แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - story

หน้า: 1 ... 438 439 [440] 441 442 ... 651
6586
เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน โดยเชิญผู้แทนสถานทูตจากประเทศต่างๆ อาทิสหรัฐอเมริกาอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน อิหร่าน เป็นต้น ร่วมแสดงความเห็นและแลกเปลี่ยนข้อมูลถึงสาเหตุการเสียชีวิตของคนชาติต่างๆที่เข้ามาพำนักหรือท่องเที่ยวในไทย

เพราะขณะนี้สถิติชาวต่างชาติเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนนนับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนานาประเทศต่างให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว และอยากให้ไทยเร่งดำเนินการแก้ไข เรื่องของความปลอดภัยบนท้องถนน ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐาน การควบคุมดูแลการบังคับใช้กฎหมายหย่อนยานจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ

นพ.แท้จริง ศิริพานิช คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันความปลอดภัยบนท้องถนนถูกละเลย คนที่เสียชีวิตบนท้องถนนมักจะโทษเวรกรรมมากกว่าหาสาเหตุที่แท้จริง จากสถิติผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในไทยเฉลี่ย 26,000 รายต่อปี ติดอันดับ 3 ของโลก

และที่น่าตกใจก็คือ จำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนนมีต่างชาติจากหลายๆประเทศรวมอยู่ด้วย ซึ่งบ้านเราอาจจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ผิดกับต่างชาติอย่างสิ้นเชิง ภาครัฐเอาใจใส่ดูแลอย่างเต็มที่ ทำให้สถิติอุบัติเหตุหลายๆประเทศลดลงเรื่อยๆ

โอกาสนี้ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯจึงได้เชิญผู้แทนสถานทูตจากประเทศต่างๆมาให้ข้อมูลและร่วมแสดงความคิดเห็นถึงสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงแนวทางแก้ไขเพื่อเสนอรัฐบาลดำเนินการแก้ไขซึ่งจากการสัมมนาครั้งนี้ผู้แทนจากชาติต่างๆ สะท้อนข้อมูลให้เห็นว่าสาเหตุการเกิดอุบัติบนท้องถนนหลักๆมาจากสภาพถนนที่ไม่ได้มาตรฐาน การบังคับใช้กฎหมายหย่อนยาน สมควรที่จะต้องดำเนินการแก้ไขโดยด่วน

เช่น ผู้แทนสถานทูตประเทศอังกฤษแสดงความเห็นว่า คนอังกฤษที่เดินทางเข้ามาในไทย มักเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุเฉลี่ยเดือนละ 2 คน ส่วนใหญ่เกิดเหตุที่กรุงเทพฯ ปัญหาดังกล่าวรัฐบาลอังกฤษให้ความสนใจ พยายามตักเตือนและให้คำแนะนำกับคนของตนเองที่จะเดินทางเข้ามาประเทศไทยควรใช้ความระมัดระวังในการเดินทาง การขับขี่ยานพาหนะ รวมถึงจุดเสี่ยงภัยหรือสถานที่ท่องเที่ยวที่อาจจะไม่ปลอดภัย แต่อุบัติเหตุก็ยังเกิดขึ้น

ขณะที่ผู้แทนสถานทูตสหรัฐอเมริกากล่าวว่า จากสถิติคนอเมริกันเสียชีวิตในไทยติดอันดับ Top 5 เฉลี่ยอย่างน้อยเดือนละ 1 คน รองจากประเทศเม็กซิโก สาเหตุมาจากถนนของไทยไม่ปลอดภัย อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากรถจักรยานยนต์ เนื่องจากปัญหาการจราจรติดขัดต่างชาติจึงนิยมใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้าง ขณะที่การให้บริการก็ไม่ได้รับความปลอดภัยเท่าที่ควร ทั้งเรื่องหมวกกันน็อกไม่ได้มาตรฐาน บางครั้งก็ไม่มีให้เพราะเห็นว่าเดินทางระยะทางสั้นๆ

ที่สำคัญการบังคับใช้กฎหมายค่อนข้างหย่อนยานไม่เข้มงวด เช่น นักท่องเที่ยวไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ไม่มีการประกันภัย ก็สามารถเช่ารถไปขับขี่ได้ โดยเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยวมักละเลยเรื่องนี้ แต่ละปีสถานทูตต้องดูแลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเหล่านี้เพิ่มขึ้น โดยสรุปสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุที่หลายๆประเทศให้ข้อมูลตรงกันก็คือ อุบัติเหตุเกิดจากรถจักรยานยนต์

นพ.แท้จริงกล่าวว่า หลายชาติให้คำแนะนำว่าอยากให้รัฐบาลหรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนมากขึ้น

โดยเน้นว่า การแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดต้องเริ่มที่คนก่อน ทุกคนจะต้องแก้ไขพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนโดยเคารพกฎหมาย จากนั้นค่อยๆเริ่มปรับปรุงแก้ไขด้านต่างๆ รวมถึงยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐานสากล เพียงเท่านี้ความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนนจะลดลงอย่างแน่นอน

เสียงสะท้อนเหล่านี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯจะเป็นตัวกลางนำเสนอรัฐบาลดำเนินการต่อไป!!!!

ไทยรัฐออนไลน์  8 กค 2556

6587
เกิดเหตุเพลิงไหม้ตึกอุบัติเหตุ โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี อพยพคนไข้วุ่น เจ้าหน้าที่ใช้สารเคมีดับเพลิงแทนการฉีดน้ำหวั่นทำอุปกรณ์การแพทย์เสียหาย-ไร้เจ็บ พบต้นเพลิงมาจากตู้อบแห้ง สำหรับฆ่าเชื้อเครื่องมือแพทย์...

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 31 ส.ค. ศูนย์วิทยุ 191 สุราษฎร์ธานี รับแจ้งเกิดเหตุไฟไหม้ ที่บริเวณชั้น 2 ตึกอุบัติเหตุ โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี จึงรายงานผู้บังคับบัญชาทราบ ก่อนประสานไปยังศูนย์บรรเทาสาธารณภัย เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี เข้าควบคุมเพลิง โดยมีนายวงศศิริ พรหมชนะ รอง ผวจ.สุราษฎร์ธานี นายธีระกิจ หวังมุฑิตากุล นายกเทศมนตรีนครสุราษฎร์ธานี และ พ.ต.ท.วิทย์ทวี ภริตานนท์ รอง ผกก.ป.สภ.เมืองสุราษฎร์ธานี นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าอำนวยความสะดวกการจราจร และเจ้าหน้าที่กู้ภัยฉุกเฉินมูลนิธิกุศลศรัทธา พร้อมอุปกรณ์เข้าเคลื่อนย้ายผู้ป่วย

ที่เกิดเหตุ เป็นตึกอุบัติเหตุ และอาคารผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูกชาย ที่บริเวณชั้น 2 มีกลุ่มควันจำนวนมาก และพบว่าเพลิงกำลังลุกไหม้จากห้องแล็บ แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถใช้การฉีดน้ำดับเพลิงได้ เนื่องจากเกรงว่าจะทำความเสียหายให้กับอุปกรณ์ทางการแพทย์ หน่วยผจญเพลิงจึงได้ใช้วิธีใช้ถังดับเพลิงเข้าไปดับไฟ โดยใช้เวลาประมาณ 20 นาที จึงควบคุมเพลิงไว้ได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยฉุกเฉินได้เข้าให้การช่วยเหลือเคลื่อนย้ายผู้ป่วย จากชั้น 2, 3, 4 และ 5 ประมาณ 100 คน ออกจากตัวอาคาร เนื่องจากมีกลุ่มควันหนาแน่น โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างชุลมุนวุ่นวาย ท่ามกลางความตื่นตระหนกของคนไข้และญาติ

ต่อมาเจ้าหน้าที่ดับเพลิงสามารถกระจายกลุ่มควันได้สำเร็จ พร้อมทั้งเข้าตรวจสอบ พบว่าต้นเพลิงเกิดจากตู้อบแห้ง สำหรับอุปกรณ์ฆ่าเชื้อ และเครื่องมือแพทย์ ภายในห้องกลุ่มงานการแพทย์แล้วลุกลามไปยังห้องเอกสาร โดยตู้อบแห้งเสียหายทั้งหมด ส่วนสาเหตุเบื้องต้นคาดว่าเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่กู้ภัยฉุกเฉิน ได้ร่วมประเมินสถานการณ์ร่วมกันระหว่าง นายวงศ์ศิริ นายธีระกิจ และ นพ.อดิเกียรติ เอี่ยมวรนิรันดร์ ผอ.โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ก่อนมีคำสั่งให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยกลับหอพักได้ เมื่อเวลา 15.30 น.

นายเจริญ รื่นโยธา อายุ 20 ปี ผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูกชาย ซึ่งรักษาอาการกระดูกขาและมือหัก อยู่ในหอผู้ป่วยชั้น 5 ตึกอุบัติเหตุ กล่าวว่า ขณะกำลังนอนพักผ่อน ได้กลิ่นควันไฟ แต่ไม่เอะใจ จนกระทั่งมีเจ้าหน้าที่พยาบาลและบุรุษพยาบาล เข้ามาแจ้งว่าได้เกิดไฟไหม้ที่บริเวณชั้น 2 ของตึก และมีความจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากตัวอาคาร โดยให้ญาตินำผู้ป่วยที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ออกทางบันไดหนีไฟ โดยมีเจ้าหน้าที่กู้ภัยคอยให้การช่วยเหลือ และยอมรับว่าขณะเกิดเหตุตกใจมาก.

ไทยรัฐออนไลน์ 31 สค 2556

6588
 คนทั่วไปคงรู้จัก “ซาลีนโซลูชัน” ในภาษาการแพทย์ ที่จริงๆ แล้วคือ เกลือ และน้ำ ในความเข้าใจของคนทั่วไป หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ได้เปิดเผยความลับที่น่าตกใจว่า ทำไมถุงน้ำเกลือ หรือถุง IV ที่เป็นเสมือนยาสำหรับห้องฉุกเฉินนั้น จึงมีราคา 546 ดอลลาร์ และได้ขุดคุ้ยถึงการเกิดโรคอาหารเป็นพิษระบาดทางตอนเหนือของรัฐนิวยอร์ก ซึ่งมีผู้ป่วยมากกว่า 100 รายถูกชาร์จมากกว่า “200 เท่า” ของราคาจากป้ายที่ติดไว้ในร้านขายยาวอลกรีนส์ ที่มีราคาตั้งแต่ 44 เซนต์ ถึง 1 ดอลลาร์ รวมกับค่าบริการทางการแพทย์ในการให้น้ำเกลือ
       
       ผู้ป่วยที่โรงพยาบาลไวท์เพลนส์ ในนิวยอร์ก ซึ่งประกันสุขภาพอยู่กับเอ็ตนา อินชัวรันซ์ ได้รับแจ้งบิลค่ารักษา ซึ่งรวมถึงถุงน้ำเกลือ1หน่วย ราคา 91 ดอลลาร์ (ต้นทุนที่โรงพยาบาลซื้อมา 86 เซนต์) รวมทั้งค่าจัดการอีก 127 ดอลลาร์ โดยยอดสุทธิแล้วผู้ป่วยชาวนิวยอร์กคนนั้นต้องจ่ายราว 546 ดอลลาร์ สำหรับการให้น้ำเกลือ 6 ถุง หลังจากเธอได้เข้าแอดมิดที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 3 วัน ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเดียวกันกับที่เธอเข้ารับรักษาตัวนั้นมีต้นทุนการซื้อซาลีนโซลูชั่น 6 ลิตรในราคาแค่ 5.16 ดอลลาร์ ซึ่งทางนีน่า เบอร์นสไตน์ แห่งหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์เผยว่า ชาวอเมริกันต่างรู้สึกมึนงงกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของอเมริกาที่สูงเกินจริง แต่เมื่อดูราคาที่ดูถูกจนต้องน่าขนลุกของถุงน้ำเกลือที่คนไข้ในนิวยอร์กต้องจ่ายแล้ว มันมีอะไรที่มากกว่านั้นซ่อนอยู่ภายใต้ป้ายราคานั้น
       
       จากการสอบถามไปที่โรงพยาบาลเกิดเหตุ ทางตัวแทนของโรงพยาบลไวท์เพลนส์อ้างถึง ส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นนั้นสอดคล้องกับมาตรฐานการผลิตของโรงงาน ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผลิตภัณฑ์ แต่กระทบต่อการให้บริการและกระบวนการ เช่น กระบวนการจัดซื้อ กระบวนการจัดเก็บ ซึ่งจะไม่รวมอยู่ในค่าธรรมเนียม 127 ดอลลาร์ ที่เป็นแค่ค่าจัดการถุงIV และ 893 ดอลลาร์ สำหรับการให้บริการห้องฉุกเฉิน
       
       บิลมหาโหดค่าใช้จ่ายห้องฉุกเฉินที่ลงในนิวยอร์กไทม์นี้เป็นเรื่องปกติสำหรับค่าใช้จ่ายการแพทย์ที่แพงเกินจริงในดินแดนเทพีเสรีภาพแห่งนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ มีข่าวรายงานถึงชายชาวอเมริกันที่ยอมบินไปกลับเบลเยียมเพียงเพื่อเปลี่ยนสะโพกด้วยค่าใช้จ่ายทั้งหมดราว 13,666 ดอลลาร์ เทียบไม่ได้เลยกับตัวเลขค่าใช้จ่าย 80,000 ดอลลาร์ หากชายผู้นี้เลือกที่จะทำการรักษาในอเมริกา คริส เฮย์ ผู้ดำเนินรายการ “ออล-อิน” แห่งสถานีทีวีเน็ตเวิร์ก MSNBC ให้ความเห็นว่า ดังนั้นการที่ชาวอเมริกันที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายโอบามาแคร์หรือประกันสุขภาพขั้นพื้นฐานของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ บารัค โอบามา เพราะกลัวลัทธิสังคมนิยม หรือถูกรัฐบาลเข้าครอบงำ ควรต้องจำเรื่องราคาถุงน้ำเกลือไว้ให้ดี
       
       ราคาที่เปลี่ยนแปลง
       
       ทางด้าน เบอร์นสไตน์ เผยต่อไปว่า การที่ราคาซาลีนโซลูชันขนาด 1 ลิตรมีราคาสูงถึง 91 ดอลลาร์ นี้เป็นการสมคบกันระหว่าง 1.บริษัทยา 2.กลุ่มบริษัทคนกลางในการจัดซื้อ และ 3.บริษัทประกันสุขภาพ ที่ทำให้บิลค่ารักษาคนไข้นั้นดูคลุมเครือจนแยกไม่ออกว่า แท้ที่จริงแล้วว่าราคาของยา หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องจ่ายจริงนั้นเท่าไหร่ “คนรู้สึกตกใจที่รู้ต้นทุนของถุงน้ำเกลือในโรงพยาบาลราคาแค่เสี้ยวหนึ่งของราคากาแฟสตาร์บัคในตอนเช้าเสียอีก” เด็บบอราห์ สปาค โฆษกจากบริษัทยา Baxter International ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของบริษัทยาชั้นนำของโลกที่ผลิตถุงน้ำเกลือป้อนให้เกือบทั้งหมดของตลาดภายในสหรัฐฯ
       
       ในถุงน้ำเกลือที่จำหน่ายในสหรัฐฯนั้นประกอบไปด้วย เกลือป่นทั่วไป 9 กรัม หรือน้อยกว่า 2 ช้อนชา และน้ำบริสุทธิ์ที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยที่องค์การอาหารและยาสหรัฐฯกำหนดไว้ ซึ่งเฮย์กล่าวผ่าน MSNBC ว่าสามารถซื้อถุง IV ในร้านขายของในย่านแมนฮัตตันได้ในราคา 5.99 ดอลลาร์ หรือถ้าไม่ต้องการที่จะต้องเดินทางออกไปซื้อเองนั้น ทำได้ง่ายโดยซื้อเกลือป่นละเอียดที่ขายตามร้านทั่วไป เช่นเกลือป่นมอร์ตันกระป๋องละ 1.45 ดอลลาร์ และ น้ำแร่ราคา 1.29 ดอลลาร์ ซึ่งจากรายงานล่าสุด ราคาซาลีน 1 ลิตรที่กำหนดไว้ขึ้นจาก 44 เซนต์ในปี 2010 เป็น 1.07 ในปีนี้
       
       คนกลางธุรการจัดหา
       
       และนิวยอร์ไทม์ยังรายงานต่อไปว่า มีโรงพยาบาลในสหรัฐฯน้อยรายที่จัดการซื้อ “ซาลีนโซลูชัน” ส่วนใหญ่ใช้บริการจากกลุ่มคนกลางขนาดยักษที่ดำเนินธุรกิจในเรื่องธุรการจัดหามีความเชี่ยวชาญในการต่อรองการซื้อขายสินค้าที่เป็นล็อตใหญ่ และทางโรงพยาบาลยังใช้บริการจากบริษัทกระจายสินค้าที่พร้อมดำเนินการจัดส่งให้กับโรงพยาบาลอีกทอดนึง
       
       จากรายงานพบว่า 3 บริษัทจัดซื้อลำดับต้นๆของสหรัฐฯมีสัญญาอยู่ในมือมากกว่าครึ่งของผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ทุกยี่ห้อที่จัดจำหน่ายอยู่ในสหรัฐฯ รวมถึงถุงน้ำเกลือที่ใช้ในเคสโรคอาหารเป็นพิษระบาดทางตอนเหนือของรัฐนิวยอร์กทางตอนเหนือของรัฐนิวยอร์ก ซึ่งมีผู้ป่วยมากกว่า 100 ราย และถูกชาร์จราคามากกว่า “200 เท่า” ซึ่งถุงน้ำเกลือพวกนั้นถูกกระจายโดยบริษัทกระจายสินค้าในสหรัฐฯ
       
       ถึงแม้ว่าระบบนี้จะช่วยให้โรงพยาบาลในสหรัฐฯประหยัดไปได้หลายพันล้านดอลลาร์จากการสั่งซื้อในปริมาณมาก อย่างไรก็ตามนักวิจารณ์ต่างกล่าวว่าบริษัทกลางที่จัดการซื้อขายนั้นไม่เพียงแต่เอาส่วนต่าง แต่ยังมีเจตนาที่จะทำให้ราคายาและอุปกรณ์ทางแพทย์คงราคาสูงไว้ และควบคุมให้มีการแข่งขันด้านการซื้อขายให้น้อยที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่จะผูกสัญญาทำข้อตกลงกับบริษัทยาที่ให้ประโยชน์มากเป็นพิเศษ ซึ่งบริษัทยาพวกนี้มักขายเป็นแบบแพคเก็จที่ขายยาราคาแพงพร้อมกับยาพื้นฐาน

ASTVผู้จัดการออนไลน์    27 สิงหาคม 2556

6589
สธ.เตรียมปลดล็อก 7 วิชาชีพด้านสุขภาพ ขอรับใบอนุญาตเข้าทำงานใน 10 ประเทศอาเซียนได้เสรี เพิ่มเติมจากแพทย์ ทันตแพทย์ และพยาบาล พร้อมอีก 2 ศาสตร์ทั้งการตรวจวัดสายตาและการจัดกระดูก ตั้งนายกแพทยสภาเป็นประธานคณะทำงานกำหนดคุณสมบัติทางวิชาชีพ
   
       นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดการสัมมนาผู้บริหาร บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในสถานบริการสุขภาพภาครัฐและเอกชน ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และผู้แทนด้านสาธารณสุขจากกัมพูชา เพื่อชี้แจงนโยบายและเตรียมความพร้อมสถานบริการสุขภาพเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ว่า การเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้า ในด้านสุขภาพจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบ ทั้งด้านบริการการแพทย์ การควบคุมมาตรฐานบริการสุขภาพ สินค้าสุขภาพต่างๆ การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานกำลังคน โดยเฉพาะเรื่องภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ จุดที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก่อนพื้นที่อื่นๆ คือพื้นที่แนวชายแดน ประชาชนจะเดินทางเข้า-ออกอย่างสะดวก โดยเฉพาะบริการทางการแพทย์ของประเทศไทย ได้รับการยอมรับว่ามีศักยภาพสูงในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมทั้งการบริการส่งเสริมสุขภาพ เช่น สปา นวดแผนไทย ธุรกิจความงามด้วย
       
       นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ สธ.ได้จัดทำข้อตกลงอาเซียนในเรื่องคุณสมบัติทางวิชาชีพ (MRA : Mutual Recognition Arrangement) เพื่ออำนวยความสะดวกในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของบุคลากรด้านสุขภาพ ได้ลงนามแล้ว 3 สาขาวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ และพยาบาล ทั้งนี้ จะเพิ่มอีก 7 สาขาวิชาชีพ ได้แก่
1.การแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมาย
2.กิจกรรมบำบัด
3.เทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก
4.รังสีเทคนิค
5.จิตวิทยาคลินิก
6.กายอุปกรณ์ และ
7.การแพทย์แผนจีน
รวมถึงเพิ่มอีก 2 ศาสตร์ ได้แก่ ทัศนมาตรศาสตร์ หรือผู้ที่ประกอบวิชาชีพด้านการตรวจวัดสายตา และศาสตร์ไคโรแพรคติกจัดกระดูก ซึ่งจะเป็นการคุ้มครองประชาชนได้รับบริการที่มีมาตรฐานความปลอดภัย ทั้งนี้ คณะทำงานจัดทำข้อตกลงอาเซียนในเรื่องคุณสมบัติทางวิชาชีพเวชกรรมในกลุ่ม 10 ประเทศ มี นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา เป็นประธานคณะทำงาน
       
       “ในด้านมาตรฐานของสถานพยาบาลในไทย ทั้งสังกัดรัฐและเอกชน สธ.ได้เร่งพัฒนาให้ทุกแห่งต้องผ่านเกณฑ์ที่จำเป็น 4 ด้าน ได้แก่
1.ความปลอดภัย
2.ความสะอาดสถานที่
3.คุณภาพมาตรฐานเครื่องมือบริการทางการแพทย์ต้องมีประสิทธิภาพ มีการสอบเทียบความเที่ยงตรงของเครื่องมือแพทย์ตามมาตรฐานสากล มีความพร้อมให้บริการ ทั้งภาวะปกติและฉุกเฉิน และ
4.ต้องมีระบบให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชน สร้างพฤติกรรมการมีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วย ให้ความรู้การปฏิบัติตัวหลังเจ็บป่วย เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน และมาตรฐานด้านการรักษาพยาบาล ในปี 2556 มีโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ที่ผ่านเกณฑ์แล้ว 152 แห่ง โดยมีเป้าหมายพัฒนาให้ได้มาตรฐานครบ 100 เปอร์เซ็นต์ในปี 2558” รมว.สาธารณสุข กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    23 สิงหาคม 2556

6591
ดีเดย์ 20 ส.ค. สธ.รณรงค์โครงการใหญ่ “สุขภาพดี เริ่มต้นที่นี่” ให้คนไทยปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อสุขภาพที่ดี สั่งทุกกรม และหน่วยงานส่งเสริมกิจกรรมเชิงรุก ตั้งเป้าอีก 10 ปีจากนี้คนอายุยืนถึง 80 ปี เผยช่วงอายุ 6-20 ปีเป็นวัยที่ต้องดูแลพิเศษ เหตุเสี่ยงปัญหาสุขภาพเสื่อม
       
       นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างแถลงข่าว “โครงการสุขภาพดี เริ่มต้นที่นี่” ว่า โครงการสุขภาพดี เริ่มต้นที่นี่ (Good Health Starts Here) จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักในเรื่องสุขภาพ และเริ่มต้นทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง ทั้งการป้องกัน และการส่งเสริมให้มีสุขภาพดี แข็งแรง เปลี่ยนจากเดิมที่มักจะบอกประชาชนในเชิงลบฝ่ายเดียว เริ่มต้นว่าอย่าทำ เพราะจะทำให้เป็นโรค แต่โฉมหน้าการทำงานตามเป้าหมายใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขจากนี้ไปคือ การทำให้คนไทยมีสุขภาพดี ทั้งกายและจิต โดยใช้ปรัชญาว่า สุขภาพดี เริ่มต้นที่นี่ ซึ่งคำว่า “ที่นี่” หมายถึงกิจกรรมต่างๆ ที่คนไทยจะต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้มีสุขภาพดี เพราะการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโรคติดต่อ เช่น ไข้เลือดออก โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เอชไอวี หรือโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง รวมทั้งปัญหาสุขภาพจากการใช้สิ่งเสพติดต่างๆ ล้วนเกิดมาจากพฤติกรรมของตนเอง”
       
       โดยมีข้อมูลในปี 2555 พบว่าทั้งประเทศมีผู้เสียชีวิตประมาณ 400,000 คน ในจำนวนนี้ 1.2 แสนคน หรือประมาณร้อยละ 30 เกิดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและอุบัติเหตุ จึงต้องเร่งสร้างความตระหนัก ทั้งนี้ สธ.จะเริ่มรณรงค์กิจกรรมดังกล่าวตั้งวันที่ 20 สิงหาคมเป็นต้นไป เน้นการประชาสัมพันธ์เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพตัวเองและดูแลได้อย่างทุกต้อง และให้ทุกกรมในสังกัด สธ.หันมาทำงานเน้นส่งเสริมสุขภาพประชาชนมากกว่าการรักษา ขณะเดียวกัน ต้องทำงานเชิงรุกส่งเสริมสุขภาพต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก็ต้องตรวจสอบว่า มียาชนิดใด หรืออาหารเสริมชนิดใดควรรับประทานหรืิอไม่ควรรับประทาน เป็นต้น
       
       “ช่วงอายุที่ต้องเน้นให้ดูแลสุขภาพมากที่สุด คือ ช่วงอายุ 6-20 ปี เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่เสี่ยงต่อปัญหาต่างๆ ทั้งโรคภัยไข้เจ็บที่อาจเกิดจากการดูแลตัวเองไม่ดีพอ รวมทั้งขาดการเอาใจใส่จากคนใกล้ชิด เช่นโรคไข้เลือดออก เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อที่อาจเข้าสู่การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ และยังเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุต่างๆ อีก จึงจำเป็นต้องทำงานเชิงรุกให้ความรู้ในการดูแลตัวเองด้วย ขณะที่เมื่อก้าวสูอายุ 20-60 ปี ก็ต้องกระตุ้นไม่ให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงอีก ซึ่งทั้งหมดจะทำให้คนไทยมีอายุยืนขึ้น” นพ.ประดิษฐ กล่าวและว่า สธ.กำหนดเป้าหมายในอีก 10 ปีข้างหน้านับจากนี้ คือใน พ.ศ.2566 คนไทยทุกคนจะมีสุขภาพแข็งแรงเพิ่มขึ้น มีอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดไม่น้อยกว่า 80 ปี และมีอายุคาดเฉลี่ยการมีสุขภาพดีไม่น้อยกว่า 72 ปี

ASTVผู้จัดการออนไลน์    19 สิงหาคม 2556

6592
 เจาะข้อมูลการเงินโรงพยาบาล 687 แห่ง เรียงลำดับต้นทุนต่อหน่วยแบบเปอร์เซ็นต์ไทล์ พบยิ่งสูงผลดำเนินการยิ่งติดลบ ภาพรวมขาดทุนกระจุยกว่า 4,000 พันล้านบาท เตรียมเสนอบอร์ด สปสช.ใช้พิจารณาแก้ปัญหาขาดสภาพคล่อง
       
       นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้คำนวณต้นทุนต่อหน่วย (Unit Cost) จากข้อมูลตั้งแต่ ก.ค. 2555 - มิ.ย. 2556 จากโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) และโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) โดยแบ่งเป็น 6 กลุ่มตามขนาดโรงพยาบาล คือ รพช.10-30 เตียง รพช.60-90 เตียง รพช.มากกว่า 90 เตียง รพท.น้อยกว่า 300 เตียง รพท.มากกว่า 300 เตียง และ รพศ.จากนั้นนำต้นทุนต่อหน่วยมาจัดเรียงลำดับโรงพยาบาลในแต่ละกลุ่มขนาดแบบเปอร์เซ็นต์ไทล์ เพื่อใช้พิจารณาส่วนต่างรายได้ต่อรายจ่าย และใช้เป็นเครื่องมือวัดประสิทธิภาพของระบบบริการ โดยจะมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด สปสช.) ต่อไป
       
       รายงานข่าว ระบุว่า จากการคำนวณส่วนต่างรายได้ต่อรายจ่าย เฉพาะโรงพยาบาลที่มีที่ข้อมูลครบถ้วน จำนวน 687 โรงพยาบาล คิดเป็นร้อยละ 82.28 จากทั้งหมด 835 โรงพยาบาล แบ่งเป็น 4 กลุ่ม พบว่า

1.กลุ่มโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร และได้รับความยากลำบากตามประกาศของ สธ.มีทั้งสิ้น 161 แห่ง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือทันที โดยมีภาพรวมรายได้หักรายจ่ายติดลบอยู่จำนวน 1,625.07 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะอยู่ในโรงพยาบาลขนาด 10-30 เตียง

2.กลุ่มต้นทุนต่อหน่วยอยู่ลำดับเปอร์เซ็นต์ไทล์ 0-50 จำนวน 275 แห่ง รายได้หักรายจ่ายภาพรวมเป็นค่าบวกสุทธิ 602.13 ล้านบาท

3.กลุ่มที่มีต้นทุนต่อหน่วยลำดับเปอร์เซ็นต์ไทล์ 50-75 จำนวน 129 แห่ง เงินรายได้หักรายจ่ายภาพรวม ติดลบสุทธิ 1,305.16 ล้านบาท และ

4.กลุ่มที่มีต้นทุนลำดับช่วงเปอร์เซ็นต์ไทล์ 75-100 จำนวน 122 แห่ง เงินรายได้หักรายจ่ายภาพรวม ติดลบสุทธิ 1,697.72 ล้านบาท โดยพบว่าหน่วยบริการที่มีต้นทุนต่อหน่วยสูงอยู่ช่วงเปอร์เซ็นต์ไทล์มากกว่า 75 ขึ้นไป จะมีส่วนต่างรายได้หักรายจ่ายสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ
       
       “ผลภาพรวมทั้ง 687 แห่ง มีรายได้หักรายจ่ายติดลบ 4,025.82 ล้านบาท แต่เป็นตัวเลขประมาณการ ยังไม่ได้นำข้อมูลรายรับ เช่น ค่าตอบแทน 3,000 ล้าน เงินอุดหนุนโรงพยาบาลกลุ่มทุรกันดาร 900 ล้าน เป็นต้น มาคำนวณเนื่องจากบางส่วนกติกาในการกระจายงบประมาณยังไม่ชัดเจน นอกจากนี้ ยังเป็นข้อมูลรวมของทุกสิทธิยังไม่ได้แยกสิทธิ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการทำมาตรฐานกลางว่า ต้นทุนต่อหน่วยควรอยู่ที่เท่าใด โดยตัวเลขดังกล่าวจะนำไปสู่การสร้างเครื่องมือวัดประสิทธิภาพของระบบต่อไป” รายงานข่าว ระบุ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    20 สิงหาคม 2556

6593
ห้องพักผ่อนรวม (Common Room) / ชีวิตพอเพียง
« เมื่อ: 21 สิงหาคม 2013, 11:43:55 »
ชายแก่คนนั้นทำงานในบริษัท แต่เขาไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ ไม่มีคนขับรถ ขับรถคันเก่าไปไหนมาไหนด้วยตัวเอง

เขาไม่ใช่คนยากไร้ ตรงกันข้ามเขาเป็นคนร่ำรวยอันดับที่สามของโลก* (2007) ประมาณว่าความร่ำรวยราวห้าหมื่นสองพันล้านดอลลาร์ ด้วยเงินของเขาสามารถซื้อเครื่องบินส่วนตัวได้หลายลำ แต่เขาไม่เคยเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัว เขาอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดิมที่เขาซื้อเมื่อครึ่งศตรรษที่แล้ว กินอาหารง่าย ๆ ใช้ชีวิตง่าย ๆ การหย่อนใจของเขาคือ นอนดูโทรทัศน์รายการโปรดบนโซฟา กินข้าวโพดคั่วที่ทำเอง

เขาไม่ใช่คนขี้เหนียว ตรงกันข้ามเขาเพิ่งบริจาคเงิน 83 เปอร์เซ็นต์ของเขาให้องค์กรการกุศล (ประมาณสามหมื่นล้านดอลลาร์) เป็นเงินบริจาคที่สูงที่สุดก้อนหนึ่งในประวัติศาสตร์ ชายแก่คนนั้นชื่อ วอร์เรน บัพเฟตต์

วอร์เรน บัฟเฟตต์ เริ่มทำงานครั้งแรกกับพ่อตอนอายุสิบเอ็ดขวบ เป็นงานนายหน้าค้าหุ้น ปีนั้นเขาซื้อหุ้นตัวแรก คือหุ้น ซิตีส์ เซอร์วิสเซส หุ้นละ 38.25 เหรียญ เขาขายเมื่อหุ้นขึ้นถึง 40 เหรียญ และไม่กี่ปีต่อมามันขึ้นถึง 200 เหรียญ สิ่งนี้สอนให้เขาเห็นค่าของการลงทุนกับหุ้นที่ดีในระยะยาว

อายุสิบสี่ เขาซื้อที่ดิน 40 เอเคอร์ ราคา 1,200 เหรียญ แล้วให้ชาวนาเช่า ตอนเป็นนักเรียนมัธยมปลาย เขากับเพื่อนซื้อเครื่องเล่นพินบอลราคา 25 เหรียญ ตั้งในร้านตัดผม ภายในสามเดือนพวกเขามีเครื่องสามเครื่องในร้านต่าง ๆ เมื่ออายุสิบหก เขามีเงินเก็บถึงห้าพันเหรียญ

เขารู้สึกว่าการเรียนในวิทยาลัยเป็นความสูญเปล่า แต่ก็ยอมเรียนต่อเพราะพ่อขอไว้ และเป็นนักศึกษาระดับต้น ๆ ด้วยคะแนนสูงลิ่ว

เมื่อเรียนจบ เขาก็ไปทำงานไม่กี่ปีก็ก่อตั้งบริษัทเล็ก ๆ ในวัยยี่สิบหก สร้างตัวมาจากความไม่มีด้วยสองมือ จนกลายเป็นซีอีโอของบริษัทขนาดยักษ์

เงินเดือนทั้งปีของเขาในปี 2549 คือหนึ่งแสนเหรียญ จัดว่าน้อยมากสำหรับหมายเลขหนึ่งของบริษัท ซีอีโอทั่วไปมีรายได้ต่อปีเฉลี่ยเก้าล้านดอลลาร์

เขาบอกว่า สหรัฐอเมริกาจ่ายเงินให้นักมวยสิบล้านเพื่อที่จะน็อกคู่ต่อสู้ให้ล้มในเวลาสิบวินาที แต่ไม่สามารถจ่ายเงินดีแก่ครูที่เก่งที่สุด พยาบาลที่ดีที่สุด เป็นการจ่ายที่ไม่สมเหตุผลอย่างยิ่ง เขาเห็นคุณค่าของการทำงานที่เป็นประโยชน์เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้เขาจึงไม่คิดจะย้ายบ้านที่อยู่มาตั้งแต่หนุ่มไปอยู่คฤหาสน์ที่ไหนสักแห่ง เขาบอกว่า ซื้อบ้านใหม่ทำไม ในเมื่อเขามีทุกอย่างที่ต้องการในบ้านหลังนี้แล้ว การย้ายบ้านเพียงเพื่อให้ ‘สมฐานะ’ ของตัวเองเป็นเรื่องเหลวไหล

หลายปีก่อนเคยมีการสัมภาษณ์มหาเศรษฐีชั้นนำของโลกจำนวนหนึ่ง และพบว่ามหาเศรษฐีที่ร่ำรวยจริง ๆ ล้วนเป็นคนมัสยัสถ์อย่างยิ่ง ใช้เงินเท่าที่จำเป็น เพราะพวกเขาเห็นว่าเงินทองไม่ใช่ทุกสิ่งในชีวิต

โลกเราเต็มไปด้วยคนรวยกลวง ๆ คนที่พยายามทำตัวให้ดูรวย เมื่อไม่มีเงินก็พยายามกู้เงินมา ด้วยค่านิยมที่ว่า “คนที่กู้เงินได้คือคนที่มีเครดิต”

คนรวยเช่น วอร์เรน บัฟเฟตต์ กลับบอกว่า จงหลีกห่างจากบัตรเครดิตไปไกล ๆ

ที่แตกต่างจากคนอื่นก็คือ ลูกหลานของเขาจะไม่ได้รับมรดกมากเท่าส่วนบริจาค เขาบอกว่า “ผมต้องการให้ลูกหลานของผมมากพอที่พวกเขารู้สึกว่าสามารถทำอะไรก็ได้ แต่ไม่มากพอที่ทำให้พวกเขาไม่ทำอะไรเลย”

เมื่อมองทะลุวัตถุนิยม ก็เริ่มแลเห็นความหมายและคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต

วินทร์ เลียววาริณ, 7 มิถุนายน 2551
#ข่าวหน้าหนึ่ง, www.winbookclub.com

6594
เช็คความพร้อม7อาชีพเสรีในอาเซียน ส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจในข้อตกลงต่าง ๆ ขณะที่กลุ่มวิชาชีพพยาบาลรู้น้อยที่สุด ระบุเป็นอาชีพที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้งการขาดแคลน และการโยกย้ายฐานการทำงาน ล่าสุดโรงพยาบาลเอกชนเริ่มนำเข้าพยาบาลจากฟิลิปินส์แล้ว ขณะที่ผู้บริหารองค์กรวิชาชีพด้านสาธารณสุขไม่ห่วงเรื่องแพทย์ ทันตแพทย์ไหลออก เพราะส่วนใหญ่เห็นว่ายุ่งยาก และรายได้สู้ในเมืองไทยไม่ได้ เช่นเดียวกับวิชาชีพบัญชี ที่แม้จะเป็นวิชาชีพที่เข้าใจมากสุด แต่ก็ยังติดเรื่องข้อกฎหมาย

ความตื่นตัวต่อการเข้าสู่การเป็นหนึ่งในประเทศแห่ง ประชาคมอาเซียน หรือ เอซี (ASEAN Community : AC) ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10 ประเทศ ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในสังคมไทยขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมพร้อมประชากรเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นภายหลังการรวมตัวกันในปี พ.ศ.2558 หรือ ค.ศ.2015 ที่ว่ากันว่าประเทศไทยยังมีอีกหลายมิติที่จะต้องพัฒนาเพื่อให้ทันกับสิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้

ผลวิจัยชี้คนไทยยังสับสนการเข้าสู่ประเทศเอเซียน

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากข้อมูลข่าวสารที่ถูกเผยแพร่กันอยู่ในขณะนี้ พบว่าคนไทยส่วนใหญ่ถึงแม้จะรู้จัก AEC แต่ก็ยังมีความสับสนต่อเนื้อหาแท้จริงของการรวมตัวของประเทศทั้ง 10 โดยเฉพาะ การกล่าวถึง ประชาคมอาเซียน  หรือ  AC (ASEAN Community) กับ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี (ASEAN Economic community) โดยมักจะเข้าใจว่าเป็นสิ่งเดียวกัน  แต่แท้จริงแล้ว เออีซี เป็น 1 ใน 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียน ในการจะร่วมกันพัฒนาประเทศไปด้วยกันของประเทศในภูมิภาคทั้ง 10 ประเทศ โดยอีก 2 เสา ที่เหลือ คือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคง (ASEAN Political-Security Community : APSC) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม (ASEAN Socio Cultural Community : ASCC) ซึ่งหลังการรวมตัว ประชาคมนี้จะมีประชากรรวมประมาณ 600 ล้านคน

จากผลการวิจัยโครงการพัฒนาบุคลากรและผลิตภาพบุคลากร เพื่อรองรับการเปิดเสรีอาเซียนในปี 2558 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า บุคลากรทางการศึกษา กว่าร้อยละ 70-80 มีความรู้เกี่ยวกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนน้อยมาก และไม่รู้ว่านโยบายเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนมีอะไรบ้าง นอกจากนี้เมื่อสอบถามนักศึกษาไทยพบว่า นักศึกษา 8 คนจาก 10 คน ไม่กล้าไปทํางานในประเทศกลุ่มอาเซียน เพราะกลัวเรื่องภาษา แต่เมื่อถามนักศึกษาประเทศอื่นในอาเซียน ทุกคนต้องการเข้ามาทํางานที่ประเทศไทย นอกจากนั้น ผลการวิจัยจากสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย ซึ่งสํารวจความคิดเห็นของประชาชนต่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พบว่ามีคนกรุงเทพฯเพียงร้อยละ 49 เท่านั้น ที่รู้เรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยสํารวจจากกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ที่อาศัยในกรุงเทพฯ 400 คน อายุ 18 ปีขึ้นไปและมีรายได้ครอบครัวตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป

7 อาชีพเสรียังรู้น้อยและไม่เห็นประโยชน์จากการรวมตัว

นอกจากนี้ประเด็นที่กำลังอยู่ในความสนใจมากที่สุดประเด็นหนึ่ง ภายหลังการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน คือ การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมืออย่างเสรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ เพราะจากการขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของเออีซีอย่างชัดเจนก็อาจจะทำให้เกิดความสับสน และขาดแคลนแรงงานฝีมือขึ้นได้ โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือใน 7 อาชีพ คือ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การสำรวจ และบัญชี โดยจากผลการสำรวจความรู้ความเข้าใจเรื่อง เออีซี เกี่ยวกับข้อตกลงด้านการเคลื่อนย้ายวิชาชีพ 6 สาขา จัดทำโดยศูนย์การศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการไทย เมื่อปี 2555 พบว่า

วิชาชีพทันตแพทย์พบว่า ทันตแพทย์ไทย มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเออีซี ร้อยละ 50 เนื่องจากได้รับข้อมูลข่าวสารและการประชาสัมพันธ์โดยทันตแพทย์สมาคมฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลทันตแพทย์ไทยมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจในรายละเอียดถึงระเบียบปฏิบัติและขั้นตอนต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง

ขณะที่ วิชาชีพแพทย์ พบว่าแพทย์ไทยมีความรู้ความเข้าใจเรื่อง เออีซี มากกว่าร้อยละ 50 เนื่องจากแพทยสมาคมฯ และ แพทยสภา มีการสัมนาเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยแพทย์ไทยเข้าใจดีว่าในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีการเปิดเสรีทางการค้าในอาเซียนขึ้น แต่ยังขาดความเข้าใจถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นภายหลังการเปิดเสรี ซึ่งแพทย์ไทยยังมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว

วิชาชีพพยาบาล พบว่าพยาบาลไทย มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น สำหรับผู้ที่ทราบและเข้าใจในเรื่องนี้เป็นอย่างดี คือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาการเปิดเสรี และผู้ที่อยู่ในสภาการพยาบาล ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติวิชาชีพยังไม่ค่อยทราบเรื่องดีเท่าที่ควร จึงส่งผลให้เกิดความไม่เข้าใจการเปิดเสรีด้านวิชาชีพพยาบาล อย่างไรก็ตามสภาการพยาบาลได้ทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพได้ทราบอย่างต่อเนื่อง

ส่วนวิชาชีพนักบัญชี พบว่านักบัญชีของไทย มีความเข้าใจเรื่องเออีซีค่อนข้างสูง มากกว่าร้อยละ 80 เพราะเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสำหรับนักบัญชีนั้น เป็นเรื่องที่ได้รับการประชาสัมพันธ์ให้นักบัญชีทราบอย่างต่อเนื่อง จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ที่นักบัญชีเพิ่งมาตื่นตัว และการก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นักว่าเป็นแรงผักดันแก่นักบัญชีของไทยในการพัฒนามาตรฐาน เพราะตลาดงานในวิชาชีพบัญชี จะมีความเสรีอย่างจริงจังมากขึ้น

วิชาชีพวิศวกรพบว่า วิศวกรไทย มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเออีซี  เพียงร้อยละ 30 ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อย และที่ยังไม่เข้าใจมีถึงร้อยละ 70 เนื่องจากวิศวกรไทยมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวและไม่มีความสนใจไปทำงานในอาเซียน วิชาชีพสถาปนิก พบว่าสถาปนิกของไทยมีความรู้ความเข้าใจเรื่อง เออีซี น้อยกว่าร้อยละ 50

‘พยาบาล’กระทบมากสุดแต่รู้เรื่องเออีซีน้อยสุด

ทั้งนี้จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า กลุ่มวิชาชีพพยาบาล เป็นกลุ่มที่มีความรู้เกี่ยวกับเรี่องนี้น้อยที่สุด แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นกลุ่มวิชาชีพที่กำลังจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะเป็นกลุ่มวิชาชีพ ที่ให้บริการด้านสาธารณสุขกับประชาชน เช่นเดียวกับแพทย์ และทันตแพทย์ ซึ่งมีความกังวลว่าอาจจะกลายเป็นวิชาชีพที่ส่งผลต่อประชาชน  หากมีการเคลื่อนย้ายออกไปยังประเทศอื่น ๆ หรือย้ายการให้บริการจากภาครัฐไปสู่ภาคเอกชน อาจจะส่งผลกระทบกับการดูแลสุขภาพและสุขอนามัยของประชาชนได้ โดยเฉพาะในกลุ่มของพยาบาลที่ถือเป็นบุคลากรด้านสาธารณสุขที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าแพทย์หรือทันตแพทย์ และยังเป็นอาชีพที่คลาดแคลนจำนวนมากในปัจจุบันอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ ศ.น.พ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา เคยให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ระบุว่า แม้ว่าสังคมจะมีความเป็นห่วงเรื่องของบุคลากรการแพทย์ ว่าจะไม่มีเพียงพอต่อความต้องการที่จะเกิดจากการเคลื่อนย้ายฐานการทำงานไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านนั้น ส่วนตัวไม่ได้คิดกังวลต่อประเด็นนี้ เนื่องจากสัดส่วนประชากรมีเพิ่มขึ้นปีละ 1 เปอร์เซนต์ แต่จำนวนแพทย์จบใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 8 เปอร์เซนต์ ซึ่งไม่เกิน 10 ปี อาจเกิดภาวะแพทย์ล้นตลาดเช่นเดียวกับประเทศในยุโรป สหรัฐอเมริกาได้ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีโรงเรียนแพทย์ 21 แห่ง สามารถผลิตแพทย์ได้ปีละ 2,500 คน แต่สิ่งที่กังวลกลับเป็นเรื่องของบุคลากรพยาบาลมากกว่า เพราะในแต่ละปีพยาบาลจบใหม่มีไม่มากนัก ขณะที่พยาบาลเองทำงานไปไม่นานก็จะเปลี่ยนอาชีพ ซึ่งอาจจะทำให้โรงพยาบาลเอกชนต้องนำเข้าพยาบาลจากต่างประเทศเข้ามาทำงานก็เป็นได้

พยาบาลขาดแคลนอาจต้องนำเข้าจากฟิลิปปินส์

จากบทความเรื่อง “เมื่อพยาบาล (อาเซียน) ไร้พรมแดน” โดย ศูนย์สารสนเทศยุทธศาสตร์ภาครัฐ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ชี้ว่า ในรายงานของ World Health Statistic 2012 ระบุข้อมูลสัดส่วนพยาบาลต่อประชากรของแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียนพบว่า ประเทศฟิลิปปินส์มีสัดส่วนพยาบาลต่อประชากรมากที่สุด คือมีสัดส่วนพยาบาล 6 คน ต่อประชากร 1,000 คน รองลงมาคือ ประเทศสิงคโปร์ มีสัดส่วนพยาบาล 5.9 คนต่อประชากร 1,000 คนและ บรูไน มีสัดส่วนพยาบาล 4.9 คน ต่อประชากร 1,000 คน ในขณะที่ประเทศไทยนั้นมีสัดส่วนพยาบาล 1.5 คน ต่อประชากร 1,000 คน ส่วนประเทศที่มีสัดส่วนพยาบาลต่อประชากรน้อยที่สุดคือ พม่า และกัมพูชา มีสัดส่วนพยาบาลเพียง 0.8 คน ต่อประชากร 1,000 คน

ในรายงานฉบับเดียวกันยังระบุถึงความสามารถในการผลิตพยาบาลของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน  โดยพบว่าประเทศฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย จัดเป็นประเทศที่สามารถผลิตพยาบาลได้มากกว่าประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มอาเซียนหลายเท่า โดยในปี 2550 ประเทศฟิลิปปินส์สามารถผลิตพยาบาลวิชาชีพ และพยาบาลผดุงครรภ์ได้จำนวน 63,697 คน จากสถาบันการศึกษาด้านการพยาบาลจำนวน 785 แห่ง แบ่งเป็นพยาบาลวิชาชีพ 60,199 คน และพยาบาล ผดุงครรภ์ 3,498 คน ซึ่งมากที่สุดในอาเซียน สอดคล้องกับรายงาน Nurse Migration : The Asian Perspective รายงานว่าประเทศฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีการผลิตพยาบาลเพื่อส่งออกไปทำงานต่างประเทศมากที่สุดในอาเซียน คิดเป็นร้อยละ 25 ของพยาบาลทั้งหมดทั่วโลก และคิดเป็นร้อยละ 83 ของพยาบาลชาวต่างชาติในสหรัฐอเมริกา

            “ตอนนี้เราอาจจะเห็นโรงพยาบาลเอกชนของไทยนำเข้าพยาบาลจากประเทศฟิลิปปินส์แล้ว แต่เนื่องจากติดเรื่องของระเบียบ จึงทำให้พยาบาลเหล่านี้ต้องมาทำงานเป็นผู้ช่วยพยาบาลแทน” นายกแพทยสภากล่าว

ห่วงพยาบาลไหลออก แม้จะนำเข้าก็ไม่ถึงคนจน

จากบทความชิ้นเดียวกันนี้ยังชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าประเทศไทยจะสามารถผลิตพยาบาลวิชาชีพได้ไม่น้อยกว่า 7,000 คนต่อปี แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยพิจารณาจากข้อเสนอเชิงนโยบายของสภาการพยบาลเกี่ยวกับข้อมูลความต้องการพยาบาลปี 2553-2562 กล่าวไว้ว่า ประเทศไทยควรจะมีสัดส่วนพยาบาลต่อประชากรอยู่ที่ 1: 400 หรือคิดว่าควรมีพยาบาลประมาณ 168,500 คน เพื่อที่จะดูแลประชากรไทยได้อย่างทั่วถึง ในขณะที่ปัจจุบันมีพยาบาลวิชาชีพอยู่ที่ 125,250 คน ทำให้ยังขาดแคลนพยาบาลอยู่ถึง 43,250 คน แบ่งเป็นขาดแคลนในกระทรวงสาธารณสุข 31,250 คน และจากโรงพยาบาลอื่น ๆ (ในสังกัดภาครัฐและเอกชน) อีก 14,000 คน ทำให้เห็นว่า คนไทยยังขาดพยาบาลที่จะคอยดูแลประชากรเจ็บป่วยอีกจำนวนมาก

สำหรับสาเหตุปัญหาการขาดแคลนอาชีพพยาบาล ที่มาจากการผลิตที่ได้ออกมาในปริมาณไม่สอดคล้องกับจำนวนประชากรแล้ว สาเหตุสำคัญของการลาออกของพยาบาลส่วนใหญ่ คือปัญหาเรื่องค่าตอบแทน และสวัสดิการของพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐ จนต้องมีการย้ายออกไปสู่สถานพยาบาลเอกชนมากขึ้น และตกเป็นปัญหาเรื้อรังจนเกิดการเรียกร้องมาแล้ว และสาเหตุนี้ยังทำให้พยาบาลอีกจำนวนมาก มีความพยายามที่จะเดินทางออกไปทำงานต่างประเทศมากขึ้น

ดังนั้นแม้จะพบว่า ส่วนหนึ่งจะมีการนำเข้าพยาบาลจากประเทศฟิลิปปินส์ แต่ก็ดูเหมือนอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหากเปรียบเทียบกับค่าตอบแทนแล้ว การนำเข้าก็อาจจะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มของโรงพยาบาลเอกชน ในขณะที่โรงพยาบาลของรัฐกลับไหลออกมากขึ้น การไหลออกของพยาบาลวิชาชีพก็ยังเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง

หมอฟันขยับย้ายยากเพราะต้องทำงานเป็นทีม

ส่วนในกลุ่มของทันตแพทย์นั้น ท.พ.ศิริชัย ชูประวัติ นายกทันตแพทยสภา ได้เคยแสดงความคิดเห็นว่า ยังไม่รู้สึกว่าการเปิดเออีซีจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องของการขาดแคลนหรือแย่งงานกันทำ ในกลุ่มของทันตแพทย์ ทั้งนี้จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีทันตแพทย์ประมาณ 12,000 คนทั่วประเทศ แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะในต่างจังหวัดยังขาดแคลนอีกประมาณ 4,000 คน แต่คงไม่ห่วงเรื่องการเดินทางไปทำงาน เนื่องจากเชื่อว่าหากทันตแพทย์ไทยจะไปทำงานต่างประเทศจริง ๆ จะต้องมุ่งเข้าไปในประเทศที่ร่ำรวยและตอบแทนรายได้ที่มากกว่าในประเทศไทย ซึ่งมีโอกาสน้อยมาก เพราะจะถูกประเทศนั้น ๆ กีดกันด้วยข้อจำกัดด้านการใช้ภาษาท้องถิ่น ถ้าไม่เก่งจริง คงไปได้ยาก ที่สำคัญทันตแพทย์ไม่เหมือนแพทย์ หรือพยาบาลที่เดินทางไปทำงานที่ไหนก็ได้เพียงลำพัง แต่ทันตแพทย์จะต้องมีทีม คือมีผู้ช่วย และเครื่องมือ อุปกรณ์ ในการทำงานซึ่งหากไปทำงานในต่างประเทศจะต้องลงทุนด้วยงบประมาณที่สูงมาก อาจจะไม่คุ้มค่าหากเทียบกับการทำงานในประเทศไทย

            “แต่สิ่งที่น่าห่วงกว่าคือเรื่องของหลักสูตรการเรียนทันตแพทย์ที่มีความแตกต่างกัน มาตรฐานจึงย่อมไม่เท่าเทียมกัน เช่น ประเทศไทย ยึดหลักสูตรตามแบบสหรัฐอเมริกา เรียนจบหลักสูตรภายใน 6 ปี ขณะที่มาเลเซีย สิงคโปร์ ยึดหลักสูตรแบบอังกฤษเรียนเพียง 5 ปี”

ระบุวิชาชีพบัญชีรุ่งที่สุดในตลาดอาเซียน

สำหรับผลกระทบในกลุ่มของนักวิชาชีพบัญชี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถือว่ามีความรู้ความเข้าใจเรื่องของการเคลื่อนย้ายแรงงานระดับสูงในเออีซีมากที่สุดนั้น นายสุพจน์ สิงห์เสน่ห์ประธานคณะกรรมการเตรียมพร้อมสู่เออีซี สภาวิชาชีพบัญชี กล่าวว่า แม้ทุกประเทศเห็นด้วยในหลักการว่า ต้องการให้มีการเคลื่อนย้ายนักบัญชีเสรี แต่ในทางปฏิบัติยังเป็นไปไม่ได้ เพราะแต่ละประเทศติดขัดข้อกฎหมายภายใน เช่น ฟิลิปปินส์ ประเทศไทย สำหรับอินโดนีเซียและมาเลเซียมีความพร้อม อนุญาตให้นักบัญชีของอีกฝ่ายเข้ามาสอบใบอนุญาตและทำงานในประเทศตัวเองได้

นายสุพจน์กล่าวว่า ไทยมีความพร้อมด้านจำนวนนักบัญชี เพราะไทยน่าจะมีนักบัญชีมากที่สุดในอาเซียน ปัจจุบันมีผู้ขึ้นทะเบียนประกอบวิชาชีพบัญชีประมาณ 5.8 หมื่นคน และมีผู้ถือใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) 8,700 คน สถาบันผลิตนักบัญชีทั่วประเทศมีกว่า 300 แห่ง ผลิตนักบัญชีปีละไม่ต่ำกว่า 20,000 คน แต่ปรากฏว่ามีผู้จบด้านบัญชีมาขึ้นทะเบียนกับสภาปีละไม่เกิน 2,000 คน ซึ่งนายสุพจน์ประเมินว่า กลุ่มที่เหลือกว่าร้อยละ 90 ไปทำงานในสำนักงานที่ไม่ไหญ่ จึงไม่จำเป็นต้องพัฒนาทักษะไปถึงขั้นการสอบ CPA ซึ่งเมื่อเปิดเสรีวิชาชีพบัญชีในประชาคมอาเซียน กลุ่มนี้จะเสียเปรียบจากมาตรฐาน โอกาส และความสามารถของบุคลากร ส่วนกลุ่มไม่ถึงร้อยละ 10 ทำงานกับบริษัทบัญชีข้ามชาติขนาดใหญ่ในไทยจะมีโอกาสเติบโตไปสู่ต่างประเทศ ได้ความรู้และประสบการณ์ใหม่ ๆ ต่อเนื่อง

สำหรับการเตรียมความพร้อมให้แก่นักบัญชี สภาวิชาชีพบัญชีดำเนินงาน 5 กิจกรรมประกอบด้วย
(1) สัมมนาปรับความรู้และทัศนคติ 8 ครั้ง เริ่มครั้งแรกวันที่ 16 พฤษภาคม 2556
(2) เปิดหลักสูตร 1 ปี ประกาศนียบัตรพิเศษนักบัญชีเพื่อเพิ่มทักษะด้านบัญชีขั้นสูง
(3) เปิดหลักสูตรภาษาอังกฤษขั้นพื้นฐานและขั้นกลางในปลายปี
(4) เปิดทดสอบมาตรฐานสำนักงานบัญชีโดยเฉพาะสำนักงานบัญชีขนาดเล็ก และ
(5) พาไปดูงานในอาเซียน โดยปีที่แล้วไปดูงานที่ประเทศพม่า

อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติเห็นว่า หากพิจารณาถึงโอกาสการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีทักษะสูงเหล่านี้ กลุ่มลูกจ้างเอกชนน่าจะเป็นกลุ่มที่จะมีโอกาสเคลื่อนย้ายแรงงานสูงกว่ากลุ่มอื่น ได้แก่ วิศวกร สถาปนิก และนักบัญชี ซึ่งมีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ประกอบอาชีพทั้ง 7 สาขาวิชาชีพ ปัจจัยผลักที่มีส่วนทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานปัจจัยหนึ่ง คือ วิศวกรบางส่วนยังว่างงานและกำลังหางานทำ ส่วนนักวิชาชีพด้านสาธารณสุข เช่น แพทย์ พยาบาล และทันตแพทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกจ้างรัฐบาลที่ดูเหมือนจะมีความมั่นคง แต่หากประเทศสมาชิกอีก 9 ประเทศในอาเซียนมีปัจจัยดึงดูดที่ดีกว่าโดยเฉพาะในเรื่องของค่าตอบแทน ก็จะมีโอกาสเคลื่อนย้ายแรงงานสูงด้วยเช่นกัน

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 21 สิงหาคม 2556

6595
งานวิจัยญี่ปุ่นระบุชัด‘เมทิลโบรไมด์’ซึมเข้าในเนื้อข้าวได้ แม้แปรรูปเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวก็ยังปนเปื้อน ขณะที่แพทย์ยืนยันกระทบระบบประสาท ทำให้อวัยวะล้มเหลวเฉียบพลัน เคยมีคนตายมาแล้วหลังเช่าบ้านที่ใช้ฉีดฆ่าแมลงเพียง19วัน ด้านผู้เชี่ยวชาญกรมวิชาการเกษตรเผย ต้องพ่นก่อนส่งข้าวออก ยันไม่เป็นอันตราย

หลังจากมูลนิธิชีววิถีและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคออกมาแถลง กรณีพบสารเมทิลโบรไมด์ตกค้างเกินค่ามาตรฐานในข้าวสารบรรจุถุง ต่อมาทางหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจึงออกมาให้ข้อมูลการตกค้างและพิษภัยของเมทิลโบรไมด์ ซึ่งหลายฝ่ายที่ออกมาชี้แจงข้อมูลนั้นมีความหลากหลาย ฉะนั้นทางเครือข่ายเตือนภัยสารเคมำจัดศัตรูพืช มูลนิธิเพื่อผุ้บริโภค และมูลนิธิชีววิถี จึงจัดเสวนาวิชาการ “ความจริงเรื่องเมทิลโบรไมด์ ((Methyl bromide) และโบรไมด์อิออน (Bromide ion) ขึ้นเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของการใช้เมทิลโบรไมด์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค โดยมี รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนนท์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางบุษรา จันทร์แก้วมณี ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานสินค้าเกษตร กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ น.พ.ประพจน์ เภตรากาศ ประธานมูลนิธิชีววิถี ดำเนินการเสวนา

ญี่ปุ่นทดลอง‘เมทิลโบรไมด์’ตกค้างในข้าว-ก๋วยเตี๋ยวจริง

รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง ประเด็นสำคัญเรื่องการตกค้างเมทิลโบรไมด์ในข้าว ที่หลายฝ่ายอ้างว่า เมื่อนำข้าวมาซาวน้ำเมทิลโบรไมด์จะหายไป หรือการนำข้าวมาหุงจะทำให้เมทิลโบร์ไมด์สลายไปได้ จึงเกิดเป็นคำถามที่ว่าเมทิลโบร์ไมด์ตกค้างในข้าวนานเท่าไหร่ และสามารถซึมเข้าสู่เมล็ดข้าวได้หรือไม่ จากงานวิจัยของประเทศญี่ปุ่น ศึกษาเมทิลโบรไมด์ที่ตกค้างอยู่ในข้าวและเส้นก๋วยเตี๋ยวญี่ปุ่น (ราเม็ง) ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวมีการทดลอง นำข้าวเปลือกและข้าวกล้อง จำนวน 2 กิโลกรัม รมด้วยเมทิลโบร์ไมด์ 17 กรัมต่อลูกบาศน์เมตร เป็นเวลา 48 เมตร จากนั้นนำข้าวดังกล่าวเป็นไว้ที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส ก่อนจะแบ่งตัวอย่างออกมาครั้งละ 80 กรัม ในเวลาต่าง ๆ กันเพื่อศึกษาหาเมทิลโบร์ไมด์ที่ตกค้าง โดยแสดงออกมาในรูปของโบร์ไมด์ไอออน

             “การกระจายตัวของเมทิลโบร์ไมด์พบว่า เมื่อมีการรมข้าวด้วยเมทิลโบร์ไมด์ จะสามารถซึมเข้าสู่เนื้อข้าวสารได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ และสามารถกระจายได้เนื้อข้าวสารได้ดี ยาวนานและอยู่ตัว เพราะสารจับกับสารคาร์โบไฮเดรตที่อยู่ในเนื้อข้าวสารได้ดี ซึ่งจากการแสดงผลการทดลองพบว่า เมทิลโบร์ไมด์สามารถซึมเข้าสู่เนื้อข้าวสารได้วันที่ 34” ดร.จิราพรกล่าว

การวิจัยยังได้ออกแบบการทดลองให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการรับประทานข้าว โดยนำข้าวสาร 150 กรัม ที่มีโบร์ไมด์อยู่ 100 เปอร์เซ็นต์ นำมาล้างด้วยน้ำ 3 ครั้ง เป็นเวลา 5 นาที และปล่อยทิ้งให้แห้ง 1 ชั่วโมง จากนั้นนำข้าวมาแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งนำข้าวมาหุง และนำข้าวอีกส่วนหนึ่งมาทำเส้นก๋วยเตี๋ยว โดยการนำข้าวไปโม่เป็นแป้ง จากนั้นอบไอน้ำ 15 นาที จึงนำมานวดเป็นเส้น และนำไปอบไอน้ำต่ออีก 20 นาทีนำมาต้มเป็นเวลา 5 นาที แล้วจึงตัดเป็นเส้น และอบในตู้ 60 องศาเซลเซียส ซึ่งการทดลองดังกล่าวจะนำผลิตภัณฑ์ที่ได้ในแต่ละขั้นตอนมาทำการหาโบร์ไมด์

                “ผลการศึกษาพบว่า เมื่อนำข้าวสารมาซาวน้ำ พบโบรไมด์ 51 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อนำมาหุงเป็นข้าวสวย พบโบร์ไมด์ 41.2 เปอร์เซ็นต์ สอดคล้องกับผลการทดลองในข้างต้นว่า เมทิลโบรไมด์ซึมเข้าสู่เนื้อข้าวจริง เพราะฉะนั้นข้าวที่นำมาทำความสะอาดและหุง จึงยังพบว่ามีเมทิลโบรไมด์อยู่ กรณีของเส้นก๋วยเตี๋ยว พบว่า เมื่อนำข้าวที่ซาวน้ำเรียบร้อยแล้วมาโม่เป็นแป้ง พบเมทิลโบรไมด์ 51 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นนำแป้งไปอบไอน้ำ 15 นาที พบเมทิลโบรไมด์ 40 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อนำมาอบไอน้ำครั้งที่ 2 เป็นเวลา 20 นาที พบเมทิลโบรไมด์ 7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ และเมื่อนำส้นมาต้มพบเมทิลโบรไมด์ 5.2 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่า การทำให้เมทิลโบรไมด์ลดลงต้องใช้ระยะเวลา และความร้อนที่นานพอสมควร ชัดเจนว่า เมทิลโบรไมด์ไม่ได้จับอยู่ที่เปลือกเท่านั้น หากแต่ยังซึมเข้าไปสู่เนื้อข้าวสาร และเมื่อนำมาล้างทำความสะอาด นำมาหุงเมทิลโบรไมด์ก็ยังคงอยู่” ดร.จิราพรกล่าว

แพทย์ชี้เกิดพิษเฉียบพลัน-มีคนตายมาแล้ว

ด้าน ผศ.น.พ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงผลกระทบต่อสุขภาพของเมทิลโบรไมด์ว่า เกิดพิษแบบเฉียบพลัน ในผิวหนัง ก่อให้เกิดการอักเสบ พุพอง ในทางเดินหายใจ หลังการสัมผัส 4-12 ชั่วโมง จะเกิดอาการปอดบวมน้ำ เข้าไปกดระบบประสาทส่วนกลางทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน สั่น อ่อนแรง หลอน ชัดและท้ายที่สุดนำไปสู่การเสียชีวิต มีกรณีศึกษาว่ามีการนำสารเมทิลโบรไมด์มาพ่นรมในบ้าน เพื่อกำจัดแมลง และให้คนเข้ามาเช่า พบว่าคนที่ได้รับสารเกิดอาการชักกระตุก อวัยวะภายในล้มเหลว และเสียชีวิตใน 19 วันต่อมา

                “ถ้ารับสารพิษแบบสะสม จะก่อให้เกิดอาการสติปัญญาเสื่อมถอย พฤติกรรมแปรปรวน ประสาทสัมผัสเสื่อมแบบค่อยเป็นค่อยไป มีผลต่อระบบสืบพันธุ์และเป็นพิษต่อยีนส์ เป็นพิษต่อทารกในครรภ์และก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ ในระยะยาวมีการทำให้ระบบต่อมไร้ท่อ ทั้งต่อมใต้สมอง ต่อมไทรอยด์ อัณฑะและรังไข่โตขึ้นและเปลี่ยนรูปร่างไป ทำให้ระบบสืบพันธุ์เป็นหมัน ในสหรัฐอเมริกามีงานศึกษาทางระบาดวิทยา Agricultural Health Study ศึกษาเกษตรกร 7,814 คน นาน 14 ปี พบว่าเกษตรที่ใช้เมทิลโบรไมด์เป็นมะเร็งในกระเพาะ 1.4-3.13 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ใช้ และยิ่งใช้นานจะยิ่งเป็นมากขึ้น และมะเร็งต่อมลูกหมาก 1.5-3.47 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ใช่ ซึ่งในทางระบาดวิทยาถือว่ามีสารพิษแน่นอน” น.พ.ปัตพงษ์ กล่าว

เกษตรฯระบุต้องฉีดก่อนส่งออกและไม่เป็นอันตราย

ด้านนางบุษรา จันทร์แก้วมณี ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานสินค้าเกษตร กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สารรมนั้นมีมากกว่า 30 ชนิด แต่ถูกตัดออกไปเนื่องจากไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ปัจจุบันจึงมีสารรมอยู่ทั้งหมด 3 ชนิดด้วยกัน คือ 1.เมทิลโบรไมด์ (Methyl bromide) 2.ฟอสฟีน (Phosphine) 3.คาร์บอนไดออกไซด์ ที่ปัจจุบันได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะการกำจัดแมลง เมื่อนำคาร์บอนไดออกไซด์ไปแทนที่ออกซิเจน ก็ทำให้แมลงตายเช่นเดียวกัน

สารรมที่ใช้กำจัดแมลงทั้ง 3 ชนิด มีสภาพหนักกว่าอากาศ และมีวิธีการใช้ที่แตกต่างกัน ซึ่งเมทิลโบรไมด์ถูกผลิตขึ้นในรูปของน้ำ และถูกปล่อยออกมาในรูปของแก๊ส ในการรมจึงต้องปล่อยจากด้านบน และใช้เวลารม 24 ชั่วโมง ฟอสฟีนถูกผลิตมาในรูปของแข็งวิธีการใช้จึงต้องปล่อยออกมาด้านล่าง เนื่องจากต้องอาศัยความร้อนให้เกิดการสันดาบ ระเหิดขึ้นด้านบน ใช้เวลา 7 วัน และคาร์บอนไดออกไซด์ จะใช้วิธีการให้คาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปแทนที่ออกซิเจน เพื่อทำให้แมลงตายใช้เวลา 15 วัน

โดยเมทิลโบรไมด์อยู่ในโครงการลด ละ เลิก เนื่องจากเป็นตัวทำลายชั้นบรรยากาศ เริ่มตั้งแต่ 1995 จนถึงปี 2005 ยังไม่สามารถหาสารรมตัวใดมาทดแทนได้ จึงกลับมาตระหนักถึงข้อดีของสารเมทิลโบรไมด์ว่าสามารถรมเพื่อกำจัดแมลงได้ รมฆ่าเชื้อโรคในดิน รมห้องเพื่อปราศจากแมลงหรือรมเครื่องมือแพทย์เพื่อกำจัดเชื้อโรค แต่ต่อมาอนุญาตให้ใช้เมทิลโบรไมด์ในการส่งออก ซึ่งการส่งออกข้าวของไทยอยู่ภายใต้ FAO โดยที่ข้าวจะต้องปราศจากแมลงโดยเด็ดขาด

                “สารรมใหม่ที่นำมาพัฒนาเพื่อใช้แทนเมทิลโบรไมด์คือ อีโคฟูม และซัลฟูริลฟลูออไรด์ ในสหรัฐอเมริกาใช้ซัลฟูริลฟลูออไรด์รมไม้ เฟอร์นิเจอร์ไม้ ยังไม่มีตัวใดที่ใช้เวลาในการรมเทียบเท่ากับเมทิลโบรไมด์ที่ใช้เวลาเพียง 24 ชั่วโมง เป็นผลดีต่อการส่งออก เพราะถ้าหากนานกว่านั้น หมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และสารรมถูกผลิตในต่างประเทศ เมื่อผลิตออกมาจะมีการวิเคราะห์เรียบร้อย มีการทดลองมารองรับ ในสหรัฐฯ กังวลเกี่ยวกับการใช้ซัลฟูริลฟลูออไรด์ในอาหาร เนื่องจากจะตกค้างเป็นฟลูออไรด์ เพราะในยาสีฟันหรือแม้แต่ในน้ำก็มีฟลูออไรด์ จึงเป็นความกังวลของผู้ผลิตว่า เด็กอาจจะได้รับฟลูออไรด์เกินขนาดจึงต้องไปหาค่าความปลอดภัย เห็นได้ชัดสารรมไม่ว่าจะสารเก่าหรือสารใหม่ ต่างก็เป็นสารเคมีที่ช่วยเรา การตกค้างก็เช่นเดียวกับพาราเซตามอล เพราะฉะนั้นเราจึงต้องใช้อย่างถูกวิธี” นางบุษรากล่าว

นางบุษรากล่าวด้วยว่า ในการรมข้าวโดยใช้สารเมทิลโบรไมด์นั้น จะต้องอยู่ในพื้นที่ปิดสนิท เพราะสารดังกล่าวไม่มีสีและกลิ่น ไม่ติดไฟ ไม่ระเบิด ไม่กัดโลหะเครื่องมือหรือเครื่องใช้ มีความสามารถในการแทรกซึมสูง กระจายตัวได้อย่างรวดเร็ว ปริมาณที่ใช้ในการรมอยู่ที่ 2 ปอนด์ต่อเนื้อที่ 1,000 ลูกบาศก์ฟุต เป็นเวลา 24 ชั่วโมง และหลังจากการรมแล้ว จะต้องเปิดให้อากาศถ่ายเทสะดวก 5-6 ชั่วโมง จะสลายตัวไป ซึ่งสารเมทิลโบรไมด์เป็นพิษต่อแมลงและสัตว์เลือดอุ่น แต่ไม่มีสารพิษตกค้าง


พรรณษา กาเหว่า ศูนย์ข่าว TCIJ 13 สิงหาคม 2556

6596
เสี้ยวหนึ่งของเรื่องราวชีวิตคนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จากเรื่องเล่าของหมอผ่าตัดสมอง คนตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่ต้องรับมือกับแรงกดดันภายใต้สภาวะความไม่สงบ ความขาดแคลนอุปกรณ์และทีมงานทางการแพทย์

ส่งผลให้ “โอกาส” ในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเยียวยาชีวิตให้กลับสู่สภาพปรกติ กลับกลายเป็นสิ่งลำบากยากเข็ญ ในขณะที่ สส. และ สว. มีพร้อมทั้งนาฬิกาดิจิตอลเรือนละ 75,000 บาท เพื่อแจ้งบอกเวลาให้มาประชุมโดยพร้อมเพรียง และไอแพดเพื่อนั่งดูภาพโป๊ขณะที่ประชุมสภา สภาพดังกล่าวนั้นต่างกันลิบลับกับสภาพหมอ พยาบาล และทีมงานในโรงพยาบาล ที่ทำงานหนักท่ามกลางความเสี่ยง แต่กลับต้องใช้เครื่องมืออุปกรณ์ช่วยชีวิตคนไข้อย่างอัตคัดขัดสน

แพทย์หญิงนันทกา เทพาอมรเดช ประสาทศัลยแพทย์ (หมอผ่าตัดสมอง) โรงพยาบาลยะลา
เล่าเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตของการเป็นหมอผ่าตัดสมองบ้านนอก และสภาพที่ดำเนินอยู่ท่ามกลางความด้อยโอกาสในการเข้ารับการรักษาของคนไข้ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ให้สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าฟังถึงชีวิตที่เริ่มจากการไปใช้ทุนที่จังหวัดยะลาในปี 2540 จากนั้นไปเรียนต่อที่คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี ด้านประสาทศัลยศาสตร์ จนเรียนจบปี 2545

“ไปเรียนโดยเอาทุนจากโรงพยาบาลยะลา ก็กลับมาอยู่โรงพยาบาลยะลา ช่วงนั้นเหตุการณ์ยังปกติอยู่ มีคนไข้ให้ผ่าตัดเยอะ เพราะยะลารับรีเฟอร์เคสจากปัตตานี นราธิราส และสงขลาบางส่วน จริงๆ ช่วงนั้นตั้งใจจะกลับมาเป็นอาจารย์ต่อที่คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพราะอาจารย์ชวนไว้ แต่คิดว่าจะไปใช้ทุนที่โรงพยาบาลยะลาให้ครบ 3 ปีก่อน แล้วค่อยกลับมา”

แต่เหตุการณ์ไม่สงบเริ่มช่วงปี 2547 ช่วงนั้นก็ใช้ทุนครบ 3 ปี ก็คิดบวกลบแล้วว่าจะอยู่ต่อหรือจะมาคณะแพทย์รามาฯ ตอนนั้นก็ติดต่อทางรามาฯ เรียบร้อยแล้ว แต่สถานการณ์มีเคสคนไข้บาดเจ็บเยอะ ก็เลยคิดว่าถ้าเราออกมาเราก็ปลอดภัย แต่ถ้าเราออกมา คนไข้ที่บาดเจ็บและต้องรีเฟอร์ไปไกลขึ้น ต้องส่งไป มอ. (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) ที่สงขลา มันไม่ทัน จากจุดนั้นก็เลยอยู่ที่โรงพยาบาลยะลาต่อมาถึง ณ ปัจจุบัน

ถามว่าเหตุการณ์ไม่สงบกลัวไหม ก็กลัวกันทุกคน เพียงแต่เราคิดไว้เสมอว่า บุคลากรทางการแพทย์ หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ยังไม่ใช่เป้าหมายของเขา ซึ่งเป้าหมายเขาจะมีกลุ่มทหาร ตำรวจ สังเกตจากเคสที่ถูกยิงก็เป็นทหาร ตำรวจ หรือไม่ก็เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูง แต่ถ้าเป็นเคสที่โดนระเบิด สร้างสถานการณ์ อันนั้นจะเป็นชาวบ้าน ซึ่งระเบิดแปลว่าเราอย่าไปอยู่ที่ชุมชนคนเยอะ ไปไหนมาไหนก็มองซ้ายมองขวานิดหนึ่ง และมักจะมีชาวบ้านเกริ่นมาก่อนว่า ช่วง 2-3 วันนี้หมออย่าไปแถวนั้นนะ จะมีระเบิด ซึ่งจะจริงบ้างไม่จริงบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็เชื่อไว้ก่อน เพราะว่ามักจะจริง ถ้าไม่ตรงวันที่เขาบอกในสัปดาห์นั้น ก็จะมีสักวัน

ปัญหาที่ประสบอยู่ในโรงพยาบาลคือบุคคลากร โดยเฉพาะหมอประสาทศัลยศาสตร์หรือหมอผ่าตัดสมอง ถ้าดูจำนวนทั้งประเทศอาจจะไม่ขาดแคลนมากนัก แต่หมอผ่าตัดสมองส่วนใหญ่จะอยู่ในส่วนกลางครึ่งต่อครึ่งจากทั้งหมด ทำให้ต่างจังหวัดขาดแคลน บวกกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เหตุการณ์ไม่สงบ ความขาดแคลนยิ่งเยอะเข้าไปใหญ่ เราก็เห็นใจน้องๆ (หมอรุ่นใหม่ๆ) ที่ไปอยู่ ไม่ว่าจะเป็นหมอผ่าตัดสมอง หรือหมอผ่าตัดอื่นๆ ก็ตาม พอแต่งงานมีครอบครัวก็เริ่มนึกถึงครอบครัว นึกถึงลูกว่าจะไปโรงเรียนอย่างไร ปลอดภัยไหม มีโรงเรียนที่มีคุณภาพสำหรับลูกไหม สุดท้าย 80-90% แต่งงานก็จะหาที่ย้ายออก

ขณะที่เรื่องอุปกรณ์ทางการแพทย์ยังขาดแคลนอยู่เยอะ ความทันสมัยสู้ในเมืองไม่ได้ ต้องใช้แบบกระเบียดกระเสียร ยกตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ผ่าตัดสมอง อาทิ ตัวเจาะกะโหลก ลองนึกถึงสว่านที่ใช้เจาะไม้ ก็จะมีสว่านที่ใช้เจาะกะโหลก ตัวใบมีด เมืองนอกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ของเราใช้แล้วเอาไปนึ่ง และใช้จนกว่าใบมีดไม่คมแล้วจึงจะทิ้ง

เครื่องสว่าน ตามหลักการทำความสะอาด เมื่อใช้แล้วต้องอบแก๊ส ใช้เวลา 8 ชั่วโมง ดังนั้นเราต้องมีเครื่องนี้อย่างน้อย 3 เครื่อง ถึงจะใช้ได้ 24 ชั่วโมง แต่เนื่องจากจำนวนการผ่าตัดมีมากกว่า 3 เคสต่อวัน ขณะที่จำนวนเครื่องที่โรงพยาบาลยะลามีแค่ 2 เครื่อง เราต้องใช้วิธีเอาไปนึ่งไอน้ำ ใช้เวลา 1 ชั่วโมง ดังนั้น อายุการใช้งานของเครื่องมือจะสั้นลง และงบประมาณที่ได้มา เราขอไปปีนี้ พอปีถัดไปเราขอใหม่จะถูกติงว่าเพิ่งขอไป ทำไมขออีก ก็ต้องบอกว่าเครื่องเก่ามันเสีย เพราะเราใช้งานมันเยอะมากกว่าความทนทานของเครื่อง ใช้จนใบมีดไม่คมแล้วค่อยทิ้ง

ไทยพับลิก้า : ไม่คมแล้วจะเจาะสมองได้ยังไง

คืออุปกรณ์ไม่พอ พอมันไม่คมเราจึงจะเปลี่ยนอันใหม่ เพราะตัวสว่าน ถ้าตามการเบิกจ่ายของกระทรวงสาธารณสุข ไม่มีรหัสการเบิกค่าตัวสว่าน เพราะมันเหมารวมในค่าผ่าตัด เราต้องจำเป็นใช้ซ้ำ จนกว่าจะใช้ไม่ได้ ถึงค่อยเปลี่ยนอันใหม่

ไทยพับลิก้า : การใช้ซ้ำในแง่คุณภาพ ความปลอดภัยเป็นอย่างไร

ก็ต้องบอกว่า ต้องมีตรงกลาง สมมติสว่าน ถ้าใช้ 4-5 ครั้ง เริ่มจะไม่ดีแล้ว รีบเปลี่ยนก่อน ถ้าเราใช้เลยกว่านั้น มันอาจจะทะลุกะโหลกไปถึงสมองได้ ซึ่งอันตรายมาก ถ้าจะเอาตามมาตรฐานก็บอกว่าใช้ครั้งเดียวทิ้ง เราก็ไม่ไหว เลยต้องเจอกันที่จุดตรงกลาง

ไทยพับลิก้า : ราคาแพงไหม

ตัวสว่าน ราคาตัวละ 4-5 พันบาทต่อชิ้น ใช้แล้วทิ้ง และตัวเครื่องเจาะกะโหลกเครื่องละกว่า 1 ล้านบาท ใช้ได้ประมาณ 2-3 ปี นอกจากนั้นจะเป็นอุปกรณ์อื่นๆ กล่าวคือ อุปกรณ์การแพทย์จะมี 2 อย่าง คือ อุปกรณ์สิ้นเปลือง เช่น สว่าน ใช้แล้วต้องทิ้ง และอุปกรณ์ที่ใช้ได้นานหน่อย อย่าง เครื่องเจาะ ตัวกล้องช่วยผ่าตัด เตียงผ่าตัด ก็มีอายุการใช้งาน โดยส่วนใหญ่ถ้ารองบประมาณจะไม่ค่อยพอ

ไทยพับลิก้า : ได้งบประมาณปีละเท่าไหร่

งบประมาณต้องจัดสรรรวมทั้งจังหวัด แล้วในจังหวัดพอมาแบ่งในโรงพยาบาล ก็ต้องจัดสรรกับแผนกอื่นๆ ทั้งหมดอีก ถ้าสามารถแยกแผนกประสาทศัลยศาสตร์ออกมาจากศัลยกรรม การจัดงบประมาณอาจจะง่ายกว่า เพราะจริงๆ แล้วหากดูจำนวนเคสของการผ่าตัดสมองอาจจะไม่เยอะเท่าการผ่าตัดทั่วไป แต่ความสิ้นเปลืองของอุปกรณ์จะมากกว่า เพราะเป็นการผ่าตัดที่ละเอียดกว่า อุปกรณ์ราคาแพงกว่า โดยเน้นสภาพของงาน

ไทยพับลิก้า: เฉพาะที่โรงพยาบาลยะลา มีผู้บาดเจ็บมากน้อยแค่ไหน

เคสผ่าตัดสมอง จะมีทั้งโรคที่ผ่าตัดสมอง เช่น โรคเนื้องอก ส่วนที่บาดเจ็บ จากที่เก็บข้อมูลมีประมาณ 12,000 รายต่อปี จำนวนผู้บาดเจ็บจะเพิ่มขึ้นทุกปี และในจำนวนนี้เป็นเคสผ่าตัดสมองประมาณ 15-20% ของ 12,000 ราย แต่ถ้าไปดูข้อมูลที่เรียกว่าความสิ้นเปลืองหรือยูนิตคอสต์ (unit cost) ในการรักษา การผ่าตัดสมองหนึ่งคนเทียบกับผ่าตัดทั่วไปประมาณ 10 คน หรือ 20 คน เพราะฉะนั้น จำนวนน้อยกว่าก็จริง แต่งบประมาณในการใช้ไม่ต่างกันสักเท่าไหร่

ไทยพับลิก้า : แล้วมีหมอผ่าตัดสมองกี่คน

ที่ยะลามี 4 คน คือที่รับราชการ 2 คน ส่วนหมออีก 2 คน โรงพยาบาลต้องใช้วิธีจ้างพิเศษแบบเอกชน เพราะ 2 คนที่มีอยู่ไม่เพียงพอ วิธีการให้หมอมาอยู่ได้ต้องให้แรงจูงใจคือให้เงินเดือนสูงๆ 180,000 บาท/เดือน โรงพยาบาลใช้วิธีนี้มาประมาณ 4-5 ปีแล้ว การแก้ปัญหาแบบนี้ถือว่าดี ที่มีหมอมาช่วย แต่เขาช่วยได้สัก 1 ปี หรือ 2 ปี เขาได้ผ่าตัด (ฝึกประสบการณ์) และได้เงินประมาณหนึ่ง เขาก็ขอย้ายออก เพราะสถานการณ์ไม่สงบ เขามีลูกเขาก็ไป ถึงแม้เงินเดือน 180,000 บาท หรือบวกค่าผ่าตัดนอกเวลาแล้วประมาณ 200,000 บาทต่อเดือน ก็เอาไว้ไม่อยู่ ก็ไปอยู่ดี

ไทยพับลิก้า : คิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร

คือถ้ามองเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากจะดึงงบประมาณมาทั้งหมด หมอก็ยังคิดว่าอาจจะเห็นแก่ตัวเกินไป ใจคิดว่าในส่วนของประสาทศัลยแพทย์หรือหมอผ่าตัดสมองทั้งระบบ ทั้งประเทศ พัฒนาไปด้วยกัน เพราะเรารู้แล้วว่า อันดับแรก หมอผ่าตัดสมองขาด ทำอย่างไรให้เพิ่มจำนวนหมอผ่าตัดสมอง แล้วดึงให้กลับมาอยู่ในกระทรวงสาธารณสุขให้ได้ รักษาเขาไว้ให้ได้ เพราะส่วนใหญ่พอจบออกมาสัก 2-3 ปี เขาผ่าตัดคล่องเขาก็ออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน อย่างผ่าตัดเลือดออกในสมอง โรงพยาบาลรัฐบาลได้ค่าผ่าตัด 2,400 บาทต่อคน แต่โรงพยาบาลเอกชนขั้นต่ำ 30,000 บาทต่อคน เท่ากับว่าการผ่าตัดในโรงพยาบาลรัฐบาล 10-15 คน เท่ากับผ่าตัดในโรงพยาบาลเอกชนคนเดียว ความเหนื่อยล้าก็ต่างกัน และต้องยอมรับว่าเด็กรุ่นหลังอย่าง Gen Y หากไปถามเขา คงหายากที่จะเสียสละเพื่ออะไรก็ไม่รู้ ตอนนี้ทุกอาชีพเงินก็ต้องมาก่อน ต้องให้พอเหมาะกับค่าครองชีพและเรื่องภาระงาน ให้อยู่ด้วยกันได้ ไม่ใช่ว่าเยอะเกินหรือน้อยเกิน

ไทยพับลิก้า : ที่ผ่านมาผลิตหมอผ่าตัดสมองไปอยู่เอกชนเป็นส่วนใหญ่

ใช่ หลังจากจบมาสักพัก เพราะยังมีความแตกต่างระหว่างรัฐบาลกับเอกชนเยอะ ทั้งความสบายของงาน และค่าตอบแทน (หมอผ่าตัดสมองประสบการณ์ 3-4 ปี โรงพยาบาลเอกชนอันดับต้นๆ จ้างเดือนละ 1 ล้านบาท)

ไทยพับลิก้า : แสดงว่าการเข้าถึงของประชาชนส่วนใหญ่ในการผ่าตัดสมอง ในแง่โรงพยาบาลรัฐมันลำบากใช่ไหม นอกจากยอมไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน

ใช่ อาจจะเสียเปรียบ เพราะจำนวนโรงพยาบาลรัฐบาล หมอผ่าตัดสมองมีน้อย คนไข้ผ่าตัดต้องรอคิวนาน ถ้าเป็นเคสผ่าตัดที่ไม่ฉุกเฉินก็ไม่มีปัญหามาก แต่ถ้าหากฉุกเฉิน ต้องผ่าภายในครึ่งชั่วโมง หรือหนึ่งชั่วโมง เรารู้ว่าระยะเวลาการผ่าตัดสมองมีผลมากกับการรอดชีวิตของคนไข้ เช่น คนไข้มีอุบัติเหตุ เลือดออกในสมอง หากผ่าตัดได้ภายในครึ่งชั่วโมงแรก มีโอกาสกลับไปมีชีวิตทำงานปกติ แต่ถ้าเลยไปอีก 1-2 ชั่วโมง ก็อาจจะเป็นคนพิการ หรือถ้าผ่าช้าไปอีก 3 ชั่วโมง ก็อาจจะเสียชีวิตไปเลย ทั้งๆ ที่เป็นโรคเดียวกัน

เพราะฉะนั้น คิดว่าสำหรับเคสอุบัติเหตุก็ต้องมีประสาทศัลยแพทย์ให้พอที่จะผ่าตัดได้ทันที เพราะผลของการผ่าตัดมันจะต่างกันเยอะ และชีวิตคนทุกคนไม่ว่าอาชีพไหน สำคัญเท่ากันทุกคน

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้ปัญหาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คุณหมอยังต้องทำงานหนักตลอดเวลา

ใช่ เนื่องจากหมอเป็นฝ่ายตั้งรับ ไม่ใช่ฝ่ายที่จะไปป้องกัน ในแง่การรักษาคนไข้เรารักษาหมดทุกคน ทั้งคนกระทำและคนถูกกระทำ ทั้งชาวบ้าน ทั้งโจร หากยังอยู่ในภาวะไม่สงบก็ต้องเตรียมให้พร้อมทั้งเรื่องคน ประสาทศัลยแพทย์ พยาบาล สถานที่ อุปกรณ์เครื่องมือ

ไทยพับลิก้า : หมอผ่าตัดสมองใน 3 จังหวัดชายแดนใต้มีกี่คน

ที่ยะลามี 4 คน สิ้นปีนี้ก็ย้ายออก ก็จะเหลือ 2 คน ที่นราธิวาสมี 1 คน ปัตตานีไม่มี และโรงพยาบาลยะลารับรวมของปัตตานีทั้งหมด นราธิวาสจะรับเป็นบางวันที่หมอนราธิวาสไม่ได้อยู่เวร เพราะหมอเขาอยู่คนเดียว การจะอยู่เวร 30 วัน คงไม่ไหว

ไทยพับลิก้า : คุณหมอต้องผ่าตัดทุกวัน

ผ่าทุกวันทั้ง 4 คน ทำงานในเวลาราชการก็ทำด้วยกันทั้งหมด นอกเวลาราชการ 30 วัน ก็หาร 4 ก็ตกประมาณคนละ 7-9 เวรต่อเดือน นั่นหมายความว่าเดือนหนึ่งก็อาจจะมี 7-8 วัน ที่เราอาจจะไม่ได้นอนทั้งคืน

ไทยพับลิก้า : เคยมีผ่าตัดต่อเนื่องไหม

เคย มีตั้งแต่เช้า กลางวัน จนเช้าอีกวัน มีอยู่บ่อยๆ ถ้าไปถามหมอผ่าตัดสมองที่อื่น ก็มีแบบหมออีกเยอะ

แพทย์หญิงนันทกา เทพาอมรเดช ประสาทศัลยแพทย์ โรงพยาบาลยะลา

ไทยพับลิก้า : โอกาสเสี่ยงที่จะพลาดเยอะ เคยกลัวว่าจะถูกฟ้องบ้างไหม

ใช่ ก็ต้องยอมรับว่าความล้าก็มีบ้าง อย่างตี 3 ตี 4 ต้องผ่าตัดคนที่ 6 -7 ความเนียนในการผ่าตัด แม้กระทั่งทีมงานที่ช่วยผ่าตัด หรือหลังผ่าตัด อย่างพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดก็ล้า เพราะคนไข้หลังผ่าตัดใหม่ๆ ส่วนใหญ่เป็นคนไข้หนัก ต้องอยู่ไอซียู และไอซียูที่โรงพยาบาลยะลามี 13 เตียง แต่คนไข้ที่หนักมีเกิน 13 คน ก็ต้องไปอยู่วอร์ดสามัญที่มีเครื่องไม้เครื่องมือ เครื่องช่วยหายใจ เครื่องวัดความดัน เครื่องวัดชีพจร ไม่ดีเท่าห้องไอซียู และพยาบาลก็ล้า ก็จะสงสารคนไข้ที่ต้องไปอยู่วอร์ดสามัญทั้งๆ ที่ต้องอยู่ไอซียู

เคยนึกอยู่บ่อยๆ ว่า ถ้าเกิดเป็นเรา ในวันใดวันหนึ่งต้องมานอนในตึกสามัญ ใช้เครื่องช่วยหายใจแบบนี้ แล้วพยาบาลก็ล้าแบบนี้ เราจะกล้าอยู่ไหม เราเป็นหมอเรายังไม่กล้าอยู่เลย แต่ ณ ปัจจุบัน ชาวบ้านต้องอยู่เพราะเขาไม่มีทางเลือก เขาไม่รู้ แต่เราก็พยายามทำให้ดีที่สุด เท่าที่เราทำได้ ถ้าไอซียูว่างก็พยายามย้ายกลับเข้ามา เรารู้ว่าคุณภาพการดูแลนอกไอซียูสู้ในไอซียูไม่ได้ แต่เราก็ทำให้เขาไม่ได้

เป็นความไม่เท่าเทียมในสังคม ใครมาเร็วได้ก่อน เป็นความไม่เท่าเทียมที่เราไม่ตั้งใจ แต่ถ้ามีสถานที่พอ มีงบในการสร้างห้องไอซียูเพิ่มขึ้น ซื้ออุปกรณ์ได้มากขึ้น คุณภาพทั้งหมดเพื่อคนไข้กลับไปรอดชีวิตแบบที่ดีกว่า เราอยากให้ทุกคนที่ประสบเหตุ เป็นโรค สามารถกลับไปทำงานช่วยเหลือตัวเองได้ เราไม่อยากให้มีคนพิการ

เวลาเกิดเหตุใน 3 จังหวัดฯ จะมาโรงพยาบาลยะลา อาจจะมีบางกรณีที่ข้ามจากเกิดเหตุไป มอ. เลย เช่น คนไข้ที่ต้องถูกส่งโดยเฮลิคอปเตอร์ เพราะว่าถนนปิด รถไม่สามารถผ่านได้

ไทยพับลิก้า : ยะลาเป็นโรงพยาบาลจังหวัด มีกี่เตียง

เป็นโรงพยาบาลศูนย์ มีประมาณ 600 กว่าเตียง

ไทยพับลิก้า : พอไหม

ไม่พอ อย่างศัลยประสาทมี 24 เตียง แต่ยอดคนไข้ตกประมาณ 40 คน เพราะฉะนั้นจำนวนเตียงไม่พอ ต้องนอนเตียงเสริม นอนเตียงเสริมนอกตึก นอนตรงข้างบันได ถ้าเตียงไม่พอก็ต้องนอนเตียงผ้าใบ

ไทยพับลิก้า : เป็นคนไข้อาการหนัก

เราต้องเลือกคนที่ไม่หนักอยู่ข้างนอก คนที่หนักก็อยู่ข้างใน บางคนอยู่ข้างนอกอาการดี แต่ตอนหลังแย่ลงก็ต้องย้ายเข้าข้างใน เราต้องจัดทีมพยาบาลเพิ่มต่างหากหากมีคนไข้อยู่ข้างนอกตึก จำนวนอัตรากำลังพยาบาลก็ไม่เพียงพอ เราต้องการพยาบาล 8 ชั่วโมง เวรละ 6 คน หากจำนวนคนไข้มากขึ้น พยาบาลต้องเพิ่มเป็น 8-10 คน แต่บางครั้งก็ได้แค่ 8 คน พยาบาลหมดตึกแล้วไม่มีคนมาขึ้นเวร ก็ต้องเฉลี่ยกันไป

ไทยพับลิก้า : สภาพแบบนี้เป็นมานานแค่ไหน

มีเป็นช่วงๆ ช่วงไม่ยุ่งก็มี แต่โดยสภาพเฉลี่ยแล้วจะเยอะอย่างนี้ตลอด ถามว่างบประมาณมาไหม ก็มาเรื่อยๆ มีการพัฒนาเรื่อยๆ เพียงแต่ว่างบประมาณกับการพัฒนายังไม่ทันกับจำนวนคนไข้ ไม่ทันกับจำนวนโรค ก็ต้องทำไปเรื่อยๆ

ไทยพับลิก้า : คนไข้ส่วนใหญ่เป็นอุบัติเหตุหรือโรคอื่นๆ

ส่วนใหญ่เป็นอุบัติเหตุจราจร ความไม่สงบก็มีด้วยส่วนหนึ่ง ในช่วงที่มีระเบิด ถ้ามาเยอะ 20 คน 30 คน ก็จะไม่ทัน จะต้องตามทีมชุดใหญ่มา ที่โรงพยาบาลจะมีแผนรับมืออุบัติเหตุหมู่ ก็จะเปิดแผนตามที่วางไว้ ถ้าแผนใหญ่ตามหมอทุกคนมา ตามพยาบาลมาหมดทุกคน

ไทยพับลิก้า : เมื่อตอนต้นที่บอกว่าเตียงไอซียูมีแค่ 13 เตียง นี่ต้องการเพิ่มอีกกี่เตียงถึงจะเหมาะสม

โรงพยาบาลส่วนใหญ่ ห้องไอซียูจะใช้รวมกัน มีทั้งอายุรกรรม ศัลยกรรม เด็ก ของที่โรงพยาบาลยะลามีไอซียูเพิ่มขึ้นมาคือไอซียูอุบัติเหตุทุกประเภท ความตั้งใจเดิมจะรับคนไข้อุบัติเหตุทุกอย่าง รวมทั้งศัลยกรรมทั่วไป กระดูก สมอง แต่เท่าที่ผ่านมา ไอซียูทั่วไปมี 16 เตียง อุบัติเหตุมี 13 เตียง อัตราครองเตียงในไอซียูตอนนี้เรียกได้ว่าเต็ม 100% และไอซียูอุบัติเหตุ เคสส่วนใหญ่เป็นเคสผ่าตัดสมอง และถึงมี 13 เตียง ก็ไม่พอ จริงๆ แล้วพยาบาลคนที่ดูเคสในไอซียูผ่าตัดสมองกับไอซียูจากอุบัติเหตุก็ไม่เหมือนกัน ในความเห็นหมอ หากเรามีไอซียูเฉพาะสำหรับประสาทศัลยศาสตร์ ดูคนไข้ผ่าตัดสมองแยกออกมาจากศัลยกรรมอุบัติเหตุ น่าจะดีกว่ากันเยอะ เพราะการดูแลไม่เหมือนกัน จะได้คุณภาพด้วย

ไทยพับลิก้า : ต้องใช้เงินเยอะแค่ไหน

เครื่องมือก็แพง เครื่องช่วยหายใจอย่างน้อยๆ ราคา 1 ล้านบาทต่อเครื่อง เครื่องมอนิเตอร์ อาทิ เครื่องวัดความดันและเครื่องวัดชีพจรที่มีหน้าจอ ราคาก็ 5-6 แสนบาท เตียงก็ต้องเป็นไฟฟ้าที่ปรับได้เพราะคนไข้ไม่รู้สึกตัว พยาบาลไขเตียงไม่ไหวแล้ว คนไข้พลิกตัวเองไม่ได้ ต้องพลิกทุก 2 ชั่วโมง หรือต้องดูดเสมหะ ดังนั้น ราคาอุปกรณ์ต่อคนไข้หนึ่งเตียงประมาณ 2 ล้านบาท ถ้าไอซียูมี 10 เตียง ก็ 20 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าก่อสร้างอื่นๆ อันนี้คิดแบบถูกสุดๆ แล้ว

ไทยพับลิก้า : คุณหมอเคยท้อบ้างไหม

มีบ้าง แต่ยังได้กำลังจากคนไข้ เพราะหมอจะรู้สึกดีมากถ้าคนไข้มาผ่าตัดแล้วกลับบ้านได้ จะรู้สึกว่า ถ้าเราไม่อยู่ คนนี้จะต้องถูกส่งไปหาดใหญ่ คนไข้รอดเหมือนกัน แต่ด้วยการผ่าตัดที่ช้า เขาอาจจะพิการ แต่ที่นี่เขาได้ผ่าเลย เขาสามารถกลับไปทำงานเลี้ยงครอบครัวได้ต่อ สำหรับคนไข้หนึ่งคน ไม่พิการ กลับมารอดชีวิต หมอก็ดีใจแล้ว

ไทยพับลิก้า : สิ้นปีนี้มีหมอเหลือแค่ 2 คน

ใช่ น้องที่มาจากการจ้างแบบพิเศษ เขาบอกชัดเจนตั้งแต่แรกว่ามาเพราะที่นี่มีเคสเยอะ และเพราะเงินเดือน เราคุยกันแบบตรงไปตรงมา เพราะยินดีที่มีหมอมาช่วย เราดีใจ

มีคนถามว่าที่เราจ้างหมอแบบพิเศษเงินเดือน 180,000 บาท แล้วหมอเองได้เงินเดือน 30,000 บาท บวกค่าผ่าตัดนอกเวลา รวมแล้วเดือนละประมาณ 70,000-80,000 บาท และเราจบมาหลายปีแล้ว น้องมาได้เงินเดือนเป็น 2-3 เท่าของเรา ไม่น้อยใจหรือ ก็…คิดว่าไม่รู้จะน้อยใจไปทำไม ในเมื่อเขาก็มาช่วยเรา และเงินเดือน 180,000 บาท ก็ถือว่าคุ้ม เพราะการผ่าตัดคนไข้หนึ่งคน หากเขารอดชีวิต ก็คุ้มแล้ว เงิน 180,000 บาท สำหรับชีวิตคน

ดังนั้น โรงพยาบาลยะลาก็ยังมีนโยบายรับหมอแบบพิเศษต่อ ใครมาเราก็จ้างต่อ น้อง 2 คน ที่เขามาช่วย เขาได้ผ่าตัดแล้ว เขาพอใจแล้ว เขาก็ขอย้ายไปอยู่ที่อื่น คนใหม่มาเราก็รับ ถึงแม้ว่าที่ผ่านมารับมาทำงาน 3-4 คน รู้แล้วว่าจุดหมายเหมือนกันคือมาผ่าตัด รับเงินแล้วก็ไป แต่ก็ยังยินดีที่เป็นแบบนี้ นอกจากว่าเป็นนโยบายกระทรวงสาธารณสุข หรือว่า สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ที่มีอะไรมาดึงดูดให้หมอใหม่ๆ อยู่ตลอด ตราบใดที่เหตุการณ์ยังไม่สงบ

ไทยพับลิก้า : ปกติมีเงินพิเศษสำหรับหมอในพื้นที่เสี่ยง

ใช่ มีเพิ่มเดือนละ 1 หมื่นบาทสำหรับหมอ ส่วนพยาบาล 2,500 บาท ถามว่าสำหรับหมอผ่าตัดสมอง หมื่นหนึ่งกับที่เขาจบมา เทียบกันไม่ได้กับเขาไปอยู่ที่ปลอดภัย เขาเปิดคลินิกได้ มีเวลาไปเที่ยว หมื่นหนึ่งเล็กน้อยมาก

แต่อยู่ที่นี่ ไม่ได้อยู่ด้วยความหวาดระแวง ก็เป็นช่วงๆ อยู่ได้ อย่าไปผิดที่ผิดทาง

ไทยพับลิก้า : อยากจะบอกอะไรกับใครไหม

สำหรับผู้บริหารหรือนักการเมือง ถ้างบประมาณที่เหลือๆ ไม่รู้จะเอาไปไหน (หัวเราะ) ส่งมาให้ทางการแพทย์ ส่งมาให้ 3 จังหวัดภาคใต้ หรือให้ประสาทศัลยแพทย์ หรือทางการแพทย์ ยังไงก็คุ้มทุนที่สุด เพราะเป็นการให้ชาวบ้าน ให้กับผู้เสียภาษี ดีกว่า

อีกอันหนึ่งสำหรับโรงพยบาลยะลา อุปกรณ์ที่ราคาแพงๆ เราของบประมาณไปทางกระทรวงสาธารณสุข จะได้ไม่ทันกับความต้องการใช้ เราได้ขอพระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ เพราะอุปกรณ์ที่ขอไปหลายปียังไม่ได้ เราก็ขอไปทางสำนักพระราชวัง เราส่งข้อมูลคนไข้ ข้อมูลการผ่าตัด ไปให้พระองค์ท่าน ก็มีราชเลขามาดูว่าอุปกรณ์นี้จำเป็นแค่ไหน ทางโรงพยาบาลยะลาได้รับพระราชทานมาหลายเครื่อง และเราส่งรายงานไปตลอด เมื่อวันก่อนได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพฯ ได้ทูลรายงาน ซึ่งพระองค์บอกว่าดีมากที่ได้ให้อุปกรณ์เหล่านี้มา คุ้มที่สุด เพราะพระองค์เห็นข้อมูลที่เรารายงานไป

http://thaipublica.org/2013/08/nuntaka-neurological-surgeons/
19 สิงหาคม 2013

6597

๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๖
สวัสดี เพื่อนแพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ทุกท่าน

ร่าง พรบ. นิรโทษกรรมฯ ที่กำลังเป็นที่ถกเถียงอยู่ในสภาและมีการคัดค้านอยู่นอกสภา ไม่ทราบว่าจะทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบในประเทศอีกหรือไม่ แต่ที่แน่นอนคือ ประกาศค่าตอบแทนกระทรวงฯ ฉบับ๔ ทำให้เกิดความไม่สงบของกระทรวง สธ. ตั้งแต่ปี พ.ศ๒๕๕๐ คือ มีการประท้วงเรียกร้องขอ ค่าตอบแทน ฉบับ ๖ , ๗ ตามมา และปัญหาความขัดแย้ง ขับไล่ ผู้บริหาร สธ. หลังมีประกาศ ฉบับ ๘, ๙ (P4P) ในอนาคตจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นอีกบ้าง คงต้องติดตามกันต่อไป

สมาพันธ์ฯ โดย พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ มีโอกาสเป็นคณะทำงาน P4P ของ สธ. เข้าไปแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมและรักษาสิทธิต่างๆของ รพศ./รพท.  ซึ่งเป็นที่แน่นอนแล้วว่าจะมีการเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจาก P4P ทั้ง รพศ./รพท. และรพช. ตาม คำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ ๙๗๑/๒๕๕๖ เรื่อง แนวทางการจ่ายเงินช่วยเหลือ สำหรับกำลังคนด้านสาธารณสุข ที่ได้รับค่าตอบแทนใหม่  ซึ่งเพื่อนแพทย์ทุกท่านสามารถดูได้ที่ http://www.thaihospital.org เข้าไปที่ เว็บบอร์ด / ข่าวสมาพันธ์ ส่วนวิธีการเยียวยาและแหล่งที่มาของเงินนั้น ประธานสมาพันธ์ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ได้ประชุมกับคณะทำงานของ สธ.จนได้ผลสรุปถึงวิธีการขอรับเงินช่วยเหลือ ออกมา เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคมนี้ คือ รพ.ที่ทำ P4P แล้วให้ผอ. เสนอขออนุมัติรับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมจาก  สสจ. โดย การพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือ อาจจ่ายตามส่วนต่างระหว่างค่าตอบแทนเดิมกับค่าตอบแทนใหม่รายบุคคล หรืออาจใช้กระบวนการบริหารเพื่อพัฒนาประสิทธภาพ รพ.ในการจ่ายเงินฯ เพื่อรักษาหลักการของการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฎิบัติงาน ซึ่งรายละเอียด เงื่อนไขการจ่ายเงินฯ ทางสมาพันธ์ฯจะนำขึ้น website ต่อไป

ยังมีประเด็นที่สมาพันธ์ฯจะทำ และได้เสนอใน คณะกรรมการ P4P ของ สธ.  คือ ประเด็นลดความเลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมระหว่างวิชาชีพโดยมีหลักการ ดึงคนที่ได้น้อยขึ้นมา ไม่ดึงคนที่ได้มากให้ลดลง โดย การปรับค่าตอบแทน ฉ.๙ ซึ่งต้องพิจารณาความเป็นไปได้ทางการเงิน(จะเอาเงินมาจากไหน)  ถ้ามีรายละเอียดเพิ่มเติม จะแจ้งให้พื่อนแพทย์ทราบต่อไป

มีข่าวของ พรบ. คุ้มครองผู้เสียหายฯ หลัง NGO ผิดหวังจาก สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยินดีให้กระทรวงสาธารณสุข จัดทำ ร่างฯ พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายฯตามวิธีปกติต่อไป โดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะไม่มายุ่งเกี่ยวกับ พรบ. นี้อีกต่อไป ทางNGO จึงมีการเคลื่อนไหว ไปร้องเรียน คณะกรรมาธิการสาธารณสุข ของสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลให้มีการจัดตั้งกรรมการมาดูแล พรบ. ฉบับนี้โดยเฉพาะ ซึ่งทางสมาพันธ์ฯ คิดว่า จะดูท่าทีกรรมการชุดนี้ไปก่อน เนื่องจาก สส.มีเรื่อง พรบ.นิรโทษกรรม ให้แก้ปัญหากันอยู่ คงไม่สนใจ พรบ. คุ้มครองผู้เสียหายฯ ในตอนนี้

                สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป แห่งประเทศไทย

6600
จิตแพทย์เผยอาการหายใจเร็ว ตบตี กรี๊ด อาละวาด ฆ่าตัวตายในละคร ล้วนสะท้อนปัญหาสุขภาพจิต แนะชีวิตจริงหากเกิดอารมณ์เครียด โกรธ ซึมเศร้า ควรพาตัวเองออกจากสถานการณ์เสี่ยง ด้านคนใกล้ชิดต้องช่วยเหลือหาทางออก จี้ผู้ปกครองสอนลูกดูละครอะไรควรทำไม่ควรทำ
       
       รศ.นพ.เธียรชัย งามทิพย์วัฒนา หัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในการเสวนาเรื่อง “ดูหนังดูละคร...แล้วย้อนมองดูตัว” ในกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพจิตเรื่อง “จิตเวชศิริราช...ปันความรู้สู่ประชาชน” ว่า พฤติกรรมของตัวละครหลายเรื่องสะท้อนปัญหาสุขภาพจิตได้ในหลายประเด็น อย่างกรณีตัวละครกรีดร้อง หายใจเร็ว เหมือนหอบ จิกเกร็ง จนถึงขั้นสลบ เมื่อเวลาไม่ได้ดั่งใจ อิจฉา หรือเครียดนั้น อาการเหล่านี้ไม่ใช่อาการทางจิต แต่เป็นอาการทางกายที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อคนเรามีอารมณ์รุนแรงสามารถแสดงออกได้หลายอย่าง เช่น หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจเร็ว (Hyperventilation syndrome) ซึ่งผู้ป่วยจะกลัวหายใจไม่เข้าแล้วเสียชีวิต จึงยิ่งพยายามหายใจก็ยิ่งเป็นมากขึ้น ตรงนี้ต้องตั้งสติก่อน โดยเฉพาะญาติหรือผู้ใกล้ชิดต้องรีบช่วยเหลือ หากไม่ใช่โรคหอบที่เมื่อหายใจไม่ออกตัวจะเขียว ก็ให้พยายามช่วยจัดท่าทางผู้ป่วย หรือพูดคุย เพื่อให้หายใจช้าลง ซึ่งส่วนใหญ่จะดีขึ้นได้เอง
       
       นพ.ปเนต ผู้กฤตยคามี อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาที่พบเห็นบ่อยในละครอีกประเด็นคือ ความรุนแรงในครอบครัว เช่น ลูกขโมยเงินแม่แล้วถูกจับได้ แม่ก็เริ่มจากพูดไม่ดีก่อน สุดท้ายเมื่อใช้อารมณ์กันมากก็กลายเป็นการลงไม้ลงมือต่อกัน ซึ่งทั้งที่จริงแล้วมีหลายวิธีในการสื่อสารอย่างมีเหตุผล การดูละครที่มีความรุนแรงนั้นผู้ปกครองต้องใช้วิจารณญาณในการสอนลูกว่า การกระทำใดที่ดีสามารถนำไปเป็นแบบอย่างได้ หรือแบบใดที่ไม่ดี ก็ต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจว่าไม่ดีอย่างไร แล้วสิ่งที่ดีที่ควรต้องทำอย่างไร ทั้งนี้ ความรุนแรงมักมาจากอารมณ์โกรธ เพื่อต้องการแสดงออกว่าตนรับไม่ได้ ทนไม่ได้ และไม่พอใจ ซึ่งคนที่เริ่มมีอารมณ์โกรธต้องรู้จักสังเกตตนเองและระงับอารมณ์ เช่น หน้าแดง มือสั่น ก็ต้องพาตัวเองออกจากสถานการณ์นั้นๆ ก่อนที่อารมณ์จะรุนแรงมากยิ่งขึ้นจนควบคุมไม่ได้
       
       “ทั้งความเครียดและความโกรธ ต้องแก้ไขด้วยการออกมาจากสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความรู้เหล่านี้ โดยอาจหางานอดิเรกทำ หรือฝึกการหายใจเพื่อควบคุมอารมณ์ รวมไปถึงออกกำลังกาย ซึ่งจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยามักแนะนำเป็นประจำ หากอารมณ์กลับมาเป็นปกติแล้วก็จะช่วยให้พูดคุยด้วยเหตุผลมากขึ้น สามารถพิจารณาได้รอบด้านมากขึ้นว่าต้นเหตุของความเครียดเกิดจากอะไร และต้องแก้ไขอย่างไร ซึ่งอาจใช้วิธีปรึกษาเพื่อนหรือคนใกล้ชิดร่วมด้วยได้ ก็จะช่วยให้เห็นทางออกมากขึ้น” นพ.ปเนต กล่าว
       
       นพ.ปเนต กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการฆ่าตัวตายในละครที่พบเห็นได้บ่อยเช่นกัน ตรงนี้เกิดจากการกดดันจิตใจที่ค่อนข้างรุนแรง ทั้งแบบสะสมเรื้อรังจนเป็นโรคซึมเศร้าและแบบเกิดขึ้นกะทันหัน ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่าพฤติกรรมผู้ที่จะฆ่าตัวตายเปลี่ยนไป เช่น จัดการปัญหาไม่ได้ ทำอะไรที่ไม่เคยทำมาก่อน มีการร่ำลาโดยไม่มีเหตุผล ญาติและคนใกล้ชิดต้องสังเกตเพื่อที่จะแก้ไขได้ทัน โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีประวัติทำร้ายร่างกายตัวเองหรือเคยฆ่าตัวตายมาก่อน ต้องช่วยเหลือโดยการเก็บอาวุธ ชวนพูดคุยเพื่อแก้ปัญหา เป็นต้น สำหรับอาการของโรคซึมเศร้า ได้แก่ ไม่มีความสุข เสียใจ อารมณ์ตก รู้สึกแย่กับตัวเอง รู้สึกไม่ดีต่อสังคม เบื่อ ท้อแท้ กินน้อย น้ำหนักลด จนอาจกระทบกับการทำงาน หากญาติหรือผู้ใกล้ชิดเห็นอาการเหล่านี้จะต้องรีบช่วยเหลือ ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ โดยใช้ยาปรับอารมณ์ ร่วมกับการให้คำปรึกษา ซึ่งเมื่อผู้ที่คิดฆ่าตัวตายเมื่อผ่านช่วงอารมณ์ที่ตั้งใจฆ่าตัวตายไปแล้วความตั้งใจก็จะลดลง จนไม่คิดฆ่าตัวตายอีก
       
       นพ.ปเนต กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ รพ.ศิริราช มีเปิดให้บริการคลินิกคลายเครียด ที่ตึกผู้ป่วยนอกชั้น 7 เพื่อให้คำปรึกษาแก่ประชาชนทั่วไปที่มีปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งไม่จำเพาะเพียงผู้ป่วยจิตเวชเท่านั้น แต่ประชาชนทั่วไปที่มีเรื่องคิดมาก มีความเครียด หรือมีปัญหาในการใช้ชีวิตก็สามารถขอเข้ารับคำปรึกษาได้ รวมไปถึงแนะนำวิธีการช่วยจัดการความเครียดแบบต่างๆ เป็นต้น

ASTVผู้จัดการออนไลน์    12 สิงหาคม 2556

หน้า: 1 ... 438 439 [440] 441 442 ... 651