ผู้เขียน หัวข้อ: มหันตภัย 30 บาทรักษาทุกโรค ตอนภัยต่อความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและบุคลากร  (อ่าน 2844 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
 ผู้เขียนได้เขียนเรื่อง มหันตภัย 30 บาทรักษาทุกโรคมา หลายตอนแล้ว กำลังคิดว่าน่าจะจบได้แล้วเพื่อจะได้สรุปว่าแล้วจะแก้ไข หยุดยั้งมหันตภัย หรือป้องกันไม่ให้มหันตภัยเหล่านั้นเกิดอีกได้อย่างไร
ตามที่มีผู้ติดตามอ่านอาจจะรออ่านต่ออยู่ก็ยังไม่ได้เขียน เนื่องจากผู้เขียนมีภารกิจที่จะเดินทางไปในฐานะกรรมการแพทยสภา ร่วมกับคณะกรรมการแพทยสภาคนอื่นๆ ไปเยี่ยมเยียนสมาชิกแพทยสภาที่ปฏิบัติงานให้บริการดูแลรักษาประชาชนในจังหวัดหนองคายและจังหวัดบึงกาฬ

 ผู้เขียนก็ได้ข่าวว่าทางกระทรวงสาธารณสุข ออกมาแถลงเรื่อง "น้ำคร่ำอุดตันในกระแสเลือดหรือ amniotic fluid embolism" ที่ทำให้หญิงที่เจ็บท้องคลอดเสียชีวิตในระหว่างมาคลอดที่โรงพยาบาลชุมชนแล้วต้องส่งต่อไปยังโรงพยาลระดับสูงเพื่อช่วยชีวิต แต่ไม่สามารถช่วยได้ เนื่องจากมีภาวะของ “น้ำคร่ำอุดตันในกระแสเลือด” ทำให้ทั้งแม่และลูกเสียชีวิต ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2555 แต่กระทรวงสาธารณสุขออกมาแถลงเรื่อนี้ให้ประชาชนทราบในวันที่ 18 กันยายน  หลังจากที่แม่ลูกเสียชีวิตไปแล้ว 10 วันพอดี

   แต่ก่อนที่กระทรวงสาธารณสุขจะออกมาชี้แจงได้ว่า กรณีการเสียชีวิตของแม่ลูกคู่นี้ เกิดจาก “เหตุสุดวิสัยทางการแพทย์” ซึ่งทำให้แพทย์ไม่สามารถช่วยชีวิตแม่ลูกคู่นี้ได้ ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายในสังคมออนไลน์ว่า “สงสารแม่ลูกคู่นี้มาก” ไม่สมควรที่จะเกิดขึ้นกับผู้มาคลอดเช่นนี้ และไม่ควรจะมีแพทย์หรือโรงพยาบาลใดทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้เลย

  เมื่อกระทรวงสาธารณสุขออกมาแถลงถึงสาเหตุการตายของแม่ลูกคู่นี้แล้ว ประชาชนก็อาจจะยังมีความสงสัยค้างคาใจอยู่ว่า “เหตุสุดวิสัยทางการแพทย์”คืออะไร และทำไมจึงมีผู้ป่วยต้องตายจาก”เหตุสุดวิสัยแบบนี้อีก? “
และถ้าเป็นกรณีที่ประชาชนไปฟ้องร้องแพทยสภา เมื่อแพทยสภาออกมาอธิบายว่า การตายหรือความพิการหรือความเสียหายของผู้ป่วยที่เกิดขึ้นภายหลังการรักษานั้นเป็น “เหตุสุดวิสัย” แล้ว ประชาชนส่วนหนึ่งก็จะออกมาตอกย้ำว่า  เป็นการอธิบายเนื่องจากแพทยสภาออกมา “ปกป้องแพทย์” 

เหตุสุดวิสัยทางการแพทย์หมายความว่าอย่างไร?

 เหตุสุดวิสัยทางการแพทย์ มีความหมายว่า “เป็นอาการเจ็บป่วยด้วยโรครุนแรง หรือเป็นอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง ทำให้เกิดเป็นอันตรายสาหัสที่ทำให้แพทย์ไม่สามารถรักษาหรือป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ แม้จะใช้ความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญตามประสบการณ์ที่จะให้การรักษาจนสุดความสามารถแล้วก็ตาม”

  ถ้าผู้เขียนจะเปรียบเทียบเรื่องการรักษาโรคกับการจับผู้ร้ายฆ่าคนตาย เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าใจในกรณีที่หมอรักษาผู้ป่วยโดยหมอตั้งใจจะ “ฆ่าเชื้อโรคหรือฆ่าโรค” แต่ปรากฏว่าเชื้อโรคหรืออาการของโรคไม่ถูก “ฆ่า” กลับกลายเป็นเสมือนว่า”ผู้ป่วยเป็นผู้ถูกฆ่าเสียเอง”

 เหมือนกับตำรวจจะไปจับผู้ร้าย ใช้ปืนยิงต่อสู้กัน แต่ลูกปืนไปถูก “เจ้าทรัพย์” หรือประชาชนพลเมืองดีตายไปแทน  ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ตำรวจก็จะออกมาแถลงข่าวได้ทันทีว่า “มันเป็นเหตุสุดวิสัย” คือเป็นเหตุที่เกิดขึ้นโดยปราศจากเจตนา และใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่ถึงที่สุดแล้วก็ตาม ประชาชนก็อาจจะสงสารคนดีที่ถูกยิงตายแทนผู้ร้าย แต่คงไม่มีใครมา “ประณามหรือด่าตำรวจมากนัก” เพราะมันเป็นเรื่องที่เห็นได้อย่างชัดเจน หรือเข้าใจได้ง่าย ถึงแม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์หรือไม่เชื่อถือตมที่ทางการตำรวจแถลงบ้างก็ตาม

สาเหตุการตายของผู้ป่วยเกิดจากอะไรได้บ้าง?

ในกรณีของแพทย์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยนั้น ผลการรักษาอาจแบ่งได้เป็นหลายแบบคือ รักษาแล้วหาย ผู้ป่วยมีสุขภาพดีดังเดิม หรือรักษาแล้วอาการดีขึ้น แต่ไม่สามารถรักษาให้หายจากโรคได้ ต้องติดตามดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด/ต่อเนื่อง  หรือรักษาแล้วเกิดโรคแทรกซ้อน หรืออาการเลวลงเนื่องจากมีโรคอีกหลายๆระบบของร่างกายที่เป็นมาก่อนนี้และมามีอาการซ้ำเติมอีกในภายหลัง

ส่วนสาเหตุการตายที่เกิดขึ้นในการรักษาผู้ป่วยนั้น ก็มีหลายสาเหตุ โดยที่สาเหตุบางอย่างประชาชนก็อาจไม่เข้าใจประชาชนไม่ยอมรับการอธิบายนั้นๆ เนื่องจากความ”เศร้าเสียใจต่อการสูญเสียญาติมิตรของตน” หรือแพทย์ได้อธิบายถึงสาเหตุการตายแล้ว แต่ประชาชนไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ง่ายๆ ว่าผู้ป่วยถึงแก่ความตายหลังจากมารับการรักษาเนื่องจากสาเหตุอะไร

ทั้งนี้ความตายในโรงพยาบาลนั้น อาจจะเกิดจากหลายสาเหตุได้แก่
1.   อาการป่วยหนักเกินเยียวยา
2.   อาการของโรคแทรกซ้อนที่ไม่พึงปรารถนา หรืออาการของโรคที่ยังซ่อนเร้นอยู่ แต่มาแสดงอาการเมื่อมีการเจ็บป่วยด้วยโรคอื่น เช่น มีโรคหัวใจแอบแฝง(ยังไม่แสดง) แต่พอป่วยเป็นปอดบวม อาการโรคหัวใจก็กำเริบ เป็นต้น
3.   ไม่มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์การแพทย์หรือยาและเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อการรักษา
4.   แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ให้การรักษาที่ผิดพลาด
5.   แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ให้การรักษาด้วยความประมาทเลินเล่อ
6.   ผู้ป่วยแพ้ยา และอื่นๆ

 ซึ่งในการรักษาผู้ป่วยแล้วไม่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยไว้ได้ ดังที่เกิดขึ้นในกรณีผู้ป่วยโดยทั่วไปญาติก็อาจจะผิดหวังบ้าง เนื่องจากญาติก็มักจะตั้งความหวังไว้ว่าแพทย์คงสามารถที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยไว้ได้ แต่เมื่อผู้ป่วยตาย ญาติก็คงจะต้องคิดว่า ผู้ ป่วยอาการหนักเกินที่จะรักษาได้ หรือคิดว่า แพทย์ไม่เก่งพอ รักษาไม่ดีพอ หรือแพทย์ชุ่ย

การคลอดบุตรในโรงพยาบาลมีความปลอดภัย 100% หรือไม่?

 ในกรณีการคลอดบุตรนี้ เป็นกรณีที่ญาติและประชาชนทั่วไป คิดว่าเป็นการรักษาหรือช่วยเหลือการคลอดธรรมดาๆที่แม้แต่หมอตำแยพื้นบ้านก็สามารถทำคลอดให้ปลอดภัยทั้งแม่และลูกได้เหมือนการคลอดอื่นๆ ในเมื่อไปถึงมือหมอและโรงพยาบาลแล้ว ทำไมจึงทำให้ตายทั้งแม่ทั้งลูก ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดความคาดหมายของประชาชนทั่วไป

   ประชาชนจึงเกิดความแน่ใจว่า “หมอต้องให้การรักษาผิดพลาดหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอย่างแน่นอน” และต้องการคำอธิบายจากทางโรงพยาบาล หรือ “ผู้บังคับบัญชาของแพทย์” ซึ่งในที่นี้ก็คือกระทรวงสาธารณสุขนั่นเอง แต่ประชาชนก็อาจจะต้องรอคอยอีกหลายวัน กว่าที่จะมีคำอธิบายที่สามารถจะยอมรับได้ว่า อะไรคือสาเหตุการตายของผู้ป่วย

   ทั้งนี้เนื่องจากในกรณีที่จะอธิบายสาเหตุการตายของผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง ให้มีหลักฐานที่เห็นได้หรือเข้าข้าใจได้อย่างชัดเจนในทางการแพทย์ ก็จะต้องผ่าศพผู้ตายเพื่อค้นหาพยาธิสภาพในอวัยวะภายในของผู้ตาย ซึ่งการตรวจศพด้วยตาเปล่าของพยาธิแพทย์ก็อาจจะมองเห็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยตายได้ แต่ถ้าจะให้แน่นอนที่สุดแล้ว ก็อาจจะต้องรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตัดชิ้นเนื้อส่องกล้องพิสูจน์ ซึ่งกระบวนการต่างๆเหล่านี้ ก็จะใช้เวลาอีกหลายวัน จึงจะได้ผลการตรวจสอบทั้งหมด ที่จะมารายงานให้ประชาชนทราบความจริงได้ ว่าสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยตายเกิดจากสาเหตุอะไร แต่แท้ที่จริงแล้ว แพทย์ผู้รักษาก็อาจจะทราบสาเหตุการตายอยู่แล้ว การตรวจศพก็เพื่อหาหลักฐานทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยันสาเหตุการตายที่แน่นอนตามหลักฐานจากศพนั่นเอง

   ซึ่งในกรณีผู้ไปคลอดบุตรรายนี้ก็เช่นกัน กว่าจะได้ผลการตรวจศพทั้งหมดและรู้สาเหตุการตายของผู้ป่วย ก็ใช้เวลา 10 วัน จึงจะสามารถให้ข้อเท็จจริงถึงสาเหตุการตายของผู้ป่วยมาแถลงให้ประชาชนทราบได้ แต่ในช่วงระยะเวลาแห่งการ “แสวงหาความจริงเรื่องสาเหตุการตายนี้เอง” ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง ว่าโรงพยาบาลปล่อยให้ผู้ป่วยตายทั้งแม่ทั้งลูก เกิดกระแสประนามการ “บริการรักษาผู้ป่วยของโรงพยาบาล” (และบุคลากรทางการแพทย์) ลุกลามไปใหญ่โตเหมือนเหไฟไหม้ฟาง
ความขัดแย้งระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ เกิดขึ้นมากหลังระบบ 30 บาท

จากกรณีที่ผู้เขียนกล่าวถึงนี้ ทำให้ผู้เขียนนึกได้ถึง “มหันตภัยอันร้ายแรง”จากระบบ 30 บาทอีกประการหนึ่งก็คือ การที่ระบบ 30 บาทก่อให้เกิดความร้าวฉานในความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยนั่นเอง หรือเรีเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “เกิดความขัดแย้งระหว่างแพทย์และผู้ป่วย”

  ก่อนที่จะมีระบบ 30 บาทรักษาทุกโรค ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยของประเทศไทยเป็นความสัมพันธ์ที่มีความห่วงใยเอื้ออาทรต่อกัน ถึงแม้ว่าโรงพยาบาลของราชการจะเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยทุกคน แต่ในกรณีผู้ยากไร้ รายได้น้อย ไม่มีเงินจ่ายค่ายาหรือค่ารักษาตัว ทางโรงพยาบาลก็จะช่วยเหลือให้การรักษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยมีเงินจากงบประมาณสปร.(สำหรับผู้มีรายได้น้อย) จากงบประมาณแผ่นดินจากภาษีอากร หรือมีเงินจากมูลนิธิของโรงพยาบาลให้การรักษา แต่ผู้ป่วยบางคนที่ยากจนนั้น อาจจะยากจนเสียจนไม่มีเงินเป็นค่าเดินทางมาโรงพยาบาล จึงทำให้ไม่สามารถมารับบริการตรวจรักษาเมื่อเจ็บป่วยได้

  แต่เมื่อมีการนำระบบ 30 บาทมาใช้ ทำให้ประชาชนรู้ว่าตนเอง “มีสิทธิ์” ที่จะได้รับการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยด้วยการรักษาฟรีหรือจ่ายเงินเพียงแค่ 30 บาทเท่านั้น ซึ่งเป็นการที่ประชาชนต้องจ่ายเงินในราคาต่ำมากๆ จึงทำให้ประชาชนมารับการรักษามากขึ้น โดยประชาชนมีความคิดว่า “รัฐบาลจัดสรรเงินมาให้โรงพยาบาลแล้ว ประชาชนจึงต้องได้รับการตรวจรักษาเต็มที่” และควรจะเป็นการรักษาที่ดี มีมาตรฐาน ประชาชนต้องได้รับการรักษาที่ดีจนหายจากอาการเจ็บป่วย จนลืมไปว่า หมอไม่ใช่เทวดาที่จะสามารถรักษาผู้ป่วยทุกคนให้หายป่วย สามารถป้องกันและหยุดยั้งความตายได้ทุกโรคทุกสถานการณ์  ลืมแม้กระทั่งความจริงหรือสัจธรรมแห่งชีวิตว่า หมอเองก็ป่วยและตายเช่นเดียวกับคนทั่วไป ฉะนั้นประชาชนบางคนก็จะลืมไปว่า โรงพยาบาลที่รับรักษาผู้ป่วยนั้น เป็นทั้งที่เกิดและที่ตายของคนที่ต้องไปรับการรักษาจากโรงพยาบาล อาจจะหามเข้าโรงพยาบาล แล้วเดินปร๋อกลับบ้าน หรือผู้ป่วยบางคนอาจจะเดินไปโรงพยาบาล แต่ต้องหามกลับบ้านก็ได้

   ประกอบกับพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 มาตรา 41 ได้กำหนดไว้เลยว่า ถ้าประชาชนได้รับ”ความเสียหาย”จากการรับบริการสาธารณสุข สามารถไปร้องขอรับ “การช่วยเหลือ” จากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ และยังมีมาตรา 42 กำหนดว่าเมื่อกองทุนได้จ่ายเงินช่วยเหลือตามมาตรา 41 ไปแล้ว ต้องหาตัวผู้กระทำผิดเพื่อมา “ไล่เบี้ย” ให้ได้ เพื่อจะได้ “บังคับให้จ่ายเงินช่วยเหลือที่จ่ายให้แก่ประชาชนไปแล้วกลับคืนกองทุน”
 คำว่าไล่เบี้ยจึงมีความหมายตอกย้ำให้ประชาชนเข้าใจว่าความเสียหายต่อสุขภาพของประชาชนนั้น “ต้องมีผู้กระทำผิด”อย่างแน่นอน
 ฉะนั้นหลังระบบ 30บาท จึงมีการ “กล่าวหา”แพทย์หรือโรงพยาบาลว่า “ทำให้ผู้ป่วยเสียหาย”มากขึ้นกว่าตอนก่อนที่จะมีระบบ 30 บาท  ในการกล่าวหาเช่นนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะญาติไม่สามารถ “ทำใจยอมรับกับความสูญเสียได้ “ แต่ผลที่จะตามมาอีกอันหนึ่งก็คือการกล่าวหานี้จะทำให้ได้รับ “เงินช่วยเหลือเบื้องต้น”ตามมาตรา 41 และถ้าเป็นกรณีที่ญาติคิดว่า “ไม่สมควรตาย” และสังคมหรือสื่อวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ก็อาจจะทำให้ได้รับเงินช่วยเหลือเร็วขึ้น เพื่อยุติกระแสการวิพากษ์วิจารณ์

  แต่ก็มีญาติบางส่วนที่ไม่ยอมรับแค่ “เงินช่วยเหลือเบื้องต้น”ตามมาตรา 41 ดังกล่าวนี้ ยังต้องการที่จะให้มีการลงโทษแพทย์หรือต้องการ “เงินชดเชยความเสียหาย”เพิ่มเติมจากเงินช่วยเหลือเบื้องต้น จึงนำเรื่องไปฟ้องแพทยสภา ฟ้องกองประกอบโรคศิลปะ ฟ้องศาลแพ่ง ศาลอาญา และฟ้องตามพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคพ.ศ. 2551

ความขัดแย้งระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์นำไปสู่การเสนอกฎหมายหลายฉบับ

  การร้องเรียน/ฟ้องร้องแพทย์ก็ยังไม่หยุดแค่นั้น แต่เกิด “เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ขึ้น” จากการที่มีผู้ที่เคยมีญาติได้รับความเสียหายจากการรักษาของแพทย์ ได้ตั้งตัวเป็นเครือข่าย “ผู้ได้รับความเสียหายทางการแพทย์” ร่วมมือกับแพทย์บางคนและนักการเมืองหลายพรรคได้เสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายจาสกการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาตราออกเป็นกฎหมายใช้บังคับ ให้มีการจ่ายเงินช่วยเหลือและชดเชย แก่ผู้ได้รับ”ความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข”
   ซึ่งเรื่องนี้เป็นข่าวที่โด่งดังในสื่อมวลชนเป็นเวลายาวนานตลอดรัฐบาลที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี และยืดเยื้อมาจนถึงรัฐบาลที่มีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยังมีความพยายามที่จะผลักดันให้มีการพิจารณากฎหมายฉบับนี้อยู่ตลอดเวลา

บุคลากรทางการแพทย์ต้องรวมตัวกันเสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองประชาชนและบุลากรทางการแพทย์ด้วย

  เหตุการณ์การกล่าวหา/ฟ้องร้อง หรือการผลักดันกฎหมายเหล่านี้เอง ยิ่งส่งเสริมให้มีการฟ้องร้องมากขึ้น และยิ่งทำให้บุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์ เกิดความท้อถอยในการที่จะให้การรักษาผู้ป่วยในระบบราชการ เพราะเกิดความเสี่ยงต่อการกล่าวหา/ฟ้องร้องจากประชาชน ทำให้แพทย์มีความรู้สึกว่าการรักษาผู้ป่วยที่เคยทำตามหน้าที่ เสียสละเวลาทั้งในเวลาและนอกเวลาราชการ ทำงานตรวจรักษาและให้บริการประชาชนด้วยความระมัดระวังตามมาตรฐานวิชาชีพและความรู้ความสามารถของตนที่มีมาอย่างดีที่สุดตามคำสั่งสอนของครูอาจารย์และพระราโชวาทขององค์บิดาแห่งวงการแพทย์ไทย คือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก นั้น ไม่อาจจะ “คุ้มครองให้ตนเองปลอดภัยจากการถูกกล่าวหาฟ้องร้องได้” จึงต้องรวมตัวกันรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองทั้งประชาชนและบุคลากรสาธารณสุขเช่นเดียวกัน ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา80(2)ที่ได้บัญญัติไว้ว่า
มาตรา 80 รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านการสังคม การสาธารณสุข การศึกษาและวัฒนธรรมดังต่อไปนี้
(2) ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาระบบสุขภาพที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพอันนำไปสู่สุขภาวะที่ยั่งยืนของประชาชน รวมทั้งจัดส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้เอกชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาพ และการจัดบริการสาธารณสุข โดยผู้มีหน้าที่ให้บริการดังกล่าวซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรม ย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

  ทั้งนี้ได้มีการยื่นร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาประกบร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....

  จึงนับว่า ไม่มีครั้งใดในประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และการสาธารณสุขไทย ที่ประชาชนมีการกล่าวหาฟ้องร้องและมีความสัมพันธ์ที่เลวร้าย จนต้องการที่จะออกกฎหมายมาเยียวยาความเสียหาย โดยต้องการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเท่านั้น ไม่ต้องการที่จะเจรจาประนีประนอมถ้อยทีถ้อยอาศัยรับฟังเหตุผลกันแบบญาติมิตรอีกต่อไป
จนทำให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ต้องหาทางที่จะต้องอาศัยการใช้กฎหมายป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากการปฏิบัติหน้าที่ด้วย เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้ให้ความคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานและจริยธรรม ดังที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญมาตรา 80(2)วรรคท้ายแต่ประการใด

 ระบบ 30 บาทจึงก่อให้เกิดมหันตภัยต่อความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์
ฉะนั้นจึงนับได้ว่ามหันตภัยที่เกิดจากผลพวงของระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคอีกเรื่องหนึ่งอีกประการหนึ่งก็คือ ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างแพทย์/บุคลากรทางการแพทย์กับประชาชน ไปจนถึงขั้นการต้องออกกฎหมายเฉพาะมาดำเนินการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งโดยเฉพาะอีกด้วย 

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)
20 กันยายน 2555


เอกสารอ้างอิง

1.http://www.mcot.net/cfcustom/cache_page/414586.html
2.http://www.dailynews.co.th/politics/155910
3.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพระพุทธศักราช 2550
4.ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....
5.ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....
6.พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคพ.ศ. 2551

mummum

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 12
    • ดูรายละเอียด
เกมส์มันส์ ลองสิ แล้วคุณจะติดใจ..!!!!