ผู้เขียน หัวข้อ: น้อมจิตรวมใจถวายพระพร 'กลุ่มลานพระบิดา' จากทุกสารทิศมุ่งสู่ 'ศิริราช'  (อ่าน 2218 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด
ณ โรงพยาบาลศิริราช นานระยะหนึ่งแล้วที่กลายเป็นแหล่งแห่งการสมานรัก สมานสามัคคี แหล่งรวมปรารถนาแห่งจิตที่ตรงกันของพสกนิกรไทย ว่า “ขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหายจากพระอาการประชวรและทรงมีพระ พลานามัยที่แข็งแรง” ซึ่งในระหว่างที่องค์ “พ่อหลวงแห่งปวงไทย” ประทับอยู่ ณ โรงพยาบาลศิริราช ในบรรดาพสกนิกรทุกหมู่เหล่าที่เข้าลงนามถวายพระพรเป็นจำนวนมากอย่างต่อ เนื่องนั้น มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มลานพระบิดา” ซึ่งเป็นอีกกลุ่มคนที่มีจิตใจตรงกันที่จะเข้าถวายพระพรเป็นประจำ และมีการสวดมนต์อธิษฐานขอให้องค์พ่อหลวงทรงมีพระพลานามัยที่แข็งแรง...

#####
   
“แม้จะต้องนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ต่อรถเมล์หลายต่อ ก็ไม่ใช่อุปสรรคที่จะมาถวายพระพรพระองค์ท่าน เพราะใจเรามาแล้ว ตอนที่พระองค์ท่านพระอาการดีขึ้น ทรงโบกพระหัตถ์ให้ ดีใจจนพูดไม่ออก ชาตินี้ตายก็เป็นสุขแล้ว ยิ่งได้ลอย กระทงท่าเดียวกับในหลวง คิดว่าเรานี่ช่างมีบุญเหลือเกิน ชาตินี้ตายก็เป็นสุขแล้ว” ...เป็นความรู้สึกของ สุวรรณา เคนน้ำเที่ยง วัย 55 ปี
   
พสกนิกรที่เข้ารอคอยชื่นชมพระบารมีในหลวงที่โรงพยาบาลศิริราชเป็นประจำราย นี้ บอกว่า ที่ผ่านมาเดินทางมาโรงพยาบาลศิริราชแต่เช้าทุกวัน วันใดที่ได้เห็นพระองค์ท่านประทับรถเข็นผ่านหน้าไป ขณะที่กำลังเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” น้ำตาแห่งความปลื้มปีติจะไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว รู้สึกปลื้มใจมากที่ได้เห็นพระองค์อย่างใกล้ชิด พระองค์ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยให้เป็นหนึ่งเดียว ที่บ้านจะมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านใส่กรอบไว้บูชาเต็มไปหมด ยามใดที่ทราบว่าพระองค์มีพระอาการประชวร จิตใจก็จะหวั่นวิตกเป็นห่วงพระองค์ยิ่งกว่าสิ่งใด ก็จะมาที่โรงพยาบาลตั้งแต่เช้า นำพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านมาด้วยทุกครั้ง มานั่งสวดมนต์ ขอให้พระองค์ท่านทรงหายจากพระอาการประชวร พระชนมายุยิ่งยืนนาน
   
“ลูก ๆ ที่บ้านก็จะรู้ ทุกคนเข้าใจ เห็นดีด้วยว่าสิ่งที่แม่ทำนั้นดีและถูกต้อง เป็นสิ่งที่ควรทำที่สุดแล้ว ลูกกลัวว่าแม่จะลำบากก็เตรียมเงินไว้ให้ จะสอนลูก ๆ เสมอว่าในหลวงท่านเป็นเทวดา ถ้าเราไม่มีพระองค์ท่าน เราคงแย่แน่” ...สุวรรณา กล่าว พร้อมทั้งยังบอกอีกว่า...
   
ที่ผ่านมาตนเองและเพื่อน ๆ จะมาที่โรงพยาบาลศิริราชทุกวัน เพื่อเฝ้าติดตามพระอาการของในหลวง และจะกลับบ้านก็ต่อเมื่อมีประกาศจากสำนักพระราชวัง ชี้แจงพระอาการของพระองค์ก่อน ในระหว่างวันนั้นนอกจากการนั่งมองหน้าต่างห้องประทับแล้ว ก็จะร่วมกันนั่งสวดมนต์ โดยไม่เกี่ยงว่าฝนจะตก-แดดจะออก ตั้งจิตอธิษฐานขอให้พระองค์ทรงหายจากพระอาการประชวรโดยเร็ว “วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระองค์ท่านปีนี้ อยากให้ทุกฝ่ายปรองดองกันเพื่อถวายแด่พระองค์ท่าน และขอให้พระองค์ท่านทรงแข็งแรงโดยเร็ว”

#####
 
สมจิตต์ เครือวงศ์ วัย 63 ปี ก็เป็นผู้ที่มาใช้ชีวิตประจำวันอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชเป็นประจำ โดยเล่าว่า สิ่งที่ตนเองและเพื่อน ๆ จะนำติดตัวมาตลอด คือพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  หนังสือสวดมนต์ ผ้าสำหรับปูนั่ง ซึ่งตนเองอยู่ไม่ไกลจากโรงพยาบาล อยู่สำเหร่ซอย 8 ก็จะเดินออกกำลังกายจากบ้านมาที่ศิริราช มาถึงก็จะจองที่ไว้ให้เพื่อน ๆ  บางทีก็จะเตรียมเสื้อผ้ามานอนค้างที่ศิริราช โดยจะบอกญาติและลูกหลานว่าไม่ต้องเป็นห่วง ถึงไม่มีเงินทองก็มาอยู่ที่นี่ได้ ที่สำคัญคือทุกคนที่นี่มีความสุข เพราะได้เข้าเฝ้าฯอย่างใกล้ชิด ได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันที่เสด็จฯ รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย
   
“จะสวดมนต์ขอพร ขอให้พระองค์ท่านทรงหายจากพระอาการประชวรในเร็ววัน เป็นมิ่งขวัญปวงชนชาวไทยตราบชั่วนิรันดร์ พระองค์ทรงเป็นยิ่งกว่าชีวิต วันเฉลิมพระชนมพรรษา ป้าและกลุ่มเพื่อนจะหอบเสื้อผ้ามานอนค้างตั้งแต่วันที่ 4 จะใส่เสื้อสีชมพูพร้อมเพรียงกัน อยากได้ชื่นชมพระบารมีพระองค์ท่าน และอยากร่วมถวายพระพรในวันเกิดของพระองค์ท่าน”

#####
 
ด้าน ทิพา นุจรีพร อายุ 57 ปี เป็นชาวนครปฐม ทิพาเล่าให้ฟังว่า เดินทางมาโรงพยาบาลศิริราชทุกวัน จะไม่สบายยังไงก็จะต้องมาให้ได้ แม้ว่าบ้านจะไกล แม้การเดินทางจะต้องนั่งรถ 3 ต่อ แต่ก็ยอม
   
เพื่อที่จะได้ถวายพระพรองค์พ่อหลวงที่รักและเทิดทูนยิ่ง
   
ทิพาเล่าอีกว่า ก่อนหน้านี้เคยนอนค้างที่โรงพยาบาลทุกวัน บริเวณที่นอนประจำคือบริเวณบันไดของตึก หรือบางครั้งก็แล้วแต่สถานที่จะอำนวย จะอย่างไรก็จะหาที่นอนเพื่อให้ได้เฝ้าองค์พ่อหลวง แต่ตอนนี้พระอาการของพระองค์ท่านเริ่มดีขึ้นแล้ว ก็จะรอแถลงการณ์ในช่วงเวลา 20.00 น. ว่าพระอาการดีขึ้นอย่างไรบ้าง เมื่อฟังคำแถลงการณ์ว่าพระอาการดีขึ้นก็จะสบายใจ กลับบ้านได้ รุ่งขึ้นก็จะมาถวายพระพรใหม่อีกครั้ง
   
“ทำอย่างนี้มานานแล้ว ไม่เคยเบื่อ มีแต่สุขใจทุกครั้งที่ได้มา”
   
สำหรับกิจกรรมที่ทิพาและเพื่อน ๆ ร่วมกันทำที่ลานพระบิดาเป็นประจำ คือการสวดมนต์ขอพรให้พ่อหลวงทรงหายประชวรและมีพระพลานามัยที่แข็งแรง ซึ่งทิพาบอกว่า ภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย และอยากให้ทุกคนภูมิใจเช่นเดียวกัน เพราะเรามีพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีแต่ให้ ในหลวงท่านทรงมีแต่ให้พวกเราจริง ๆ
   
“ขนาดพระองค์ประชวรอยู่ ก็ยังพระราชทานสิ่งของไปให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม ท่านไม่เคยทรงคิดว่าท่านไม่สบายแล้วจะไม่ทรงดูแลทุกข์สุขของประชาชน และยังทรงงานเพื่อช่วยเหลือประชาชน ตลอดเวลา ไม่มีประเทศไหนจะมีพ่อหลวงที่ทรงรักและเป็นห่วงพสกนิกรเท่าพระองค์อีกแล้ว ชีวิตนี้ไม่ต้องการอะไรแล้ว นอกจากขอให้พระองค์ทรงหายจากพระอาการประชวรโดยเร็ว
   
ทุกวันที่มาโรงพยาบาล เวลากินข้าวได้นั่งมองหน้าต่างห้องที่ประทับ ก็มีความสุขมาก ๆ ในชีวิตที่เกิดมาครั้งหนึ่งแล้ว วันเฉลิมฯปีนี้ขอยืนยันจะทำความดีเพื่อถวายให้พระองค์ และอยากให้คนไทยทุกคน โดยเฉพาะนักการเมือง สมานฉันท์กัน อย่าให้พระองค์ต้องเหนื่อยเลย” ทิพากล่าว

#####
 
ศักดา สัจจะมิตร อายุ 61 ปี ชาวไทย-ซิกข์ มีอาชีพค้าขายอยู่แถวภาษีเจริญ รายนี้กลุ่มลานพระ บิดาจะเรียกเขาว่า “นายห้าง” จะเป็นเสมือนตู้เสบียงของสมาชิกกลุ่ม ซึ่งแรก ๆ ในปี 2549 นายห้างก็มานอนค้างที่ศิริราช แต่ปัจจุบันนี้เดินทางไปกลับ โดยเขาบอกว่า เป็นคนเชื้อสายอินเดียที่เกิดและโตในประเทศไทย นับถือศาสนาซิกข์ ถึงแม้นายห้างจะไม่ใช่คนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งที่แสดงออกว่ารักในหลวงมากแค่ไหนคือการลงนามถวายพระพรทุกวัน ถ้าวันไหนไม่ว่างจริง ๆ ก็จะให้คนอื่นมาลงนามแทนให้ นอกเหนือจากนี้เขายังร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มเพื่อน ๆ กลุ่มลานพระบิดา คือการสวดมนต์  โดยนายห้างจะสวดมนต์ตามคัมภีร์ของศาสนาซิกข์ แต่ก็มีความหมายในเรื่องการขอพรให้ในหลวงทรงหายประชวรและทรงมีพระพลานามัย ที่แข็งแรง
   
“แม้ครอบครัวของผมจะไม่ได้เป็นคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ที่บ้านของผมก็ปลูกฝังลูกหลานทุกคน ว่าในหลวงท่านทรงเสียสละเพื่อพวกเราพสกนิกรมากเพียงใด ท่านได้ทรงทำอะไรหลาย ๆ อย่าง โดยไม่ทรงคำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อยเลย คนไทยรักพระเจ้าอยู่หัว ผมก็จะรักท่านไม่มีวันเสื่อมคลาย ที่ผมอยู่เมืองไทยอย่างมีความสุข ก็เพราะพระเจ้าอยู่หัว” นายห้างกล่าว

#####
   
มาที่สมาชิก “กลุ่มลานพระบิดา” อีกคน คือ ดลนภา กลัดบุปผา อายุ 31 ปี เป็นเจ้าของโรงเรียนกวดวิชา เป็นอาจารย์ให้กับเด็กตั้งแต่อนุบาลจนถึงวัยทำงานเลยทีเดียว รายนี้บ้านอยู่แถวสุวรรณถูมิ การเดินทางมาโรงพยาบาลศิริราชจะมาโดยแท็กซี่ ค่ารถจะประมาณ 500 บาท ไม่รวมค่าทางด่วน โดยจะมาโรงพยาบาลทุกวันที่ว่าง ช่วงปี 2549 ก็เคยมานอนค้างกับเพื่อนในกลุ่มลานพระบิดา แต่ปัจจุบันจะเดินทางไป-กลับ และทุกวันอาทิตย์ก็จะมาสวดมนต์กับเพื่อน ๆ ซึ่งก็ถือได้ว่าเธอเป็นสายเสบียงของกลุ่มลานพระบิดาอีกคน ซึ่งการเป็นอาจารย์ ในการสอนเธอก็จะสอดแทรกคำสอนของในหลวงด้วย  โดยเฉพาะเรื่องความพอเพียง
   
ดลนภาบอกว่า พยายามจะมาที่โรงพยาบาลศิริราชทุกวันที่มาได้ เพราะขนาดคนต่างจังหวัดที่บ้านอยู่ไกลมาก ๆ ยังอยากจะมาลงนามถวายพระพรเลย บ้านเธออยู่แค่นี้เองทำไมเธอถึงจะมาไม่ได้ เธออยากให้ในหลวงทรงหายจากพระอาการประชวร และการที่เธอมาที่ศิริราชก็เหมือนได้มาชาร์จแบตฯของหัวใจ เวลาที่เธอทำงานเหนื่อย ๆ หรือท้อแท้กับชีวิต มาที่นี่แล้วเธอก็จะมองขึ้นไปบนตึก ซึ่งเธอคิดว่า...
   
“พระองค์ทรงเหนื่อยกว่าเราเป็นร้อยเท่าพันเท่า แต่พระองค์ไม่เคยทรงท้อหรือทรงบ่นว่าเหนื่อยให้ประชาชนได้ยินแม้สักครั้ง มีแต่จะทรงทำและทรงสร้างความสบายให้ประชาชนของท่าน
   
ส่วนตัวมองว่าวันพ่อปีนี้สำคัญมาก เพราะในหลวงประทับอยู่โรงพยาบาลศิริราช ดังนั้นไม่ว่าจะหนาวหรือง่วงแค่ไหนก็ไม่หวั่น ขอให้ได้มีส่วนร่วมถวายพระพรในวันเฉลิมฯที่โรงพยาบาลศิริราช”

#####
 
สิริกาญจน์ เนติวิทย์ วัย 66 ปี ก็เป็นอีกคนที่มาที่โรงพยาบาลศิริราชเป็นประจำ ซึ่งเจ้าตัวเล่าให้ฟังว่า บ้านอยู่สมุทรปราการ ก็มีความห่วงใยของคนในครอบครัว ว่าเดินทางลำบาก เรื่องลูกหลานเป็นห่วงนั้นก็เป็นธรรมดา แต่ก็ไม่ขัดใจ ซึ่งแรก ๆ ก็มักจะโทรฯสอบถามสารทุกข์ถี่มาก พอนานไป เมื่อเห็นว่ามีความสุขที่ได้ทำตรงนี้เขาก็ยินดีด้วย แถมบางครั้งเขาเห็นแม่ทางทีวีก็ยังชี้บอกเพื่อน ๆ และหลาน ๆ ให้ดูอีกด้วย
   
มีช่วงหนึ่งเคยมานอนค้างที่ศิริราช จะมีกระเป๋า 2 ใบ มีกระเป๋าพกติดตัวตลอดใบหนึ่ง มีอยู่ครั้งหนึ่งเข้าห้องน้ำ ก็วางกระเป๋าไว้ เสร็จธุระแล้วก็ออกมานั่งสวดมนต์อยู่พักใหญ่ กว่าจะนึกได้ว่ากระเป๋าหายไป ในนั้นมีเงินสด 7,000 กว่าบาท แหวนเพชร บัตรเอทีเอ็ม และมือถือ เพื่อน ๆ ก็ช่วยกันหา หาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ เพื่อน ๆ ก็ช่วยกันกดโทรศัพท์ก็ไม่มีเสียงตอบรับ ตนเองและเพื่อนก็ช่วยกันอธิษฐานขอพระบารมีพ่อหลวงช่วย
   
“จู่ ๆ ก็มีคนท้องคนหนึ่งเดินชูกระเป๋าร้องถามว่ากระเป๋าใบนี้ของใคร ใครลืมกระเป๋าไว้ ป้าจะให้เงินรางวัลคนที่เก็บได้ เขาก็ไม่รับ ครั้งนั้นเราดีใจมาก ยกมือไหว้ท่วมหัว นี่คืออานิสงส์ที่พวกเราได้มาทำตรงนี้”
   
สิริกาญจน์ ยังบอกด้วยว่า...
   
“ป้าและกลุ่มเพื่อนจะมาเฝ้าฯพ่อหลวงตลอด ต้องข้ามเรือ นั่งรถกี่ต่อ เราก็ไม่ท้อ ไม่เบื่อ กลับเป็นสุขใจที่ได้ทำ พ่อหลวงท่านทรงเหน็ดเหนื่อยเพื่อประชาชนคนไทยมากมายเหลือเกิน จะมีสิ่งนี้เท่านั้นที่เราพอจะทำถวายพ่อหลวงของเราได้”.

#####
เชาวลี ชุมขำ-ศิริโรจน์ ศิริแพทย์
เดลินิวส์ 5 ธันวาคม 2553