ผู้เขียน หัวข้อ: IMD ประเมินการศึกษาไทยเกือบรั้งท้ายที่ 47 จาก 58 ประเทศ  (อ่าน 1823 ครั้ง)

Meem

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2576
    • ดูรายละเอียด
  สกศ.ระบุ IMD เผยผลประเมินจัดอันดับการศึกษาของไทย พบอยู่เกือบรั้งท้ายที่ 47 จาก 58 ประเทศ อยู่เหนือเพียงอินโดฯ ฟิลิปปินส์ อินเดีย เท่านั้น ยังไม่พอผลการสอนวิชาคณิต-วิทย์ อยู่ที่ 35 ความสามารถการใช้ภาษาอังกฤษ อินเทอร์เน็ต ได้ 72 คะแนนจากเต็ม 120 ด้านโอกาสความเสมอภาคการเรียนดีขึ้น อัตราเข้าเรียนชั้นมัธยมฯ 92%
       
       วันนี้ (29 พ.ย.) นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้รายงานสถานการณ์การศึกษาของประเทศไทยกับนานาชาติ จาก การจัดอันดับของ International Institute for Management Development (IMD) ปี 2553 ซึ่งมี 58 ประเทศทั่วโลกเข้ารับการประเมินจัดอันดับ โดยผลการประเมินการศึกษาในภาพรวมของไทย พบว่าอยู่ในอันดับที่ 47 เท่ากับปี 2552 ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อาทิ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินเดีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น ซึ่งไทยมีอันดับอยู่เหนือเพียง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ส่วนในด้านคุณภาพการศึกษา พบว่า อัตราส่วนนักเรียนต่อครูระดับประถมศึกษาอยู่อันดับที่ 41 โดยอัตรานักเรียนอยู่ที่ 17.70 คนต่อครู 1 คน สำหรับอัตราส่วนนักเรียนต่อครูระดับมัธยมศึกษา อยู่อันดับที่ 53 โดยอัตรานักเรียนอยู่ที่ 21 คนต่อครู 1 คน

นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ผลการประเมินวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ในโครงการ PISA ในปี 2549 อยู่อันดับที่ 40 โดยคณิตศาสตร์ได้คะแนนเฉลี่ย 417 และวิทยาศาสตร์ได้คะแนนเฉลี่ย 421 การตอบสนองความสามารถในการแข่งขันของระบบการศึกษา และการตอบสนองความสามารถในการแข่งขันของอุดมศึกษา อยู่อันดับที่ 32 ทั้ง 2 ส่วน โดยได้ 5.01 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ทักษะด้านภาษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของภาคธุรกิจ อยู่อันดับที่ 41 ได้ 4.83 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งวัดจากคะแนนเฉลี่ย TOFEL ในระบบอินเทอร์เน็ต เทียบจากฐานคะแนนสูงสุด 120 คะแนน อยู่อันดับที่ 54 คะแนนเฉลี่ย 72 คะแนน ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ อยู่อันดับที่ 52 และการสอนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน อยู่อันดับที่ 35 ได้ 4.62 คะแนน ซึ่งแย่กว่าปี 2552
       
        นายชินวรณ์กล่าวอีกว่า ในด้านโอกาสและความเสมอภาค พบว่า การเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาสุทธิ ซึ่งพิจารณาจากจำนวนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาอายุ 12-17 ปี ที่เรียนเต็มเวลา อยู่ในอันดับที่ 47 ดีขึ้นกว่าปี 2552 โดยไทยมีอัตราการเข้าเรียนมัธยมศึกษาสุทธิอยู่ที่ 92% ส่วนการไม่รู้หนังสือของผู้ใหญ่ พิจารณาจากประชากรที่อายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่า ไทยมีอัตราการไม่รู้หนังสือของผู้ใหญ่ 7.4% อยู่อันดับที่ 44 ผลสัมฤทธิ์ของการอุดมศึกษา พิจารณาจากประชากรอายุ 25-34 ปี ที่จบการศึกษาตั้งแต่ระดับอุดมศึกษาขึ้นไป พบว่าไทยอยู่ที่ 18% อันดับที่ 45 จำนวนคนใช้อินเทอร์เน็ตต่อประชากร 1,000 คน พบว่า ไทยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 209 คน อยู่ในอันดับที่ 53 แย่ลงจากปีที่ผ่านมา และ ในหัวข้อประสิทธิภาพการจัดการศึกษา/การบริหารจัดการ พบว่า การจัดการศึกษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของภาคธุรกิจ ไทยอยู่อันดับที่ 30 ได้ 5.75 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน แย่ลงจากปี 2552 การถ่ายโอนความรู้ระหว่างภาคธุรกิจกับมหาวิทยาลัย ไทยอยู่อันดับที่ 34 ได้ 4.28 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน และการลงทุนเพื่อการศึกษา ซึ่งพิจารณาจากค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของไทยในภาครัฐต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภาย ในประเทศ (จีดีพี) โดยไทยลงทุน 4.2% ต่อจีดีพี อยู่อันดับที่ 35 ซึ่งถือว่ามากกว่าสิงคโปร์ที่ลงทุน 3.1% แต่อันดับการศึกษาในภาพรวมของสิงคโปร์อยู่อันดับที่ 13 ซึ่งดีกว่าไทยที่อยู่ในอันดับที่ 47 ถึง 34 อันดับ
       
       “ผลการประเมินด้านการศึกษาในภาพรวมยังอยู่ในระดับที่ต้องมีการศึกษา และติดตามต่อไปว่าเราจะต้องดำเนินการที่จะพัฒนาการศึกษาในภาพรวมอย่างไร โดยผมได้มอบให้ สกศ.นำผลการประเมินดังกล่าวไปวิเคราะห์ และรายงานต่อที่ประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ. เพื่อที่จะมอบให้องค์กรหลักที่เกี่ยวข้องกับสมรรถนะในแต่ละด้านไปดำเนินการ ปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป ซึ่งตัวชี้วัดที่ IMD ใช้ในการประเมินจัดอันดับหลายตัวมีความเชื่อมโยงกับตัวชี้วัดการปฏิรูปการ ศึกษาในทศวรรษที่สอง” รมว.ศธ.กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    
29 พฤศจิกายน 2553