ผู้เขียน หัวข้อ: 'โรงงานวัคซีนไข้หวัด'สร้างช้า! ใคร(จะ)เป็น...ใคร(จะ)ตาย  (อ่าน 877 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
  “คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม(อภ.)ที่ดำเนินการตรวจสอบเรื่องการก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก สรุปรายงานมา 3 หน้า และระบุในตอนท้ายแบบคลุมเครือว่า ผอ.อภ.ในฐานะผู้บริหารต้องรับผิดชอบ แต่ผมคิดว่าไม่มีความยุติธรรม เพราะไม่มีที่มาที่ไปในการดำเนินการ จึงต้องร้องดีเอสไอให้เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ให้มีความชัดเจน” นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ให้เหตุผลถึงการมอบหมายให้นายกมล บันไดเพชร เลขานุการ รมว.สาธารณสุข ยื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ

           ประเด็นที่ยื่นให้มีการตรวจสอบอภ.มี 2 เรื่องหลัก คือ 1.การก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ที่ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี วงเงิน 1.4 พันล้านบาท มีความล่าช้าโดยมีกำหนดก่อสร้างตั้งแต่กันยายน 2552 สิ้นสุด มกราคม 2556 แต่จนขณะนี้ยังสร้างไม่เสร็จ และ 2.การสั่งซื้อวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอล ที่ถูกติงว่าไม่มีคุณภาพ

           สำหรับเรื่องก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไข้หวัดนก มีข้อสงสัยที่ตั้งโดยฝ่ายการเมือง คือ จ้างบริษัทก่อสร้างอาคาร 2 แห่งคนละบริษัททั้งที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน คือ สัญญาที่ 1 ก่อสร้างอาคารผลิต อาคารบรรจุ อาคารประกันคุณภาพและอาคารสัตว์ทดลอง วงเงิน 321 ล้านบาท และสัญญาที่ 2 ก่อสร้างส่วนที่ 2 อาคารระบบสนับสนุนกลาง วงเงิน 106,786,000 บาท และจ้างบริษัทออกแบบก่อสร้างโครงการเดียว 4 บริษัท ทำ 4 สัญญา วงเงิน 9 ล้านกว่าบาท

           ทว่า ในการพิจารณาแบบก่อสร้างใหม่ มีการแก้ไขสัญญาก่อสร้าง เนื่องจากแก้ไขฐานราก จากเป็นฐานแผ่เป็นแบบฐานตอก ยกระดับอาคารให้สูงขึ้น เพิ่มวงเงิน ขยายระยะเวลาการก่อสร้าง รวมถึงแก้ไขกระบวนการผลิต จากผลิตวัคซีนชนิดเชื้อตาย เป็นการผลิตวัคซีนชนิดเชื้อตายและเชื้อเป็น จนขณะนี้การก่อสร้างจึงยังไม่เสร็จ และต้องหยุดชะงักเนื่องจากไม่สามารถตกลงค่าใช้จ่ายในส่วนที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงแบบกับบริษัทรับก่อสร้างได้ และครม.ยังไม่อนุมัติงบประมาณที่เพิ่มขึ้นอีก 45 ล้านบาท

           นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(ผอ.อภ.) ให้เหตุผลส่วนหนึ่งของความล่าช้าว่า เกิดจากการทบทวนแบบตามสัญญาจ้างของบริษัทที่สร้างโรงงานวัคซีนเพื่อให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย ขององค์การอนามัยโลก หลังทบทวน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีธนบุรี เป็นที่ปรึกษาได้คำนวณค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงแบบไม่เกิน 45 ล้านบาท ซึ่งทางบริษัทรับเหมาต่อรองไว้ 59 ล้านบาท ในสัปดาห์หน้าจะทำหนังสือยืนยันกับบริษัทอีกครั้งว่า หากไม่ดำเนินการจะยกเลิกสัญญา

           ย้อนหลังที่มาของโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไข้หวัดนก ได้รับการอนุมัติงบประมาณในการก่อสร้าง 1,400 ล้านบาทในยุคของครม.ขิงแก่ที่มี นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นรมว.สาธารณสุข และนพ.วิชัย โชควิวัฒน์ เป็นประธานบอร์ดอภ.  โดยมีการอนุมัติให้ใช้ผลิตวัคซีนชนิดเชื้อตาย ต่อมาผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก หรือฮู(WHO)ให้คำแนะนำอภ.ว่าควรสร้างโรงงานให้ผลิตได้ทั้งวัคซีนชนิดเชื้อตายและเชื้อเป็นที่สามารถผลิตได้ครั้งละมากกว่าชนิดเชื้อตาย จึงอาจเป็นเพราะเหตุนี้ที่ทำให้อภ.มีการปรับโครงการก่อสร้างนี้ให้สามารถผลิตได้ทั้งวัคซีนชนิดเชื้อเป็นและเชื้อตายภายในโรงงานผลิตเดียวกัน ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแบบจากเดิมและขอใช้เงินเพิ่มขึ้น

           ทั้งนี้ การก่อสร้างมีการวางศิลาฤกษ์เมื่อปี 2552 ในสมัยที่นายวิทยา แก้วภราดัย เป็นรมว.สาธารณสุข นพ.วิทิต อรรถเวชกุล เป็นผอ.อภ. และนพ.วิชัยยังคงเป็นประธานบอร์ดอภ. จึงอาจกล่าวได้ว่าในช่วงการดำเนินกระบวนการก่อสร้างก่อนที่ทุกอย่างจะหยุดชะงัก ตั้งแต่ปี 2552-ต้นปี 2555 เป็นช่วงเวลาที่นพ.วิชัยเป็นประธานบอร์ดมาโดยตลอด เนื่องจากนพ.วิชัยเพิ่งพ้นจากตำแหน่งเมื่อกุมภาพันธ์ 2555 มี นพ.สมศักดิ์ อังคะสุวพลา อดีตอธิบดีกรมอนามัย มารับไม้ต่อและเปลี่ยนมือมาเป็น นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี อดีตเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาในเดือนธันวาคม 2555

           นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ อดีตประธานบอร์ดอภ. อธิบายว่า เรื่องเทคโนโลยีเชื้อเป็น เชื้อตาย ไม่ได้เป็นตัวแปรที่ทำให้เกิดความล่าช้า เพราะเป็นการวางแผนเพื่อให้โรงงานมีศักยภาพผลิตได้ทั้งสองแบบตั้งแต่แรก โดยเชื้อเป็นใช้ในภาวะฉุกเฉินที่เกิดการระบาดของโรค และเชื้อตายใช้ในภาวะปกติ แต่ปัญหาที่ทำให้เกิดความล่าช้าเป็นเรื่องของเหตุสุดวิสัย ข้อจำกัดของความรู้ด้านเทคโนโลยีในการก่อสร้าง และปัญหาด้านการก่อสร้าง เช่น ก่อนการก่อสร้างแม้จะมีการสำรวจพื้นที่เพื่อเขียนแบบแล้ว แต่เมื่อก่อสร้างพบชั้นหินใต้ดินไม่เท่ากันเพราะเป็นที่ชายเขา แม้จะมีการตอกเสาสี่มุมเพื่อประเมินด้านวิศวกรรมแล้ว จึงต้องออกแบบฐานใหม่ หรือความกังวลเรื่องน้ำหลาก ที่ต้องเขียนแบบใหม่เพื่อป้องกันทุกขั้นตอนเป็นการทำอย่างโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้

           ประจวบเหมาะที่การดำเนินการเรื่องนี้ของฝ่ายการเมืองเกิดขึ้นในจังหวะที่ชมรมแพทย์ชนบทกำลังเดินเกมขับไล่นพ.ประดิษฐ พ้นจากตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข จากความไม่พอใจเรื่องการปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทนส่วนที่เป็นเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายรายหัวหรือเบี้ยกันดาร ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะแพทย์โรงพยาบาลชุมชน(รพช.)ที่อาจเรียกว่าเป็นฐานที่มั่นของแพทย์ชนบท ในส่วนรพช.พื้นที่ปกติและพื้นที่เมืองได้รับเบี้ยกันดารลดลง ทำให้เกิดคำถามว่านี่เป็นการ “เอาคืน” จากฝ่ายการเมือง เพราะเป็นที่ทราบดีว่า นพ.วิชัย เป็นพี่ใหญ่แพทย์ชนบท ขนาดที่หลายฝ่ายกล่าวอ้างว่าเป็นกุนซือ ในหลายเรื่องของแพทย์ชนบท ส่วนนพ.วิทิต ก็มีการถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกเช่นกัน

           “ไม่ได้เป็นการเอาคืน เพราะเรื่องนี้เมีการตรวจสอบมานานแล้ว เพียงแต่ขั้นตอนการดำเนินการสุกงอมช่วงนี้พอดี ผมยังแลปกใจว่าทำไมมีการโยงกับเรื่องค่าตอบแทน ถ้าเห็นว่าเรื่องการก่อสร้างโรงงานมีความผิดปกติ ก็ควรดีใจที่มีการทำให้ข้อมูลกระจ่างขึ้น ใครผิดก็ว่าผิด ทำไมถึงเดือดร้อนเรื่องนี้ เดือดร้อนแทนใคร และได้แจ้งผอ.อภ.แล้วว่าให้ทำงานตามปกติ และให้ความร่วมมือตามกฎหมาย สุดท้ายเรื่องจะออกมาให้ทุกคนทราบว่าเรื่องนี้มีกระบวนการการขั้นตอนมาอย่างไรและเกิดอะไรขึ้น ถ้ามีการทำผิดพลาดเกิดขึ้นก็ต้องมีใครรับผิดชอบ” นพ.ประดิษฐกล่าว

           นพ.ประดิษฐ บอกอีกว่า  ปัญหาโรงงานวัคซีนอยู่ที่เรื่องเทคนิค คือมีการยกระดับมาตรฐานโรงงานจากมาตรฐานความปลอดภัยระดับ 2 ให้สูงขึ้นเป็นระดับ 2 + ถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีการทำเช่นนี้ ในเมื่อต้องการผลิตสำหรับป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ไม่ต้องผลิตจำนวนมาก มาตรฐานระดับ 2 ก็เพียงพอ เพราะระดับ 2+ ใช้ในกรณีเกิดการระบาดโรคมากเป็นการผลิตชนิดเชื้อเป็นซึ่งต้องใช้ไข่ไก่ในการผลิต 1 ฟองต่อ 1 โด๊ส ถ้าโรคระบาดทันที่จะใช้ไข่ไก่ 30 ฟอง หามาได้ทันทีหรือไม่ นี่คือคำถามที่ผมถามในวันนี้ ว่าที่สร้างมีการคิดหรือไม่ว่าไข่ไก่เวลามีการระบาดของโรคจะหามาได้ทันทีหรือไม่ นำมาจากไหน เพราะตอนไข้หวัดใหญ่ 2009 ฮูพูดชัดว่าไข่ไก่กลายเป็นอาวุธยุทธศาสตร์และห้ามส่งออก

           จึงตั้งคำถามว่าคิดได้ไงว่าจะมีไข่ไก่ 30 ล้านฟองมาใช้ในการผลิต จึงจะมีการสร้างโรงงานวัคซีนรองรับการระบาดและไข่ที่นำมาใช้ต้องเป็นไข่สะอาดบริสุทธิ์(clean Egg) ส่งมามากไม่ได้จะเกิดการกระฉอกเสียอีก และเครื่องจักรพร้อมขยายการผลิตเป็นระดับใหญ่ขึ้นหรือไม่ ถ้าไม่ได้ซื้อทำไม ขยายโรงงานทำไมและเทคโนโลยีการผลิตชนิดเชื้อเป็นมีแล้วหรือไม่ เท่าที่ทราบตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยระยะที่ 2 กว่าที่จะมีการดำเนินการระยะที่ 3 คือทดลองในคนหมู่มากต้องใช้เวลาอีก 5 ปีถ้าผลพบว่าไม่ประสบความสำเร็จ แต่มีการยกระดับโรงงานรองรับแล้วจะได้ประโยชน์อะไร จะไปทำทำไมเมื่อผลการทดลองยังไม่เสร็จ ขณะนี้กำลังหาทางออกให้อยู่ด้วยการถามไปยังฮู ซึ่งจะมีการตอบมาอย่างเป็นทางการ

           เสร็จศึกครั้งนี้ จะได้รู้ว่าใครจะเป็น ใครจะตาย ใครจะอยู่ ใครจะไป หากผลการตรวจสอบพบว่ามีผู้กระทำผิด หรือจบลงด้วยการอยู่ทั้งคู่หากท้ายที่สุดผลการตรวจสอบออกมาว่า ไม่มีอะไรในกอไผ่

           แต่อย่างน้อยก็เกิดประโยชน์ต่อประชาชนที่จะได้รับรู้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับโครงการก่อสร้างภาครัฐที่ใช้เงินภาษีของคนไทย

...............................

(หมายเหตุ : 'โรงงานวัคซีนไข้หวัด'สร้างช้า! ใคร(จะ)เป็น...ใคร(จะ)ตาย : ทีมข่าวสาธารณสุขรายงาน)
คมชัดลึกออนไลน์วันที่ 31-03-2556