้ เห็นว่า ดีเอสไอพร้อมที่จะกันตัวผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบนำยาแก้หวัดออกจากระบบไว้เป็นพยาน" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

ASTVผู้จัดการรายวัน    5 เมษายน 2555

5992
“วิทยา” เร่งพัฒนา 56 มัสยิด เป็นศูนย์บำบัดผู้เสพยาเสพติด ใกล้บ้าน ใกล้ใจ 5 จว.ชายแดนใต้
       
       วันนี้ (5 เม.ย.) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จังหวัดยะลา นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมงานเปิดอบรมอาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม.ในจังหวัดยะลา จำนวน 944 คน ให้เป็น อสม.เชี่ยวชาญด้านยาเสพติด เพื่อทำหน้าที่ให้การเฝ้าระวัง ป้องกันปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน และติดตามดูแลช่วยเหลือผู้เสพยาที่ผ่านการบำบัดแล้ว ไม่ให้หวนกลับไปเสพยาซ้ำอีก จากนั้นเดินทางไปที่โรงแรมปาร์ควิว ยะลา เปิดสัมมนาผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ฝ่ายปกครอง ตำรวจชุมชนสัมพันธ์ พัฒนาชุมชน ฝ่ายการศึกษาและสาธารณสุขจำนวน 600 คน จาก 56 อำเภอ ใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ สตูล เพื่อเตรียมความพร้อมทีมบำบัดฟื้นฟูประจำมัสยิด 56 แห่ง ที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์ฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด 1 อำเภอ 1 ศูนย์ฟื้นฟู หลังจากนั้น เดินทางไปเปิดการบำบัดฟื้นฟูที่มัสยิดศูนย์ส่องทางสู่ชีวิตใหม่ ที่มัสยิดบาโงลตา ต.บาโงย อ.รามัน ซึ่งมีผู้เสพยาเข้ารับการบำบัดฯ 40 คน ระยะเวลาในการบำบัดฯ 9 วัน
       
       โดย นายวิทยา กล่าวว่า สถานการณ์ยาเสพติดของไทยขณะนี้ คาดว่า ทั่วประเทศมีผู้ติดยาเสพติดประมาณ 1.2 ล้านคน กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งบำบัดฟื้นฟูไม่ให้กลับไปเสพยาซ้ำ เพื่อลดจำนวนผู้ใช้ยาเสพติดให้เป็นผลสำเร็จ ให้บรรลุ “วาระแห่งชาติ” ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดตามนโยบายของรัฐบาลโดยเร็วที่สุด โดยในการบำบัดรักษาผู้เสพ/ติดยาเสพติดในปีนี้ ได้เน้นเชิงรุก “1 อำเภอ 1 ศูนย์ฟื้นฟู” จำนวน 928 แห่ง ครอบคลุมทุกอำเภอทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้เสพ/ติดยาเสพติด ได้รับการบำบัดฟื้นฟูในศูนย์ใกล้บ้านใกล้ใจ ซึ่งขณะนี้ดำเนินการได้แล้ว 1,028 แห่ง มีทีมบำบัดประจำอำเภอ 8,514 คน จากเป้าหมายที่กำหนด 9,280 คน และอบรม อสม.เป็น อสม.เชี่ยวชาญยาเสพติด 5,000 คน จะเร่งให้ครบตามเป้าหมายภายใน 2 เดือนนี้
       
       สำหรับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สถานการณ์ความรุนแรงของการแพร่ระบาดยาเสพติดมีสูงมาก เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาและระดับความเสี่ยงอยู่ในเกณฑ์สูงของประเทศอันดับ 3 รองจากกทม.และปริมณฑล เยาวชนที่เสพหรือติดยาเสพติด มักไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาในสถานบำบัดของภาครัฐ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข ได้ทำโครงการพัฒนามัสยิด 56 แห่ง ใน 56 อำเภอ ของ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ให้เป็นศูนย์บำบัดฟื้นฟูผู้เสพยาเสพติดในชุมชน หรือมัสยิดศูนย์ส่องทางสู่ชีวิตใหม่ : ปูซัดเกอฮีดูปันบารู เป็นทางเลือกในการสร้างแรงจูงใจให้ชาวไทยมุสลิมที่เสพยาเสพติด เข้าสู่กระบวนการบำบัดฯ มากยิ่งขึ้น เพราะมีรูปแบบการบำบัดฟื้นฟูที่สอดคล้องกับหลักศาสนาและวิถีชุมชนของชาวไทยมุสลิม จุดแข็งของมัสยิด คือเป็นศูนย์รวมใจของชุมชน ซึ่งจะเป็นศูนย์ฟื้นฟูใกล้บ้านใกล้ใจ ครอบครัว และชุมชนจะมีส่วนร่วมสูง
       
       ด้าน น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขและผู้อำนวยการศูนย์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดของกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาที่น่าห่วงในกลุ่มที่เสพติดรุนแรง โดยเฉพาะยาบ้า พบว่ามีผลในการทำลายสมองและมีภาวะแทรกซ้อนทางจิตเวชมากขึ้นในรอบ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2551-2553 พบทั้งหมด 5,152 ราย ดังนั้น จึงต้องเร่งป้องกันโรคสมองติดยาดังกล่าว โดยการบำบัดให้เลิกเสพยาอย่างเด็ดขาด โดยตั้งแต่ตุลาคม 2554-กุมภาพันธ์ 2555 มีผู้เสพยาผ่านการบำบัดแล้ว 120,000 คน โดยกระทรวงสาธารณสุขจะติดตามดูแลผู้ผ่านการบำบัด ไมให้หวนกลับไปเสพซ้ำให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80

ASTVผู้จัดการออนไลน์    5 เมษายน 2555

5993
 สธ.-คมนาคม ผนึกกำลังรองรับ “นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน” จัดรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจที่สถานีรถไฟทั่วประเทศก่อนเทศกาลสงกรานต์
       
       วันนี้ (5 เม.ย.) นายสุรชัย เบ้าจรรยา ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการแถลงข่าวความร่วมมือให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนเรื่อง “กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงคมนาคม รณรงค์รองรับนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาทุกที่ทั่วถึงทุกคน” ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ว่า ตามนโยบายบริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุนนั้น ซึ่งเริ่มบริการตั้งแต่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา นั้น ล่าสุด สธ.กได้ร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมผนึกกำลังรองรับนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคนเร่งให้ความรู้ความเข้าใจให้ประชาชน” ก่อนเดินทางกลับภูมิลำเนาช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์นี้ เพื่อใหเประชาชนได้รับบริการที่เท่าเทียม และทั่วถึง ซึ่งป็นสิ่งที่ 3 กองทุน มีเป้าหมายที่สอดคล้องกัน คือ เมื่อมีผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินที่อาจถึงแก่ชีวิต จะต้องไม่ถูกถามสิทธิ และสามารถรักษาได้ทันทีในทุกพื้นที่ โดยคนไทยทุกคนจะต้องได้รับบริการด้วยมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาคระหว่าง 3 กองทุนสุขภาพของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบ่ายเบี่ยงการรักษา การถามสิทธิก่อนรักษา และต้องสำรองจ่ายเงินก่อนการรักษาของผู้ป่วยฉุกเฉิน อันเป็นอุปสรรคสำคัญในการบริหารจัดการที่ผ่านมา
       
       นายประเสริฐศิริ สุขะวัธนกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางน้ำ กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม เห็นความสำคัญของนโยบายดังกล่าว และเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจ จึงได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้งนิทรรศการ เพื่อคุณภาพบริการ หลักประกันสุขภาพ เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน ตามสถานีรถไฟทั่วประเทศไทย ท่าอากาศยานขนาดใหญ่ 12 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ 1.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2.ท่าอากาศยานดอนเมือง 3.ท่าอากาศยานเชียงใหม่ 4.ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย 5.ท่าอากาศยานหาดใหญ่ 6.ท่าอากาศยานภูเก็ต 7.ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี 8.ท่าอากาศยานขอนแก่น 9.ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช 10.ท่าอากาศยานอุดรธานี 11.ท่าอากาศยานพิษณุโลก 12.ท่าอากาศยานอุบลราชธานี และสถานีขนส่ง 15 แห่งทั่วประเทศ กระทรวงคมนาคมได้เตรียมความพร้อมรองรับการให้บริการแก่ประชาชนที่จะเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ โดยเฉพาะการรองรับนโยบายของรัฐบาลเรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพได้ทันที เป็นการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนไทย
       
       นายวิโรจน์ เตรียมพงศ์พันธ์ รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยในฐานะหน่วยงานดูแลเรื่องการขนส่งผู้โดยสารโดยรถไฟ ซึ่งมีประชาชนใช้บริการจำนวนมาก ขอสนับสนุนนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน ของรัฐบาลอย่างเต็มที่ โดยได้จัดเตรียมสถานที่เพื่อจัดนิทรรศการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการเพิ่มคุณภาพบริการ หลักประกันสุขภาพ ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน สำหรับจัดแสดงนิทรรศการในสถานีรถไฟหัวลำโพง
       
       ขณะเดียวกัน ในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยได้เตรียมความพร้อมรองรับการให้บริการแก่ประชาชนที่เดินทางโดยรถไฟอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการรองรับกับนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนขอให้ทุกท่านมีความสุข และเที่ยวให้สนุกกับเทศกาลสงกรานต์นะครับ ขอบคุณครับ
       
       นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในหลักการรักษาพยาบาลทั้ง 3 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนสวัสดิการข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อให้การบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งประชาชนทุกคนสามารถนำบัตรประชาชนใบเดียวไปใช้บริการได้ทุกแห่ง ทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนในกรณีผู้ที่อยู่ในกองทุนทั้ง 3 ระบบ หรือคนใกล้ชิดประสบปัญหาเจ็บป่วยฉุกเฉิน ที่อาจจะนำไปสู่สาเหตุถึงแก่ชีวิต โดยทางสถานพยาบาลที่รับผู้ป่วยเข้ารักษาจะไม่ถามสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา โดย สปสช.ได้เตรียมความพร้อมเรื่องการเบิกจ่าย ด้วยการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้กระชับรัดกุม และรวดเร็วมากขึ้นในการให้บริการ โดยกรมบัญชีกลางได้แก้ไขพระราชกฤษฎีกา อนุมัติให้ผู้ป่วยสิทธิข้าราชการไม่ต้องสำรองจ่าย และสามารถชดเชยในอัตรา 10,500 บาท ต่อผู้ป่วยหนึ่งคนที่อยู่ในภาวะโรควิกฤติฉุกเฉินโดยสำนักงานประสำนักงานประกันสังคม ได้ปรับระบบการเบิกจ่ายกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ และ สปสช.ได้ปรับปรุงประกาศให้ใช้อัตรากลาง ซึ่งสปสช.จะเป็นหน่วยเบิกจ่ายกลาง (Clearing house) ให้กับโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศที่ให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉิน
       
       “หวังว่า โครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนทุกคนในการเข้าถึงการบริการการรักษาพยาบาลในนาทีฉุกเฉินและในช่วงวิกฤตของชีวิตได้รับความปลอดภัย ขอให้ทุกท่านมีความสุขและเที่ยวให้สนุกกับเทศกาลสงกรานต์” รองเลขาธิการ กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    5 เมษายน 2555

5994
การพัฒนาขึ้นมาอีกขั้นของ "ยีนแพ้ยา" เพื่อลดปัญหาระหว่าง "หมอ" และ "คนไข้"

วันนี้ ภาพการ "เดิน" เข้าประตูโรงพยาบาล แต่ต้อง "นอนเปล" กลับบ้าน ก็ยังคงดูเป็นเรื่องทำความเข้าใจได้ยากสำหรับญาติคนไข้ และตัวหมอเองคงเหวี่ยงความรับผิดชอบในฐานะ "แพทย์เจ้าของไข้" ไปไม่พ้น จนปรากฏเป็น "กรณีคนไข้ฟ้องหมอ" ให้เห็นบนหน้าหนังสือพิมพ์มาโดยตลอด

จากข้อมูลของแพทย์สภานับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2535 เป็นต้นมามีการร้องเรียนเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ไม่รักษาตามมาตรฐานอยู่กว่า 2,000 คดี โดยส่วนใหญ่สืบเนื่องมาจากการวินิฉัยโรคเป็นหลัก จนส่งผลถึงกระบวนการรักษา

อีกมุมหนึ่ง สรรพคุณของตัวยาที่นำมาสู้โรคนั้น อาจร้ายกาจถึงขั้นกลายเป็นฆาตกรในมือหมอเอาง่ายๆ ได้เหมือนกัน หากคนไข้ออกอาการ "แพ้ยา"

การค้นหาคำตอบจากคมที่สองของเหล่าแอนติบอดี้ไม่ให้ย้อนกลับมาซ้ำอาการป่วยให้กำเริบ และลดความเสี่ยงของความผิดพลาดในฝั่งผู้รักษาจึงกลายเป็นโจทย์สำคัญอีกข้อสำหรับวงการเภสัชกรรม โดยเฉพาะกลุ่มอาการ Stevens Johnson syndrome (SJS) และ Toxic epidermal necrolysis (TEN) ซึ่งมักเป็นอาการแพ้ที่ปรากฏเป็นลำดับต้นๆ

ส่วนอันตรายแค่ไหน...

"อาการของโรคเหมือนกรณีของคุณดอกรักนั่นแหละค่ะ" ภญ.วิมล สุวรรณเกษาวงษ์ จากศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ยกตัวอย่างกรณี "คุณดอกรัก" ที่แพ้ยาจนเกิดอาการ SJS ทำเธอตาบอด กลายเป็นคดีความเมื่อปี 2548

นั่นคือผลจากการมีรหัสพันธุกรรมที่ไม่เป็นมิตรกับตัวยาที่ใช้รักษา หรือ "ยีนแพ้ยา" นั่นเอง

ไม่มากแต่สำคัญ

นิยามผลอันไม่พึงประสงค์จาก องค์การอนามัยโลก (WHO) อธิบายลักษณะอาการ "แพ้ยา" ว่า เป็นผลการตอบสนองของยาที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้มุ่งหวัง และก่ออันตรายต่อมนุษย์เมื่อใช้ยานั้นทั้งๆ ที่ใช้ยาในขนาดปกติ เพื่อการป้องกัน การรักษา หรือการวินิจฉัยโรค

ไม่ว่าจะตัวขึ้นผื่น หน้าบวมตาบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือเวียนหัว อาการเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นอาการบ่งชี้ว่า ร่างกายกับยาเริ่มเข้ากันไม่ได้แล้วทั้งนั้น

"เรามักเลี่ยงไม่ค่อยได้ เพราะมันมาพร้อมกับประโยชน์ของยาค่ะ" รศ.วิจิตรา ทัศนียกุล ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปรยขึ้นในวงประชุมวิชาการประจำปี 2555 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NSTDA Annual Conference 2012: NAC2012) เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

โดยอาการแพ้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ ขึ้นกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา (Type A) และ ไม่ขึ้นกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา (Type B)

"ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะอยู่ในประเภทหลัง ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณยา ทำนายไม่ได้ หรือกระทั่งอาจเกิดจากกรรมพันธุ์ของพ่อแม่ ซึ่งในกรณีนี้ จะมีการพบค่อนข้างน้อยกว่า แต่ทุกครั้งที่เจออาการจะค่อนข้างรุนแรง"

ภญ.วิมล อิงรายงานผลของศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพตั้งแต่ปี 2527 จนถึง 2553 มีอยู่ราว 400,000 กรณี โดยเริ่มมีการรายงานเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 3 ปีหลัง (2551-2553) มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 2.4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย กระทั่งช่วงอายุสำหรับอาการไม่พึงประสงค์จากยานี้ก็สามารถเป็นได้ทั้งหมดเหมือนกัน

"เรื่องนี้คงแล้วแต่มุมมอง เพราะดูสถิติอาจจะไม่เยอะ แต่ชีวิตคนก็ประเมินมูลค่าไม่ได้" เธอตั้งข้อสังเกต

ด้าน รศ.วิจิตราเสริมว่า หากเทียบเคียงกับต่างประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ราว 5 - 10 เปอร์เซ็นต์ อาจทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า หรือเพราะคนไทยแข็งแรงกว่าชาวต่างชาติหรือเปล่า

ความจริงก็คือ...

"โรงพยาบาลส่วนใหญ่จะแทงว่า คนไข้หายกลับบ้าน หรือไม่ก็คนไข้ขอกลับบ้าน ซึ่งจริงๆ ก็คือ คนไข้ลาไปตายที่บ้าน ในโครงการเราทำวิจัยอยู่มีหลายคนที่ติดตามเพื่อขอเลือดมาตรวจ ในกรณีที่รายงานบอกว่า คนไข้หาย กลับบ้าน จริงๆ ไม่ใช่ และที่เป็นปัญหาส่วนใหญ่ก็คือ ชั้นผิวหนัง"

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประเทศไทยในรายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ประเทศไทยมีคนไข้แพ้ยามากที่สุดในโลก พอๆ กับมาเลเซียด้วย แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า อาการแพ้ยาจะกลายเป็นอีกหนึ่งฆาตกรร้ายระดับขึ้นบัญชีดำสำหรับสังคมไทย หากได้รับการดูแลเร็ว หรือสามารถรู้ได้เร็ว ก็สามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรงตามมาได้ ซึ่งต้องเป็นความร่วมมือจากทุกฝ่าย สถานพยาบาลก็ดี หรือกระทั่งตัวผู้ป่วยเองก็ตาม

"อย่างน้อยจบที่โรงพยาบาลยังดีกว่าจบที่ช่อง 3 ค่ะ" ภญ.วิมลออกความเห็น

เปิดตำรับยา-แพ้

ถึงจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่กรณีการแพ้ยาตามตัวเลขการรายงานการแพ้ยาของศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เพิ่มปริมาณแบบก้าวกระโดด ก็ยังถือเป็นโจทย์ข้อใหญ่สำหรับผู้คนในวงการเภสัชกรรมอยู่ดี

"ประเทศในแถบอาเซียน ไทยเราก็ถือว่าค่อนข้างให้ความสนใจกับเรื่องนี้เป็นประเทศแรกๆ วันนี้เรามีระบบที่ดีขึ้น ความตระหนักเรื่องนี้มีมากขึ้น แต่บางอย่างก็สุดที่จะป้องกันได้" ภญ.วิมลยอมรับ

โดยเฉพาะกลุ่มยาที่เข้าข่าย "น่าสงสัย" และมีรายงานอย่างอย่างสม่ำเสมอ อย่าง ยาต้านไวรัส ยาโรคเก๊าต์ และยากันชัก เป็นต้น

"ยากลุ่มซัลฟา (Cotrimoxazole) เมืองนอกก็ใช้ แต่น้อยสำหรับเมืองไทย เพราะมีเรื่องของเอดส์ คนไข้โรคเอดส์จะมีภาวะติดเชื้อแทรกซ้อนเยอะ คนเหล่านี้จะต้องใช้ยาซัลฟาป้องกัน อีกส่วนอาจจะเป็นอคติ เมื่อเจอซัลฟาเมื่อไหร่ก็สงสัยไว้ก่อน ส่วน Allopurinol หรือยาโรคเก๊าต์ วันนี้ที่ยังไม่สามารถเอาออกไปจากท้องตลาดเพราะยังไม่มียาที่มาทดแทนได้ หรือมีก็ราคาสูงซึ่งไม่เหมาะกับประเทศเรา ส่วน Carbamazepine เป็นยากันชัก ซึ่งทั้ง 3 อันนี้ ก็สามารถป้องกันได้ในระดับหนึ่ง เพราะเราสามารถค้นพบเรื่องยีน" เธอแจงผลรายงาน

หรือ Amoxycillin ที่หลายคนแปลกใจ ก็มีหลักฐานทางวิชาการหลายแห่งที่ยืนยันถึงความเป็นไปได้ กระทั่ง ยารักษาอาการปวดข้อปวดกระดูกที่ใช้กันเป็นประจำอย่าง Ibuprofen ก็เข้าข่าย

นอกจากนี้ ยังมีชนิดยาประเภท "แพ็คคู่" ซึ่งกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ สามารถมั่นใจได้ว่าไม่ตัวใดก็ตัวหนึ่งที่ก่ออาการแพ้

"ที่พบคู่กันบ่อยๆ ทั่วไปจะเป็น ยาเอดส์กับยาซัลฟา ซึ่งเป็นธรรมดา เพราะคนไข้ต้องกินคู่กัน จึงมีสิทธิเกิดได้ทั้งคู่ อีกตัวก็คือ Allopurinol กับ Colchicine ยาโรคเก๊าต์กับยารักษาอาการปวดจากอาการเก๊าต์ อีกตัวก็คือ ยาฆ่าเชื้อรากับซัลฟา ซึ่งคนไข้โรคเอดส์ก็มีโอกาสติดเชื้อรา และสาเหตุที่พบซัลฟาอยู่ไปทั่ว เพราะมีข้อมูลทางวิชาการระดับหนึ่งว่า สูตรโครงสร้างแบบนี้โอกาสจะเกิดได้" เภสัชกรหญิงคนเดิมยกตัวอย่าง

และปัญหาที่มักพบตามมาหลังจากอาการแพ้ยาก็คือ การฟ้องร้อง

"อย่างกรณีของคุณดอกรักเมื่อปี 2548 หรือน้องต้นกล้า ยังมีอีกหลายคดีที่คนไข้แค่หยอดตาแล้วเกิด SJS เหตุการณ์แบบนี้ป้องกันได้ไหม เพราะเชื่อแน่ว่า คงไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น ดูเมืองนอกจะมีสำนักทนายความที่เขียนประกาศหน้าเว็บอย่างชัดเจน ว่าถ้าคุณเป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ยา เข้ามาหาเราแล้วจะหาทางเครมหมอให้ รายได้จากศาลสั่งเดี๋ยวแบ่งกัน" รศ.วิจิตรา เล่าถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่กลายรูปเป็นธุรกิจไปแล้วในต่างประเทศ

ถึงแม้ในอดีต สาเหตุจากการแพ้ยาจะยังไม่สามารถระบุรายละเอียดได้อย่างชัดเจน ทำให้สิ่งที่กระบวนการรักษาสามารถทำได้ก็คือ การเฝ้าระวังในแง่กรรมพันธุ์ ซึ่งก็ไม่ได้รับรองผลว่า หากพ่อแม่มีอาการแพ้ยาแล้วลูกจะต้องแพ้ยาด้วยเสมอไป

แต่จนถึงวันนี้ ความก้าวหน้าทางเภสัชพันธุศาสตร์ ได้มีส่วนสำคัญในการคัดแยก-ระบุลักษณะจำเพาะของตัวยีนที่อยู่ในร่างกายคนเรา ซึ่งมีผลกับตัวยาในกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดทอนอันตรายจากการแพ้ได้มากขึ้น นั่นเอง
 
"จีโนม" บ่งภูมิ

"การถอดรหัสพันธุกรรมออกมา 3,000 ล้าน เบส base สิ่งที่ได้ก็คือ ข้อมูลที่เกี่ยวกับ โรคหายาก (Rare Disease) ทำให้ตอนนี้เรามีความสามารถป้องกันเหตุการณ์เหล่านี้ได้อยู่บ้าง" รศ.วสันต์ จันทราทิตย์ หน่วยไวรัสวิทยาและจุลชีววิทยาโมเลกุล โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลเผยถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เข้ามาช่วยในเรื่องของการคัดกรองยีนที่มีลักษณะบ่งชี้ความเสี่ยงดังกล่าว

"มียาหลายตัวที่ชัดเจนมากว่าคนๆ นั้นมีความเสี่ยงในยีนส์ลักษณะแบบนี้ต้องแพ้แน่ๆ" เขายืนยัน

สิ่งที่ รศ.วสันต์ กำลังทำก็คือ Human genome project and personalized medicine เพื่อรวบรวมข้อมูลพันธุกรรม เก็บเป็นฐานข้อมูลเพื่อเทียบเคียงเอกลักษณ์จำเพาะที่อาจส่งผลต่อการแพ้ยา

"เคสที่ต้องถอดก็ประมาณ 100 -1,000 คนครับ"

รศ.วสันต์อธิบายว่า ต่อ 1 คน จะสามารถถอดรหัสพันธุกรรมออกมาทั้งหมด 90,000 ล้าน Gb หรือประมาณ กระดาษเอสี่เรียงซ้อนกัน 130 เมตร (ความสูงเท่ากับตึก 33 ชั้น) ซึ่งจากข้อมูลรหัสพันธุกรรมจะนำไปเทียบเคียงฐานข้อมูล ก่อนจะประมวลผลเกี่ยวกับความเสี่ยงออกมา จาก Base ต่างๆ ของข้อมูล

"ถ้าเปรียบเทียบการถอดรหัส คนเรามีความแตกต่างกันอยู่ 0.1 เปอร์เซ็นต์ เวลาถอดรหัสจะมี Template ของคนมาวางอยู่ แล้วเราก็แค่ถอดรหัสออกมาวางแปะลงไป ส่วนยีน X ส่วนใหญ่จะเหมือนกันอยู่แล้ว เพียงแต่ไส้ในจะมีบางตัวที่ต่าง เราก็จะมาดูตัวที่ต่างกัน 0.1 เปอร์เซ็นต์ หรือ 3 ล้าน Base"

เพื่อเปรียบเทียบยีนที่อาจส่งผลกับตัวยาก็จะทำให้รู้ถึงความเสี่ยง หรือโอกาสที่ผู้ป่วยจะแพ้ยา อีกทั้งยังทำให้สามารถเลือกยาที่ตรงกับอาการเพื่อให้การรักษาเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

ความก้าวหน้าในการศึกษายีน HLA-B* 1502 ที่มีผลต่อการแพ้ยา Carbamazepine ยีน HLA-B* 5801เป็นมาร์กเกอร์ (Marker)ในการตรวจ SJS หรือ TEN ใน Allopurinol ยีน HLA-B* 5701 กับ Abacavir ดูจะทำให้ตัวคนจ่ายยา และคนไข้ลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาจากตัวยาได้ในระดับหนึ่ง

"การตรวจไม่ยากนะคะ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น เจาะเลือด เยื้อบุกระพุ้งแก้ม ตัดเล็บ รากผม ส่งแล็บเพื่อสกัดดีเอ็นเอ เพิ่มจำนวนยีนที่ต้องการตรวจ ก็จะเห็นผลการตรวจว่าบวกหรือลบ คุณหมอก็จะจ่ายยาตามลักษณะทางพันธุกรรมของคนไข้เพื่อไม่ให้เกิดการแพ้ยา" รศ.วิจิตราเสริม

หรือแม้แต่ฉลากยาในปัจจุบันก็มีระบุถึงชนิดของยีนที่พึงระวังกับตัวยาเพื่อเป็นช่องทางให้ผู้บริโคเข้าถึงข้อมูลได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน

ปัจจุบัน ถึงจะเป็นที่รู้กันดีว่าเทคโนโลยีด้านเภสัชพันธุศาสตร์มีส่วนช่วยระบุ "ยีนแพ้ยา" ในตัวผู้ป่วยค่อนข้างมีประสิทธิภาพ แต่ในประเทศไทยเองกลับมีบุคลากรในสาขานี้อยู่ไม่มากนัก

"อย่างที่โรงพยาบาลรามาฯ เองก็มีนะ ตรวจอยู่เหมือนกัน แต่ก็เป็นประเภทที่ว่า คางเหลืองแล้ว หรือเสียชีวิตแล้วมาตรวจคอนเฟิร์มว่ามียีนแบบนี้หรือไม่ เพื่อยืนยันว่าโรงพยาบาลจะจ่ายเงินชดเชย เยียวยา ว่าแพ้ยา" รศ.วสันต์ เล่นมุขตลกร้าย

แต่เขาก็ยังแสดงความหวังว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า การถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อตรวจระบุยีนแพ้ยาในตัวคนไทยจะสามารถทำได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้นด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และค่าใช้จ่ายที่ถูกลง

เมื่อเทียบเคียงผลรายงานวิจัยเบื้องต้นของการประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์ของการให้บริการตรวจคัดกรองยีน HLA-*B 1502 เพื่อป้องกันผื่นแพ้ยารุนแรง จาก โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) จะระบุไว้ค่อนข้างชัดเจนว่า คุ้มค่าสำหรับการส่งเสริม

น่าจะเป็นความหวังสำคัญทั้งตัวคนรักษา และคนรับการรักษาเองในการลดความเสี่ยงในเรื่องตัวยา รวมทั้งการฟ้องร้องให้ลดน้อยลงด้วยอีกทางหนึ่ง

โดย : ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี
กรุงเทพธุรกิจ  5 เมษายน 2555

5995
ช่วงระยะหนึ่งเดือนที่ผ่านมานี้เราจะเห็นการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างกระแสว่ามีความไม่เท่าเทียมกันในการรักษาพยาบาลของคนไทย
ว่า “ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเสียเปรียบข้าราชการและคนอีกกลุ่มที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพเพราะเป็นเพียงคนกลุ่มเดียวที่ถูกบังคับหักเงินสมทบเพื่อใช้ในการรักษาพยาบาล” ทั้งนี้กลุ่มผู้ผลักดันใช้หลักจิตวิทยาง่าย ๆ ว่า “ทุกคนอยากได้ของฟรีและดี” มานำร่องจุดกระแส และเพื่อให้ทันยุคก็ปั่นกระแสเรื่อง “สองมาตรฐาน” อะไรจะเกิดขึ้นหากระบบประกันสังคมล้มลงและสาธารณสุขไทยจะเป็นเช่นไร จะกระทบอะไรกับวินัยด้านการเงินการคลังของประเทศ

ความจริงที่ถูกบิดเบือน

ความจริงที่ไม่ว่าเราจะยอมรับได้หรือไม่ คือ “ไม่มีของฟรี ที่มาพร้อมคุณภาพที่ดี” ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง บริบทนี้ก็เช่นเดียวกับระบบการรักษาพยาบาล นับแต่เกิดระบบหลักประกันสุขภาพ และตามมาด้วยรัฐธรรมนูญ ๘๐(๒) ที่กำหนดให้ระบบบริการสาธารณสุขไทยต้องครบองค์ ๓ ดังนี้ “ประชาชนจะได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐาน อย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ”แล้วระบบสุขภาพทั้งสามนี้ได้ครบองค์ ๓ ดังกล่าวหรือไม่ ?

ระบบหลักประกันสุขภาพ

ประเด็นเรื่อง มาตรฐาน เป็นสิ่งที่มีภาพลักษณ์ขัดแย้งมาโดยตลอด โดยทางระบบหลักประกันสุขภาพได้รับการโฆษณาชวนเชื่อว่าดีเลิศ แต่ฝั่งผู้ปฏิบัติงานตัวจริงคือแพทย์พยาบาลกลับส่ายหน้ากับคำโฆษณานี้ และในความเป็นจริงระบบนี้หากจะกล่าวว่าได้มาตรฐานก็คงต้องเรียกว่า “มาตรฐานในระดับต่ำที่สุดเท่าที่ สปสช. จะเจียดเงินมาให้ใช้รักษา” เหตุเพราะ สปสช.ใช้ระบบกดราคาค่ารักษาทุกอย่างต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และบังคับให้สถานพยาบาลใช้เงินน้อยนิดก้อนนี้ไปรักษาผู้ป่วยให้ดีเลิศตามคำโฆษณา ทำให้สถานพยาบาลพากันขาดทุนจวนเจียนล้มละลายหลายแห่ง เพราะต้องสำรองจ่ายไปก่อนแต่ได้เงินล่าช้า (ซึ่งเป็นจุดที่ต่างกับวิธีการของระบบประกันสังคมที่จ่ายเงินให้ไปเลยทันทีตั้งแต่เซ็นสัญญาและให้สถานพยาบาลไปบริหารจัดการได้
เอง) ที่สำคัญคือได้เงินไม่ครบตามที่จ่ายไปจริง โดใช้วิธีคิดเงินแบบกดราคาและยุ่งยาก เช่นอ้างอิงระบบDRG บังคับให้จ่ายตามICD ล่าสุดยังถูกกล่าวหาว่า มีนอกมีในกับเงินค้างจ่ายสถานพยาบาล

มาตรฐานของระบบนี้หากจะเรียกก็น่าจะใช้คำว่า “มาตรฐานแบบคอมมิวนิสต์” กล่าวคือ มาตรฐานการรักษาที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะให้ได้ โดยมุ่งเน้นไปแต่ให้ทุกคนเข้าถึงการรักษาโดยง่ายเป็นหลัก ภายใต้ต้นทุนต่ำที่สุด และคุณภาพเป็นเรื่องท้ายสุด ซึ่งตรงกันข้ามกับตำราการแพทย์ทุกเล่มในโลกที่เน้นคุณภาพต้องมาก่อน และนี่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ปฏิบัติงานกลายเป็นแพะที่ต้องถูก
ฟ้องร้อง แต่ผู้บริหารที่กำหนดนโยบายกลับลอยตัวคอยรับแต่คำชมและสรรหาโฆษณาชวนเชื่อออกมาเรื่อย ๆ หากไม่เข้าใจว่ามาตรฐานการรักษาแบบนี้เป็นเช่นไร ก็ลองหลับตานึกภาพระบบคอมมิวนิสต์ที่รับประกันว่าทุกคนจะมีที่ดินทำกินเมื่อปฏิวัติสำเร็จ แต่ท้ายสุดสิ่งที่ประชาชนได้รับคือ ที่ดินที่น้อยที่สุดเท่าที่พอหาเลี้ยงชีพได้ ผลผลิตส่วนเกินห้ามเก็บไว้กับตัวต้องส่งคืนรัฐ เงินที่
เหลือคืนไปก็จะไปเป็นสมบัติส่วนตัวของท่านผู้นำ หาได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมไม่ เช่นกลายเป็นค่าเงินเดือน ค่าเบี้ยประชุม ค่าพาหนะ(เครื่องบิน) ค่าดูงาน ทุนส่งคนในสังกัดไปดูงาน(เที่ยว)ต่างประเทศ ทุนไปเรียนต่อเพื่อมาเป็นมือไม้ทำงานในอนาคต ค่าสร้างสำนักงานสุดหรู เงินเหล่านี้ซึ่งมาจากเงินภาษีแทนที่จะถูกนำไปใช้พัฒนาสถานพยาบาล ซื้อเครื่องมือแพทย์ หรือยาที่มีคุณภาพ(ซึ่งหมายถึงราคาที่สูงตามไปด้วย) กลับถูกนำกลับไปเป็นสมบัติส่วนตัวขององค์กรเพื่อสร้างภาพบริหารดีเด่น และนี่คือเหตุผลที่ทำให้ผู้ผลักดันกลุ่มเดียวกันนี้เขียนกฎหมายให้ทุกกองทุนของเขาต้องมีบทบัญญัติว่า “เงินที่เหลือไม่ต้องส่งคืนคลัง” นั่นเอง และเพื่อความมั่นคงของระบบ “มาตรฐานแบบคอมมิวนิสต์” จึงต้องผลักดันให้มีการรวมกองทุน การสร้างองค์กรอิสระเป็นเครือข่ายลูก ออกกฎหมายบังคับให้รัฐจัดสรรงบประมาณมาหล่อเลี้ยงอย่างถาวรโดยไม่ต้องทำเรื่องขอใหม่ทุก ๆ ปี

ประเด็นเรื่องทั่วถึง น่าจะเป็นข้อดีที่สุดของระบบนี้ เพราะเป็นระบบฟรี ทำให้ประตูการรักษาเปิดกว้างสำหรับทุกคนแม้จะไม่มีเลขบัตรประชาชน ก็จะได้รับการรักษาอย่างทั่วถึง ทั้งป่วยจริง ป่วยการเมือง ป่วยเศรษฐกิจ แต่ทั่วถึงแบบคอมมิวนิสต์กล่าวคือ “ทั่วถึงแบบด้อยมาตรฐานอย่างเท่าเทียม” (ยกเว้นคุณสามารถหักด่าน รปภ.ไปประกบบนเวทีกับนายกเพื่อขอรับประสาทหูเทียม ราคาหลักล้านได้ฟรีเป็นกรณีพิเศษ แถมยังมีเหล่าผู้บริหารรีบออกมารับลูกว่าจะให้ฟรี ทั้ง ๆ ที่กรณีแบบนี้มีทุกวันตามสถานพยาบาล แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ ทราบมาว่ามีผู้ป่วยมากมายรอจะฟ้องอยู่โทษฐาน สปสช. มีสองมาตรฐาน เพราะออกมาอนุมัติให้เป็นกรณีพิเศษทุกครั้งที่ใครสามารถทำตัวให้เป็นข่าวดังได้)

ประเด็นเรื่อง ประสิทธิภาพ หากมองในแง่ดีคือ ใครก็ตามที่ป่วยหรือไม่ป่วยจริง ก็จะได้รับยาอย่างรวดเร็ว แต่ยาหรือการรักษานั้นจะได้ประสิทธิภาพระดับ Blue efficiencyอย่างของรถยุโรปหรือไม่ แทบไม่ต้องบอกคำตอบก็รู้อยู่แล้วสำหรับทุกคนที่ต้องเหมารถไปรอรับบริการตั้งแต่เช้ามืด (จะมีประกาศตัวก็ คุณอัมมาร ซึ่งต้องชื่นชมในความกล้า ที่ประกาศต่อสาธารณชนว่าตนเองไม่กล้าไปรักษาสถานพยาบาลของรัฐเพราะกลัวตายแบบไม่สมควรตาย ซึ่งเท่ากับเป็นการตบหน้า สปสช. และ กระทรวงสาธารณสุขนั่นเอง แต่น่าแปลกใจตรงที่รัฐบาลก็ยังแต่งตั้งให้มาทำโน่นทำนี่กับระบบสาธารณสุขไทย)

คาดว่าผู้ผลักดันคงรู้ถึงกระแสต่อต้านนี้จากบุคลากรที่ปฏิบัติงานจริงและรู้ถึงปัญหาหมักหมมภายใน จึงพยายามกีดกันมิให้คนนอกสังกัดมาเป็นผู้บริหารระดับสูงของ สปสช. ระยะหลังยังออกแคมเปญลดแหลกแจกแถม เช่น ผ่าหัวใจฟรี ผ่าตาฟรี ทั้ง ๆ ทีประเด็นเรื่องการให้การรักษาต้องเป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้ให้การรักษาที่จะลงความเห็นตามมาตรฐานวิชาชีพว่าใครสมควรได้รับการ
รักษาอะไร เช่นไร อย่างไร และเมื่อเห็นควร สปสช. มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินเพื่อให้แพทย์และสถานพยาบาลบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว การออกแคมเปญเหล่านี้ในช่วงนี้คงเพราะได้รับสัญญาณบางอย่างจากเครือข่ายตนให้สร้างภาพความแตกต่างของระบบนี้กับระบบประกันสังคม เพื่อรองรับการเคลื่อนไหว แต่คงลืมไปว่า การทำเช่นนี้เท่ากับยอมรับกลาย ๆ ว่าที่ผ่านมามีคนไข้หลายคนต้องตายหรือพิการเพราะไม่ได้รับอนุมัติให้รักษา(ทางอ้อม)ด้วยวิธีการต่าง ๆ นานาซึ่งบรรดาผู้ปฏิบัติงานทราบดี

ระบบประกันสังคม

ระบบนี้เป็นระบบที่ใกล้เคียงกับโลกแห่งความเป็นจริงที่สุด เพราะใช้หลักการว่า ทุกคนต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อสุขภาพตนเอง โดยการร่วมจ่าย (Co-pay) แต่เพื่อแบ่งเบาภาระจึงกำหนดให้นายจ้างกับรัฐร่วมสมทบ(แต่ทุกวันนี้รัฐไม่สมทบ เพราะต้องเอาเงินไปถมทะเลที่ไม่มีวันเต็มให้กับ สปสช.) ข้อน่าสังเกตคือในรัฐธรรมนูญม. ๘๐(๒) ไม่มีระบุว่าการร่วมจ่ายเป็นความผิดอย่างที่กลุ่มผู้สร้างกระแสผลักดันกล่าวอ้าง หากมีจริงต้องไปแก้ในรัฐธรรมนูญ มากกว่าแก้กม.ประกันสังคม เพราะทุกประเทศในโลกล้วนใช้หลักการนี้ ระบบนี้บังคับให้ทุกคนที่มีกำลังต้องร่วมรับผิดชอบโดยกำหนด วงเงิน(ในลักษณะของประเภทการรักษา) กำหนดขอบเขตและจำนวนครั้งของการรักษาบางประเภท ทั้งนี้เพื่อให้สามารถควบคุมต้นทุน และบังคับทางอ้อมให้ดูแลสุขภาพตนเอง ไม่เว้นแม้แต่ประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่ถูกนำมาแอบอ้างเพื่อผลักดัน “พรบ.คุ้มครองผู้เสียหาย ฯ” ก็ยังใช้ระบบนี้โดยหักเอาจากภาษี ณ ที่จ่ายทันทีที่เงินเดือนออก กลุ่มผู้ผลักดันใช้หลักจิตวิทยาดังกล่าว มาเป็นเหตุให้ล้มล้างระบบประกันสังคม โดยการปล่อยข่าวในลักษณะสองมาตรฐานว่า “ทำไมต้องเสียเงิน ในเมื่อคนไทยอีกสองกลุ่ม ไม่ต้องเสียเงินแต่รักษาฟรี แถมยัง
ดีกว่า” ซึ่งเลยเถิดถึงขนาดยุให้หยุดส่งเงินสมทบอันอาจจะถูกสนง.ประกันสังคมฟ้องเอาผิดทางอาญาตาม ม. ๑๑๖ ได้ ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว คนอีกสองกลุ่มก็ต้องร่วมจ่ายแต่เป็นการจ่ายทางอ้อม โดยกลุ่มหลักประกันสุขภาพนั้น แลกกับระบบที่ต้องไปรพ.ตั้งแต่ตีสี่ตีห้า ต้องถูกส่งต่อไปมาหลายร้อยกิโลเมตรเพื่อเข้าสู่สถานพยาบาลที่มีขีดความสามารถที่ดีกว่าในการรักษา(ซึ่งเหลือน้อยเต็มที เพราะระบบมาตรฐานแบบคอมมิวนิสต์ ทำให้รพ.สังกัดกระทรวง สธ. ด้อยมาตรฐานแบบเท่าเทียมกันถ้วนหน้า) ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ต้องเสียค่ารถ เสียโอกาสในการทำงาน ต้องรอคิว รอเตียง เสียเวลาในการรอการรักษา นั่นหมายถึงค่าแรง เงินเดือนที่หายไปทางอ้อมนั่นเอง ส่วนกลุ่มข้าราชการนั้นร่วมจ่ายทางอ้อมโดยการเสียโอกาสในการรับเงินเดือนสูง ๆ แบบเอกชนมารับเงินเดือนน้อยนิดจากหลวงเพื่อหวังหลักประกันในอนาคตให้กับตนและครอบครัว ปัญหาของระบบประกันสังคมที่ต้องแก้ไขจริง ๆ มิใช่การยุบระบบนี้ทิ้งไป แต่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพและแก้ปัญหาในกรณีที่สถานพยาบาลคู่สัญญาบางแห่งมุ่งหวังกำไรจากเงินก้อนที่ได้มาล่วงหน้าจนละเลยมาตรฐานในการรักษา ซึ่งในอเมริกาได้มีการออกกฎหมายเพื่อแก้ปัญหานี้โดยบังคับให้
องค์กรที่บริหารเงินด้านสุขภาพแบบไม่เน้นกำไรหรือ non-profit blue cross (เทียบได้กับ สปสช. และ สนง.ประกันสังคมในบ้านเรา ซึ่งต่างจากประกันเอกชนที่ต้องหวังกำไร) ต้องตั้งเป้าหมายไปเลยว่าปีนี้จะกำหนดสัดส่วนการจ่ายเงินค่ารักษาต่อเงินคงเหลือไม่น้อยกว่าเท่าไร งบบริหารจัดการรวมทั้งเงินเดือนสารพัดของผู้บริหารต้องไม่เกินเท่าไร ทั้งนี้เพื่อมิให้ผู้บริหารเหล่านี้
ทำงานแบบหวังเห็นตัวเลขในบัญชีเป็นบวกมาก ๆ ดังนั้นหากงบดุลท้ายปีแม้จะออกมาดีแต่มีปัญหาร้องเรียนเรื่องการรักษามากแสดงว่าบริหารไม่ดี (ซึ่งตรงกันข้ามกับวิธีคิดในบ้านเรา ที่มีการมอบรางวัลบริหารดีเด่นให้แก่ สปสช.) ดังนั้นแทนที่ผู้บริหารประกันสังคมจะอ่อนโอนไปตามลมปาก กลับควรจะต้องยืนยันในหลักการร่วมรับผิดชอบ ร่วมดูแลตนเอง ซึ่งเป็นการบ่มเพาะนิสัยที่ดีให้ประชาชน

อีกประเด็นที่ต้องกล่าวถึง คือกรณีที่มีผู้ให้ความเห็นว่า การเก็บเงินผู้ประกันตนนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ ม. ๓๐ ซึ่งในวรรคสามระบุไว้ดังนี้ “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือ
ความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้” เห็นว่า การยกเอาม.๓๐ มาใช้เพื่อล้มกม.ประกันสังคมน่าจะเป็นการใช้กฎหมายที่ไม่ตรงกับบทบัญญัติ เพราะม. ๓๐นี้มีไว้เพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยมิให้อ้างเอาเหตุดังกล่าวในม. ๓๐มาใช้กีดกัน ซึ่งกม.ประกันสังคมนั้นมิได้มีบัญญัติไว้ในลักษณะดังกล่าวแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามการล้มกม.ประกันสังคม(ซึ่งเชื่อว่าเป้าหมายของกลุ่มผู้ผลักดันคงต้องการล้มสิทธิข้าราชการด้วย) และยุบรวมสิทธิเหล่านี้น่าจะกลับทำให้ระบบการรักษากลายเป็นแบบผูกขาด monopoly แทนที่จะให้ระบบแข่งขันกันเพื่อให้มีการพัฒนา และไม่แน่ว่าผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมจะอยากไปรอเข้าคิวรับการรักษาตั้งแต่ตีสามตีสามในมาตรฐานแบบคอมมิวนิสต์ ดังนั้นหากรัฐหลงเชื่อการโฆษณาชวนเชื่อเหล่านี้ให้ยุบรวมกองทุนไปให้ สปสช.และพวกพ้องทั้งหมดไปดูแล สิ่งที่ต้องทำต่อมาคือยุบกระทรวงสาธารณสุขและโอนข้าราชการทั้งหมดไปขึ้นกับ สปสช. อย่างเป็นทางการต่อไปเพราะไม่รู้จะมีกระทรวงที่ไม่มีงบบริหารจัดการภารกิจของตนเองไว้ทำไม

ระบบข้าราชการ

ระบบนี้ถูกกลุ่มผู้ผลักดันซึ่งส่วนใหญ่ชิงลาออกไปตั้งแต่ก่อตั้ง สปสช. (โดยได้รับประโยชน์เรื่องอายุราชการ บำเหน็จบำนาญ ตามบทเฉพาะกาลในม. ๗๐ เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับรับตำแหน่งใหญ่โตอีกทั้งผลประโยชน์ก้อนใหญ่จาก สปสช.และองค์กรลูกในเครือข่าย) ออกมาโจมตีว่าเป็น “ระบบที่สิ้นเปลือง เพราะดูแลคนน้อยกว่า สปสช. แต่ใช้จ่ายเงินเยอะกว่า” ซึ่งหากดูแลตัวเลข
ดิบ ๆ ก็คงไม่ผิดนัก แต่การกล่าวในลักษณะนี้เป็นการกล่าวความจริงเฉพาะส่วนที่เป็นประโยชน์จุดมุ่งหมายตน ตัวเลขจำนวนคนที่น้อยกว่านั้นความจริงแล้วยังต้องรวมไปถึงพ่อแม่ สามีภรรยาและลูกของบุคคลที่รับราชการที่ใช้สิทธินี้ร่วมด้วย และกลุ่มอายุที่ใช้บริการนี้มากที่สุดคือกลุ่มพ่อแม่ และข้าราชการเกษียณอายุที่ไม่มีโอกาสในการทำงานต่อในองค์กรที่มอบเงินเดือนให้สูง ๆเช่นที่ผู้ผลักดันได้รับ บุคคลเหล่านี้ล้วนแต่สูงอายุและหวังว่าบั้นปลายรัฐจะตอบแทนเขาเหล่านั้น (เช่น ครู ตำรวจ ทหารที่ต้องเสี่ยชีวิตเสี่ยงพิการ รวมทั้งอาชีพอื่นในระบบราชการ) เมื่อสูงอายุและเจ็บป่วย ด้วยการได้รับการรักษาพยาบาลอย่างดียามชราภาพ ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขแล้ว วัยชราคือวัยที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงที่สุดของชีวิต ต่างกับวัยเด็กและวัยหนุ่มสาว ที่มีต้นทุนในการรักษาพยาบาลต่ำที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นวัยเด็กจะเป็นวัยที่พ่อแม่ยินยอมเสียเงินไปสถานพยาบาลเอกชมากกว่าที่จะต้องมารับบริการฟรีแต่ต้องเสี่ยงกับมาตรฐานคอมมิวนิสต์ ทำให้กลุ่มนี้ซึ่ง สปสช. รับดูแลอยู่เป็นส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มที่เป็นภาระต่อ สปสช. น้อยที่สุด และตัวเลขจึงออกมาดูดีกว่านั่นเอง

มาถึงตรงนี้คงพอจะได้แนวทางแล้วว่า ระบบไหนกันแน่ที่ควรต้องถูกแก้ไข ระบบไหนกันแน่ที่ขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้ระบบสาธารณสุขของรัฐตกต่ำลงมาอย่างน่าใจหาย คนที่พอมีกำลังก็ไปซื้อประกันเอกชน เพื่อหนีตายจากระบบที่กำลังล้มเหลว ดังจะเห็นได้จากการขยายตัวของภาคเอกชน และจำนวนคนที่ไปใช้บริการ จนทำให้เกิดภาพในปัจจุบันว่า คนรวยไปเอกชน คนจนไปรัฐ ทั้ง
ๆ ที่ในอดีต สถานพยาบาลของรัฐโดยเฉพาะรพ.รัฐขนาดใหญ่จะได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจว่ามีศักยภาพในการรักษาสูงกว่าสถานพยาบาลเอกชน สังคมไทยเป็นสังคมที่เชื่อข่าวง่าย ใครพูดถูกใจ แม้ไม่จริงก็คล้อยตามโดยง่าย ถึงตรงนี้แล้วไม่แน่ว่าระบบที่น่าจะถูกผลักดันให้แก้ไขและปรับองคาพยพในองค์กรเป็นอันดับแรก หาใช่ระบบประกันสังคมหรือข้าราชการไม่ แต่น่าจะเป็นระบบหลักประกันสุขภาพที่ทั้ง “ด้อยมาตรฐาน ไม่ทั่วถึง ไร้ประสิทธิภาพ” อันเป็นการขัดรัฐธรรมนูญม. ๘๐ อย่างชัดแจ้ง หากผู้ผลักดันคิดจะยกระดับการรักษาพยาบาล ก็ต้องเคลื่อนไหวแก้ไขเนื้อหาของกฎหมายหลักประกันสุขภาพที่ขัดทั้งหลักการของความเป็นจริงและขัดรัฐธรรมนูญ อีกทั้งต้องเปิดบ้านให้ ปปช.เข้าตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของ สปสช. และองค์กรในเครือข่าย เพื่อให้สถานพยาบาลรัฐที่ถูกบังคับให้เป็นคู่สัญญากับ สปสช. ลืมตาอ้าปากได้อีกครั้งก่อนจะล้มละลายทั้งในด้านการเงินและความน่าเชื่อถือ สุดท้ายก็กลายภาพไปเป็น “โรงฆ่าสัตว์” เหมือนเมื่อครั้งหนึ่งในอดีตเคยถูกปรามาสไว้ เมื่อใดที่สถานพยาบาลรัฐสามารถปลดพันธนาการจาก สปสช.ได้ ก็จะสามารถกลับมาเป็นที่พึ่งที่ไว้ใจได้ของประชาชนชาวไทยทุกระดับชั้นไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร


โดย : นพ. เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ (ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา)
18/4/2554 ยุบรวมกองทุน? ...สาธารณสุขไทยกำลัง…
bangkokbiznews.com

5996
เป็นธรรมดาของหน้าข้าว หน้าเหล้า แห่งบรรยากาศการเลือกตั้ง ที่มักจะมีเสียงสะท้อนจากเกือบทุกภาคส่วน ผ่านไปยังนักการเมือง นั่นมันก็ไม่เว้นแม้กระทั่ง ข้อเรียกร้องของฝ่ายข้าราชการประจำ

ความเดิมในอดีต จำได้ว่าก่อนจะเข้าสู่สนามเลือกตั้ง รัฐบาล "นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" มีการปรับรื้อสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ด้วยเหตุผลเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายของประเทศ ในภาวะสุ่มเสี่ยงถังแตก เคาะเป็นตัวเลขกลมๆ จำนวนสวัสดิการดังกล่าว มีผู้ใช้สิทธิ์ประมาณ 5 ล้านคน

คำสั่งดังกล่าวระบุให้ระงับการจ่ายยา 9 ชนิด และไม่อนุญาตให้เบิกค่ายา ได้แก่ ยากลูโคซามีน ซึ่งใช้ในการรักษาโรคไขข้อเสื่อม และยาอื่นๆ อีก 8 ชนิดที่เกี่ยวกับการรักษาโรคมะเร็ง ความดันโลหิต และโรคหัวใจ

จากมาตรการที่เกิดขึ้น ส่งผลให้สมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย นำโดย "จาดุร อภิชาตบุตร" นายกสมาคมฯ และ "พล.ต.หญิง พูลศรี เปาวรัตน์" ตัวแทนสมาคมข้าราชการอาวุโสแห่งประเทศไทย มีการเปิดโต๊ะเจรจากับ "นายกฯ อภิสิทธิ์" และ "กรณ์ จาติกวณิช" รมว.คลัง และในที่สุดรัฐบาลก็รับปากจะนำเรื่องกลับไปพิจารณาใหม่

นับจากวันนั้น...จนถึงวันนี้ คำมั่นสัญญาของนักการเมือง ก็ปลิวหายไปประหนึ่งคลื่นกระทบฝั่ง!!!

จนเป็นเหตุให้สมาคมข้าราชการพลเรือน สมาคมข้าราชการอาวุโสแห่งประเทศไทย และสมาคมนายทหารนอกราชการ รวมตัวกันอีกครั้งเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม และเปิดเวทีเสวนา "ความคืบหน้าเกี่ยวกับสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ" เมื่อไม่นานมานี้

"เสียงสะท้อน" จากข้าราชการเกษียณอายุที่เข้าร่วมการเสวนา "พ.ต.อ.พินิจ ชัยเสนีย์" อายุ 62 ปี เกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาด้านการข่าว กองบัญชาการตำรวจสันติบาล ระบุว่า...

"การที่รัฐบาลกระทำเช่นนี้ ก็ควรจะประกาศออกไปเลยว่า ต่อไปนี้ถ้าใครจะเข้ามารับราชการ จะต้องออกค่ารักษาพยาบาลเองครึ่งหนึ่ง รัฐออกให้อีกครึ่งหนึ่ง คนที่จะเข้ารับราชการจะได้รู้ว่าเขาจะมาเป็นข้าราชการหรือไม่ หรือจะไปทำงานเอกชนมีเงินเดือนดีกว่า เพราะรัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้ยกเลิกพันธสัญญากับข้าราชการใหม่ๆ ที่ว่าจะมีสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ดีไปแล้ว"

"เมื่อรับราชการครั้งแรก ทุกคนต่างเข้าใจว่า ราชการเงินเดือนน้อยก็เพราะรัฐต้องเก็บเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นสวัสดิการให้กับข้าราชการ แต่ปัจจุบันความคิดเหล่านี้เปลี่ยนไปแล้ว การตัดสวัสดิการการรักษาพยาบาล กระทบกระเทือนต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของข้าราชการระดับกลางลงไปจนถึงระดับล่างอย่างมากจริงๆ"

ขณะเดียวกัน วงเสวนามีการนำเสนอรายงานเกี่ยวกับ "ผลกระทบที่ข้าราชการได้รับจากการเปลี่ยนแปลงของระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ" ซึ่งจากผลสำรวจพบว่า มีข้าราชการมากถึง 95% ที่ใช้สิทธิ์ในการรักษาพยาบาลของข้าราชการ และ 87% ใช้บริการในโรงพยาบาลของรัฐ

ผลกระทบของการตัดสิทธิ์รักษาพยาบาล ทำให้ข้าราชการส่วนใหญ่ได้สะท้อนความรู้สึกแบบกลืนเลือดว่า ... "รัฐบาลเห็นเม็ดเงินสำคัญกว่าชีวิตคน...." ใช่หรือไม่???

เมื่อสัญญาของรัฐเป็นแค่ลมปาก ทุกข์ของข้าราชการที่รับใช้บ้านเมืองมาตลอดชีวิต รัฐกลับไม่เหลียวแล ขณะที่ "ข้าราชการการเมือง" ที่แม้จะพ้นจากการเมืองไปแล้ว รัฐกลับให้ "อภิสิทธิ์" ทั้งสวัสดิการรักษาพยาบาลยิ่งเสียกว่า "วีไอพี"

ด้วยน้ำเสียงวิงวอนจากข้าราชการที่ดังเซ็งแซ่ขึ้น วันนี้ไม่ว่าจะพรรคไหน หากได้เข้ามาทำหน้าที่ "บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชน" จงพึงสังวรในเสียงสะท้อนข้าราชการที่สูญเสียโอกาสในการรักษาพยาบาล ยามบั้นปลายของชีวิตไว้บ้าง

และจงอย่าปล่อยเลยไปจนบังเกิดภาพสองมาตรฐาน อย่าผลักเขาเหล่านั้นให้ต้องกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง..ขอรับ!

บ้านเมือง -- พฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน 2554

5997
วิทยา" ชูนโยบายให้โรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนมุสลิม เปิดครัวฮาลาล ทำเมนูสุขภาพ ปลอดภัย มั่นใจ เผยโรงครัวของ รพ.ยะลา และ รพ.สตูล เป็นต้นแบบที่ผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานสูงสุด...

เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 55 ที่จังหวัดยะลา นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลยะลา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขขนาดใหญ่ที่สุดที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเปิดครัวฮาลาลต้นแบบ ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลระดับสูงสุด (HAL-Q) จากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อปรุงอาหารให้ผู้ป่วยที่เป็นไทยมุสลิม ระหว่างพักรักษาตัวในโรงพยาบาล

โดยนายวิทยากล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้โรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัด และอยู่ในพื้นที่ที่มีประชาชนชาวไทยมุสลิมจำนวนมาก เช่น พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี เพชรบุรี ภูเก็ต กระบี่ สตูล ตรัง พังงา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา เชียงใหม่ และ กทม. มีครัวฮาลาลให้บริการเมนูอาหารฮาลาลสุขภาพ มีคุณภาพ ปลอดภัย แก่พี่น้องชาวไทยมุสลิมที่นอนพักรักษาในโรงพยาบาล สอดคล้องกับหลักศาสนา โดยครัวฮาลาลประจำโรงพยาบาลต้องผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัด

ทั้งนี้ ครัวฮาลาลของโรงพยาบาลยะลา เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 โดยเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดยะลา ได้นำระบบการผลิตอาหารฮาล-คิว (HAL-Q) ซึ่งใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาตรวจสอบ ทั้งแหล่งวัตถุดิบ การซื้อเครื่องปรุงที่เป็นฮาลาล ขั้นตอนในการปรุง เพื่อให้มั่นใจว่าวัสดุที่นำมาปรุง นอกจากต้องสะอาดถูกสุขลักษณะแล้ว จะต้องฮาลาลด้วย โดยผ่านการรับรองจากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2555 นับเป็นโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขแห่งที่ 2 ใน 5 จังหวัดภาคใต้ ต่อจากโรงพยาบาลสตูล ถือว่าเป็นความก้าวหน้าของกระทรวงสาธารณสุขที่นำมาตรฐานดังกล่าวมาทำระบบอาหารฮาลาลเพื่อบริการผู้เจ็บป่วย และกระทรวงสาธารณสุขจะให้เป็นโรงพยาบาลต้นแบบอาหารฮาลาล อาหารที่มีคุณภาพดีและปลอดภัย จะเอื้อต่อการหายป่วย เสริมประสิทธิภาพการรักษาของแพทย์ดียิ่งขึ้น โดยโรงพยาบาลยะลามีผู้ป่วยชาวไทยมุสลิมเข้ามารับบริการประเภทผู้ป่วยนอก ประมาณร้อยละ 70-80 ส่วนผู้ป่วยใน ประมาณร้อยละ 85 ต่อวัน จะมีผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลประมาณ 500 คน

สำหรับมาตรฐานอาหารฮาลาลระดับสูงสุด ประกอบด้วย ความสะอาดปลอดภัย (Hygiene) การรับประกันความมั่นใจในอาหารฮาลาลที่ผลิต (Assurance) การรับผิดชอบในอาหารฮาลาลที่ผลิต (Liability) และคุณภาพของอาหารฮาลาล (Quality) มีความถูกต้องเป็นไปตามบทบัญญัติศาสนาอิสลาม สะอาดและปลอดภัยตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ผู้บริโภคมุสลิมมั่นใจว่าอาหารไม่มีการปนเปื้อนสิ่งต้องห้ามทางศาสนา และวิธีการผลิตเป็นไปตามบทบัญญัติศาสนาอิสลาม ก่อให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพในมิติต่างๆ รวมทั้งความปลอดภัยทางจิตวิญญาณด้วย.

ไทยรัฐออนไลน์  5 เมย 2555

5998
"วิทยา" ​แจง 200 ตัว​แทน​โรงพยาบาล คลินิก ร้านขายยา ​ผู้ผลิตนำ​เข้า ทราบมาตร​การควบคุม "ซู​โดอี​เฟดรีน" ขีด​เส้นตาย​ให้คืนภาย​ในวันที่ 3 พ.ค.นี้
ย้ำห้ามมี​ไว้​ในครอบครองหาก​ไม่มี​ใบอนุญาต ตรวจพบ ลงดาบ​โทษสถานหนักทันที

​เมื่อวันที่4 ​เม.ย.55 ที่​โรง​แรมรามา​การ์​เด้นท์ กทม. นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่า​การกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ​และ น.พ.พิพัฒน์ ยิ่ง​เสรี ​เลขาธิ​การคณะกรรม​การอาหาร​และยา ​หรือ อย. ประชุมชี้​แจงมาตร​การควบคุมซู​โดอี​เฟดรีน​ให้​แก่​ผู้ผลิต ​ผู้นำ​เข้า ตัว​แทนจาก​โรงพยาบาลรัฐ ​โรงพยาบาล​เอกชน คลินิก ​และตัว​แทนร้านขายยา ประมาณ 200 คน ภายหลังออกประกาศกระทรวง​ให้ยาสูตรผสมซู​โดอี​เฟดรีน ​เป็นวัตถุออกฤทธิ์​ในประ​เภท 2 ​และจะมีผล​ใช้บังคับตั้ง​แต่วันถัดจากวันประกาศ​ในราชกิจจานุ​เบกษา คือวันที่ 4 ​เม.ย.55

นายวิทยา กล่าวว่า ภาย​ใน 30 วัน คือภาย​ในวันที่ 3 พ.ค.55 ​ให้สถานพยาบาลที่​ไม่มี​ใบอนุญาต​ให้มี​ไว้​ในครอบครอง​หรือ​ใช้ประ​โยชน์ ​ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์​ในประ​เภท 2 ​และ​ไม่ประสงค์จะมี​ไว้​ในครอบครองยาตำรับที่มีซู​โดอี​เฟดรีน​เป็นส่วนผสม ​เพื่อ​การบำบัดรักษา ​และร้านขายยาทุก​แห่ง ดำ​เนิน​การจัดส่งยาตำรับที่มีซู​โดอี​เฟดรีน​เป็นส่วนผสมคืน​ให้กับ​ผู้ผลิต​หรือ​ผู้นำ​เข้า ​โดยกระทรวงสาธารณสุขยัง​ได้ออกประกาศฯ ​เรื่องกำหนดปริมาณ​การมี​ไว้​ในครอบครอง​หรือ​ใช้ประ​โยชน์​ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์​ในประ​เภท 1 ​หรือประ​เภท 2 พ.ศ.2555 ​โดยสาระสำคัญ คือ กรณี​การครอบครองซู​โดอี​เฟดรีน คำนวณปริมาณ​เป็นสารบริสุทธิ์​แล้ว​ไม่​เกิน 5 กรัม มี​โทษตามมาตรา 106 ต้องระวาง​โทษจำคุกตั้ง​แต่ 1-5 ปี ​และปรับตั้ง​แต่ 20,000-100,000 บาท ส่วนกรณี​การครอบครองซู​โดอี​เฟดรีน คำนวณปริมาณ​เป็นสารบริสุทธิ์​แล้ว​เกิน 5 กรัม มี​โทษตามมาตรา 106 ทวิ ต้องระวาง​โทษจำคุกตั้ง​แต่ 5-20 ปี ​และปรับตั้ง​แต่ 100,000-400,000 บาท ​ซึ่ง​การออกประกาศ​ทั้ง 2 ฉบับนี้ ​ได้ผ่าน​ความ​เห็นชอบจากคณะกรรม​การวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิต​และประสาท​เรียบร้อย​แล้ว

ด้าน น.พ.พิพัฒน์ กล่าว​เพิ่ม​เติมว่า ​เพื่อ​ให้​เกิด​การปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมาย อย.​ได้จัด​ทำ​แนวทาง​การปฏิบัติ​เกี่ยวกับ​การมี​ไว้​ในครอบครอง​หรือ​ใช้ประ​โยชน์จากซู​โดอี​เฟดรีนสำหรับ ​ผู้ผลิต ​ผู้นำ​เข้า ​โรงพยาบาลรัฐ ​โรงพยาบาล​เอกชน คลินิก ​และร้านขายยา สรุป​โดยย่อดังนี้ กรณีร้านขายยา ​ให้ส่งคืนยาสูตรผสมซู​โดอี​เฟดรีน ​เฉพาะสูตรผสมพารา​เซตามอล ​ให้กับ​ผู้ผลิต/​ผู้นำ​เข้า ภาย​ใน 30 วัน นับจากวันประกาศ​ในราชกิจจานุ​เบกษา หากพ้นกำหนด ตรวจพบว่ามี​การครอบครองยาสูตรผสมซู​โดอี​เฟดรีนทุกสูตร จะมี​โทษ​ทั้งจำ​และปรับดังกล่าวข้างต้น, กรณีบริษัท​ผู้ผลิต​เพื่อจำหน่าย​ผู้ผลิตที่​เป็น​ผู้ที่มี​ใบอนุญาต​ให้มี​ไว้​ในครอบครอง​ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์​ในประ​เภท 2 (ซู​โดอี​เฟดรีน) ​เพื่อผลิตอยู่​แล้วอย. ​ให้​ใช้​ได้สำหรับ​การครอบครองยาสูตรผสมซู​โดอี​เฟดรีนที่​เป็นยาสำ​เร็จรูปด้วย ​และจะมี​การรับคืนยาสูตรผสม​เฉพาะสูตรผสมพารา​เซตามอล จากร้านขายยา​และสถานพยาบาลที่​ไม่ประสงค์จะขอรับอนุญาตครอบครองวัตถุออกฤทธิ์​ในประ​เภท 2 พร้อม​ทั้งต้องรวบรวมปริมาณคงคลังที่​ได้รับคืนจากร้านขายยา​และสถานพยาบาล​ทั้งหมด ​แจ้งกลับมายัง อย. ภาย​ในวันที่ 3 พ.ค.55 ​ผู้ผลิตที่​ได้รับมอบหมาย​ให้จำหน่ายต้อง​แก้​ไขฉลาก​ให้ถูกต้องตามที่ อย. กำหนด ​เช่น ​เพิ่มข้อ​ความ "วัตถุออกฤทธิ์​ในประ​เภท 2" ปิดทับ​เลขทะ​เบียนตำรับยา​เดิม, ​โรงพยาบาลรัฐ​ในสังกัดกระทรวง ทบวง กรม จะ​ได้รับ​การยก​เว้น​ไม่ต้องขอ​ใบอนุญาตครอบครอง ส่วน​โรงพยาบาล​เอกชน ​และคลินิก ต้องขอ​ใบอนุญาตครอบครองฯ ​โดย​ในส่วนภูมิภาคยื่นขออนุญาต​ได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ส่วนกรุง​เทพฯ ยื่นขออนุญาต​ได้ที่อย. ​และ​ให้ทุก​โรงพยาบาล​ทั้งรัฐ ​เอกชน คลินิก ต้องจัด​ทำบัญชีรับ-จ่าย ยาซู​โดอี​เฟดรีน ตามกฎหมายอย่าง​เคร่งครัด อย่าง​ไร​ก็ตาม หากมีข้อกฎหมายอย่าง​เคร่งครัด อย่าง​ไร​ก็ตาม หากมีข้อสงสัย​เกี่ยวกับ​การ​ใช้​หรือ​การ​เ​ก็บรักษาซู​โดอี​เฟดรีน สามารถสอบถามมา​ได้ที่กองควบคุมวัตถุ​เสพติด อย. หมาย​เลข​โทร.0-2590-7337, 0-2590-7339 ​และ 0-2590-7351 ​หรืออี​เมลกองควบคุมวัตถุ​เสพติด narcotic@fda.moph.go.th

บ้าน​เมือง -- พฤหัสบดีที่ 5 ​เมษายน 2555

5999
กทม.สั่งตรวจยอด"ซูโด"ในโรงพยาบาลกทม. เผยยังค้างอีกกว่าแสนเม็ด กำชับคุมการเบิกจ่ายเข้มงวด

พญ.มาลินี สุขเวชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยเกี่ยวกับปริมาณยาที่มีส่วนผสมของสารซูโดอีเฟดรีน และยาที่มีซูโดอีเฟดรีนสูตรเดี่ยวในโรงพยาบาลสังกัดกทม. ว่า ตนได้สั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งตรวจสอบปริมาณยาคงเหลือ และการสั่งซื้อรวมถึงการจ่ายให้ประชาชน นอกจากนี้ให้รวบรวมผลการตรวจสอบส่งไปยังสำนักการแพทย์แล้วจึงรายงานให้ตนทราบ ซึ่งพบว่าปกติ ไม่มีปัญหาอะไร

ทั้งนี้ทุกโรงพยาบาลได้มีการจัดทำบัญชียา ตรวจสอบคลังยาด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และรายงานผลแบบเรียลทาม มีระบบควบคุมการจัดซื้อ การเบิกจ่ายบัญชียาเป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดแล้ว โดยแต่ละโรงพยาบาลจะมีการสั่งจ่ายยาไม่เกิน 20 - 60 เม็ดต่อครั้ง หรือบางโรงพยาบาลจะจ่ายยาไม่เกิน 20 เม็ดต่อครั้ง และติดต่อกันไม่เกิน 3 ครั้ง

พญ.มาลินี กล่าวด้วยว่า จากข้อมูลที่ได้รับรายงาน มียาซูโดสูตรเดี่ยวคงเหลือดังนี้ โรงพยาบาลกลางมียาเหลือ 44,155 เม็ด โรงพยาบาลตากสิน เหลือ 16,000 เม็ด โรงพยาบาลกหลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ เหลือ 1,000 เม็ด โรงพยาบาลกเวชการุณย์รัศมิ์ เหลือ 18,000 เม็ด โรงพยาบาลกราชพิพัฒน์ เหลือ 13,262 เม็ด โรงพยาบาลกลาดกระบังกทม.เหลือ 2,953 เม็ด และโรงพยาบาลกสิรินธร เหลือ 25,607 เม็ด ทั้งนี้ มีบางโรงพยาบาลกที่ยังมีการจ่ายยา แต่ตนได้กำชับให้มีการควบคุมและจ่ายยาตามความจำเป็น

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์  5 เมษายน 2555

6000
ดีเอสไอ-คณะทำงาน อย. เข้าตรวจสอบ รพ.สยามราษฎร์ จ.เชียงใหม่ พบมี จนท.อ้างชื่อโรงพยาบาลแห่งนี้สั่งซื้อยาซูโดอีเฟดรีนจำนวนมาก เตรียมรวมหลักฐานดำเนินการ พร้อมเข้าตรวจคลินิิกอีก 2 แห่งที่ อ.จอมทอง...

เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2555 ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยเลขานุการและโฆษกคณะทำงานป้องกันและฟื้นฟูการเยียวยา ปราบปรามสารตั้งต้นยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข นายทวีวัฒน์ สุรสิทธิ์ รักษาการพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ชำนาญการพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมทั้งคณะ ได้เดินทางมาประชุมที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เชียงใหม่ โดยมี นายอิศรา นานาวิชิต หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สสจ.เชียงใหม่ เพื่อร่วมกันดำเนินการกรณีมีโรงพยาบาลเอกชนใน จ.เชียงใหม่ มีการสั่งซื้อยาสูตรเดี่ยว "ซูโดอีเฟดรีน" มากผิดปกติ และเห็นว่าทาง ผอ.โรงพยาบาล ได้ไปแจ้งความไว้ไม่เกี่ยวข้องกับการซื้อยาในครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ ยังพบว่ามีคลินิกใน อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ อีก 2 แห่ง สั่งซื้อยาที่มีส่วนผสมของซูโดอีเฟดรีนมากผิดปกติด้วย จึงจะเข้าทำการตรวจสอบทั้ง 3 จุด เพื่อดำเนินการในการสอบสวนข้อเท็จจริง

จากนั้นเมื่อเวลา 11.00 น.วันเดียวกัน ทาง ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต พร้อมคณะ ได้แบ่งขบวนออกเป็น 2 ขบวน โดยทาง ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต ได้นำขบวนใหญ่เดินทางไปยัง รพ.สยามราษฎร์ ถ.ซุปเปอร์ไฮเวย์ (เชียงใหม่-ลำปาง) ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และอีกคณะเดินทางไป อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เพื่อเข้าตรวจค้นคลินิิกโอภาส และคลินิกสัมพันธ์ โดยที่ รพ.สยามราษฎร์ มีสื่อมวลชนทุกแขนงติดตามไปทำข่าวด้วย จนสร้างความงุงงงให้กับบรรดาผู้ที่มารับการรักษาและติดต่อกับทางโรงพยาบาล เมื่อคณะเข้าไปถึง นพ.สินธิป พัฒนคูหา ผอ.โรงพยาบาล ได้มารอคณะอยู่ก่อนแล้ว พร้อมเชิญขึ้นไปร่วมปรึกษาหารือกันที่ห้องประชุม ชั้น 4 โดยเบื้องต้นทาง นพ.สินธิป ได้ออกตัวว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งซื้อยา แต่เป็นพนักงานที่เกี่ยวข้องมีการอ้างชื่อและปลอมลายเซ็นในการสั่งซื้อยาจำนวนมาก โดยยาเหล่านี้ไม่ได้เข้ามาสู่ระบบของโรงพยาบาลแห่งนี้เลย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนที่มีการประชุมสอบสวนข้อเท็จจริงกันนั้น ทางเจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้เข้าตรวจสอบตามคลังยาและห้องจ่ายยาเพื่อหาหลักฐาน โดยมีการนำหญิงสาวที่มีส่วนในการสั่งซื้อยามาดำเนินการสอบปากคำไว้เบื้องต้นก่อน


นพ.สินธิป กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลไม่ได้มีการสั่งซื้อ หรือใช้ยาที่มี ซูโดอีเฟดรีน สูตรเดี่ยวมาก่อน และไม่มีการจัดทำใบสั่งซื้อที่ออกจากโรงพยาบาล ทั้งหมดที่ตนได้สอบสวนบุคลากรของโรงพยาบาลที่แอบอ้างชื่อ ผอ. ก็คือตน เพื่อสั่งซื้อ ทั้งๆ ที่ไม่เคยทราบมาก่อน จึงได้ปรับโยกย้ายบุคลากรคนนั้นไม่ให้เกี่ยวข้อง และทางโรงพยาบาลก็ได้แจ้งความในเรื่องการปลอมแปลงเอกสารไว้แล้ว ซึ่งขอยืนยันเลยว่า ทางโรงพยาบาลไม่เคยสั่งซื้อยาประเภทนี้เข้ามาเลย ซึ่งจากการตรวจสอบพนักงานคนนี้ ทราบว่ามีการสั่งซื้อเมื่อปี 2554 ส่วนจำนวนเท่าใดต้องถามทาง อย. เพราะทางเราไม่ได้สั่งซื้อ จึงไม่อยู่ในระบบการสั่งซื้อ แต่เป็นการปลอมแปลงคำสั่งซื้อและจ่ายเงิน ซึ่งได้แจ้งความในเรื่องนี้ไว้แล้ว และจะมีการรอผลการสอบสวนของเจ้าพนักงานเพื่อดำเนินการกับพนักงานคนนี้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทั้งหมดได้ให้ทางดีเอสไอแล้ว และคงจะเป็นผู้ให้ข้อมูลเอง

ด้านนายธนกฤต กล่าวว่า ในการมาตรวจสอบโรงพยาบาลแห่งนี้ เพราะได้รับทราบข้อมูลมาว่า ทางโรงพยาบาลได้มีการสั่งซื้อยาสูตรเดี่ยว ซูโดอีเฟดรีน จำนวน 2.1 แสนเม็ด แต่ปรากฏว่ามีการสอบพบว่า ทางโรงพยาบาลไม่เคยสั่งซื้อยาประเภทนี้เข้ามาใน ระบบเลย ซึ่งก็หมายความว่ามีคนสั่งซื้อยาเข้ามาในระบบของ รพ.สยามราษฎร์ กรณีนี้ทางดีเอสไอ ได้ทำการตรวจสอบว่าใครเป็นคนสั่งซื้อ ก็ปรากฏว่ามีตัวตนแล้วในการสั่งซื้อ จำนวน 226,250 เม็ด โดยในปี 2554 มีการสั่งซื้อ 28,584 เม็ดเท่านั้น จะเป็นว่ามีความแตกต่างกันร่วม 2 แสนเม็ด จึงได้มาพบ ผอ.โรงพยาบาล เพื่อสอบข้อเท็จจริงว่าทางโรงพยาบาลรู้เห็นเป็นใจในการสั่งซื้อยาครั้งนี้หรือไม่

โฆษกคณะทำงานป้องกันและฟื้นฟูการเยียวยา ปราบปรามสารตั้งต้นยาเสพติดฯ กล่าวอีกว่า แต่ได้ตรวจสอบเอกสารทั้งหมด พบว่าทางโรงพยาบาลไม่เกี่ยวข้องกับการสั่งซื้อยาชุดนี้ แต่ก็ยังมีรายงานเข้าไปที่สำนักงานสาธารณสุขว่ามีจำนวนยาชนิดนี้ที่โรงพยาบาลจำนวน 60,000 เม็ด เป็นการแอบอ้างชื่ออีก โดยมีแบบฟอร์มในการสั่งซื้อ ซึ่งถือเป็นเอกสารปลอมขึ้นมา โดยทางโรงพยาบาลไม่รู้เช่นกัน เชื่อว่าคนที่สั่งซื้ออาจจะมีการนัดรับยา จ่ายเงินและนำออกไปทันทีเลยเช่นกัน ทางโรงพยาบาลจึงไม่ทราบ ในเรื่องนี้ทางสาธารณสุขก็ได้แจ้งความดำเนินการกับคนคนนี้อีก แต่ในตอนนี้ยังไม่ขอเปิดเผยชื่อ เพราะจะเป็นผลเสียต่อรูปคดี จึงขอให้ทางคณะได้ทำงานก่อน

นายธนกฤต กล่าวด้วยว่า สำหรับคลินิิกอีก 2 แห่ง คือ คลินิกโอภาส กับคลินิกสัมพันธ์ ใน อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ที่ดำเนินการตรวจสอบนั้น ก็มีการแจ้งตัวเลขในการซื้อยาที่มีส่วนผสมซูโดอีเฟดรีนผิดปกติ ซึ่งยาชนิดนี้คนทั่วไปสั่งซื้อไม่ได้อยู่แล้ว แต่คลินิกทั้งสองมีการสั่งซื้อคลินิกละ 300,000 เม็ด มากผิดปกติ ซึ่งกำลังสอบข้อเท็จจริงอยู่.

ไทยรัฐออนไลน์  5 เมย 2555

หน้า: 1 ... 398 399 [400] 401 402 ... 535