ผู้เขียน หัวข้อ: “เฟซบุ๊ค” เว็บครองใจวัยแคมปัส 2010  (อ่าน 1836 ครั้ง)

Meem

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2576
    • ดูรายละเอียด
“เฟซบุ๊ค” เว็บครองใจวัยแคมปัส 2010
« เมื่อ: 02 มกราคม 2011, 22:33:59 »
 หากย้อนเวลาไปไม่กี่ปี ก่อนหน้านี้ คำว่า “เฟซบุ๊ค” ยังเป็นศัพท์ใหม่สำหรับวัยรุ่นไทย และส่วนใหญ่ก็คงสนุกกับโซเชียล เน็ตเวิร์กอย่าง ไฮ-ไฟว์ (Hi5) มากกว่า แต่ภายในระยะเวลาเพียง 1-2 ปีที่ผ่านมา “เฟซบุ๊ค” ได้สร้างปรากฏการณ์ต่างๆ กลายเป็นเว็บไซต์ยอดนิยมที่ครองใจวัยโจ๋ไทยไปอย่างไร้ข้อกังขา โดยไม่ต้องรอให้มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเว็บดัง เดินทางมาเมืองไทยด้วยซ้ำ
       
       ความนิยมของเฟซบุ๊คของวัยรุ่นไทยอย่างรวดเร็ว คงไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะความบันเทิงแบบฉาบฉวยเท่านั้น แต่คงเพราะเว็บไซต์ระดับโลกเว็บนี้ กินความหมายของคำว่า “โซเชียล เน็ตเวิร์ก” ได้อย่างกว้างขวางกว่าเว็บอื่น แถมยังมีลูกเล่นหลากหลายโดนใจเข้ากับวัยแคมปัสเข้าอย่างจัง
       
       Life on Campus มีหลากหลายความคิดเห็นของคนวัยมันส์ ว่าในรอบปีที่ผ่านมา “เฟซบุ๊ค” เกี่ยวข้องกับชีวิตวัยรุ่นในแง่มุมไหน อย่างไรบ้าง

 “วรารัตน์ ศิริพรพิทักษ์” นิสิตสาขาโฆษณา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า รู้จักเฟซบุ๊คประมาณต้นปี 52 โดยเพื่อนแนะนำให้ลองสมัคร โดยเริ่มแรกก็เน้นเพื่อความบันเทิงก่อน
       
       “เริ่มต้นช่วงแรก ใช้ทำควิซ (quiz) สนุกๆขำๆกับเพื่อนๆ ยังไม่ได้ใช้เพื่อสาระอะไร ต่อมาก็เริ่มเข้าไปดูรูปภาพของเพื่อนๆที่ไม่ค่อยได้เจอกัน จนกระทั่งเมื่อได้รู้ว่าเฟซบุ๊คทำอะไรได้หลายอย่าง จึงเริ่มใช้คุยงาน โพสต์ข้อความเรื่องงาน หรือการบ้านไว้ที่ wall ของเพื่อนๆ” วรารัตน์ เผยถึงจุดเริ่มต้นของการเล่นเฟซบุ๊ค
       
       สาวนิเทศฯ เล่าต่อไปว่า จากนั้นเล่นเกมส์ในเฟซบุ๊คอยู่ช่วงหนึ่ง แต่กลัวติดจึงเลิกไป โดยปัจจุบันนอกจากใช้ติดต่อกับเพื่อนฝูงแล้ว จะใช้ประโยชน์ของเฟซบุ๊ค จากการติดตามข่าวสารเชิงธุรกิจ การค้า หรือผลิตภัณฑ์
       
       “ความแตกต่างของการติดตาม ข้อมูลด้านธุรกิจในเฟซบุ๊ค คือ เราสามารถสื่อสารกับผู้เกี่ยวข้องได้โดยตรง และรวดเร็ว อยากสอบถามพูดคุยเพิ่มเติมก็ทำได้สะดวกค่ะ เพราะในยุคปัจจุบันการโฆษณาด้วยสื่อเดียวอาจไม่ได้ผล หรือสร้างความน่าเชื่อถือได้มากเท่ากับการสื่อสารปากต่อปากจากคนที่รู้จัก”
       
       สำหรับประโยชน์ของเฟซบุ๊คในด้านอื่นๆ นิสิตสาวคนนี้กล่าวว่า เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการสื่อสารที่รวดเร็ว ใช้ได้กับการเรียนและงานในมหาวิทยาลัย เพราะมีเครื่องมือส่งข้อความได้ครั้งละหลายคน เมื่อเวลาเพื่อนๆไม่ตรงกัน ก็สามารถส่งข่าวสารได้ประหยัด ไม่เสียเวลา
       
       “เสน่ห์ของเฟซบุ๊ค มีความแตกต่างจากเว็บไซต์อื่น เพราะรวมหลายๆอย่างไว้ในเว็บเดียว และ สิ่งสำคัญเรายังสามารถแสดงความเป็นตัวเองได้มากกว่า ได้ทราบทัศนคติของคนอื่นได้ด้วย เช่น เวลาเข้าไปอ่านกลุ่มไม่เอาเสื้อแดง เห็นคนกดถูกใจ (Like) เราก็จะทราบความคิดอ่านของเพื่อนคนนั้นได้ หรือกระทั่งรสนิยมเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ สิ่งที่ชื่นชอบ”

 ส่วน “ดวงดาว ครามะคำ” นักศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวารสารศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ มองว่า ข้อดีของเฟซบุ๊คทำให้การติดต่อสื่อสารกับเพื่อนได้ทันที ได้รับรู้ข่าวสารที่แต่ละคนโพสต์ได้อย่างรวดเร็ว ทั้งเพื่อนเก่า เพื่อนใหม่ ก็ติดต่อกันได้ทั้งหมด โดยไม่เปลืองค่าโทรศัพท์
       
       “มีอยู่ช่วงหนึ่งที่มีการช่วย กันออกไปฟื้นฟูสภาพบ้านเมืองหลังจากการชุมนุม คิดว่าเฟซบุ๊คมีส่วนทำให้คนออกมาช่วยกันมาก เพราะหลายคนก็เห็นจากการโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊คแล้ว ก็แท็ก (tag) หาเพื่อนทุกคนให้มาร่วมช่วยกัน หรืออย่างเรื่องการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ก็รับรู้ข่าวสารผ่านเฟซบุ๊ค เช่น มีคนมาโพสต์ว่าวันนี้มีการชุมนุมที่ไหน อย่างไร ตรงไหนรถติด ตรงไหนมีม็อบเคลื่อนตัวไปที่ไหน” ดวงดาว มองถึงประโยชน์จากเครื่องมือชนิดนี้ในแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับสังคม
       
       อย่างไรก็ตาม สาวนิเทศฯรายนี้มองว่า การเล่นเฟซบุ๊ค ต้องยอมรับกับพื้นที่ความเป็นส่วนตัวที่เสียไปด้วย เพราะโยงเครือข่ายใหญ่มาก บางครั้งเราก็เสียความเป็นส่วนตัว
       
       “เวลาโพสต์อะไรไปที่เป็นความรู้สึกหรืออยากระบาย คนอื่นก็จะเข้ามาร่วมรับรู้การกระทำและความคิดนั้นที่เราโพสต์ไป จนบางทีเราก็ลืมไปว่ามันเป็นแค่ความคิดที่เราอยากระบายเท่านั้นเอง คนอื่นสามารถเข้ามารับรู้เรื่องราวของเราผ่านการโพสต์ได้”
       
       แต่ขณะเดียวกัน ดวงดาวก็มองว่า การมีเฟซบุ๊คเพิ่มมาในชีวิตประจำวัน อย่างน้อยก็ทำให้ไม่รู้สึกเหงา จากเดิมที่ไปไหน หรือจะทำอะไรก็ไม่เคยรายงานให้ใครรู้ แค่โทรบอกญาติพี่น้องก็พอ แต่ปัจจุบัน จะโพสต์ทางเฟซบุ๊คตลอดเวลาว่า ทำอะไร ที่ไหน กินอะไร ร้านไหน อยู่ที่ไหน อร่อยไหม

ด้าน “ภูมิวสันต์ สุวรรณรัตน์” เพื่อน ร่วมสถาบัน ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ อีกราย มองว่า ปรากฏการณ์เฟซบุ๊คที่ผ่านมาในรอบปีของประเทศไทย มีการแพร่หลาย นิยมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เห็นได้จากผลสำรวจต่างๆ ที่ประเทศไทยติดอันดับต้นๆ ของโลกที่ใช้โซเชียล มีเดีย ชนิดนี้
       
       “ความนิยมของเฟซบุ๊ค อาจเป็นเพราะการติดต่อสื่อสารที่ทำได้สะดวกรวดเร็วขึ้น ทำให้ได้เจอเพื่อนเก่า ติดต่อเพื่อน ได้ง่ายๆ เพียงแค่นอนอยู่บนเตียงแล้วกดโทรศัพท์ นอกจากนี้ยังได้เป็นการแสดงถึงตัวตนของตัวเองอีกโลกหนึ่งนอกเหนือจากชีวิต จริง จนอาจจะทำให้ผู้ที่หลงเข้ามาใช้ถึงกับติดกันจนไม่ลืมหูลืมตาได้”
       
       ภูมิวสันต์ ยังกล่าวถึงเฟซบุ๊ค ในมุมของการเป็นสื่อช่องทางหนึ่งที่ให้ผู้ใช้ได้แสดงออกด้านความคิดเห็นใน เรื่องต่างๆ ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสียปะปนกัน
       
       “เรื่องการเมืองในปีที่ผ่านมา เฟซบุ๊คมีส่วนสำคัญให้คนได้ออกมาแสดงความคิดเห็น นัดรวมตัวกัน ซึ่งในเรื่องนี้ก็มีทั้งข้อดี และข้อเสียสำหรับการแสดงออกในพื้นที่สาธารณะ ข้อดี คือ ทำให้คนได้แสดงออกทางความคิด แต่ข้อเสีย อาจสร้างความขัดแย้งให้เพิ่มขึ้นได้ เพราะเป็นสื่อที่ควบคุมได้ยาก นอกจากนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การควบคุม เพราะเฟซบุ๊คไม่ได้กำหนดอายุ วุฒิภาวะของผู้สมัครเข้าใช้งาน ถ้ามีเด็กๆเข้ามาใช้งาน เข้าไปเจอโพสต์ข้อความ รูปภาพ หรือเนื้อหาต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม ก็ไม่สามารถจะควบคุมได้”
       
       หนุ่มนิเทศฯ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ สรุปส่งท้ายว่า ปีที่ผ่านมา เครือข่ายทางสังคมชนิดนี้มีบทบาทต่อสังคมมาก ยากจะปฏิเสธได้ และส่วนดีหรือไม่ดีนั้น สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับการใช้ของคนมากกว่า ถ้า จะให้มีประโยชน์ก็ได้ เช่น ติดต่องาน ส่งงาน จัดกลุ่มผู้ที่สนใจในเรื่องเดียวกันเพื่อแชร์ข้อมูลความรู้ที่น่าสนใจ ติดต่อข่าวสาร เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร

 นอกจากเฟซบุ๊คเป็นพื้นที่สำหรับบุคคลวัยนักศึกษาแล้ว เว็บไซต์ดังยังนำมาใช้ประโยชน์เพื่อกลุ่ม กิจกรรม องค์กรต่างๆในมหาวิทยาลัยได้อีกด้วย
       
       ดังเช่น "พงศ์ภัทร วิสุทธิ์เศรษฐ์" นักศึกษาจากคณะบัญชี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ใช้ประโยชน์ของเฟซบุ๊ค ด้วยการตั้งขึ้นในนามของ “สโมสรนักศึกษา ม.กรุงเทพ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารและประชาสัมพันธ์กิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยให้ ทุกคนได้ทราบ และไม่ลืมที่จะชวนเชิญเพื่อนต่างมหาวิทยาลัยให้เข้าร่วม
       
       "ผมรู้จักเฟซบุ๊ค มา 2-3 ปีแล้ว โดยส่วนตัวก็มีเฟซบุ๊คเป็นของตัวเอง ใช้สื่อสาร พูดคุยกับเพื่อนๆ หรือคนรู้จัก จึงคิดอยากที่จะใช้ช่องทางการสื่อสารนี้ให้เป็นประโยชน์มากขึ้น ด้วยการตั้งเฟซบุ๊คในนามของสโมสรนักศึกษา กระจายความรู้ และกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยให้กับนักศึกษาได้ทราบ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผมก็ต้องคอยดูความคิดเห็นต่างๆ เวลาที่มีข้อความที่ไม่ดี ใช้คำพูดที่ไม่สุภาพ หรือเป็นผลเสียให้กับมหาวิทยาลัย ผมก็จะต้องลบทันที"
       
       หนุ่มคณะบัญชี ม.กรุงเทพ บอกต่ออีกว่า เมื่อมีเฟซบุ๊คเป็นกระบอกเสียงสำคัญให้กับมหาวิทยาลัยแล้ว ต้องคอยหมั่นดูแลอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการตอบคำถามข้อคิดเห็น หรือข้อสงสัยต่างๆ จากเพื่อนในเฟซบุ๊ค
       
       "ผมจะใช้เวลาหลังเลิกเรียน เข้าไป ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของมหาวิทยาลัย คอยบอกว่า มหาวิทยาลัยของเราจะมีกิจกรรมอะไรบ้าง เกิดขึ้นที่ไหน วันไหน อย่างไร และไม่ลืมที่จะตอบข้อความเพื่อนที่สงสัย เพราะผมมองว่า การสื่อสารแบบนี้ต้องคอยตรวจสอบอยู่เสมอ เพราะมันเปิดกว้างและให้อิสระกับผู้เข้ามาเยี่ยมชมในเฟซบุ๊คของเรา สามารถขยายเครือไปเรื่อยๆ เราก็จะมีเพื่อนเพิ่มมากขึ้น รู้จักกันมากขึ้น"

  เช่นเดียวกับ "นิรพนธ์ โพธิอินทร์" นักศึกษาจากสำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ประธานชมรมดนตรีไทย-พื้นเมือง ซึ่งใช้ความคุ้นเคยด้วยวิชาความรู้ที่เกี่ยวกับเรื่องไอที บวกกับเป็นคนนำเทรนด์ ชอบเล่นเฟซบุ๊คอยู่เสมอ จึงตั้งเฟซบุ๊คในนามของ "ดนตรีไทยพื้นเมือง มฟล." เพื่อใช้เป็นช่องทางสื่อสารและเรียกเพื่อนๆ ร่วมชมรมเข้าประชุมทุกๆ สัปดาห์
       
       "ผมตั้งเฟซบุ๊คให้กับชมรม ดนตรีไทยพื้นเมือง มฟล.มา 6 เดือนแล้ว เพื่อใช้นัดประชุม พูดคุยกับเพื่อนๆ ในชมรม เราใช้สื่อสารกันแบบนี้กันมาตลอด แถมไม่ต้องเสียเงินโทรตามเพื่อนบางครั้งเพื่อนๆ น้องๆ ในชมรมมีปัญหา เราก็สามารถให้คำแนะนำได้ทันที และที่สำคัญผมเรียนทางด้านไอที ก็มักจะทดลองเล่นโปรแกรมใหม่ๆ เว็บไซต์ที่นิยม เพื่อไม่ให้ตกยุคจนเกินไป แต่ก็ต้องอยู่ในความพอดี บางคนชอบเล่นเกมส์ ตั้งกระทู้ ตอบความคิดเห็นมากเกินไป จนลืมทำงานส่งอาจารย์ก็อาจจะส่งผลไม่ดีให้กับตัวเอง ดังนั้นเราต้องตระหนักถึงประโยชน์และโทษของการเล่นเฟซบุ๊ค และช่วยกันทำให้เกิดประโยชน์มากกว่าให้โทษ



ASTV ผู้จัดการ 30 ธันวาคม 2553