ผู้เขียน หัวข้อ: ๔๕๐ ปีนครเวียงจันทน์-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 2200 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ฉันยืนอยู่กลางแดดร้อนจัดของฤดูหนาวตรงทางออกจากด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว รอบตัวอื้ออึงด้วยสรรพเสียงและพร่าเลือนด้วยสารพัดความเคลื่อนไหว

“ไปเวียงจันทน์มั้ย” ตี๋น้อยกล่าวข้างหูฉันด้วยภาษาไทยไม่เจือสำเนียงอื่น เด็กหนุ่มหน้าตาดีวัยไม่เกิน ๒๕ ปีคนนี้ หาเลี้ยงครอบครัวด้วยการขับรถรับส่งผู้โดยสารจากสะพานมิตรภาพ เขากับพ่อมาที่นี่ทุกวันเพื่อช่วยกันหาผู้โดยสาร “บางวันถ้าโชคดีก็ได้สักเที่ยว บางวันมาคอยทั้งวันไม่ได้เลยก็มี แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยดี ตั้งแต่น้ำท่วมคนไทยมาน้อยลงเยอะ" เขาเล่าขณะที่ฉันตกลงอาศัยรถเขาเข้าไปในตัวเมืองเวียงจันทน์ที่ห่างจากสะพานไป ๒๐ กว่ากิโลเมตร

ขณะ ที่รถตู้ของตี๋น้อยวิ่งไปช้าๆ ฉันสูดกลิ่นอายของเมืองที่คุ้นเคยอีกครั้ง แค่เพียงปีเดียวเท่านั้น ทิวทัศน์สองฟากระหว่างทางสู่นครเวียงจันทน์เปลี่ยนแปลงไปมากจริงๆ และหากเทียบกับตอนที่ฉันได้มาเยือนครั้งแรกสมัยยังเป็นเด็กก็แทบไม่เหลือ เค้าเดิมให้เห็น ท้องนาเขียวชอุ่มกว้างไกลสลับกับบ้านเรือนหลังน้อยและร้านค้าเล็กๆเหล่านั้น หายไปแล้ว บัดนี้ริมฝั่งถนนกลับกลายเป็นย่านชุมชน ร้านค้า และตึกอาคารโรงงานที่ผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด

อยู่ ดีๆตี๋น้อยก็หักรถเข้าข้างทาง เด็กหนุ่มเปิดกระจกรถพร้อมกับยื่นธนบัตรให้เด็กสาวที่ยืนอยู่ใต้ร่มไม้ เขาชักมือกลับมาพร้อมกับแผ่นกระดาษกลมๆแผ่นหนึ่ง “เฉลิมฉลองนครหลวงเวียงจันทน์ครบรอบ ๔๕๐ ปี” เขายื่นให้ฉันดู   สติกเกอร์ ใบ นั้นมีรูปพระธาตุหลวง สัญลักษณ์ของเวียงจันทน์และศูนย์รวมความศรัทธาของคนลาว เด่นสง่าอยู่ตรงกลาง ขนาบข้างด้วยช่อจำปาลาวและพระรูปพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ผู้ทรงสถาปนานครหลวงเวียงจันทน์ “อีกไม่กี่วันก็จะมีงานฉลองแล้ว จัดร่วมกับบุญธาตุหลวง และวันชาติลาวครบ ๓๕ ปี” ตี๋น้อยเล่าไม่ต้องรอให้ฉันถาม ดูท่าทางเขาก็จะตื่นเต้นกับการฉลองใหญ่ครั้งนี้ไม่น้อย

เมื่อรถตู้กลางเก่ากลางใหม่ของตี๋น้อยเข้าใกล้ตัวเมือง ป้ายผ้าเขียนข้อความว่า “ขอชมเชยวันสถาปนา ส.ป.ป. ลาวครบ ๓๕ ปี อย่างสุดใจ” ที่ติดอยู่ตามสถานที่ราชการคู่กับป้าย “นครหลวงเวียงจันทน์ ๔๕๐ ปี” ตามถนนหนทางทั่วไป ก็เริ่มหนาตาขึ้นเรื่อยๆ

ทว่า สิ่งที่ดึงดูดสายตาที่สุดเห็นจะเป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ริมแม่น้ำโขงที่ซึ่ง อนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ล้านช้างตั้งเด่นเป็นสง่าใกล้กับที่ตั้ง พระราชวังเดิมของพระองค์ ที่บัดนี้แปรสภาพเป็น “หอคำ” หรือ “ทำเนียบประธานประเทศ” พระองค์ทรงยืนทอดพระเนตรแม่น้ำโขง พระหัตถ์ผายไปทางฝั่งหนองคาย ป้ายใกล้ๆกันเขียนว่า “สวนสาธารณะเจ้าอนุ” แม้แดดยามเที่ยงที่กระทบน้ำโขงเป็นประกายระยิบจะแผดแสงแรงจ้าจนบาดตาและบาด ผิว แต่คนลาวหลายคนก็ยืนโพสท่าถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกับอนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ด้วย สีหน้ายิ้มแย้ม ดูเหมือนเวียงจันทน์วันนี้จะเต็มไปด้วยสัญลักษณ์และบรรยากาศของการเฉลิมฉลอง อย่างแท้จริง

นครจันทบุรีศรีสัตนาคนหุตอุตมราชธานี เป็นชื่อที่พระเจ้าไชยเชษฐาพระราชทานให้แก่เมืองเก่าแก่ริมแม่น้ำโขงแห่งนี้ พระองค์ทรงสถาปนาเวียงจันทน์เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านช้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๐๓ จากนั้น อีก ๖ ปีต่อมา พระองค์ได้ทรงบูรณะพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง  โดย โปรดฯให้สร้างพระธาตุองค์ใหญ่ครอบและพระราชทานนามใหม่ว่า พระธาตุหลวง ด้วยเหตุนี้ นครเวียงจันทน์และพระธาตุหลวงจึงมีประวัติศาสตร์เกี่ยวเนื่องกันมายาวนาน ตั้งแต่สมัยโบราณ

โครงการ ปรับปรุงพื้นที่หลังพระธาตุหลวง หรือโครงการสร้างสวนไชยเชษฐา เป็นหนึ่งใน ๒๑ โครงการพัฒนาเพื่อเฉลิมฉลอง ๔๕๐ ปีของนครเวียงจันทน์ นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงซ่อมแซมศาสนสถานที่สำคัญ รวมถึงการตัดถนนสายใหม่ๆ สร้าง สวนสาธารณะและสนามกีฬา เพื่อนำเวียงจันทน์ไปสู่เป้าหมายการเป็นเมือง ๖ ส. ได้แก่ “สะหว่าง สะหงบ สะอาด สะเหมอ สีเขียว และ สิวิไล” โดยเฉพาะคำว่า “สิวิไล” ซึ่งหากหมายถึงความเจริญทางวัตถุ เวียงจันทน์ก็คงกำลังถูกความศิวิไลซ์เข้ากลืนกิน ตลาดเช้าที่เคยเป็นตลาดชั้นเดียวขนาดใหญ่ แปรสภาพเป็นห้างสรรพสินค้าคอมเพล็กซ์ติดแอร์หรูหรา ศูนย์การค้าลักษณะเดียวกันกำลังผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดผ่านการลงทุนของชาวต่าง ชาติ

 “ก็ เหมือนเมืองที่กำลังพัฒนาทั่วไป มีตึกรามบ้านช่อง ถนนหนทางมาพร้อมกับไฟแดงกับวงเวียน มีสัญลักษณ์ของเมืองแบบทันสมัย เมืองขยายไปไวหลาย แต่เสน่ห์ของเวียงจันทน์ก็ยังอยู่ที่มีความเป็นเมืองคู่กับความเป็นชนบท ขับรถออกไปไม่เกินครึ่งชั่วโมงก็เจอท้องนา เจอกระท่อมแล้ว ในเมืองเจริญหลายแต่ก็ยังมีชนบทอยู่” ปุ้ย หรือ ดวงแข บุนยาวง เจ้าของร้านหนังสือดอกเกด พูดยิ้มๆ แต่สิ่งที่มาพร้อมกับความเจริญและการพัฒนาคือความใม่สะดวกสบายแบบใหม่ๆ “มี รถหลาย รถติด คนเข้ามาทำงานก็ต้องทานอาหารตามร้านอาหาร เมื่อก่อนคนลาวบ่ค่อยกินข้าวนอกบ้าน อาหารธรรมดาก็กลายเป็นอาหารราคาแพงได้ ทั้งเดี๋ยวนี้จะหาร้านขายยาก็บ่ค่อยมี กลายเป็นร้านขายซีดีเพลง ร้านขายมือถือ ร้านซีดีกลายเป็นสิ่งจำเป็นของชีวิตไปแล้ว”  ปุ้ยพูดถึงประสบการณ์ของตัว “แต่มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องปรับตัวเอา เฮาไม่อาจจะไปต้านทานความเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าทนบ่ได้ก็ต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น” เธอพูดปนหัวเราะ

ความเจริญที่กำลังเกิดขึ้นอย่าง รวดเร็วทำให้ผู้คนมากหน้าหลายตาและวัฒนธรรมต่างถิ่นเข้ามาในเวียงจันทน์ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้เกิดปราฏการณ์ต่างๆที่ไม่เคยเกิดขึ้นในเวียงจันทน์มา ก่อน ไม่ว่าจะเป็นการประกวดนางงามหลากหลายสายสะพายที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมภาพ ลักษณ์การท่องเที่ยวและเพื่อสรรหาทูตวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังมีเรื่องอาชญากรรมเล็กๆน้อยๆที่เพิ่มขึ้น เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวนักท่องเที่ยวคนไทยทะเลาะกับนักท่องเที่ยวชาติอื่น  ถึงขนาดควักปืนออกมาขู่กัน  เป็นเรื่องน่าตกใจที่ไม่เคยเกิดขึ้นในเวียงจันทน์มาก่อน

คืน ก่อนขณะฉันเดินอยู่แถวย่านศูนย์การค้าในเมือง หรือที่เรียกกันว่าเซ็นเตอร์พอยต์ นักมายากลไทยวัยสามสิบปลายคนหนึ่งตั้งโต๊ะขายอุปกรณ์มายากลอยู่ริมถนน มีทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่มามุงกันเนืองแน่น เราทักทายกันตามประสาเพื่อนร่วมชาติ “เคยมีคนไทยเดินมาพูดกับผมว่า ‘คนลาวหน้าตาแบบนี้เหรอ เล่นมายากลก็ได้ น่ารักจัง’ พอผมบอกว่า ‘ผมคนกรุงเทพเหมือนพี่แหละครับ’ เลยอายเดินหนีไปเลย” ชายหนุ่มร่างท้วมเล่า ฟังแล้วน่าเป็นห่วงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวไทยหลายคน             ที่ไม่ระวังทัศนคติและคำพูดของตัวเอง

ความ ขัดแย้งในอดีตระหว่างสองประเทศยังเป็นเหมือนเงาที่คอยติดตามหลอกหลอน ไม่ว่าจะเป็นสารคดีทางโทรทัศน์ หรือหนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ต่างกล่าวถึงเหตุการณ์ที่สยามบุกเวียงจันทน์เมื่อสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นจารึกอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ของลาว ยิ่งมีการเฉลิมฉลอง ๔๕๐ ปีของเวียงจันทน์ เอกสารการชำระประวัติศาสตร์สมัยพระเจ้าอนุวงศ์ก็เกิดขึ้นมากมาย แม้แต่ที่ร้านดอกเกดหนังสือที่ขายดีที่สุดตอนนี้ก็คือเรื่องเจ้าอนุที่เพิ่ง วางแผงใหม่ แสดงให้เห็นถึงความสนใจในประวัติศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้น  ฉันอดไม่ได้ที่จะถามเธอว่ารู้สึกอย่างไรกับคนไทย ความบาดหมางในอดีตส่งผลต่อมาถึงปัจจุบันหรือไม่ “ปุ้ย ก็พูดแทนคนอื่นไม่ได้ คนคิดอย่างนั้นก็มี บางคนก็ชังประเทศอื่นก็มี แล้วแต่ประสบการณ์ที่เขาผ่านมา แต่ว่าส่วนตัวเฮา เฮาก็มีญาติพี่น้องเป็นคนไทย ก็บ่ได้คิดอย่างนั้น”
คืนเดือนเพ็ญต่อมาเป็น คืนแรกของงานเฉลิมฉลอง ๔๕๐ ปี ลานหน้าพระธาตุหลวงคลาคล่ำไปด้วยผู้คนทุกเพศทุกวัยที่มาเที่ยวงานออกร้าน รวมทั้งมาทำบุญเวียนเทียน เสียงเพลงดังกระหึ่มงาน บรรดาร้านค้าต่างประชันกันโฆษณาผ่านเครื่องขยายเสียงที่ดังแผดจนฟังไม่ได้ ศัพท์ ไฟนีออนและสปอตไลต์ตามซุ้มต่างๆ สร้างลวดลายหลากสีสันชวนปวดตา ฉันรีบเดินฝ่าความโกลาหลด้านนอกเข้าไปสู่องค์พระธาตุหลวงที่เด่นเป็นสง่า  สี ทองของพระธาตุแผ่รัศมีความสงบออกมาสยบความวุ่นวายที่เกิดขึ้นด้านหน้า ความอึกทึกครึกโครมข้างนอกก็ดูเหมือนจะห่างไกลออกไปหลายปีแสง เพื่อนร่วมเวียนเทียนหลายสิบมีทั้งหญิงชาย เด็กน้อยและแม่เฒ่า พระสงฆ์และฆราวาส สิ่งเดียวที่ทุกคนมีเหมือนกันคือศรัทธาและความตั้งใจในการมาประกอบบุญในคืน นี้ เราหยุดเดินเมื่อเวียนเทียนครบสามรอบ เณรน้อยสามรูปกำลังช่วยกันปักเทียนลงไปที่แท่นข้างพระธาตุ ฉันมองไปที่องค์ธาตุที่เป็นศูนย์รวมจิตใจแล้วตระหนักขึ้นมาว่า จิตวิญญาณเก่าแก่ของเวียงจันทน์ยังคงไม่เสื่อมสูญ ความเจริญทางวัตถุสามารถเกิดขึ้นได้ควบคู่กับความเจริญทางจิตใจ หากผู้คนเคารพในคุณค่าของตนโดยไม่หลงลืมรากเหง้าของตัวเอง

มกราคม 2554