ผู้เขียน หัวข้อ: รอยทางแห่งศรัทธา-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 776 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
นับตั้งแต่งอกงามขึ้นบนผืนแผ่นดินสยามเมื่อกว่า 500 ปีก่อน ศาสนจักรคาทอลิกมีบทบาทและอิทธิพลอย่างไรในสังคมไทยปัจจุบัน

รถกระบะของคณะภคินีแพร่ธรรมแห่งพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล (ซิสเตอร์แม่ปอน) กำลังแล่นอย่างช้าๆ ไปตามถนนลูกรังริมสันดอย  ไต่ระดับจากเนินเขาลูกหนึ่งไปสู่อีกลูกหนึ่งที่สูงกว่า  แม้พวกเราจะนั่งอยู่ท้ายกระบะพลางชมทิวทัศน์งดงามของผืนป่าไปพลางๆ  แต่หุบเหวลึกและเส้นทางลูกรังแคบๆ ก็ทำให้เราหวั่นใจอยู่ลึกๆ  “เราจะสวดภาวนาเพื่อให้  พระเจ้าคุ้มครองการเดินทางของเราให้ปลอดภัยทุกครั้งค่ะ ความกลัวหรือความกังวลใจทั้งหลายจะได้หมดไป”  ซิสเตอร์ลาวา ปูลือ บอก “เพราะถือว่าเราฝากชีวิตไว้กับพระผู้เป็นเจ้าแล้ว”

          ซิสเตอร์เซซีลีอา ลาวา ปูลือ อายุ  70 ปี เป็นชาวปกาเกอะญอคาทอลิก และเป็นซิสเตอร์คนแรกของคณะซิสเตอร์แม่ปอน  เธอเกิดเมื่อ พ.ศ. 2487  และกลับใจนับถือคาทอลิกใน พ.ศ. 2500   เธอใช้คำว่า “กลับใจ” เพราะก่อนหน้านี้เคยนับถือภูตผี  ไม่ถึงสิบปีให้หลังใน พ.ศ. 2508 เธอก็ตัดสินใจบวชตลอดชีวิต  ซิสเตอร์เป็นคนคุยเก่ง สุขภาพแข็งแรงและช่างจดจำรายละเอียดของทุกคน การสัญจรไปยังหมู่บ้านต่างๆ ตามดอยสูงกันดารคราวนี้คือภารกิจที่เธอเรียกว่าการแพร่ธรรม ซึ่งมีทั้งการสอนสวดภาวนาขอพรจากพระผู้เป็นเจ้า และการฝึกอาชีพอย่างการทอผ้า

          ถนนฝุ่นคลุ้งโยกคลอนพาเรามาถึงหมู่บ้านสะลี  หมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอแห่งนี้ซ่อนตัวอยู่ระหว่างหุบเขาห่างไกลในอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน  คณะซิสเตอร์แม่ปอนไม่รอช้า  ออกเดินเท้าเยี่ยมชาวบ้านอย่างคุ้นเคย พวกเธอทำหน้าที่เหมือนพนักงานไปรษณีย์  เพียงแต่สิ่งที่นำมามอบให้หาใช่จดหมายหรือพัสดุ หากเป็นสารหรือกำลังใจมอบแก่คนที่กำลังเจ็บป่วย และน้อมนำศรัทธาไปสู่ผู้ที่กำลังตกอยู่ในห้วงทุกข์  ชาวบ้านให้การต้อนรับคณะซิสเตอร์ด้วยรอยยิ้มและพูดคุยกันด้วยภาษากะเหรี่ยง  ทุกคนในหมู่บ้านต่างรอคอยการมาถึงของคณะ และในบางครั้งอาจหมายถึงการกลับมาเยี่ยมครอบครัวของซิสเตอร์ที่มาจากหมู่บ้านปกาเกอะญอหลายแห่งซึ่งตั้งอยู่บนเส้นทางด้วย

          แสงสุดท้ายของวันทอดลำผ่านฝาไม้ไผ่ขัดแตะ  กระท่อมหลังเล็กหลังนั้นมีเตาฟืนเป็นหัวใจของบ้าน  ใช้ทั้งประกอบอาหารและสร้างความอบอุ่นในค่ำคืนอันหนาวเหน็บ  ลำแสงบางๆ สาดส่องเข้ามากระทบผ้าคลุมผมสีขาวของซิสเตอร์ลาวา เธอมอบหมวกไหมพรมให้แม่เฒ่าเลโคโม่ผู้เป็นเจ้าของบ้าน  หมวกใบนี้ซิสเตอร์ลาวาถักขึ้นเอง แม่เฒ่ารับไว้พร้อมรอยยิ้มแทนคำขอบคุณ

          “ตอนอายุได้สองขวบ ฉันกำลังนั่งเล่นอยู่กับคนอื่นๆ ในหมู่บ้าน  มีชายคนหนึ่งเดินเข้ามา รูปร่างสูงใหญ่ ผิวขาวซีด และตาสีแปลกประหลาดมาก เขาสวมรองเท้าคู่ใหญ่มาก  และแต่งตัวไม่เหมือนใครที่เคยเห็น ฉันตกใจกลัวมากจนลุกขึ้นวิ่งหนี แต่พ่อของฉันดึงแขนเอาไว้  ชายคนนั้นบอกฉันว่าไม่ต้องกลัว แล้วก็หยิบทอฟฟี่ให้ฉันค่ะ” รัตนา ก้อยงามเลิศ หรือแม่ซอ วัย 60 ปีรำลึกคุณพ่อเซกีนอต (บาทหลวง Joseph Seguinotte) มิชชันนารีชาวฝรั่งเศสคนแรกที่เดินทางไป แพร่ธรรมถึงดอยสูง แม่ซอเป็นชาวคาทอลิกที่บ้านลาก๊ะ อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นลูกสาวของคุณตาคริมู ยอดเมืองฟ้า (ซึ่งเป็นเพื่อนกับพ่อของซิสเตอร์ลาวาด้วย) คนแรกๆ ในหมู่บ้านลาก๊ะที่กลับใจมานับถือคริสต์ศาสนา

          บาทหลวงเซกีนอตเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์อบรมเด็กชาวไทยภูเขาแม่ปอนเมื่อ พ.ศ. 2496 หนึ่งในคณะสงฆ์พระหฤทัยเยซูเจ้าแห่งเบธาราม  รูปเหมือนของบาทหลวงเซกีนอตซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์ฯ แม่ปอน  มีข้อความสลักไว้ว่า “ผู้ยิ่งใหญ่สำหรับชาวปกาเกอะญอ”  ท่านรับผิดชอบศูนย์แห่งนี้จนถึง พ.ศ.  2535  “ในสมัยที่คาทอลิกเพิ่งเข้ามาที่ภาคเหนือของประเทศไทย ตอนนั้นชาวปกาเกอะญอยังสูบฝิ่นกันเยอะ คุณพ่อนำทั้งศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าและความเจริญเข้ามา ทำให้คนเลิกสูบฝิ่นแล้วกลับใจมานับถือศาสนาคริสต์กันมาก” ซิสเตอร์ลาวาเล่า

          ซิสเตอร์ลาวาวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ชาวปกาเกอะญอหันมาเข้ารีตเป็นจำนวนมาก เป็นผลมาจากความคล้ายคลึงกันระหว่างความเชื่อผีแบบดั้งเดิมกับคริสต์ศาสนา รวมถึงวัฒนธรรมการครองคู่แบบผัวเดียวเมียเดียว “เพราะเราเชื่อในพระเจ้าและความดีสูงสุดค่ะ” เธอบอก

          ต่อมาใน พ.ศ. 2494 เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ในประเทศจีนซึ่งรู้จักกันในนามการปฏิวัติวัฒนธรรม บาทหลวงคณะพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าแห่งเบธารามจำนวน 10 รูป ถูกขับออกจากประเทศและได้เข้ามาพักพิงในประเทศไทย ยุคนั้นตรงกับช่วงที่พระสังฆราชหลุยส์ โซแรง พระสังฆราชแห่งกรุงเทพฯ ดำรงตำแหน่งอยู่

          พระสังฆราชหลุยส์ โซแรง ได้แนะนำให้พระสงฆ์คณะพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าแห่งเบธาราม ดูแลปกครองมิสซังภาคเหนือต่อจากคณะมิสซังแห่งกรุงปารีส  และสานต่อภารกิจอภิบาลสัตบุรุษ  พัฒนาโบสถ์และโรงเรียนในหลายท้องที่ของจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย และแพร่ โดยมุ่งเน้นที่กลุ่มชุมชนพื้นราบเป็นหลัก

          ทว่าในเวลาเดียวกัน  พระสงฆ์คณะพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าแห่งเบธาราม ก็ได้เริ่มเข้าไปแพร่ธรรมในเขตชุมชนชาวปาเกอะญอและอาข่าซึ่งอาศัยอยู่ในเขตภูเขาสูง  ห่างไกลและกันดารจากถนนหลวงและตัวเมือง บาทหลวงลูเซียน ลากอสต์ ซึ่งเป็นผู้นำคณะได้เขียนจดหมายลงใน Feuilles Missionnaires  ซึ่งเป็นจุลสารของคณะเบธาราม  ฉบับปี ค.ศ.1955 (พ.ศ. 2498) บันทึกการดำเนินงานเผยแพร่ศาสนาว่า  พบอุปสรรคหนักเป็นครั้งคราว ทั้งกำลังคนและทุนทรัพย์ “ท่านทั้งหลายคงจะเข้าใจว่า งานแพร่ธรรมนี้ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน” กระนั้นบาทหลวงลูเซียนก็ได้ระบุว่า ได้เกิดความหวังขึ้นในกลุ่มชาวปกาเกอะญอ ส่งผลให้ภารกิจชักจูงชาวบ้านให้ “กลับใจ” ได้เพิ่มมากขึ้น และได้แผ่ขยายออกไปทางด้านทิศตะวันตก ทิศเหนือ และตลอดแนวชายแดนประเทศพม่า

          ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การแพร่ธรรมค่อนข้างประสบความสำเร็จในหมู่ชาวปกาเกอะญอ  คือคริสต์ศาสนาลดทอนความยุ่งยากของพิธีกรรมลง  ต่างจากความเชื่อในภูตผีดั้งเดิมที่มีพิธีกรรมยุ่งยาก ซิสเตอร์ลาวา เล่าว่า แม่ของเธอเสียชีวิตตั้งแต่ 6 ขวบจากอหิวาตกโรค  เธอกับน้องจึงอยู่กับพ่อมาตลอด “การนับถือผีเป็นเรื่องลำบากมากสำหรับครอบครัวที่ขาดแม่ เพราะคนปกาเกอะญอถือว่า  ผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัว แต่ผู้หญิงคือหัวใจของบ้าน เมื่อแม่ตายไป  พ่อจึงต้องรื้อบ้านหลังเดิมทิ้ง ฆ่าสัตว์ทุกตัวที่เคยเลี้ยงจนหมด และสร้างบ้านใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้วิญญาณของแม่มาสิงอยู่ในบ้าน และต้องทำตามความเชื่ออื่นๆ อีกมากมาย จนเมื่อทราบข่าวของคุณพ่อเซกีนอต พ่อของฉันจึงไปพบและเกิดศรัทธาในที่สุดก็กลับใจเข้าสู่คาทอลิก”

          สายวันหนึ่งเราติดตามคณะซิสเตอร์ออกจากหมู่บ้าน   เดินเท้าไปตามสันเขาที่ปกคลุมไปด้วยไร่ข้าวโพด  ไต่ความสูงลัดเลาะขึ้นไปจนถึงยอดเขาบ้านป่าตึง บนนั้นเป็นแปลงปลูกข้าวไร่ เราเห็นพิธีกรรมเพาะปลูกของชาวปกาเกอะญอ ผสมผสานระหว่างความเชื่อดั้งเดิมกับความเชื่อแบบคาทอลิก

          ชาวปกาเกอะญอคาทอลิกเชื่อว่าข้าวให้ชีวิต พิธีกรรมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับข้าวจึงสะท้อนให้เห็นถึงความเคารพนับถือต่อพระผู้สร้างหรือพระผู้เป็นเจ้า มีการทำพิธีร่วมกันระหว่างผู้นำทางศาสนาและเจ้าของที่นา กล่าวคือสวดขอพรในทุกขั้นตอนการเพาะปลูก เริ่มตั้งแต่การถางไร่ เตรียมดิน หยอดเมล็ด เกี่ยวข้าว ไปจนถึงการตีข้าว การสวดขอพรในขั้นตอนเหล่านี้เป็นไปเพื่อให้พระผู้เป็นเจ้าอำนวยพรให้ผลผลิตดี  ช่วยประทานน้ำฝนหล่อเลี้ยงพืชพันธุ์ให้เจริญงอกงาม และเมล็ดพันธุ์ไม่เสียหาย “ชาวปกาเกอะญอเราถือว่า ข้าวเป็นสิ่งมีชีวิต ข้าวตาย 3 ครั้งเพื่อเรา คือตอนหว่านลงนา ตอนสี และตอนหุง  ข้าวคือชีวิต เพราะคนเราต้องกินน้ำกินข้าวจึงจะมีชีวิตอยู่ได้ค่ะ” ซิสเตอร์ลาวาอธิบาย

         หลังจากตระเวนเยี่ยมหมู่บ้านต่างๆ ไปตามยอดดอยลูกแล้วลูกเล่า เราก็มีโอกาสได้ไปเยือนศูนย์อบรมเด็กชาวไทยภูเขา แม่ปอน อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพร่ธรรมให้กับชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอที่ก่อตั้งขึ้นโดยคุณพ่อเซกีนอตและคุณพ่อโฟญีนี ศูนย์แห่งนี้เปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่อันอบอุ่นและร่มรื่นของซิสเตอร์กว่า 50 ท่านในคณะภคินีแพร่ธรรมแห่งพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล  หน้าที่หลักของซิสเตอร์ในคณะนี้คือ  การเดินทางแพร่ธรรมตามหมู่บ้านต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และตาก  สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ส่วนการทำนา เพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ รวมถึงการทอผ้าพื้นเมืองก็ยังเป็นสิ่งที่ซิสเตอร์ทุกคนในคณะแม่ปอน ยังคงยึดถือเป็นกิจวัตรประจำวัน  เช่นเดียวกับชาวปกาเกอะญอทั่วไป และในช่วงเปิดเทอมก็ยังรับภาระดูแลเด็กๆ ที่ศูนย์อบรมเด็กชาวไทยภูเขาแม่ปอนอีกด้วย

          เรามองภาพของเหล่าซิสเตอร์ในเครื่องแต่งกายจากผ้าฝ้ายทอมือสีกรมท่า ปักลวดลายพอเป็นเอกลักษณ์ ผ้าคลุมผมสีขาวสะอาดตา สวมรองเท้ายางหูหนีบ เดินรดน้ำต้นไม้  ให้อาหารนกกระทา เลี้ยงไก่ อาบน้ำให้หมู เก็บผักผลไม้ ดูแลสวนอย่างสุขุมและเบิกบานใจ กิจกรรมเหล่านี้ทำให้เรานึกถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงที่ชาวไทยภูเขาทุกหมู่เหล่าให้ความเคารพรัก เรานึกอิจฉาในวิถีชีวิตอันเรียบง่ายและไร้ความรีบเร่ง และได้แต่หวังว่า สักวันหนึ่งจะมีโอกาสได้กลับมาใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนที่นี่อีกครั้ง

 เรื่องโดย กมลวรรณ ลีลัคนาวีระ
กันยายน 2558