ผู้เขียน หัวข้อ: สาร "ลับ" ของความตาย  (อ่าน 1170 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
สาร "ลับ" ของความตาย
« เมื่อ: 13 กันยายน 2012, 00:23:57 »
นอกจากความอาลัย "ความตาย" ยังมี "ข้อความ" ที่หลายคนอาจมองไม่เห็น

ด้วยความลึกลับอันเงียบงัน หรือความเว้งว้างอันว่างเปล่า "ความตาย" มักสร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้กับคนเราอยู่เสมอ

ภาพจินตนาการถึงการจากลาถูกบอกเล่า และถ่ายทอดต่อกันมาในรูปแบบต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การแก้ไขความอยุติธรรมด้วยอารมณ์โกรธแค้นของ The Crow ความลึกซึ้งของ "คู่แท้" ระหว่าง คริส กับ แอนนี่ (What Dreams May Come) หรือ "น้ำหนัก" ของวิญญาณที่ พอลให้คำตอบกับคริสติน่า (21 Grams) แม้กระทั่ง รายการวาไรตี้ "อวดผี" ออกหน้าจอโทรทัศน์

ไม่ต่างกับความเป็นจริง ต้นขั้วของความตายก็มักให้ดอกผลต่างกันออกไป

เหมือนสัญญาณความผิดปกติอย่างแรกที่ ปาล์ม (สงวนชื่อจริง) รู้สึกได้เกิดในค่ำคืนหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน พ่อกำลังอุ้มแม่ออกจากบ้านไปโรงพยาบาล หลังจากใช้เวลารักษาอาการเส้นเลือดในสมองแตกอยู่ระยะหนึ่ง แม่ก็จากไป และสิ่งที่ประดังเข้ามาก็คือ เครื่องหมายคำถาม เต็มไปหมด

"ตัวเราเกิดคำถามมากมาย แม่จะไม่อยู่แล้ว แม่ตายแล้ว ที่บ้านเราจะอยู่กันต่อไปยังไง"

แต่หากถามถึงความตายกับหนุ่มออฟฟิศย่านเพลินจิตอย่าง เจ - ชัยวัฒน์ สุขพรรณพิมพ์ บุคลิกอันเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกหลานของ "เหล่าโกว" ที่เพิ่งเสียไปด้วย "มะเร็งลำคอ" เมื่อต้นปี นับเป็น "ภาพติดตา" ที่เขาไม่เคยลืม

"แกเป็นคนสู้ชีวิต และทำดีมาตลอด เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกหลาน"

ถ้าอย่างนั้น "ข้อความ" จากความตาย (และคนตาย) จะถูก "สื่อสาร" ได้ในทางไหนบ้าง
 
"ปรัชญา" ของ "ความตาย"

น้ำตา ชาติภพ และโลกหลังความตาย มักเป็นเรื่องที่สะกิดความรู้สึกของคนเราอยู่เสมอ เมื่อคนรอบข้างเสียชีวิต ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่สำหรับหลักการของศาสนานั้น "ความตาย" ได้ถูกซ่อนนัยยะเอาไว้สอนผู้คนอยู่หลายแง่มุม

ความเชื่อของคริสตศาสนิกชน นิกายโรมันคาทอลิก ความตายไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต ความตายเป็นเพียงการจากไปสู่โลกจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นบ้านที่แท้จริงของคนเราหลังความตาย

"ชั่วชีวิตในโลกนี้เป็นเวลาชั่วคราวเท่านั้น คาทอลิกจึงมีทัศนะต่อความตายว่าไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่เป็นจุดเริ่มต้นสู่การไปพบพระเจ้า" บาทหลวงบรรจง  สันติสุขนิรันดร์ เคยแสดงทัศนะถึงความตายในวงเสวนา "ศาสนากับการดูแลผู้ป่วยใกล้ตาย"

การตระหนักถึงความผิดพลาดที่ผ่านมา ทำให้ห้วงเวลา "ก่อนตาย" มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเวลามีชีวิต เพราะความทุกข์ต่างๆ สามารถเปลี่ยนเป็นกุศลได้ ในทุกช่วงของชีวิตจึงต้องให้โอกาสได้เรียนรู้ และเป็นเหตุผลว่า ทำไมทุกสัปดาห์คริสตศาสนิกชนจึงต้องไปโบสถ์เพื่อรับศีล และฟังคำสอน เพื่อการดำเนินชีวิตด้วยความดีตลอดเวลา

ตามหลักการอิสลาม เท่าที่ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอาน และอัลหะดีษ (พระวจนะของที่นบีหรือศาสดาองค์สุดท้ายคือท่านบีมูฮำหมัด ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิว่ะซัลลัม) นั้น ความตายเป็นเพียงโลกหนึ่งที่มนุษย์ต้องประสบ และต้องผ่าน นับจาก โลกในครรภ์ (ซุลมิ) โลกนี้ (ดุนยา)

"โลกที่ประสบอยู่ในปัจจุบันจะกว้างขวางกว่าโลกที่ผ่านมา และโลกที่จะไปประสบในอนาคตก็จะยิ่งกว้างขวางออกไปอีก" อิหม่ามทวี (มูฮำหมัด) วันหวัง อิหม่ามประจำมัสยิดกมาลุลออีมาน(วังตาหนวด) เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร ให้คำอธิบาย

การผ่านโลกต่อไปอย่าง โลกในหลุมศพ (บัรซัค) และโลกหน้า (อาคิเราะห์) สำหรับเขานั้นล้วนเป็นไปตามพระประสงค์

"ทุกคนจะต้องรู้สึกถึงรสแห่งความตายด้วยตัวเอง ภายหลังจากที่ได้รู้รสถึงการมีชีวิตมาแล้ว อัลลอฮฺประสงค์ที่จะทดสอบมนุษย์ว่าจะจงรักภักดีต่อพระองค์ตามบัญชาของพระองค์หรือไม่ จึงเป็นเหตุให้มนุษย์ได้ประสบกับทั้งสองสภาวะ"

ขณะที่ในทางพุทธ ความตายในมุมมองของ ธนวัชร์ เกตน์วิมุต ที่ศึกษาเรื่องชีวิต และความตายมาอย่างจัดเจนคนหนึ่งนั้น ความตายสอนเรื่องอัตตา (ตัวตน) ได้เป็นอย่างดี

"ความตายสอนให้เราอย่าอหังการ อย่าทะนงตัวหรือทะยานอยาก เพราะในความเป็นจริงชีวิตของเราไม่ได้ต้องการอะไรมาก ไม่ว่าจะเป็นสมบัติพัสถาน หรืออำนาจ ความยิ่งใหญ่ จริงๆ แล้วไม่ได้จำเป็นเท่ากับชีวิตที่มีคนที่เรารัก และรักเรา"

หรืออย่างน้อยที่สุด ก็เป็นเครื่องกระตุ้นเตือนให้คนมองเห็น "ความดี" ได้เต็มตาขึ้นกว่าเก่า

แบบเรียนร่างกาย

สำหรับคนในสายวิชาชีพหมอ หรือพยาบาล วิชากายวิภาคเปรียบเทียบ (Comparative Anatomy) ถือเป็นบทเรียนแรกๆ ที่พวกเขาจะต้องผ่าน ก่อนจะขึ้นชั้นไปเรียน "ผ่า" กับ "อาจารย์ใหญ่" บรรยากาศที่อวลไปด้วยกลิ่นฟอร์มาลีน หรือกลิ่นน้ำยาฆ่าเชื้อดูจะกลายเป็นลายเซ็นต์ของห้องเรียนในหลักสูตรนี้ไปแล้ว

ไม่ต่างกับพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดแสดงชิ้นส่วนของร่างกายมนุษย์ ภาพความลึกลับ (ส่วนใหญ่มาจากหนังสยองขวัญ) ก็ค่อยๆ ผุดพรายขึ้นมาเมื่อรู้ตัวว่าหลังประตูบานนั้นมีอะไรรออยู่ แต่คงไม่ใช่กับพิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์ทั้ง 131 ชิ้นที่ถูกนำมาจัดแสดงไว้ใน อาคารทันตแพทยศาสตร์เฉลิมนวราช 80 คณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับบริจาคมาจากประเทศญี่ปุ่นเมื่อไม่นานนี้

รศ.ทญ.ดร.สุคนธา เจริญวิทย์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงเทคโนโลยีที่นำมาใช้กับร่างของ "อาจารย์ใหญ่" ที่ดูไม่ต่างจากโมเดลจำลองเหล่านี้ว่า Plastination หรือการแทนที่ด้วยพลาสติก

"กระบวนจะเริ่มจากชำแหละร่างอาจารย์ใหญ่ตามท่าที่ต้องการ จากนั้นจึงแทนที่น้ำในร่างกายด้วย อะซีโตน (Aceton) หรือน้ำยาล้างเล็บ เพราะองค์ประกอบในร่างกายเราจะมีน้ำ 70-80 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นก็จะดึงเอาน้ำออกเรื่อยๆ โดยใช้เวลาประมาณ 2 ปี จนน้ำจากร่างกายหมด แล้วเอาพลาสติกเข้าไปแทนที่อะซีโตน (คุณสมบัติอะซีโตนละลายพลาสติกได้) พลาสติกก็จะไปแทรกซึมทุกที่ที่เคยเป็นน้ำมาก่อน ก็ทำให้รักษาสภาพของเซลได้" เธออธิบาย

ชิ้นส่วนศรีษะ ที่มีองค์ประกอบตั้งแต่ สมอง กระโหลก ซี่ฟันต่างๆ ชั้นมัดกล้ามเนื้อที่ถูก "แผ่" มาให้เห็นในอิริยาบทต่างๆ รวมทั้งระบบภายในร่างกาย อาทิ หัวใจ ปอด ระบบเส้นประสาท ทางเดินปัสสาวะ ตลอดจนระบบสืบพันธุ์ มุมหนึ่ง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการอธิบายว่า ทั้งหมดก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจในระบบร่างกายดีขึ้นซึ่งจะเป็นประโยชน์กับนักศึกษาแพทย์ หรือคนในสายวิชาที่ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับสรีระของคนเราอย่างนักศึกษาศิลปะก็น่าจะได้จากตัวนิทรรศการด้วยเหมือนกัน

ขณะที่คนทั่วไป อาจมีคำถามในใจว่า แล้วจะรู้ไปทำไม...

"ถ้าเราเข้าใจในระบบของร่างกายเราดี เราอาจจะต่อยอดเพื่อทำให้เราดูแลสุขภาพของเราเองได้ดียิ่งขึ้น จริงๆ เหมือนกับว่า ถ้าเรารู้ร่างกายเราเองก็จะดี เจ็บตรงนี้คืออวัยวะส่วนไหนได้บ้าง อย่างไส้ติ่ง ทำไมต้องเท้าเอวด้านขวาจะอยู่ตรงนิ้วก้อย การเห็นระบบภายในแบบนี้ก็จะสามารถบอกได้ ถ้าเราปวดตรงใต้หน้าอกแสดงว่าเป็นที่กระเพาะ" เธอยกตัวอย่างแทนคำตอบ

แม้จะมีคำถามถึงความเหมาะสมด้านมนุษยธรรม ซึ่งทำให้ชุดการแสดงนี้เป็น 1 ใน 3 ชุดที่มีอยู่ในโลก คือ เยอรมัน จีน และญี่ปุ่น สำหรับประเทศไทย รศ.ทญ.ดร.สุคนธา บอกว่านี่เป็นโอกาสของการมีชุดแสดงชุดเล็กที่น่าจะตอบโจทย์ รวมทั้งต่อยอดองค์ความรู้เพื่อพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ของประเทศจาก "อาจารย์ใหญ่" เหล่านี้ด้วย

"เพราะชุดการแสดงจะโชว์ กล้ามเนื้อชั้นตื้น ชั้นลึก กล้ามเนื้อหลอดเลือด ระบบทางเดินอาหาร และระบบประสาทอัตโนมัติ มันจะโชว์รายละเอียดระบบประสาททั้งร่างกายทั้งหมด"

ทั้งหมด ถือเป็นวิทยาทานจากคนที่จากไปที่ทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้

"สืบ" จาก "ศพ" 

บ่อยครั้งที่แฟ้มคดีอาชญากรรมถูกปิดได้ด้วย "ผู้ตาย" เอง ถ้าถามคนฟากสืบสวนอย่าง พ.ต.อ.วิรุฬห์ ศุภสิงห์ศิริปรีชา นายแพทย์ (สบ 4) กลุ่มงานนิติพยาธิ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เขายอมรับว่า ในกระบวนการสืบสวนทางนิติวิทยาศาสตร์ "ศพ" หรือ "ผู้เสียหาย" ถือเป็นหลักฐานที่มีประสิทธิภาพ และช่วยให้การทำงานของตำรวจ "ง่าย" ขึ้น

"ร่างกายผู้ตายมีความสำคัญกว่าพยานทั่วไป เพราะหลอกไม่ได้ โกหกไม่ได้ ในอดีตเทคโนโลยีต่างๆ ในการค้นหาความจริง มันยังไม่ค่อยเจริญ มันก็ต้องอาศัยประจักษ์พยานการสืบสวน แต่ในปัจจุบันการใช้หลักวิทยาศาสตร์มาค้นหาวัตถุพยาน และใช้ในกระบวนการยุติธรรมมีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ เพราะทำได้มากขึ้น"

ส่วนสำคัญอยู่ที่ "ข้อเท็จจริง" ภายในร่างกายของผู้เสียชีวิต

"ไม่มีใครไปซื้อมันได้ ใช่ก็ใช่ ไม่ใช่ก็ไม่ใช่" เขายืนยัน

ต่างจากประจักษ์พยานที่อาจถูกบิดเบือนได้ ไม่ว่าจากผู้คนแวดล้อมที่มีผลต่อคดี หรือตัวพยานเอง

"อาจจำได้หรือจำไม่ได้ มันถูกบิดเบือนได้ อย่างที่เห็นชัดๆ อย่างเชื้ออสุจิ อสุจิเป็นของใครอยู่ในช่องคลอด ไม่มีใครเห็นคุณก็ผิด ถูกไหม แต่สมัยก่อนไม่ได้นะ ต้องมีคนเห็นเดินเข้าไปหรือเปล่า หรือออกมาหรือเปล่า มีพบกันจริงไหม นี่คือไม่มีใครเห็นน่ะ ถ้าของคุณเข้าไปอยู่ข้างในก็คือหลักฐาน"

โดยขั้นตอนการตรวจศพแต่ละครั้ง โดยปกติจะใช้เวลา 1 ชั่วโมง ยกเว้นมีความยากง่ายแต่ละราย

"แต่กระบวนการไม่ได้จบตรงนั้น ยังต้องเอาชิ้นเนื้อบางส่วนมาตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพราะบางโรคบางอย่างมันไม่ได้เห็นด้วยตาเปล่า หรือการตรวจหาสารพิษ สารเสพติดที่ซ่อนอยู่ในร่างกายกระบวนการมันก็จะกินเวลาหลายวันอยู่ แต่การตรวจศพ ภายใน 1 วันก็พร้อมที่จะรับได้แล้ว แต่กว่าจะออกเป็นรายงานก็ใช้เวลาอีกพอสมควร" เขาอธิบาย

ความยากง่ายก็ขึ้นอยู่กับลักษณะการตาย ยิ่งแผลที่ถูกยิงถูกฟันเยอะก็ต้องใช้เวลาตามไปด้วย

"ส่วนใหญ่จะเป็นฆาตกรรมน่ะ จะยาก เพราะต้องดูละเอียดมากกว่าปกติ" เขาสรุป ซึ่งมีหลายคดีที่ศพช่วยพลิกคดี หรือช่วยในการสืบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

"กรณีนักท่องเที่ยวถูกข่มขืนแล้วฆ่าที่เกาะสมุยประมาณ 1-2 ปีที่ผ่านมา ก็ส่งมาตรวจ เราพบอสุจิอยู่ในตัวศพ 2 ตัว ซึ่งตอนหลังก็ไปจับลูกเรือประมงละแวกนั้น เรานำอสุจิมาทำดีเอ็นเอ ได้ดีเอ็นเอ 2 คนมาอยู่ด้วยกัน เราก็แยกออกมา หลังจากนั้นตำรวจก็ไปสืบ ตีวง และลดกลุ่มเป้าหมาย แล้วส่งมาตรวจ ก็พบผู้ต้องหา 2 คนที่อยู่ในนั้น  เรื่องก็ง่าย เขาก็รับสารภาพ เพราะตอนนั้นไม่มีใครเห็นเพียงแต่ว่า น่าจะเป็นเรือลำนี้นะ เพราะมันจอดตรงนี้แล้วกินเหล้ากัน"

ทั้งหมดเป็นการทำงานร่วมกัน กับฝ่ายสืบสวน และคนตาย

ส่วนการผ่าที่อาจกระทบจิตใจ หรือหลักศาสนา จากประสบการณ์เขาคิดว่าอยู่ที่การทำความเข้าใจ และดุลยพินิจในแต่ละกรณีมากกว่า

"จริงๆ ผมเห็นด้วยในกรณีที่เป็นโรคเสียชีวิต ไม่ต้องมีคนผ่า แต่ถ้ามีความไม่แน่ใจว่า มีการฆาตกรรมหรือไม่ ก็ควรต้องผ่าเพราะเจ้าตัวเองก็อยากให้เรารู้ถูกไหม ว่าใครทำ อีกอย่างกฎหมายก็ให้อำนาจอยู่แล้ว เพราะเขาเล็งเห็นว่ามันจำเป็นต้องทำ อย่าไปคิดว่าเป็นการทำร้าย เพราะที่สุดเราก็ต้องเผา ก็สลายไปอยู่ดี กรณีของอิสลาม เราก็เข้าใจแต่ก็ต้องคุยกับเขาก่อน สงสัยว่ามีเรื่องไม่ตรงไปตรงมา ถึงขอ เราก็ไม่ให้ เพราะเป็นสิทธิ์ที่ทำได้ แต่ต้องอธิบายเขา" พ.ต.อ.วิรุฬห์บอก

+++++++++++++++

ไม่ว่าจะเป็นมุมไหน ความตาย (และคนตาย) ก็ยังทำประโยชน์ให้กับคนที่ยังอยู่ต่อไป แต่สิ่งที่ธนวัชรตั้งข้อสังเกตกับคนเราในปัจจุบันนี้ก็คือ วันนี้ผู้คนมองความตายแยกส่วนไปจากชีวิตค่อนข้างห่างไกลเพราะการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป

"เราใช้ชีวิตไป เราเจอความสุขไม่ว่าจะเป็นสุขแท้ หรือสุขเทียม นั่นก็ทำให้เราพยายามรักษาความสุขเหล่านี้เอาไว้ หรือวิถีชีวิตในอดีตเราคุ้นเคยกับการมีศพญาติผู้ใหญ่อยู่ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นปู่ย่าตายาย หรือพ่อแม่ แต่วันนี้ เมื่อคนป่วยเราก็ผลักให้ไปอยู่โรงพยาบาล เมื่อตายก็ส่งต่อไปที่วัด ไม่มีโอกาสได้สัมผัสครอบครัวเป็นครั้งสุดท้าย กลายเป็นว่าของคนตายคืออัปมงคล"

ทั้งที่ความเป็นจริง เขายกตัวอย่างความตาย (ความแก่) ที่ตัวเราต้องเผชิญอยู่ทุกวัน หรือกระทั่งลมหายใจตรงหน้า ระหว่างลมหายใจเข้า - ออก นั้นยังมีช่วง "ดับ" อยู่ด้วย

ไม่ต่างจากปัจฉิมโอวาทที่พระพุทธองค์ทิ้งเอาไว้

"สิ่งทั้งหลายที่เกิดมาในโลก มีความเสื่อมสลายเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำหน้าที่อันเป็นประโยชน์แก่ตนและคนอื่น ให้สำเร็จบริบูรณ์ ด้วยความไม่ประมาทเถิด" 

โดย : ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี
12 กันยายน 2555  กรุงเทพธุรกิจ