ผู้เขียน หัวข้อ: 2554 ปีแห่งการสร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุไทย  (อ่าน 2671 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
ในช่วงเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โครงสร้างประชากรของประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก วิวัฒนาการด้านการแพทย์ ส่งผลต่อการลดระดับการตาย และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างทางอายุของประชากรไทย กล่าวคือ พบว่าในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมาทั้งจำนวนและสัดส่วนของประชากรไทยในวัยเด็ก (อายุต่ำกว่า 15 ปี) ลดลง ในขณะที่จำนวนของประชากรในวัยแรงงาน (อายุ 15-29 ปี) ยังคงเพิ่มขึ้น สำหรับประชากรสูงอายุหรือประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวนและสัดส่วนเพิ่มขึ้น

จากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยปี 2552 ของ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย เรื่องการศึกษาขนาดและแนวโน้มประชากรผู้สูงอายุไทยระหว่างปี 2503 พบว่า ประชากรอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมีเพียง 1.5 ล้านคนหรือประมาณร้อยละ 5.4 ของประชากรทั้งหมด แต่ขนาดของประชากรตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มเป็น 7 เท่าคือประมาณ 7.6 ล้านคนในปี 2552 ทำให้เป็นปีที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ นั่นคือมากกว่าร้อยละ  10 ของประชากรทั้งหมด

การเพิ่มขนาดและสัดส่วนประชากรสูงอายุไทยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการคาดการณ์ในปี 2568 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 14.9 ล้านคนหรือคิดเป็น 2 เท่าของปี 2552  และในปี 2573 จะเพิ่มขึ้นเป็น 17.8 ล้านคน หรือคิดเป็น ร้อยละ 25 ของประชากรทั้งประเทศ

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอายุของประชากรสูงอายุชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่ ประเทศไทยจะมีขนาดและสัดส่วนของประชากรสูงอายุที่มีอายุมากๆ เพิ่มสูงขึ้น นับเป็นประเด็นท้าทายในการให้การดูแลทางด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุที่มีอายุ มาก หรือผู้สูงอายุวัยปลายเป็นอย่างมาก

ในปี 2554 เป็นต้นไป การสร้างระบบความคุ้มครองทางเศรษฐกิจและสังคมสำหรับผู้สูงอายุ เป็นประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ

หนุนรัฐสร้างหลักประกันด้านรายได้ยามชราภาพ

รัฐบาลเริ่มดำเนินการนโยบายเบี้ยยังชีพอย่างถ้วนหน้า แก่ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 500 บาทต่อเดือน ส่งผลให้มีผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพในปี 2552  เป็นจำนวน 5,652,893 คนคิดเป็นร้อยละ 80 ของจำนวนผู้สูงอายุทั่วประเทศ  ทำให้ยังมีผู้สูงอายุบางส่วนที่ยังไม่รับ และในระยะยาวยังไม่มีหลักประกันว่ามาตรการนี้จะยังคงอยู่อย่างยั่งยืน

นอก จากเบี้ยยังชีพที่ยังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ สูงอายุแล้ว การออมของแรงงานเพื่อใช้จ่ายยามชราภาพก็เป็นมาตรการสำคัญที่หนุนเสริมหลัก ประกันรายได้ ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังได้นำเสนอ พ.ร.บ. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาในระดับสภาผู้แทนราษฎร แต่พ.ร.บ.ฯนี้ครอบคลุมเพียง กลุ่มแรงงานนอกระบบ 24 ล้านคนเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแรงงานมีการเปลี่ยนงานระหว่างนอกระบบไปเป็นแรงงานในระบบ หรือกลับกันไปมาอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นรัฐบาลควรคำนึงถึงความเป็นจริงดังกล่าว และสร้างระบบการออมที่ต่อเนื่องและยั่งยืนเพื่อเป็นหลักประกันรายได้ให้แก่ แรงงานเพื่อใช้จ่ายยามชราภาพและควรขยายช่องทางการออมที่มีความหลายในรูปแบบ ที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย

เพิ่มโอกาสการจ้างงาน-ลดภาระพึ่งพิง

การเพิ่มโอกาสในการทำงานของผู้สูงอายุที่ยังสามารถประกอบอาชีพได้เป็นแนวทาง หนึ่งที่จะทำให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ศักยภาพที่มีอยู่มาสร้างรายได้ให้แก่ตน เองและครอบครัวโดยไม่ต้องพึ่งพิงบุตรหลานหรือภาครัฐมากนัก ซึ่งปัจจุบันมีผู้สูงอายุเป็นผู้ที่ทำงานนอกระบบประมาณ 2.79 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 91 เป็นแรงงานที่ไม่ได้รับการดูแล คุ้มครองสวัสดิการและประกันสังคม ขาดอำนาจการต่อรองในการเรียกร้องสิทธิ์ต่างๆ ตามกฎหมายแรงงาน มีแนวโน้มการมีปัญหาจากการทำงานสูงขึ้น อาทิ ค่าตอบแทนไม่เป็นธรรม งานหนัก และงานขาดความต่อเนื่อง

รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาทบทวนและหามาตรการลดการกีดกันทาง อาชีพระหว่างผู้สูงอายุกับวัยอื่นๆ โดยผลักดันให้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแรงงานสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีงานทำ มีรายได้และมีสวัสดิการที่ได้รับการคุ้มครองอย่างต่อเนื่อง

พัฒนาระบบการเข้าถึงบริการสุขภาพ

ปัญหาความเสื่อมถอยของร่างกาย ทำให้ผู้สูงอายุมีปัญหาสุขภาพทางร่างกายและโรคเรื้อรังต่างๆ ข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันล้วนส่งผลต่อการเข้าถึงบริการสาธารณสุข และการส่งเสริมสุขภาพ มีผู้สูงอายุได้รับบริการส่งเสริมสุขภาพเพียงแค่ร้อยละ 15 เท่านั้น หน่วยบริการสาธารณสุขและรัฐ ควรเร่งพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้อำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุและเพิ่มการ เข้าถึงบริการสาธารณสุขมากขึ้นทั้งการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค การรักษาและการฟื้นฟูสภาพ และพัฒนารูปแบบบริการในชุมชนโดยชุมชนเพิ่มมากขึ้น เพื่อส่งเสริมการดูแลในบ้านและครอบครัวโดยความช่วยเหลือของชุมชน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าในสถานพยาบาล

อปท.สร้างระบบดูแลร่วมกันในชุมชน

การที่ลักษณะประชากรสูงอายุมีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของกลุ่มผู้สูงอายุวัยปลาย และมีแนวโน้มการย้ายเข้าสู่เขตเทศบาลของผู้สูงอายุขึ้น ลักษณะของสังคมเมืองจะมีวัฒนธรรมที่แตกต่างจากชนบท การรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมทางสังคม การดูแลทางสังคมจะมีลักษณะเป็นกลุ่มย่อยมากขึ้น ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีบทบาทมากขึ้นในการประสาน จัดตั้งและส่งเสริมกลุ่มย่อยเหล่านี้ให้สามารถดูแลกันในชุมชน สร้างกลไกย่อยในชุมชน เช่นกองทุนสวัสดิการชุมชนเพื่อการดูแลทางสังคมโดยส่งเสริมบทบาทของภาคประชา สังคม อาสาสมัครในการบริการ

อย่างไรก็ตามในเขตกทม.และเมืองใหญ่ในภูมิภาคยังมีข้อจำกัดมาก จากการที่สภาพความเป็นเมืองไม่เอื้อเกิดการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุ และการช่วยเหลือกันในละแวกบ้านผู้สูงอายุ หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน ภาคประชาสังคมในชุมชน ควรริเริ่มการนำร่องในบริบทเขตเมืองให้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวอาจมีปัญหามากกว่ากลุ่มที่อาศัย อยู่กับครอบครัว ทำให้ต้องพัฒนารูปแบบการดูแลผู้สูงอายุในเมืองที่เหมาะสมกับสภาพผู้สูงอายุ และสภาพแวดล้อม

ก่อนสูงอายุ เตรียมตัวให้พร้อม

ปีใหม่นี้เป็นโอกาสในการการเริ่มต้นที่ดี สำหรับการสร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุเพื่อสอดคล้องกับสังคมไทยที่ก้าวเข้า สู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ตั้งแต่ปี 2552 ประชาชนโดยเฉพาะวัยแรงงาน ควรต้องเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงทั้งการบริโภคและการออกกำลังกาย โดยปรับแผนการบริโภคอาหารให้ได้คุณค่าทางโภชนาการ งดการสูบบุหรี่ และดื่มสุราลดลง ใช้ชีวิตประจำวันที่เหมาะสมกับวัย คลายความเคร่งเครียด เพื่อลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคเรื้อรังที่ป้องกันได้ ได้แก่ 5 โรค คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดในสมองตีบ โรคหัวใจ และมะเร็ง เพื่อจะส่งผลต่อการลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในช่วงวัยสูงอายุ ที่สำคัญใครที่ยังไม่ได้เริ่มออม เป็นโอกาสดีที่จะเริ่มออมตั้งแต่เนิ่นๆ  เพราะยิ่งออมได้มาก หลักประกันทางเศรษฐกิจในยามแก่ชราก็จะยิ่งมั่นคงมากขึ้น.

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย(มส.ผส.)


29 ธันวาคม 2553