ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 1-7 มี.ค.2558  (อ่าน 815 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 1-7 มี.ค.2558
« เมื่อ: 15 มีนาคม 2015, 13:43:01 »
1. “บิ๊กตู่” ไม่สนข้อเสนอแม่น้ำ 5 สายเว้นวรรคการเมือง 2 ปี ด้าน กมธ.ยกร่างฯ เคาะแล้ว ตัดสิทธิแม่น้ำสายเดียว พร้อมผุด “สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ”!


        สัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวด้านการเมืองที่น่าสนใจ เริ่มจากกรณีนางทิชา ณ นคร ขอลาออกจากคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.เป็นต้นไป ซึ่งตอนแรกนางทิชาให้เหตุผลที่ลาออกว่ามาจากเรื่องสุขภาพ แต่ภายหลังได้เปิดแถลงข่าวถึงข้อเท็จจริงที่ตัดสินใจลาออกว่า เนื่องจากตนในฐานะ กมธ.ยกร่างฯ เสียงข้างน้อย รู้สึกหมดหวัง หมดศรัทธาที่จะสื่อสารต่อ กมธ.ยกร่างฯ เสียงข้างมากในการเพิ่มพื้นที่ทางการเมืองให้แก่ผู้หญิง ทั้งใน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อและในสภาท้องถิ่น ที่ผู้หญิงควรจะมีสัดส่วนในระบบการเมืองไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 “ต้องขอขอบคุณ ศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ที่ช่วยขยายความในเชิงข้อเท็จจริงให้ กมธ.ยกร่างฯ เสียงข้างมากทราบว่า วันนี้กลไกสัดส่วนผู้หญิงในพื้นที่การตัดสินใจนโยบายสาธารณะเป็น 1 ในภารกิจขององค์การสหประชาชาติไปแล้ว รวมถึงความพยายามในเบื้องต้นของประธาน กมธ.ยกร่างฯ ที่จะไม่โหวตในประเด็นดังกล่าว แต่ กมธ.ยกร่างฯ เสียงข้างมากไม่เห็นด้วยและยืนยันว่าต้องโหวตเพื่อยุติการอภิปราย”
      
       ทั้งนี้ หลังนางทิชา ลาออก ได้มีการเลือก สปช.คนอื่น มาเป็น กมธ.ยกร่างฯ แทน โดยเปิดให้สมาชิก สปช.เสนอชื่อผู้เหมาะสมได้ จากนั้นได้มีการโหวต ผลปรากฏว่า ผู้ได้รับเลือกเป็น กมธ.ยกร่างฯ แทนนางทิชา ก็คือ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล สปช.ด้านเศรษฐกิจ
      
       ส่วนความคืบหน้าในการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น สัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุมยกร่างบทเฉพาะกาลที่น่าสนใจหลายเรื่อง เช่น มาตรา 305 กำหนดให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้จนกว่าจะมีการประชุมรัฐสภาครั้งแรกตามมาตรา 136 ซึ่งเท่ากับว่า สนช.จะต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ ภายหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ไปประมาณ 7 เดือน หรือ 210 วัน
      
       มาตรา 306 กำหนดให้ สปช.และ กมธ.ยกร่างฯ สิ้นสุดลงก่อนวันเลือกตั้งทั่วไป และหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ห้าม กมธ.ยกร่างดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายใน 2 ปี อย่างไรก็ตาม นายเจษฎ์ โทณะวณิก กมธ.ยกร่างฯ ในฐานะอนุ กมธ.ยกร่างบทเฉพาะกาล ได้เสนอให้แม่น้ำ 5 สาย(คสช.-ครม.-สนช.-สปช.-กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ) เว้นวรรคการเมือง 2 ปี ไม่ใช่ให้ กมธ.ยกร่างฯ เท่านั้นที่เว้นวรรคการเมือง ปรากฏว่า กมธ.ยกร่างฯ เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ทำให้ข้อเสนอนี้ตกไป และให้ยืนตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ที่กำหนดห้าม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ดำรงตำแหน่ง ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ หรือผู้ที่ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมือง ภายใน 2 ปี นับแต่พ้นจากตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม ไม่ได้กำหนดว่า กรรมาธิการทั้ง 36 คน ห้ามไปทำงานในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศแต่อย่างใด
      
       ทั้งนี้ บทเฉพาะกาลได้กำหนดให้มีการตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศให้ต่อเนื่อง บรรลุผล จึงให้มีการตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศขึ้น โดยให้มีสมาชิกไม่เกิน 120 คน มีพระมหากษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้ง ประกอบด้วย สปช. 60 คน สนช. 30 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 30 คน พร้อมกันนี้ให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ประกอบด้วย กรรมการซึ่งปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลาและมาจากผู้ทรงวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ ไม่เกิน 50 คน พระมหากษัตริย์แต่งตั้งตามมติสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
      
       สำหรับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ มีหน้าที่เสนอแนะนโยบายในการปฏิรูปต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในด้านต่างๆ
      
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้า กมธ.ยกร่างฯ จะมีมติไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้แม่น้ำ 5 สายเว้นวรรคการเมือง 2 ปี มี สนช.และ สปช.หลายคนได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย โดยมองว่า สนช.และ สปช.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยกร่างรัฐธรรมนูญเหมือน กมธ.ยกร่างฯ จึงไม่ต้องเว้นวรรคการเมือง ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ก็ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดให้แม่น้ำ 5 สายเว้นวรรคการเมืองเช่นกัน พร้อมยืนยันว่า ตนในฐานะหัวหน้า คสช.และ ครม.ขอยึดตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่ให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่ต้องเว้นวรรคการเมือง 2 ปี “ผมก็จะยึดตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวมีบทบัญญัติไว้ นี่คือความเห็นของผม เพราะผมเป็นคนผ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้(ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557)ออกมา มันมีความจำเป็น เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็น สนช. สปช. เขาไม่ได้อะไรหรอก ถ้าเขาไม่เข้ามาก็คงไม่มีใครทำงาน ก็ให้ไปหามาตรการอื่น และดูว่าต่อไปจะทำอย่างไร ส.ส. ส.ว. ก็ค่อยไปดูกันตรงนั้นดีกว่า วันนี้อย่ามานั่งย้อนกลับไปกลับมา ทั้งหมดตั้งขึ้นมาเพื่อให้ทำงาน ดีหรือไม่ดี ค่อยไปแก้กันวันข้างหน้า”
      
       2. ดีเอสไอ เรียก “ธัมมชโย” แจงรับเช็คเงินโกงสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯ 10 มี.ค. ด้าน “ไพบูลย์” ยุบ คกก.ปฏิรูปศาสนาแล้ว!


        ความคืบหน้ากรณีที่ประชุมกรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ได้รับรองรายงานการประชุมเมื่อวันที่ 20 ก.พ. ตามการรายงานของนายพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ว่า เรื่องอาบัติปาราชิกของพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายนั้น ยุติไปแล้วเมื่อปี 2549 หลังอัยการถอนฟ้อง เนื่องจากพระธัมมชโยได้คืนที่ดินให้กับวัดพระธรรมกายเรียบร้อยแล้ว เจ้าคณะตำบลคลองสี่ จึงมีคำสั่งให้พระธัมมชโยซึ่งถูกพักการทำหน้าที่ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย กลับเข้าดำรงตำแหน่งตามเดิมตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2549 พร้อมชี้ว่า เมื่อคดีจบแล้ว จะรื้อฟื้นไม่ได้ เพราะการรื้อฟื้นเรื่องที่เจ้าคณะตามลำดับชั้นมีมติไปแล้ว จะเป็นอาบัติ หากต้องการให้พิจารณาใหม่ ต้องฟ้องใหม่ที่องค์คณะจังหวัดปทุมธานี
      
        หลังที่ประชุม มส.ไม่พิจารณาเรื่องพระธัมมชโยให้เป็นไปตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชฯ หลวงปู่พุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ได้เข้าแจ้งความต่อตำรวจกองปราบฯ เมื่อวันที่ 2 มี.ค.ให้ดำเนินคดีพระธัมมชโย ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ,แต่งกายเลียนแบบสงฆ์ และฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ,208 และ 341 พร้อมกันนี้ยังให้ดำเนินคดีเจ้าคณะปกครอง คือ เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี และ มส.ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และ 157
      
       นอกจากนี้ยังแจ้งความดำเนินคดี มส.ฐานไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ไม่ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม ไม่รักษาพระธรรมวินัย และว่า การที่พระธัมมชโยบังอาจขอพระราชทานสถาปนาเลื่อนสมณศักดิ์ระดับพระราชาคณะชั้นเทพเมื่อปี 2554 เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ละเมิดและบิดเบือนพระธรรมวินัย ขณะที่ มส.บังอาจนำรายชื่อบุคคลที่ไม่ใช่พระไปเพ็ดทูลต่อเบื้องสูง ถือเป็นการหมิ่นประมาทเบื้องสูงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย
      
        ทั้งนี้ นอกจากเข้าแจ้งความดำเนินคดีพระธัมมชโย เจ้าคณะปกครอง และ มส.แล้ว หลวงปู่พุทธะอิสระยังได้เข้ามอบตัวต่อตำรวจในคดีที่ถูกนิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) วิทยาเขตอุบลราชธานี แจ้งความฐานขัดขืนกฎอัยการศึกและคุกคาม มส.ด้วย
      
        จากนั้นวันต่อมา(3 มี.ค.) หลวงปู่พุทธะอิสระได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ขอให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินและทรัพย์สินของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรรมการ มส.และผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช เนื่องจากมีการก่อสร้างอาคารจอดรถ พระมหาเจดีย์มหารัชมงคลวงเงิน 300 ล้านบาท การครอบครองรูปหล่อหลวงพ่อสดวัดปากน้ำทำด้วยทองคำบริสุทธิ์น้ำหนัก 1 ตัน และการครอบครองรถยนต์หรู ทะเบียน ชม 99 กรุงเทพมหานคร ต้องสงสัยเลี่ยงภาษี พร้อมกันนี้ขอให้ดีเอสไอตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินประจำตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชด้วยว่า มีการใช้จ่ายตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่
      
        นอกจากนี้วันเดียวกัน หลวงปู่พุทธะอิสระยังได้เข้ายื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด ขอให้ตรวจสอบเหตุผลในการสั่งฟ้องพระธัมมชโยฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังยักยอกทรัพย์ และเหตุผลที่มีการเปลี่ยนพนักงานอัยการที่รับผิดชอบสำนวนคดีในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รวมถึงเหตุผลในการถอนฟ้องคดีอาญาพระธัมมชโย ทั้งที่เป็นความผิดต่อแผ่นดิน ยอมความไม่ได้ จึงขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาคำร้องและนำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาลอีกครั้ง
      
        ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สปช.เผยว่า วันที่ 11 มี.ค.นี้ เวลา 09.00 น.ที่รัฐสภา คณะกรรมการจะเปิดเวทีสาธารณะ เพื่อรับฟังความเห็นของพุทธศาสนิกชนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 3 ครั้ง เพื่อให้ครอบคลุมและทั่วถึงในการจะปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา สำหรับเวทีที่ 2 และ 3 จะดูความเหมาะสมอีกครั้งว่าจะจัดในต่างจังหวัดหรือไม่ เพราะได้รับร้องเรียนจากพระสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาจำนวนมากว่า พระสงฆ์ในต่างจังหวัดมีปัญหา ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบบการปกครองสงฆ์ปัจจุบัน เช่น การเล่นพรรคเล่นพวกเพื่อแสวงหาประโยชน์
      
        ด้านพระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและประธาน สปช.เรียกร้องให้ยุบคณะกรรมการปฏิรูปศาสนาชุดนายไพบูลย์ ก็ได้ออกมาประกาศไม่ยอมรับ-ไม่ร่วมเสวนากรณีที่นายไพบูลย์จะจัดเวทีสาธารณะรับฟังความเห็นของพุทธศาสนิกชนทุกฝ่าย พร้อมเตือนว่า หากมีพระสงฆ์รูปใดไปร่วมงานดังกล่าว แสดงว่าพระรูปนั้นไม่ใช่สมาชิกสงฆ์ในเครือข่ายองค์กรชาวพุทธ พระเมธีธรรมาจารย์ ยังขู่อีกครั้งว่า ถ้าภายใน 15 วัน หรือภายในวันที่ 12 มี.ค.นี้ รัฐบาลยังเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของเครือข่ายองค์กรต่างๆ ที่ให้ยุบคณะกรรมการปฏิรูปศาสนาชุดนายไพบูลย์ พระสงฆ์จะออกมาเคลื่อนไหวโดยไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย ไม่ขัดต่อกฎอัยการศึก และไม่ขัดต่อสมณรูปแน่นอน
      
       ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 มี.ค. นายไพบูลย์ นิติตะวัน สปช. ได้ออกมาแถลงยุติบทบาทคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนาแล้ว โดยยืนยันว่า ไม่ได้เกิดจากแรงกดดันจากภายนอกหรือจากประธาน สปช.แต่อย่างใด แต่เป็นเพราะได้ทำหน้าที่บรรลุเป้าหมายในการหาแนวทางปฏิรูปแล้ว โดยมีการประชุม 5 ครั้ง และเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูล เช่น ปปง. ตัวแทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีประเด็นสำคัญ 4 ข้อ คือ 1.ศาสนสมบัติของวัดและภิกษุ 2.ปัญหาของพระสงฆ์ที่ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย อันนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธา 3.เรื่องการทำให้พระวินัยผิดวิปริตไปจากเดิม 4.ฝ่ายอาณาจักรที่ต้องเข้าไปสนับสนุนการปกป้องกิจการฝ่ายศาสนจักร ซึ่งคณะทำงานได้สรุปรายงานเรื่องดังกล่าวเสร็จแล้ว และจะนำเสนอนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.ต่อไป ทั้งนี้ นายไพบูลย์ ยอมรับว่า คณะกรรมการชุดนี้ได้รับแรงกดดันอย่างมาก แต่ไม่ได้หมายความว่า เมื่อยุติคณะกรรมการแล้ว ตนจะหมดหน้าที่ เพราะยังเป็นสมาชิก สปช.อยู่ จะติดตามปัญหาของพระพุทธศาสนาต่อไป
      
        ส่วนความคืบหน้าคดีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตผู้บริหารสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นกับพวก ยักยอกทรัพย์สหกรณ์ฯ กว่า 16,000 ล้านบาทนั้น เมื่อวันที่ 6 มี.ค. นายศุภชัย ได้เปิดแถลงยอมรับว่า ได้นำเงินของสหกรณ์ฯ บริจาคให้วัดพระธรรมกายและพระธัมมชโยจริง แต่อ้างว่า เป็นการยืมเงิน และได้คืนเงินให้สหกรณ์ฯ เรียบร้อยแล้ว โดยมีหลักฐานเป็นรายงานของผู้สอบบัญชีประจำปี ซึ่งมีมติของที่ประชุมใหญ่ในปี 2552 และ 2553
      
       ทั้งนี้ วันเดียวกัน(6 มี.ค.) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง รองอธิบดีดีเอสไอ ได้ประชุมส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จากนั้นได้เปิดแถลงว่า จากการตรวจสอบเช็คสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น 878 ฉบับ จำนวนเงินรวม 11,367 ล้านบาท สามารถแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 วัดพระธรรมกาย พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ สุทธิผล ) หรือพระธัมมชโย พระครูปลัดวิจารณ์ มูลนิธิอุบาสิกาจันทร์ ฯลฯ จำนวน 43 ฉบับมูลค่ารวม 932 ล้านบาท กลุ่มที่ 2 ญาติธรรมและบุคคลใกล้ชิดนายศุภชัย ศรีศุภอักษร จำนวน 27 ฉบับ มูลค่ารวม 348 ล้านบาท กลุ่มที่ 3 บริษัท เอส ดับบลิว โฮลดิ้ง และนายสถาพร วัฒนาศิริกุล จำนวน 12 ฉบับ มูลค่ารวม 272 ล้านบาท กลุ่มที่ 4 สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำนวน 3 ฉบับ มูลค่ารวม 46 ล้านบาท กลุ่มที่ 5 นายวัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์ นายจิรเดช วรเพียรกุล และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนรัฐประชา จำนวน 135 ฉบับ มูลค่ารวม 2,566 ล้านบาท และกลุ่มที่ 6 นิติบุคคล ,เงินโอนภายในประเทศและต่างประเทศ,ถอนเงินสด,แคชเชียร์เช็ค,โอนผ่านอินเตอร์เน็ต,ถอน ECS ฯลฯ จำนวน 658 ฉบับ มูลค่า 7,203 ล้านบาท
      
        ส่วนการออกหมายเรียกผู้เกี่ยวข้องมาสอบปากคำนั้น พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล ผอ.ส่วนตรวจ 2 ดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าชุดตรวจสอบความเชื่อมโยงระหว่างสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และวัดพระธรรมกาย กล่าวว่า มีการจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มผู้รับเช็ค “กลุ่มแรกที่เรียกเข้าให้ปากคำคือ กลุ่มพระและวัดจำนวน 4 ราย ได้แก่ 1.พระครูปลัดวิจารณ์ วันที่ 9 มี.ค. เวลา 10.00 น. 2.พระธัมมชโย วันที่ 10 มี.ค. เวลา 10.00 น. 3.พระมนตรี สุตาภาโส วันที่ 11 มี.ค. เวลา 10.00 น. และ 4.นายสถาพร วัฒนาศิริกุล วันที่ 13 มี.ค. เวลา 14.00 น.ส่วนกลุ่มนิติบุคคลซึ่งมีจำนวนหลายรายที่นายศุภชัย สั่งจ่ายเช็คจำนวน 200 ฉบับ จะเรียกสอบปากคำเช่นกัน โดยทางกลุ่มพระและวัดพระธรรมกายยังไม่มีการตอบรับเข้าให้ปากคำ”
      
      

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 1-7 มี.ค.2558 (ต่อ)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 15 มีนาคม 2015, 13:43:20 »
3. ศาลจังหวัดพัทยา พิพากษาจำคุก “อริสมันต์” พร้อม 12 แกนนำแดง 4 ปี ไม่รอลงอาญา คดีบุก รร.รอยัล คลิฟฯ ล้มการประชุมอาเซียน!


        เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่ศาลจังหวัดพัทยา จ.ชลบุรี ศาลได้อ่านคำพิพากษาคดีที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือคนเสื้อแดง ได้รวมตัวกันประท้วงและบุกโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา ซึ่งใช้เป็นสถานที่จัดการประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเมื่อวันที่ 11 เม.ย.2552 โดยมีนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำ นปช.เป็นแกนนำในการชุมนุม
       
        ทั้งนี้ นายอริสมันต์กับพวกรวม 15 คน จากจำเลยทั้งหมด 18 คน ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษา โดยศาลตัดสินจำคุกจำเลย 13 คน คนละ 4 ปี ไม่รอลงอาญา ข้อหาชุมนุมเกิน 10 คนขึ้นไป และ พ.ร.บ.จราจร ดำเนินการปรับ 200 บาท สำหรับจำเลยทั้ง 13 คน ประกอบด้วย 1.นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง 2.นายนิสิต สินธุไพร 3.นายพายัพ ปั้นเกตุ 4.นายวรชัย เหมะ 5.นายวันชนะ เกิดดี 6.นายพิเชฐ สุขจินดาทอง 7.นายศักดา นพสิทธิ์ 8. พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ 9.นายนพพร นามเชียงใต้ 10.นายสำเริง ประจำเรือ 11.นายสมยศ พรมมา 12.นพ.วัลลภ ยังตรง 13.นายสิงห์ทอง บัวชุม นอกจากนี้ศาลได้ยกฟ้องจำเลย 2 คน คือ นายธงชัย ศักดิ์มังกร และ พ.ต.อ.สมพล รัฐบาล และสั่งพักคดี 3 คน คือ พ.ต.ท.เสงี่ยม สำราญรัตน์ ,นายสุรชัย แซ่ด่าน และ น.ส.อรวรรณ ไม่ทราบนามสกุล
       
        ด้านนายคารม พลพรกลาง ทีมทนายความแกนนำคนเสื้อแดง เผยหลังยื่นขอประกันตัวแกนนำทั้ง 13 คนว่า ศาลชั้นต้นยังไม่อนุญาต โดยให้เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จ.ชลบุรีเป็นผู้พิจารณา โดยศาลเรียกหลักทรัพย์ในการขอปล่อยตัวชั่วคราวคนละ 670,000 บาท ซึ่งศาลอาจจะเพิ่มหลักทรัพย์หรือเท่าเดิมก็ได้ ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ทั้งนี้ หลังศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว แกนนำคนเสื้อแดงทั้ง 13 คน ได้ถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่เรือนจำพิเศษหนองปลาไหล จ.ชลบุรี
       
        วันต่อมา(6 มี.ค.) ทนายความ นปช. เผยว่า ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 มีคำสั่งออกมาแล้วให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้ง 13 คน โดยตีราคาประกันคนละ 8 แสนบาท โดยไม่มีเงื่อนไขในการปล่อยตัว แต่ยังติดปัญหาที่วงเงินของจำเลยที่วางไว้กับศาลจังหวัดพัทยายังไม่เพียงพอในการทำสัญญาประกัน จึงต้องหาหลักทรัพย์เพิ่ม จำเลยทั้ง 13 คน จึงยังไม่ได้รับการปล่อยตัว ส่วนนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง 1 ในจำเลย ที่แม้จะวางหลักทรัพย์ไว้สูงถึง 2 ล้านบาท ก็ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวเช่นกัน เนื่องจากต้องทำสัญญาประกันใหม่ ดังนั้น วันจันทร์ที่ 9 มี.ค. ทีมทนายความจะหาหลักทรัพย์เพิ่ม เพื่อมาวางต่อศาล ก่อนทำสัญญาประกัน
       
       4. ภาครัฐ-ปชช.ถกปมสัมปทานปิโตรเลียมนัดแรก 2 ฝ่ายเห็นพ้องแก้ กม.3 ฉบับ ส่วนการบริหารจัดการปิโตรเลียม รอคุยครั้งหน้า!


        ความคืบหน้าเกี่ยวกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 หลังที่ประชุมร่วม คสช.และ ครม.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เป็นประธานเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ได้ข้อยุติว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนเพื่อหารือเรื่องแก้กฎหมายให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุดก่อนแล้วค่อยเปิดสัมปทาน
       
        ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมนัดแรกระหว่างภาคประชาชนและภาครัฐ โดยตัวแทนภาคประชาชน นำโดย น.ต.ประสงค์ สุ่นสิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ,น.ส.รสนา โตสิตระกูล สปช. ,นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขณะที่ภาครัฐ นำโดย นางบุญบันดาล ยุวนะศิริ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งมาแทนอธิบดีกรมเชื้อเพลิงฯ เนื่องจากติดภารกิจที่ต่างประเทศ ,นายจำเริญ ยุติธรรมสกุล รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
       
        ม.ล.ปนัดดา กล่าวว่า รัฐบาลต้องการให้การประชุมนี้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เพื่อร่วมกันเสนอนโยบายพลังงานที่ยั่งยืนของประเทศ โดยจะมีการนำผลการหารือไปประมวลและมอบหมายให้กระทรวงพลังงานเป็นผู้พิจารณา เพื่อประกอบเป็นนโยบายด้านพลังงานและเสนอนายกรัฐมนตรีต่อไป
       
        ทั้งนี้ มีรายงานว่า หลังหารือประมาณ 2 ชั่วโมง ที่ประชุมได้สรุปประเด็นการหารือ โดยข้อเสนอของภาคประชาชนเป็นการสานต่อจากมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา คือ การทบทวนการจัดสรรทรัพยากรปิโตรเลียม ทบทวนโครงสร้างราคาก๊าซและน้ำมันสำเร็จรูป ทบทวนนโยบายเรื่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และแก้ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ส่วนการแก้ไขกฎหมาย มีรายงานว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นว่า จำเป็นต้องแก้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 , พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 , กฎหมายเกี่ยวกับพลังงานและผลประโยชน์ทับซ้อน ส่วนการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และสุขภาวะอนามัยชุมชน ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าจำเป็นต้องให้ภาคประชาชนและภาครัฐนั่งคุยกันเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด โดยภาคประชาชนเสนอให้มีการพูดคุยในประเด็นต่อไปนี้ 1. เรื่องการจ้างสำรวจ จ้างผลิต และแบ่งปันผลผลิตเพิ่มเติมจากเงื่อนไขเดิมตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 2. ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และสิทธิของชุมชน 3. การบริหารจัดการแปลงสัมปทานที่จะหมดอายุในปี 2565 แปลงสัมปทานข้างเคียงแปลงสัมปทานเดิม และแปลงสัมปทานที่มีการคืนให้ภาครัฐแล้ว 4.พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทย ระหว่างไทยและกัมพูชา
       
       นอกจากนี้ภาคประชาชนยังขอให้มีการตั้งคณะทำงาน 3 คณะ แต่ละคณะมีองค์ประกอบฝ่ายละไม่เกิน 10 คน โดยตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย(คปพ.) 10 คน จะทำหน้าที่เป็นคณะผู้ประสานงาน ที่มาจากตัวแทนของอนุกรรมการที่ขอจัดตั้งขึ้นทั้ง 3 ฝ่าย เพื่อเข้าหารือถึงการตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ ที่ปรึกษา คณะทำงานร่วมภาครัฐและประชาชน ในการเดินหน้าปฏิรูปพลังงานไทยเพื่อคนไทย
       
        ด้าน น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ หัวหน้าตัวแทนภาคประชาชน พูดถึงบรรยากาศในการประชุมว่า เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทุกฝ่ายพยายามช่วยกันหาข้อสรุปและทางออกร่วมกัน และเชื่อมั่นว่า ข้อสรุปที่ได้ จะถูกนำเสนอถึงนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว ซึ่งหากนายกรัฐมนตรีมีความเห็นอย่างไร จะมีการแจ้งกลับมายังภาคประชาชนอีกครั้ง
       
       ขณะที่นางบุญบันดาล ยุวนะศิริ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงพลังงาน กล่าวว่า ตนจะรับข้อสรุปไปเสนอนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายอารีพงษ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ให้รับทราบว่าจะต้องดำเนินการต่อไปอย่างไรบ้าง
       
       5. กองปราบฯ เตรียมหอบสำนวนคดี สจล. 8 พันหน้าส่งฟ้อง 14 ผู้ต้องหา 9 มี.ค. ด้าน “บอย ปกรณ์” ส่งมอบรถหรูลัมโบร์กินีให้ ปปง.แล้ว!


        ความคืบหน้าคดียักยอกเงินสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) กว่า 1,500 ล้านบาท เมื่อวันที่ 6 มี.ค. พ.ต.อ.ณษ เศวตเลขรอง ผู้บังคับการปราบปราม ได้เรียกประชุมคณะพนักงานสอบสวนเพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยของสำนวนคดี และให้พนักงานสอบสวนในคดีร่วมลงชื่อ ก่อนสรุปสำนวนส่งฟ้องต่ออัยการศาลจังหวัดมีนบุรีภายในวันที่ 9 มี.ค.นี้ พ.ต.อ.ณษ เผยว่า สำนวนคดีมีอยู่ทั้งหมด 24 แฟ้ม หนากว่า 8,000 หน้า ทางพนักงานสอบสวนมีความมั่นใจว่า สำนวนคดีมีความแน่นหนามากพอที่จะดำเนินคดีผู้ต้องหาทั้งหมดได้
       
       สำหรับผู้ต้องหาที่พนักงานสอบสวนพิจารณาสั่งฟ้องมีทั้งหมด 14 ราย ประกอบด้วย นายทรงกลด ศรีประสงค์ ,น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ ,นายพูนศักดิ์ บุญสวัสดิ์ ,นายจริวัฒน์ สหพรอุดมการ ,นางสมบัติ โสประดิษฐ์ ,น.ส.จันทร์จิรา โสประดิษฐ์ ,นางระดม มัทธุจัด ,นายภาดา บัวขาว ,นายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด ,นายสมพงษ์ สหพรอุดมการ ,นายธวัชชัย ยิ้มเจริญ ,ศ.ดร.ถวิล พึ่งมา ,นายศรุต ราชบุรี และ ผศ.ดร.สรรพสิทธิ์ ลิ่มนรรัตน์ โดยมีผู้ต้องหา 3 คนที่ยังหลบหนีอยู่ คือ นายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด หลบหนีอยู่ต่างประเทศ ส่วนนายสมพงษ์ สหพรอุดมการ และนายธวัชชัย ยิ้มเจริญ ตำรวจเชื่อว่าหลบหนีอยู่ในประเทศ
       
       ส่วนกรณีที่ ศ.ดร.ถวิล พึ่งมา 1 ในผู้ต้องหาคดีนี้ เข้าร้องทุกข์ต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยระบุว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการสอบสวนดำเนินคดีของพนักงานสอบสวน เนื่องจากยังมีอดีตอธิการบดีที่ดำรงตำแหน่งทั้งก่อนและหลังจากตนที่เกี่ยวข้องกับคดีด้วยนั้น พ.ต.อ.กรไชย คล้ายคลึง รองผู้บังคับการปราบปราม ยืนยันว่า พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการตามขั้นตอนครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว หากทาง ศ.ดร.ถวิล พบว่า ยังมีผู้กระทำความผิด ก็ขอให้นำหลักฐานมายืนยัน ตำรวจยินดีจะดำเนินการให้ แต่อย่ากล่าวอ้างลอยๆ หรือทำตามคำแนะนำของทนายความเพื่อแก้เกี้ยวเท่านั้น
       
        ส่วนความคืบหน้าการยึดอายัดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดในคดียักยอกเงิน สจล. ซึ่งมีรถหรูลัมโบร์กินีที่นายปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ หรือ บอย นักแสดงชื่อดัง ซื้อต่อจากนายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด ผู้ต้องหาในคดีนี้ ในราคา 13 ล้านบาทด้วยนั้น เมื่อวันที่ 5 มี.ค. พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) เผยว่า นายปกรณ์ ได้นำรถคันดังกล่าวมาส่งมอบให้ ปปง.แล้ว ตามที่คณะกรรมการธุรกรรมได้มีคำสั่งยึด เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่นายกิตติศักดิ์นำเงินจากการลักทรัพย์ สจล.ไปซื้อไว้แล้วนำมาขายต่อ
       
       พ.ต.อ.สีหนาท ยังชี้แจงด้วยว่า นายปกรณ์เป็นผู้ซื้อรถต่อจากนายกิตติศักดิ์ คณะกรรมการธุรกรรมจึงมีมติให้ยึดรถ แต่ไม่ดำเนินคดีนายปกรณ์ เนื่องจากเป็นการซื้อทรัพย์โดยไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าเป็นทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิด สำหรับรถคันดังกล่าวขณะนี้เก็บรักษาไว้ที่ ปปง. และยังไม่ได้รับการติดต่อจากนายปกรณ์ ว่าจะนำเงินมาวางเพื่อนำรถกลับไปใช้หรือไม่



ASTVผู้จัดการออนไลน์ 7 มีนาคม 2558