ผู้เขียน หัวข้อ: ทำไมต้องแก่ยาก ตายช้า?  (อ่าน 711 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
ทำไมต้องแก่ยาก ตายช้า?
« เมื่อ: 01 กุมภาพันธ์ 2015, 01:55:54 »
ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
       
        เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องของกฎเกณฑ์ธรรมชาติสิ่งมีชีวิตในโลกนี้ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นใครที่เกิดมาไม่ว่าเด็ก วัยรุ่น หนุ่ม หรือแก่แล้ว ก็ต้องทำใจว่า ไม่ว่าอย่างไรเสียเราก็ต้องเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งอยู่ดี
       
        ดังนั้นสำหรับบางคนแม้จะดูแลสุขภาพให้ดีเพียงใด ก็จะต้องยอมรับสภาพว่าเราเพียงทำให้อาการเจ็บป่วยที่จะเกิดขึ้นจากพฤติกรรมมีน้อยลงเท่านั้น จึงจะส่งผลทำให้อายุขัยก็มีโอกาสที่จะยืนยาวขึ้นเท่านั้น ไม่ได้ทำให้เราจะเป็นอมตะนิรันดร์กาลไปได้โดยเด็ดขาด
       
        ความหมายสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่คำถามที่ว่าจะมีอายุขัยยืนยาวไปอีกเท่าไหร่จึงจะพอ แต่คำถามที่สำคัญยิ่งกว่าการมีอายุขัยยืนยาวอีกนานเท่าไหร่ คือ
       
        1. ไม่ว่าอายุขัยจะสั้นหรือยาว ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่จะอยู่เพื่อทำอะไร? เพื่อทำความดีสร้างบุญกุศลหรือทำความชั่วสร้างบาปให้มากขึ้น หรือทำภารกิจบางอย่างที่ต้องการจะทำให้ลุล่วงไปตามเป้าหมายที่ได้วางเอาไว้ ประเด็นนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการแสวงหา "ความหมายในการมีชีวิต"
       
        2. ไม่ว่าจะมีอายุขัยสั้นหรือยาว ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่นั้นตัวเราเองอยู่บนความทุกข์หรือความสุขมากกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็นความสุขทุกข์ทางกายหรือทางใจ และสำหรับบางคนได้เห็นถึงความสุขและความทุกข์ที่ไม่มีความเที่ยงแท้ตามวัฏสงสาร ก็มุ่งแสวงหาการดับทุกข์อย่างถาวร
       
        3. ไม่ว่าจะมีอายุขัยสั้นหรือยาว ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่นั้นเป็นภาระแก่ใครหรือไม่ หรือเป็นที่พึ่งพาให้กับใครหรือไม่ คือการพิจารณาว่าการมีชีวิตอยู่นั้นได้สร้างความสุขหรือความทุกข์ให้กับใครอื่นหรือไม่?
       
        ดังนั้นคนที่หาความหมายในการที่จะมีชีวิตอยู่ไม่เจอว่าจะอยู่เพื่ออะไร หรือคิดแต่จะทำความชั่ว มีความทุกข์ทั้งทางกายและใจอยู่ตลอดเวลา และยังเป็นภาระสร้างความทุกข์ให้กับคนอื่นๆ ก็อาจไม่มีแรงจูงใจที่จะมีอายุขัยยืนยาวขึ้นก็ได้
       
        "กิน กาม เกียรติ" เป็นกิเลสของมนุษย์จำนวนมาก ดังนั้นบางคนที่อยากจะมีอายุขัยยืนยาว เพื่อกิน เพื่อกาม และเพื่อเกียรติ ก็คงจะยากที่มีอายุขัยยืนยาวได้อย่างแท้จริง เพราะการอยู่เพื่อกิน เพื่อกาม และเพื่อเกียรติ ที่เป็นกิเลสพื้นฐานนั้นเป็นตัวบั่นทอนการมีอายุขัยให้ยืนยาวทั้งร่างกายและจิตใจอยู่แล้ว
       
        การกินน้ำตาลมาก กินไขมันทรานส์มาก กินเนื้อสัตว์มาก ออกกำลังกายน้อย มีความเครียดกับการแสวงหาไม่สิ้นสุด มีจิตใจโหดเหี้ยมคิดหวังแต่จะทำลายผู้อื่น ไม่สามารถที่จะเป็นผู้ที่มีอายุยืนยาวได้เลย (หากไม่ได้มาจากกรรมพันธุ์)
       
        แต่บางคนแม้จะรู้ข้อมูลมากขึ้น แต่ก็ยอมที่จะให้ตัวเองมีอายุสั้น เพียงขอให้ได้มีความสุขอันฉาบฉวยจากรสชาติในอาหารที่เกิดโทษต่อร่างกาย เสพของมึนเมาเพื่อให้ได้ความสุขทางใจที่ฉาบฉวย และมีแต่ความรู้สึกร้อนรุ่มแสวงหาทรัพย์สมบัติด้วยความโลภเพื่อมากิน เพื่อแสวงหากาม และเพื่อสร้างเกียรติ
       
        วิถีในการมีสุขภาพแข็งแรง ชะลอวัย และอายุขัยยืนยาวนั้น จะเกิดขึ้นได้จากคนที่มีการลด ละ เลิก จากกิเลสพื้นฐานของมนุษย์ทั่วไปทั้งทางกายและใจได้แล้ว เลิกกินอาหารที่ทำลายสุขภาพ เจริญสติและเกิดปิติกับการปฏิวัติการกินด้วยปัญญา เมื่อลดการตามใจปาก และไม่ปล่อยจิตใจให้ร้อนรุ่มทุกข์ใจกับการแก่งแย่งชิงดีแสวงหาเพื่อปรนเปรอการกินอย่างไร้ขีดจำกัด
       
        คนที่มีวัตรปฏิบัติในการดำเนินวิถีชีวิตในแนวทางธรรมชาติบำบัด จะเล็งเห็นความไม่เที่ยง การเจ็บป่วย และความตายได้ง่ายกว่าคนอื่น จึงสามารถเบาบางกิเลสได้ดีกว่าคนทั่วไป
       
        การกินอาหารจากพืชเป็นหลัก ลด หรือ เลิกเนื้อสัตว์ จะทำให้จิตใจเปลี่ยน โดยเฉพาะหากก้าวเข้าสู่การเป็นนักมังสวิรัติแล้วก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในการยกระดับจิตใจที่ไม่ได้มีเมตตาแต่เฉพาะเพื่อนมนุษย์เท่านั้น แต่ความเมตตายังได้แผ่ไพศาลไปถึงเหล่าสรรพสัตว์อื่นร่วมโลกอีกด้วย ในช่วงเวลานี้จะทำให้ได้คิดในสิ่งที่ไม่ได้คิดมาก่อน และจิตใจจะเบาสบายขึ้น ซึ่งคนที่ไม่ใช่นักมังสวิรัติยากที่จะเข้าใจได้
       
        ในความเห็นของผม การรักษาสุขภาพในแนวทางธรรมชาติบำบัดที่จะทำให้ชะลอวัย และอายุขัยยืนยาวนั้น จึงเป็นเพียง "กระพี้" เท่านั้น
       
        และในความเห็นของผมแล้ว "แก่นแท้" ของการรักษาสุขภาพในแนวทางธรรมชาติบำบัดแท้ที่จริงแล้วก็เป็นบันไดไปสู่ "การปฏิบัติธรรม" ลดกิเลส เจริญปัญญา เป็นเป้าหมายสูงสุด
       
        ถ้าถามว่ากลุ่มคนที่มีอายุขัยยืนยาว และเจ็บป่วยด้วยโรคตามอายุขัยน้อย มีเคล็ดลับอะไรบ้าง?
       
        1. กินพืชเป็นอาหารหลัก และกินถั่วมาก
        2. กินอาหารน้อยมื้อ หรือกินอาหารในปริมาณแคลอรี่ต่ำ
        3. รักษาระดับน้ำหนักเมื่อเทียบกับส่วนสูงไม่ให้อ้วน
        3. ออกกำลังกายแบบปานกลางในกิจกรรมวันปกติ
        4. ไม่เครียด มีชีวิตเรียบง่าย จิตใจสงบนิ่ง อยู่กับปัจจุบัน
        5. อยู่รวมกันในสังคมที่มีคนในวัยเดียวกัน
        6. มีส่วนร่วมในการทำงานในสังคมเดียวกัน
        7. มีความรักและความอบอุ่นในครอบครัว
       
        สำหรับในประเด็นเหล่านี้ ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงการตรัสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่องการอายุสั้น อายุยืน เจ็บป่วยน้อย เจ็บป่วยมาก ซึ่งสัมพันธ์กับการกินของเราดังนี้
       
        พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ได้กล่าวเอาไว้ถึงประโยชน์การกินอาหารเพียงมื้อเดียวว่า :
       
        "ภิกษุทั้งหลาย เราฉันอาหารมื้อเดียว เราเมื่อฉันอาหารมื้อเดียว ย่อมรู้สึกว่าสุขภาพมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ ภิกษุทั้งหลาย มาเถิด แม้เธอทั้งหลายก็จงฉันอาหารมื้อเดียวเถิด เธอทั้งหลาย เมื่อฉันอาหารมื้อเดียว จักรู้สึกว่าสุขภาพมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ"
       
        ส่วนเรื่องอายุขัยนั้น พระไตรปิฎกเล่ม 14 จูฬกัมมวิภังคสูตร ข้อ 582 และข้อ 583 เขียนเอาไว้ว่า:
       
        "การเป็นผู้มักทำให้ชีวิตสัตว์ตกล่วงไป เป็นคนเหี้ยมโหดมีมือเปื้อนเลือด หมกมุ่นอยู่ในการประหัตประหาร ไม่เอ็นดูในเหล่าสัตว์มีชีวิต หากเขาตายไปจะเข้าถึงนรก ถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์จะเป็นคนมีอายุสั้น"
       
        "การเป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต วางอาชญา วางศาสตราได้ มีความละอาย เข้าถึงความเอ็นดู ช่วยเหลือด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่ หากเขาตายไปจะเข้าถึงสุขคติในโลกสวรรค์ ถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์จะเป็นคนมีอายุยืน"
       
        ส่วนว่าด้วยความเจ็บป่วยนั้น พระไตรปิฎกเล่ม 14 จูฬกัมมวิภังคสูตร ได้เขียนเอาไว้เกี่ยวกับการมีโรคมากและโรคน้อยในข้อ 584-585 ว่า :
       
        "บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีปกติเบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ ท่อนดิน ท่อนไม้ ของมีคม หากเขาตายไป จะเข้าถึงนรก ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์จะเป็นคนมีโรคมาก"
       
        "บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีปกติไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วย ฝ่ามือ ก้อนดิน ท่อนไม้ ของมีคม หากเขาตายไปจะเข้าถึงสุคคติโลกสวรรค์ ถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์จะเป็นคนมีโรคน้อย"
       
        ความจริงแล้วยังไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าการมีอายุยืนยาวจะมีความสุขอยู่เสมอไป แต่คนที่ประพฤติชั่ว ทุจริตคอรัปชั่น แล้วอายุยืนมากไป ก็คงจะสร้างความเดือดร้อนให้กับประเทศชาติและประชาชน นานออกไปอีกเช่นกัน จริงไหม?

ASTVผู้จัดการรายวัน    30 มกราคม 2558