ผู้เขียน หัวข้อ: อบรมอาสาสมัครทางการแพทย์ ช่วยสร้างจิตสำนึกเพื่อชุมชน  (อ่าน 859 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
หนังสือพิมพ์บ้านเมือง -- พุธที่ 6 มีนาคม 2556 00:00:55 น.
สพฉ. ดึงกู้ชีพเข้าร่วมอบรม "ครู ก. พัฒนาสร้างอาสาฉุกเฉินชุมชน" นำร่องในพื้นที่ กทม. ตั้งเป้าให้ร่วมถ่ายทอดความรู้ให้กับประชาชน สู่การเป็นอาสาสมัครเพิ่ม เพื่อเตรียมพร้อมในภารกิจช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินให้รอดมากขึ้น ด้าน เจ้าหน้าที่กู้ชีพระบุ อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินอีกสาเหตุหนึ่งเกิดจากไทยมุง


 
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้จัดโครงการอบรม "ครู ก. พัฒนาสร้างอาสาฉุกเฉินชุมชน (อฉช.)" ให้กับเจ้าหน้าที่กู้ชีพจากมูลนิธิในพื้นที่กรุงเทพมหานคร อาทิ หน่วยกู้ชีพร่วมกตัญญู หน่วยกู้ชีพกูบแดง หน่วยกู้ชีพป่อเต็กตึ๊ง เพื่อพัฒนาไปเป็นครูฝึกสอนให้กับประชาชนทั่วไป นักเรียนนักศึกษา ในการขยายผลและต่อยอดการเป็นอาสาสมัครฉุกเฉินชุมชน ให้มีความรู้ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และสามารถแจ้งเหตุเมื่อพบผู้ป่วยฉุกเฉินได้

ร.อ.อ.นายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า การส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจในการช่วยเหลือเบื้องต้นด้านการแพทย์ฉุกเฉินนั้น นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตของผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินที่เกิดขึ้นในครัวหรือชุมชน ก่อนที่จะมีชุดปฏิบัติการฉุกเฉินเข้าไปถึงและรับตัวผู้ป่วยส่งรักษาในโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน ซึ่งประชาชนจำนวนมากยังไม่มีความรู้ในเรื่องของการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ที่อาจจะช่วยยื้อชีวิตของผู้ที่ประสบเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ ทั้งนี้ สพฉ.มีภาคีเครือข่าย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กู้ชีพหลากหลายมูลนิธิ และเจ้าหน้าที่เหล่านี้ก็มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ในเรื่องการช่วยเหลือเบื้องต้นด้านการแพทย์ฉุกเฉิน เราจึงได้จัดโครงการอบรมครู ก. อาสาฉุกเฉินชุมชน ให้กับเจ้าหน้าที่ กู้ชีพ เพื่อให้เขาได้นำความรู้เกี่ยวกับการช่วยเหลือชีวิตของประชาชนที่ประสบเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินไปถ่ายทอดให้กับประชาชนทั่วไป นักเรียนนักศึกษาและเยาวชน เข้าร่วมเป็นอาสาฉุกเฉินชุมชนและสามารถช่วยชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินหากเขาเหล่านั้นประสบเหตุได้ โดยครู ก. จะเข้าไปให้ความรู้กับประชาชนที่จะเข้าร่วมเป็นอาสาฉุกเฉินชุมชนด้วยกัน 3 เรื่อง คือ ขั้นตอนการแจ้งเหตุเพื่อของความช่วยเหลือ 1669 การปฐมพยาบาลเบื้องต้นตรงจุดเกิดเหตุ และการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน

ด้าน นายชัยณรงค์ บุ่งหวาย ผู้จัดการหน่วยกู้ชีพกูบแดง ที่เข้าร่วมอบรมครู ก. อาสาฉุกเฉินชุมชน (อฉช.) ในครั้งนี้กล่าวว่า การจัดโครงการในการอบรมครั้งนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะผู้เข้าร่วมอบรมถึงแม้จะมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน แต่จำนวนบุคลากรกู้ชีพของเราก็อาจจะไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือชีวิตของผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินที่มีปริมาณที่มากขึ้นทุกวันได้ การได้จัดระบบความรู้และเรียบเรียงความคิดเพื่อให้พวกเราได้จัดกระบวนการถ่ายทอดให้กับผู้อื่นได้ร่วมเรียนรู้ และร่วมเป็นอาสาฉุกเฉินชุมชนนั้นจะยิ่งทำให้การทำงานช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ซึ่งในการปฏิบัติหน้าที่กู้ชีพของพวกเราในแต่ละครั้งนั้น สิ่งที่เป็นปัญหาอย่างหนึ่งคือบรรดาไทยมุงที่เข้ามามุงดูเหตุการณ์ แต่ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ และหลายครั้งที่ผู้ประสบเหตุฉุกเฉินต้องเสียชีวิตจากการช่วยเหลือที่ผิดพลาดของผู้เข้าให้การช่วยเหลือที่ไม่มีความรู้ในเรื่องการช่วยชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินในแต่ละประเภท โดยเฉพาะในการเกิดอุบัติเหตุเราจะพบผู้ประสบเหตุเสียชีวิตจากอาการคอหัก หลังหัก จากการดึงตัวของผู้ประสบเหตุออกจากรถโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งจากโครงการนี้จะทำให้มีประชาชนจำนวนหนึ่งที่จะมีความรู้ในการช่วยเหลือชีวิตผู้ประสบเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งจะเป็นผลดีกับทุกๆ คน

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่กู้ชีพที่ได้เข้าร่วมการอบรมครู ก. อาสาฉุกเฉินชุมชน (อฉช.) ในครั้งนี้นั้น ได้เข้าร่วมถ่ายทอดวิธีปฏิบัติและการช่วยเหลือชีวิตผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินให้กับนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสมเด็จเจ้าพระยาด้วย โดยนักศึกษาที่เข้าร่วมอบรมเพื่อเป็นอาสาฉุกเฉินชุมชน (อฉช.) จะได้รับการถ่ายทอดและเรียนรู้ขึ้นตอนของการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน ทั้งขั้นตอนของการแจ้งเหตุ 1669 ที่ อฉช.จะต้องแจ้งชื่อ-นามสกุล เบอร์ติดต่อกลับ แจ้งอาการของผู้ป่วย สถานที่เกิดเหตุ เข้าทำการช่วยเหลือเบื้องต้นตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ตามอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน และรอจนกว่าชุดปฏิบัติการฉุกเฉินจะเข้ามารับผู้ป่วย

นายธนพงษ์ เทศนิยม นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กล่าวหลังจากที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้ เรื่องการกู้ชีพจาก ครู ก. อาสาฉุกเฉินชุมชน (อฉช.) ว่า การถ่ายทอดความรู้เรื่องการกู้ชีพให้กับพวกเราในวันนี้นั้นถือเป็นความรู้ที่ดีมาก เพราะถึงแม้ในวิชาเรียนเราจะเรียนกันมาในระดับหนึ่งแล้ว แต่เราก็ยังไม่เคยได้ลงปฏิบัติอย่างเป็นเรื่องเป็นราว การที่ สพฉ.และอาสามัคร ครู ก. มาถ่ายทอดความรู้ให้กับพวกเราในวันนี้ ทำให้เราได้ลงมือปฏิบัติในสถานการณ์จริง ทำให้เราได้ความรู้และวิธีการที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินได้ในหลากหลายกรณี ทั้งการยกผู้บาดเจ็บออกจากอาคารที่เขาประสบเหตุ หรือออกจากรถยนต์ที่เขาประสบเหตุ รวมทั้งการได้เรียนรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการทำ CPR ด้วย เป็นความรู้ที่ได้มากกว่าในตำรา จึงถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก