ผู้เขียน หัวข้อ: โรคของใคร โรคของมัน  (อ่าน 1437 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
โรคของใคร โรคของมัน
« เมื่อ: 03 พฤษภาคม 2011, 21:15:19 »
เพราะมนุษย์เรามีความแตกต่างกันในระดับดีเอ็นเอ การรักษาด้วยยาหรือวิธีทางการแพทย์ต่าง ๆ ก็แสดงผลแตกต่างกันในแต่ละคนด้วย

ของหนึ่งชิ้น ไม่ได้เหมาะกับคนทุกคน หรือ One size doesn’t fit all เป็นคำกล่าวที่ใช้ได้กับทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ของใช้ หรือแม้กระทั่งการรักษาโรค ทั้งนี้ก็เพราะมนุษย์เรามีความแตกต่างกันในระดับดีเอ็นเอ การรักษาด้วยยาหรือวิธีทางการแพทย์ต่าง ๆ ก็แสดงผลแตกต่างกันในแต่ละคนด้วย

 คนอ้วน คนผอม เพศหญิงหรือชายก็รักษาได้ผลเร็วช้า หรือไม่ได้ผลเลยต่างกัน ยาแก้ปวดหัวตัวร้อนยี่ห้อเดียวกันบางคนอาจกินเม็ดเดียวหาย บางคนอาจกินสองเม็ดถึงจะบรรเทา

 เรื่องยุ่งยากซับซ้อนทำนองนี้แพทย์ไทยจึงศึกษาสร้างภูมิความรู้เอาไว้ให้ทันกับโรค และโลกการแพทย์ยุคใหม่ที่เรียกว่า การรักษาเฉพาะบุคคล (Personalized Healthcare) เน้นโรคไวรัสตับอักเสบ บี และไวรัสตับอักเสบ ซี รวมทั้งโรคมะเร็งบางชนิด โดยได้รับการสนับสนุนจากโรช ไทยแลนด์ และ โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย)

 รศ.นพ.นรินทร์ วรวุฒิ แพทย์ประจำหน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโหมโรงว่า การรักษาเฉพาะบุคคลต้องอาศัยปัจจัยทางด้านพันธุกรรม ลักษณะอาการเฉพาะ รวมทั้งชนิดของโรคที่ผู้ป่วยแต่ละคนเป็นอยู่

 การรักษาเช่นนี้ รศ.นพ.นรินทร์ มองว่า มีศักยภาพและสร้างโอกาสใหม่ให้กับผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งเป็นโรคที่มีอุบัติการณ์เป็นอันดับ 1 ของโรคที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุด ที่สำคัญ ยังครองแชมป์มาแล้ว 7-8 ปี

 การรักษาเฉพาะบุคคลเปรียบได้กับการเกาให้ถูกที่คัน เพราะการรักษามะเร็งต้องเน้นให้ตรงจุดเป้าหมาย นั่นก็คือเนื้อร้ายหรือเซลล์มะเร็งนั่นเอง

 “เป้าหมายของยารักษามะเร็งเต้านมสามารถตรวจได้ 2 จุดคือ ตัวรับฮอร์โมน (ตัวรับเอสโตรเจนและโพรเจสเตอโรน) ซึ่งหากพบว่ามีตัวรับฮอร์โมนก็จะรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัดหรือยาต้านฮอร์โมน และยีนก่อมะเร็งหรือ HerII ซึ่งเป็นตัวรับปัจจัยกระตุ้นการเติบโตของเซลล์มะเร็ง หากวินิจฉัยพบ HerII ก็จะรักษาด้วยการทำเคมีบำบัด” รศ.นพ.นรินทร์กล่าว

 แพทย์ประจำหน่วยมะเร็งวิทยาชี้ว่า การตรวจหาเป้าหมายและเลือกใช้ยากที่รักษาได้ตรงจุดจะทำให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์จากตัวยามากที่สุด

 ในขณะที่การศึกษาในโรคไวรัสตับอักเสบซี รศ.นพ.ทวีศักดิ์ แทนวันดี จากสาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลอธิบายว่า การรักษาเฉพาะบุคคล มีกระบวนการในการตรวจวินิจฉัย 2 ขั้นตอน คือการชี้รูปแบบของไวรัสและลักษณะการใช้ยาที่เหมาะสม

 “การวินิจฉัยขั้นแรก ผู้ป่วยจะต้องตรวจดูรูปแบบพันธุกรรมของเชื้อไวรัส เพราะไวรัสรูปแบบพันธุกรรมต่างกันจะมีผลต่อรูปแบบการรักษาที่ต่างกัน จากนั้น แพทย์ก็จะวินิจฉัยปริมาณไวรัส HCV RNA ในร่างกาย และปรับระยะเวลาการรักษาให้เหมาะสม โดยหากเหมาะกับยาฉีด ที่ต้องทำ 1 ครั้งต่อสัปดาห์เป็นเวลา 1 ปี หรือยากิน วันละ 1 ครั้ง ตลอดชีวิต” รศ.นพ.ทวีศักดิ์ชี้ ก่อนเสริมว่า กระบวนการนี้จะทำให้การรักษาสอดคล้องกัน เมื่อร่วมกับการติดตามผลการรักษาอย่างใกล้ชิด ก็จะช่วยให้มีประสิทธิผลมาก

 การรักษาเฉพาะบุคคล นอกจากจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการรักษาแล้ว ในแง่ของผู้ป่วย ยังจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต สำหรับตัวแพทย์ซึ่งเป็นผู้รักษาเองก็มีทางเลือกในการรักษามากขึ้น ที่สำคัญ ภาครัฐหรือหน่วยงานที่ต้องยื่นมือเข้ามาสนับสนุนค่ารักษาพยาบาลก็จะประหยัดได้ หากมีระยะการรักษาที่สั้นลงและมีประสิทธิภาพขึ้น

 “คาดว่า อีก 10 ปีข้างหน้า การรักษาเฉพาะบุคคลจะครอบคลุมทุกโรค เพราะปัจจุบัน เทคโนโลยีต่าง ๆ พัฒนาขึ้น สามารถสร้างแผนที่พันธุกรรม หาปัจจัยเสี่ยง รูปแบบการรักษาด้วยยาก็จะเปลี่ยนไป จากเดิมที่ต้องกินยาตัวเดียวกัน จนถึงการรักษาแบบพุ่งเป้า ต่อไปจะเป็นยุคของการรักษาแบบเลือกโรค เลือกคน เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพที่สุด อนาคต เราอาจจะเข้าไปร้านขายยา โดยพกดีเอ็นเอชิพไปด้วย เพื่อให้เภสัชกรจัดยาตามลักษณะพันธุกรรมของแต่ละคน” รศ.นพ.นรินทร์ วรวุฒิ แพทย์ประจำหน่วยมะเร็งวิทยาทิ้งท้าย

กรุงเทพธุรกิจ
2 พฤษภาคม 2554