ผู้เขียน หัวข้อ: แพทยสภาค้าน พ.ร.บ.ฟ้องหมอ จ่ายเงินลูกเดียวไม่จบ! ชี้บางกลุ่มรั้นตั้งกองทุน  (อ่าน 427 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
 แพทยสภาเผย “ประกันสังคม - สวัสดิการ ขรก.” เตรียมดัน กม. ช่วยผู้เสียหายจากการรักษาแบบเดียวบัตรทอง ตั้งข้อสงสัยบางเครือข่ายไม่เอา แต่เดินหน้าจะตั้งกองทุนใหม่ ดูแลงบมหาศาล ยันหนุนขยายมาตรา 41 ให้ครอบคลุมทุกสิทธิ จวกร่าง พ.ร.บ.กองทุนฯ ให้เงินไม่พิสูจน์ถูกผิด ยิ่งทำหมอ - คนไข้ไม่คุยกัน เพราะจ่ายเงินลูกเดียว
             
        วันนี้ (9 มี.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการผลักดันร่าง พ.ร.บ.กองทุนคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เป็นผู้ดำเนินการ ว่า ขณะนี้อยู่ในกระบวนการรับฟังความเห็น ตามกำหนดการอีกประมาณ 1 เดือน จึงจะเสร็จ จากนั้นจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่จะประกาศใช้ในรัฐบาลชุดนี้ทันหรือไม่นั้นไม่แน่ใจ ส่วนตัวอยากให้ออกมา เพื่อคุ้มครองประชาชนและบุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบ โดยไม่มีการพิสูจน์ถูกผิด ยกเว้นกรณีประมาท ส่วนที่แพทยสภาออกมาคัดค้าน โดยให้แก้มาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ให้ครอบคลุมทุกสิทธิและขยายวงเงิน ความเห็นต่างตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่ดี
       
       วันเดียวกัน เมื่อเวลา 13.30 น. แพทยสภาได้แถลงข่าวคัดค้านร่าง พ.ร.บ.กองทุนคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบฯ อย่างถึงที่สุด นำโดย ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า การออก พ.ร.บ. ใหม่ เพื่อตั้งกองทุนใหม่ ถือเป็นความซ้ำซ้อนและสิ้นเปลืองงบ เพราะต้องมีการตั้งสำนักงาน ตั้งคณะกรรมการ และอนุกรรมการย่อย ได้รับเงินเดือนเป็นแสนๆ ซึ่งการตั้งกองทุนชนิดที่เงินเหลือไม่ต้องส่งคืนคลังแบบนี้มีเยอะมากในวงการสาธารณสุข แต่หากขยายมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันฯ ให้ครอบคลุมทุกสิทธิ ไม่จำเป็นต้องตั้งอะไรเพิ่มเติม เพราะทั้งหมดมีอยู่แล้ว และ สปสช. ก็ดำเนินการได้ดี ซึ่งแพทยสภาจะผลักดันเรื่องนี้ แต่หากยังมีการผลักดัน พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวอยู่ ก็อาจจะต้องมีการออกมาเคลื่อนไหว
       
       “ที่น่าห่วงคือ การจ่ายเงินโดยไม่พิสูจน์ถูกผิด จะทำให้มีคนเข้ามาขอเงินมากขึ้น ทั้งที่ควรมีการพิสูจน์ดูว่าผลกระทบเกิดขึ้นตามธรรมชาติ จากโรคของเขาเอง หรือเกิดจากการรับบริการ ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถป้องกันสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต และหากแพทย์ทำผิดมาตรฐานจริงแพทยสภาก็ดำเนินการแน่นอน ที่ผ่านมาเราพยายามให้แพทย์คุยกับคนไข้ เพื่อให้ทราบถึงกระบวนการรักษาว่ามีความเสี่ยงอะไรบ้าง แล้วคนไข้ยอมรับความเสี่ยงได้หรือไม่ ถ้ารับได้ก็ทำ รับไม่ได้ก็ไม่ทำ ซึ่งการพูดคุยกันนี้เมื่อเกิดผลกระทบขึ้นมา เขาก็จะยอมรับและลดการฟ้องร้องแพทย์ลงไป แต่การตั้งกองทุนใหม่ให้เอาเงินโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิดจะทำให้ความสัมพันธ์หมอกับคนไข้แย่ลง” นายกแพทยสภา กล่าว
       
       นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า 6 ปีที่ผ่านมา แพทยสภาค้านร่าง พ.ร.บ.ฟ้องหมอ หรือ พ.ร.บ.หมอไม่เอาเหล่านี้มาตลอด ซึ่งไม่เพียงแต่แพทย์เท่านั้น กลุ่มวิชาชีพอื่นทั้งทันตแพทย์ พยาบาล ต่างก็คัดค้านเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เราเห็นด้วยเรื่องการคุ้มครองประชาชน แต่ต้องคุ้มครองให้ถูกต้อง ไม่ใช่คุ้มครองแบบประชานิยมแบบนี้เลิกเสียที ยิ่งเรื่องการไม่พิสูจน์ความจริงเป็นไปไม่ได้เลย ตรงนี้ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจในกฎหมายดังกล่าว ไม่ไว้วางใจกลุ่มที่เสนอ และไม่ไว้วางใจการแปรญัตติ
       
       ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อุปนายกแพทยสภา กล่าวว่า การชดเชยความเสียหายผู้ได้รับผลกระทบเราสนับสนุน แต่ขอให้รัฐบาลปรับแก้จากมาตรา 41 แทน โดยขยายวงเงินสูงสุดถึง 2 ล้านบาท และให้ดูแลครอบคลุมกองทุนสุขภาพทั้งหมด โดยเป็นการจ่ายชดเชยแบบสิ้นสุดทันที ไม่ให้มีการฟ้องร้องแพทย์ต่อ โดยเรื่องนี้กำลังจะเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
       
       นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ กรรมการแพทยสภา กล่าวว่า อ่านเนื้อหากฎหมายใหม่อย่างละเอียดแล้ว เหมือนจะดี แต่มีหลายเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในทางกฎหมาย เช่น รับเงินช่วยเหลือแล้วจบเรื่องในทางแพ่งเป็นไปได้ แต่ยังมีการฟ้องทางอาญาอยู่ การปรับลดสัดส่วนคนนอกที่ไม่ใช่แพทย์เข้ามาเป็นกรรมการและเพิ่มสัดส่วนแพทย์ แต่เป็นแพทย์นักบริหาร ซึ่งถ้าไม่ใช่แพทย์ที่ปฏิบัติงานย่อมไม่เข้าใจ และการตัดสินมาตรฐานการรักษาต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติงานจริง และตัดสินกันด้วยเหตุผลว่าผิดหรือถูก ไม่ใช่การโหวต ตรงนี้เมื่อถึงชั้นกฤษฎีกาต้องมีการตีเรื่องกลับให้มีการแก้ไข และคิดว่าจะเป็นการแก้ไขไปแบบเดิม เป็นการหลอกให้มีการยอมรับเพื่อให้ผ่านวาระที่ 1 เท่านั้น สุดท้ายจะมีแพทย์ออกมาคัดค้านหนักเหมือนเดิม
       
       “ขณะนี้ประกันสังคมกำลังผลักดันกฎหมายชดเชยความเสียหายคล้ายมาตรา 41 และเชื่อว่ากรมบัญชีกลางก็ดำเนินการเรื่องนี้เช่นกัน เป็นการผลักดันการช่วยเหลือผู้ป่วยครอบคลุมทุกกลุ่ม แต่บางกลุ่มกลับออกมาปฏิเสธไม่เอา แต่พยายามให้มีกองทุนใหม่ขึ้นมา เพื่อต้องการมีออฟฟิศใหม่ มีคนเข้ามานั่งเก้าอี้บริหารเพราะอะไร ทั้งนี้ ในการประชาพิจารณ์ของ สบส. วันที่ 10 มี.ค. นี้ แพทยสภาคงไม่ส่งคนเข้าร่วม เพราะไม่อยากให้เอาชื่อไปอ้างเพื่อรับรองร่าง พ.ร.บ. ใหม่ แต่จะส่งความเห็นคัดค้านพร้อมเหตุผลเป็นลายลักษณ์อักษรไปให้” นพ.เมธี กล่าว
       
       นพ.วิสุทธิ์ ลัจฉเสวี กรรมการแพทยสภา กล่าวว่า ความพยายามผลักดันกฎหมายใหม่ซ้ำๆ ซึ่งดูแล้วความแตกต่างอยู่ที่การมีกองทุนใหม่เท่านั้นเอง และเป็นความพยายามผลักดันโดนคนกลุ่มเดิมๆ ตรงนี้มีความมุ่งหวังอะไรบางอย่าง ในขณะที่ประเทศกำลังมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องภาษี จึงขอฝากเรื่องนี้เป็นข้อสังเกต

ASTVผู้จัดการออนไลน์    9 มีนาคม 2558