ผู้เขียน หัวข้อ: วิชาชีพแพทย์ บนเส้นแบ่งบางๆ “หน่วยงานรัฐ สิทธิส่วนบุคคล และจุดยืนการเมือง”  (อ่าน 735 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9787
    • ดูรายละเอียด
ในช่วงสถานการณ์การเมืองเข้มข้นเช่นนี้ เห็นจะมีวงการสาธารณสุขที่ค่อนข้างจะออกตัวแรง เปิดหน้าแสดงความเห็น แสดงจุดยืนทางเมืองอย่างหลากหลาย มีทั้งกลุ่มเห็นด้วยที่จะต้องปฏิรูปประเทศไทยก่อนการเลือกตั้ง และกลุ่มที่สนับสนุนให้มีการเลือกตั้งเป็นไปตามกำหนดวันที่ 2 ก.พ.นี้ มีการเปิดหน้าใช้ชื่อสถาบันและหน่วยงานรัฐแสดงความเห็นและจุดยืนทางการเมืองกันอย่างกว้างขวาง ไปจนถึงการร่วมเดินขบวน และการใช้ธงสัญลักษณ์กาชาดในการเดินขบวน จนร้อนไปถึงสภากาชาดไทยที่ต้องออกมาท้วงติงอย่างดึงธงกาชาดยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง กลายเป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ในวงการแพทย์และสาธารณสุข แบบมัดรวมกับหัวข้อการเมืองเสร็จสรรพ สำนักข่าว Hfocus : เจาะลึกระบบสุขภาพ ตามมาพูดคุยถึงแนวคิดทางการเมืองของกลุ่มแพทย์ 2 ฝั่งที่ความเห็นต่างในเรื่องการสถานการณ์เมืองขณะนี้

ศ.ดร.นพ.ศุภสิทธิ์ พรรณารุโนทัย คณบดี คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 1 ใน 8 คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ ที่ออกแถลงการณ์ในนาม 8 คณบดี คณะแพทย์ศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยทางการแพทย์ชั้นนำของเมืองไทย เรียกร้องให้รัฐบาลรักษาการลาออก และนพ.ภีศเดช สัมมานนท์ ตัวแทนกลุ่มเพื่อนสาธารณสุขเพื่อประชาธิปไตย ที่สนับสนุนการเลือกตั้งตามกติกาประชาธิปไตย
...
นพ.ภีศเดช สัมมานนท์ ตัวแทนกลุ่มเพื่อนสาธารณสุขเพื่อประชาธิปไตย

“เราต้องดำรงความเป็นกลางไว้ ถ้าจะแสดงออกก็ต้องแสดงออกในลักษณะส่วนตัว เป็นลักษณะที่ทำได้ คือจะมี 2 อย่าง ไม่อยากให้แสดงออกในรูปแบบขององค์กร และไม่อยากให้แสดงออกไปในทางที่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญ”

โดยแง่มุมของนพ.ภีศเดช บอกว่า กลุ่มเพื่อนสาธารณสุขเพื่อประชาธิปไตยซึ่งเป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นมาหลังจากที่มีการยุบสภาแล้ว เพราะก่อนที่รัฐบาลจะยุบสภานั้น ข้อเรียกร้องของฝ่ายผู้ชุมนุมเป็นไปได้ในทางรัฐธรรมนูญคือการเรียกร้องให้ลาออก หรือเรียกร้องให้ยุบสภา

“ตอนนั้นเรายังไม่ห่วงใย เราห่วงใยในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะเป็นข้อเรียกร้องที่อีกฝ่ายหนึ่งสามารถกระทำได้ แต่เมื่อรัฐบาลยุบสภาแล้ว การเรียกร้องให้มีรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้ง สภาที่มาจากการแต่งตั้ง ให้รัฐบาลรักษาการลาออก รวมทั้งให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปนั้น โดยเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเมื่อตีความตามตัวอักษร ไม่สามารถทำได้แล้ว ยกเว้นว่าจะมีผู้หนึ่งผู้ใดหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งตีความให้ผิดเพี้ยนไปจากตัวอักษรก็สามารถทำได้ เลยรู้สึกว่าความขัดแย้งมันหาทางออกยาก เพราะว่าเป็นข้อเรียกร้องที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่สามารถทำได้ ถ้าปล่อยไว้อย่างนี้กติกาที่เรามีในสังคมคือกฎหมายนั้นก็จะไม่ศักดิ์สิทธิ์ ถ้าปล่อยให้มีการละเมิด ถึงแม้อีกฝ่ายหนึ่งจะละเมิดและสามารถได้รับชัยชนะตามที่ตัวเองต้องการ แต่ก็สร้างความโกรธแค้น สร้างความน้อยอกน้อยใจให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง ก็รอวันที่จะกระทำกลับเช่นกัน เพราะมันเหมือนเป็นการสร้างมาตรฐานว่าคุณสามารถทำผิดกฎหมายได้ ถ้าคุณมีอำนาจหรือมีพาวเวอร์เพียงพอที่จะทำซึ่งเป็นการสร้างมาตรฐานที่ไม่ดี

เพราะฉะนั้นเราจึงตั้งกลุ่มขั้นมาโดยเราก็ยึดถือจรรยาบรรณของวิชาชีพ และยึดถือระเบียบข้าราชการที่ว่าไม่ให้มีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยอ้างความเป็นข้าราชการ หรืออ้างความเป็นองค์กรทางการแพทย์ และเรามีความเห็นทางการเมืองที่อยากนำเสนออยู่เลยรวมกลุ่มกันขึ้น ตั้งเป็นกลุ่มเพื่อนสาธารณสุขเพื่อประชาธิปไตย”

การรวมกลุ่มเป็นการรวมตัวในนามบุคคล

บอกแค่ว่าทำอาชีพอะไรเท่านั้น แต่ว่าไม่ได้บอกว่าสังกัดอะไร หรือว่าเป็นคนขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง ตอนนี้มีสมาชิกเกือบ 700 คน

ข้อเรียกร้องของกลุ่มคืออะไร และมีความคิดเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้

เราต้องการให้เกิดความสงบขึ้นในบ้านเมือง คืออยากให้คนทุกคนเคารพกฎหมาย และก็เคารพกติกาคือรัฐธรรมนูญ  อยากให้ตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญตามตัวหนังสือไม่ใช่ทัศนคติส่วนตัวเข้ามามีอิทธิพลต่อการตีความกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายบ้านเมืองทั่วไปหรือรัฐธรรมนูญ

ก่อนจะออกข้อเรียกร้องอะไรออกมานี่ทางกลุ่มมีการหารือกันอย่างไร

จะมีการคุยกันก่อนว่าเราจะนำเสนอในรูปแบบนี้ เราตั้งกติกาไปก่อนว่าเราต้องการความสงบ เราจะยึดถือกฎหมายและรัฐธรรมนูญโดยตีความตามตัวหนังสือ ไม่ได้ตีความตามองค์กรใดองค์กรหนึ่ง เพราะปัจจุบันองค์กรใดองค์กรหนึ่งก็ไม่มีความน่าเชื่อถือสำหรับทุกฝ่าย ดังนั้นเราจะยึดตามตัวหนังสือเป็นหลัก

หากปัญหาทางการเมืองครั้งนี้จบลงกลุ่มเพื่อนสาธารณสุขเพื่อประชาธิปไตยที่ก่อตั้งขึ้นมานี้จะมีการดำรงอยู่ต่อไปหรือไม่ หรือเป็นการตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจ

เรายังไม่ได้คิดไปไกลขนาดนั้น เพียงแต่คิดว่าเราจะมาช่วยกันแสดงความคิดเห็นว่า แสดงความขอร้องต่อสังคมว่าช่วยเจรจากัน ช่วยสงบสันติกันอย่างแท้จริง ช่วยกันปฏิบัติตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญเพราะจะเห็นว่าหากไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย แม้ชนะคุณก็ชนะได้เพียงชั่วคราวเพราะอีกฝ่ายหนึ่งก็จะใช้ข้ออ้างเดียวกันนี้มาเพื่อทำให้ชนะคุณในอนาคตเช่นเดียวกัน ประเทศชาติก็จะไม่มีวันสงบสักทีหนึ่ง

มองการเคลื่อนไหวของกลุ่มแพทย์ที่ออกมาร่วมขบวน กปปส.ชัตดาวน์กทม.อย่างไร โดยเฉพาะการใช้ชื่อสถาบัน เช่น รพ. คณะแพทย์ และการเอาสัญลักษณ์กาชาดมาใช้ในการเคลื่อนไหว

มองว่าแพทย์ วงการสาธารณสุขต้องมีความเป็นกลาง เพราะต้องให้ทุกฝ่ายเชื่อใจว่าเราจะเป็นกลาง ถ้าหากมีความหวาดระแวง ไม่ไว้ใจวงการแพทย์เกิดขึ้นจะทำให้แพทย์ไม่ได้รับความไว้วางใจ อาจจะทำให้การทำงานของแพทย์ และวงการสาธารณสุขในอนาคตมีปัญหา ปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่เต็มที่ ยกตัวอย่างแม้แต่สถานการณ์ในภาคใต้ แพทย์ในภาคใต้ยังกล่าวว่าไม่อยากให้มาเอาข้อมูลจากสถานพยาบาลทางการแพทย์ในภาคใต้ไปใช้ในการจับกุมคนร้าย เพราเกรงว่าผู้ก่อการร้ายไม่ไว้วางใจสถานพยาบาล หรือบุคลากรที่ทำงานอยู่ทางภาคใต้อาจจะถูกมองว่าไม่เป็นกลาง อาจจะถูกทำร้าย หรือทำลายทรัพย์สินของสถานพยาบาล ยิ่งทำให้ยิ่งขาดแคลนผู้ที่จะมาทำหน้าที่ดูแลสุขภาพผู้ป่วยในภาคใต้ ดังนั้นเราต้องดำรงความเป็นกลางไว้ ถ้าจะแสดงออกก็ต้องแสดงออกในลักษณะส่วนตัว เป็นลักษณะที่ทำได้ คือจะมี 2 อย่าง ไม่อยากให้แสดงออกในรูปแบบขององค์กร และไม่อยากให้แสดงออกไปในทางที่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญ

มีความคิดเห็นอย่างไร ที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นข้าราชการกระทรวงเดียวที่แสดงจุดยืนชัดเจนว่าอยู่ข้างกปปส. โดยเฉพาะมีผู้นำสูงสุดอย่างปลัดเป็นผู้นำการเคลื่อนไหว

ความขัดแย้งในปัจจุบันไม่ใช่ความขัดแย้งธรรมดา เป็นความขัดแย้งของคนกลุ่มใหญ่ทั้งประเทศ และเป็นความขัดแย้งที่ค่อนข้างจะรุนแรง เพราะฉะนั้นหน่วยงานที่ต้องมีความเป็นกลาง เพราะต้องดูแลทุกฝ่ายคือหน่วยงานด้านสาธารณสุขก็ไม่ควรแสดงตัวว่าฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ในนามของสถานบันการแพทย์ยิ่งไม่สมควร ในขณะที่สัญลักษณ์ทางการแพทย์ก็ยิ่งไม่สมควรเช่นเดียวกัน

มีความคิดเห็นอย่างไรที่อาจารย์แพทย์จากมอ. ขึ้นเวทีกปปส. แล้วใช้คำปราศรัยไม่เหมาะสม

เข้าใจว่าเจตนาคงเป็นเจตนาที่ดี เพราะเขาเชื่อว่าอีกฝ่ายหนึ่งมีการทุจริตคอรัปชั่น แต่ว่าข้อแรกทุจริตคอรัปชั่นมีวิธีการตรวจสอบมากมาย เช่นการเลือกตั้ง เราก็ไม่เลือกคนที่เราคิดว่าทุจริตคอรัปชั่น และการดำเนินการตามแนวทางของระบบศาลยุติธรรมก็สามารถทำได้ เพราะฉะนั้นควรใช้วิธีอื่นๆ แต่การแสดงออกว่าเราไม่เห็นด้วยกับใครก็ยังสามารถทำได้อยู่ แต่การใช้คำหยาบคงจะไม่เหมาะ เพราะว่าบุคลากรทางการแพทย์จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชน

ในอดีตที่กระทรวงสาธารณสุขมักจะมีความขัดแย้งกับกลุ่มตระกูล ส. และชมรมแพทย์ชนบท ดูเหมือนว่าอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกัน แต่ทำไมความขัดแย้งการเมืองครั้งนี้ทั้ง 2 ฝ่ายเหมือนผนึกกำลังจับมือกันแบบเฉพาะกิจ แสดงว่าจริงๆแล้วมีอุดมการณ์เดียวกันหรือไม่

เข้าใจว่าความขัดแย้งอื่นๆ ถ้ามีอยู่ก็คงจะดำรงอยู่ เพียงแต่ตอนนี้เขามีความเห็นร่วมกันในเรื่องนี้ เลยอาจจะมีการแสดงความคิดเห็นร่วมกันเป็นการเฉพาะกิจมากกว่า

เมื่อก่อนแพทย์จะมีภาพลักษณ์ว่าอยู่เคียงข้างคนยากคนจน เช่น ชมรมแพทย์ชนบท แต่การเคลื่อนไหวในวันนี้ กลับแตกต่าง และไม่เชื่อมั่นในสิทธิการออกเสียงของคน มองว่ากลุ่มชาวบ้านถูกซื้อเสียง คิดว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น

คงเป็นแพทย์บางกลุ่มที่เชื่ออย่างนั้น อาจจะไม่ใช่ทุกคน และอาจจะไม่ใช่ส่วนใหญ่ด้วยซ้ำไป เพราะว่าแพทย์อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ค่อยจะมีปากมีเสียงมากนักก็จะไม่มีโอกาสได้แสดงออก ก็เป็นกลุ่มใหญ่อีกเหมือนกัน ส่วนการจะกล่าวหาว่าใครซื้อเสียงก็ไม่ควรจะกล่าวหากันลอยๆ เพราะการกล่าวหากันลอยๆ ในสังคมไทยปัจจุบันนี้มีมาก สร้างความเกลียดชังกันและกันมากขึ้นและสะสมมาเรื่อยๆ จนหลายๆ ครั้งมีการแสดงออกที่ทำให้เกิดความรุนแรง ปัจจุบันก็มีความเกลียดชังที่เกิดขึ้นจนเกิดการบาดเจ็บล้มตายของเจ้าหน้าที่และประชาชน ก็ไม่ควรจะมีการกล่าวหากันแบบนี้ หากสงสัยในเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นก็นำข้อมูลการทุจริตคอรัปชั่นที่เรามีมาเผยแพร่ นำมาแสดงออกให้ประชาชนรู้ ไม่ให้เลือก หรือจะดำเนินการผ่านกระบวนการยุติธรรมก็ได้เพื่อให้ลงโทษผู้กระทำผิด รวมถึงการซื้อสิทธิขายเสียงด้วย ควรพยายามหาข้อเท็จจริงมาเสนอต่อสังคม หรือเพื่อดำเนินการฟ้องร้องผู้กระทำผิด

อยากฝากอะไรถึงแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข ที่ออกมาแสดงจุดยืน มาเคลื่อนไหวทางการเมืองขณะนี้

มองว่าการแสดงออกทางการเมืองเป็นสิทธิส่วนบุคคล การแสดงออกทางการเมือง วิธีการต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย รัฐธรรมนูญ ข้อสองจุดมุ่งหมายของการแสดงออกก็เช่นเดียวกันจะต้องเป็นจุดมุ่งหมายภายใต้ระบอบประชาธิปไตยคือเรียกร้องให้ทุกคนอยู่ภายใต้หลักการที่ว่าทุกคนมี 1 สิทธิ 1 เสียง มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน และอีกข้อหนึ่งคือเสียงส่วนใหญ่ก็ต้องฟังเสียงส่วนน้อยด้วย ก็ต้องไม่ขัดต่อ 2 หลักการนี้เพราะเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย
...
ศ.ดร.นพ.ศุภสิทธิ์ พรรณารุโนทัย คณบดี คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

“เนื่องจากมีความสูญเสีย คณบดีก็เห็นว่าต้องแสดงอะไรบางอย่างเพื่อให้เกิดความเป็นกลางขึ้นมา กลุ่มที่จะเป็นกลางเป็นกลุ่มที่ประเทศต้องการ ระยะเวลาไม่สามารถที่จะทำได้ถึงขั้นการหารือได้ทุกคน เนื่องจากความเร่งด่วน แต่ตรงนี้เป็นการออกมาในนามของคณบดี”

ด้าน ศ.ดร.นพ.ศุภสิทธิ์ พรรณารุโนทัย คณบดี คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ระบุว่าการออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศไทยก่อนการเลือกตั้ง ไม่ได้สนับสนุน กปปส. แต่เป็นข้อเสนอ 5 ข้อ หนึ่ง เรื่องปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ เนื่องจากว่าประเทศไทย ความจริงเรามีการประชุมเรื่องการปฏิรูปมาหลายปี ปฏิรูประบบสุขภาพ ปฏิรูปประเทศไทย ทำมามากกว่า 3 ปี ก็ไม่ได้ทำเป็นจริงเป็นจัง ไม่ทำให้เห็นชัดเจนว่าปฏิรูปอะไรไปบ้าง อย่างกระทรวงสาธารณสุขก็พยายามวางตัวเป็นกลางเพราะเรายังต้องดูแลประชาชน โดยในส่วนของคณะแพทย์เราเห็นว่าปัญหาประเทศถึงขั้นที่มีความสูญเสียเยอะ เพราะฉะนั้นคณะแพทย์ก็เห็นว่า หนึ่ง ประเทศไทยต้องปฏิรูปโครงสร้างต่างๆ โครงสร้างอำนาจและ โครงสร้างการตรวจสอบการใช้อำนาจต่างๆ  ซึ่งเป็นความเห็นของฝ่ายต่างๆ

ข้อเรียกร้องที่ให้รัฐบาลรักษาการเสียสละยุติบทบาทนั้น ในทางกฎหมายขณะนี้ เป็นรัฐบาลรักษาการ ไม่สามารถลาออกได้ มีความคิดเห็นอย่างไร

ตรงนั้นจะบอกว่าให้รัฐบาลเสียสละ เนื่องจากว่าความขัดแย้งจะอยู่ที่ตัวรัฐบาลด้วย การที่ยืนกระต่ายขาเดียวโดยบอกว่ารัฐบาลลาออกไม่ได้ โดยทางกฎหมายก็ไม่ถึงกับว่าจะเสียสละไม่ได้ หากว่าเสียสละไปก็จะมีรัฐบาลที่เป็นกลาง ตั้งกลุ่มที่เป็นกลางขึ้นมาเพื่อดำเนินการ ซึ่งได้เขียนเอาไว้

มีกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ออกมารณรงค์เรียกร้องว่าในการแสดงออกทางการเมืองไม่ควรเอาสถาบันทางการแพทย์มากล่าวอ้าง มองเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

ตรงนั้นเป็นความเห็นได้ และตอนแรกทางกลุ่มจะทำให้ชัดด้วยว่าเป็นความเห็นของคณบดี ตรงนี้อย่างที่เรียนตั้งแต่ตอนต้นว่าเนื่องจากมีความสูญเสีย คณบดีก็เห็นว่าต้องแสดงอะไรบางอย่างเพื่อให้เกิดความเป็นกลางขึ้นมา กลุ่มที่จะเป็นกลางเป็นกลุ่มที่ประเทศต้องการ

ในการเคลื่อนไหว การใช้ชื่อของสถาบันเคลื่อนไหว มีการหาฉันทามติจากภายในสถาบันอย่างไร หรือมีการหารือร่วมกันของคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ทั้งหมดอย่างไร

ระยะเวลาไม่สามารถที่จะทำได้ถึงขั้นการหารือได้ทุกคน เนื่องจากความเร่งด่วน แต่อย่างที่เรียนว่าตรงนี้เป็นการออกมาในนามของคณบดี

หมายความว่าเป็นการรวมตัวกันในฐานะของตัวเรา ในฐานะคณบดีเท่านั้น ไม่ได้เป็นการอ้างสถาบัน

ครับ ในฐานะที่เป็นผู้ดูแลสถาบันตอนนี้ก็มีความคิดเห็นอย่างนี้

ทำไมจึงเห็นควรให้เลื่อนการเลือกตั้ง ซึ่งตอนนี้ในสังคมมีกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวให้มีการเลือกตั้ง 2 กุมภา เมื่อสังคมมีความเห็นต่าง ควรทำอย่างไร

จากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวานนี้ (24 ม.ค.2557) ก็พูดว่าสามารถที่จะเลื่อนได้ เพราะฉะนั้นก็อยู่ที่การตีความ ก็จะเห็นว่าเลือกตั้งวันที่ 2 ก็ยิ่งจะทำให้เกิดปัญหารุนแรงต่อไปอีก เพราะการเลือกตั้งไม่สามารถทำให้เกิดข้อยุติได้เราเลยมีข้อเสนอนี้ การเลือกตั้งวันที่ 2 น่าจะมีแต่ความสูญเสียไม่ว่าจะสูญเสียงบประมาณ หรือสูญเสียโอกาสที่จะเดินได้อย่างดี

ถ้าหากรัฐบาลยอมยุติบทบาทจริงๆ แล้วมีรัฐบาลกลาง ใครหรือกลุ่มไหนที่เหมาะสม ที่เป็นกลางที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลกลางแล้วเกิดการยอมรับกันได้ทุกฝ่าย

ระยะหลังเห็นว่ามีการคุยกัน ก็น่าจะเป็นเรื่องของความเป็นหมู่คณะ คือความเป็นกลางหมายถึงว่าแต่ละคนอาจจะเอียงไปตรงนั้น ตรงนี้ เมื่อมารวมกันก็จะเป็นอะไรที่เรียกว่าเป็นกลาง และการหารือในลักษณะที่ว่าประชาชนมีตัวแทนเพิ่มขึ้นด้วยอะไรทำนองนี้เพราะเท่าที่สังเกตสมัชชาปฏิรูปก็มีการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเยอะมาก

มีความคิดเห็นอย่างไรที่อาจารย์แพทย์จากมอ. ขึ้นเวทีกปปส. แล้วใช้คำปราศรัยไม่เหมาะสม รวมถึงการชูป้ายว่าหนีคนไข้มาไล่ปู

เท่าที่ฟังจากนายกแพทยสภาจะพูด จะเป็นคนละอย่างกับการทำเวชปฏิบัติ ถ้ามองในแง่สังคมแพทย์จะต้องมีความสุภาพกว่านี้ ส่วนการชูป้ายว่าหนีคนไข้มาไล่ปูตรงนั้นก็ไม่ค่อยเหมาะสมเท่าไหร่

มีความคิดเห็นอย่างไรที่มีการใช้สัญลักษณ์กาชาดมาเคลื่อนไหวในทางการเมือง แต่ล่าสุดสภากาชาดระบุว่า เครื่องหมายกาชาดไม่ควรนำมาใช้แสดงจุดยืนทางการเมือง

ตรงนั้นตนไม่ได้เข้าไปร่วม แต่เท่าที่ดูน่าจะเป็นการเอาธงกาชาดมาเดิน ซึ่งทางสภากาชาดก็ได้ท้วงติงไปแล้ว โดยส่วนตัวเห็นว่าถ้าเป็นหน่วยพยาบาลไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไรเพราะจะต้องดูแลประชาชนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน

ในขณะที่สังคมมีความคิดเห็นต่างกัน กลุ่มแพทย์ก็มีอีกกลุ่มที่มาเคลื่อนไหวให้มีการเลือกตั้ง ใช้ชื่อกลุ่มว่า กลุ่มแพทย์และผู้รักประชาธิปไตย และกลุ่มเพื่อนสาธารณสุขเพื่อประชาธิปไตย มองการเคลื่อนไหวนี้อย่างไร

เป็นเสรีภาพที่จะแสดงได้ เป็นเสียง แต่อย่างที่เรียนแล้วว่าเราพยายามออกมาไม่ได้จะมาสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ได้บอกว่าเป็นการสนับสนุนกปปส.อย่างเต็มที่ เพราะบางประเด็นที่ กปปส.แสดงท่าทีออกมาก็ไม่ได้ตรงกับแถลงการณ์ 5 ข้อที่เราเสนอ ก็เป็นโอกาสที่ทำให้สังคมได้เห็นว่าแต่ละฟาก แต่ละกลุ่มมีความคิดเห็นอย่างไร

ตอนนี้แพทย์ บุคลากรทางด้านสาธารณสุขที่ออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองเยอะมาในตอนนี้ ดังนั้นอยากจะฝากอะไรถึงคนเหล่านั้น

เรื่องจริยธรรมพื้นฐานที่ว่าต้องดูแลบุคคลทุกกลุ่มโดยไม่เลือกปฏิบัติ ตรงนี้ก็ต้องให้สังคมเห็นชัด เพราะเป็นสิ่งที่ยึดมั่นมาและจะต้องยึดมั่นต่อไป ส่วนเรื่องความคิดเห็นอะไรต่างๆ ก็ต้องพยายามกลั่นกรองให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมดีขึ้น

http://www.hfocus.org/content/2014/01/6229