ผู้เขียน หัวข้อ: สู่ภาวะสมดุลของระบบสุขภาพไทย-พลตำรวจตรีชุมศักดิ์ พฤกษาพงษ์  (อ่าน 2100 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด
ทันโรคทันเหตุการณ์กับแพทยสภา ประจำวันที่ 11 กันยายน 2553
สู่ภาวะสมดุลของระบบสุขภาพไทย   

ท่ามกลางความรู้สึกที่เป็นลบซึ่งกันและกันระหว่างผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขฉบับพ.ศ...............ที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆจากการที่แพทย์หลายกลุ่มออกโรงคัดค้านกันอย่างแข็งขัน ขณะที่รัฐบาลผู้เสนอกฎหมายไม่รู้ร้อนรู้หนาวเท่าที่ควรนั้นผมซึ่งร่วมสนับสนุนอยู่รอบนอกขอใช้โอกาสนี้เสนอความเห็นในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมมากว่า40 ปี และมีส่วนร่วมบริการองค์กรด้านสุขภาพหลายแห่งว่าสิ่งที่วงการแพทย์ควรจะทำควบคู่ไปกับการรณรงค์ต่อต้านกฎหมายดังกล่าวคือให้มีกลุ่มแพทย์ที่มุ่งพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพเหมาะสมสำหรับคนไทยโดยสร้างความสมดุลของ 3 หลักการเพื่อสร้างสุขภาพที่ดีให้แก่คนไทยทั้งประเทศ หลัก

การที่หนึ่งคือ บริการจากแพทย์ (Medical model)ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนที่มาขอรับบริการจะได้รับบริการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องตามข้อมูลประจักษ์ทางการแพทย์(Evidence-based Medical Practice) ที่มีความพลาดพลั้ง (Medical Errors)ทั้งด้านวินิจฉัยและการรักษาน้อยที่สุดโดยผู้ให้บริการที่ทำนุบำรุงทักษะทางวิชาชีพอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง(Professionalism และ competency)

หลักการที่สองคือ การสาธารณสุข (Public Health Model)ซึ่งควรจะมีการปลูกฝังเจตคติและทัศนคติของคนไทยทั้งชาติว่าทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียมกันแต่ก็ต้องมีหน้าที่ในการดูแลสุขภาพตนเอง ระบบสาธารณสุขจึงต้องกำจัดรากเหง้าแห่งพฤติกรรมที่บั่นทอนและทำลายสุขภาพเช่น การเสพย์ยาเสพติด, ความอ้วน, การดื่มสุราและสูบบุหรี่อันนำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บสารพัดอวัยวะ

หลักการที่สามคือ ปัจจัยทางสังคมที่จะนำไปสู่สุขภาพที่ดี (Social determinants of health model)ประเด็นนี้เป็นองค์ประกอบล่าสุดที่ออกมาแสดงตัวให้สังคมเห็นว่าลำพังหลักการที่ 1 และ 2 ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างสุขภาพให้แก่คนไทยได้จำเป็นต้องมีกลยุทธ์ด้านสังคมมาเสริมไม่ว่าจะเป็นการกระจายรายได้เพื่อลดช่องว่างของความรวยจน,กลไกทางเศรษฐกิจและสังคมที่ประกันการได้ทำงานที่สร้างประโยชน์ต่อสังคมพร้อมกับทำรายได้มากพอที่คนๆ นั้นจะสามารถมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีได้,กลไกที่ช่วยให้เด็กๆรู้สึกปลอดภัยและมีสุขภาพดีจนมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ทั้งนอกและในห้องเรียน, การให้อำนาจแก่สตรีและชุมชนในการช่วยสร้างเสริมสุขภาพให้แก่ประชากร

ทั้งสามหลักการผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ดำเนินพร้อมกันไปอย่างสมดุลกระบวนวิธีดำเนินการน่าจะต้องอาศัยแพทย์เป็นผู้นำดังนั้นผมขอเรียกร้องและเชิญชวนแพทย์นักวิชาการ,นักบริหารระบบบริการสุขภาพอาสาและแสดงตัวเพื่อสร้างกลุ่มร่วมพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับคนไทยจากแม่บทที่ได้ก็นำไปสู่ระบบย่อยที่จะสอดประสานเพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบทั้งสามดังกล่าว

แพทย์จะมีฝ่ายบู๊ก็ไม่ว่ากัน กลุ่มหัวหอกก็ดำเนินไปตามครรลองทางการเมืองขณะเดียวกันขอให้มีแพทย์ฝ่ายบุ๋นเพื่อช่วยกันสร้างระบบบริการสุขภาพที่จะลดความขัดแย้งและสนองศรัทธาให้สังคมกลับมาเคารพนับถือวิชาชีพสุขภาพเหมือนแต่ก่อน 

ด้วยความปรารถนาดีจาก
พลตำรวจตรีชุมศักดิ์ พฤกษาพงษ์
กรรมการแพทยสภา