ผู้เขียน หัวข้อ: สอนลูกเข้าใจ "ความตาย" อย่างไรไม่ทำร้ายเด็ก  (อ่าน 1831 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ใน วันที่ลูกน้อยต้องเผชิญกับ ความตาย หรือความสูญเสีย การบอกกล่าวเรื่องนี้กับลูก เป็นสิ่งที่พ่อแม่หลายท่านกังวลใจ และไม่กล้าที่จะบอกความจริง เพราะกลัวลูกจะรับไม่ได้ และอาจกลายเป็นฝันร้ายติดตัวลูกไปตลอด ทำให้พ่อแม่บางท่านต้องปิดบังความจริงกับลูกด้วยวิธีต่าง ๆ นานา
       
       ประเด็นนี้ พญ.เพียงทิพย์ หังสพฤกษ์ จิตแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็ก และวัยรุ่นจากโรงพยาบาลมนารมย์ บอกผ่านทีมงาน Life and Family ว่า เมื่อเจ้าตัวเล็กต้องเผชิญกับความตาย เช่น การจากไปของคุณพ่อ คุณแม่ หรือแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยงแสนรัก การสร้างเรื่องบิดเบือนลูกเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่การให้เหตุผลว่าทำไมคน หรือสัตว์ต้องตายเป็นสิ่งที่ดี
       
       ฉะนั้นการบอกลูกเรื่อง "ความตาย" พ่อแม่ควรเล่าเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นให้ลูกฟังก่อนว่ามีเหตุการณ์อะไรบ้างที่ เชื่อมโยงไปสู่การตาย เช่น วันหนึ่งลูกสุนัขตัวโปรดของลูกถูกรถชนตาย แทนที่จะบอกลูกในตอนที่มันแย่ที่สุดว่า "วันนี้แม่มีเรื่องเศร้ามาบอก ลูกหมาของลูกตายแล้วนะ" แต่ควรจะค่อย ๆ เล่าเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นจนจบให้ลูกฟังอย่างเข้าใจ ซึ่งการบอกในลักษณะนี้ จะทำให้เด็กตั้งรับทัน และเกิดข้อสงสัยเกี่ยวการตายของลูกสุนัขน้อยลง
       
       "การพูดกับลูก หรือบอกลูกเรื่องความตาย คุณพ่อคุณแม่ต้องจัดการกับอารมณ์ของตัวเองให้ดีก่อน เพราะบางคนบอกเด็กด้วยความฟูมฟาย ร้องห่มร้องไห้ นั่นจะทำให้เด็กไม่เข้าใจ และเกิดความกลัวได้ ซึ่งเด็กแต่ละวัยเข้าใจเรื่องความตายต่างกัน โดยเด็กหลังจาก 9 ขวบไปแล้วจะเริ่มเข้าใจความตายเทียบเท่ากับผู้ใหญ่"
       
       อย่างไรก็ดี การตอบคำถามเรื่องความตายกับลูก พ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดกับเด็ก ไม่ควรแสดงทัศนคติเกี่ยวกับความตายมากจนเกินไป เช่น การที่ลูกเห็นท่านย่าในละครตายจากไป แล้วหันมาถามว่า แล้วคุณย่าของเขาจะตายหรือเปล่า ในฐานะพ่อแม่ไม่ควรหันไปดุ หรือตำหนิลูก เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกไม่ดีตามมาได้
       
       "ถ้าลูกสงสัยก็อธิบายให้ลูก ฟังแค่จุดตรงนั้น เช่น เด็กถามว่า คุณย่าของเขาจะตายเหมือนท่านย่าในละครหรือเปล่า เราก็แค่ถามต่อไปว่า ทำไมหนูถึงถามแบบนั้นล่ะ ถ้าเด็กตอบว่า ก็หนูกลัวไม่มีคนซื้อไอศกรีมให้กิน คุณก็แค่ตอบไปง่าย ๆ ว่า หนูก็ยังมีแม่กับพ่อคอยซื้อให้กินไงจ้ะ ซึ่งไม่จำเป็นต้องพูดถึงเรื่องความตายด้วยซ้ำ แต่ถ้าลูกยังถามต่อไปว่า ทุกคนต้องตายด้วยเหรอ เราอาจจะคุยกันตามจริงไปเลยว่า ใช่ลูก สักวันหนึ่งคนเราก็ต้องตายไป ไม่มีใครอยู่ได้ตลอด เพราะไม่เช่นนั้นคนจะล้นประเทศ" จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่นขยายภาพ

       แต่ในทางกลับกัน การพูดเรื่องความตายให้ดูดีมากเกินไป อาจเป็นผลร้ายกับเด็กได้ โดยจิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่นท่านนี้ ยกตัวอย่างว่า การพูดกับลูกบ่อย ๆ ว่าการตายทำให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์ หรือตายแล้วจะไปสบาย สำหรับเด็กบางคน อาจยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ดีพอ และคงคาดเดาไม่ได้ว่า หากวันหนึ่งลูกถูกเพื่อนแกล้ง แล้วอยากจะฆ่าตัวตายเพื่อการหลุดพ้นอย่างที่คุณพ่อคุณแม่บอก เป็นสิ่งที่ไม่อาจทราบได้ ดังนั้นจึงต้องระวังในเรื่องนี้ด้วย
       
       นอกจากนี้ การพูดเรื่องความตายกับเด็ก บางเหตุผลสามารถใช้ได้ดี ในขณะที่บางเหตุผลคุณพ่อคุณแม่ควรจะหลีกเลี่ยงด้วย เช่น เปรียบเทียบความตายกับการนอนหลับ เพราะลูกจะไม่อยากนอน เนื่องจากกลัวว่า ถ้านอนไปแล้วจะไม่ตื่น และจะเหมารวมไม่อยากให้พ่อแม่หลับไปด้วย เพราะเขาเชื่อไปแล้วว่า ถ้าพ่อแม่หลับไป จะไม่ตื่นมาอยู่กับเขา
       
       หรือการเอาเรื่องความตายมาบังคับ หรือข่มขู่เด็ก เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน เช่น "ทำไมลูกดื้อแบบนี้ อยากให้พ่อแม่ตายเร็ว ๆ หรืออย่างไร" ซึ่งการพูดถึงความตายในลักษณะของความข่มขู่ น่ากลัว หรือเจ็บปวด หรือพูดว่าความตายเป็นเหมือนการทอดทิ้งถูกลืม จะทำให้เด็กรู้สึกว่ามันน่ากลัว และรู้สึกผิดได้
       
       "เรื่องนี้หมอเจอบ่อย เพราะการที่พ่อแม่เอาเรื่องแบบนี้มาขู่เด็กจะทำให้เด็กเชื่อฟัง แต่หารู้ไม่ว่าวิธีเหล่านี้ จะทำให้เด็กกลัว และรู้สึกผิดได้ แล้วถ้าเกิดสมมติว่า วันหนึ่งพ่อแม่ตายขึ้นมาจริง ๆ เด็กอาจนำมาเชื่อมโยงได้ว่า เขาเป็นคนทำให้พ่อแม่ตาย เพราะว่าตัวเขาดื้อ ส่งผลร้ายต่อสภาพจิตใจเด็กตามมาได้สูง" จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่นรายนี้กล่าวเตือน
       
       ดังนั้นการบอกเรื่อง ความตาย หรือความสูญเสียกับลูกเป็นสิ่งที่ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด หากใช้อารมณ์ ตลอดจนเหตุผลที่ดี และเหมาะสม ไม่พูดบิดเบือนความจริงเรื่องความตาย เพราะการโกหก หรือหยิบยกเรื่องราวต่าง ๆ มาปิดบังเด็ก วันหนึ่งหากเด็กรู้ความจริง จะยิ่งเป็นการทำร้ายจิตใจให้รู้สึกไม่ดี และยากที่จะฟื้นจิตใจของเด็กให้กลับคืนมาได้

ASTVผู้จัดการออนไลน์    29 พฤศจิกายน 2553