ผู้เขียน หัวข้อ: ส่องกล้องตรวจ “ทางเดินอาหาร”ค้นหาความผิดปกติ...ป้องกันโรคร้าย!!  (อ่าน 1105 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
เชื่อว่าอาการปวดท้องหลายคนต้องเคยเป็นอย่างแน่นอน แต่ถ้าอาการปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก ไม่สบายท้องนี้เป็นอยู่บ่อยๆ จนเรื้อรังแบบไม่ทราบสาเหตุ อย่านิ่งนอนใจ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายเรามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องเพื่อสะดวกแก่การรักษา เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจก่อให้เกิดโรคร้ายเป็นอันตรายถึงชีวิต...!!

ทั้งนี้นายแพทย์ยศพร โสภณธนะสิริ แพทย์อายุรกรรมระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลสมิติเวช ให้ข้อสังเกตว่า การตรวจวินิจฉัยระบบทางเดินอาหารในสมัยก่อนจะใช้วิธีเอ็กซเรย์ธรรมดา ซึ่งปัจจุบันถือว่าโบราณ แม้กระทั่งวิธีซีทีสแกน (CT Scan) ก็ไม่ได้ผลเพราะจะเห็นแค่โครงคร่าวๆ ของลำไส้ไม่สามารถมองเห็นผนังลำไส้ด้านใน แต่ปัญหาของคนไข้ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ข้างนอกแต่อยู่ภายใน เช่น การเกิดมะเร็ง การเกิดการอักเสบของลำไส้ กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กก็เกิดจากภายในทั้งนั้น ดังนั้นแพทย์จะแนะนำการตรวจวินิจฉัยด้วยการส่องกล้อง

อย่างไรก็ตาม กรณีที่คนไข้จะต้องส่องกล้องตรวจต้องมีปัญหาที่เกี่ยวกับช่องท้อง การปวดท้องเรื้อรัง การถ่ายผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นท้องผูก ท้องเสียเรื้อรัง โดยในการตรวจวินิจฉัยสิ่งสำคัญก็คือต้องทำบนหลักพื้นฐานทางวิชาการโดยมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน เช่น มีอาการมานาน มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งหรือโรคร้าย เช่น น้ำหนักลดลงผิดปกติอย่างชัดเจน มีอาการอาเจียนรุนแรงต่อเนื่องกันนาน หรือว่ามีอาการโลหิตจางร่วมด้วยซึ่งอาจจะบ่งชี้ถึงเรื่องของการเสียเลือดในระบบทางเดินอาหารแบบเรื้อรังที่เรามองไม่เห็น หรือจะทำในคนไข้ที่ไม่มีอาการแต่คนไข้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคในอนาคต เช่น คนไข้ที่มีอายุเกิน 50 ปี เพื่อสกรีนหาระยะเริ่มต้นจะได้รักษาด้วยความรวดเร็วจึงไม่ลุกลามไปมาก เพราะยากต่อการเยียวยารักษาหรือรักษาไม่หาย

จากการสำรวจพบว่า ในประเทศญี่ปุ่น ผู้ที่มีอายุเกิน 35 ปี จะมีการสกรีนนิ่งการส่องกล้องกระเพาะอาหารทุกๆ ปี โดยบางบริษัทจะส่งพนักงานไปตรวจ เนื่องจากเป็นห่วงพนักงานกลัวว่าจะเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะส่วนมากโรคมะเร็งกระเพาะอาหารมักจะเกิดกับคนอายุน้อยกับอายุมาก ตรงช่วงกลางคนไม่ค่อยมี ซึ่งอายุน้อยๆ ในที่นี้คืออายุประมาณ 30 กว่าปีขึ้นไป ส่วนอายุมากคือ 70 ปีขึ้นไป

การส่องกล้องในลำไส้จะแบ่งเป็นหลายส่วน อันแรกคือการส่องกล้องด้านบน เป็นการดูตั้งแต่หลอดอาหารจนกระทั่งถึงกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น ต่อมาคือการส่องลำไส้ใหญ่ คือการส่องกล้องจากทวารหนักมาในลำไส้ใหญ่ทั้งหมด รวมถึงในลำไส้เล็กส่วนปลาย ส่วนตรงกลางเนื่องจากลำไส้ส่วนกลางเป็นส่วนที่ซับซ้อนและยาวมาก มีลักษณะขดม้วนไปมา ฉะนั้นการส่องกล้องแบบธรรมดาจะเข้าไปไม่ได้จึงมีกล้อง 2 แบบ คือ แบบแคปซูลที่เรากินเข้าไป เมื่อลงไปในลำไส้เล็กก็จะถ่ายรูปเรื่อยๆ และนำมาต่อกัน ซึ่งเราได้ภาพจากการส่งสัญญาณไวเลต แต่ไม่สามารถบังคับได้ ซึ่งกล้องแคปซูลสามารถตรวจเห็นรอยโรคทุกชนิดที่อยู่ในลำไส้เล็ก เช่น รอยจุดเลือดออก ก้อนเนื้องอก หรือแม้กระทั่งมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดที่เกิดในลำไส้เล็ก แต่ว่าไม่สามารถเก็บชิ้นเนื้อได้ จึงมีกล้องชนิดที่สำหรับใส่เข้าไปในลำไส้เล็ก โดยกล้องอีกชนิดนี้สามารถบังคับได้เรียกว่าเอ็นโดสโคป เป็นกล้องชนิดพิเศษยาวกว่าปกติและใช้เทคนิคในการดึงรั้งลำไส้ แต่ยุ่งยากมากต้องดมยาสลบ ใช้ในกรณีเก็บชิ้นเนื้อหรือรักษาในการหยุดเลือด ซึ่งใช้กันไม่ค่อยบ่อย สุดท้ายเป็นกล้องตรวจทางเดินน้ำดี ใช้สำหรับรักษานิ่วในท่อน้ำดี หรือมะเร็งและเนื้องอกในท่อน้ำดี แต่โรคนี้ไม่ค่อยเจอ

การใช้กล้องส่องเพื่อการตรวจวินิจฉัยมีประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป ปัจจุบันมีการพัฒนาดีขึ้นกว่าสมัยก่อนทำให้ไม่ยุ่งยาก และคนไข้ก็ไม่เจ็บตัว เพราะผนังลำไส้ด้านในไม่มีประสาทรับความรู้สึก ฉะนั้นการตัดชิ้นเนื้อ ตัดติ่งเนื้อ หรือตัวอย่างชิ้นเนื้อในลำไส้คนไข้จะไม่รู้สึกเจ็บ โดยล่าสุดมีคนไข้คนหนึ่งโชคดีมากมาเช็คอัพปกติ ไม่มีอาการใดๆ บ่งชี้เลย พอส่องกล้องไปเจอติ่งเนื้อเป็นมะเร็งระยะเริ่มต้นหมอจึงตัดออก ดังนั้นเราจึงควรจะเริ่มตรวจด้วยวิธีส่องกล้องเมื่อคนไข้อายุ 50 ปีขึ้นไป หรือใครที่มีประวัติครอบครัวทางพันธุกรรมที่เป็นมะเร็งลำไส้ หรือมะเร็งระบบที่เกี่ยวข้องกับลำไส้ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งตับอ่อน เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารทั้งหมด จึงเกี่ยวโยงกันหมด จึงต้องคอยระวังตัวเองหรืออาจจะต้องมาสกรีนนิ่งก่อน

การส่องกล้องมีส่วนช่วยยืดลำไส้บ้างเล็กน้อย แต่เรามีกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายอยู่ตลอดเวลา โดยผู้หญิงมีแนวโน้มที่ลำไส้จะพับมากกว่าผู้ชาย เพราะโครงสร้างทางอุ้งเชิงกรานของผู้หญิงไม่เหมือนผู้ชาย แต่ก็ไม่เป็นปัญหามากกว่าการเป็นโรคร้าย ซึ่งคนไข้สบายใจที่ได้ส่องกล้อง เพราะบางคนกลัวเป็นมะเร็งจึงเกิดความเครียด กังวลทำให้ท้องอืด ท้องผูก พอส่องกล้องแล้วคนไข้ก็จะหายจากอาการทุกอย่าง รู้สึกสบายท้องเพราะแพทย์ให้ยาเคลียร์ลำไส้ ยิ่งส่องกล้องแล้วไม่เจออะไรก็ยิ่งสบายใจมากขึ้น

สุดท้ายควรเราดูแลระบบทางเดินอาหารด้วยตัวเองให้ดี เช่น ไม่ทานอาหารที่ไม่แน่ใจว่าสะอาด เช่น บางทีตั้งอาหารทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้องที่เหมาะสม แบคทีเรียก็เพิ่มจำนวนขึ้นได้จึงไม่ควรรับประทานก่อนที่จะอุ่นไมโครเวฟให้อุณหภูมิร้อนพอฆ่าเชื้อโรคได้ รับประทานผักและผลไม้สม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เพราะมีรายงานว่าเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ และความเค็มก็มีรายงานว่าเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งกระเพาะอาหาร และไม่ควรรับประทานเนื้อวัวดิบ หมูสามชั้น ของทอดต่างๆ เนื่องจากเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ แถมทำให้เราป่วยด้วย เช่น ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ และถ้าไม่แน่ใจอาการผิดปกติต่างๆ ที่กล่าวมาควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยก่อนเกิดโรคร้าย...!!

เคล็ดลับสุขภาพดี - วิธีลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ

ปัญหาส่วนใหญ่ของผู้สูงอายุมักจะเป็นเรื่องของการทรงตัวที่ไม่ดี จึงมีโอกาสที่จะทำให้เกิดการหกล้มได้ง่าย   และด้วยวัยของผู้สูงอายุนั้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุหกล้มและการบาดเจ็บมักจะมีความรุนแรงมากกว่าคนในวัยปกติทั่วไป วันนี้เคล็ดลับสุขภาพดีจึงมีวิธีลดปัจจัยเสี่ยงต่อการหกล้มในผู้สูงอายุมาฝากกันค่ะ

ผศ.นพ.ภาริส วงศ์แพทย์ จากสถาบัน DBC Spine Clinic & Gym ให้ความรู้ว่า สาเหตุของการหกล้มในผู้สูงอายุมีทั้งปัจจัยภายในที่เกิดจากตัวเอง อาทิ โรคที่เกี่ยวกับกระดูก โรคหลอดเลือดสมอง โรคของไขสันหลัง โรคความดันโลหิตทำให้หน้ามืดเวียนศีรษะรวมถึงการรับประทานยาบางตัวที่ทำให้เกิดผลข้างเคียงทำให้มีอาการเวียนศีรษะ ทรงตัวไม่ดีทำให้ล้มได้ง่าย ส่วนปัจจัยภายนอกเกิดได้จากสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวของผู้สูงอายุที่อาจจะไม่ปลอดภัย เช่น  แสงสว่างไม่เพียงพอ พื้นลื่น พื้นมีหลายระดับ ขั้นบันไดที่แคบเกินไป มีข้าวของวางเกะกะตามพื้น หรือสัตว์เลี้ยงวิ่งชนทำให้หกล้ม เป็นต้น

ดังนั้นในการป้องกันเพื่อลดการหกล้มในผู้สูงอายุซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงภายใน ทำได้โดยการออกกำลังกายเพื่อคงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและการทำงานของระบบข้อ ทำให้การทรงตัวมั่นคงปลอดภัย ได้แก่ การออกกำลังกายที่ถูกต้องอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ออกกำลังกายให้ครบทุกส่วนเพื่อให้กล้ามเนื้อและกระดูกได้รับการบริหาร ออกกำลังการอย่างช้าๆ ไม่หักโหม และออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวัน  ที่สำคัญควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่วนตัวในการลุก การนั่ง ให้เป็นไปอย่างช้าๆ เพื่อป้องการหกล้มจากการปรับเปลี่ยนอิริยาบถ หรือไม่ก็ใช้อุปกรณ์ช่วยเดินก็เป็นการพยุงตัวของผู้สูงอายุได้เช่นกัน

ส่วนปัจจัยภายนอกก็นับว่ามีความสำคัญและมีผลต่อการเกิดหกล้มของผู้สูงอายุเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดบริเวณบ้าน ควรจัดให้มีแสงสว่างเพียงพอ  ทางเดินและบันไดควรมีราวจับ ความสูงของขั้นบันไดควรมีความสูงที่พอเหมาะทำให้ก้าวขึ้นบันไดได้อย่างสะดวก อุปกรณ์หรือแม้กระทั้งของใช้ภายในบ้านต้องแข็งแรง มั่นคง วางอย่างเป็นระเบียบ ไม่วางเกะกะ พื้นห้องสม่ำเสมอและควรเป็นวัสดุที่ไม่ลื่น เตียงนอน  โต๊ะเก้าอี้  และโถสุขภัณฑ์มีความสูงพอเหมาะไม่ต่ำเกินไป  ซึ่งปัจจัยดังกล่าวล้วนแต่ส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุของผู้สูงอายุทั้งสิ้น 

นอกจากการลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดการหกล้มในผู้สูงอายุแล้ว ตัวของผู้สูงอายุเองก็ต้องมีความระมัดระวังในการดำเนินชีวิตด้วยเช่นกัน  ไม่ว่าจะเป็นการลุก เดิน หรือจะนั่งก็ควรทำอย่างช้าๆ และที่สำคัญลูกหลานก็ควรดูแลเอาใจใส่คุณย่า คุณยาย ไม่ให้อยู่คนเดียวตามเพียงลำพัง เพื่ออย่างน้อยๆ ท่านก็จะได้อุ่นใจที่ยังมีคนคอยดูแลเผื่อเกิดอะไรขึ้นมาจะได้ช่วยเหลือได้ทันท่วงที

สรรหามาบอก

-ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ ขอเชิญร่วมกิจกรรม “พิทักษ์อนาคตไทย พ้นภัยเบาหวาน” เนื่องในวันเบาหวานโลก พบกิจกรรมให้ความรู้มากมาย อาทิ ประเมินความเสี่ยงโรคเบาหวาน ตรวจวัดดัชนีมวลกาย BMI ตรวจระดับน้ำตาลสะสมปลายนิ้ว (เฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง 50 ท่านแรกต่อวัน) ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดจากปลายนิ้ว ตรวจวัดความสมดุลของร่างกาย ด้วยเครื่อง Inbody ตรวจประเมินความผิดปกติของเท้า ด้วยเครื่อง Vibrometer แนะนำการรับประทานอาหาร โดยนักกำหนดอาหาร ระหว่างวันที่ 12 -14 พฤศจิกายน 2554 เวลา 8.00-12.00 น. ณ ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อกรุงเทพ ชั้น 2 โรงพยาบาลกรุงเทพ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Contact Center โทร.1719

-โรงพยาบาลวัฒโนสถ โรงพยาบาลรักษาด้านโรคมะเร็งที่โรงพยาบาลกรุงเทพ รณรงค์ต้านภัยมะเร็งปอด ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมงานสัมมนา “เรียนรู้ สู้มะเร็งปอด” ไขทุกปัญหาคาใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งปอดจากเสวนาประเด็นเข้มข้น อาทิ รวมพลังคนไทยปลอดบุหรี่ หยุดมะเร็งปอด จริงหรือ... สูดควันบุหรี่ เสี่ยงไข้หวัดใหญ่ เทคโนโลยีการค้นหามะเร็งปอดระยะแรก ฝังเข็มอดบุหรี่ และธรรมะในการอยู่ร่วมกับมะเร็ง นอกจากนี้ยังมีบริการตรวจสุขภาพปอด ตรวจวัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด และพบสารพันวิธีเลิกบุหรี่ด้วยตัวคุณเองในวันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน 2555 เวลา  9.00-11.30 น. ณ ห้องประชุมนพ.พงษ์ศักดิ์ วิทยากร ชั้น 7 อาคารเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพ

-โรงพยาบาลสมิติเวช ขอเชิญผู้สนใจร่วมกิจกรรม Workshop การออกกำลังกายชี่กงศาสตร์บำบัดโรคปรับความสมดุลของร่างกาย ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน และลดการบาดเจ็บและสร้างภูมิต้านทานโรคได้เป็นอย่างดี ใน วันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน 2555 เวลา 09.30 – 12.00น. ณ ห้องบัญชา ล่ำซำ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท (ไม่เสียค่าใช้จ่าย) สำรองชื่อร่วมกิจกรรมโทร. 0-2711-8181

-โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ร่วมกับวัดบวรนิเวศวิหาร จัดทอดผ้าป่าสามัคคี เพื่อนำรายได้สมทบทุนดูแลพระภิกษุสงฆ์ สามเณรอาพาธ และผู้ป่วยสามัญของโรงพยาบาล พร้อมทั้งจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ ในวันพุธที่ 19 ธันวาคม 2555 เวลา 13.30 น. ณ  ตึก ภปร. ชั้นล่าง จึงขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญทอดผ้าป่าสามัคคีได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 18 ธันวาคม 2555 เวลา 07.30 – 13.30 น. ณ บริเวณห้องโถงชั้นล่าง ตึก ภปร.สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0-2256-4382, 0-2256-4397 



เดลินิวส์