ผู้เขียน หัวข้อ: สปสช.โต้ รพ.อุ้มผาง รักษา “คนชายขอบ” จนขาดทุน เหตุมีหลายเจ้าภาพดูแลเงิน  (อ่าน 460 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
สปสช. รับมีช่องโหว่ดูแลสุขภาพกลุ่มชายขอบ เหตุมีหลายเจ้าภาพดูแล เผยในส่วน รพ.อุ้มผาง มี 3 กลุ่ม คือ คนไทยสิทธิบัตรทองของ สปสช. คนพิสูจน์สถานภาพของ สธ. และต่างชาติข้ามชายแดน ของ สธ. เช่นกัน ระบุพยายามจัดงบประมาณเพิ่มเป็นพิเศษแล้ว เผยพร้อมรับเป็นเจ้าภาพดูแลทั้งหมดถ้าได้รับมอบหมายจาก สธ. หรือรัฐบาล

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณี นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผอ.รพ.อุ้มผาง เขียนจดหมายถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก ระบุ สปสช. ใจดำ ไม่ช่วยเหลือ รพ. ชายแดนที่ประสบความเดือดร้อนในการรักษาพยาบาล เพราะได้รับงบประมาณไม่เพียงพอ ว่า รพ.อุ้มผาง ถือเป็น รพ. ตัวอย่างที่ดี ที่ระบบบริการสาธารณสุขมีความภาคภูมิใจ และ นพ.วรวิทย์ ผอ.รพ. ก็เป็นแพทย์ชนบทดีเด่นที่ทำงานทุ่มเทในการให้บริการสุขภาพกับคนในพื้นที่อำเภออุ้มผาง และตามชายแดนพม่ามาต่อเนื่องยาวนาน โดยไม่มีการแบ่งแยกว่าเป็นคนไทยหรือไม่ แต่ประเด็นของกรณีนี้ อยู่ที่ประชากรและคนไข้ที่มาใช้บริการที่ รพ.อุ้มผาง พอแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม และแต่ละกลุ่มมีเจ้าภาพรับผิดชอบงบประมาณสนับสนุน คือ
       
        1. กลุ่มคนไทย ที่มีเลข 13 หลัก ซึ่งมีจำนวนไม่ถึงครึ่งของประชากรทั้งหมด ตามข้อมูลของ รพ.อุ้มผาง เป็นสิทธิบัตรทองที่สปสช.ดูแลอยู่ 25,100 คน ประกันสังคม 1,540 คน และข้าราชการ 1,300 คน 2. กลุ่มที่รอการพิสูจน์สัญชาติ หรือที่มีปัญหาเรื่องสถานะและสิทธิ ซึ่งตรงนี้ มติ ครม. เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 53 มอบให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดูแลงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวในลักษณะของกองทุนเฉพาะ ตามข้อมูลของ รพ.อุ้มผาง มี 5,350 คน และ 3. กลุ่มผู้ป่วยชาวต่างชาติที่ข้ามมาจากประเทศพม่า เพื่อมารับการรักษา ซึ่งข้อมูลจาก รพ.อุ้มผาง ระบุว่า มีจำนวน 34,400 ราย หรือมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งของผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งกลุ่มนี้โดยทั่วไปแล้วกระทรวงสาธารณสุข จะเป็นผู้ขอตั้งงบประมาณจากรัฐบาลเป็นรายปีในการดูแลตามหลักมนุษยธรรม และพันธะระหว่างประเทศ
       
        “จากข้อมูลผู้ป่วยในแต่ละกลุ่มและเจ้าภาพตามที่กฎหมายกำหนด หรือ ครม. มอบหมาย งบประมาณของ สปสช. จึงมีข้อจำกัดในการขยายการดูแลประชากรกลุ่มที่เหลืออีกสองกลุ่มใหญ่ที่มีกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพได้รับงบประมาณอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทุกปี แม้จะมีข้อจำกัด สปสช. ได้พยายามสนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือเพิ่มเติมมาโดยตลอดผ่านทาง สปสช. สาขาจังหวัด (สสจ.) และ สปสช. เขตพื้นที่ รวมถึงงบประมาณสำหรับพื้นที่เฉพาะก็ได้จัดสรรให้เพิ่มในฐานะโรงพยาบาลที่มีความยากลำบากในการทำงาน รวมทั้งได้ร่วมกับส่วนอื่นๆ สนับสนุนให้มีการตั้งมูลนิธิของ รพ. เพื่อระดมทุนช่วยเหลือผู้ป่วยของ รพ. ด้วย”รองเลขาธิการ สปสช. ย้ำ
       
        นพ.ประทีป กล่าวต่อว่า ปัญหานี้จะหวังเพียงเจ้าภาพที่รับผิดชอบเพียงประชากรกลุ่มเดียวในสามกลุ่ม ถึงแม้จะช่วยช่วยเต็มกำลังก็ไม่เพียงพอ และจะได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นถ้ามีการรวมหลายเจ้าภาพเป็นหนึ่งเดียว และดูเม็ดเงินทั้งหมด รวมทั้งรัฐบาลต้องจัดงบด้านมนุษยธรรมสนับสนุน รพ. ตามชายแดนด้วย ซึ่งทาง สปสช. พร้อมเป็นเจ้าภาพดูแล รพ. เหล่านี้ถ้าได้รับมอบหมาย

ASTVผู้จัดการออนไลน์    12 ธันวาคม 2557